Skip to main content
sharethis
ชาวบ้านปทุมธานี ร้องถนนพัง เจ้าหน้าที่เกี่ยงความรับผิดชอบ วอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าช่วยเหลือ
 
วินจักรยานยนต์รับจ้างปากซอยวัชรพล ริมถนนลำลูกกา ม.7 ต.ลาดสวาย อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี ได้ร้องเรียนว่า ถนนซอยวัชรพล ทางที่จะไปออกบริเวณโรงพยาบาลสายไหม และเข้ากรุงเทพฯ ถนนเกิดพังเป็นหลุมเป็นบ่อ และยังไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เมื่อไปสอบถาม เทศบาลตำบลลาดสวาย ก็ได้รับคำตอบว่า พื้นที่ดังกล่าวอยู่ในการดูแลรับผิดชอบของแขวงการทาง แต่เมื่อไปถามแขวงการทาง ก็บอกว่าเป็นพื้นที่ของเทศบาลลาดสวาย รับผิดชอบ เนื่องจากไม่ได้ยกให้เป็นทางหลวงชนบท ประชาชนจึงไม่รู้ว่าหน่วยงานใดรับผิดชอบอย่างแท้จริง นอกจากนี้ ยังพบท่อระบายน้ำที่มักมีดินหล่นลงไปเป็นจำนวนมาก เวลาฝนตกลงมา จะเกิดน้ำท่วมขังถนนในซอยอยู่ตลอด และถนนเส้นนี้ ก็มีรถเข้าออกตลอดเวลา บนทางเท้าและไหล่ทางการประปา มีการขุดซ่อมท่อประปาแล้ว แต่ไม่ยอมฝังกลบพื้นผิวให้เรียบร้อย จึงอยากฝากให้หน่วยงานที่รับผิดชอบลงมาแก้ไข เพื่อให้ประชาชนพ้นจากความเดือดร้อน
 
 
ผู้เลี้ยงกุ้งสุดทนลดกำลังผลิตลง30% เตรียมยื่นหนังสือ"ประยุทธ์-ฉัตรชัย"แก้ราคาตกต่ำ
 
ตัวแทนเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทั่วประเทศ นำโดย นายบรรจง นิสภวาณิชย์ นายกสมาคมสมาพันธ์เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งไทย จำนวนกว่า 100 คน ได้มาร่วมประชุมหารือเร่งด่วนโดยพร้อมเพรียงกันที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อเตรียมความพร้อม หาแนวทางในการรับมือกับวิกฤตในอุตสาหกรรมกุ้งของประเทศ โดยเฉพาะต่อการแก้ไขปัญหาราคากุ้งตกต่ำ ให้ราคากุ้งมีเสถียรภาพและเป็นธรรม รวมถึงการป้องกันแก้ไขปัญหาอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต 
 
นายบรรจง นิสภวาณิชย์ นายกสมาคมสมาพันธ์เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งกำลังประสบปัญหากับภาวะราคากุ้งตกต่ำต่อเนื่อง ส่งผลกระทบสร้างความเดือดร้อนอย่างมากต่อภาคการผลิตกุ้งของประเทศที่ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย สมาคมในฐานะตัวแทนของเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งของประเทศ ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกที่เป็นสมาคม ชมรม สหกรณ์ กลุ่มผู้เลี้ยงกุ้งจังหวัดต่าง ๆ จึงได้มาประชุมหารือกัน เพื่อรวบรวมประเด็นปัญหา แนวทางการแก้ไข-ป้องกัน และอื่น ๆ หลังจากที่แต่ละแห่งได้ไปประชุมสรุปประเด็นปัญหาและแนวทางแก้ไขกันมาแล้ว ก็มาสรุปในประเด็นสำคัญเร่งด่วนกันในวันนี้ สมาพันธ์จึงขอเรียกร้องไปยังรัฐบาล โดยจะไปยื่นหนังสือต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง หลังการประชุมคณะกรรมการกุ้งแห่งชาติวันที่ 30 ต.ค.ศกนี้ ดังนี้ 
 
1.ขอให้รัฐบาลหาแนวทางรักษาเสถียรภาพราคากุ้งขาวแวนนาไมในประเทศ 2.ขอให้รัฐบาลยกเลิกประกาศนำเข้างดนำเข้ากุ้งจากต่างประเทศทุกรายการ โดยเฉพาะห้ามนำเข้ากุ้ง จากอินโดนีเซีย และบราซิล โดยเด็ดขาด เนื่องจากเสี่ยงต่อการนำโรค IMNV เข้ามา 3.เพิ่มสัดส่วนตัวแทนจากเกษตรกรทั่วประเทศในคณะกรรมการกุ้งแห่งชาติ
 
ขณะเดียวกัน เกษตรกรผู้เลี้ยงพร้อมใจลดกำลังการผลิตกุ้งลง ร้อยละ 30 ตั้งแต่วันนี้จนกว่าภาวะราคาจะดีขึ้น ซึ่งจะทำให้เป้าหมายการผลิตกุ้งขาวแวนนาไมปีนี้ลดลงจาก 2.5 แสนตัน เหลือ 2.1 แสนตัน ปกติกุ้งขาวจะออกสู่ตลาดมากในช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย.และในช่วงปลายปี ปัจจุบันราคาตกต่ำต่อเนื่อง และตกลงต่ำกว่าต้นทุนแล้ว เช่น กุ้งขาวแวนนาไม ขนาด 100 ตัว/กก. ราคาต่ำกว่า 114 บาท/กก. ซึ่งเป็นต้นทุนเฉลี่ยของผู้เลี้ยงกุ้งทั้งประเทศ เป็นต้น ทั้งที่อยู่ในภาวะที่ทั่วโลกผลิตกุ้งได้น้อย คือ ลดลงประมาณร้อยละ 9 ราคากุ้งจึงตกต่ำเกินจริง สวนทางกับภาวะความต้องการของตลาดโลก ที่สำคัญเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งเอง ก็เพิ่งเริ่มผ่านจากการบาดเจ็บบอบช้ำจากวิกฤตโรคระบาดกุ้งตายด่วน หรืออีเอ็มเอส พอเริ่มที่จะผลิตกุ้งได้เพิ่มขึ้น ก็ต้องมาเผชิญกับภาวะราคากุ้งต่ำซ้ำซากอีก
 
 
ร้องศูนย์ดำรงธรรมขอโควตาสลากกินแบ่งผ่านธ.กรุงไทยไม่ได้แถมสองมาตรฐานไม่เอื้อประโยชน์
 
วันที่ 3 พ.ย. 2558 พ.ต.ท.ถนอม จินาวา รองหัวหน้าชุดเฉพาะกิจศูนย์ดำรงธรรม จ.พิจิตร ได้รับการร้องทุกข์จากนายสมบัติ ดำมินเสก อายุ 54 ปีและ นางเรียน เฟื่องฟู ชาวบ้าน ต.ไผ่ท่าโพ อ.โพธิ์ประทับช้าง และกลุ่มผู้ค้าสลากกินแบ่งรัฐบาลรายย่อยกว่า 10 คน ว่ารัฐบาลประกาศให้คนจนผู้ขายปลีกสลากกินแบ่งรัฐบาลสามารถไปจองขอรับสลากกินแบ่งได้ที่หน้าเคาน์เตอร์ธนาคารกรุงไทยในเวลา 08.30 น. ของทุกวันที่ 3 -7  และ ในวันที่ 18-22  ของทุกเดือน เพื่อจะได้สิทธิรับสลากกินแบ่งไปขาย แต่ตรงกันข้ามก็เปิดให้จองในระบบ Net Bank และระบบผ่านหน้าตู้ ATM ทำให้คนจน คนแก่ คนพิการ ไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ จึงทำให้ไม่ได้สิทธิในการขอสลากกินแบ่งมาขาย จึงมาร้องเรียนศูนย์ดำรงธรรมว่า นโยบายของกองสลากและธนาคารกรุงไทยเป็นสองมาตรฐานไม่เอื้อประโยชน์ให้คนยากคนจน คนแก่ คนพิการ ได้เข้าถึงการขอโควต้าสลากกินแบ่งรัฐบาลและเป็นวงจรเข้าสู่ระบบการผูกขาดของนายทุนใหญ่ที่ใช้กองทัพมดเข้ามาเอาโควต้าและก็นำกลับมาขายกินกำไรจากคนยากคนจนเหมือนเดิม
            
นายสุขเสริม ไพบูลย์สิริ ผู้จัดการสาขาอาวุโสธนาคารกรุงไทยจำกัด สาขาพิจิตร กล่าวว่า ได้รายงานไปยังผู้บริหารแล้ว รู้สึกเห็นใจ คนยากคนจน คนแก่ คนพิการ ที่เข้าไม่ถึงระบบเทคโนโลยี ชาวบ้านบางคนเดินทางไกลมากว่า 40-50 กิโลเมตร มาถึงธนาคารกรุงไทยพิจิตร ตั้งแต่เวลาตี 5 หวังว่าจะได้คิวเป็นคนแรก แต่พอถึงเวลาเวลา 08.30 น. ซึ่งเป็นเวลาทำการเพียงแค่ 5 นาทีแรก ก็พบว่าโควตาถูกจองเต็มหมดแล้ว
สำหรับจังหวัดพิจิตรในงวดที่ผ่านมามีผู้ที่สามารถจองซื้อสลากกินแบ่งเพื่อนำมาขายปลีกได้มากสุดโดยผ่านตู้ATM ได้เพียง 19 ราย ผ่านระบบ Net Bank เพียงแค่ 2 ราย เป็นเงินหมุนเวียนเพื่อการจำหน่ายสลากกินแบ่ง 1.6 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก
 
ดังนั้นกำลังประสานงานกับส่วนที่เกี่ยวข้องจะจัดให้ความรู้และช่องทางในการขอโควต้าสลากกินแบ่งรัฐบาลผ่านธนาคารกรุงไทย ทั้งนี้เพื่อเป็นการช่วยเหลือให้ประชาชนเข้าถึงระบบเทคโนโลยีเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว 
 
 
 
ผู้ค้าเร่ลอตเตอรี่เมืองเลยร่วมพันปิดถนน ประท้วงยี่ปั๊ว ขายส่งใบละ 80 บ.
 
เมื่อเวลา 06.00 น. วันที่ 3 พ.ย. 58 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่ามีผู้ค้าเร่ลอตเตอรี่ร่วม 1,000 คน ในจังหวัดเลย รวมตัวปิดถนนหน้าตลาดค้าส่งลอตเตอรี่ ถนนสายแยกวังสะพุง มุ่งหน้าเมืองเลย ทั้ง 2 ฝั่ง โดยผู้ค้าลอตเตอรี่ไม่พอใจที่ยี่ปั๊ว ขายส่งใบละ 80 บาท ถ้าซื้อในราคา 80 บาท แล้วไปขายเกินราคาก็ต้องถูกจับ จึงรวมตัวกันปิดถนนเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาชี้แจง จนทำให้การจราจรเส้นทางดังกล่าวรถติดเป็นอัมพาต มีเพียง จนท.ตร.สภ.วังสะพุง ออกมาดูแลความเรียร้อย และขอให้ผู้ชุมนุมเปิดถนน แต่อยู่ระหว่างเจรจา
 
 
ชาวบ้านสุดทนคอร์รัปชัน อบต.ท้ายเหมือง
 
เมื่อเวลา 08.30 น. วันที่ 2 พ.ย. นายสมบุญ ก้างกิจ ประธานสภา อบต.ท้ายเหมือง อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา พร้อมด้วยนายจิระวิทย์ พวงจิตร นายกเทศบาลตำบลท้ายเหมือง นายปรารถนา ดำทน กำนัน ต.นาเตย อ.ท้ายเหมือง และสมาชิกสภา อบต.ท้ายเหมือง จำนวนหนึ่ง ได้ยื่นหนังสือขอให้ตรวจสอบการทุจริตโครงการก่อสร้างของ อบต.ท้ายเหมือง โดยนายสนิท วรกิจ นายก อบต.ท้ายเหมือง ขณะนั้น
 
ต่อมานายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผวจ.พังงา เดินทางเข้ารับหนังสือ โดยรายละเอียดมีความสำคัญว่า ทาง คสช.มีคำสั่งให้นายสนิท วรกิจ หยุดพักการปฏิบัติหน้าที่เนื่องจากต้องคดีทุจริต ด้านคดีมีความล่าช้าซึ่งสำนวนคดีค้างอยู่ที่สำนักงานอัยการจังหวัดพังงา และการดำเนินการตรวจสอบทางวินัยยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด จึงขอให้ทางจังหวัดพังงาตรวจสอบข้อเท็จจริง รวมความเสียหายทั้งสิ้นจำนวนกว่า 145 ล้านบาท
 
ทางนายประพันธ์ ใจแก้ว ส.อบต.หมู่ 9 ต.ท้ายเหมือง กล่าวว่า สำหรับการตรวจสอบขององค์กรอิสระพบว่าครงการก่อสร้างกำแพงกั้นดินดูราโฮลด์ สูง 2.135 เมตร ยาว 2,550 เมตร ซึ่งทาง ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด แต่ศาลยกฟ้อง ต่อมาโครงการขยายเขตไฟฟ้าปักเสาเหล็กกลม สูง 7 เมตร ราคาประเมินค่าก่อสร้าง 19,190,000 บาท ทาง ป.ป.ช.และ สตง.ชี้ความผิดคดีอยู่สำนักงานอัยการจังหวัดพังงา โครงการไฟฟ้าส่องสว่าง จำนวน 3 โครงการ รวมเป็นเงิน 27,602,000 บาท
 
โครงการก่อสร้างอุทยานการเรียนรู้อันดามัน ราคาประเมิน 67,720,000 บาท โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างเสาไฟฟ้าในราคาต้นละ 64,797 บาท ขณะที่ อบต.ใกล้เคียง เช่น อบต.นาเตย เสาไฟฟ้าต้นละ 40,425 บาท ราคาเสาไฟฟ้าแสงสว่าง แบบมาตรฐานกรมทางหลวง ราคาต้นละ 40,500 บาท ส่วนอุทยานการเรียนรู้อันดามันเปิดให้บริการแก่เด็กนักเรียนเพียงปีละ 1 ครั้งในวันเด็ก แต่ก่อสร้างใช้งบประมาณแผ่นดินมากถึง 67,720,000 บาท ซึ่งเป็นที่น่าสนใจและเกิดคำถามจากชาวบ้านในพื้นที่บ่อยครั้ง
 
ด้านนายปรารถนา ดำทน กำนันตำบลนาเตย กล่าวว่า เหตุที่เกิดความไม่โปร่งใสขึ้นในพื้นที่ อบต.ท้ายเหมือง ของอดีตนายก อบต.ท้ายเหมือง ซึ่งคดีที่มีการชี้มูลจาก ป.ป.ช. สตง.ไปแล้วว่ามีมูล เมื่อคดีถึงเจ้าหน้าที่ภาครัฐกลับไม่มีความคืบหน้า หลายคนในพื้นที่จึงสงสัยว่ามีความไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้นหรือไม่ จึงรวมตัวกันเดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา เพื่อขอให้ทางจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความเป็นธรรมเพื่อขจัดคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นและก่อให้เกิดความเสียหายในพื้นที่ เนื่องจากหากชี้มูลมีหลักฐาน พยานครบเช่นนี้แล้วแต่ไม่มีการดำเนินความผิดตามกฎหมายจะเป็นตัวอย่างให้แก่พื้นที่อื่นด้วย
 
 
'ชาวบ้านท่าบ่อ' ร้องถนนพังมาแรมเดือน วอนเทศบาลช่วยซ่อม
 
เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 58 ชาวบ้านในชุมชนสนามกีฬาป่าตาล หมู่ 6 ต.ท่าบ่อ อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย รวมตัวร้องเรียนต่อสื่อมวลชนจังหวัดหนองคาย ช่วยเป็นสื่อกลางในการแก้ปัญหาถนนชำรุด โดยนายจรัล มะรังศรี อายุ 68 ปี เป็นตัวแทนชาวบ้าน กล่าวว่า ถนนสาย 5 ธันวา ระยะทางประมาณ 1 กม. ถนนลาดยางที่สร้างมานับสิบปีแล้ว เป็นถนนสายหลักที่ชาวบ้านใช้สัญจรไปมา และที่สำคัญนักเรียนโรงเรียนท่าบ่อ ใช้เดินทางไปโรงเรียนทุกวัน เกิดชำรุด เป็นหลุมเป็นบ่อ ตลอดทั้งสาย รถจักรยานยนต์หักหลบหลุมจนเกิดอุบัติเหตุมาแล้วหลายคัน หน้าฝนโคลนตมกระเด็นสาดเปรอะเปื้อน หน้าร้อนฝุ่นคลุ้ง ชาวบ้านเคยทำหนังสือ และเอ่ยด้วยวาจาถึงเทศบาลเมืองท่าบ่อ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มาช่วยซ่อมแซมให้เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา แต่ก็ยังไม่มีการดำเนินการแต่อย่างใด
 
ขณะที่ นายประพาส นครภักดี นายกเทศมนตรีเมืองท่าบ่อ กล่าวว่า ถนนสายนี้อยู่ในเขตเทศบาลเมืองท่าบ่อ และเขตรอยต่อกับ อบต.ท่าบ่อ ซึ่งทาง อบจ.หนองคาย ได้ทำถนนคอนกรีตไปบางส่วน อบต.ท่าบ่อ ได้เทคอนกรีตเสริมช่วงรอยต่อกับเทศบาลเมืองท่าบ่ออีกส่วนหนึ่ง เหลือพื้นที่ตรงกลาง ทางเทศบาลได้สอบถามไปยังทางหลวงชนบท ทราบว่า ถนนสายนี้ไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของ อบจ.หนองคาย และได้แนะนำให้เทศบาลเมืองท่าบ่อรับเป็นเจ้าภาพไป โดยเทศบาลยินดี ซึ่งทางหลวงชนบทกำลังดำเนินการถ่ายโอนถนนมาให้เทศบาลเมืองท่าบ่อ อยู่ระหว่างดำเนินการขอรับการพิจารณาอนุมัติจากทางจังหวัดหนองคาย เมื่อทางจังหวัดอนุมัติแล้ว ก็จะนำเรื่องเข้าที่ประชุมสภาเทศบาลเมืองท่าบ่อ เพื่อขอจัดสรรงบประมาณ 3 ล้านมา มาทำถนนคอนกรีต และซ่อมแซมถนนให้ดีขึ้น โดยทางเทศบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ เพียงติดขัดในเรื่องขอบเขตอำนาจหน้าที่เท่านั้น
 
 
ชาวบ้านป่าตึงน้อย อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ขึ้นป้ายต่อต้านไม่เอาขยะ
 
กรณีปัญหาเรื่องขยะมูลฝอยของ จ.เชียงใหม่ ทั้ง 25 อำเภอ พื้นที่ อ.เมือง มีปริมาณขยะวันละกว่า 360 ตัน ขณะที่ภาพรวมทั้ง 25 อำเภอ มีปริมาณขยะวันละกว่า 1,700 ตัน การจัดการร้อยละ 80 ยังใช้วิธีการจัดจ้างเอกชนเข้ามาขนขยะนำไปกำจัด ในขณะที่แนวโน้มปริมาณขยะยังจะเพิ่มมากขึ้น และกำลังจะกลายเป็นปัญหาวิกฤติขยะล้นเมืองได้ในอนาคตอันใกล้นี้ซึ่ง จ.เชียงใหม่ ได้แบ่งการจัดการบริหารขยะออกเป็น 3 โซน และได้ประชุมระดมความคิดเห็นที่จะทำแผนจัดการขยะทั้ง 3 โซน โดยใช้ระบบการกำจัดในรูปแบบจะเผาหรือฝังกลบ มีโซนเหนือที่ อ.ฝาง โซนกลางที่ อ.ดอยสะเก็ด โดยทั้งสองโซนนี้จะต้องเปิดใช้งานให้ได้ก่อนและโซนใต้ที่ อ.ฮอด ขยะทั้ง 3 โซนที่น่าจับตาดูมากที่สุดก็คือโซนกลาง ได้สร้างโรงงานผลิตปุ๋ยหมักจากของเหลือใช้ตามโครงการก่อสร้างระบบกำจัดขยะมูลฝอย ของ อบจ.เชียงใหม่ ที่ก่อสร้างด้วยงบประมาณ 466 ล้านบาท บนพื้นที่ 113 ไร่ ที่บ้านป่าตึงน้อย ต.ป่าป้อง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ที่รับขยะทั้ง อ.ดอยสะเก็ด อ.สันทราย อ.สันกำแพง และ อ.แม่ออน ที่ทางอบจ.เชียงใหม่จะเป็นผู้ดำเนินการสร้างเมื่อปี 2549 เปิดใช้มาแล้วแต่การจัดระบบในช่วงหลังไม่ดีพอ ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนในเรื่องกลิ่นเหม็นจนต้องยุติลง แต่ในปัจจุบันนี้กลับจะมีการเข้าไปฟื้นฟูโดยทาง อบจ.เชียงใหม่ เพื่อจะเปิดเป็นโซนกลางจัดการขยะ ทำให้ชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียงได้ขึ้นป้ายข้อความต่อต้านบ้างแล้ว
 
เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 4 พ.ย. ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปยังบ้านป่าตึงน้อย หมู่ 1 ต.ป่าป้อง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นจุดที่มีการตั้งโรงงานกำจัดขยะโซนกลางของ จ.เชียงใหม่ พบว่าในหมู่บ้านมีการขึ้นป้ายผ้าระบุไม่เอาขยะ 3 จุดที่ป่าทางเข้าหมู่บ้าน และปากทางเข้าโรงงานคัดแยกขยะของ อบจ.เชียงใหม่ โดยสภาพโรงงานอยู่ในระหว่างการฟื้นฟูเป็นโกดังมิดชิดทั้ง 3-4 หลัง ทางชาวบ้านได้บอกเพียงว่าไม่ต้องการขยะเข้ามาทิ้งในโรงงานแห่งนี้อีก
 
นายธัญญา ภาวะเดช นายกเทศมนตรีตำบลป่าป้อง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ เผยว่า ในเรื่องขยะที่จะนำมากำจัดที่โรงงานกำจัดขยะบ้านป่าตึงน้อย ซึ่งโรงขยะแห่งนี้เป็นงบประมาณของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องขยะถือว่าเป็นนโยบายของ คสช. เป็นวาระแห่งชาติ ในเชียงใหม่มี 3 โซน โซนเหนือ โซนกลางและโซนใต้ ในพื้นที่ ต.ป่าป้อง เป็นโซนกลาง มีโรงขยะที่อยู่ในความรับผิดชอบของ อบจ.เชียงใหม่ สร้างขึ้นมาเมื่อประมาณปี 2549 มูลค่า 466 ล้านบาท ซึ่งหลังจากที่โรงขยะได้ดำเนินการเปิดมาได้สร้างผลกระทบให้กับชาวบ้านอย่างน้อย 2 ครั้ง ทำให้ชาวบ้านรู้สึกโรงขยะเกิดขึ้นมาในพื้นที่มีผลกระทบต่อเขา
 
ดังนั้น เมื่อจะกลับมาเปิดใหม่อีกครั้งชาวบ้านจึงไม่ต้องการ เพราะทำให้ชาวบ้านไม่มีความมั่นใจในโรงงานขยะแห่งนี้ แต่ถ้าจะมาจริงๆก็ต้องมีทางผู้หลักผู้ใหญ่จากส่วนกลางต้องมาคุยและทำความเข้าใจกับชาวบ้านว่าถ้ามาจะต้องไม่มีผลกระทบใดๆ จึงขอฝากผู้หลักผู้ใหญ่ทางส่วนกลางที่ดูแลเรื่องนี้ ก่อนที่โรงขยะจะเข้ามาก็ขอให้มาคุยกับชาวบ้านก่อน ชาวบ้านพร้อมที่จะรับฟังด้วยเหตุด้วยผลด้วยกันทั้งสองฝ่าย.
 
 
ชาวบ้าน ต.ป่าแดด อ.ป่าแดด จ.เชียงราย กว่า 60 คน รวมตัวยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัด หลังฟาร์มหมูส่งกลิ่นเหม็นทั้งหมู่บ้าน
 
(4พ.ย.) ที่ศาลากลาง จ.เชียงราย นายวิเศษ ไชยบัวคำ สมาชิกสภาเทศบาล ต.ป่าแดด นายลูน นามวงศ์ ผู้ใหญ่บ้านใหม่ใต้ ได้นำชาวบ้านจากหมู่บ้านใหม่ใต้ ม.6 ต.ป่าแดด อ.ป่าแดด จ.เชียงราย ประมาณ 60 คน นำโดย เดินทางมาเพื่อร้องทุกข์ต่อนายบุญส่ง เตชะมณีสถิตย์ ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย ให้ช่วยเหลือหลังจากที่ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนจากกลิ่นมูลสุกรจากฟาร์มของเอกชนรายหนึ่งที่ตั้งอยู่ใกล้กับหมู่บ้าน 
 
โดยที่ผ่านมาชาวบ้านเคยตกลงกับเอกชนรายนั้น รวมทั้งร้องเรียนต่อทางเทศบาลและหน่วยงานด้านสาธารณสุขมาแล้วแต่ก็ไม่เป็นผล เพราะยังคงมีกลิ่นเหม็นจนทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนเหมือนเดิม แม้ว่าชาวบ้านได้นำป้ายไปแสดงออกถึงความเดือดร้อนก็ตาม 
 
โดยนายบุญส่ง เตชะมณีสถิตย์ ได้มอบหมายให้นายทวี สุทธิถนอม หัวหน้าสำนักงาน จ.เชียงราย มารับเรื่องและได้เชิญแกนนำชาวบ้านไปหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยได้ข้อสรุปว่าทางจังหวัดจะให้การช่วยเหลือแก้ไขปัญหาให้โดยจะเริ่มลงพื้นที่ตรวจสอบในวันที่ 5 พ.ย. ทำให้ชาวบ้านพอใจและสลายตัวไปในที่สุด 
 
นายวิเศษ ไชยบัวคำ สมาชิกสภาเทศบาล ต.ป่าแดด กล่าวว่า ฟาร์มแห่งนี้สร้างมานานประมาณ 7 ปี โดยอาคารฟาร์มเริ่มมีปัญหาส่งกลิ่นเหม็นรบกวนชาวบ้าน ทำให้มีการเจรจาตกลงกับเจ้าของฟาร์มจนมีการแก้ไขไปได้ในระดับหนึ่ง ต่อมาเมื่อประมาณ 3 ปีก่อนก็มีการขยายฟาร์มอีกมาเป็นอาคารที่ 2 มีสุกรอยู่ร่วม 1,000 ตัว และอาคารใหม่ได้ส่งกลิ่นเหม็นออกมาอีก โดยไม่ได้รับการแก้ไขแม้ว่าจะมีการเข้าไปตกลง และมีการกั้นสถานที่เพื่อกันกลิ่นเอาไว้แต่พบว่ามีเพียงการนำกระสอบทรายไปวางเอาไว้เท่านั้น ทำให้ชาวบ้านซึ่งมีในหมู่บ้านประมาณ 190 หลังคาเรือน ประชากรประมาณ 700 คน ทนไม่ไหวและร้องไปยังทางอำเภอแต่ก็ไม่ได้รับการแก้ไขเป็นที่น่าพอใจจึงได้ร่วมกันลงชื่อได้จำนวน 297 คน แล้วเข้ามาร้องต่อทางผู้ว่าราชกาiจังหวัดในที่สุด
 
 
นายกสมาคมคนตาบอดโคราช วอนรัฐทบทวนขายสลากออนไลน์
  
นายบุญเลี้ยง ไล่กระโทกนายกสมาคมคนตาบอดนครราชสีมา เปิดเผยถึงปัญหาการสั่งจองซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลผ่านตู้เอทีเอ็มของธนาคารกรุงไทย ว่าคนมีสายตาปกติหรือผู้มีร่างกายสมบูรณ์ครบถ้วน ยังพบอุปสรรคต่างๆนานา ไม่สามารถจองได้ คนพิการทุกประเภทกว่า 1,000 คน ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีอาชีพขายสลาก ฯ เลี้ยงชีพ แยกเป็นกลุ่มพิการทางสายตาร่วม 100 คน ประสบปัญหาไม่สามารถเข้าถึงการให้บริการดังกล่าว ซึ่งไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกให้ผู้พิการเกี่ยวกับการเคลื่อนไหว โดยจัดทางขึ้นให้รถวิลแชร์ แป้นกดมีอักษรเบรลล์ ให้คนตาบอด ส่วนใหญ่ไม่มีทุนและไม่คุ้นเคยกับการทำธุรกรรมผ่านระบบ ดังนั้นการสั่งจอง 3 ครั้งที่ผ่านมา มีทั้งระบบออนไลน์ล่ม ถูกสั่งจองสั่งซื้อเต็ม จึงมีคนพิการในจังหวัดนครราชสีมา ดำเนินการสำเร็จ รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 50 เล่มคู่ แต่พบเรื่องราวที่พูดเล่าในกลุ่มผู้ค้าสลาก ฯ มีพนักงานกว่า 300 คน ของฟาร์มขนาดใหญ่แห่งหนึ่งตั้งอยู่ริมถนนมิตรภาพ ต.กลางดง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา สามารถสั่งจองซื้อสำเร็จ ฝากให้ผู้สื่อข่าวตรวจสอบด้วย 
 
“ขณะนี้สมาคม ฯ ได้โควต้า 40 เล่มคู่ต่องวด เพื่อนำมาจัดสรรให้กับสมาชิกร่วม 100 คน ซึ่งไม่พอเพียง จึงต้องไปซื้อจากยี่ปั๊ว ในราคาใบละ 75 บาท ยิ่งใกล้วันหวยออกหรือเป็นงวดที่มีความต้องการมาก จะฉวยโอกาสปรับขึ้นถึง 78 บาท บางครั้งต้องยอมซื้อแม้นจะได้กำไรค่อนข้างน้อย มิเช่นนั้นก็ไม่มีรายได้ แนวทางแก้ปัญหาโดยสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน รัฐบาลควรให้โควต้าคนพิการที่ขายสลาก ฯ เลี้ยงชีพจริงๆ รายละ 10 เล่มคู่ต่องวด หากขายหมดจะได้ผลกำไร 9,600 บาท โดยเฉลี่ยแต่ละงวดจะเหลือเลขที่ออกแล้ว หรือเลขไม่สวยและหมวดเลขศูนย์ ประมาณ 10 ใบ จึงขอฝากให้ผู้เกี่ยวข้องรับทราบปัญหาและเร่งเยียวยาแก้ไขผู้ที่ได้รับผลกระทบเร่งด่วน มิเช่นนั้นผลประโยชน์ก็จะอยู่กับบรรดาเสือนอนกิน หรือกลุ่มทุนเหมือนเดิม”นายบุญเลี้ยงกล่าว
 
 
ชาวบางสะพานน้อย ลุกฮือ! ค้านสร้างโรงงานปาล์มน้ำมัน
 
เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 5 พ.ย.58 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านจาก ต.ไชยราช อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ ยื่นหนังสือคัดค้านการขอตั้งโรงงานสกัดปาล์มน้ำมันแห่งหนึ่งใน ต.ไชยราช อ.บางสะพานน้อย ขนาดกำลังการผลิต 60 ตันต่อวัน บนเนื้อที่ 200 ไร่ มีนายอัมพร จันตศิริกุล รักษาการอุตสาหกรรมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และนายสุขสันต์ เอี่ยมโสภณ หัวหน้าฝ่ายโรงงาน รับฟังข้อร้องเรียน
 
นายบุญมี ล้อกิตติกุล ตัวแทนชาวบ้านกล่าวในที่ประชุมว่า ก่อนหน้านี้ ชาวบ้านเคยร้องเรียนไปที่ศูนย์ดำรงธรรมเมื่อเดือนมีนาคม 2558 ผ่านมาเกือบ 8 เดือนไม่มีความคืบหน้า สาเหตุที่ชาวบ้านในตำบลไชยราช ตำบลเขาไชยราช และตำบลทรายทอง ต้องร้องเรียนเนื่องจากในขั้นตอนการทำประชาพิจารณ์เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2558 มีผู้ได้รับผลกระทบกว่า 500 คนเข้าร่วมประชุมมีมติไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้าง ซึ่งมีการทำประชาพิจารณ์ถึง 2 ครั้ง และถือว่าเป็นขั้นตอนแรกของการก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรม ที่ต้องสอบถามประชาชนในพื้นที่ แต่หนังสือสรุปการทำประชาพิจารณ์จาก นายชนพล ส่งเสริม นายอำเภอบางสะพานน้อย กลับไม่ได้ส่งเรื่องมาที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด และมีท่าทีสนับสนุนฝ่ายโรงงาน
 
ต่อมาเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2558 สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้ออกประกาศเรื่อง การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในการพิจารณาเกี่ยวกับโรงงาน จำพวกที่ 3 ตามคำขอประกอบกิจการโรงงานดังกล่าว หากผู้ใดคัดค้านให้แจ้งเรื่องมาที่ สำนักงานอุตสาหกรรมภายใน 15 วัน ทั้งนี้ปัจจุบันทราบว่าโรงงานขยายพื้นที่โดยกว้านซื้อที่ดินรอบข้างประมาณ 500 ไร่ ขณะที่พื้นที่บางสะพานน้อยมีการปลูกปาล์มน้ำมันไม่เกิน 1 แสนไร่ แต่กลับมีโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มมากกว่า 10 โรงงาน ซึ่งผลผลิตปาล์มในพื้นที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของโรงงาน และที่ผ่านมาชาวบ้านมีบทเรียนจากการปล่อยน้ำเสียของโรงงานบางแห่งทำให้ลำน้ำสาธารณะ ที่ดินเลี้ยงสัตว์ทำการเกษตรได้รับผลกระทบ ซึ่งประชากรในตำบลไชยราช ส่วนใหญ่ปลูกทุเรียน
 
นายอภิชาต จันทร์นาม ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบกล่าวว่า ขนาดพื้นที่ของโรงงานเกือบ 500 ไร่ ในกระบวนการผลิตน้ำมันปาล์มต้องใช้น้ำ แต่ไม่มีแหล่งน้ำในพื้นที่รองรับ จะทำได้ก็ต่อเมื่อใช้น้ำบาดาล ซึ่งในช่วงหน้าร้อน พื้นที่บริเวณดังกล่าวประสบปัญหาภัยแล้ง เกษตรกรต้องใช้น้ำผิวดินด้วยการขุดบ่อน้ำ หากโรงงานสูบน้ำบาดาลหรือน้ำผิวดิน จะทำให้ที่รอบข้างขาดแคลนน้ำ ในขณะที่ช่วงหน้าฝนก็จะเกิดการปล่อยน้ำเสียทิ้ง เป็นเส้นทางน้ำไหลผ่านชุมชน โรงเรียน นอกจากกระทบเรื่องสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตชาวบ้านแล้ว การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในเขตอำเภอบางสะพานน้อยก็จะเสียหายด้วยเช่นกัน
 
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้มีการจัดทำร่างผังเมืองรวมอำเภอบางสะพานน้อยเป็นพื้นที่สีเขียวหรือเขตเกษตรกรรม เพียงแต่ยังไม่ถูกประกาศออกมา จึงเป็นโอกาสให้นายทุนอาศัยช่องโหว่เร่งรีบดำเนินการก่อสร้างโรงงาน ผลกระทบที่ชาวบ้านได้รับคือแหล่งน้ำไม่พอต่อการบริโภคอุปโภค น้ำเสียและมลพิษจากโรงงาน
 
 
พระนครศรีอยุธยา-ชาวอำเภอลาดบัวหลวงสุดทนกับโรงงานรีไซเคิลขยะสร้างปัญหามลพิษกระทบชุมชน
 
ชาวบ้านจากตำบลลาดบัวหลวง และตำบลสามเมือง  ในเขตอำเภอลาดบัวหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สุดทน  กับปัญหามลพิษในพื้นที่  ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่ามาจากโรงงานรีไซเคิลขยะ ของนักลงทุนต่างชาติ ที่เข้ามาดำเนินธุรกิจตั้งแต่ปี 2553 เกี่ยวกับการรับซื้อขยะจากโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงการนำชิ้นส่วนพลาสติก และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์  มาหลอมเพื่อรีไซเคิล โดยปัญหามลพิษพบหนักมากที่สุด  จนชาวบ้านเริ่มลุกขึ้นมาประท้วง ตั้งแต่ปีตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบันเกือบ 3 ปีแล้ว ยังไม่ได้รับการแก้ไข   นายอารี พันธ์ดนตรี อายุ 62 ปี หนึ่งแกนนำชาวบ้าน ยืนยันว่า เตาหลอมทำให้เกิดมลพิษ ส่งผลให้ชาวบ้านแสบจมูก คอแห้ง เวียนศีรษะ เพราะกลิ่นและควันที่รุนแรง ซึ่งมั่นใจว่าสุขภาพของชาวบ้าน 2 ตำบลจะได้รับผลกระทบ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ที่ผ่านมาร้องเรียน ไปถึงหน่วยงานระดับอำเภอ จังหวัด กระทรวงอุตสาหกรรม รวมถึงสำนักนายกรัฐมนตรีแล้ว แต่ไม่มีการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง 
 
 
ม็อบคนชราบุกอำเภอทวงเงินเบี้ยยังชีพที่ค้างจ่าย 2 เดือน - เดือดร้อนหนัก ไม่มีเงินซื้อกับข้าว
 
เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 6 พ.ย. บริเวณหน้าที่ว่าการ อ.ธาตุพนม จ.นครพนม กลุ่มตัวแทนผู้สูงอายุและคนพิการในพื้นที่เทศบาลตำบลน้ำก่ำ อ.ธาตุพนม จ.นครพนม กว่า 30 คน เดินทางมาชุมนุมเรียกร้องทวงถามเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและคนพิการ ที่เทศบาลตำบลน้ำก่ำค้างจ่ายมานาน 2 เดือนแล้ว เพื่อขอให้นายอำเภอธาตุพนมช่วยเหลือให้จ่ายครบตามกำหนดทุกเดือนเหมือนอบต. หรือเทศบาลตำบลแห่งอื่นๆ พร้อมชูป้ายเขียนข้อความเรียกร้อง อาทิ เอาอีกแล้ว เดือดร้อนหนักมากๆ ไม่จ่ายเบี้ยฯ คนแก่-พิการ 2 เดือนจ้า
 
นายตาเทือง แสงสุวรรณ อายุ 77 ปี ชาวบ้าน บ้านดอนข้าวหลาม ต.น้ำก่ำ เปิดเผยว่า วันนี้เดินทางมาเป็นตัวแทนชาวบ้านใน 20 หมู่บ้าน ที่มีจำนวนกว่า 1,400 ราย เพื่อทวงถามเบี้ยคนชราพร้อมกลุ่มเพื่อนผู้เฒ่าวัย 60-80 ปี ซึ่งได้รับความเดือดร้อนต้องอาศัยเบี้ยยังชีพกับภรรยาอายุ 67 ปี เลี้ยงปากท้อง ต้องไปเชื่อยาสีฟัน สบู่ ยารักษาโรค จากร้านค้าใกล้บ้านมาใช้ก่อน จะไปทวงถามที่เทศบาลก็เกรงกลัวเพราะเคยถูกข่มขู่มาแล้ว จึงอยากให้เทศบาลแก้ปัญหาซ้ำซากด้วยการโอนจ่ายเงินเบี้ยยังชีพ เข้าบัญชีธนาคาร ธ.ก.ส. หรือธนาคารออมสินจะดีกว่าต้องออกมาทวงถามทุก 2-3 เดือน เพราะพวกตนแก่แล้ว
 
ด้านนายพัชดา ธีระฆัง อายุ 76 ปี ชาวบ้าน บ้านนาคำ หมู่ 5 ต.น้ำก่ำ กล่าวว่า ครอบครัวตนมีลูกพิการชาย-หญิง 2 คน มี 1 คนขึ้นทะเบียนได้เงินผู้พิการ ส่วนภรรยาวัย 71 ปีก็ยังไม่ได้รับเงินเบี้ยยังชีพและผู้พิการมา 2 เดือนแล้ว รวมกันแล้วเป็นเงิน 4,400 บาท ลูกหลานไปถามตำบลอื่นก็บอกว่าเขาได้กันครบทุกเดือน ทำให้ครอบครัวเดือดร้อนมากต้องติดหนี้ร้านค้าใกล้บ้านจากการไปเซ็นพวกน้ำปลา ปลาร้า และกับข้าวมากินเป็นเงิน 2,000 บาทแล้ว จึงต้องมาร้องเรียนขอความช่วยเหลือกับทางอำเภอ
 
ขณะที่นางบุญชู คะเนนิน อายุ 74 ปี ชาวบ้าน บ้านเหล่าเจริญ ระบุว่า ตนอาศัยอยู่กับลูกชาย 2 คน เงินผู้สูงอายุจากเทศบาลตำบลน้ำก่ำไม่ได้จ่ายตามปกติทุกเดือนตามที่รับปากไว้เลื่อนแล้วเลื่อนอีก ทำให้เดือดร้อนมากต้องยืมเงินญาติไปจ่ายค่าน้ำค่าไฟ วันนี้เลยต้องเดินทางมาทวงถามอีกครั้งที่อำเภอ
 
ต่อมานายอติชาต อุณหเลขกะ นายอำเภอธาตุพนม ได้เข้ามาพูดคุยและชี้แจงกับกลุ่มผู้สูงอายุว่า ได้รับหนังสือแจ้งมาจากกรมการปกครองส่วนท้องถิ่นเมื่อเดือนที่แล้ว ซึ่งยอดเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและคนพิการเพิ่งจะมาเมื่อวานนี้ครบทั้ง 3 เดือนคือเดือนต.ค.-ธ.ค. ตกเดือนละ 900,000 บาท รวม 3 เดือนเป็นเงิน 2.7 ล้านบาท โดยจะให้เทศบาลตำบลน้ำก่ำ นัดจ่ายเงินก่อน 2 เดือน คือ เดือนต.ค.-พ.ย. คิดเป็นเงิน 1.8 ล้าน ในวันอังคารที่ 10 พ.ย. นี้ เพื่อชาวบ้านจะได้ไม่เดือดร้อนอีก หลังกลุ่มผู้สูงอายุได้ฟังคำชี้แจงจากนายอำเภอธาตุพนม ซึ่งรับปากว่าเทศบาลจะจ่ายเงินที่ค้าง 2 เดือนให้ในวันอังคารที่ 10 พ.ย. นี้ ก็พอใจแยกย้ายกันเดินทางกลับบ้าน
 
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 14 ก.ย. ที่ผ่านมา กลุ่มผู้สูงอายุและคนพิการในพื้นที่ ต.น้ำก่ำ อ.ธาตุพนม จ.นครพนม กว่า 200 คน เคยชุมนุมร้องเรียนกรณีไม่ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและคนพิการนาน 3-4 เดือนมาแล้ว ที่ศาลาการเปรียญวัดสระพังทอง บ้านทู้ หมู่ 6 ต.น้ำก่ำ จนกระทั่งพล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) สั่งการให้พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดนครพนม (พมจ.นครพนม) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงและเร่งช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ซึ่งต่อมากลุ่มผู้สูงอายุและคนพิการได้รับเงินเบี้ยยังชีพที่ค้างอยู่ไปจนครบทั้งหมดแล้ว กระทั่งกลับชุมนุมเรียกร้องเงินเบี้ยยังชีพอีกครั้งในวันนี้
 
 
ร้องโครงการสร้างถนน ทำชาวบ้านเดือดร้อน
 
เมื่อเวลา 08.30 น. วันที่ 7 พ.ย. กลุ่มชาวบ้านรวมตัวร้องเรียนโครงการก่อสร้างถนน 4 เลน สายอำนาจเจริญ-อุบลราชธานี ช่วงบ้านศรีสวาท-บ้านสร้างมิ่ง ต.ยางโยภาพ อ.ม่วงสามสิบ จ.อุบลราชธานี ซึ่งผู้รับเหมาได้กำลังก่อสร้างไหล่ทางสูงกว่าพื้นถนนก่อน ทำให้พื้นถนนที่ประชาชนใช้สัญจรไปมาเหลือเพียง 2 เลน และมีฝนตกมาทำให้เกิดน้ำท่วมขังสูง บางจุดกว่า 10 เซนติเมตร ชาวบ้านที่สัญจรไปมาต้องขับรถลุยน้ำไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แม้ทางผู้รับเหมาจะนำรถมาสูบน้ำออกจากถนนแต่ชาวบ้านเกรงว่าหากมีฝนตกลงมาอีกน้ำจะกลับมาท่วมอีกครั้งสร้างความลำบากในการเดินทางเพราะถนนเส้นนี้เป็นถนนสายหลักที่ประชาชนชาวจังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดอำนาจเจริญใช้สัญจรไปมาร่วมกัน
 
นายเทพทวี สิงห์คู่ อายุ 43 ปี ชาวบ้านสร้างมิ่ง ต.ยางโยภาพ อ.ม่วงสามสิบ จ.อุบลราชธานี เปิดเผยว่า ถนนเส้นนี้ก่อสร้างมาร่วมปีแล้ว แต่ยังไม่แล้วเสร็จ ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนในการสัญจรไปมา ในเวลากลางคืนไม่มีไฟฟ้าส่องสว่าง เกิดอุบัติเหตุรถเฉี่ยวชนและแฉลบลงข้างทางหลายครั้ง ล่าสุดช่วงค่ำวันที่ 6 พ.ย. เกิดฝนตกหนักในพื้นที่ ผู้รับ เหมาก่อสร้างไหล่ทางยกสูงกว่าพื้นถนนก่อน ทำให้เกิดน้ำท่วมขังบนพื้นถนน น้ำไม่สามารถระบายออกได้ ระยะกว่า 500 เมตร บางจุดเป็นแอ่งท่วมสูงกว่า 10 เมตร รถต้องวิ่งลุยน้ำ รถยนต์บางคันวิ่งมาด้วยความเร็วสูง น้ำกระเด็นสูงท่วมตัวรถ รถจักรยานยนต์ต้องขึ้นไปวิ่งบนไปไหล่ทางระวังน้ำจากรถยนต์ที่ขับอยู่บนถนนสาดใส่ จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาตรวจสอบว่าการก่อสร้างถนนเช่นนี้ถูกต้องตามหลักการก่อสร้างหรือไม่ และถนนที่ก่อสร้างนี้ใช้วัสดุอุปกรณ์ที่ได้มาตรฐานหรือเปล่า พวกตนเกรงว่าหากสร้างถนนเสร็จไปแล้วใช้ได้ไม่นานก็จะมาชำรุดอีก ไม่คุ้มกับเงินภาษีของประชาชนที่เสียไป
 
สำหรับถนนเส้นนี้เคยมีการร้องเรียนขอให้ สตง.ตรวจสอบการก่อสร้าง ซึ่งนายอนิรุทธ์ สิงหศิริ ผอ.สำนักตรวจสอบพิเศษภาค 5 มารับเรื่อง เมื่อวันที่ 14 ต.ค.ที่ผ่านมา กระทั่งมีกลุ่มชาวบ้านมารวมตัวร้องเรียนอีกครั้ง
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net