กรธ. ยืนยันเลือกตั้งบัตรใบเดียว เพิ่ม กกต. เป็น 7 คน พท. ชี้มุ่งกําจัดบางพรรค

กรธ. ยืนยันการคำนวณการเลือก ส.ส.ระบบจัดสรรปันส่วนผสมแบบใหม่เข้าใจง่ายคล้ายกับระบบสัดส่วนผสม ส.ส. 500 คน เท่ากับ 100% หากพรรค ก. ได้รับคะแนนทั่วประเทศ 40% จะได้ ส.ส. 40% ของ 500 คน คือ 200 คน หากได้ ส.ส.เขตเพียง 190 คน จะได้บัญชีรายชื่อเพิ่มอีก 10 คน รวมเป็น 200 คน แต่ถ้า ส.ส.เขตได้เกิน 200 คน จะไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเพิ่มเติม ด้านพรรคเพื่อไทยฉะ กรธ.ตั้งธงยกร่างจนเลอะเทอะ มุ่งกําจัดบางพรรค
 
เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2558 ที่ผ่านมาสำนักข่าวไทยรายงานว่าคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. ได้ข้อยุติเบื้องต้นการคำนวณ ส.ส. ในระบบ “จัดสรรปันส่วนผสม” ยึดหลักการให้ประชาชนกาบัตรใบเดียว แล้วนำคะแนนที่ได้ทั้งประเทศมาคิดคำนวณ ส.ส.รวมที่แต่ละพรรคจะมีได้จาก ส.ส. 500 คน โดยเทียบตัวเลข 500 คน เเท่ากับ 100 เปอร์เซ็นต์ ทำให้พรรคการเมืองได้ ส.ส. ตามคะแนนนิยม
 
ยกตัวอย่างเช่น หากพรรคการเมือง ก. ได้รับคะแนนรวมทั่วประเทศ 40% จะได้ ส.ส. 40% ของ ส.ส. 500 คน คือ 200 คน หากได้ ส.ส.เขตเพียง 190 คน จะได้ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อเพิ่มอีก 10 คน รวมเป็น 200 คน แต่ถ้า ส.ส.เขตได้เกิน 200 คน จะไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเพิ่มเติมอีก ซึ่งมีคำยืนยันระบบนี้สร้างความเป็นธรรม และเป็นการเตือนสติพรรคการเมืองว่าต้องส่งคนที่ดีที่สุดทั้งระบบเขตและปาร์ตี้ลิสต์เพื่อพิชิตทุกคะแนน โดย กรธ. ยังกำหนดให้พรรคการเมืองต้องส่งผู้สมัครกระจายตามภูมิภาค และทุกบัญชีในปาร์ตี้ลิสต์จะต้องมีสตรีเป็นผู้สมัครอยู่ด้วย
 
ยันระบบเลือกตั้งกาบัตร 1 ใบเป็นธรรมกับทุกพรรค
 
วันนี้ (8 พ.ย. 2558) เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานว่านายชาติชาย ณ เชียงใหม่ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ในฐานะอนุกรรมการศึกษาโครงสร้างฝ่ายนิติบัญญัติกล่าวกรณีที่กรธ.มีแนวโน้มนำคะแนนของประชาชนทุกคะแนนมาคิดคำนวนเพื่อจำนวนส.ส.ว่า วิธีการดังกล่าวจะทำให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกพรรค เนื่องจากคะแนนทุกคะแนนที่ประชาชนลงให้ไม่ว่าจะลงให้กับพรรคการเมืองใดจะถูกนำมาคิดคำนวนว่าจะได้ส.ส.จำนวนเท่าใด ซึ่งหลักการดังกล่าวจะคล้ายกับระบบสัดส่วนผสม (Mixed-Member Proportional : MMP) แต่ของ กรธ.จะไม่มีโอเวอร์แฮง คือ ไม่ปล่อยให้จำนวน ส.ส.ไหลไปตามทศนิยม เพราะเรากำหนดให้มี ส.ส.จำนวน 500 คน แบ่งเป็นแบบแบ่งเขต 350 คน แบบบัญชีรายชื่อ 150 คน 
 
หลักการที่เราคิดแบบนี้เชื่อว่าจะช่วยให้ประชาชนลงคะแนนได้ง่ายขึ้น เนื่องจากมีบัตรเลือกตั้งแค่เพียง 1 ใบ และนับคะแนนของทุกคนเท่ากับว่าคะแนนของทุกคนจะมีความหมาย เมื่อเป็นแบบนี้ พรรคต้องพิถีพิถันคัดสรรคนที่ดีที่สุดลงสมัครรับเลือกตั้ง ส่วนนโยบายพรรคก็ต้องแน่น นำไปสู่การพัฒนาระบบการเมืองที่แข็งแรง ซึ่งท้ายที่สุดพรรคนายทุนก็จะค่อย ๆ หายไป 
 
"เราฟังเสียงทุกเสียงที่สะท้อนมาก ติติงอย่างไร เราฟังหมด เนื่องจาก กรธ.ทั้ง 21 คนไม่ได้ร่างรัฐธรรมนูญมาใช้กันเอง แต่เราร่างให้คนทั้งประเทศโดยเฉพาะรุ่นใหม่ได้ใช้และเป็นแนวทางในการคิดหลักการต่อในอนาคต และการกำหนดหลักการเลือกตั้งแบบนี้เป็นการเปิดโอกาสให้ทุกพรรคได้แสดงฝีมือและแข่งขันกันอย่างจริงจัง" นายชาติชาย กล่าว 
 
ส่วนกรณีที่ กรธ.กำหนดให้มี กกต. 7 คน เนื่องจากเราพิจารณาจากปัญหาการทำงานของ กกต.ที่ผ่านมา โดย กกต.กลางมีบุคลากร 5 คน แต่ขอบเขตการทำงานมากไม่นับแค่การจัดการเลือกตั้งแต่ต้องทำหน้าที่สืบสวนการทุจริตการเลือกตั้งด้วย จึงเห็นว่าควรมี กกต.เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 2 คนเพื่อมาช่วยกันทำงาน โดยเน้นให้ทำงานแบบองค์คณะเราเห็นความสำคัญของ กกต.กลาง จึงควรที่จะมีบทบาทที่เข้มข้นขึ้น นายชาติชาย กล่าวอีกว่า 
 
สำหรับความคืบหน้าของการร่างรัฐธรรมนูญในสัปดาห์หน้าทาง กรธ.จะพิจารณาเนื้อหาในส่วนขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญต่อจากสัปดาห์ที่ผ่านมาโดยจะเป็นการพิจารณาในส่วนของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จากนั้นจะไล่เลียงไปยังองค์กรต่าง ๆ อาทิ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผู้ตรวจการแผ่นดินผู้ตรวจเงินแผ่นดิน ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นต้น
 
พท. ฉะ กรธ.ตั้งธงยกร่างจนเลอะเทอะ มุ่งกําจัดบางพรรค
 
ด้านเว็บไซต์ไทยรัฐรายงานว่า น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี กรธ.ปรับปรุงแนวคิดระบบเลือกตั้งจัดสรรปันส่วนผสม โดยนำรูปแบบสัดส่วนผสมของ กมธ.ยกร่างฯมาควบรวมว่า ความเป็นมาของ ส.ส.เขตกับ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อก็ต่างกันแล้ว ถ้าให้เอาคะแนนจากระบบเขตไปคิดให้บัญชีรายชื่อ แน่นอนว่ามันผิดวัตถุประสงค์การเลือกของประชาชน สำคัญคืออย่าตั้งธงในการร่างว่าต้องการลดคะแนนเสียงหรือที่นั่งในสภาของพรรคใดพรรคหนึ่ง แล้วเอาประชาชนมาอ้าง อย่าพยายามเอาคะแนนของพรรคใหญ่ไปให้พรรคเล็ก สิ่งที่ดีที่สุดคือ รณรงค์ให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง เพื่อสะท้อนว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ประชาชนมีส่วนร่วมจริงๆ และผลของการเลือกตั้งคือความต้องการของประชาชน พร้อมรณรงค์ให้ทุกพรรค ทุกองค์กร ยอมรับในผลการเลือกตั้ง ไม่เป็นพวกขี้แพ้ชวนตี ตอนนี้ประชาชนยังงงกับระบบเลือกตั้งที่คิดกันอยู่ กรธ.ต้องออกมาอธิบายให้ชัดว่าเหตุที่ต้องเปลี่ยนระบบการลงคะแนนและคิดคะแนนเลือกตั้งกันใหม่นั้นเป็นเพราะอะไร เพราะตนก็ไม่แน่ใจว่าจะมานั่งหาสูตรนับคะแนนให้ยุ่งยาก เพื่อถ่วงเวลาอะไรหรือไม่
 
