Skip to main content
sharethis

ศาลพิพากษาจำคุกตลอดชีวิตฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น อดีตการ์ดนปช. ร่วมกับพวกยิงเอ็ม 79 ใส่ผู้ชุมนุมกปปส. แต่ไปถูกเสาอาคาร-ต้นไม้ตึกชินวัตร 3 เสียหาย2หมื่น ให้การสารภาพในชั้นสอบสวน ลดโทษ 1 ใน 3 เหลือ จำคุก 43 ปี 4 เดือน

6 พ.ย. 2558 ที่ห้องพิจารณาคดี 711 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลมีคำพิพากษา คดีหมายดำ อ.3820/2557 ที่พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายณรงค์ศักดิ์หรือตุ้ย พลายอร่าม อดีตการ์ดนปช.และนายพีรพงษ์ สินธุสนธิชาติ ผู้จัดหาอาวุธ จำเลย 1-2 ในความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน,ร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ,กระทำการให้เกิดระเบิดเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่บุคคลฯ , ร่วมกันพาอาวุธปืนไปในเมืองหมู่บ้านโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรและร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ หรือคดีร่วมกับพวกยิงระเบิดชนิด เอ็ม 79 ใส่กลุ่มผู้ชุมนุม กปปส. หน้าอาคารชินวัตร 3 เขตจตุจักร แต่ระเบิดไปถูกเสาอาคารและต้นไม้ประดับของอาคารชินวัตร 3 ทำให้ได้รับความเสียหายคิดเป็นเงิน 2 หมื่นบาท เหตุเกิดเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2557

โดย มติชนออนไลน์และไทยพีบีเอส รายงาน ว่า ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์มีพยานเบิกความว่า นายณรงค์ศักดิ์ จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ และให้รายละเอียดในชั้นสอบสวน ว่าเป็นผู้ไปรับระเบิดและเครื่องยิงระเบิดชนิดเอ็ม 79 ที่ลานจอดรถห้างสรรพสินค้าอิมพิเรียลลาดพร้าว รวมถึงเส้นทางขับรถยนต์ จุดที่ขับรถพานายยงยุทธ บุญดี หรือชินจัง ไปยิงระเบิด รวมถึงเส้นทางขับรถยนต์กลับ และพยานบุคคล พยานเอกสาร รวมถึงพยานวัตถุ ยังสอดคล้องกับคำเบิกความของนายณรงค์ศักดิ์ด้วย นอกจากนี้พยานโจทก์ยังเบิกความอีกว่า ในส่วนนายพีรพงษ์ จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนว่า เป็นผู้โทรศัพท์แจ้งให้นายณรงค์ศักดิ์ จำเลยที 1 ไปรับอาวุธเพื่อนำไปใช้ก่อเหตุ ซึ่งพยานโจทก์เบิกความมีน้ำหนักมั่นคง จึงพิพากษาจำคุกนายณรงค์ศักดิ์ และนายพีรพงษ์ ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนฯ คนละ 12 ปี ฐานพาอาวุธปืนไปในที่สาธารณะฯ 3 ปี ฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ให้จำคุกตลอดชีวิต แต่จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ 1 ใน 3 เหลือจำคุก 43 ปี 4 เดือน

โดย ทีมข่าวอาชญากรรม ผู้จัดการออนไลน์ รายงานคำพิพากษาโดยละเอียดดังนี้

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 7 มี.ค.2557 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสองกับพวกที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ร่วมกันมีอาวุธปืนชนิดเครื่องยิงระเบิดสังหาร ขนาด 40 มิลลิเมตร 1 ลูก ที่นายทะเบียนออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ และเป็นยุทธภัณฑ์ทางทหารไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต แล้วจำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันพาอาวุธปืนและเครื่องกระสุนดัง กล่าวติดต่อไปตาม ถนนลาดพร้าว ถนนรัชดาภิเษก ถนนพหลโยธิน และถนนวิภาวดีรังสิต อันเป็นในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ โดยไม่มีเหตุสมควร และหลังจากนั้นได้ร่วมกันใช้อาวุธปืนและเครื่องกระสุนยิงเข้าไปในกลุ่มผู้ชุมนุมหน้าอาคารชินวัตร 3 แขวงและเขต จตุจักร กทม. อันเป็นการยิงปืน ซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุในเมือง หมู่บ้าน และที่ชุมชน โดยมีเจตนาฆ่าและไตร่ตรองไว้ก่อน ซึ่งจำเลยทั้งสองกับพวก ย้อมเล็งเห็นผลได้ว่าลูกระเบิดยิงชนิดระเบิดสังหารที่มีอานุภาพทำลายล้างที่รุนแรงสามารถทำอันตรายแก่ชีวิตบุคคลที่สัญจรผ่านบริเวณถนนวิภาวดีรังสิต และกลุ่มผู้ชุมนุม กปปส. ที่ชุมนุมอยู่บริเวณอาคารที่เกิดเหตุ ให้ถึงแก่ความตายและเกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินได้ จำเลยทั้งสองกับพวกกระทำไปโดยตลอดแล้วแต่การกระทำไม่บรรลุผล เนื่องจากลูกกระสุนระเบิดตกห่างจากจุดที่นายประกิต กันยามา ผู้เสียหายที่ 1 ยืนอยู่ประมาณ 40 เมตร แล้วระเบิดขึ้น สะเก็ดระเบิดจึงไม่ถูกผู้ชุมนุมกลุ่ม กปปส.ถึงแก่ความตาย สมดังเจตนาของจำเลยทั้งสองกับพวก แต่มีสะเก็ดระเบิดกระเด็นถูกเสาอาคารโดมและต้นไม้ประดับของบริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) ผู้เสียหายที่ 2 ได้รับความเสียหายคิดเป็นเงิน 20,000 บาท หลังเกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจตรวจสอบบริเวณที่เกิดเหตุเก็บเศษสะเก็ดระเบิดได้ 1 ถุงเป็นของกลาง เหตุเกิดที่แขวงจตุจักร แขวงจันทรเกษม แขวงจอมพล แขวงลาดยาว เขตจตุจักร แขวงวังทองหลางเขตวังทองหลาง แขวงสามเสนนอก เขตห้วยขวาง แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน เขตสีกัน เขตดอนเมือง และแขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ กทม.เกี่ยวพันกัน เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยที่ 1 ได้ในวันที่ 16 กรกฎาคม 2557 แล้วจับจำเลยที่ 2 ได้ในวันที่ 22 กันยายน 2557 จำเลยทั้งสองเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ. 4334/2557 ของศาลนี้ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 33,80 ,83,91,221,288,289,358,371,376 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 42(2),7,8 ทวิ,38,55,72,72ทวิ,74,78 พระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ.2530 มาตรา15,42 ริบของกลางและนับโทษต่อจากโทษของจำเลยทั้งสอง

ทั้งนี้จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ      

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์และจำเลยทั้งสองแล้ว มีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 เป็นคนร้ายที่ร่วมกันพวกใช้อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนยิงไปในที่เกิดเหตุหรือไม่ โจทก์มีนายยงยุทธ หรือชินจัง บุญดี เบิกความเป็นพยานว่า ได้โทรศัพท์หาจำเลยที่ 1 ให้มารับเพื่อเดินทางไปยิงระเบิดใส่กลุ่ม กปปส.ไม่ให้เดินมาปิดอาคารที่เกิดเหตุ โดยนัดพบกันที่บริเวณอนุสรณ์สถานหรือสนามกีฬาธูปเตมีย์ จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์เก่งมารับ โดยนั่งด้านหลังและเป็นคนยิง หลังก่อเหตุเสร็จแล้วจึงนำอาวุธปืนดังกล่าววางไว้ในรถยนต์เก่งเช่นเดิม เห็นว่าแม่โจทก์จะมีนายยงยุทธเบิกความเป็นประจักษ์พยานเพียงปากเดียวว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ร่วมก่อเหตุและคำเบิกความของนายยงยุทธซึ่งเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ได้ให้การซัดทอดแต่นายยงยุทธก็มิได้ถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีนี้ และในชั้นสอบสวนนายยงยุทธให้การรับสารภาพและให้ข้อเท็จจริงไว้สอดคล้องกัน คำเบิกความของนายยงยุทธจึงรับฟังได้และโจทก์มีพ.ต.อ.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ เจ้าพนักงานตำรวจร่วมซักถามปากำคำจำเลยที่ 1 ร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหารมาเบิกความเป็นพยานว่า จากการซักถามจำเลยที่ 1 เล่าข้อเท็จจริงให้ฟังว่าร่วมกับนายยงยุทธใช้เครื่องยิงระเบิดเอ็ม 79 ยิงออกมาจากหน้าต่างของรถยนต์ โดยจำเลยที่ 1 รับเครื่องยิงลูกระเบิดมาจากนายไข่ที่บริเวณลานจอดรถยนต์ห้างอิมพีเรียลลาดพร้าว ซึ่งได้ลงบันทึกเป็นเอกสารหลักฐานสอดคล้องกันว่า จำเลยที่ 1 ทำหน้าที่ขับรถให้นายชินจัง ใช้เครื่องยิงระเบิดเอ็ม 79 ยิงใส่อาคารที่เกิดเหตุ และได้รับเงินจากจำเลยที่ 2 โดยโอนผ่านเข้าบัญชีนางพิสมัย หรือไหม งามผิว คนรักอีกคน ผ่านบัญชีธนาคารกสิกรไทย แม้จะมียอดเงินโอนไม่ตรงกับจำนวน 3,000 บาท แต่มีการโอนโดยไม่มีสมุดคู่ฝากหลังวันเกิดเหตุหลายครั้ง ซึ่งรวมจำนวนได้ 3,000 บาท และโจทก์ยังมี พ.ต.ท.เฉลียง อินทิพย์ พนักงานสอบสวน เบิกความเป็นพยานยืนยันว่า ในชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพและให้การยืนยันข้อเท็จจริงในบันทึกการซักถามว่า มีชายคนหนึ่งนำถุงใส่เต็นท์มามอบให้จำเลยที่ 1พร้อมบอกว่าภายในบรรจุเครื่องยิงลูกระเบิดเอ็ม 79 พร้อมลูกระเบิด จำเลยที่ 1 จึงเก็บมาไว้ที่เบาะด้านหลังรถยนต์แล้วจำเลยที่ 1 จับรถยนต์ไปรับนายยงยุทธจนกระทั่งไปถึงถนนหอวังปากทางออกถนนวิภาวดีรังสิตขาเข้า จำเลยที่ 1 จอดรถ นายยงยุทธซึ่งนั่งอยู่บริเวณด้านหลังเบาะจึงเปิดกระจกข้างขวาแล้วใช้เครื่องยิงลูกระเบิดเอ็ม 79 เล็งและยิงไปยังอาคารที่เกิดเหตุ 1 นัด นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจสน.พหลโยธินยังเบิกความว่า หลังควบคุมตัวจำเลยที่ 1 ได้ จึงพาไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพชี้สถานที่ต่างๆ อีกด้วย ดังนั้นพยานบุคคล พยานเอกสารและพยานวัตถุของโจทก์จึงล้วนสอดคล้องต้องกัน เชื่อว่าพยานโจทก์เบิกความด้วยความจริง ส่วนพยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์ได้ จำเลยที่ 1 ถือเป็นตัวการร่วมกับพวกใช้อาวุธปืนและเครื่องกระสุนยิงไปในที่เกิดเหตุ และย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำว่า เมื่อยิงลูกระเบิดเอ็ม 79 แล้วสะเก็ดระเบิดจะไปถูกกลุ่มผู้ชุมนุมได้ แต่เมื่อการกระทำไม่บรรลุผล จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าบุคคลอื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ฐานร่วมกันยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุในเมือง หมู่บ้านและที่ชุมชน และฐานร่วมกันใช้อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนและวัตถุระเบิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 นอกจากนี้เมื่อสะเก็ดระเบิดเอ็ม 79 กระเด็นไปถูกเสาอาคารโดมและต้นไม้ประดับของอาคารบริษัทเอสซีแอสเสท ฯ ได้รับความเสียหาย จึงมีความผิดฐานร่วมกันกระทำให้เกิดระเบิดอันเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่ทรัพย์ของผู้อื่นและมีความผิดฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ด้วย

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยที่ 2 เป็นคนร้ายที่ร่วมกับจำเลยที่ 1 และพวกใช้อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนยิงไปในที่เกิดเหตุหรือไม่ โจทก์มี ร.ต.ท.ทรงวุฒิ นิยมพงษ์ พนักงานสอบสวน สน.พหลโยธิน เบิกความเป็นพยานว่า ได้สอบปากคำและแจ้งข้อกล่าวหา จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพว่า ได้โทรศัพท์แจ้งให้จำเลยที่ 1 ไปรับเครื่องยิงลูกระเบิดเอ็ม 79 ที่ชั้น 5 ห้องอิมพีเรียลลาดพร้าว แล้วจำเลยที่ 1 เดินทางไปรับเครื่องยิงลูกระเบิดที่ห้างดังกล่าว ต่อมาจึงไปรับนายยงยุทธไปก่อเหตุ จำเลยที่ 2 ให้การต่อว่า ไม่ได้โอนเงินค่าจ้างให้แก่จำเลยที่ 1 แต่โอนเป็นค่าใช้จ่ายรายวันให้ และมีพ.ต.ท.เฉลียง อินทิพย์ หนึ่งในคณะพนักงานสอบสวน เบิกความเป็นพยานว่า ชั้นสอบสวนได้แจ้งข้อหาเดียวกับชั้นจับกุม ซึ่งจำเลยให้การรับสารภาพ ตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหา เห็นว่า แม้พยานโจทก์ทั้งสองจะเป็นพยานบอกเล่า แต่คดีนี้คงมีเพียงตัวจำเลยที่ 1 คนเดียวที่จะให้การเป็นพยานในเรื่องดังกล่าวได้ แต่จำเลยที่ 1 เป็นจำเลยร่วมในคดีนี้ จำเลยที่ 1 จึงเป็นพยานไม่ได้ เพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 232 ที่บัญญัติห้ามมิให้โจทก์อ้างจำเลยเป็นพยาน กรณีจึงเข้าข้อยกเว้นของมาตรา 226/3 วรรคสอง (2) ที่ถือว่ามีเหตุจำเป็นและเหตุผลพอสมควร ที่จะรับฟังพยานโจทก์ทั้งสอง ซึ่งเป็นพยานบอกเล่าได้ ซึ่งนอกจากโจทก์มีพยานโจทก์ทั้งสองเบิกความยืนยันการกระทำผิดของจำเลยที่ 2 แล้ว โจทก์ยังมีคำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 2 เป็นพยานหลักฐานสนับสนุน ตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาที่มีข้อความระบุชัดว่า จำเลยที่ 2 กับพวกโทรศัพท์ปรึกษาหารือวางแผนกัน เพื่อจะยิงใส่ผู้ชุมนุมกลุ่ม กปปส.เพื่อให้เกิดความหวาดกลัวและเลิกชุมนุมและยังมีข้อเท็จจริงอื่นอีกว่าจำเลยที่ 2 เข้าร่วมกิจกรรมกับคนเสื้อแดงครั้งแรก จนกลุ่มดังกล่าวเปลี่ยนชื่อเป็นกลุ่มนปช.แล้วร่วมชุมนุมกับกลุ่มนปช.จนไปรู้จักกับผู้ร่วมก่อเหตุ ไปร่วมฝึกอาวุธที่เขาชะเมา ซึ่งเป็นสวนหลังบ้านจำเลยที่ 2 ไปซื้ออาวุธปืนเอ็ม 16 ไปเป็นการ์ดนปช. ไปรับเครื่องยิงลูกระเบิดเอ็ม 79 รับอาวุธปืนอาก้า หรือเอเค 47 มาไว้ก่อเหตุ เป็นหนึ่งในผู้ประสานให้ นายกฤษดาหรือดา ไชยแค ผู้ต้องหาปาลูกระเบิดแบบRGD 5 ใส่ผู้ชุมนุมกลุ่ม กปปส.ที่ถนนบรรทัดทอง และบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ หลบหนีไปประเทศกัมพูชาทางด่านอรัญประเทศ ขับรถยนต์นำพวกไปปาระเบิดแบบ RGD 5 ใส่ผู้ชุมนุมกลุ่มกปปส.อำเภอแกลง จังหวัดระยอง และส่งมอบเครื่องยิงลูกระเบิดเอ็ม 79 ให้แก่พวก และต่อมาพวกเอาไปก่อเหตุหลายท้องที่ เช่น ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ หน้าห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี สาขาราชดำริ แยกราชประสงค์เป็นต้น และยังเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุอีกหลายครั้ง ซึ่งข้อเท็จจริงดังกล่าวยากที่พนักงานสอบสวนจะแต่งขึ้นเพื่อปรักปรำใส่ร้ายจำเลยที่ 2 ให้ได้รับโทษทางอาญาได้

พิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 221,288,289(4),358,371,376 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิ วรรค ,38 วรรคหนึ่ง ,72 ทวิวรรคสอง, 78 วรรคหนึ่ง วรรคสาม พระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์พ.ศ. 2530 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง,42 ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 80,83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันมีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิดนอกจากที่กำหนดในกระทรวงและเป็นยุทธภัณฑ์ทางทหารไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 78 วรรคหนึ่งจำคุกคนละ 12 ปี ฐานร่วมกันพาอาวุธและเครื่องกระสุนปืนไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันสมควรและไม่ได้รับอนุญาต เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธ พ.ศ. 2490 มาตรา 72 ทวิ วรรคสองซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักสุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 3 ปี ฐานร่วมกันพยายามฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ฐานร่วมกันยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุในเมืองหมู่บ้านและชุมชน ฐานร่วมกันใช้อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน และวัตถุระเบิด นอกจากที่กำหนดในกฎกระทรวงในการกระทำตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 ฐานร่วมกันกระทำให้เกิดระเบิดอันเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่ทรัพย์สินของผู้อื่นและฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันพยายามฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักสุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 จำคุกจำเลยทั้งสองตลอดชีวิต จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คนละ 1 ใน 3 คงจำคุกกระทงแรกคนละ 8 ปี จำคุกกระทงที่ 2 คนละ 2 ปี และจำคุกกระทงที่ 3 คนละ 33 ปี 4 เดือนรวมจำคุกทั้งสิ้นคนละ 43 ปี 4 เดือน ริบของกลางสวนที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อจากโทษของจำเลยทั้งสองในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.4334/2557 ของศาลนี้นั้นไม่ปรากฏว่าคดีดังกล่าวศาลมีคำพิพากษาแล้ว จึงให้ยกคำขอส่วนนี้ของโจทก์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net