Skip to main content
sharethis

สุไฮมี ดูละสะอดีตประธาน PerMas ตั้ง5 ข้อสังเกตทำไมขบวนการต่อสู้เพื่อปาตานียังปฏิบัติการทางทหาร พร้อมแนะแนวทางแก้ปัญหา 5 ข้อทั้งต่อรัฐไทยและฝ่ายขบวนการ

นายสุไฮมี ดูละสะอดีตประธานสหพันธ์นิสิตนักศึกษา นักเรียนและเยาวชนปาตานี หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ PERMAS หนึ่งในองค์กรผู้นำนักศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ถูกฝ่ายความมั่นคงติดตามต่อเนื่องไม่ขาดสายได้ตั้งข้อสังเกตผ่านเฟซบุ๊กของตัวเองและแชร์ไปยังหน้าเพจกลุ่มต่างๆ ว่าเหตุใดกลุ่มกองกำลังติดอาวุธในพื้นที่ยังคงมีการปฏิบัติการทางทหารอยู่ แล้วทางออกคืออะไร

ต่อไปนี้เป็นเนื้อหาข้อสังเกตที่เขาตั้งขึ้นในเฟสบุ๊คและจากการสัมภาษณ์เพิ่มเติมถึงทางออกในการแก้ปัญหาดังกล่าวควรจะเป็นอย่างไร ดังนี้

000000

สาเหตุที่ #‎กลุ่มกองกำลังติดอาวุธ#‎หรือกองกำลังปลดแอก#‎หรือกองกำลังปฏิวัติประชาชน#‎หรือกลุ่มก่อการร้ายมลายูมุสลิม#‎หรือกลุ่มแบ่งแยกดินแดน (สุดแล้วแต่จะเรียก) ในปาตานีหรือจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงดำเนินการปฏิบัติการทางการทหารอย่างต่อเนื่องด้วยการซุ่มยิงลอบวางระเบิด เผาทำลาย ฯลฯ และมีทีท่าว่าจะไม่สามารถยุติการต่อสู้ด้วยกิจกรรมทางอาวุธได้เลย สามารถตั้งสมมุติฐานได้ห้าประการ...

#‎สมมุติฐานที่หนึ่งกลุ่มกองกำลังติดอาวุธในปาตานีต่อสู้ด้วยวิธีการทางการเมืองไม่เป็นเพราะฉะนั้นแนวทางการต่อสู้ที่ง่ายที่สุดและเห็นผลงานเป็นรูปธรรมที่สุด ก็คือการใช้ความรุนแรง ใช้แนวทางทางการทหาร แค่วางแผนปฏิบัติการและลงมืออย่างรวดเร็ว

#‎สมมุติฐานที่สองการใช้ปฏิบัติการทางการทหารที่มีอยู่อย่างต่อเนื่องก็เพื่อต่อรองและสร้างความหนักแน่นต่อข้อเรียกร้องทางการเมืองของตนควบคู่ไปกับการต่อสู้ด้วยวิธีการทางการเมือง(ที่มีอยู่อย่างลับๆ{หรือเปล่า}) หรือที่อาจจะมีขึ้นในอนาคต

#‎สมมุติฐานที่สามการต่อสู้ด้วยอาวุธที่มีอยู่และไม่มีทีท่าว่าจะเปลี่ยนไปเป็นการต่อสู้ด้วยวิธีการทางการเมืองได้เลยนั้นมาจากสาเหตุที่รัฐไทยไม่เปิดพื้นที่ทางการเมืองให้กับคนคิดเห็นต่างเลย สังเกตได้จากการที่รัฐไทยยังคงยืนหยัดคุกคาม ข่มขู่ กลั่นแกล้ง ล่อหลอก กลุ่มนักเคลื่อนไหวทางการเมือง นักวิชาการ เอนจีโอ กลุ่มนักกิจกรรมทางสังคม นักศึกษา ฯลฯ

กลุ่มคนที่คิดเห็นต่างเหล่านี้ ได้ใช้แนวทางสันติและแนวทางทางการเมืองเพื่อเรียกร้องและต่อสู้กับความอยุติธรรมที่เกิดจากรัฐ สรุปคือ ขนาดคนที่ต่อสู้ด้วยแนวทางการเมืองเดิมอยู่แล้วยังถูกคุกคาม แล้วจะให้องค์กรลับหรือกองกำลังติดอาวุธที่ต่อสู้กับรัฐด้วยยุทธวิธีทางการทหาร มาต่อสู้ด้วยยุทธวิธีทางการเมืองเพื่ออะไร

#‎สมมุติฐานที่สี่ ด้วยสภาพการเมืองส่วนกลางของรัฐไทยไร้ความมั่นคง ขาดเสถียรภาพ มีความซับซ้อน เกิดการรัฐประหารบ่อยครั้ง ศูนย์กลางของอำนาจและการตัดสินใจ ไม่ได้อยู่ที่ตัวรัฐบาลประชาธิปไตยจริง หากแต่ยังมีกลุ่มอำนาจของเหล่าขุนศึก กลุ่มขุนนางอำมาตย์ กลุ่มทุนเก่าทุนใหม่ และกลุ่มที่เราเองก็มองไม่เห็นอยู่เบื้องหลังอีกมากมาย ส่งผลให้ กองกำลังติดอาวุธในปาตานีไม่เชื่อมั่นต่อกระบวนการและกลไกต่างๆของรัฐไทย จึงพยายามดำรงไว้ซึ่งการต่อสู้ด้วยอาวุธ เพื่อรอจังหวะและโอกาสในเวทีการเมืองระดับนานาชาติ ให้เข้ามามีส่วนในการแก้ไขปัญหาการกดขี่ต่างๆในพื้นที่ มากกว่าที่จะแก้ไขปัญหาด้วยแนวทางทางการเมืองผ่านระบบและกลไกของรัฐไทยที่ไร้เสถียรภาพอย่างนี้

#‎สมมุติฐานที่ห้าคือมีทุกข้อสมมุติฐานตั้งแต่หนึ่งถึงสี่ที่ส่งผลให้การต่อสู้ด้วยอาวุธยังคงดำเนินอยู่ในพื้นที่

สำหรับแนวทางการแก้ไข.....

สำหรับแนวทางการแก้ไขหรือลดความถี่ของปฏิบัติการทางการทหารของกลุ่มติดอาวุธต่างๆ ตามแนวสมมุติฐานข้างต้น สามารถคาดการได้ดั่งนี้.....

สมมุติฐานที่หนึ่ง...ต้องให้การศึกษา ความรู้ ทักษะ ทางการเมืองแก้ขบวนการติดอาวุธ ผ่านกลไกองค์การระหว่างประเทศ แก่แกนนำระดับสูงของขบวนการ

สมมุติฐานที่สอง...รัฐไทยต้องรีบจัดการให้มีการพูดคุยกับกลุ่มติดอาวุธทุกกลุ่ม (ครอบคลุมกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ไม่ติดอาวุธด้วย) ดำเนินไปตามกระบวนการเจรจาตามมาตรฐานสากล มีการกำหนดในรัฐธรรมนูญให้การแก้ไขปัญหาในพื้นที่เป็นวาระแห่งชาติ

สมมุติฐานที่สาม...รัฐไทยต้องยุติการคุกคามทุกรูปแบบ ทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อนักเคลื่อนไหวทางการเมืองและสังคม นักวิชาการ ภาคประชาสังคม นักศึกษา เยาวชน ฯลฯ แล้วแสดงให้เห็นว่าพื้นที่ทางการเมืองมีอยู่จริง สามารถแสดงออกและแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี (ตราบใดที่ไม่ไปละเมิดสิทธิของผู้อื่นและไม่ใช้ความรุนแรง)

สมมุติฐานที่สี่...รัฐไทยต้องจัดการปัญหาภายในของตัวเอง ผ่านกระบวนการประชาธิปไตย รัฐบาลพลเรือนต้องมีอำนาจในการตัดสินใจจริงๆ และสามารถพิสูจน์ให้สังคมได้เห็นว่า อำนาจอธิปไตยของชาติเป็นของประชาชนจริงๆ หาใช่ผู้ใดอื่น (การแก้ไขปัญหาตามสมมุติฐานที่สี่ ค่อนข้างที่จะเป็นไปได้ยาก แต่ยังคงต้องมีความหวังต่อไป ซึ่งขึ้นอยู่กับประชาชนชาวไทยเอง)

สมมุติฐานที่ห้า...อุดมการณ์เปลี่ยนแปลงได้ยาก แต่วิธีการสามารถเปลี่ยนแปลงได้ หลายร้อยปีที่ผ่านมาสามารถพิสูจน์ได้แล้วว่า ต่อให้รัฐไทยใช้ความรุนแรงต่อคนในพื้นที่มากแค่ไหน ประกาศนโยบายเพื่อกลืนกลายอัตลักษณ์ ความคิด ความเชื่อ ประเพณี วัฒนธรรมอย่างแยบยลเพียงใด ก็ไม่สามารถที่จะแปรเปลี่ยนอุดมการณ์ชาตินิยมปาตานีของคนในพื้นที่ได้ พวกเขาสามารถยืนหยัดและต่อสู้ได้อย่างมั่นคง เพื่อรักษาไว้ซึ่งความเป็นมลายูอิสลามปาตานี (ซึ่งแตกต่างกับหลายพื้นที่ในประเทศไทยที่ถูกกลืนกลายด้วยความเป็นไทย จนสูญสลายหายสาบสูญไปจากมาตุภูมิของตัวเอง ทั้งประวัติศาสตร์ คุณค่าทางวัฒนธรรม ความคิดความเชื่อ อัตลักษณ์ทางชาติพันธ์ ฯลฯ)

เพราะฉะนั้น การลดความถี่ในการปฏิบัติการทางการทหารตามสมมุติฐานข้อที่ห้า ต้องดำเนินการให้คนในพื้นที่สามารถกำหนดชะตากรรมของตัวเองตามครรลองประชาธิปไตย เคารพและให้เกียรติต่ออัตลักษณ์ของคนในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม ต้องยุตินโยบายกลืนกลายชาติพันธ์ทั้งในรูปแบบการปกครอง การศึกษา และสื่อสารมวลชน เปิดพื้นที่ทางการเมืองให้กับกลุ่ม/คนที่คิดเห็นต่าง(เพราะความคิดนั้นย่อมไม่ผิดกฎหมาย) และการันตีได้ว่าจะไม่ถูกคุกคามทั้งทางตรงและทางอ้อม มีการพูดคุยและเจรจาเพื่อสันติภาพตามขั้นตอนสากล(ไม่ใช่แบบไทยๆ) รับฟังทุกข้อคิดเห็นจากประชาชนอย่างใจกว้าง เร่งรัดงานพัฒนาในทุกๆด้าน อาทิ เศรษฐกิจ การศึกษา อาชีพ ปัญหายาเสพติด การจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติที่อยู่อย่างมากมายในพื้นที่ และปรับปรุงกระบวนการยุติธรรม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net