ขณะที่ น.ส.ชยิกา วงศ์นภาจันทร์ อดีตเลขาคณะกรรมการจัดทำนโยบายพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า รูปแบบการเลือกตั้งแบบตั้งโควตา หรืออั้นจำนวน ส.ส.นั้นเป็นการร่างเพื่อปิดกั้นพรรคใดพรรคหนึ่ง โดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ เพราะคะแนนในส่วนของ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ หรือผู้แทนที่ดูแลด้านนโยบายถูก “จัดสรรปันส่วน” ให้กับพรรคที่ประชาชนไม่ได้เลือก และการใช้บัตรใบเดียวเหมารวมเป็นการบิดเบือนเจตจำนง ของประชาชนในการเลือก ส.ส.เขต และ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ที่มีหน้าที่แตกต่างกัน คือ ส.ส.เขตมีหน้าที่ดูแลประชาชนในพื้นที่ ในขณะที่ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์จะเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ขอฝากให้ กรธ.คำนึงประโยชน์ประเทศโดยรวม อย่าคิดแต่เพียงเรื่องจะกำจัดเฉพาะบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือพรรคใดพรรคหนึ่ง จนเสียหลักการไปหมด กรธ.ควรร่างกฎหมายหลักของบ้านเมืองที่เอื้อให้ประเทศสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันได้มากกว่าเอื้อประโยชน์ทางการเมือง และถ้าเนื้อหาคล้ายของเดิมที่ไม่ยึดหลักประชาธิปไตยสากลที่เคารพเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน ก็เสี่ยงที่จะไม่ผ่านประชามติอีก
 
นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รักษาการรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เห็นด้วยกับการออกกติกาควบคุม ตรวจสอบภาคการเมืองอย่างเข้มข้น แต่ประเด็นสำคัญที่ขาดหายไปทุกครั้งในการร่าง รัฐธรรมนูญคือ การควบคุม ตรวจสอบ ถ่วงดุลอย่างเข้มแข็งและเหมาะสม ทั้ง 3 อำนาจอธิปไตย และเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรอิสระ แต่ปัจจุบันกลับพุ่งเป้ามาที่ภาคการเมืองเป็นหลัก รู้สึกเศร้าสะเทือนใจอย่างที่สุดทุกครั้งที่นักการเมืองถูกด่ากราดเหมือนหมู เหมือนหมา ถ้าดูสถิติแล้วจะตกใจ ประเทศไทยเราล้าหลังขนาดนี้เชียวหรือ เพราะเวลา 83 ปีที่ผ่านมา มีพรรคการเมืองบริหารประเทศครบ 4 ปี เพียงสมัยเดียว ประการสำคัญรัฐธรรมนูญถูกฉีกไปกี่ครั้ง ร่างมาแล้วกี่ฉบับ ทั้งนี้โจทย์คือ เราอยู่คนเดียวในโลกใบนี้ไม่ได้ ถ้าอาสาเข้ามาทำงานให้บ้านเมืองอย่างบริสุทธิ์ใจจริงๆ ถอยคนละก้าว ร่วมมือกันสร้างกติกาที่จะอยู่ในบ้านหลังเดียวกันอย่างสงบ ไม่เกินความสามารถของกูรูผู้รู้ทั้งหลายที่จะกำหนดกติกาให้บ้านของเรามีเสถียรภาพมั่นคงเพื่อรุ่นลูกรุ่นหลาน
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท