บทวิจารณ์ Waterfall the Musical: เมื่อ 'บี้' และบันเทิงไทย ยังห่างไกลจากบรอดเวย์?

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ลิลลี่ บี.ดี. เจนเซ่น[1]

 (1)

กระแสวงการบันเทิงไทย “โกอินเตอร์” เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมานานพอสมควร แล้วก็มีข่าวฮือฮาให้กับแฟนๆ ชาวไทยได้ตื่นเต้นกันบ้างเป็นครั้งคราว ถึงแม้ว่าจะไม่มีความคืบหน้าเป็นชิ้นเป็นอัน ที่แสดงให้เห็นว่าวงการบันเทิงไทยได้รับการยอมรับจากนานาชาติจริงๆ

กระทั่งล่าสุด ก็มีคณะละครไทยมาเล่นที่โรงละครเวทีใกล้ๆ บ้านเพื่อนฉันที่แอลเอ จริงๆ ถ้าจะเขียนหัวข้อเกี่ยวกับแวดวงบันเทิงไทยกับกระแสโกอินเตอร์ โอ้ยมีเรื่องให้ฉันเขียนมากมาย จาระไนภายในคอลัมน์เดียวก็เห็นจะไม่จบ ดังนั้นฉันขอหยิบยกเอาเรื่องราวของคณะละครไทยคณะนี้ มาเป็นประเด็นตัวอย่าง เล่าให้คุณผู้อ่านฟังถึงการ “โกอินเตอร์” ของวงการบันเทิงไทยก็แล้วกันนะ

คณะละครที่ว่ามาเล่นละครเพลง หลายๆ คนก็อาจจะเคยได้ยินชื่อละครเรื่องนี้มาบ้างแล้ว เนื่องจากว่ามีการโปรโมทโฆษณากันขนานใหญ่ในประเทศไทยเรา ผ่านเครือข่ายทีวีช่องต่างๆ ของบริษัทผู้จัดสร้าง ละครเรื่องดังว่าก็คือ Waterfall the Musical หรือ อเมริกันเวอร์ชั่นที่อวตารมาจากละครเพลงเรื่อง ข้างหลังภาพ เดอะมิวสิคัล นั่นเอง ถึงขนาดที่ว่าสื่อสิ่งพิมพ์ไทยอย่าง Post Today ถึงขนาดจั่วหัวไว้ว่า “บอย & บี้ โกบรอดเวย์”

อย่างที่หลายๆ คนทราบ ละครเวทีทั้งสองเวอร์ชั่นนี้ล้วนแต่ได้รับการรังสรรค์โดยคณะละครบริษัท ซีเนริโอ ภายใต้การนำกำกับดูแลของผู้สร้างละครเวทีไทยตัวแม่อย่าง คุณบอย ถกลเกียรติ วีรวรรณ

สำหรับละครเรื่อง Waterfall the Musical (ข้างหลังภาพ เดอะมิวสิคัล อเมริกันเวอร์ชั่น) นี้ เป็นการร่วมทุนร่วมแรงกันระหว่าง ซีเนริโอ กับ Jack Dalgleish ผู้จัดที่มีชื่อเสียงและคร่ำหวอดในวงการละครเวทีและภาพยนตร์ของอเมริกา นอกจากนี้ทีมผู้จัดยังได้ Richard Maltby มาเป็นผู้เขียนบทและคำร้อง ร่วมกับ David Shire ซึ่งเป็นผู้ประพันธ์ดนตรี ทั้ง Maltby และ Shire นั้นนับได้ว่าเป็นหนึ่งในบรรดาผู้แต่งเพลงที่มีชื่อเสียงก้องวงการละครบรอดเวย์เลยทีเดียว เพราะทั้งคู่ถือได้ว่าเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังของคำร้อง และดนตรี ในละครบรอดเวย์ที่เปิดทำการแสดงมายาวนานแล้วมากกว่า 25 ปี อย่าง Miss Saigon ส่วนตัวคุณบอยเอง ก็ยังควบตำแหน่งผู้กำกับด้วย โดยมีผู้กำกับร่วมและผู้ออกแบบท่าเต้นคือ Dan Knechtges ซึ่งก็คร่ำหวอดในวงการบรอดเวย์มานานเช่นกัน

เรียกได้ว่าถ้าดูจากดีกรี และความเป๊ะทางสายเลือดการละครของทีมงานและนักแสดงแล้ว ซึ่งรวมถึง คุณบี้ สุกฤษฎิ์ (แสดงเป็นนพพร) คุณ Emily Padgett (แสดงเป็นแคเธอรีน หรือคุณหญิงกีรติในเวอร์ชั่นที่อเมริกา) และคุณ Thom Sesma (แสดงเป็นท่านเจ้าคุณอธิการบดี) ก็นับได้ว่าเป็นคณะละครที่คับคั่งไปด้วยคนดังๆ หลายๆ คนที่ได้รับฟังเรื่องราวของละครเวทีฉบับนี้ ผ่านการโฆษณาต่างๆ แว๊ปแรกก็คงจะตื่นเต้นเหมือนๆ กับฉัน

(2)

ทว่าการณ์กลับเป็นเช่นนั้นเสมอไปไม่ เมื่อการแสดงรอบ previews จบลงไป และรอบปฐมทัศน์ได้เปิดการแสดงไปแล้ว บรรดาสื่อบันเทิงต่างๆ ทั้งไทยและเทศ ก็ได้ตีพิมพ์บทวิจารณ์ละครเวที Waterfall the Musical ตามธรรมเนียม เสียงวิจารณ์นั้นก็มีมากมายหลากหลาย จากทั้งนักวิจารณ์มืออาชีพและมือสมัครเล่น

เป็นที่น่าสังเกตว่า หนังสือพิมพ์ภาษาไทยท้องถิ่น ที่ต่างก็ได้ลงโฆษณาให้กับ ละครเวที Waterfall the Musical กันอย่างเอิกเริก เกรียวกราว หลายฉบับได้ลงโฆษณาแบบเต็มหน้า มีทั้งสี ทั้งขาวดำ ราวกับว่าเป็นละครเชิดชูชาติกันเลยทีเดียว บรรดาบรรณาธิการ คงจะแฮปปี้กันถ้วนหน้าเพราะน่าจะได้ค่าโฆษณาโขอยู่ ก็ยังได้ลงข่าวต่อเนื่องหลังจากละครเปิดการแสดงรอบปฐมทัศน์ไปแล้ว บางฉบับก็ได้มีการลงรูปภาพในวันแสดงที่ผู้สื่อข่าวของตนได้เข้าไปร่วมชมด้วย รวมถึงความพยายามอย่างที่สุดที่ต้องการให้คนไทยในแอลเอเข้าชมการแสดงกันมากๆ ถึงขนาดมีความพยายามจัดให้มีรอบคนไทยโดยเ​ฉพาะ และมีเบอร์โทรศัพท์ให้ชาวไทยโทรเข้ามาซื้อตั๋วได้โดยเฉพาะ

ในทางตรงกันข้าม สื่อหลักทั้งหลายในแอลเอ ไม่ว่าจะเป็น หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่อย่าง LA Times และ LA Weekly หรือสื่อกระแสหลักในแวดวงบันเทิงอย่าง the Hollywood Reporter และ Variety ต่างก็ให้ Waterfall the Musical สอบตกกันอย่างเป็นเอกฉันท์

ประเด็นที่ฉันอยากจะนำเสนอก็คือ ในเมื่อมีความพยายามอย่างแรงกล้าของบรรดาผู้สร้าง ผู้จัด ผู้กำกับ นักแสดง ฯลฯ จากประเทศไทย ที่อยากจะก้าวล้ำออกนอกเขตขัณฑสีมาเสียเหลือเกิน แต่ทำไมฟีดแบค หรือกระแสตอบรับจากนานาชาติ จากต่างประเทศ ถึงแผ่วเบา กระทั่งกลายเป็นเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่คนไทยรักชาติบางคนอาจจะทนฟังไม่ได้ จริงๆ แล้วประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ซับซ้อนมาก เขียนรอบเดียวไม่จบ

และที่จริงประเด็นนี้ยังรวมไปถึงนักแสดงไทยอีกมากหน้าหลายตาที่อยากจะ “เกิด” ในแวดวงฮอลลีวู้ด แต่จนแล้วจนรอด ก็ยังเกิดไม่ได้สักที เอาเป็นว่าเรื่องราวของนักแสดงในประเด็นนี้ ฉันขอเอาเก็บไปเขียนในบทความต่อๆ ไปก็แล้วกัน

สำหรับคอลัมน์นี้ ก่อนอื่นฉันอยากให้ลองพิจารณาความเห็นของนักวิจารณ์มืออาชีพ ประเภทเกจิอาจารย์ของแวดวงละครเวทีในอเมริกากันดู ว่าเขาวิพากษ์ Waterfall the Musical กันอย่างไร สรุปสั้นๆ ก็ประมาณนี้

ในด้านบวก แม้จะมีคนเห็นผิดแผกไปบ้าง แต่นักวิจารณ์ส่วนใหญ่ต่างเห็นพ้องกันว่า ฉากละครอลังการงานสร้างมาก ก็สมแล้วกับแบรนด์ซีเนริโอ ที่มี “บอย” ถกลเกียรติ วีรวรรณเป็นหัวหอก งานนี้ฉากต้องสวยไว้ก่อน ถึงไหนถึงกัน จ่ายไม่อั้น หนึ่งในฉากอลังการก็คือฉากน้ำตก ที่คู่รัก นพพรกับแคเธอรีน เต้นระบำคู่กันในลำธาร

ในด้านลบ ซึ่งปรากฏว่ามีมากกว่าด้านบวก ข้อสรุปที่ได้จากนักวิจารณ์มืออาชีพ ที่ต่างก็วิพากษ์ได้ตรงกันคือ ละครดำเนินเรื่องได้อย่างน่าเบื่อ ไม่มีออริจินัลลิตี้ หรือความริเริ่มใหม่ๆ ไม่มีอะไรดึงดูดใจ ไม่มีความต่อเนื่อง พล๊อตเรื่องก็เหมือนเป็นการทำซ้ำ คือดึงเอาเนื้อเรื่องที่พบได้ดาษดื่นทั่วไปนำมาใช้ อีกทั้งดนตรีและเนื้อร้องก็แสนจะธรรมดา ไม่มีเพลงไหน ท่อนไหน ให้จำได้ติดใจ เป็นส่วนหนึ่งที่แย่ที่สุดของละครเพลงเวอร์ชั่นนี้ ส่วนคาแร็กเตอร์ของตัวละครไม่เด่น ตัวละครเอกอย่างนพพรนั้นไม่มีความน่าสนใจเอาซะเลย แถมบางครั้งยังดูออกจะตลกๆ ทำให้ความสำคัญของนพพรที่เป็นตัวเองนั้นลดน้อยลงไปถนัดตา

ส่วนนักแสดงนั้นเล่า แม้บางคนจะบอกว่า บี้ สุกฤษฎิ์ “เล่นได้น่ารัก” (Charles McNulty นักวิจารณ์จาก LA Times ถึงขนาดชมว่า handsomely endearing) แต่ในด้านทักษะทางการแสดงนั้น ยังต้องปรับปรุงอีกมาก และเมื่อประกอบกับบทละครที่ไม่ดี ก็เข้าใจได้ว่าการแสดงเพื่อให้ดึงดูดใจผู้ชมนั้นยาก ทว่านักวิจารณ์ทั้งสี่ ก็ยังเห็นว่าฝีไม้ลายมือของนักแสดงนำอย่าง บี้ สุกฤษฎิ์ และ Emily Piget ยังไม่ถึงขั้น อีกทั้งการร้องเพลงของบี้นั้นก็ยังโหยหวนด้วยเสียงแหลมบางอันน่ารำคาญ

เขียนวิจารณ์กันออกมาขนาดนี้ นับว่าเสียหน้าทีมโปรโมทละครของไทยมาก เพราะได้ไปโฆษณาไว้ใหญ่โตว่า บี้ สุกฤษฎิ์ เป็นซุปตาร์คนหนึ่งบนฟากฟ้าบันเทิงไทย ดีไม่ดี ฝรั่งเขาจะคิดว่า ซุปตาร์ของไทย มีความสามารถในการร้องรำทำเพลงและการแสดงได้แค่นี้น่ะหรือ ?

(3)

ส่วนความเห็นส่วนตัวของฉันก็คล้ายคลึงกับที่นักวิจารณ์มืออาชีพจากสื่อกระแสหลักในอเมริกาได้วิจารณ์ไปแล้ว นั่นก็คือ พล็อตเรื่องอ่อน บทละครไม่ดี แถมดนตรีก็งั้นๆ สิ่งสำคัญที่สุดของละครเวที ละครโทรทัศน์​ และภาพยนตร์ คือพล็อตเรื่องและบทละคร ถ้าพล็อตแย่ บทไม่ดี ไม่ฟิน ต่อให้นักแสดงเก่งยังไง ฉันก็เห็นมานักต่อนักแล้วว่าหนังหรือละครเรื่องนั้นๆ ไปไม่รอดสักราย ดังนั้นเราจะสังเกตได้ว่า นักเขียนบทเก่งๆ ในฮอลลีวู้ดหรือบรอดเวย์ มีความสำคัญมาก หลายๆ คนมีชื่อเสียงโด่งดังพอๆ กับนักแสดงระดับซุปตาร์เลย

สำหรับ Waterfall the Musical ฉันไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนตัว คุณหญิงกีรติ มาเป็น มาดามแคเธอรีน เลยสักนิด ฉันก็ไม่รู้หรอกนะว่า คุณบอย ถกลเกียรติ เธอคิดอะไรของเธอกันอยู่ เพราะถ้าคิดกันแค่ว่า การเปลี่ยนตัวนางเอกมาเป็นสตรีขาวอเมริกัน แล้วจะขายบัตรได้มากขึ้นล่ะก็ คิดผิดถนัด คนดูประเภทแฟนพันธุ์แท้ละครเวทีในอเมริกา เขาก้าวไกลเกินกว่าที่จะต้องติดกับด้วยประเด็นเล็กๆ อย่างการที่ตัวเอกในละครเป็นอเมริกันหรือไม่

ก็เพราะเอาความคิดความเชื่อแบบ “รักชาติ ชาตินิยม” แนวไทยๆ มาใช้กับแวดวงบันเทิงอเมริกัน พล็อตเรื่องของละครมันถึง รุ่มร่าม มะงุมมะหงาหรา หาที่ลงไม่ได้ และต่อให้ใช้ความพยายาม “ชาตินิยม” มาดึงดูดความสนใจของผู้ชมอเมริกันเป็นพิเศษ ฉันก็เห็นว่าคุณบอยและคณะคงจะต้องใช้ความพยายามให้มากกว่านี้อีกหลายร้อยเท่ากว่าจะเบียดละครเพลงล่าสุดบนบรอดเวย์ ที่เพิ่งเปิดการแสดงไปเมื่อต้นเดือนสิงหาคมนี้ อย่าง Hamilton ซึ่งเป็นละครที่สร้างจากชีวประวัติของ Alexander Hamilton หนึ่งในผู้ให้กำเนิดอเมริกาและมือขวาของ George Washington ประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐ ฯ ให้ออกไปจากความสนใจของผู้ชมได้ เพราะข่าวล่ามาเร็วบอกว่า บัตรเข้าชมละคร Hamilton นั้น ตอนนี้หาได้ยากมากถึงมากที่สุด

ส่วนอีกอย่างคือ บี้ สุกฤษฎิ์ ฉันก็เข้าใจนะว่าบี้เป็นเด็กปั้นคุณบอย คือโด่งดังมาจากการประกวดร้องเพลงที่จัดโดย ซีนาริโอ ดังนั้นจึงคงไม่ใช่เรื่อง “บังเอิญ” ที่วางตัวบี้ให้แสดงเป็น นพพร ทว่าแม้โดยทั่วไป บี้จะมีความสามารถร้องเพลงดีใช้ได้ แต่ถ้าเทียบกับระดับนักแสดงมืออาชีพในวงการบรอดเวย์ หรือฮอลลีวู้ดนั้น ฉันคิดว่า บี้ความสามารถยังไม่ถึง และยังห่างไกลเอามากๆ

นอกจากปัญหาในเรื่องภาษาอย่างหนึ่งแล้ว ซึ่งแม้นพพรจะเป็นคนไทยก็ตาม คนดูก็อาจจะไม่คาดหวังว่าภาษาของนพพรจะต้องเป๊ะเวอร์ แต่อย่าลืม การแสดงของคุณต้องสื่อสารต่อผู้ชมให้เข้าถึงจิตวิญญาณของละครเวทีเรื่องนี้ ดังนั้นหากไม่สามารถสื่อสารภาษาออกมาได้ ก็นับว่าเป็นความล้มเหลวอย่างหนึ่ง อย่างที่สองคือความสามารถในการร้องเพลงและการแสดง เท่าที่ฉันเคยชมเคยฟังละครเพลงฝรั่งมา บทเพลงเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ใช้พลังเสียงเยอะมาก ฉันยังนึกไม่ออกเลยว่ามีนักร้องไทยคนไหนที่สามารถร้องเพลงฝรั่งได้ดีและน่าประทับใจ ส่วนการแสดง ฉันเคยดูละครโทรทัศน์ไทยที่บี้แสดงนะ ความสามารถก็พอตัวในวงการบันเทิงไทย แต่พอมาทำงานในแวดวงการแสดงที่มีการแข่งขันกันสูงมากอย่างที่อเมริกานี่ ฉันก็เห็นภาพเลยว่า บี้จะไปแข่งอะไรกับเขาได้ ? และถ้าพูดกันตามความเป็นจริง หากมีคาสติ้งบทนพพรกันอย่างตรงไปตรงมา ฉันยังกังขาว่า บี้จะสู้กับนักแสดงละครเพลงมืออาชีพ ที่มีประสบการณ์และความช่ำชองกับอเมริกันบันเทิงได้หรือ ?

(4)

ดังนั้นพออ่านบทวิจารณ์เหล่านี้จบ ประกอบกับความเห็นของฉันข้างต้น ฉันก็ได้ตั้งข้อสังเกต โดยขอหยิบยกประเด็นสำคัญมากๆ สองประเด็น ที่ทำให้วงการบันเทิงไทย (จริงๆ ก็รวมถึงหลายๆ วงการด้วยแหละ แต่ขอเน้นที่วงการบันเทิงตอนนี้ เพราะฉันกำลังเขียนเกี่ยวกับละครเวที) “โกอินเตอร์” ไม่ได้ ไปไม่ถึงฝั่งฝันสักที

ปัจจัยแรก สังคมไทยมีความย้อนแย้งในตัวเองสูง จนสับสนหาความเป็นตัวของตัวเองไม่เจอ ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย แวดวงบันเทิงไทยก็ไม่มีข้อยกเว้น สังเกตง่ายๆ จากความพยายามและความต้องการที่จะสื่อ “ความเป็นไทย” ออกมาในรูปแบบต่างๆ อย่างไม่จำกัด ไม่ว่าจะเป็นขนบธรรมเนียม ประเพณีโบราณ วัฒนธรรมหลงยุค ที่ผ่านออกมาตามหน้าจอและหน้ากระดาษต่างๆ ทว่าในความเป็นจริง คนไทยมากมายไม่สามารถที่จะนิยาม “ความเป็นไทย” ออกมาได้ตรงกันเลย ที่แย่ไปกว่านั้นก็คือ เพราะด้วยความพยายามที่จะปรุงแต่ง “ความเป็นไทย” มากจนเกินงาม ทำให้สังคมไทยไม่สามารถผนวกความเป็นไทยเข้ากับสังคมโลกได้อย่างสง่างาม ผลก็คือสังคมนานาชาติไม่สามารถเข้าถึง “ความเป็นไทย” อย่างที่สังคมไทยพยายามจะผลักดันให้ออกมาอย่างที่มโนไว้

ในทางตรงกันข้าม แวดวงบันเทิงไทยก็ได้ “อิมพอร์ต” นวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ จากโลกตะวันตกมาใช้ โดยไม่ได้พิจารณาถึงความเหมาะสม เรียกว่าเอากันมาทั้งดุ้น ทำให้ต่างชาติมองว่า วงการบันเทิงไทย ขาดซึ่งความริเริ่มสร้างสรรค์ (originality) และยังมักง่ายที่ไปหยิบยืมรูปแบบของวงการบันเทิงในโลกตะวันตกมาใช้กันอย่างดื้อๆ ดังจะเห็นได้จากการแสดงคอนเสิร์ตต่างๆ หรือกระทั่งรูปแบบรายการทีวี (ยกเว้นเกมส์โชว์เปิดแผ่น หรือรายการที่นำสินค้ามาตั้งโชว์กันอย่างไม่เกรงใจผู้ชมกันเลย ซึ่งนั่นก็คืออีกตัวอย่างของความย้อนแย้งในสังคมไทย) ที่เรียกได้ว่า ที่ไหนที่ชาติตะวันตกมี วงการบันเทิงไทยก็มีด้วย

จึงไม่ใช่เรื่องที่แปลกใจอะไรเลยที่ปัจจัยดังกล่าวนี้ ได้สะท้อนออกมาในละครเวทีเรื่อง Waterfall the Musical จนผู้ชมทั้งหลายที่เข้าถึงแก่นของศิลปะการชมละครเวที และนักวิจารณ์มืออาชีพ ต่างได้สังเกตถึง ความย้อนแย้ง ความสับสนในตัวตน ของละครเรื่องนี้ อีกอย่างเท่าที่ฉันสัมผัส คนไทยหลายๆ คนอาจจะนึกไม่ถึงด้วยซ้ำว่า ชาวต่างชาติที่สนใจประเทศไทยนั้น มีความรู้ลึกรู้จริงเกี่ยวกับเมืองไทย มากกว่าคนไทยหลายๆ คนซะอีก เพราะว่าเขาตั้งคำถาม ค้นคว้าศึกษากันอย่างจริงจัง

ในขณะที่ผู้ชมบางส่วนอาจจะตื่นตะลึงไปกับฉากน้ำตกอันตระการตาและเทคนิคการเคลื่อนย้ายเปลี่ยนฉากที่อลังการ (ซึ่งก็เป็นเทคนิคที่ได้มีการวางรากฐานไว้อย่างดีในละครเวทีตะวันตก) ผู้ชมที่เข้าถึงเนื้อแท้แห่งการชมละคร ก็ได้ชี้ให้เห็นถึงข้อบกพร่องของละครเรื่อง Waterfall the Musical ในบทวิจารณ์ได้คล้ายคลึงกัน อาทิ พล็อตเรื่องที่ไร้ความแปลกใหม่ บทละครที่ไร้ความเฉียบคม การแสดงที่ไร้ซึ่งปฏิสัมพันธ์ของความรักระหว่างตัวละครหลักชายและหญิง ฯลฯ

ฉันอ่านบทวิจารณ์ของ Jordan Riefi นักวิจารณ์จากค่าย the Hollywood Reporter ก็รู้ได้เลยว่า เขามีความรู้เกี่ยวกับละครเวทีชุดนี้อย่างดี ตั้งแต่ที่ยังเป็น ข้างหลังภาพ เดอะมิวสิคัล และวรรณกรรมต้นฉบับเรื่องข้างหลังภาพเอง Jordan ถึงกับเขียนลงว่า วรรณกรรมต้นฉบับถูกนำมา “ปู้ยี่ปู้ยำ” โดยให้ตัวละครเอกฝ่ายหญิงเป็นสตรีชาวอเมริกัน ผลที่ได้ก็คือ ละครเพลงที่ไม่ได้เรื่อง ไม่ลงตัว และหลงยุคเรื่องนี้ เรียกได้ว่าผู้จัดอ่านแล้วต้องนำไปพิจารณาผลงานของตัวเองกันอย่างจริงจังทีเดียว

ปัจจัยที่สอง การไร้พื้นที่ของการวิพากษ์วิจารณ์อย่างเสรี ประเด็นนี้จริงๆ แล้วฉันให้ความสำคัญมากกว่าประเด็นแรกซะอีก สังคมไทยขาดวัฒนธรรมการวิพากษ์วิจารณ์อย่างน่าเป็นห่วง ในความเห็นของฉัน เหตุผลหลักมีอยู่สองอย่างคือ หนึ่ง ผู้พึงวิจารณ์ไม่กล้าหรือวิจารณ์ไม่เป็น และ สอง ผู้ถูกวิจารณ์ก็รับฟังคำวิจารณ์นั้นๆ ไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าผู้ที่ถูกวิจารณ์นั้นดำรงตนอยู่ในสถานะที่ผูกติดอยู่กับคุณงามความดี หรือคุณค่าแห่ง “ความเป็นไทย” ซึ่งผลกระทบที่ตามมาส่วนหนึ่งก็คือ สังคมไทยกลายเป็นสังคมที่เคยชินกับการนินทาว่าร้าย เม้าท์มอยลับหลัง จนเป็นเรื่องสนุกปากของคนกลุ่มหนึ่ง ในขณะที่สาระแห่งการวิจารณ์ไม่ได้นำพาไปสู่การพัฒนาตัวตนให้ดีขึ้น ทั้งในด้านของปัจเจกชนและสังคมในวงกว้างเอง

ถ้าใครตามไปอ่านลิงค์ของบทวิจารณ์เรื่อง Waterfall the Musical ที่ฉันให้ไว้แบบคิดวิเคราะห์และมีสติ จะเห็นได้ไม่ยากว่า แม้นักวิจารณ์มืออาชีพทั้งสี่จะวิจารณ์ละครเรื่องนี้ออกมาในลักษณะเดียวกัน แต่สองในสี่นักวิจารณ์คือ Charles McNulty (LA Times) และ Jordan Riefe (the Hollywood Reporter) นอกจากที่เขาทั้งสองจะเข้าใจศิลปะแห่งละครเวทีได้ดีมากแล้ว เขายังมีสายตาอันเฉียบคมในการเข้าถึงละคร Waterfall the Musical ภายใต้การนำของคุณบอย ถกลเกียรติได้ดีทีเดียว ทั้ง Charles และ Jordan ได้บันทึกคำวิจารณ์ของพวกเขาได้อย่างดุเด็ดเผ็ดมัน เรียกได้ว่าไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหมกันเลย

สังคมไทยที่ไม่คุ้นเคยกับคำวิจารณ์ในลักษณะนี้ก็คงจะได้แต่บ่นอุบๆ อิบๆ ว่าวิจารณ์กันแร๊งส์เกิน รับไม่ได้ แต่การวิพากษ์วิจารณ์กันในลักษณะนี้เป็นสิ่งที่คุ้นเคยกันอย่างดีในสังคมอเมริกัน ไม่ว่าจะในแวดวงไหน วงการไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงการฮอลลีวู้ด และบรอดเวย์ ถึงขนาดมีละครเวทีเรื่องหนึ่งไม่นานมานี้ชื่อ “It’s Only a Play” ซึ่งเป็นเรื่องราวของคณะผู้จัดละครเวทีเรื่องหนึ่งที่เปิดการแสดงรอบปฐมทัศน์บนบรอดเวย์ ฉากทั้งเรื่องเป็นวิวาทะของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างละครเรื่องนี้ ซึ่งผู้ชมจะเห็นได้ว่าตัวละครทั้งหมดมีความวิตกกังวลเป็นอย่างมากเกี่ยวกับบทวิจารณ์ที่เขียนโดย Ben Brantley (ซึ่งเป็นบุคคลจริง) ของค่ายหนังสือพิมพ์ New York Times ที่จะตีพิมพ์ในวันรุ่งขึ้น (ประเพณีการวิจารณ์ละครคือ บทวิจารณ์ดังกล่าวจะตีพิมพ์ในวันรุ่งขึ้น หลังจากที่ละครได้เปิดแสดงรอบปฐมทัศน์ไปแล้ว) จนตัวละครบางตัวถึงขนาดออกอาการประสาทจะกินกันเลย เรื่องราวของละครเรื่อง It’s Only a Play จะจบลงอย่างไร ฉันขอไม่เอ่ยในที่นี้ เพราะจะนอกประเด็นไปสักหน่อย ใครอยากทราบ ไปหาอ่านบทวิจารณ์ของละครเรื่องนี้ได้ใน New York Times ที่เขียนโดย Ben Brantley ตัวจริง

กระบวนการวิพากษ์วิจารณ์กันในลักษณะนี้แหละ ที่ฉันเชื่อว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้อเมริกาได้รังสรรค์ความรู้ ความบันเทิง วิทยาการ นวัตกรรม และเทคโนโลยีใหม่ๆ มาให้โลกได้สัมผัสกันอยู่เนืองๆ

ความอาจหาญที่จะวิจารณ์และความกล้าแกร่งที่จะยอมรับฟังคำวิจารณ์อย่างมีสติ จะช่วยลดปัญหาการอวยกันอย่างหลับหูหลับตาที่เป็นกันอยู่ในสังคมไทย และอีกประการ หากใครที่ไร้ความกล้าและไม่สามารถที่จะรับฟังคำวิจารณ์อย่างมีสติ เพื่อที่จะได้นำไปพัฒนาปรับปรุงตนเอง ผลงาน ฯลฯ ให้เป็นที่เข้าตากรรมการ ซึ่งในที่นี้ก็คือผู้เชี่ยวชาญและสาธารณชน ก็จะถูกคัดกรองกำจัดออกไปตามขบวนการ อย่างที่ฝรั่งเขาเรียกกันว่า weeded out ประมาณได้ว่าเป็นกระบวนการกำจัดวัชพืชนั่นเอง ในสังคมที่ไม่คุ้นชิน วิธีการวิพากษ์วิจารณ์ที่ตรงไปตรงมาและไม่ไว้หน้าเปิดสาธารณะกันแบบนี้ อาจจะดูแล้วคล้ายๆ กับเป็นกระบวนการที่ไร้ความปราณี ทว่าสิ่งที่สังคมจะได้รับกลับมานั้น กลับมีคุณค่ามากมายเหลือเกิน ซึ่งก็คือบุคคลการทางสังคมที่มีคุณภาพมากพอที่จะสร้างผลงานอันมีคุณประโยชน์ให้กับสังคมต่อไปอย่างยั่งยืน

(5)

เมื่อวกกลับมาถึงละครเรื่อง Waterfall the Musical นั้น สิ่งที่ฉันเสียดายที่สุดก็คือ วรรณกรรมเรื่อง ข้างหลังภาพ ซึ่งเป็นวรรณกรรมคลาสสิกเรื่องหนึ่งของวงการวรรณกรรมไทย ที่มีสีสัน มีเรื่องราวน่าสนใจซ่อนเงื่อนอยู่มากมาย เกินกว่าแค่ความรักระหว่างชายหนุ่มและหญิงสูงวัยกว่า แต่กลับได้รับการปู้ยี่ปู้ยำและถ่ายทอดออกมาเป็น Waterfall the Musical ซึ่ง Charles McNulty ถึงกับเปรียบเทียบไว้ว่า ละครเวทีเวอร์ชั่นนี้เป็นได้แค่ภาพเขียนมือสมัครเล่น ที่ผู้จัดอยากจะนำไปตั้งแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์ระดับโลก ก็เท่านั้น

ฉันขอย้ำอีกครั้งว่า หัวใจของละครระดับบรอดเวย์ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงได้คือ พล็อตเรื่อง บทละคร และดนตรี เนื้อเรื่องหรือพล็อตเรื่องนี่แหละที่จะต้องมีความลุ่มลึก ซับซ้อน ชวนติดตาม และดึงดูดผู้ชมให้ติดอยู่กับเก้าอี้ ดูแล้วไม่อยากให้เรื่องจบ ไม่ใช่สับสน ตื้นเขิน ไร้ความแปลกใหม่ และน่าเบื่อ อย่าง Waterfall the Musical ฉบับนี้ ถึงขนาดที่ Jordan Riefi ได้ปรารภไว้ในตอนท้ายของบทวิจารณ์ใน the Hollywood Reporter ว่า สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับผู้ชมในการดูละครเรื่อง Waterfall the Musical ก็คือเมื่อละครจบ เราจะได้กลับบ้านกันซะที

คราวนี้เราลองมาดูตัวอย่างของละครเพลงบรอดเวย์คลาสสิก ที่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับความรักกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง South Pacific, The Phantom of the Opera, Wicked, Guys and Dolls และ West Side Story ล้วนแล้วแต่มีพล็อตเรื่องที่น่าสนใจ โดดเด่น ตัวละครแต่ละตัวเต็มไปด้วยสีสัน ความสลับซับซ้อนของคาแร็กเตอร์ ดึงดูดให้ผู้ชมค้นหา อยากรู้ว่าฉากถัดไปตัวละครจะทำอะไร การฟ้อนเล่นเต้นระบำจะประทับใจหรือไม่ ฯลฯ นี่ยังไม่นับรวมบทเพลงและเสียงดนตรี ที่ฟังแล้วไพเราะเสนาะจิต ติดหูคนดูอีกนะ

แล้วพอเรามาพิจารณา Waterfall the Musical ที่มีตัวละครอย่างนพพร ที่เป็นคนไทย เรียนที่ญี่ปุ่นในยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งมีบรรยากาศที่ไม่เป็นมิตรต่อชาติตะวันตก อย่างสหรัฐ ฯ และสหราชอาณาจักร แต่กลับมีความสนใจในอเมริกาและวัฒนธรรมอเมริกัน รวมถึงอเมริกันชน อย่างออกนอกหน้า และแคเธอรีน ที่จะเป็นด้วยเหตุผลกลใดก็แล้วแต่ ชีวิตรักของเธอได้แต่พัวพันอยู่กับชายไทย เธอแต่งงานกับชายไทยสูงอายุ และยังมาหลงรักเด็กหนุ่มไทยที่เรียนอยู่ที่ญี่ปุ่นอีก ทำไมมันถึงได้สับสน หาความเป็นเหตุเป็นผล ความลงตัวไม่เจอเลย แล้วพล็อตเรื่องที่อ่อนปวกเปียกแบบนี้ มันจะไปเทียบกับ Broadway classics ได้อย่างไรกันเล่า

ดังนั้นหาก Waterfall the Musical ยังคงคุณภาพระดับภาพเขียนมือสมัครเล่นแบบนี้ ฉันก็เห็นว่า ความฝันที่จะไปหาโรงละครที่บรอดเวย์ลงและได้รับการยอมรับในแวดวงละครเวทีในอเมริกา ก็ยังคงเป็นได้แค่ความฝันต่อไป ความฝันของแวดวงบันเทิงไทย ที่อยากไปเท่าไร ก็ไปไม่ถึงวงการระดับโลกสักที

 

อ้างอิง

LA Weekly (http://www.laweekly.com/arts/the-broadway-aspiring-musical-waterfall-tries-hard-but-1930s-japanese-politics-is-only-so-interesting-5666037)

Variety (http://variety.com/2015/legit/reviews/waterfall-review-musical-pasadena-playhouse-1201517395/)

The Hollywood Reporter (http://www.hollywoodreporter.com/review/waterfall-theater-review-802183)

LA Times (http://www.latimes.com/entertainment/arts/la-et-cm-waterfall-review-20150612-column.html)

It’s Only a Play (http://itsonlyaplay.com/)

New York Times review of It’s Only a Play (http://www.nytimes.com/2014/10/10/theater/matthew-broderick-nathan-lane-and-stockard-channing-in-its-only-a-play-on-broadway.html?_r=0)

Broadway’s best love story (http://www.playhousesquareblog.org/2011/02/broadways-best-love-stories/)

 


[1] ลิลลี่ เจนเซ่น เป็นนักเขียนอิสระ เกิดและโตในกรุงเทพ ปัจจุบันพำนักอยู่ในเมืองเล็กๆ ของสหรัฐอเมริกา ไปๆ มาๆ ระหว่างสหรัฐ ฯ กับเมืองไทยเป็นประจำ ลิลลี่เป็นนักชมละครเวทีตัวยง รวมถึงละครบรอดเวย์ทั้งหลายที่เธอได้ชมมาแล้วกว่า 15 ปี ละครเวทีเรื่องแรกที่เธอได้ชมคือ Miss Saigon บนบรอดเวย์ ในปีพ.ศ. 2541 สำหรับข้อเขียนชิ้นนี้ ลิลลี่ เขียนขึ้นหลังชมการแสดง “Waterfall the Musical” ในรอบการแสดงระหว่างวันที่ 29 พ.ค. 2015 - 28 มิ.ย. 2015 ซึ่งทำการแสดง ณ โรงละคร "Pasadena Playhouse" ที่นครลอสแองเจอลิส  รัฐแคลิฟอร์เนีย

ในแง่นี้ ข้อเขียนนี้จึงไม่ได้เป็นการประมวลข้อมูล  และวิจารณ์บนฐานของการแสดงที่ผ่านการปรับแก้ไขหลังการแสดงที่ LA โดยรอบการแสดงรอบล่าสุด (รอบที่ 2)ได้เปิดทำการแสดงและเสร็จสิ้นแล้วเมื่อ 1 ต.ค.2015 – 25 ต.ค.2015 ที่ผ่านมา ที่ “the 5th Avenue Theatre” ที่เมืองซีแอตเทิล รัฐวอชิงตัน ซึ่งลิลลี่จะได้รวบรวมบทวิจารณ์ในโลกตะวันตก และเขียนขึ้นเป็นบทความในโอกาสต่อไป อย่างไรก็ตาม จากบทวิจารณ์ส่วนใหญ่หลังการแสดงในรอบที่ 2 ก็ยังชี้ไปในทิศทางเดียวกัน ว่าไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากการแสดงในรอบแรกสักเท่าไหร่ สำหรับอนาคตของ Waterfall ก็อยู่ระหว่างการรอพิจารณาของหลายฝ่าย โดยเฉพาะผู้จัด นายทุน และกระแสของละครเวที ว่าจะมีโอกาสนำไปจัดแสดงต่อไปใน ระดับบรอดเวย์หรือไม่ ?

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท