Skip to main content
sharethis

ทบทวน 9 ปี การสู้อย่างคน ‘สันติ’ แกนนำชุมชน เผยยึดหลักการโฉนดชุมชน พร้อมสร้างสวัสดิการเพื่อความมั่นคงของชีวิต ล่าสุดชนะคดีนายทุนทำโฉนดปลอม แต่ สปก. ยังไม่ส่งมอบพื้นที่ให้ชาวบ้าน

คำว่า“สันติ” กลายเป็นคำที่ใช้เปรียบเปรยในเรื่องการต่อสู้ด้วยความสงบ ไร้ซึ่งความรุนแรง  ซึ่งไม่ต่างไปจากการต่อสู้ของชาวบ้านใน ชุมชนสันติพัฒนา ต.บางสวรรค์ อ.พระแสง จ.สุราษฏร์ธานี  ที่ใช้ระยะเวลากว่า 9  ปีในการสู้เรื่องสิทธิในที่ดินทำกินและการเข้าถึงทรัพยากรของรัฐอย่างสงบ เน้นไปที่การหาหลักฐานการถือครองทางกฎหมายไปสู้กันในชั้นศาลจนได้รับชัยชนะ

ทั้งนี้หากเทียบอัตราส่วนการถือครองที่ดินของคนไทยทั้งประเทศทั้งหมด 320 ล้านไร่  พบว่า เป็นที่ดินมีเอกสารสิทธิ์ถูกต้องจำนวน  130 ล้านไร่ และในจำนวนนี้อยู่ในมือคนไทยเพียง 15 ล้านคนจากทั่วประเทศเท่านั้น ขณะที่ยังมีคนไทยอีกกว่า 7 ล้านคนที่ไม่มีสิทธิในที่ดินทำกินใดๆเลย  สิ่งเหล่านี้จึงสะท้อนถึง ปัญหาความเหลื่อมล้ำเรื่องสิทธิที่ดินทำกินในประเทศไทยได้อย่างชัดเจน

มนัส กลับชัย แกนนำชาวบ้านสันติพัฒนา

มนัส กลับชัย แกนนำชาวบ้านสันติพัฒนา  เผยถึงแนวทางการต่อสู้ว่า ได้เริ่มต่อสู้ในเรื่องของสิทธิที่ดินทำกินมาตั้งแต่ปี 2549 จากการรวมตัวของชาวบ้านที่ยากจน ไร้ที่ทำกินจำนวน 85 ครัวเรือน หรือกว่า 200 คน เมื่อทราบว่ารัฐมีนโยบายในการนำที่ดินของรัฐมาให้เอกชนเช่าเพื่อทำประโยชน์ไม่ว่าจะเป็นที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ ที่ดินราชพัสดุ หรือที่รกร้างว่างเปล่า

เขาเห็นว่า ที่ดินของรัฐก็ควรถูกจัดการในฐานะที่เป็นทรัพยากรส่วนรวมที่ประชาชนมีอำนาจบริการจัดการร่วมกัน และรัฐเองก็ต้องจัดที่ดินเหล่านั้นให้เกษตรกรเพื่อประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้ เขายึดถือแนวทางต่อสู้นี้เป็นหลักด้วยความหวังที่คนยากคนจนจะต้องมีสิทธิในที่ดินทำกิน

เขาอธิบายต่อไปว่า ใน ต.บางสวรรค์ อ.พระแสง จ.สุราษฏร์ธานี มีที่ดินของรัฐภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร (สปก.) ที่ถูกปล่อยให้บริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่ในพื้นที่เช่าทำสวนปาล์ม แต่บริษัทเอกชนเหล่านั้นก็ได้บุกรุกพื้นที่เกินกว่าสัญญาเช่าโดยอ้างถึงกรรมสิทธิ์โฉนดที่ดินในการครอบครองพื้นที่อย่างถูกต้อง โดยพื้นที่ดังกล่าวนั้นเป็นพื้นที่ที่ ชาวบ้านใช้อยู่อาศัยและทำเกษตรกรรมเลี้ยงชีพและครอบครัวมาก่อนหน้านี้แล้ว

“ในช่วงระหว่างที่เราต่อสู้นั้นพวกเราถูกข่มขู่คุกคามในหลากหลายรูปแบบ ทั้งการนำเจ้าหน้าที่ตำรวจมาทำการขับไล่ให้ออกจากพื้นที่ และถูกฟ้องร้องดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและอาญาที่เรียกเงินกันเป็นหลักล้าน แต่สุดท้ายเราก็ยืนหยัดที่จะต่อสู้ในรูปแบบของสันติ ไม่ใช้ความรุนแรง หรือต่อสู้กันเฉพาะในข้อของกฎหมาย การหาพยานหลักฐานมายืนยันในสิทธิทำกินของประชาชนตัวเล็กๆ อย่างพวกเรา” แกนนำชาวบ้านสันติพัฒนากล่าว 

การต่อสู้ของชาวบ้านชุมชนสันติพัฒนาเริ่มขึ้นเมื่อปี 2546 โดยเริ่มต้นจากการที่บริษัทธุรกิจน้ำมันปาล์มเอกชนยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่ง ระบุว่าบริษัทของตนเองนั้น มีเอกสารสิทธิ์ น.ส.3 ครอบคลุมพื้นที่ที่ชาวบ้านทำกินอยู่ และได้ร่วมมือกับหน่วยงานรัฐในพื้นที่เพื่อทำการขับไล่ชาวบ้านให้ออกนอกพื้นที่ทำกิน

ต่อมาในปี  2549 ชาวบ้านได้ ยื่นคำร้องถึงผู้ว่าราชการจังหวัดให้แต่งตั้ง คณะกรรมการตรวจสอบพื้นที่ ที่บริษัทครอบครองทั้งหมดผลการตรวจสอบปรากฏว่า บริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่นั้นครอบครองที่ดินทั้งที่ชอบด้วยกฎหมายและไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อได้ข้อมูลดังกล่าว ชาวบ้านได้ยื่นคำร้องต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการตามกฎหมาย แต่หน่วยงานเหล่านั้นไม่ยอมดำเนินการ ชาวบ้านจึงได้ยื่นคำร้องถึงหน่วยงานสำนักนายกรัฐมนตรี และองค์กรตามรัฐธรรมนูญ อาทิผู้ตรวจการแผ่นดิน  คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม  โดยทุกหน่วยงานให้ข้อสรุปเหมือนกันว่าบริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่ ครอบครองที่ดินมิชอบด้วยกฎหมายเมื่อได้ข้อเท็จจริงอย่างนี้ แต่หน่วยงานรัฐในพื้นที่ไม่ยอมปฏิบัติตามหน้าที่

เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2550 ชาวบ้านจึงยกระดับการเรียกร้องโดยการเข้าครอบครองพื้นที่โดยตั้งเป็นชุมชนชื่อว่า ชุมชนสันติพัฒนา ซึ่งปัจจุบันนี้ศาลได้มีคำสั่งให้คดีความเรื่องโฉนดที่บริษัทใช้อ้างสิทธิครอบครองเป็นเอกสารที่ถูกจัดทำขึ้น หรือเป็นเอกสารปลอมซึ่งออกโดยหน่วนงานของรัฐ

แววนฤมล คุมไพรันย์

แววนฤมล คุมไพรันย์ อายุ 40 ปี ชาวบ้านชุมชนสันติพัฒนา ได้สะท้อนถึงความรู้สึกในการต่อสู้ให้เราฟังว่า ช่วงที่ถูกนายทุนฟ้อง รู้สึกเสียใจและท้อแท้ ไม่รู้ว่าจะเอาบ้านที่ไหนอยู่ และจะเอาที่ดินที่ไหนทำกิน แต่เมื่อศาลมีคำสั่งตัดสิน ให้ชาวบ้านชนะ ทำให้มีกำลังใจมากขึ้น

“สมัยก่อนบ้านพี่เคยมีที่ดิน แต่เจ้าหน้าที่บอกว่า เป็นการบุกรุกป่า จนต้องย้ายออกมา ซึ่งพวกเราไม่ขออะไรมาก ขอเพียงสิทธิที่ดินทำกินของตัวเองเท่านั้น อยากให้ชาวบ้านทั่วประเทศที่ต่อสู้เรื่องที่ดินทำกิน อย่าท้อถอยให้เข้มแข็ง และอยากให้คนที่ร่ำรวย หันมามองและเห็นปัญหาของคนจนบ้าง เพราะทุกวันนี้คนจนกับคนรวยห่างกันเหลือเกิน”แววนฤมลกล่าว

ทองเหรียญ โยธาภักดี

ด้าน ทองเหรียญ โยธาภักดี อายุ 49 ปี ตัวแทนชาวบ้านอีกหนึ่งครอบครัวเปิดเผยถึงความรู้สึกของตนเองว่า เมื่อก่อนมีอาชีพรับจ้างทั่วไป ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง จึงได้ตัดสินใจมาร่วมต่อสู้ กับชาวบ้านชุมชนสันติพัฒนา เมื่อตอนที่ถูกฟ้องหลายคดี ช่วงแรกหลายคนรู้สึกลำบากใจมาก เพราะเป็นเพียงชาวบ้านตัวเล็กๆ เมื่อถูกฟ้องทางด้านกฎหมาย ก็ไม่รู้ว่าจะไปสู้เขาได้อย่างไร แต่ยังดีที่มีหลายหน่วยงานมาช่วย ทำให้มีความหวังจนถึงทุกวันนี้  

“คนที่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง จะไม่เข้าใจปัญหาของคนที่ไม่มีที่ดินทำกิน ว่าเป็นอย่างไร เรื่องนี้เป็นเรื่องของการเข้าถึงสิทธิในที่ดินทำกิน ประชาชนที่อยู่ในประเทศไทย ควรจะได้สิทธิในที่ดินทำกิน นโยบายของรัฐที่มีอยู่เดิม เป็นนโยบายที่ดี ที่จะมีการจัดสรรที่ดินให้กับประชาชน แต่ในทางปฏิบัติกลับตรงกันข้าม มีการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนมากกว่าประชาชน ทุกวันนี้พวกเราจะสู้ต่อไปในผืนดินแห่งนี้ เพื่อแสดงให้เห็นว่า ประชาชนทุกคนควรได้รับสิทธิในที่ดินทำกินอย่างเท่าเทียมกัน” ทองเหรียญกล่าว

อย่างไรก็ตาม นอกจากการต่อสู้ด้านกฎหมายที่ต้องใช้ระยะเวลายาวนานมาก เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิที่ดินทำกิน จนประสบความสำเร็จแล้ว กระบวนการจัดการในชุมชนแห่งนี้ก็มีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย  โดยผู้ใหญ่มนัส ได้เผยว่า นอกจากระเบียบข้อบังคับในการจัดสรรปันส่วนที่ดิน ที่ทุกครอบครัวต้องได้คนละ 11 ไร่ แบ่งเป็น ที่อยู่อาศัย 1 ไร่ ที่เหลือใช้ในการปลูกพืช  รวมไปถึงการทำปฏิญญา ร่วมกันที่จะไม่ขายที่ดินทำกินแล้ว ยังมีการบริหารจัดการในรูปแบบของ“สิทธิชุมชน”เพื่อสร้างความมั่นคงในการถือครอง และใช้ประโยชน์จากที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด มาบริหารจัดการในชุมชนด้วย อาทิ พื้นที่ปลูกพืช ต้องแบ่งสรรไปปลูกพืชอาหารด้วย เพื่อลดต้นทุน สร้างความมั่นคงในส่วนของอาหาร รวมไปถึงการปลูกป่าต้นน้ำทดแทน เพื่อเกิดความยั่งยืนทางด้านสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ 100 ไร่ เป็นต้น  รวมไปถึงการจัดประชุมร่วมกันภายในหมู่บ้าน เดือนละ 2 ครั้ง เพื่อระบุถึง ปัญหา และวิเคราะห์ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชน เพื่อหนุนเสริมการอยู่ร่วมกันยั่งยืนในชุมชน

จุดเด่นอีกอย่างในส่วนของสิทธิชุมชน บ้านสันติพัฒนาคือ “การจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์”เพื่อความมั่งคงของชีวิตในวันข้างหน้า มีทั้งเก็บรายเดือน เดือนละ 100 บาท ที่เมื่อฝากเงินไว้แล้ว หากมีความจำเป็นหรือเดือดร้อนเรื่องเงิน ก็สามารถทำการกู้เงินไปใช้ได้ ดีกว่าไปกู้เงินจากนอกระบบ รวมไปถึง สวัสดิการเงินออมเก็บวันละ 1 บาท ซึ่งเงินส่วนนี้ มีวัตถุประสงค์สำคัญ ในการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้ โดยสามารถนำใบรับรองแพทย์ มาเบิกเพื่อขอรับเงินคืนได้  ซึ่งส่วนนี้ชาวบ้านต่างให้การตอบรับเป็นอย่างดี เพราะถือว่าเป็นความมั่งคงในคุณภาพชีวิตอย่างหนึ่ง

ขณะที่แผนงานและนโยบายเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในชุมชน จะการแบ่งเป็น ระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว  อย่างระยะเร่งด่วน จะเน้นไปที่การปลูกสร้างบ้านถาวรให้แล้วเสร็จทุกคนภายใน 3-6 เดือน ส่วนระยะกลางจะเน้นไปที่ การขอเลขที่บ้านเพื่อยกสถานะเป็นเขตการปกครอง และระยะยาว จะเน้นไปที่สนามกีฬาชองชุมชนจำนวน 7 ไร่ เพื่อส่งเสริม ให้เยาวชนได้ออกกำลังกายและรู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์

ด้าน สุรพล สงฆ์รัก กรรมการบริหารสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) ได้ให้ความเห็นว่า แม้ชาวบ้านที่นี่จะต่อสู้จนชนะในแง่ของกฎหมายแล้วหากแต่แต่สิ่งที่พวกเรากังวลคือ หลังกรณีข้อพิพาทกับบริษัทเอกชนได้จบลง ทางสปก. ยังไม่ได้มอบสิทธิในที่ดินทำกินอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งที่ สปก. สามารถดำเนินการได้เลย แต่ทุกวันนี้ยังไม่มีการดำเนินการ

บ้านสันติพัฒนา นับเป็นชุมชนเข้มแข็งอีกแห่ง ที่นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนสามารถเอาชนะนายทุนเรื่องสิทธิที่ดินได้ โดยสันติ ไม่ต้องเสียเลือดเสียเนื้อ โดยใช้หลักที่ว่า ยืนอย่างมั่นคงบนความถูกต้อง พร้อมสร้างความมั่นคงในการถือครองที่ดิน ผ่านสิทธิชุมชน ซึ่งถือเป็นต้นแบบการต่อสู้เพื่อสิทธิในการเข้าถึงทรัพยากรที่ดินของรัฐและเป็นต้นแบบให้กับพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศสามารถดำเนินการต่อสู้และจัดการที่ดินให้เกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างยืนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและช่องห่างระหว่างชนชั้นของประเทศไทยอย่างชัดเจนได้                 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net