Skip to main content
sharethis

อาจารย์ประวัติศาสตร์ ศิลปากร แนะเปิดพื้นที่สีเทา ท้าให้ถกประวัติศาสตร์ที่มากกว่า 'สยาม-ปาตานี' เสนอบทความวิชาการ “ชายแดนใต้ในบริบทภูมิภาค: การขยายพรมแดนวิจัยทางประวัติศาสตร์” ทำไมปี 1786 สยาม-ปาตานีทำไมถึงแตกหักกันรุนแรง? ทำไมปาตานีเลือกที่จะสู้กับสยาม ลองศึกษาปาตานีกับส่วนอื่นๆของโลกที่ไม่ใช่สยามดูไหม

การนำเสนอบทความวิชาการเรื่อง “ชายแดนใต้ในบริบทภูมิภาค (regional context): การขยายพรมแดนวิจัยทางประวัติศาสตร์” โดยรองศาสตราจารย์ ดร. ชุลีพร วิรุณหะ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร นับเป็นไฮไลท์หนึ่งในงานสัมมนาทางวิชาการระดับชาติเรื่อง “ชายแดนใต้กับพรมแดนความรู้ใหม่และอนาคตที่ท้าทาย” เมื่อวันศุกร์ที่ 30 ตุลาคม 2558 ที่ผ่านมา

รองศาสตราจารย์ ดร. ชุลีพร วิรุณหะ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร 

 

เปิดพื้นที่สีเทาให้ถกประวัติศาสตร์สยาม-ปาตานี

รศ.ดร. ชุลีพร กล่าวว่า ตนศึกษาประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์สยาม-ปาตานี ในช่วงสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หมายถึงก่อนปี พ.ศ. 2475 หลังจากนำงานวิจัยไปร่วมแลกเปลี่ยนกับนักวิชาการทั้งระดับชาติและท้องถิ่นมาหลายปีพบว่า ตัวประวัติศาสตร์ที่เป็นความทรงจำหลักในความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับปาตานีมีการแย่งพื้นที่กันอยู่ เป็นชุดความรู้ที่โต้แย้งกันอยู่ตลอดเวลา ต่างฝ่ายต่างเลือกที่จะเล่าเรื่องของตัวเอง ทำให้ไม่มีสิ่งที่จะสามารถประสานกันได้

หลังจากศึกษาและไตร่ตรองก็เกิดแนวคิดในการเปิดพื้นที่สีเทา คือ หยิบความทรงจำทั้งสองฝ่ายมาพูดคุยกัน ต่อยอด และตั้งคำถามใหม่ แต่วิธีการตอบจะไม่ตอบแบบเดิมโดยจะหาบริบทใหม่ๆ ตัวงานจึงเป็นงานที่มีบริบทที่กว้างกว่าปกติ โดยจะดูตัวตน ความคิด และความต้องการของทั้งสองฝ่าย

โดยปกติแล้วคนมักจะอธิบายว่าฝ่ายหนึ่งต้องการที่จะปกครองอีกฝ่ายหนึ่ง ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งก็ต้องการแยกตัวออกไป แต่ตนจะอธิบายมากกว่านั้น คือ จะเริ่มจากคำถามที่ว่า สงครามที่ปาตานีในศตวรรษที่ 16-17 ความจริงไม่ได้ทำสงครามกับสยามอย่างเดียว เพราะทำสงครามทั่วทั้งคาบสมุทร ดังนั้นมันจึงมีสิ่งที่เราจะสามารถวิเคราะห์ได้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับบริบทตรงนั้น

นอกจากนั้นจะพูดถึงบริบททางเศรษฐกิจด้วย และจะพูดถึงวิธีคิดของชาวปาตานีเองที่วิเคราะห์จากงานฮิกายัตปาตานีว่าเขามีวิธีคิดในการจัดการกับระบบบรรณาการอย่างไร

1786 สยาม-ปาตานีทำไมถึงแตกหักกันรุนแรง?

รศ.ดร. ชุลีพร กล่าวต่อไปว่า สงครามในช่วง รัชกาลที่ 1 ที่แบ่งปาตานีออกเป็น 7 หัวเมือง มีการอธิบาย 2 แบบชัดเจน คือ ฝ่ายหนึ่งอธิบายว่าเป็นการทำลายอธิปไตย ในขณะที่อีกฝ่ายอธิบายว่าเป็นการจัดการบ้านเมือง ทำให้เห็นว่าไม่สามารถที่จะไปด้วยกันได้ หรือหาพื้นที่สีเทาไม่เจอ จึงต้องตั้งคำถามใหม่กับเหตุการณ์ในตอนนั้น

คำถามก็คือ สงครามในปี ค.ศ.1785 (ระหว่างปาตานีกับสยาม) และจบลงในปี ค.ศ.1786 เพราะเหตุใดในครั้งนี้จึงไม่เหมือนในสมัยอยุธยา ทำไมถึงได้แตกหักกันรุนแรงขนาดนั้นหรือทำไมสยามต้องทำถึงขนาดนั้น ซึ่งไม่คงความสัมพันธ์กันในระบบบรรณาการ ในขณะที่เคยมีคำอธิบายว่าที่ต้องแบ่งปาตานีออกเป็น 7 หัวเมือง เพราะปาตานีแข็งแกร่ง ปกครองยาก คำถามก็คือ ปาตานีแข็งแกร่งจริงๆ หรือไม่

แต่คำตอบที่ได้ ต้องเป็นคำอธิบายที่กว้างกว่าความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับปาตานี ดังนั้นในการอธิบายว่าทำไมถึงขั้นต้องแตกหักกันรุนแรง ตนได้ใช้คำอธิบายทั้งข้อมูลจากความมั่นคงของสยาม เศรษฐกิจ วัฒนธรรมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในการตอบคำถามว่า ทำไมต้องแยกออกเป็น 7 หัวเมือง และใช้คำอธิบายของการแตกสลายของการปกครองภายในปาตานีเองด้วย นอกจากนั้นยังเกี่ยวข้องกับพม่า อังกฤษ และอื่นๆ ที่ไม่มีเวลาที่จะลงรายละเอียดได้

ทำไมปาตานีเลือกที่จะสู้กับสยาม

รศ.ดร. ชุลีพร กล่าวว่า วันนี้หลายคนนึกถึงภาพที่ปาตานีเคยมีเมืองท่าการค้าที่รุ่นเรือง จนมาวันนี้ที่ไม่รุ่งเรืองแล้ว คำถามคือ แล้วยังไง? เกิดอะไรขึ้น? มีการเคลื่อนตัวของพลวัตทางเศรษฐกิจอย่างไร แล้วดีบุกของรามัน (1ใน7หัวเมืองของปาตานี) สามารถเปลี่ยนแปลงบริบทตรงนี้ได้หรือไม่ อย่างไร หรือเกิดอะไรขึ้น? ซึ่งยังไม่มีคำอธิบาย หรือคำถามที่ว่าทำไมกษัตริย์ปาตานีในสมัยนั้นถึงเลือกที่จะสู้กับสยาม แม้จะมีคนอธิบายว่าเพราะอยากเป็นอิสระ ไม่อยากถูกปกครอง ฯลฯ ซึ่งก็เป็นคำตอบที่ถูก

แต่ตนมองว่าคนปาตานีเป็นคนที่เก่ง คือ เขารู้ว่าควรจะรุกหรือควรจะถอยตอนไหน เพราะปาตานีไม่ใช่ผู้ถูกกระทำอย่างเดียว แต่เขาสามารถเลือกที่จะทำหรือไม่ทำก็ได้ แล้วในตอนที่เขาเลือกที่จะสู้ ตนจึงอยากจะรู้คำตอบว่า ทำไมถึงเลือกที่จะสู้ ทั้งๆ ที่รู้ว่ากองทัพใหญ่มาจากกรุงเทพฯ มาถึงประตูหน้าบ้านแล้ว ปกติของคนที่อยู่ในสภาวะนั้นแล้วมักจะไม่สู้ เพราะว่าเคดะห์ กลันตัน ตรังกานู ก็เลือกที่จะไม่สู้ แต่ปาตานีเลือกที่จะสู้ มันจะต้องมีคำตอบซึ่งก็ยังหาไม่เจอ

เคยอ่านงานชิ้นหนึ่งของกามาล่า รูส์ ซึ่งก็เป็นงานที่ดีมาก แต่ที่น่าสนใจคือผู้เขียนประสบปัญหาเหมือนตนคือ การเข้าถึงข้อมูลลำบาก เช่น หอจดหมายเหตุไม่อนุญาตให้ค้นหาเอกสาร หรือเอกสารถูกทำลายไปแล้ว หรือข้อมูลเกี่ยวกับการบันทึกของข้าราชการไม่มี และอีกมากมาย เป็นต้น

ข้อจำกัดของข้อมูลทำให้งานวิจัยด้านประวัติศาสตร์ไปได้ไม่ไกล แม้วันนี้หอจดหมายเหตุจะเปิดให้อ่านได้ แต่ข้อมูลก็ไปในแนวเดียวกันหมด แม้จะมีงานใหม่ๆ เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างปาตานีกับเมกกะห์ออกมาบ้างซึ่งถือว่าดีมาก แต่ก็ยังถือว่าน้อยอยู่ที่เป็นข้อมูลใหม่ๆ ในลักษณะนี้

ทุกวันนี้ทำให้เราถกเถียงกันในเรื่องที่เรารู้ แต่เรื่องที่เราไม่รู้ก็จะไม่รู้ต่อไป คำถามคือ แล้วเราจะทำกันอย่างไร? เราจะเปิดพรมแดนอย่างไร?”

ลองศึกษาปาตานีกับส่วนอื่นๆของโลกที่ไม่ใช่สยาม

รศ.ดร. ชุลีพร กล่าวว่า สิ่งที่ตนมองว่ายังขาดคือ ประวัติศาสตร์ที่ขับเคลื่อนในบริบทใหญ่ เช่น การบูรณาการเข้าสู่ตลาดโลก พื้นที่ต่างๆ จะเกี่ยวข้องกับตรงนี้อยู่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำยาก แต่สิ่งที่ทำยากนี้แหละจะเป็นทางออก กล่าวคือ ถ้าเราลองศึกษาประวัติศาสตร์ปาตานีที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบใหญ่ เช่น ศึกษาเกี่ยวกับปาตานีกับ... หรือปาตานีและ... ส่วนอื่นๆ ของโลก ไม่ได้พูดเพียงแค่ปาตานีกับสยามเพียงอย่างเดียว

“เราจะต้องไปเรียนรู้เรื่องของคนอื่น ซึ่งการที่เราไปเรียนรู้เรื่องของคนอื่นมันจะช่วยอธิบายเรื่องของเราได้”

สิ่งที่น่าสนใจที่จะเป็นหัวข้อในการวิจัยต่อไปข้างหน้าและที่น่าจะทำได้ เช่น ปาตานีในโลกมลายู เพราะเคยมีงานที่พูดถึงโลกมลายูที่พูดถึงทุกพื้นที่ในแหลมมลายูยกเว้นปาตานี ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น? สิ่งที่คนมลายูปาตานีต้องทำคือไปศึกษาโลกมลายู ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะเป็นเรื่องที่ซับซ้อนอยู่ แต่เชื่อว่าคนที่นี่ทำได้

หรือศึกษาผู้คนที่อาศัยและหากินอยู่ในทะเลว่า ในช่วงที่ดัชต์มาส่งผลอย่างไร หรือศึกษาคนจามด้วย เพราะประวัติศาสตร์ปาตานีจะต้องมีจามแน่ๆ แต่จะมีอยู่ในช่วงไหนนั้นเป็นสิ่งที่จะต้องศึกษา

และที่สำคัญคือ ศึกษาปาตานีในโลกอิสลาม กล่าวคือ การมองว่าโลกอิสลามมีประวัติศาสตร์ของการเปลี่ยนแปลงอย่างไร แล้วประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงในโลกอิสลามมีผลต่อปาตานีอย่างไร หรือปาตานีในเศรษฐกิจการค้าของโลก เรารู้ว่ารามันมีดีบุก แต่เราไม่รู้ว่าดีบุกไปถึงเมืองท่าไหน แล้วยางพาราในช่วงนั้นขายกันอย่างไร มีพ่อค้าจีนมาซื้อหรือไม่

ควรเปลี่ยนกระบวนการคิดใหม่

รศ.ดร. ชุลีพร กล่าวว่า สุดท้ายคือยังไม่เคยเห็นการอธิบายปาตานีในบริบทของสงครามเย็นเกี่ยวกับความมั่นคงของภูมิภาค ซึ่งก็ต้องศึกษาเรื่องราวต่างๆ ของประเทศมาเลเซียด้วย ที่กล่าวมาอาจจะไม่ใช่หัวข้อวิจัยโดยตรงเพราะมันกว้าง แต่เป็นตัวอย่างของการปรับเปลี่ยนกระบวนการทางความคิด กล่าวคือ เมื่อกระบวนการทางความคิดของเราเปลี่ยน สมมติฐานก็จะเปลี่ยน ระเบียบวิธีวิจัยก็จะเปลี่ยน เมื่อเปลี่ยนแล้วก็จะสามารถเปิดตัวเองไปสู่เรื่องอื่นที่ยังไม่เคยทำกันมา

“เราลองมาศึกษาทำความเข้าใจ “ส่วน” จาก “รวม” กล่าวคือ ปกติเราจะบอกว่า ผลรวมมาจากการทำความเข้าใจส่วนเล็กๆ แล้วมารวมกันเป็นผลใหญ่ แต่เราลองกลับกัน เราลองศึกษาผลรวมแล้วมาดูว่าตัวผลรวมมันจะทำให้เราเข้าใจส่วนได้หรือไม่”

สุดท้ายแล้วคนในพื้นที่อาจพบว่าเราไม่ได้เป็นคนในพื้นที่ชายแดนใต้ของไทยเพียงอย่างเดียว แต่เราเป็นส่วนหนึ่งของโลกมลายู เราเป็นส่วนหนึ่งของประชาชาติอิสลาม หรือเราเป็นอีกประชาคมหนึ่งที่ใหญ่กว่าตรงที่เราอยู่ ซึ่งจะทำให้เรามีจุดยืนที่ใหญ่กว่าที่เราเป็นอยู่ในทุกวันนี้ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net