Skip to main content
sharethis

หลังจากที่ประเทศไทยตอนบนเข้าสู่ฤดูฝนมาตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2558 กระทั่งฤดูฝนของปีสิ้นสุดลงในช่วงปลายเดือนตุลาคมนี้และเข้าสู่ฤดูหนาวเนื่องมาจากอิทธิพลของลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ เหลือเพียงภาคใต้ที่จะยังคงมีฝนตกชุกต่อไปจนถึงเดือนธันวาคม เนื่องจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ที่พัดลงมาจากประเทศจีนจะพัดผ่านทะเลจีนใต้ และอ่าวไทยก่อนลงไปถึงภาคใต้ ซึ่งจะนำความชื้นลงไปด้วย

ทั้งนี้แม้ในช่วงฤดูฝน ประเทศไทยตอนบนจะได้รับอิทธิพลจากพายุโซนร้อน “หว่ามกว๋อ” ที่พัดเข้าสู่ประเทศไทยช่วง 15-17 กันยายน และพายุโซนร้อน “มูจีแก” ที่พัดเข้าสู่ฝั่งเวียดนามตอนบนช่วงวันที่ 4 ตุลาคม และมีผลกระทบต่อไทยเมื่อ 4-6 ตุลาคมที่ผ่านมา (อ่านประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา) แต่สถานการณ์ในต้นเดือนพฤศจิกายน ปริมาณน้ำในเขื่อนใหญ่ในลุ่มน้ำสำคัญหลายแห่งในพื้นที่ประเทศไทยตอนบน และที่ราบภาคกลาง รวมทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีปริมาตรเก็บกักไม่ถึงครึ่งหนึ่ง และเมื่อเทียบข้อมูลย้อนหลัง จะพบว่าน้ำในเขื่อนในปริมาณรวมมีน้อยกว่ามาก จึงทำให้เมื่อฤดูฝนผ่านไปแล้วและไม่มีฝนตกอีก ก็คาดว่าปี 2559 หลายพื้นที่ในประเทศจะต้องเผชิญภัยแล้งเหมือนปี 2558 อีกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ระดับน้ำในเขื่อนหลักทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2558 ซึ่งมีปริมาณน้ำในเขื่อนน้อยกว่าปีที่แล้ว หลายเขื่อนมีน้ำไม่ถึงครึ่งหนึ่งของระดับเก็บกัก (คลิกเพื่อชมภาพขนาดใหญ่)

000

ภาคเหนือ

เขื่อนภูมิพล

เขื่อนภูมิพล ที่ อ.สามเงา จ.ตาก ซึ่งกั้นแม่น้ำปิงก่อนที่จะมาบรรจบกับแม่น้ำน่านที่ปากน้ำโพนั้น มีความจุที่ระดับน้ำเก็บกัก 13,462 ล้าน ลบ.ม.

ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2558 มีปริมาตร 4,984 ล้าน ลบ.ม. หรือ 37% โดยปริมาตรใช้การได้จริงคือ 1,184 ล้าน ลบ.ม. หรือ 9% ขณะที่มีปริมาตรน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำ 10.46 ล้าน ลบ. ม. ต่อวัน และมีปริมาตรน้ำระบาย 3.00 ล้าน ลบ.ม. ต่อวัน

เมื่อดูสถิติย้อนหลังของปีก่อน 1 พฤศจิกายน 2557 มีปริมาตร 6,025 ล้าน ลบ.ม. หรือ 45% ปริมาตรใช้การได้จริง 2,225 ล้าน ลบ.ม. หรือ 17%

เขื่อนสิริกิติ์

เขื่อนสิริกิติ์ ที่ อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ ซึ่งกั้นแม่น้ำน่านนั้น มีความจุที่ระดับน้ำเก็บกัก 9,510 ล้าน ลบ.ม.

ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2558 มีปริมาตร 4,906 ล้าน ลบ.ม. หรือ 52% โดยปริมาตรใช้การได้จริงคือ 2,056 ล้าน ลบ.ม. หรือ 22% ขณะที่มีปริมาตรน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำ 9.31 ล้าน ลบ.ม. ต่อวัน และมีปริมาตรน้ำระบาย 5.00 ล้าน ลบ.ม. ต่อวัน

เมื่อดูสถิติย้อนหลังของปีก่อน 1 พฤศจิกายน 2557 มีปริมาตร 5,841 ล้าน ลบ.ม. หรือ 61% ปริมาตรใช้การได้จริง 2,991 ล้าน ลบ.ม. หรือ 31%

 

ภาคกลาง

เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์

เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ที่ อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี ซึ่งกั้นแม่น้ำป่าสักนั้น มีความจุที่ระดับน้ำเก็บกัก 960 ล้าน ลบ.ม.

ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2558 มีปริมาตร 640 ล้าน ลบ.ม. หรือ 67% โดยปริมาตรใช้การได้จริงคือ 637 ล้าน ลบ.ม. หรือ 66% ขณะที่มีปริมาตรน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำ 0.86 ล้าน ลบ.ม. ต่อวัน และมีปริมาตรน้ำระบาย 0.45 ล้าน ลบ.ม. ต่อวัน

เมื่อดูสถิติย้อนหลังของปีก่อน 1 พฤศจิกายน 2557 มีปริมาตร 820 ล้าน ลบ.ม. หรือ 85% โดยมีปริมาตรใช้การได้จริงคือ 817 ล้าน ลบ.ม. หรือ 85%

เขื่อนขุนด่านปราการชล

เขื่อนขุนด่านปราการชลที่ อ.เมือง จ.นครนายก ซึ่งกั้นแม่น้ำนครนายกที่จะไปบรรจบกับแม่น้ำปราจีนบุรี ที่ อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี เป็นแม่น้ำบางปะกงและไหลออกอ่าวไทย ที่ จ.ฉะเชิงเทรา โดยเขื่อนมีความจุที่ระดับน้ำเก็บกัก 224 ล้าน ลบ.ม.

ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2558 มีปริมาตร 193 ล้าน ลบ.ม. หรือ 86% โดยปริมาตรใช้การได้จริงคือ 189 ล้าน ลบ.ม. หรือ 84% ขณะที่ปริมาตรน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำ 0.21 ล้าน ลบ.ม. ต่อวัน และมีปริมาตรน้ำระบาย 0.09 ล้าน ลบ.ม. ต่อวัน

เมื่อดูสถิติย้อนหลังของปีก่อน 1 พฤศจิกายน 2557 มีปริมาตร 224 ล้าน ลบ.ม. หรือ 100% ปริมาตรใช้การได้จริงคือ 220 ล้าน ลบ.ม. หรือ 98%

 

ภาคตะวันตก

เขื่อนศรีนครินทร์

เขื่อนศรีนครินทร์ ที่ อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี ซึ่งกั้นแม่น้ำแควใหญ่ มีความจุที่ระดับน้ำเก็บกัก 17,745 ล้าน ลบ.ม.

ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2558 มีปริมาตร 12,950 ล้าน ลบ.ม. หรือ 73% โดยปริมาตรใช้การได้จริงคือ 2,685 ล้าน ลบ.ม. หรือ 15% ขณะที่มีปริมาตรน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำ 4.51 ล้าน ลบ.ม. ต่อวัน และมีปริมาตรน้ำระบาย 4.01 ล้าน ลบ.ม. ต่อวัน

เมื่อดูสถิติย้อนหลังของปีก่อน 1 พฤศจิกายน 2557 มีปริมาตร 13,102 ล้าน ลบ.ม. หรือ 74% โดยมีปริมาตรใช้การได้จริงคือ 2,837 ล้าน ลบ.ม. หรือ 16%

เขื่อนวชิราลงกรณ

เขื่อนวชิราลงกรณ ที่ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ซึ่งกั้นแม่น้ำแควน้อย มีความจุที่ระดับน้ำเก็บกัก 8,860 ล้าน ลบ.ม.

ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2558 มีปริมาตร 5,571 ล้าน ลบ.ม. หรือ 63% โดยปริมาตรใช้การได้จริงคือ 2,559 ล้าน ลบ.ม. หรือ 29% ขณะที่มีปริมาตรน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำ 5.90 ล้าน ลบ.ม. ต่อวัน และมีปริมาตรน้ำระบาย 13.97 ล้าน ลบ.ม. ต่อวัน

เมื่อดูสถิติย้อนหลังของปีก่อน 1 พฤศจิกายน 2557 มีปริมาตร 5,387 ล้าน ลบ.ม. หรือ 61% โดยมีปริมาตรใช้การได้จริงคือ 2,375 ล้าน ลบ.ม. หรือ 27%

 

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

เขื่อนอุบลรัตน์

เขื่อนอุบลรัตน์ ที่ อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ซึ่งกั้นแม่น้ำพอง สาขาหนึ่งของแม่น้ำชี มีความจุความจุที่ระดับน้ำเก็บกัก 2,431 ล้าน ลบ.ม.

ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2558 มีปริมาตร 812 ล้าน ลบ.ม. หรือ 33% โดยปริมาตรใช้การได้จริงคือ 231 ล้าน ลบ.ม. หรือ 10% ขณะที่มีปริมาตรน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำ 0.00 ล้าน ลบ.ม. ต่อวัน และมีปริมาตรน้ำระบาย 0.80 ล้าน ลบ.ม. ต่อวัน

เมื่อดูสถิติย้อนหลังของปีก่อน 1 พฤศจิกายน 2557 มีปริมาตร 1,216 ล้าน ลบ.ม. หรือ 50% โดยมีปริมาตรใช้การได้จริงคือ 635 ล้าน ลบ.ม. หรือ 26%

เขื่อนลำปาว

เขื่อนลำปาว ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ระหว่างรอยต่อของหลายอำเภอใน จ.กาฬสินธุ์ กั้นลำน้ำปาวและห้วยยาง ซึ่งมีความจุที่ระดับน้ำเก็บกัก 2,450 ล้าน ลบ.ม.

ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2558 มีปริมาตร 958 ล้าน ลบ.ม. หรือ 48% โดยปริมาตรใช้การได้จริงคือ 858 ล้าน ลบ.ม. หรือ 43% ขณะที่มีปริมาตรน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำ 0.00 ล้าน ลบ.ม. ต่อวัน และมีปริมาตรน้ำระบาย 2.89 ล้าน ลบ.ม. ต่อวัน

เมื่อดูสถิติย้อนหลังของปีก่อน 1 พฤศจิกายน 2557 มีปริมาตร 1,187 ล้าน ลบ.ม. หรือ 60% โดยมีปริมาตรใช้การได้จริงคือ 1,087 ล้าน ลบ.ม. หรือ 55%

 

ภาคใต้

เขื่อนรัชชประภา

เขื่อนรัชชประภา ซึ่งสร้างกั้นลำน้ำคลองแสง ต.เขาพัง อ.บ้านตาขุน จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งมีความจุที่ระดับน้ำเก็บกัก 5,639 ล้าน ลบ.ม.

ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2558 มีปริมาตร 4,977 ล้าน ลบ.ม. หรือ 88% โดยปริมาตรใช้การได้จริงคือ 3,625 ล้าน ลบ.ม. หรือ 64% ขณะที่มีปริมาตรน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำ 4.05 ล้าน ลบ.ม. ต่อวัน และมีปริมาตรน้ำระบาย 3.63 ล้าน ลบ.ม. ต่อวัน

เมื่อดูสถิติย้อนหลังของปีก่อน 1 พฤศจิกายน 2557 มีปริมาตร 4,836 ล้าน ลบ.ม. หรือ 86% โดยมีปริมาตรใช้การได้จริงคือ 3,484 ล้าน ลบ.ม. หรือ 62%

 

เอลนีโญทำฝนทิ้งช่วงปริมาณน้ำฝนน้อย

โดยที่ในปีนี้เขื่อนหลักในพื้นที่ประเทศไทยตอนบน มีปริมาณน้ำในเขื่อนน้อยเมื่อเทียบกับปีก่อนๆ สาเหตุหนึ่งมาจากฝนทิ้งช่วงในช่วงต้นฤดูฝน และปริมาณฝนตกเฉลี่ยต่ำกว่าค่าปกติ โดยที่ฤดูฝนใน 2558 เริ่มต้นตั้งแต่ 22 พฤษภาคม 2558 นับตั้งแต่กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศเรื่อง “การเริ่มต้นฤดูฝนของประเทศไทย พ.ศ. 2558" (อ่านประกาศ) หลังจากลมที่พัดปกคลุมประเทศไทยได้เปลี่ยนเป็นลมตะวันตกเฉียงใต้ พัดพาความชื้นจากทะเลอันดามันเข้ามาปกคลุมประเทศไทยและอ่าวไทย ส่วนลมระดับบนได้เปลี่ยนเป็นลมตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันออกพัดปกคลุมประเทศไทย ทำให้เริ่มมีฝนตกต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม เกิดภาวะฝนทิ้งช่วงในช่วงต้นของฤดูฝน โดยประกาศกรมอุตุนิยมกรมอุตุนิยมวิทยาเรื่อง “สภาพอากาศและสภาวะฝนในช่วงฤดูฝนของประเทศไทย พ.ศ. 2558” (อ่านประกาศ) ออกเมื่อวันที่ 29 มิถุนยายน 2558 ระบุด้วยว่าฝนตกกระจายไม่สม่ำเสมอในหลายพื้นที่ โดยในเดือนพฤษภาคม ปริมาณฝนเฉลี่ยต่ำกว่าค่าปกติ 46% ขณะที่ในเดือนมิถุนายน ปริมาณฝนเฉลี่ยต่ำกว่าค่าปกติ 19%

ขณะที่ในเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน 2558 จึงเริ่มมีลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทย โดยช่วงสามสัปดาห์แรกของเดือนกรกฎาคมยังมีกำลังอ่อน แต่ปลายเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยมีกำลังแรงขึ้นและมีร่องมรสุมพาดผ่านประเทศไทยตอนบนเป็นระยะ ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนตกชุกหนาแน่น มีฝนตกเกือบทั่วไปและฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่

สำหรับสถานการณ์ของ EL NINO/Southern Oscillation (ENSO) ถือว่าประเทศไทยอยู่ในภาวะความเป็นเอลนีโญกำลังอ่อนถึงปานกลาง โดยคาดว่าจะเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญตลอดปี 2558 และมีแนวโน้มแรงขึ้น ส่งผลให้ประเทศไทยมีปริมาณฝนต่ำกว่าค่าปกติและอุณหภูมิสูงกว่าค่าปกติโดยเฉพาะต้นฤดูฝน โดยฤดูฝนของประเทศไทยตอนบนสิ้นสุดตั้งแต่กลางเดือนตุลาคม ส่วนภาคใต้โดยเฉพาะฝั่งตะวันออกจะยังคงมีฝนตกต่อไปจนถึงเดือนธันวาคม

 

ที่มาของข้อมูล

ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน http://water.rid.go.th/flood/flood/dayreport.htm

ตารางสรุปสภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศ, สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) http://www.thaiwater.net/DATA/REPORT/php/rid_bigcm.php

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net