Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

         

ผู้เขียนเชื่อว่าในบรรดานักปกครองหรือนักคิดคนสำคัญของโลก เหมา เจ๋อตงน่าจะได้ชื่อว่าเป็นบุคคลที่สร้างความรู้สึกหรือทัศนคติที่หลากหลายสำหรับชาวโลกมากที่สุดคนหนึ่ง เป็นความจริงที่ว่าคนจีนในยุคปัจจุบันจำนวนหลายร้อยล้านคนยังเคารพเทิดทูนเขาในฐานะบิดาผู้ก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ดังจะเห็นได้จากโปสเตอร์และรูปหล่อขนาดเล็กของเหมาตามบ้านของคนจีนและเหมาก็เปรียบได้กับสัญลักษณ์ของประเทศจีนนอกเหนือจากพระราชวังต้องห้ามกับหมีแพนด้าดังจะดูได้จากโปสการ์ดหรือของที่ระลึกสารพัดชนิดที่มีภาพของเขาเพื่อขายให้นักท่องเที่ยว  ความนิยมของคนจีนต่อตัวเหมาอย่างไม่ลืมเลือนเป็นเรื่องที่อธิบายได้ไม่ยากเพราะพรรคคอมมิวนิสต์นิยมใช้ภาพของเหมาในการสร้างความชอบธรรมของตนมาหลายทศวรรษภายหลังจากที่เขาได้เสียชีวิตไปเมื่อปี 1976 แม้ว่าลัทธิเชิดชูบุคคลของเหมาเช่นเดียวกับลัทธิเหมาแบบสุดขั้วจะมีส่วนทำให้คนจีนเสียชีวิตเป็นล้านๆ ในช่วงปฏิวัติทางวัฒนธรรม (ช่วงปี 1966-1976)  ดังจะเห็นได้กับการที่รัฐบาลจีนยังคงติดตั้งรูปเหมาไว้เหนือทางเข้าพระราชวังต้องห้ามหรืออยู่ในธนบัตรของจีน มีการก่อตั้งอนุสาวรีย์ขนาดใหญ่ของเหมาในหลายจุดทั่วประเทศและมีการอ้างถึงบทกวีที่เหมาได้รจนาอยู่เสมอราวกับเหมาเป็นมหาบุรุษกึ่งเทพในตำนาน เป็นที่แน่ชัดว่ากลยุทธ์โฆษณาชวนเชื่อแบบนี้ย่อมเป็นแรงบันดาลใจต่อเกาหลีเหนือจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีการสร้างภาพยนตร์ขึ้นมาหลายเรื่องเพื่อเชิดชูพรรคคอมมิวนิสต์และตัวเหมาที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีนซึ่งแน่นอนว่าจะต้องสอดคล้องกับตำราเรียนหรือหนังสือประวัติศาสตร์กระแสหลักหรืออาจจะยิ่งกว่านั้นอย่างเช่นเรื่องล่าสุดที่ฉายในปี 2015 คือ Cairo Declaration ที่ได้แสดงภาพของเหมาเข้าร่วมประชุมกับผู้นำของสหรัฐอเมริกาและอังกฤษที่กรุงไคโร ประเทศอียิปต์ในปี 1943  ทั้งที่ความจริงแล้วเป็นเจียง ไคเช็ค แม้ภาพยนตร์จะประสบความล้มเหลวและได้รับการโจมตีจากบรรดาคนจีนด้วยกันแต่ก็สะท้อนถึงความพยายามใช้เหมาในการโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลจีนซึ่งความน่าเชื่อถือกำลังเสื่อมถอย อันเนื่องมาจากกลิ่นเหม็นเน่าของการฉ้อราษฎร์บังหลวงที่หยั่งรากลึกลงไปในพรรคคอมมิวนิสต์ 
      
ในทางกลับกันภายนอกประเทศจีนมีคนจำนวนไม่น้อยโดยเฉพาะพวกเสรีนิยมของตะวันตกมองเหมาว่าเป็นทรราชที่กระหายเลือดดังเช่นในอินเทอร์เน็ตมีคนเอารูปของเขาอยู่เคียงข้างกับโจเซฟ สตาลินและอดอล์ฟ ฮิตเลอร์รวมไปถึงเผด็จการคนอื่นๆ พร้อมตัวเลขหลักล้านของประชาชนตาดำๆ ที่ต้องเสียชีวิตจากความคลั่งในอุดมการณ์หรือความกระหายอำนาจของพวกเขา เหมาในสายตาของพวกสนับสนุนประชาธิปไตยหลายคนยังเป็นสัญลักษณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนซึ่งเป็นเผด็จการอำนาจนิยมอันแสนชั่วร้ายและยังเหยียบย่ำสิทธิมนุษยชนของคนจีนรวมไปถึงชนกลุ่มน้อยที่มีความแตกต่างในด้านเชื้อชาติและศาสนาอย่างพวกอุยกูร์และชาวทิเบต ดังที่ผู้เขียนเคยไปร้านกาแฟแห่งหนึ่งซึ่งเจ้าของค่อนข้างชื่นชอบทิเบตได้เอาโปสเตอร์รูปเหมาติดไว้เหนือโถส้วม นอกจากนี้ยังมีการผลิตหนังสือเกี่ยวกับชีวประวัติของเหมาออกมาหลายเล่มซึ่งนำเสนอภาพของเหมาในแง่มุมที่ไม่สวยงามนักดัง  Mao: The Unknown Story ของจุง ชางซึ่งเคยเป็นเยาวชนเร็ดการ์ดมาก่อนและได้สร้างชื่อเสียงมาจากอัตชีวประวัติของตนที่อิงกับประวัติศาสตร์จีนยุคเหมาดังเช่น The Wild Swans  โดยหนังสือชีวประวัติเหมาเล่มนี้แม้จะอ้างว่ามีข้อมูลใหม่ที่ค้นพบในหอจดหมายเหตุจากหลายที่ แต่ผู้เขียนก็ได้เล่าเรื่องในเชิงโจมตีเหมาเสียจนแทบไม่มีดีอันแตกต่างจากหนังสือวิชาการที่ผลิตโดยชาวตะวันตกก่อนหน้านี้หลายสิบเล่มที่พยายามเสนอภาพของเหมารอบด้านและเป็นเชิงวิเคราะห์ (ทว่าหนังสือเหล่านั้นก็คงไม่เป็นที่ยอมรับของพวกผู้นำหัวโบราณของจีนอีกเช่นกันเพราะไม่สอดคล้องกับลัทธิเชิดชูเหมาให้เป็นเทพ)
     
อย่างไรก็ตามหนังสือซึ่งถูกตีพิมพ์ก่อนหน้านั้นและได้สร้างความด่างพร้อยแก่ภาพพจน์ของเหมาอย่างใหญ่หลวงโดยเฉพาะต่อมุมมองของชาวตะวันตกคือ The Private Life of Chairman Mao  เขียนโดยแพทย์ประจำตัวเหมานามว่าลี่ จื้อสุย  ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่บทความนี้จะได้กล่าวถึง
      
The Private Life of Chairman Mao แปลตามตัวคือ “ชีวิตส่วนตัวของท่านประธานเหมา” (หรือแปลให้สละสลวยกว่านั้นคือตามชื่อของบทความ)  ได้รับการตีพิมพ์เมื่อปี 1994 หนังสือหนาขนาดเกือบ 700 หน้านี้เป็นบันทึกจากความทรงจำของลี่ซึ่งเคยทำงานอยู่กับเหมาอย่างใกล้ชิดเป็นเวลากว่า 2 ทศวรรษ   ความน่าเชื่อถือของเรื่องราวในหนังสือได้รับการเสริมจากภาพถ่ายเหมาที่มีลี่อยู่ด้วยในอิริยาบทหรือสถานที่ต่างๆ  หรือที่มีกิจกรรมทางการเมืองอันโด่งดังของจีนเป็นฉากหลัง หลายรูปมีเขายืนเคียงข้างเหมาตามลำพัง การเปิดเผยของลี่ถือได้ว่าเป็นการแสดงภาพของเหมาในฐานะมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อได้ละเอียดลออกว่าหนังสือของชางแม้จะไม่ได้เป็นวิชาการเท่า   เท่าที่ผู้เขียนทราบยังไม่มีใครแปลเป็นภาษาไทยเหมือน  Mao: The Unknown Story   แต่สำหรับคนที่ภาษาอังกฤษไม่แข็งแรงก็อาจไม่ต้องวิตกกับการอ่านหนังสือเล่มนี้นักเพราะผู้แปลเป็นภาษาอังกฤษก็เป็นคนจีนซึ่งใช้ศัพท์ค่อนข้างสละสลวย แต่ประโยคไม่ซับซ้อนและสามารถสะท้อนถึงความคิดและมุมมองของปัญญาชนอย่างเช่นนายแพทย์ลี่ต่อตัวเหมากับการเมืองและสังคมจีนได้อย่างดีในระดับหนึ่ง ชวนให้ติดตามอ่านชนิดวางไม่ลง  หนังสือเล่มนี้ถูกเขียนขึ้นจากความทรงจำของลี่ล้วนๆ  เพราะบันทึกตัวจริงได้ถูกเจ้าตัวเผาทิ้งไปหมดแล้วจากความหวาดกลัวต่อภัยรอบตัวโดยเฉพาะในยุคปฏิวัติวัฒนธรรม
        
ในบทแรกของของหนังสือ นายแพทย์ลี่กล่าวถึงอาการป่วยหนักของเหมาก่อนจะถึงแก่อสัญกรรมในปี 1976  เป็นการโหมโรงก่อนบทที่ 2 ซึ่งเป็นการเท้าความกลับไปยังชีวิตของเขาเองว่ามีพื้นฐานครอบครัวและตระกูลมาจากอาชีพแพทย์ซึ่งได้รับใช้ราชสำนักมาหลายชั่วอายุคน แต่เขาก็วิพากษ์ถึงจารีตโบราณของจีนโดยเฉพาะค่านิยมของผู้ชายที่มีภรรยาหลายคนจากการที่บิดาของเขาไปมีภรรยาใหม่อันส่งผลให้เขาต้องตกอยู่ในภาวะบ้านแตกสาแหรกขาดและต้องเหินห่างจากบิดาไป สิ่งนี้ย่อมส่งผลถึงความรู้สึกของลี่ที่โหยหาผู้เป็นเสมือนบิดา (father figure) อย่างเหมา เจ๋อตงอันปรากฏกลิ่นอายอยู่ในหลายส่วนของหนังสือซึ่งน่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เขาต้องวนเวียนอยู่รอบตัวเหมาเป็นเวลากว่า 20 ปี (นอกเหนือไปจากความต้องการเอาตัวเองกับครอบครัวให้รอดหรืออาจเพราะเสพติดกับความเป็นอภิสิทธิ์ชน)  ลี่เล่าว่าภายหลังจบการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเวสต์ไชนายูเนียน (West China Union University)   ที่มณฑลเสฉวน เขาได้เดินทางไปทำงานที่ออสเตรเลีย ภายหลังจีนเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นคอมมิวนิสต์เมื่อปี 1949 ลี่ได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลคอมมิวนิสต์และตัดสินใจกลับไปทำงานเพื่อพัฒนาจีนใหม่อย่างไม่ต้องครุ่นคิดอะไรมากโดยเขาให้เหตุผลว่าเพราะพลังในวัยหนุ่มผสมความศรัทธาอันแรงกล้าต่อตัวพรรคและประเทศซึ่งลี่ก็ไม่ปฏิเสธสาเหตุอื่นว่ายังเกิดจากลัทธิเหยียดสีผิวในออสเตรเลียด้วย 
     
ในช่วงต้นๆ  ลี่บอกกับคนอ่านว่าเขาไม่สามารถคาดเดาได้ว่าตนจะถูกส่งให้ไปรับใช้ผู้นำสูงสุดอย่างเช่นเหมาเขาจึงอุทิศตนให้กับคนไข้ซึ่งเป็นสามัญชนทั่วไปและยังทำอยู่เช่นนั้นแม้ว่าจะได้เป็นแพทย์ประจำตัวเหมา  เหตุการณ์เร้าอารมณ์ที่สุดตอนหนึ่งของหนังสือคือเมื่อเขาได้รับการเรียกตัวให้ไปพบเหมา โดยสถานที่ของการพบกันครั้งแรกดูประหลาดสักหน่อยเพราะเหมาต้อนรับเขาขณะนอนกึ่งเปลือยอยู่บนเตียงไม้ข้างสระน้ำ ฉากข้างสระน้ำนี้เหมือนเป็นตัวบอกเป็นนัยถึงความรักในการอยู่กับน้ำและความนิยมว่ายน้ำของเหมาในสถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะแม่น้ำแยงซีเกียง  หนังสือยังได้กล่าวว่าการที่เหมารับลี่มาเป็นแพทย์ประจำตัวก็เพราะความชื่นชมและศรัทธาต่อการศึกษาจากมหาวิทยาลัยที่ก่อตั้งโดยชาวตะวันตกรวมไปถึงทักษะการใช้ภาษาอังกฤษขั้นสูงของลี่ อันสะท้อนถึงความย้อนแย้งของผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งแสดงภาพลักษณ์ต่อต้านตะวันตกอันช่วยโหมกระพือลัทธิชาตินิยมในบรรดาชาวจีนว่าน่าจะยกย่องภาษาและศาสตร์ทางการแพทย์ของจีนหรือไม่ก็สหภาพโซเวียตเสียมากกว่า (สิ่งนี้อาจเป็นปัจจัยเสริมที่ทำให้เหมายอมเชื่อมสัมพันธไมตรีกับสหรัฐอเมริกาในอีก 2 ทศวรรษกว่า)  แต่ประโยชน์ของลี่สำหรับเหมาก็ไม่เพียงเท่านี้ ในช่วงต่อมาของหนังสือ ลี่ยังได้รับการขยับขยายไปยังตำแหน่งเพื่อนคุย   หรือมิตรสหายซึ่งให้ความรู้ในเรื่องราวเกี่ยวกับต่างประเทศและสุขภาพแก่เหมาหรือแม้แต่การถูกเหมาชักจูงให้เป็นไปเลขานุการส่วนตัวซึ่งลี่ปฏิเสธอย่างแข็งขันเพราะเกรงว่าจะถูกดึงเข้าไปในวังวนทางการเมืองอันแสนโสโครกในขณะที่เขาต้องการทำหน้าที่ของนายแพทย์อย่างเคร่งครัดเท่านั้น กระนั้นเหมาก็ยังหลอกลี่ให้เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองอยู่หลายครั้งเช่นการไปสืบหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการปฏิวัติวัฒนธรรมที่กรุงปักกิ่ง  
    
ตามคำบอกเล่าของลี่ คนตัวเล็กตัวน้อยที่อยู่รอบข้างเหมาเช่นเขารวมไปถึงพยาบาลหรือองครักษ์ยังเป็นที่น่าไว้วางใจสำหรับเหมายิ่งกว่าสหายทั้งหลายในพรรคคอมมิวนิสต์ที่ร่วมกันต่อสู้จนลุแก่อำนาจเสียอีก หนังสือเล่มนี้จึงสะท้อนถึงความสัมพันธ์อันเหินห่างเช่นเดียวกับความไม่ไว้วางใจปนเปด้วยความอิจฉาของเหมาที่มีต่อผู้นำคนอื่นอันนำไปสู่เหตุผลที่ว่าทำไมในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมที่ริเริ่มโดยเหมาและแก๊งค์  4 คน  บรรดาผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งมีความขัดแย้งในเรื่องการทำงานกับเหมาต้องพบกับความเดือดร้อนดังเช่นเติ้ง เสี่ยงผิงถูกปลดออกจากตำแหน่งระดับสูงและส่งไปอบรมเสียใหม่ที่ชนบท (อันเป็นคำสวยงามแทนคำว่าการทำงานหนักและใช้ชีวิตอย่างทรมานในค่ายกักกันซึ่งมีสภาพเหมือนกับคุกในเกาหลีเหนือ) ส่วนเผิง เตอะหวาย และหลิว เส้าฉีซึ่งเป็นกลุ่มผู้นำพรรคที่ลี่เขียนถึงด้วยความยกย่องว่ายึดมั่นในอุดมการณ์และความถูกต้องก็ต้องเสียชีวิตจากการถูกทำร้ายร่างกายและการกักขังของเหล่าเร็ดการ์ด แม้แต่โจว เอินไหลถึงแม้จะเอาตัวรอดได้แต่บุตรบุญธรรมของเขาก็ต้องเสียชีวิตแบบเดียวกับเผิงและหลิว
      
อย่างไรก็ตามลี่ก็ได้สะท้อนให้เห็นว่าชีวิตบรรดา “ข้าราชบริพาร” ของเหมานั้นหาได้สุขสบายไม่เพราะต้องลำบากใจที่เหมามักพยายามขบถต่อกฎระเบียบรอบตัวอันทำให้พวกเขาต้องถูกเจ้านายตำหนิหรือถูกลงโทษนอกจากนี้ท่านประธานยังมีความหวาดระแวงต่อคนรอบข้างเช่นเดียวต่อผู้นำคนอื่นของพรรคจึงมักจะปั่นหัวให้คนเหล่านั้นเกิดความหวาดระแวงและหันมาเล่นงานกันเองโดยมีเหมาเป็นผู้คุมเกมอยู่เบื้องหลัง สำหรับลี่เองซึ่งมักยืนยันว่าเขาเป็นคนดีเต็มไปด้วยอุดมการณ์และยึดมั่นกับหน้าที่ของตนก็ไม่สามารถหลุดพ้นจากห้วงแห่งความขัดแย้งหรือความริษยาของคนรอบข้างเหมาอันส่งผลให้ชีวิตของลี่ต้องเดือดร้อนและเต็มไปด้วยความวิตกกังวลอยู่เนืองๆ  เขาได้บรรยายว่าความผิดพลาดไม่ว่าทั้งการกระทำหรือคำพูดอันจะทำให้เหมาขุ่นเคืองเพียงเล็กน้อยก็อาจทำให้บุคคลผู้นั้นต้องพบกับความหายนะของชีวิตเช่นถูกส่งไป “อบรมเสียใหม่”  แม้ว่าลี่จะพยายามปลีกหนีออกจากกลุ่มโดยอ้างถึงการศึกษาต่อที่ต่างประเทศหรือศูนย์ทางการแพทย์ที่ไกลจากศูนย์อำนาจที่ปักกิ่งแต่ก็ถูกเหมาดึงกลับมาอยู่ตรงจุดเดิมเสมอ โดยลี่ได้เปรียบสังคมปิดของจีนในยุคนั้นว่าเหมือนกรงขังที่ไม่มีใครสามารถหลบหนีออกไปได้แม้ว่าจะต้องพบกับความยากลำบากจากนโยบายของพรรคไม่ว่าด้านเศรษฐกิจหรือการกวาดล้างด้านอุดมการณ์ในยุคต่างๆ  แม้แต่การฆ่าตัวตายก็ไม่ใช่ทางออกเพราะคู่สมรสรวมถึงทายาทของเขาหรือเธอผู้นั้นก็จะถูกประณามอย่างรุนแรงและถูกตีตราไปจนตาย
     
สำหรับคนที่ชอบประวัติศาสตร์จีนยุคร่วมสมัยย่อมเพลินไปกับการอ่านหนังสือเล่มนี้เพราะนายแพทย์ลี่ได้เขียนบรรยายถึงเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ได้อย่างละเอียดละออโดยมักมีเขาปรากฎอยู่ในเหตุการณ์เสมอดังตัวอย่างเช่นเขาเข้าร่วมพิธีการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ปี 1949  และแลเห็นเหมายืนอยู่บนระเบียงของพระราชวังต้องห้าม ลี่ยังบรรยายถึงความรู้สึกตื้นตันใจและเปี่ยมด้วยความศรัทธาต่อตัวเหมาอันเป็นความรู้สึกที่ตรงกันข้ามกับในเวลาต่อมา หนังสือยังกล่าวถึงนโยบายการก้าวกระโดดไกลที่ผิดพลาดของเหมา (ช่วงปี 1958-1961) อันนำไปสู่ความอดอยากและการเสียชีวิตเป็นจำนวนมากของคนจีน จนไปถึง กลยุทธ์ของพรรคในการกำจัดผู้ที่กล้าออกมาวิจารณ์นโยบายของพรรคดังที่เรียกว่า “รณรงค์ร้อยบุปผา”  (Hundred Flowers Campaign)  ลี่เขียนบันทึกอย่างชัดเจนถึงความพยายามผลิตเหล็กกล้าจากเหมาที่ต้องการให้แต่ละคอมมูนหรือชุมชนมีเตาเผาเพื่อหลอมเหล็กอันจะนำจีนก้าวทันมหาอำนาจอย่างเช่นอังกฤษและสหรัฐอเมริกาแต่ก็ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงและน่าอับอาย
     
หนังสือยังได้เล่าถึงความสัมพันธ์อันไม่ราบรื่นระหว่างเหมากับผู้นำของสหภาพโซเวียตอย่างสตาลินซึ่งมักตรงกันข้ามกับความเชื่อของคนทั่วไปตามการโฆษณาชวนเชื่อที่ว่าทั้งคู่เป็น “มหามิตร” อันทำให้ใครหลายคนยังคงเชื่อว่าค่ายคอมมิวนิสต์มีแต่ความสามัคคี แต่เหมากลับประณามก่นด่าทอสตาลินให้ลี่ฟังเพราะเขาเห็นว่าสตาลิน (ซึ่งความจริงมีนิสัยเหมือนเหมา) นั้นไม่จริงใจต่อตัวเขาและประเทศจีนดังเช่นได้สนับสนุนให้กลุ่ม 28  บอลเชวิกแย่งชิงอำนาจในพรรคคอมมิวนิสต์จนทำให้พรรคต้องอ่อนแอและเพลี่ยงพล้ำให้กับพรรคก๊กมินตั๋งในสมรภูมิแห่งหนึ่ง นอกจากนี้เหมายังคงแค้นเคืองที่เขาถูกปล่อยให้รอที่กรุงมอสโคว์เป็นเวลาเกือบ 2 เดือนในปี 1949 กว่าจะได้พบกับผู้นำสหภาพโซเวียต สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างเหมากับผู้นำคนต่อมาคือ   นิกิตา ครุซชอฟนั้นเลวร้ายกว่ามากโดยเฉพาะยุคหลังจากที่ครุซชอฟกล่าวประณามสตาลินอย่างสาดเสียเทเสียดังเช่นในปี 1958 ที่ครุซชอฟได้เดินทางมาเยือนเหมาที่จีนอย่างเป็นความลับ ลี่ก็ได้บรรยายว่าเหมาต้อนรับผู้นำของสหภาพโซเวียตขณะอยู่ในสระน้ำและยังชักชวนให้ครุซชอฟลงว่ายน้ำด้วยเพื่อเจรจาความทางการเมืองกัน เป็นไปได้ว่าเหมาต้องการทำให้ครุซชอฟซึ่งว่ายน้ำไม่เก่งนักอับอายขายขี้หน้าอันเป็นตัวสะท้อนถึงความเสื่อมโทรมของความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศซึ่งทวีความรุนแรงขึ้นในภายหลัง และลี่ยังได้สะท้อนถึงภาวะแห่งความเป็นปรปักษ์ระหว่างจีนและสหภาพโซเวียตซึ่งถึงจุดสูงสุดในเดือนมีนาคม ปี 1969  จนมีการเตรียมพร้อมครั้งใหญ่ของจีนสำหรับการโจมตีทางอากาศจากประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะอย่างยิ่งหัวรบติดอาวุธนิวเคลียร์ มีการสร้างบังเกอร์ใต้ดินขนาดมหึมาภายใต้นครปักกิ่งซึ่งช่วยให้ประชาชนสามารถหลบภัยเป็นเวลาหลายสัปดาห์
      
หนังสือยังอธิบายถึงสาเหตุของการเริ่มต้นของปฏิวัติวัฒนธรรมอันเกิดจากความปรารถนาของเหมาในการนำอำนาจกลับคืนภายหลังจากที่ต้องสูญเสียไปให้ผู้นำคนอื่นเพราะความหายนะจากนโยบายก้าวกระโดดไกล ภาพจากหนังสือซึ่งน่าจะพอบอกได้ว่าเหมามีส่วนสนับสนุนการปฏิวัติคือภาพเหมายืนอยู่บนรถจิ๊ปโบกมือให้กับบรรดาเร็ดการ์ดซึ่งมาร่วมงานสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี 1966 โดยมีลี่นั่งอยู่ตอนหลังเขายังได้บรรยายถึงความวุ่นวายสับสนจากการปะทะกันของกลุ่มต่างๆ แม้แต่พวกเร็ดการ์ดด้วยกันเองจนจีนแทบจะแตกเป็นเสี่ยงๆ อันส่งผลให้ไม่มีใครในประเทศจีนมีความปลอดภัยในชีวิตแม้แต่ตัวเหมา สำหรับลี่นั้นก็เดือดร้อนอยู่ไม่เบาเพราะบิดาของเขาเคยทำงานให้กับพรรคก๊กมินตั๋งและเขายังติดภาพของชนชั้นกลางที่หยิ่งยะโสอันเป็นเหตุให้ถูกโจมตีว่าเป็นพวกศักดินาแอบแฝง  หนังสือยังกล่าวถึงความล้มเหลวของหลิน เปียวลูกน้องคนสนิทของเหมาที่พยายามก่อรัฐประหารแต่ไม่ประสบความสำเร็จในปี 1971 ซึ่งสร้างความทุกข์ใจให้กับเหมาอย่างมาก รวมไปถึงการมาเยือนจีนของประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสันในปี 1972 เพื่อสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา  ลี่เขียนบรรยายว่าเขาเองเป็นผู้บอกทางให้นิกสันเดินเข้าไปพบเหมาในห้องและได้ยินบทสนทนาเกือบทั้งหมดของคนทั้งคู่เพราะตนต้องเฝ้าระวังอาการป่วยฉับพลันของเหมา  ในช่วงท้ายของหนังสือเล่าถึงแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในปี 1976 พร้อมกับการถึงแก่อสัญกรรมพร้อมกันของผู้นำที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของจีน 3 คนคือโจว เอินไหล จู เต๋อและเหมา เจ๋อตงในปีเดียวกันนั้น  ลี่ได้บรรยายอย่างน่าเจ็บปวดว่าตอนที่โจวกำลังจะตายนั้น เหมาไม่เคยไปเยี่ยมเยียนสหายผู้ภักดีเลยอันสะท้อนถึงความสัมพันธ์ที่แท้จริงระหว่างผู้นำรุ่นแรกของพรรคได้อย่างดี  หนังสือปิดท้ายด้วยความยากลำบากของบรรดาแพทย์ที่จะต้องพิสูจน์ตนว่าไม่ได้สังหารเหมารวมไปถึงการค้นหากรรมวิธีถนอมศพของเหมาไว้ในช่วงเวลาที่คนรอบข้างของเหมาไม่ว่าเจียงชิงกับผู้นำคนอื่นเตรียมพร้อมในการแย่งอำนาจกัน
      
หนังสือเล่มนี้อาจจะไม่อื้อฉาวเท่ากับหนังสือชีวประวัติของเหมานอกกระแสเล่มอื่นๆ หากลี่ไม่ได้เปิดเผยอุปนิสัยหรือธรรมชาติด้านอันไม่น่าพึงปรารถนาของเหมาเช่นการสำคัญว่าตนนั้นเหมือนนักปราชญ์ผู้รู้แจ้ง ตนจึงต้องตัดสินใจถูกอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นหากเกิดอะไรผิดพลาดก็ไม่ต้องสงสัยว่าเหมาจะต้องโทษคนรอบข้าง รวมถึงการหวงอำนาจและหวาดระแวงผู้อื่นอยู่เป็นนิจ ลี่ได้ชี้ให้เห็นอุปนิสัยเหล่านั้นของเหมาว่าน่าจะได้รับอิทธิพลจากบรรดาจักรพรรดิซึ่งได้ชื่อว่าเป็นทรราชและโหดเหี้ยมในอดีตของจีนด้วยการที่เหมาใฝ่ใจต่อการศึกษาประวัติศาสตร์จีนโบราณอย่างมาก มีเหตุการณ์ที่ลี่ได้เล่าอย่างตรงไปตรงมาเกี่ยวกับสภาพจิตใจของเหมาคือในงานเลี้ยงแห่งหนึ่ง เด็กน้อยซึ่งแสดงกายกรรมเกิดแสดงพลาดจนพลัดตกลงบนพื้นและมีอาการบาดเจ็บสาหัสซึ่งทำให้ฝูงชนตกใจอย่างมากแต่เหมาซึ่งอยู่ในงานด้วยก็ยังพูดคุยกับคนอื่นๆ อย่างร่าเริงเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ซึ่งลี่ก็สันนิษฐานว่าเป็นอาการของผู้ที่พบเห็นความตายมามากในสมรภูมิ และที่สำคัญเหมายังมีอาการโรคนอนไม่หลับค่อนข้างรุนแรงอันนำไปสู่การติดยานอนหลับ และประวัติศาสตร์จีนร่วมสมัยก็คงไม่ได้บอกว่าอาการป่วยเช่นนี้ของเหมาได้ทำให้คนรอบข้างโดยเฉพาะลี่ต้องมีชีวิตที่ยากลำบาก เพราะเหมามักเรียกตัวเขากลางดึกเพื่อไปให้สอนภาษาอังกฤษหรืออีกนัยหนึ่งคือเป็นเพื่อนคุย อันเป็นผลให้สุขภาพของลี่ย่ำแย่เพราะทำงานหนักแต่นอนหลับน้อย แต่ที่ร้ายไปกว่านั้นว่าเหมาต้องใช้ยานอนหลับซึ่งเพิ่มฤทธิ์ขึ้นเรื่อยๆ เพราะอาการนอนไม่หลับซึ่งทวีความรุนแรงจากความเครียดต่อสถานการณ์ทางการเมือง  อุปนิสัยและอาการทางจิตเหล่านั้นย่อมเป็นปัจจัยสำคัญต่อบทบาททางการเมืองของเหมาในเวลานั้นไม่มากก็น้อย ดังที่ลี่เขียนเป็นเชิงเสียดสีว่าโรคนอนไม่หลับของเหมาเพียงคนเดียวกลับนำไปสู่การนอนไม่หลับของคนจีนอีกหลายล้านคนเพราะได้รับผลกระทบจากการกวาดล้างทางการเมืองที่ริเริ่มโดยเหมา  
      
นอกจากนี้ยังมีฉากที่ลี่เขียนอย่างละเอียดไว้ในหนังสือว่านายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นคือนายกากูอิ ทานากะได้เข้าพบกับเหมาในปี 1972 และพยายามแสดงความเสียใจกับกรณีญี่ปุ่นรุกรานจีน แต่เหมาบอกกับทานากะว่าหากไม่มีการรุกรานของญี่ปุ่น พรรคคอมมิวนิสต์ก็คงไม่สามารถเอาชนะพรรคก๊กมินตั๋งได้ หากฉากที่ว่านี้เป็นจริงก็สามารถบอกเป็นนัยได้ว่าชีวิตของคนจีนจำนวนมหาศาลที่ต้องสูญเสียไปเพราะกองทัพญี่ปุ่นนั้นไม่สำคัญเท่ากับอำนาจที่เหมาและผู้นำของพรรคได้รับเลย  อย่างไรก็ตามผู้ที่ชื่นชอบในตัวเหมาก็ยังพอหายใจได้บ้างจากการที่ลี่เสนอภาพของเหมาในด้านบวกดังเช่นท่านประธานยังมีความเมตตากับคนรอบข้างโดยเฉพาะผู้ที่ซื่อสัตย์ต่อตนโดยการช่วยเหลือคนเหล่านั้นให้พ้นจากการถูกเล่นงานทางการเมือง
          
หนังสือยังสร้างความขุ่นเคืองให้กับพรรคคอมมิวนิสต์ด้วยการเล่าถึงชีวิตของบรรดาผู้นำไม่ว่าเหมาและคนอื่นๆ ที่แวดล้อมด้วยคนรับใช้ มีชีวิตความเป็นอยู่หรูหราฟู่ฟ่าเหมือนกับจักรพรรดิแม้ว่าคนจีนจำนวนมากกำลังล้มตายหรือทุกข์ทรมานเพราะความอดอยาก นอกจากนี้ในขณะที่พรรคคอมมิวนิสต์ได้ประณามและสั่งห้ามความบันเทิงซึ่งเคยมีอย่างดาษดื่นในสังคมจีนยุคก่อนคอมมิวนิสต์ แต่ภายในจงหนานไห่หรือที่พักของบรรดาผู้นำกลับมีงานเลี้ยงและการเต้นรำกันอย่างสนุกสนานเกือบทุกคืนโดยเฉพาะเหมาซึ่งมีความสุขกับการเคล้าเคลียอยู่กับบรรดาอิสตรีทั้งหลายในงาน นอกจากนี้ยังมีการฉายภาพยนตร์ฮอลลีวูดชื่อดังให้บรรดาผู้นำได้ชมอยู่เสมอทั้งที่ทางพรรคได้ประณามสื่อเช่นนั้นว่าเป็นตัวแทนของความเสื่อมทรามและความชั่วร้ายของตะวันตก ดังนั้นจึงไม่ต้องประหลาดใจว่าลี่จะให้มีการเผยแพร่หนังสือเล่มนี้ภายหลังจากที่เขาได้ลี้ภัยไปยังสหรัฐอเมริกาแล้ว และเพียง 1 ปีก่อนที่เขาจะเสียชีวิต
       
นอกจากนี้หนังสือยังกล่าวถึงนิสัยประหลาดเล็กๆ น้อยๆ ของเหมาเช่นการที่เหมาเอาแต่บ้วนปากด้วยชาโดยไม่ยอมแปรงฟันจนฟันผุหรือการไม่ยอมอาบน้ำแต่ชอบให้มีการนวดและถูแรงๆ ด้วยผ้าที่อบด้วยความร้อน รวมไปถึงกิจกรรมซึ่งเป็นข้อมูลที่รัฐบาลจีนรับไม่ได้เป็นอันขาดคือการที่เหมานิยมหลับนอนกับหญิงสาวจำนวนมาก (ประมาณว่าจำนวนน่าจะถึงหลักร้อย)  ซึ่งส่วนใหญ่มีพื้นฐานมาจากครอบครัวชาวนา  ลี่ได้ให้เหตุผลว่าสาเหตุที่คนเหล่านั้นยอมมีเพศสัมพันธ์กับเหมาแม้ว่าบางคนจะมีครอบครัวแล้วก็ตามเพราะการเชิดชูเหมาเหมือนเป็นเทพเจ้าดังเรื่องเล่าที่ว่าเหมาได้เดินทางไปยังโรงงานแห่งหนึ่งและได้มอบมะม่วงให้ ทางโรงงานกลับนำมะม่วงมาวางบนพานไว้สำหรับบูชาแทน ดังนั้นจึงไม่ต้องสงสัยว่าการหลับนอนกับเทพเจ้าจะเป็นเกียรติสำหรับพวกเธอขนาดไหน   เหมามักเดินทางโดยรถไฟด้วยวัตถุประสงค์ต่างๆ เช่นการตรวจดูงานตามท้องที่หรือการไปพักผ่อนตามชนบท และในรถไฟนั้นก็เปรียบได้กับวิมานสีชมพูของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ที่เหมาใช้ใน “การพักผ่อน” กับบรรดาสาวๆ แต่เหมาก็ไม่ประสบปัญหากับการมีลูกนอกสมรสนักเพราะลี่อ้างว่าเหมานั้นเป็นหมัน อย่างไรก็ตามสิ่งนี้ทำให้ลี่รู้สึกผิดหวังในตัวเหมามากเพราะเหมามีพฤติกรรมเช่นเดียวกับบิดาของเขาซึ่งมีนิสัยเจ้าชู้
       
หนังสือของลี่ยังได้สะท้อนให้เห็นถึงชีวิตสมรสของเหมาซึ่งค่อนข้างล้มเหลวซึ่งสวนทางกับความต้องการทางเพศอันรุนแรงของตน  ภรรยาคนก่อนของเหมาคือเฮ่อ จื่อเจินก็ล้มป่วยเป็นโรคจิตเภทและแยกกันอยู่กับเหมา ลี่ได้บรรยายถึงฉากที่ทั้งเหมาและเฮ่อได้พบปะกันเป็นเวลาสั้นๆ ว่าเต็มไปด้วยความรักใคร่และความผูกพันอย่างลึกซึ้งแต่ไม่สามารถอยู่ด้วยกันได้ แต่สำหรับภรรยาคนปัจจุบันอันแสนอื้อฉาวของเหมาคือเจียง ชิงนั้น ความสัมพันธ์ของคนทั้งคู่เป็นไปตามธรรมเนียมของสังคมมากกว่าอารมณ์ความรู้สึกแบบสามีภรรยาอย่างแท้จริง และเป็นเจียง ชิงนี้เองที่ลี่ได้บรรยายในหนังสือของเขาเหมือนกับนางดาวร้ายในละครหลังข่าวว่าเป็นผู้หญิงที่ทะเยอทะยานใฝ่อำนาจและเจ้าเล่ห์ ในขณะเดียวกันเธอก็เป็นคนไข้ที่ป่วยทางจิตซึ่งเรียกร้องความสนใจอย่างไม่สิ้นสุดแบบเดียวกับเหมาอันทำให้คนรอบข้างต้องหัวปั่น รวมไปถึงสร้างความรำคาญแก่เหมาอย่างมากเพราะเธอยังคงยึดติดตำแหน่งภรรยาของท่านประธานและตามไปอาละวาดกับบรรดา “เพื่อนหญิง” ของเหมาอยู่เนืองๆ   สำหรับลี่นั้นมีความสัมพันธ์กับเจียงชิงแบบลุ่มๆ ดอนๆ จนเขาเกือบจะถูกกำจัดออกจากกลุ่มของเหมา (นั่นคือถูกส่งตัวเข้าอบรมเสียใหม่)  เพียงแต่ได้รับการช่วยเหลือจากเหมารวมไปถึงหัวหน้าหน่วยองค์รักษ์ของเหมาคือหวาง ตงซิ่งซึ่งมีความสัมพันธ์อันดีกับลี่เสมอมาแต่เกลียดชังเจียงชิงมาก และภายหลังการเสียชีวิตของเหมา หวางก็ได้มีส่วนสำคัญในการยึดอำนาจจากแก๊งค์ 4 คนและสนับสนุนให้หัว กั๋วเฟิงขึ้นมามีอำนาจ
     
สำหรับผู้นำคนอื่นในพรรคคอมมิวนิสต์นั้น ลี่ได้บรรยายถึงในด้านที่สวนทางกับประวัติศาสตร์กระแสหลักอย่างเช่นโจว เอินไหลรัฐบุรุษผู้ซึ่งเป็นที่รักใคร่ของคนจีนนั้น ลี่เห็นว่าโจวเป็นคนที่ซื่อสัตย์ต่อเหมาอย่างล้นพ้นจนเหมือนทาสรับใช้ที่ขลาดกลัวและปราศจากความสง่างาม (เช่นเดียวกับภรรยาของโจวคือเติ้ง อิงชาซึ่งลี่แสดงความผิดหวังอย่างมาก) หรือจู เต๋อแม่ทัพผู้ยิ่งใหญ่ดูขาดความเฉลียว ไม่รู้เท่าทันในเรื่องการเมือง รวมไปถึงหัว กั๋วเฟิงผู้ซึ่งจะมามีอำนาจแทนเหมาในช่วงสั้นๆ นั้นลี่ยกย่องว่าเป็นคนจริงใจไม่เสแสร้งแต่สุดท้ายเพื่ออำนาจก็ต้องละเว้นที่จะวิจารณ์เหมาและพูดเป็นเชิงเอาใจเหมา นอกจากนี้ยังมีผู้ที่ขาดเสียไม่ได้คือหลิน เปียวซึ่งทางการมักเสนอภาพว่าเป็นผู้นำทางทหารผู้เก่งกาจและห้าวหาญ (ในช่วงก่อนรัฐประหารเขามีอำนาจทางทหารมากที่สุดในประเทศ) แต่เบื้องหลังนั้นหลินติดฝิ่นงอมแงม เมื่อลี่ได้รับการติดต่อให้ไปรักษาหลินจากอาการป่วยของโรคนิ่วในไตซึ่งสร้างความเจ็บปวดอย่างมาก ฉากที่ลี่เขียนบรรยายตรงไปตรงมาก็คือท่านจอมพลนอนร้องไห้อยู่ภายใต้อ้อมกอดของภรรยาอย่างหมดสภาพเหมือนเด็กตัวเล็กๆ  ฉากเช่นนี้คล้ายคลึงกับเหมาในช่วงท้ายของชีวิตที่เขามีสภาพไร้สมรรถภาพจนแทบเหมือนทารกที่ต้องพึ่งการดูแลเอาใจใส่จากหญิงสาวคนหนึ่งซึ่งน่าจะเป็นคู่ขาคนสุดท้ายของเขา นอกจากนี้เหมายังไม่สามารถสื่อสารกับคนอื่นได้โดยไม่ผ่านเธอจึงทำให้เธอกลายมาเป็นผู้มีอำนาจขึ้นมาแม้จะชั่วขณะก็ตาม
       
เมื่อหนังสือเล่มนี้ได้รับการตีพิมพ์และจัดจำหน่ายทั่วโลก นอกจากทางการจีนจะสั่งให้เป็นหนังสือต้องห้ามแล้วยังปล่อยให้คนในยุคร่วมสมัยกับลี่ออกมาวิจารณ์และโจมตีหนังสืออย่างหนัก ทางการจีนก็ยังผลิตหนังสือชื่อ The true life of Mao Zedong เขียนโดยหลิน เค๋อ แพทย์ประจำตัวอีกคนของเหมา ซึ่งได้รับการแปลเป็นไทยภายใต้ชื่อ “ คืนความจริงให้ประวัติศาสตร์ โต้การใส่ร้ายประธานเหมา” เพื่อเป็นการแย้งว่าลี่นั้นปราศจากความน่าเชื่อถือเพราะไม่ได้ทำงานใกล้ชิดกับประธานเหมาดังที่ได้แอบอ้าง หนังสือของเขาจึงเต็มไปข้อมูลอันโป้ปดมดเท็จ สำหรับผู้เขียนนั้นแม้จะชื่นชอบความกล้าหาญและการชอบวิพากษ์ของลี่แต่ก็เห็นว่า เราไม่สามารถเชื่อในทุกถ้อยความที่ปรากฎในหนังสือ “ชีวิตส่วนตัวของท่านประธานเหมา” เพราะลี่ย่อมสอดแทรกอคติส่วนตัวเข้าไปเป็นจำนวนมากอันเนื่องมาจากความเสื่อมศรัทธาและเกลียดชังเหมาและที่สำคัญหนังสือก็ย่อมมีจินตนาการปะปนเข้ามาอีกด้วยไม่มากก็น้อย เพราะเขาเขียนจากความทรงจำที่ต้องเลอะเลือนไปตามกาลเวลาเช่นเดียวกับการมองสถานการณ์การเมืองเพียงด้านเดียวจากคนที่อยู่ระดับบนหรือมีขีดจำกัดของความรู้ทางการเมือง ใยไม่นับรูปแบบการเขียนที่ค่อนข้างเชิดชูตัวเองของลี่
      
อย่างไรก็ตามหนังสือเล่มนี้มีคุณค่าอันปฏิเสธไม่ได้คือเป็นวัตถุดิบอย่างดีสำหรับวิชาจิตวิทยาการเมือง (Political Psychology) ในส่วนบุคลิกของผู้นำกับชนชั้นปกครองและยังใช้สำหรับประกอบกับหนังสือชีวประวัติเล่มอื่นๆ ของเหมาซึ่งเน้นการวิเคราะห์ทางประวัติศาสตร์ที่เป็นระบบกว่าโดยเฉพาะการไม่โยนทุกสิ่งทุกอย่างให้กับเหมาแต่เพียงผู้เดียวอันจะเป็นการตอกย้ำแนวคิดประวัติศาสตร์แบบมหาบุรุษ (Great man theory) ที่ว่าเพียงบุคคลเดียวสามารถส่งผลถึงประวัติศาสตร์ของโลกได้อย่างมหาศาลจนมองข้ามปัจจัยทางสังคมและการเมืองอื่นๆ เหมือนกับหนังสือของหลินเพียงอยู่บนฝั่งตรงกันข้ามคือขาวกับดำ ซึ่งปัจจุบันแนวคิดเช่นนี้สำหรับผู้เขียนดูน่าเบื่อและไม่สมเหตุสมผลเท่าไรนัก  ดังนั้นการคืนความจริงให้กับประวัติศาสตร์แท้ที่จริงคือการตีความหลักฐานทางประวัติศาสตร์อย่างรอบด้านและปราศจากอคติ หาได้ต้องเชื่อหนังสือของนายแพทย์ลี่หรือนายแพทย์หลินเพียงเล่มใดเล่มหนึ่งอย่างมืดบอดไม่



 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net