บรรษัทสวนปาล์มรุกคืบ 'ปาปิวนิวกินี' ทำลายป่าฝน-ส่งผลโลกร้อน

เจน วิลท์ตัน นักข่าวอิสระเขียนรายงานลงในเว็บไซต์ Contributoria เรื่องของน้ำมันปาล์มซึ่งเป็นน้ำมันพืชที่นิยมใช้อย่างแพร่หลายและเป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวันไม่ว่าจะเป็นไอศกรีมหรือแชมพู แต่การผลิตน้ำมันปาล์มก็เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดปัญหาการทำลายป่าฝนและมีส่วนในการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งในตอนนี้กำลังเริ่มรุกคืบเข้าสู่ปาปัวนิวกินี

4 พ.ย. 2558 ในรายงานที่วิลท์ตันเขียนให้กับ Contributoria อ้างอิงถึงข้อมูลจากเครือข่ายปฏิบัติการเพื่อป่าฝน (Rainforest Action Network) ระบุว่าการผลิตน้ำมันปาล์มเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งที่ทำให้เกิดการทำลายป่าฝนและยังทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการที่บรรษัทบังคับไล่ที่กลุ่มชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่น

วิลท์ตันชี้ให้เห็นว่า ถึงแม้ว่าอินโดนีเซียและมาเลเซียจะเป็นผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่สุดแต่ในตอนนี้ธุรกิจน้ำมันปาล์มเริ่มบุกเข้าไปในประเทศอื่นอย่างปาปัวนิวกินีเพื่อแสวงหาผลกำไรซึ่งปาปัวนิวกินีถือเป็นประเทศส่งออกน้ำมันปาล์มรายใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของโลก โดยส่วนใหญ่เป็นการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปร้อยละ 95 ปาปัวนิวกินีซึงมีภูมิประเทศเป็นเกาะเพิ่มการส่งออกน้ำมันปาล์มอย่างมากเมื่อช่วงสิบปีที่ผ่านมา และมีการส่งออกสูงที่สุดในปี 2553 คิดเป็นมูลค่า 450 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

อย่างไรก็ตามปาปัวนิวกินีเป็นแหล่งป่าไม้ตามธรรมชาติที่สำคัญของโลก โดยกลุ่มโกลบอลฟอเรสต์วอทช์ระบุว่าในพื้นที่ป่าทั้งหมดของปาปัวนิวกินีมีพื้นที่ป่าดั้งเดิมซึ่งหมายถึงป่าที่ยังไม่เคยมีมนุษย์เข้าไปดำเนินกิจกรรมใดๆ ถึงร้อยละ 91 แต่วิลท์ตันก็ระบุว่าเมื่อมีการทำสวนปาล์มรุกคืบเข้าไปในพื้นที่แล้วก็อาจจะทำให้พื้นป่าดั้งเดิมลดลง

รายงานจากองค์กรเฟรนด์ออฟดิเอิร์ธระบุว่าการทำไร่ปาล์มจะส่งผลกระทบต่อสัตว์จำพวกเลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์เลื้อยคลาน และนกที่อยู่ในพื้นที่ป่าดั้งเดิม ในขณะที่ชุมชนท้องถิ่นซึ่งจะได้รับผลกระทบโดยทันทีจากการทำลายป่า ก็ต้องพึ่งพาอาศัยป่าเหล่านี้โดยมีหลักปฏิบัติภายใต้กฎดั้งเดิมของชุมชน พวกเขาหาเลี้ยงชีพภายใต้ผืนป่าเหล่านี้และผืนป่ายังมีส่วนสำคัญในทางวัฒนธรรมและทางศาสนาของพวกเขา การทำลายป่าจึงกลายเป็นการทำลายวิถีชีวิตของพวกเขาไปด้วย

รายงานของวิลท์ตันระบุต่อไปว่านอกจากเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพและวิถีชีวิตคนท้องถิ่นแล้ว การทำลายป่าเพื่อสร้างสวนปาล์มยังส่งผลต่อการเพิ่มปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศด้วยโดยที่องค์กรกรีนพีชอังกฤษระบุว่าการตัดไม้ทำลายป่าส่งผลให้มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากฝีมือคนถึง 1 ใน 5 ของทั้งหมดซึ่งมากกว่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากภาคการสัญจรโดยสารทั่วโลก

โครงการศึกษาทางวิทยาศาสตร์เรื่องโลกร้อนแถบแปซิฟิกประเมินว่าการเปลี่ยนแปลงในปาปัวนิวกินีจะส่งผลให้น้ำทะเลหนุนสูงขึ้น ทำให้สภาพภูมิอากาศอุ่นขึ้นและมีฝนตกต่อปีมากขึ้น ซึ่งความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะกระทบกับสภาพชีวิตของชาวปาปัวนิวกินีทั้งในแง่เศรษฐกิจเช่นการผุพังของโครงสร้างพื้นฐาน การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเกษตรและความขัดแย้งในสังคมที่ตามมาหลังเกิดการพลัดถิ่นเนื่องจากภาวะน้ำท่วม นอกจากนี้ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคมาลาเรียด้วย

ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) ประเมินว่าปาปิวนิวกินีจะได้รับผลกระทบจากปรากฎการณ์โลกร้อนมากที่สุดในแถบแปซิฟิกโดยจะส่งผลให้เกิดความสูญเสียทางการเกษตรซึ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจจากการที่ประเทศมีอุณหภูมิสูงและขาดแคลนน้ำสะอาด

รายงานของวิลท์ตันระบุว่าเกาะเล็กๆ บางแห่งที่อยู่ในปาปัวนิวกินีเริ่มมีน้ำท่วมเนื่องจากน้ำทะเลที่หนุนสูงขึ้นแล้ว หนึ่งในนั้นคือเกาะคาร์เตเรตที่ผู้อยู่อาศัยต้องอพยพหลังมีน้ำหนุนสูงส่งผลต่อการเกษตรและต้นมะพร้าวซึ่งเป็นแหล่งอาหารทำให้ชาวเกาะคาร์เตเรตถือเป็นผู้ลี้ภัยเนื่องจากภาวะโลกร้อนกลุ่มแรกของโลก

วิลท์ตันชี้ให้เห็นอีกว่ามีหลักฐานจำนวนหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่ากลุ่มบรรษัทที่ต้องการทำสัญญาเรื่องสวนปาล์มใช้เรื่องโครงการสวนปาล์มเพื่อบังหน้าแต่จริงๆ แล้วต้องการทรัพยากรไม้ซุงที่ได้จากการตัดไม้เพื่อทำสวนปาล์มมากกว่า วิลท์ตันยังได้ยกตัวอย่างกรณีหมู่บ้านกาไดสุซึ่งตั้งอยู่บนคาบสมุทรทางใต้สุดของปาปัวนิวกินีที่มีประชากรอยู่ไม่กี่ร้อยคน แต่ผู้คนในหมู่บ้านต่างก็ได้รับผลกระทบจากการทำสวนปาล์มที่ส่งผลต่อพืชเพาะปลูกของพวกเขาอย่างมันเทศ กล้วย และผักต่างๆ ซึ่งให้ผลผลิตลดลง โดยชาวบ้านในพื้นที่เชื่อว่าเป็นผลมาจากสารเคมีที่ใช้ในการปลูกพืชปาล์มรวมถึงศัตรูพืชใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นจากการทำสวนปาล์มพากันบุกรุกพืชเพาะปลูกอื่นๆ ของชาวบ้านด้วย

อจิต มุตตุคูมาราสวามี ผู้มีภรรยาชื่อราเชลอยู่ในหมู่บ้านกาไดสุกล่าวว่าถ้าชาวบ้านมีหนทางอื่นในการทำให้ชีวิตดีขึ้นพวกเขาก็จะไม่อยากให้มีสวนปาล์มเพราะสวนปาล์มทำให้ผืนป่าและผืนดินดั้งเดิมของพวกเขาหายไป ขณะที่องค์กรเอ็นจีโอที่สนับสนุนระบบอาหารแบบยั่งยืนชื่อองค์กร 'เกรน' (GRAIN) เปิดเผยว่าการยึดครองที่ดินเพื่อทำสวนปาล์มซึ่งเป็นการเกษตรเน้นพืชเชิงเดี่ยวยังก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆ ต่อชุมชนเช่นการทำลายหน้าดิน นอกจากนี้ยังมีปัญหาการย้ายถิ่นฐานแรงงานซึ่งการจ้างงานสวนปาล์มมักจะจ้างงานคนชายขอบให้ทำงานภายใต้สภาพการจ้างที่ย่ำแย่และเป็นอันตราย

องค์กรเอ็นจีโออีกแห่งหนึ่งคือ 'บิสมาร์ค รามุ กรุ๊ป' กล่าวว่าประชากรชาวปาปัวนิวกินีร้อยละ 85 อาศัยอยู่ในเขตชนบทซึ่งต้องพึ่งพาป่าไม้ ที่ดินทำกิน แหล่งน้ำอย่างแม่น้ำหรือทะเลในการดำรงชีวิต การผลักให้ผู้คนเหล่านี้ออกจากสิ่งที่พวกเขาพึ่งพาอยู่และการสูญเสียระบบอาหารจึงไม่สามารถลดความยากจนได้และจะทำให้ทุกอย่างล้มเหลว

เรียบเรียงจาก

Papua New Guinea: the new frontier for palm oil production, Jen Wilton, Contributoria, 09-2015  http://www.contributoria.com/issue/2015-09/55a398681d70d5336c0001ca/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท