11 ก.พ.59 พิพากษาคดี ‘อภิชาต’ ชูป้ายต้านรัฐประหาร เจ้าตัวยันสู้คดีสร้างบรรทัดฐาน

 

5 พ.ย.2558 เพจไอลอว์รายงานว่า ที่ศาลแขวงปทุมวัน มีนัดสืบพยานคดีของนายอภิชาต พงศ์สวัสดิ์ อดีตนักศึกษาโครงการบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเจ้าหน้าที่คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ที่ถูกฟ้องจากเหตุยืนถือป้ายคัดค้านการรัฐประหารที่หน้าหอศิลป์ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2557

โดยในวันนี้ มีพยานจำเลยขึ้นเบิกความ 2 ปาก ได้แก่ 

สามชาย ศรีสันต์ จากวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาเบิกความรับรองความประพฤติของอภิชาต ว่าเป็นนักศึกษาที่ตั้งใจเรียนและกระตือรือร้นที่จะแสดงความคิดเห็น และเบิกความว่าการกระทำตามข้อกล่าวหาของอภิชาต ไม่น่าจะเข้าข่ายเป็นความผิดตามฟ้อง เพราะการคัดค้านการรัฐประหารถือเป็นหน้าที่ของคนไทย

ขณะที่วรลักษณ์ ศรีใย จากคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย เบิกความว่า เป็นเพื่อนร่วมงานของอภิชาต ที่คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย แต่อยู่คนละแผนก ในวันเกิดเหตุตนกำลังจะไปร่วมกิจกรรมที่หน้าหอศิลป์ฯ และบังเอิญพบอภิชาตที่ลิฟท์ เมื่อทราบว่าจะไปหน้าหอศิลป์เหมือนกันจึงเดินทางไปด้วยกัน โดยไปถึงหน้าหอศิลป์ เวลาประมาณ 18.15 น.

วรลักษณ์เบิกความด้วยว่า อยู่กับอภิชาต ประมาณ 5 นาทีก็แยกกัน ซึ่งเมื่อลงไปยืนที่ทางเท้าข้างหอศิลป์เยื้องวังสระปทุมก็มองเห็นอภิชาต ซึ่งมีรูปร่างสูงจากระยะไกล เห็นว่ากำลังชูป้ายแต่ไม่เห็นข้อความ

วรลักษณ์ระบุว่าอยู่ในพื้นที่จัดกิจกรรมเพียงครู่เดียว ประมาณ 18.30 น. ก็เดินทางกลับ และทราบข่าวเรื่องเจ้าหน้าที่จับกุมอภิชาตในภายหลัง โดยส่วนตัวแม้จะทราบว่ามีคำสั่งห้ามชุมนุมของ คสช. แต่ก็ตัดสินใจไปร่วมกิจกรรมเพราะเห็นว่าเป็นการใช้สิทธิแสดงความคิดเห็น ทั้งเหตุการณ์โดยรวมก็เป็นไปด้วยดี ไม่มีความวุ่นวาย อภิชาตจึงไม่น่าจะทำผิดดังโจทก์ฟ้อง

หลังสืบพยานเสร็จ อภิชาตขอศาลส่งคำแถลงปิดคดีเป็นเอกสาร ศาลสั่งให้ส่งเอกสารภายใน 30 วัน และนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2559

หลังเสร็จการพิจารณาคดี อภิชาต ให้สัมภาษณ์ว่า สู้คดีอย่างเต็มที่แล้ว ในทางเทคนิค การประกาศกฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรครั้งนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่มีการประกาศเป็นพระบรมราชโองการ

นอกจากนี้ ขณะเกิดเหตุ คสช. ก็ยังไม่ได้เป็นรัฏฐาธิปัตย์อย่างแท้จริง คำสั่งที่ออกมาจึงยังไม่ชอบด้วยกฎหมาย และในข้อเท็จจริง เหตุการณ์ที่หน้าหอศิลป์ ก็เป็นไปอย่างเรียบร้อย สงบ สันติ แต่ผลคำพิพากษาจะเป็นอย่างไรก็พร้อมจะน้อมรับ

สำหรับเรื่องต่อสู้คดี แม้จะทำให้การใช้ชีวิตได้รับผลกระทบบ้างเพราะต้องมาศาล แต่ก็เลือกที่จะสู้ เพราะเชื่อว่าสิ่งที่ทำไม่ใช่ความผิด นอกจากนี้การสู้คดีครั้งนี้ก็น่าจะสร้างบรรทัดฐานบางอย่างได้บ้าง

ส่วนเรื่องรับสารภาพเพื่อให้คดีจบ ดูจะเป็นทางเลือกที่ง่ายกว่า เพราะคดีลักษณะนี้ ศาลมักจะให้รอการลงโทษจำเลย และเหตุที่ไม่เลือกแนวนี้ เพราะคิดว่ามันอาจจะเป็นการเลือกที่ทำให้รู้สึกผิดไปตลอด

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท