Skip to main content
sharethis

เปิดคำสั่ง 230 ฉบับจริงครั้งแรก ทำความเข้าใจกลไก อำนาจหน้าที่และกระบวนการพูดคุยสันติสุขชายแดนใต้ 3 ระดับ ระดับอำนวยการ คณะพูดคุยและระดับพื้นที่ก่อนถึงการพูดคุยครั้งที่ 4 กลางเดือนนี้

คาดกันว่าการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้(หรือสันติภาพปาตานี) ครั้งที่ 4 ระหว่างคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ในฐานะ Party A กับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐในฐานะ Party B จะมีขึ้นกลางเดือนพฤศจิกายนนี้ ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย

โดยฝ่าย Party A มี พล.อ.อักษรา เกิดผล เป็นหัวหน้าคณะ ส่วนฝ่าย Party B ซึ่งในที่นี้หมายถึงกลุ่มมาราปาตานี (MARA PATANI) องค์กรร่มของขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราชปาตานีมีนายอาวัง ญาบะ จากขบวนการ BRN เป็นประธาน

สำหรับ Party A แล้วกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขดังกล่าวเป็นการดำเนินการภายใต้คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่230/2557เรื่อง การจัดตั้งกลไกขับเคลื่อนกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายภาคแดนใต้ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงนามในคำสั่งนี้มาตั้งแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2557 หรือเกือบ 1 ปีที่แล้ว

คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 230/2557 นี้ถูกอ้างอิงถึงมากเมื่อมีการพูดถึงการพูดคุยสันติสุข แต่คำสั่งนี้ก็ยังไม่เคยถูกเปิดเผยต่อสาธารณะอย่างเป็นทางการ ทำให้สังคมยังไม่รับรู้ว่าการพูดคุยสันติสุขนี้มีกลไกและกระบวนการตามคำสั่งนี้เป็นอย่างไร

ในโอกาสนี้ทางโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ) ได้รับการติดต่อจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ขอส่งสำเนาคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 230/2557 นี้ รวมทั้งคำสั่งที่เกี่ยวข้องมาให้เผยแพร่ซึ่งโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้เห็นว่า ขณะนี้การพูดคุยดังกล่าวกำลังดำเนินอยู่และสังคมกำลังติดตามอย่างใกล้ชิด จึงควรเผยแพร่ทั้งเนื้อหาสรุปและสำเนาต้นฉบับ

สาระสำคัญคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 230/2557

สำหรับสาระสำคัญของคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 230/2557ที่ระบุไว้ในเกริ่นนำว่า กระบวนการพูดคุยดังกล่าวอยู่ภายใต้นโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในการเปิดพื้นที่เพื่อเปลี่ยนแนวทางการต่อสู้ด้วยความรุนแรงมาเป็นการต่อสู้ด้วยสันติวิธี และเป็นการสร้างหลักประกันความต่อเนื่องและความเชื่อมั่นของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ทุกกลุ่มได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข

คำสั่งนี้มีทั้งหมด 11 ข้อ ได้ระบุให้มีการตั้งกลไกการทำงานขึ้นมา 3 ระดับ เพื่อให้กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้ได้ดำเนินการต่อเนื่อง ได้แก่

ระดับที่ 1 คณะกรรมการอำนวยการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (The Steering Committee for Peace Dialogue)

คณะกรรมการชุดนี้มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการส่วนกรรมการประกอบด้วยส่วนราชการต่างๆที่เกี่ยวข้อง และให้เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นกรรมการและเลขานุการ

คณะกรรมการอำนวยการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้มีอำนาจหน้าที่4 ข้อ เช่น ตัดสินใจทางนโยบายในการพูดคุย อำนวยการ กำหนดทิศทางและขอบเขตของการพูดคุยให้แก่คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้และคณะประสานงานระดับพื้นที่ รวมทั้งพิจารณาในเรื่องการสื่อสารกับสาธารณะ

นอกจากนี้ยังให้มีคณะที่ปรึกษาเพื่อทำหน้าที่เป็นคลังสมอง (Think Tank) ให้แก่คณะกรรมการอำนวยการฯ และให้สมช.ตั้งสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการเพื่ออำนวยการพูดคุยประสานการดำเนินงานร่วมกับคณะพูดคุยฯและคณะประสานงานระดับพื้นที่

ระดับที่ 2 คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้ (The Peace Dialogue Panel)

คณะพูดคุยฯ ประกอบด้วยผู้ที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้เป็นหัวหน้าคณะ ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ ผู้แทนกระทรวงยุติธรรม ผู้แทนสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ผู้แทนสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ผู้แทนกองทัพบก ผู้แทนที่ได้รับมอบหมายจากคณะประสานงานระดับพื้นที่ นักวิชาการหรือผู้เชี่ยวชาญด้านสันติภาพและผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้อง โดยให้ผู้แทน กอ.รมน.เป็นเลขานุการ

คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้มีอำนาจหน้าที่ 8 ข้อที่สำคัญๆ คือ ดำเนินการพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่างในช่องทางที่เป็นทางการประเมิน วิเคราะห์ท่าที่ ทัศนคติของกลุ่มผู้เห็นต่างสื่อสาร ประสานงานกับกลไกในพื้นที่เพื่อเชื่อมต่อผลการพูดคุยไปสู่การปฏิบัติประชาสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้เกี่ยวข้องทั้งในพื้นที่และต่างประเทศ

นอกจากนี้ยังมีหน้าที่ประสานงานกับผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุย(ฝ่ายมาเลเซีย) และแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อสนับสนุนกระบวนการพูดคุยตามความจำเป็นเพื่อให้คำปรึกษาและพัฒนาองค์ความรู้ที่เป็นประเด็นเฉพาะ หรือดำเนินภารกิจเชิงลึกเฉพาะกรณี

ทั้งนี้ ให้ กอ.รมน.จัดตั้งสำนักงานเลขานุการคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อปฏิบัติงานธุรการและประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งภาคประชาสังคมในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการกระบวนการพูดคุย

ระดับที่ 3 คณะประสานงานระดับพื้นที่ (The Area-based Inter-agency Coordination Working Group)

คณะประสานงานระดับพื้นที่มีผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค4 เป็นหัวหน้าคณะ รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ได้รับมอบหมายเจ้าหน้าที่อาวุโสทั้งฝ่ายปกครอง ฝ่ายตำรวจ ฝ่ายทหาร ฝ่ายอัยการ ผู้แทนภาคประชาสังคมและผู้ทรงคุณวุฒิเป็นคณะประสานงาน และให้ผู้แทน กอ.รมน.ภาค 4 เป็นคณะประสานงานและเลขานุการ

คณะประสานงานระดับพื้นที่มีอำนาจหน้าที่สำคัญๆ เช่น สร้างสภาวะแวดล้อมในพื้นที่ให้เอื้ออำนวยต่อกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขประสานงานระหว่างหน่วยงานของรัฐและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ติดตามและประเมินสถานการณ์ที่เป็นผลสะท้อนจากการพูดคุยในทุกด้านจัดตั้งช่องทางการสื่อสารกับผู้แทนกลุ่มผู้เห็นต่างเมื่อมีข้อตกลงเกี่ยวกับการดำเนินมาตรการเสริมสร้างความไว้วางใจในพื้นที่เป้าหมาย และแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อสนับสนุนกระบวนการพูดคุย

ทั้งนี้ให้ กอ.รมน.ภาค 4 ตั้งสำนักงานเลขานุการคณะประสานงานระดับพื้นที่ ทำหน้าที่ด้านธุรการ ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคประชาสังคมในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการพูดคุย

ส่วนคำสั่งอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องได้แก่ คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 259/2558 ที่ให้ พล.อ.อักษราทำหน้าที่หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไปหลังจากเกษียณอายุราชการ และ คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 306/2558 ที่แต่งตั้ง พล.อ.อักษรา เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี

 

คลิกอ่านไฟล์สำเนาคำสั่งต้นฉบับ

คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 230/2557 เรื่อง การจัดตั้งกลไกขับเคลื่อนกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2557 และฉบับที่ 2 ลงวันที่ 26 มีนาคม 2558)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net