Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



คำนำ

อะไรคือเหตุผลในข้อถกเถียงเกี่ยวกับการเรียกร้องให้บัญญัติพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทยไว้ในรัฐธรรมนูญของฝ่ายสนับสนุนและผู้คัดค้านเรื่องนี้ ?

เมื่อสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่แต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร 9 กันยายน 2549 ได้ลงมติไม่รับการขอแปรญัติเพื่อเพิ่มข้อความ “พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ” ไว้ในร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 นั้น ได้เกิดเหตุโกลาหลขึ้นทันทีที่หน้ารัฐสภา หนังสือพิมพ์ข่าวสด ฉบับวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2550 พาดหัวข้อข่าวตัวโต ๆ ว่า “ม็อบพระฮือกดดันแปรญัตติพุทธ”

เหตุการณ์นี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์พุทธศาสนาในประเทศไทย ที่พระสงฆ์และฆราวาสชาวพุทธจำนวนมากได้ร่วมใจกันออกมาเรียกร้องทางการเมืองอย่างเข้มข้น ในลักษณะที่เมื่อดูจากเนื้อข่าวแล้วก็จะเห็นเป็นการกระทำที่ขัดต่อสมณวิสัยอย่างมาก ชาวบ้านทั่วไปดูแล้วคงไม่น่าเลื่อมใส แต่เหตุการณ์นี้และเหตุการณ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องตลอดเวลาที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นทัศนะของชาวพุทธและพระสงฆ์ไทยจำนวนมากที่ต้องการให้พุทธศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของรัฐ และความต้องการนี้ได้รับการปฏิเสธโดยนักวิชาการ นักประวัติศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย และกลุ่มคนที่มีบทบาทสำคัญในกลไกของรัฐสมัยใหม่

หลังจากเหตุการณ์ที่เป็นข่าวเกิดขึ้น ผู้เขียนพยายามสำรวจข้อถกเถียงที่ปรากฏที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่มีการร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ.2550 เกี่ยวกับประเด็น “พระพุทธศาสนาประจำชาติไทยในรัฐธรรมนูญ” โดยรวบรวมข้อถกเถียงต่าง ๆ จากหนังสือพิมพ์และบทความที่ตีพิมพ์ทั้งก่อนและในช่วงเวลาที่มีการรณรงค์โดยพระสงฆ์และชาวพุทธ   อะไรคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความคิดหรือการเรียกร้องให้มีการบัญญัติพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทย ไม่ได้รับการยอมรับจากชนชั้นนำทางวิชาการที่มีบทบาทในสังคมไทย อะไรคือปัญหาสำคัญของกลุ่มชาวพุทธที่รณรงค์เรื่องนี้  ที่จะนำเสนอต่อไปนี้เป็นผลจากการสำรวจเบื้องต้นที่ผู้เขียนดำเนินการในช่วงเวลาดังกล่าว

บทความนี้เคยตีพิมพ์ในวารสารสมาคมปรัชญาและศาสนาแห่งประเทศไทย ปีที่9 ฉบับที่ 2 (กันยายน 2557)  ซึ่งเผยแพร่ในวงจำกัดเฉพาะสมาชิกสมาคมเท่านั้น เนื่องจากผู้เขียนเห็นว่า สังคมไทยปัจจุบันกำลังอยู่ในเหตุการณ์ที่เป็นเหมือนย้อนกลับไปสู่จุดเดิมอีกครั้ง ชั่วเวลา 10 ปีผ่านไป เรายังอยู่ในวังวนเดิมของศาสนาและการเมืองที่ไม่รู้ว่าจบสิ้นเมื่อไร เลยนำมาปรับปรุงเล็กน้อยเพื่อเผยแพร่อีกครั้งเพื่อการศึกษาด้านพุทธศาสนากับสังคมไทย 


ข้อถกเถียงระหว่างนักวิชาการและพระสงฆ์

การเรียกร้องให้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญว่า “พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ” ได้ก่อตัวมานับตั้งแต่เกิดรัฐประหารเมื่อ 9 กันยายน 2549 โดยคณะนายทหารที่เรียกตนเองว่า คณะปฏิรูปการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข (คปค.) ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ” หรือ (คมช.) ประกาศให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แทนรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 (ที่ฉีกทิ้งโดยไม่เกรงใจประชาชน) ทันทีที่เริ่มกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ชาวพุทธที่เคยผิดหวังมาตั้งแต่สมัยร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ก็เริ่มเคลื่อนไหวอีกครั้งหนึ่ง ครั้งนี้ดูจะเป็นการรวมตัวของชาวพุทธครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทยสมัยใหม่ โดยมีเหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นฉากหลังและเร่งเร้าปฏิกิริยา (เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นใน ปี พ.ศ.2558 ที่มีจินตนาการเกี่ยวกับชาวมุสลิมเป็นหลังฉาก)  พระสงฆ์และชาวพุทธได้พยายามแสวงหายุทธวิธีต่าง ๆ เพื่อเรียกร้องและบีบบังคับในเชิงจิตวิทยาแก่คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ เช่น การนำช้างมาร่วมเดินขบวนเรียกร้องร้อง การขึ้นป้ายประกาศเจตนารมณ์ตามวัดต่าง ๆ ทั่วราชอาณาจักร หรือแม้กระทั่งชักจูงโน้มน้าวญาติโยมที่มาทำบุญที่วัดในวันสำคัญให้เห็นความสำคัญและความจำเป็นที่จะต้องมีการบัญญัติไว้เช่นนั้น อาจนับเป็นครั้งแรกที่เราได้เห็นภิกษุบางรูปถือป้ายมีข้อความเรียกร้องในทางการเมืองอย่างชัดเจน เดินปะปนผู้คนตามป้ายรถเมล์ข้างสนามหลวง ในช่วงก่อนการลงประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเพียงไม่กี่วัน

ประเด็น “พุทธศาสนาประจำชาติ” กลายเป็นเรื่องที่มีการถกเถียงโต้แย้งกันมากที่สุดทั้งในรายงานข่าวประจำวัน บทความตามหน้าหนังสือพิมพ์ หรือในเว็บไซต์ต่าง ๆ ก็มีการถกเถียงเรื่องนี้กันอย่างกว้างขวางและดุเดือดขึ้นตามลำดับ     มีชาวพุทธจำนวนหนึ่งไม่เห็นด้วยกับการระบุศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติไว้ในรัฐธรรมนูญ จากที่ได้สังเกตวัดต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด สำรวจข้อมูลจากเว็บไซต์ที่จัดทำขึ้นโดยกลุ่มพระสงฆ์ และนักวิชาการในมหาวิทยาลัยสงฆ์ รวมทั้งจากคำบอกเล่าของคนรอบตัว ประเมินได้ว่าพระสงฆ์เกือบทั้งหมดเห็นด้วยกับการเรียกร้องนี้  ท่ามกลางกระแสนี้ ดูเหมือนจะมีแต่เมตตานันโทภิกขุ  และพระไพศาล วิสาโลเท่านั้นที่ได้แสดงความไม่เห็นด้วยในเรื่องนี้เปิดเผยทางสื่อสิ่งพิมพ์

ผู้ที่วิจารณ์การเรียกร้องนี้อย่างรุนแรงที่สุดเห็นจะเป็นเมตฺตานนฺโทภิกขุ ในบทความเรื่อง      ”เหตุผลที่รัฐธรรมนูญไม่ควรระบุศาสนาประจำชาติ” (มติชน วันที่ 02 เมษายน พ.ศ. 2550 หน้า 7) เมตตานันโทภิกขุหรือพระมโน เมตตานนฺโท (หลังร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ได้ลาสิกขาเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในนามพรรคการเมืองหนึ่ง โดยอ้างว่าเพื่อไปทำหน้าที่ปฏิรูปพุทธศาสนาในประเทศไทยเสียใหม่) ไม่เห็นด้วยกับการเรียกร้องของพระสงฆ์จำนวนมาก ครั้งนั้นท่านได้ให้เหตุผลว่า ประเทศไทยมีพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติโดยพฤตินัยอยู่แล้ว เห็นได้จากการใช้ปีพ.ศ.อย่างเป็นทางการในการนับศักราชของประเทศ มีวันหยุดประจำชาติเพื่อเฉลิมฉลองเทศกาลสำคัญในพุทธศาสนา โดยที่รัฐบาลไทยไม่เคยกำหนดให้มีวันหยุดราชการของศาสนาอื่นใดเลย  พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ทรงเป็นพุทธมามกะมาตลอด ไม่เคยปรากฏพระองค์ใดนับถือศาสนาอื่นเลย มหากษัตริย์ทุกพระองค์ทรงประพฤติทศพิธราชธรรมมาตลอด แม้จะทรงอุปถัมภ์ศาสนาอื่นด้วย แต่ก็เป็นเพียงส่วนน้อย จึงไม่ควรจะระบุพุทธศาสนาประจำชาติไว้ในรัฐธรรมนูญ

เมตตานันโทภิกขุ มองว่า การระบุพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไม่เพียงแต่จะไม่เกิดประโยชน์ใดๆ แก่ชาวพุทธเท่านั้น แต่ยังจะนำไปสู่ความเลวร้ายในสังคมไทยอีกด้วย เนื่องจากการบัญญัติพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทยจะทำให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ดี และความน้อยเนื้อต่ำใจในหมู่ราษฎรที่ไม่นับถือพุทธศาสนา การระบุว่า "พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ" ย่อมทำให้เกิดการตีความไปได้หลายนัย เช่น ประเทศนี้หรือแผ่นดินนี้เป็นของชาวพุทธ ไม่ใช่ของผู้นับถือศาสนาอื่น หรือประชาชนที่ไม่ได้นับถือพุทธย่อมไม่มีสิทธิเท่าเทียมกับที่นับถือพุทธ หรือแผ่นดินนี้มีชาวพุทธเป็นใหญ่ ไม่ใช่ศาสนาอื่น หรือผู้ที่นับถือพุทธพึงได้รับความเกรงใจจากศาสนิกชนของศาสนาอื่นๆ หรือแม้กระทั่งความเป็นธรรมของประชาชนจะเอาของชาวพุทธสำคัญกว่าศาสนาอื่น และผลประโยชน์ของชาวพุทธย่อมมาก่อนศาสนาอื่น เป็นต้น 

เมื่อเกิดความคิดที่น้อยเนื้อต่ำใจเช่นนี้ คนไทยที่นับถือศาสนาอื่นจะเกิดความรู้สึกขึ้นมาทันทีว่าตนเองคือประชาชนชั้นสองของประเทศ ส่วนประชาชนชั้นหนึ่งนั้นคือชาวพุทธ และแม้ว่าพุทธศาสนาจะได้ชื่อว่าเป็นศาสนาแห่งสันติและเมตตาธรรม แต่ถ้าความศรัทธาของชาวพุทธผนวกกับลัทธิชาตินิยม ผลที่ออกมาย่อมจะเป็นความรุนแรงทางสังคมเสมอไป  เช่น ในแผ่นดินพระนารายณ์มหาราช  ซึ่งจบลงด้วยการยึดอำนาจของพระเพทราชาและขุนหลวงสรศักดิ์ลูกชาย เนื่องจากความหวาดระแวงศาสนาโรมันคาทอลิกที่เข้ามาเผยแพร่ในกรุงศรีอยุธยา นำโดยเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ ซึ่งเป็นขุนนางไทยเชื้อสายกรีก เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ชาวฝรั่งเศสตัดความสัมพันธ์กับราชสำนักอยุธยา เหตุการณ์ในทิเบตเมื่อศตวรรษที่ 19 เมื่อ องค์ดาไล ลามะองค์ที่ 13 มีนโยบายพัฒนาประเทศชาติให้ก้าวหน้าโดยการจัดตั้งกระทรวง ทบวง กรม แบบประเทศในยุโรป และการจัดสร้างโรงเรียนสอนภาษาตะวันตก แต่เจ้าอาวาสวัดใหญ่ 5 แห่งของทิเบตออกโรงคัดค้าน เพราะกลัวว่าจะทำให้ศาสนาอื่นจากยุโรปเข้ามาเผยแพร่ในทิเบต ชาวทิเบตจะเปลี่ยนไปเข้ารีตกันหมด เป็นผลทำให้ประเทศทิเบตล้าหลังทั้งทางวิชาการ การปกครอง จนเป็นเหตุให้จีนเข้ามายึดครองได้โดยง่าย

หรือในสหภาพพม่า เมื่ออูนุได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี พระภิกษุได้ต่อต้านนโยบายเปิดกว้างให้สิทธิหมอสอนศาสนาเข้ามาเผยแพร่ในประเทศ ให้รัฐให้สิทธิในการนับถือศาสนาแก่ประชาชนเท่าเทียมกัน การประท้วงรุนแรงขึ้นทุกขณะจนรัฐบาลเข้าขั้นวิกฤต และนำมาสู่รัฐประหารที่นำโดยนายพลเนวิน  เมื่อสี่สิบปีที่แล้วมานั้น พม่าเป็นประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้าที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นักการทูตของพม่าได้รับการยอมรับเป็นเลขาธิการใหญ่องค์การสหประชาชาติ แต่ปัจจุบัน (หมายถึงเมื่อพ.ศ.2550) พม่าได้แปรสภาพเป็นประเทศที่มีประชากรยากจนที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประชาชนอดอยาก และถูกขึ้นบัญชีว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนสูงสุดประเทศหนึ่งของโลก

ในศรีลังกา เมื่อชาวพุทธซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวสิงหลที่นับถือพุทธต้องการที่จะให้เชื้อสายและศาสนาของตนเองเป็นใหญ่ จึงให้มีการระบุในรัฐธรรมนูญว่ามีภาษาสิงหลเป็นภาษาประจำชาติ  ทันทีที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ประการใช้ กระบวนการพยัคฆ์ทมิฬเกิดขึ้นทันที ชาวทมิฬส่วนใหญ่นั้นไม่นับถือพุทธแต่เป็นฮินดู พูดภาษาทมิฬ เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจว่าเผ่าพันธุ์ของตนเป็นประชากรชั้นสอง ประชากรชั้นหนึ่งเป็นสิงหลนับถือพุทธ การก่อการร้ายโดยกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬนั้นรุนแรง ฆ่าไม่เลือกไม่ว่าหญิงหรือเด็ก ศรีลังกาอยู่ในภาวะสงครามกลางเมืองที่ประชาชนเสียชีวิตไปกว่าสามแสนคน และผู้บาดเจ็บอีกนับล้านคน

เมตตานันโทภิกขุมองว่า ประวัติศาสตร์กำลังจะซ้ำร้อยในประเทศไทย เนื่องจากศรัทธาของชาวพุทธผนวกเข้ากับลัทธิชาตินิยม ท่านระบุว่า ตลอดระยะเวลา 25 ปีที่ผ่านมา ความหวาดวิตกว่า ศาสนาต่างชาติมีแผนการที่จะเข้ามากลืนพุทธศาสนาในประเทศไทยแพร่หลายไปในวงกว้างของชาวพุทธในประเทศไทย โดยการเผยแผ่ของพระเถระผู้มีคนศรัทธารูปหนึ่ง จนเกิดกระบวนการพิทักษ์พุทธศาสนาและแนวร่วมเพื่อต่อสู้ป้องกันพุทธศาสนา ในลักษณะเดียวกับที่เกิดขึ้นในพม่าและศรีลังกา ในปี 2550 นี้มีเอกสารแพร่ระบาดไปในหมู่ชาวพุทธให้กลัวภัยในศาสนาอิสลาม เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนทางการเมือง ให้บรรจุในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้สถานภาพพิเศษแก่พุทธศาสนา โดยอ้างว่าจะเป็นวิธีการที่จะป้องกันการคุกคามของศาสนาอื่น

เมตตานันโทภิกขุแสดงความเชื่อมั่นว่า หากกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญใจอ่อนยอมบรรจุข้อความดังกล่าวลงไป ประวัติศาสตร์แบบที่เคยเกิดขึ้นในศรีลังกาก็จะซ้ำรอยในประเทศไทย และอาจรุนแรงยิ่งขึ้นเนื่องจากเงื่อนไขมิใช่อยู่ที่ภาษาประจำชาติแต่อยู่ที่ศาสนา อันเป็นเงื่อนไขทางสังคมที่รุนแรงกว่ามาก ทั้งจะมีผลกระทบต่อปัญหาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย เพราะโจรแบ่งแยกดินแดนก็จะมีเหตุผลที่ฟังขึ้นในหมู่นานาชาติและประเทศมุสลิมว่า พวกตนได้รับการคุกคามทางศาสนา และมีความจำเป็นที่จะต้องแบ่งแยกดินแดนเป็นรัฐอิสระ ประเทศไทยก็จะก้าวเข้าสู่ยุคแห่งสงครามก่อการร้ายอย่างไม่รู้จบ

คำกล่าวของเมตตานันโทภิกขุในบทความนี้มิใช่จะไม่มีมูล ความหวาดระแวงต่อศาสนาอื่นเกิดขึ้นและแพร่สะพัดไปแม้ในสถาบันการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยสงฆ์ อย่างสามารถจะรับรู้ได้อย่างชัดเจน การถกเถียงในห้องเรียนช่วงเวลาดังกล่าวแสดงออกถึงความหวาดระแวง และความประสงค์ที่จะกำจัดภัยคุกคามดังกล่าว 

เมตตานันโทภิกขุคงจะเป็นภิกษุรูปเดียวที่มองว่า การบัญญัติพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไว้ในรัฐธรรมนูญจะนำสังคมไทยไปสู่ความเลวร้าย  ในขณะที่พระสงฆ์ที่เรียกร้องมองว่า การบัญญัติไว้เช่นนั้นจะเป็นผลดีต่อประเทศไทยมากกว่า ตัวอย่างเช่น ในเหตุผล 20 ประการของผู้สนับสนุนข้อเรียกร้องที่พระเทพวิสุทธิกวี เลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนา เขียนไว้ในหนังสือ ”พระพุทธศาสนาคือศาสนาประจำชาติ” (พิมพ์แจกทั่วไป) แต่ในที่นี้ ผู้เขียนจะกล่าวถึงความเห็นของบุคคลที่มีบทบาทอย่างสูงในวงวิชาการด้านพุทธศาสนาในสังคมไทย ได้แก่ ศาสตราจารย์พิเศษเสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต และพระธรรมโกศาจารย์ (พระมหา ดร.ประยูร ธมฺมจิตฺโต-ปัจจุบันท่านดำรงสมณศักดิ์ที่พระพรหมบัณฑิต) อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยสงฆ์

ในบทความชื่อ “ถึงเวลาแล้วละครับ” (คอลัมน์ “รื่นร่มรมเยศ” มติชน ฉบับวันที่ 22 เมษายน 2550 หน้า 7)  ศาสตราจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิตเรียกร้องให้มีการบัญญัติพุทธศาสนาไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยเท้าความถึงประวัติศาสตร์พุทธศาสนาและการเมืองว่า ตั้งแต่พุทธศาสนาเข้ามาสู่ประเทศไทย อย่างน้อย ตั้งแต่ยุคประวัติศาสตร์นั้น พ่อขุนรามคำแหงมหาราชแห่งกรุงสุโขทัย ได้ทรงอาราธนาพระสังฆราชปราชญ์เรียนแห่งลังกาวงศ์ ขึ้นจากเมืองนครศรีธรรมราชมายังสุโขทัย สถาปนาพุทธศาสนาลังกาวงศ์ที่สืบทอดมาจากศรีลังกา เป็นศาสนาประจำประเทศไทย โดยก่อนหน้านั้น พุทธศาสนาแบบพุกามได้แพร่หลายจนกลายเป็นศาสนาแบบพื้นบ้านอยู่แล้ว ด้วยพระปรีชาญาณ พระองค์ได้สมานพุทธศาสนาทั้งสองฝ่ายให้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน พระสงฆ์ทั้งสองฝ่ายก็ได้แบ่งเป็นฝ่ายคามวาสี (พระบ้าน) และฝ่ายอรัญวาสี (พระป่า) มาแต่บัดนั้น

ในทัศนะของศาสตราจารย์เสฐียรพงษ์ พระมหากษัตริย์ทุกยุคทุกสมัยทรงทำหน้าที่ 2 ประการ ซึ่งเป็นพระราชกรณียกิจหลักคือ ด้านหนึ่ง ทรงทำหน้าที่ปกครองประเทศตามระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยนำเอาหลักธรรมของพุทธศาสนาที่เอื้อต่อการปกครองเพื่อความสงบสุขของประชาชน เช่น ทศพิธราชธรรม ในระยะที่ยังไม่มีกฎหมายปกครองประเทศ ก็ทรงใช้หลักพุทธศาสนาเป็น "กฎหมายทางใจ" หรือเป็นหลักใจ จะเห็นชัดเจนขึ้นเมื่อพญาลิไททรงพระราชนิพนธ์ "ไตรภูมิพระร่วง" ขึ้น โดยนำหลักพุทธศาสนามาปรับใช้เป็นธรรมผู้ปกครองปลูกฝังให้พสกนิกร "อายชั่ว กลัวบาป" ภาพของผู้ทำผิดต่างๆ เช่น ด่าทอทุบตีพ่อแม่ เบียดเบียนพระสงฆ์องค์เจ้า พ่อค้าโกงตาชั่ง ข้าราชการฉ้อราษฎร์บังหลวง ตายแล้วจะตกนรกที่มีการลงโทษทัณฑ์สอดคล้องกับความผิดนั้นๆ เป็นการเตือนให้ประชาชนกลัวบาป และเร่งทำความดี เพื่อความสุขในปัจจุบัน และในชาติภพหน้า นี้คือ "กฎหมายทางใจ" ในขณะที่ยังมิได้ตรากฎหมายเป็นลายลักษณ์อักษร

อีกด้านหนึ่ง พระมหากษัตริย์ทรงทำหน้าที่อุปถัมภ์คุ้มครองพุทธศาสนา อันเป็นศาสนาประจำชาติ โดย (1) สนับสนุนให้พระสงฆ์ได้เรียนรู้พุทธวจนะอย่างกว้างขวาง ส่งเสริมให้มีการบวชมาเพื่อศึกษาพุทธศาสนามากขึ้นทั้งบวชชั่วคราวและบวชถาวร ในยุคกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าอยู่หัวถึงกับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้พระราชโอรส พระราชนัดดา บวชเป็นสามเณรเพื่อศึกษาพุทธศาสนา จนเกิดประเพณี "การบวชสามเณร" สืบมา  การบวชเรียนได้รับความนิยมมากในยุคต่อมาบางสมัยมีผู้มาบวชกันมาก จนไม่มีผู้ประสงค์จะรับราชการรับใช้ประเทศชาติ พระมหากษัตริย์ต้องทรงปรึกษากับพระมหาเถระเพื่อแก้ปัญหานี้ จึงได้มีการสอบความรู้ผู้บวชเรียน ใครสอบผ่านก็ให้อยู่รับใช้พระศาสนาต่อไป ใครสอบไม่ผ่านก็ไล่สึกเพื่อรับราชการรับใช้บ้านเมือง เราจึงมีสำนวนภาษาว่า "สอบไล่" มาแต่บัดนั้น (คือไล่สึกมารับใช้บ้านเมือง) สำหรับผู้บวชถาวรก็สนับสนุนให้ศึกษาและปฏิบัติยิ่ง ๆ ขึ้นไปเพื่อเป็น "ศาสนทายาท" สืบทอดพุทธศาสนา ในด้านการเรียนการสอบบาลีนั้นจะเห็นได้ชัดมาก พระมหากษัตริย์เสด็จมาทรงฟังการสอบด้วยจึงมีสำนวนเรียกว่า "สอบสนามหลวง" มาจนบัดนี้

ข้อนี้ชี้ให้เห็นว่า พระมหากษัตริย์ผู้ทรงปกครองประเทศ ทรงเอาพระทัยใส่ในการเรียนการสอนของพระสงฆ์ พระภิกษุรูปใดสอบผ่าน ตั้งแต่ 3 ประโยค ก็ทรงแต่งตั้งให้เป็น "มหาเปรียญ" พระราชทานพัดเปรียญให้และมีนิตยภัตด้วย ยิ่งผู้สอบได้ถึง 9 ประโยคตั้งแต่ยังเป็นสามเณร ก็ทรงรับไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์บวชให้เป็นนาคหลวง ดังในสมัยรัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 5 และแม้ในรัชกาลปัจจุบัน  นอกจากวังหลวงแล้ว วังหน้าโดย กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์ ทรงประดิษฐ์พัดเปรียญเล็กกว่าพัดเปรียญปกติ พระราชทานแก่พระภิกษุสามเณรผู้สอบเปรียญ 3 ประโยคตก พร้อมนิตยภัตด้วย เพื่อเป็น "การเสริมแรง" ให้ท่านเหล่านั้นมีวิริยะอุตสาหะเข้าสอบให้ได้ต่อไป นับว่าเป็นกุศโลบายที่ดีที่ทรงให้กำลังใจแก่ผู้สอบไม่ผ่าน ให้ตั้งใจศึกษาและเข้าสอบต่อไปโดยไม่ท้อแท้ ท่านที่ได้รับพระกรุณาจากวังหน้า จึงมีชื่อเรียกว่า "เปรียญวังหน้า" มาแต่บัดนั้น

(2) อุปถัมภ์ด้วยการสร้างและปฏิสังขรณ์วัดวาอาราม  สถาบันพระมหากษัตริย์ได้ตระหนักถึงความสำคัญนี้ จึงทรงสร้างวัดและปฏิสังขรณ์วัดไว้มากมาย โดยมิต้องให้พระภิกษุสงฆ์ท่านต้องมาดำเนินการเอง มีหน้าที่ศึกษาและปฏิบัติ สั่งสอนประชาชนเพียงอย่างเดียว การจัดที่อยู่อาศัยและอำนวยความสะดวกในเรื่องปัจจัยดำรงชีวิตอย่างอื่น เป็นหน้าที่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ และประชาชนชาวบ้านจัดให้ จึงมีวัดต่างๆ ที่สร้างขึ้นเป็นวัดประจำรัชกาล นอกจากนี้ก็พระราชทานโอกาสให้พสกนิกร ผู้มีฐานะดี เช่น เศรษฐี คหบดี ช่วยกันสร้างวัดถวายไว้ในพระศาสนา สมัยก่อนพระราชามหากษัตริย์และประชาชนต่างก็ช่วยกันสร้างวัดไว้เป็นสมบัติพระศาสนา ในบางรัชกาล เช่น รัชกาลที่ 3 ถึงกับมีคำพูดว่า ถ้าใครสร้างวัดเป็นที่โปรดปรานของพระมหากษัตริย์ เมื่อพระมหากษัตริย์บางพระองค์ทรงศึกษาพระศาสนาจนเชี่ยวชาญแล้ว นอกจากจะช่วยสร้างวัดในพระศาสนาแล้ว ยังช่วยบอกปริยัติธรรม คือสอนหนังสือแก่พระอีกด้วย ดังเช่นพระเจ้าทรงธรรมในสมัยอยุธยา พระเจ้าอยู่อยู่รัชกาล ที่ 4 แห่งรัตนโกสินทร์เป็นต้น
       
การอุปถัมภ์ในความหมายหนึ่งคือช่วยพระสงฆ์แก้ปัญหาของพระศาสนา เมื่อบางเรื่องเกินมือของพระสงฆ์จะแก้ได้ เช่น เกิดวิกฤตการณ์ถูกย่ำยีโดยอลัชชีผู้ไร้ยางอาย สร้างความมัวหมองแก่พระศาสนา บังเอิญอลัชชีนั้นมีบารมี มีผู้นับถือมาก เกินกำลังพระสงฆ์จะแก้ไขด้วยการใช้พระวินัย ทางบ้านเมืองก็ยื่นมือเข้ามาช่วยแก้ปัญหา ดังเช่นรัชกาลที่ 2 พระผู้ใหญ่ 3 รูปถูกกล่าวหาว่าเสพเมถุนธรรมปาราชิกจนมีบุตร รัชกาลที่ 2 ทรงให้กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์กับหม่อมไกสร ผู้รับผิดชอบกรมสังฆการีชำระอธิกรณ์ ปรากฏว่าผู้ถูกกล่าวหารับเป็นสัตย์จริง จึงให้สึกไปรับโทษทางบ้านเมือง 

ศาสตราจารย์เสฐียรพงษ์มองว่า พระมหากษัตริย์ทรงใช้รัฐธรรมนูญการปกครอง หรือ "กฎหมายทางใจ" อย่างเคร่งครัดบริหารประเทศของพระองค์ร่มเย็นเป็นสุข มาจนถึงวินาทีที่คณะราษฎร์เปลี่ยนแปลงการปกครองลดบทบาทของสถาบันกษัตริย์นั่นเองปัญหาเริ่มเกิดขึ้น ในทัศนะของศาสตราจารย์เสถียรพงศ์ คณะราษฎรได้แย่งอำนาจจากสถาบันพระมหากษัตริย์ทั้ง 2 ประการ คือ (1) อำนาจในด้านการปกครองประเทศ (2) อำนาจในด้านการอุปถัมภ์คุ้มครองและแก้ปัญหาแก่พุทธศาสนา ไปแล้วก็ละเลยหลงลืมหน้าที่ประการที่สองที่สืบทอดมาโดยจารีตของพระมหากษัตริย์ไทย กล่าวคือ เมื่อตั้งรัฐบาลปกครองประเทศสืบต่อกันมาชุดแล้วชุดเล่าและมีการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา ในยุคแรกสุด อนุกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญระบุให้มีพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งอนาจักรสยามอยู่ด้วย แต่ถอดออกก่อนเข้าสู่สภา ตั้งแต่นั้นมาก็ไม่มีบรรจุพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ เป็นลายลักษณ์อักษรเลย ทั้ง ๆ ที่ "เป็นโดยจารีต" อยู่แล้ว รัฐธรรมนูญที่เขียนขึ้นเน้นแต่การปกครองประเทศ ละเลยหรือทำเป็นลืมหน้าที่ 2 คือการอุปถัมภ์พุทธศาสนา เมื่อเช่นนี้ พุทธศาสนาจึงไม่ได้รับการดูแลและแก้ไขปัญหาที่หมักหมมมานาน 

ศาสตราจารย์เสถียรพงษ์กล่าวว่า การปกครองที่สืบมาตั้งแต่คณะราษฎรนั้นมีความผิดพลาดคือไม่ได้ทำหน้าที่ทำนุบำรงพุทธศาสนาอันเป็นจารีตของการปกครองที่มีมาแต่อดีต ดังนั้นจึงถึงเวลาที่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญทั้งหลายจะบันทึกพุทธศาสนาเป็นศาสนาประชาติเป็นลายลักษณ์เสียที เพื่อช่วยแก้ความผิดพลาดดังกล่าว และช่วยให้รัฐบาลต่อ ๆ มาได้ทำหน้าที่ทั้งสองประการที่ยึดเอามาจากสถาบันกษัตริย์ให้สมบูรณ์ต่อไป นี่มิใช่เป็นการบัญญัติขึ้นใหม่ หากเพียงเขียนสิ่งที่มีอยู่ในแล้วจารึกลงให้ชัดเจนเท่านั้น ไม่ต้องไปอ้างว่ามีในหมวดว่าด้วยพระมหากษัตริย์เป็นพุทธมามกะอยู่แล้ว เพราะเป็นหมวดว่าด้วยภาระหน้าที่ส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์ ภาระหน้าที่ของพวกเราโดยเฉพาะรัฐบาลนั้นจะให้ตั้งหน้าตั้งตาแต่จะปกครอง โดยไม่คิดทำนุบำรุงพุทธศาสนาอันเป็นภารกิจที่สองของผู้ปกครองเลย ดูไม่น่าจะถูกต้อง

ในบทความ “ประโยชน์ที่พึงได้จากการเขียนพระพุทธศาสนาในรัฐธรรมนูญ” (คอลัมน์ รื่นร่มรมเยศ  ใน มติชน วันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 หน้า 7)  ศาสตราจารย์เสฐียรพงษ์ได้ให้ความสนใจต่อปัญหาที่ว่า เมื่อบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแล้วอาจจะเกิดการแตกแยกเกี่ยวกับพระศาสนา เพราะเมืองไทยมิใช่มีแต่พุทธศาสนา ทำไมต้องพุทธอย่างเดียว  และ "เอาศาสนาไปยุ่งกับการเมืองทำไม ต่างฝ่ายต่างอยู่ก็ดีแล้ว รัฐธรรมนูญประเทศไหน ๆ (ที่เขาเป็นประชาธิปไตย) ก็ไม่เอาศาสนามายุ่งกับการเมือง" ท่านแก้ต่างเรื่องนี้โดยอ้างคำพูดและแนวคิดของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ที่ท้วงติงและเขียนไว้ในที่ต่าง ๆ  พระพรหมคุณาภรณ์มองว่า “ความกลัว” ว่าพุทธศาสนาหรือพระสงฆ์จะยุ่งเกี่ยวกับการเมืองนั้นเป็นเรื่อง “ความรู้สึก” ของคนมีอำนาจแต่ไม่มีความรู้ ดังนั้นท่านจึงขอให้ทำความเข้าใจในเบื้องต้นว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องจะต้องพึ่งพา "ความรู้สึก" โดยเชื่อตามความรู้สึกของคนที่มีสถานะทางสังคมสูง มี authority สูง หากเป็นเรื่องที่ต้องใช้ "ความรู้" ความเข้าใจมาตัดสินกัน  เรื่องที่ควรเขียนว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทยหรือไม่เป็นเรื่องใหญ่ ต้องอาศัยความรู้เกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ ได้แก่ ความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ของชาติ ประวัติศาสนา บทบาทของพุทธศาสนากับสังคมไทย บทบาทและหน้าที่ของพระสงฆ์ต่อสังคมไทย และที่สำคัญคือ ต้องมีความรู้เกี่ยวกับภารกิจหรือหน้าที่ที่รัฐจะพึงดูแลคุ้มครองพุทธศาสนา ในกรณีศาสนาประจำชาตินั้นเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนา ก็จะต้องทำความเข้าใจว่า (1) หลักการของแต่ละศาสนาไม่เหมือนกัน (2) ประเพณีความสัมพันธ์ไม่เหมือนกัน

ตามความคิดของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) การแยกศาสนาออกจากรัฐในกรณีประเทศไทยนั้นไม่ถูกต้อง เพราะว่าหลักการของพุทธศาสนาและประเพณีความสัมพันธ์ของพุทธศาสนากับรัฐไทยไม่เหมือนกับศาสนาในประเทศตะวันตก โดยเฉพาะศาสนาคริสต์   ความคิดของท่านที่ปรากฏในหนังสือหรือข้อเขียนหลายชิ้นของท่านนับแต่ในบทสัมภาษณ์ “ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับพระพุทธศาสนาในรอบ 2 ศตวรรษ” ในหนังสือเรื่อง “พระพุทธศาสนาประจำชาติไทย” จัดพิมพ์เนื่องในงานสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาเพื่อเฉลิมฉลองวิสาขบูชา วันที่ 11-17 พฤษภาคม พ.ศ. 2527 (หน้า 29-48) หนังสือเรื่อง “ความสำคัญของพระพุทธศาสนาในฐานะศาสนาประจำชาติ” (พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) 2550) จัดพิมพ์เผยแพร่โดยมูลนิธิพระพุทธศาสนา รวมถึงในคำบรรยายพิเศษเมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระเทพเวทีเรื่อง “พุทธศาสนาในฐานะศาสนาประจำชาติไทย” ในการประชุมสัมมนาเรื่อง “จิตสำนึกของชาวพุทธเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในฐานะศาสนาประจำชาติ” จัดโดยสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยฯ ร่วมกับพุทธสมาคมแห่งประเทศไทยฯและสภายุวพุทธิกสมาคมแห่งชาติ ที่โรงแรมรอยัลริเวอร์ กรุงเทพฯ วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2537  ซึ่งล่าสุดสภาองค์กรพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทยได้นำมาจัดพิมพ์ใหม่ โดยเปลี่ยนชื่อเป็น “เจาะหาความจริงเรื่องศาสนาประจำชาติ” (พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : 2550) ล้วนแต่ให้ความคิดที่สำคัญที่ต่อมาชาวพุทธไทยได้ใช้เป็นรากฐานในการทำความเข้าใจเรื่อง “การแบ่งแยกรัฐกับศาสนา” ตลอดมา ศาสตราจารย์เสฐียรพงษ์ก็รับแนวคิดดังกล่าวมานำเสนอในบทความของตนเช่นกัน

ตามคำอธิบายของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) (ที่ศาสตราจารย์เสฐียรพงษ์อ้างถึงในบทความ “ประโยชน์ที่พึงได้จากการเขียนพระพุทธศาสนาในรัฐธรรมนูญ” นั้น)  การแยกรัฐกับศาสนาของชาวตะวันตกมีสาเหตุมาจากความหลังอันยาวไกล ตั้งแต่ยุโรปสมัยกลาง อำนาจทั้งหมดอยู่ภายใต้ศาสนจักรคาทอลิก ซึ่งมีสันตะปาปาเป็นประมุข เมื่ออำนาจมีมากการคอร์รัปชั่นก็ตามมา นี่คือความเป็นจริงในทุกสังคม ความเสื่อมเกิดขึ้นในศาสนจักร เสื่อมถึงขนาดมีการขายใบไถ่บาปกันขึ้น จึงเกิดบาทหลวงเยอรมัน (มาร์ติน ลูเธอร์) คัดค้านไม่เห็นด้วย เมื่อมีคนนำคัดค้านอำนาจอันสิทธิขาดนี้ รัฐต่างๆ ที่เคยยินยอมก็หันมาสนับสนุนลูเธอร์เพราะต้องการเป็นอิสระจากโป๊ป กระบวนการคัดค้านนี้จึงได้ชื่อว่า "Protestant"

ในช่วงเวลาดังกล่าว ที่ประเทศอังกฤษ พระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 ซึ่งไม่เห็นด้วยกับศาสนจักร ด้วยจุดประสงค์ส่วนตัวคือต้องการเปลี่ยนพระมเหสี จึงแยกตัวจากศาสนจักร ถือโอกาสตั้ง Church of England ขึ้น สถาปนาพระองค์เองเป็นประมุขศาสนา สิ้นพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 พระนางแมรีซึ่งนับถือคาทอลิกเคร่งครัด ขึ้นครองราชย์ ก็กวาดล้างพวกที่ต่อต้านทั้งหมดเป็นการใหญ่ พวกนี้ถูกฆ่า บ้างถูกเผาทั้งเป็นจำนวนมาก จึงต้องหลบหนีออกต่างประเทศ กลุ่มหนึ่งหนีไปฮอนลอนด์ อีกกลุ่มหนึ่งลงเรือไปขึ้นที่ "นิวอิงแลนด์" (ในปี ค.ศ.1620) พวกนี้มีปมในใจที่ถูกเบียดเบียนทางศาสนา จึงต้องหนีภัยทางศาสนามาหาอิสรภาพ (freedom) ซึ่งเป็นแกนสำคัญในการก่อตั้งประเทศอเมริกา ด้วยภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ดังกล่าวนี้ ฝรั่ง (โดยเฉพาะอเมริกา) จึงรังเกียจที่จะให้ศาสนามาเกี่ยวข้องกับการปกครองประเทศ จึงแยกรัฐออกจากศาสนา (Separation of Church and State) จึงมีกฎหมาย ห้ามสอนศาสนาในระบบโรงเรียน ในทัศนะของพระพรหมคุณาภรณ์ซึ่งศาสตราจารย์เสฐียรพงษ์นำมาอ้างนั้น การปฏิเสธศาสนาอันเป็นรากฐานของศีลธรรมจริยธรรมมาเป็นหลักในการพัฒนาประเทศ ทำให้สังคมตะวันตกโดยเฉพาะอเมริกาประสบปัญหาทางศีลธรรมมากมายที่สังคมไทยไม่ควรเอาเป็นตัวอย่าง เพราะเมื่อปฏิเสธศาสนาก็ต้องคิดค้น "จริยธรรม" ขึ้นมาใหม่ อันเรียกว่า "จริยธรรมสากล" ซึ่งไม่เกี่ยวกับการหล่อหลอมพฤติกรรมของมนุษย์แต่อย่างใด เป็นเพียงทฤษฎีว่าด้วยความดี ความชั่ว มาตรฐานตัดสินดีชั่ว ซึ่งเป็นแค่ทฤษฎีอย่างหนึ่งเท่านั้น สังคมที่ปฏิเสธศีลธรรมจริยธรรมทางศาสนา จึงไม่สามารถสร้างความดีงามขึ้นมาได้ 

เมื่อหันมาสำรวจลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างพุทธศาสนากับรัฐไทย ศาสตราจารย์เสฐียรพงษ์ยืนยันว่า “ไม่ว่าใช้สมองซีกไหนไตร่ตรองก็ตอบได้ทันที” ว่าไม่ได้เป็นแบบเดียวกับที่เกิดขึ้นในประเทศตะวันตก เพราะเวลาพระบวชเข้ามา ท่านต้องสละบ้านเรือน สละอาชีพที่ทำอยู่ รวมถึงสละกิจการทางบ้านเมืองทุกอย่าง กฎหมายบ้านเมืองยังได้นำประเพณีนี้มาบัญญัติไว้ โดยเขียนว่า นักบวช นักพรตไม่มีสิทธิในการลงคะแนนเลือกตั้ง โดยโครงสร้างของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับพระศาสนา พระสงฆ์ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองการปกครองโดยตรงอยู่แล้ว ท่านบวชมาศึกษา ปฏิบัติ เมื่อปฏิบัติได้ผลมากน้อยตามความสามารถแล้ว ก็เผยแผ่พระธรรม สั่งสอนประชาชน นั้นคือหน้าที่หลักของพระสงฆ์ ดังที่ตรัสไว้ในมหาปรินิพพานสูตรว่า "พระสงฆ์จะต้องศึกษา-ปฏิบัติสัมผัสผล-เผยแผ่-แก้ปัญหา"

โดยดำเนินตามแนวคิดของพระพรหมคุณาภรณ์ ศาสตราจารย์เสถียรพงษ์ชี้ว่า ฝ่ายรัฐ (สมัยราชาธิปไตย) ก็มีหน้าที่ในการ (1) "ปกครองประเทศ" ให้เจริญรุ่งเรือง ร่มเย็นเป็นสุข โดยอาศัยหลักธรรมทางพุทธศาสนามาประยุกต์ใช้ในปกครองประเทศ (โดยเฉพาะทศพิธราชธรรม) (2) อุปถัมภ์คุ้มครองพระพุทธศาสนา รวมถึงช่วยศาสนจักรแก้ปัญหาใหญ่ๆ ที่เกิดขึ้นอันเกินความสามารถของพระสงฆ์จะจัดการได้  เช่น ในสมัยกรุงธนบุรี การพระศาสนาเสื่อมโทรมมากถึงขนาดพระสงฆ์ตั้งก๊กมีจุดมุ่งหมายทางการเมือง พระเจ้าตากสินมหาราชก็ทรงยื่นมือเข้ามาช่วย ปราบก๊กเจ้าพระฝางลงแล้ว ยังส่งพระสงฆ์จากส่วนกลางไปฟื้นฟูพระศาสนา หรือในสมัยอยุธยา สมัยพระนารายณ์มหาราช เกิดกรณีพระเพทราชากับพระเจ้าเสือนำกองทัพล้อมวัง พระองค์ทรงเป็นห่วงข้าราชบริพารที่จงรักภักดีจะเป็นอันตราย จึงให้นิมนต์พระสงฆ์เข้ามาอุปสมบทแก่เหล่าอำมาตย์และข้าราชบริพารในพระราชวัง เมื่อบวชเป็นพระแล้ว ก็ตัดขาดจากทางบ้านเมืองไป ได้รับความคุ้มครอง อำนาจรัฐก็ไม่สามารถเอื้อมไปถึง ตัวอย่างเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับพุทธศาสนา มิได้เหมือนประเทศใด ๆ ถ้าจะเรียกว่าเป็น separation of Church and State ก็เป็นความสัมพันธ์แบบ positive Separation มากกว่า negative Separation คือไม่มีความขัดแย้งกันระหว่างพระศาสนากับรัฐ เนื่องจากต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ของตนสอดประสานสัมพันธ์กันเพื่อความมั่นคงของรัฐ และความเจริญรุ่งเรืองของพระศาสนา ความสัมพันธ์แบบนี้พระพุทธองค์ตรัสเรียกว่า "อัญโญญนิสสิตา" (รัฐและพระศาสนาพึงอาศัยกันและกันตามหน้าที่ของตน) ไม่ใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแทรกแซงอีกฝ่ายหนึ่ง และเพราะความเข้าใจลึกซึ้งอย่างนี้ พระมหากษัตริย์ในอดีตทุกพระองค์ จึงทรงประกาศพระปฐมบรมราชโองการก่อนขึ้นครองราชย์ เช่น รัชกาลที่ 1 ทรงประกาศว่า “ตั้งใจจะอุปถัมภก ยอยกพระพุทธศาสนา  ป้องกันขอบขัณฑสีมา รักษาประชาชนและมนตรี” โดยบรรทัดแรกนั้น พระองค์ตรัสถึงการอุปภัมภ์คุ้มครองพุทธศาสนา อันเป็นหน้าที่หลักของพระมหากษัตริย์อย่างหนึ่ง  บรรทัดสองตรัสถึงหน้าที่หลักอีกประการหนึ่งคือการปกครองประเทศชาติและประชาชน

ด้วยหลักเหตุผลดังกล่าว การบัญญัติพระพุทธศาสนาไว้ในรัฐธรรมนูญ ไม่มีเหตุผลที่ต้องกลัวว่าพระสงฆ์หรือพระพุทธศาสนาจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง เพราะประเพณีความสัมพันธ์ระหว่างพุทธศาสนากับรัฐไทยนั้นแตกต่างจากศาสนาอื่น พระศาสนาและพระสงฆ์ไม่มีทางยุ่งเกี่ยวกับการเมืองแน่นอน เพราะเป็นความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลกัน ต่างคนต่างทำหน้าที่สอดประสานกัน เพื่อเป้าหมายคือความเจริญรุ่งเรืองแห่งชาติและพระศาสนา ควรคำนึงว่า ข้อสรุปของศาสตราจารย์เสฐียรพงษ์ที่ว่ามานี้ ล้วนอิงอาศัยแนวความคิดของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) เป็นฐาน อาจกล่าวได้ว่าข้ออ้างนี้อาศัยแนวคิดเรื่องความแตกต่างทางวัฒนธรรมศาสนาเป็นข้อสนับสนุน

ทัศนะที่จะกล่าวถึงต่อไป ได้แก่ ทัศนะของพระธรรมโกศาจารย์ (ดร.พระมหาประยูร ธมฺมจิตฺโต) อธิการบดีมหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยสงฆ์ (ฝ่ายมหานิกาย) ผู้มีบทบาทสูงในการดำเนินการเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างพุทธศาสนาต่างนิกายทั่วโลกตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทั้งดำรงฐานะผู้ปกครองระดับสูงของคณะสงฆ์ไทยควบคู่กันไปด้วย

พระธรรมโกศาจารย์ (ดร.พระมหาประยูร ธมฺมจิตฺโต) กล่าวไว้ในบทความเรื่อง “ศาสนาประจำชาติไทย” ที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ (4 พฤษภาคม 2550) ว่า การบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติเป็นเรื่องที่ไม่สามารถจะโต้แย้งได้ ท่านมองว่า การที่ร่างรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ในมาตรา 9 ว่า "พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะและทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก" นั้นไม่พอที่จะรับประกันว่า “พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ” เราจึงต้องมีการบัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย ท่านชี้ว่า คำว่า “ศาสนาแห่งชาติ” (National Religion) กับคำว่า “ศาสนาประจำชาติ” (State Religion) มีความหมายต่างกัน  “คำว่า ศาสนาแห่งชาติ หมายถึง ศาสนา ที่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศนั้นๆ นับถือ ซึ่งรวมทั้งประมุขหรือพระประมุขของประเทศนั้นก็นับถือด้วย คำว่า ศาสนาประจำชาติ หมายถึง ศาสนาที่ทางราชการในประเทศนั้นๆ รับรองให้ความสำคัญสูงสุด ด้วยการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ดังเช่น รัฐธรรมนูญของอัฟกานิสถาน บัญญัติให้ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติ รัฐธรรมนูญของพม่า บัญญัติให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ”  ดังนั้น

เมื่อว่าโดยพฤตินัย พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งชาติไทย  เพราะมีคนไทยส่วนใหญ่นับถือมาตั้งแต่เริ่มสถาปนารัฐไทยในสมัยกรุงสุโขทัย และพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ก็ทรงเป็นพุทธมามกะ แต่เมื่อว่าโดยนิตินัย พระพุทธศาสนายังไม่เป็นศาสนาประจำชาติไทย เพราะยังไม่มีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475 

พระธรรมโกศาจารย์มองเช่นเดียวกับศาสตราจารย์เสฐียรพงษ์ว่า การบัญญัติพุทธศาสนาประจำชาติไทยไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นการดำรง “จารีต” ของพระมหากษัติรย์ไทยในอดีตให้สืบเนื่องต่อมา  ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ การที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ ถือว่าเป็นการรับรองพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทยอยู่ในตัว ตามหลักการแต่โบราณที่ว่า "ศาสนาประจำชาติเป็นไปตามศาสนาของผู้ปกครอง (Whose rule, his religion)" ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา ความเป็นศาสนาประจำชาติของพระพุทธศาสนาควรมีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือว่าเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ทั้งนี้ “ก็เพื่อให้ความเป็นศาสนาประจำชาตินี้ ได้รับการสืบทอดอย่างเป็นทางการมาจากสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั่นเอง” ตามความเห็นของท่าน สถาบันหลักของสังคมไทย 2 สถาบันได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว กล่าวคือ สถาบันชาติได้รับการกล่าวถึงในมาตรา 1 แห่งร่างรัฐธรรมนูญว่า"ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้" ส่วนสถาบันพระมหากษัตริย์ได้รับการบัญญัติไว้ในมาตรา 2 ว่า "ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"  แต่สถาบันศาสนายังไม่มีการรับรองไว้ ชาวพุทธจึงเรียกร้องให้เพิ่มอีก 1 มาตราที่บัญญัติเกี่ยวกับสถาบันพุทธศาสนาไว้ในร่างรัฐธรรมนูญว่า "ประเทศไทยมีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ" หรือจะเพิ่มข้อความเข้าในมาตรา 2 ว่า "ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ" ก็ได้ ถ้ามีการบัญญัติเช่นว่านี้ “พระพุทธศาสนาซึ่งเคยเป็นศาสนาประจำชาติไทยในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก็ชื่อว่าได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการให้เป็นศาสนาประจำชาติไทยต่อไป และจะได้ไม่ต้องมีใครมาโต้แย้งว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติหรือไม่” ตามความคิดของท่าน สถาบันหลักที่สามของรัฐไทย คือพุทธศาสนา ควรได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการด้วยเช่นกัน

พระธรรมโกศาจารย์ อ้างกรณีที่เป็นเหตุให้จำเป็นต้องบัญญัติพุทธศาสนาประจำชาติไทยไว้ในรัฐธรรมนูญว่า เนื่องมาจากกรณีที่เกิดขึ้นในการปรับปรุงหลักสูตรพุทธศาสนาในโรงเรียน เมื่อมีการปรับปรุงหลักสูตรพุทธศาสนาในโรงเรียนแล้ว นักวิชาการชาวพุทธเขียนลงในหนังสือแบบเรียนว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ นักวิชาการต่างศาสนาได้ส่งหนังสือทักท้วงไปที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้ถอดข้อความที่ว่านั้นออกจากแบบเรียนโดยให้เหตุผลว่า เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ  แต่เรื่องนี้ได้ยุติลงในที่สุด เมื่อนักวิชาการชาวพุทธอ้างพระราชนิพนธ์หรือพระราชดำรัสของพระมหากษัตริย์ไทย กล่าวคือ พระบาทสมเด็จพระปิยมหาราช รัชกาลที่ 5 ที่ทรงประกาศไว้ว่า "ข้าพเจ้าย่อมรู้สึกว่า เป็นหน้าที่ของข้าพเจ้าที่จะต้องทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นสิ่งคู่กับพระราชอาณาจักร ให้ดำเนินไปในทางวัฒนาถาวรพร้อมกันทั้งสองฝ่าย"   พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ที่ทรงประกาศว่า "ถ้าข้าพเจ้าจะขอแก่ท่านทั้งหลายว่า พุทธศาสนาเป็นของไทย เรามาชวนกันนับถือพระพุทธศาสนาเถิด... เพราะเหตุฉะนั้น เป็นความจำเป็นที่เราทั้งหลาย ผู้เป็นไทยจะต้องมั่นอยู่ในศาสนาพระพุทธ ซึ่งเป็นศาสนาสำหรับชาติเรา..." และพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบันที่ว่า "เมื่อข้าพเจ้ามีโอกาสไปเยือนสำนักวาติกัน เมื่อปีคริสต์ศักราช 1870 สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอล ที่ 2 ตรัสถามถึงคนไทยนับถือศาสนามากน้อยเพียงใด ข้าพเจ้าทูลตอบว่า คนไทยเป็นศาสนิกชนที่ดีทั่วกัน ส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนา อันเป็นศาสนาประจำชาติ" ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้

การที่ชาวพุทธเรียกร้องให้มีการบัญญัติว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไว้ในรัฐธรรมนูญ ก็เพื่อให้มีการรับรองสถานะของพระพุทธศาสนาที่เป็นศาสนาแห่งชาติอยู่แล้วโดยพฤตินัยนั้น ให้เป็นศาสนาประจำชาติโดยนิตินัยอย่างชนิดที่ไม่อาจมีใครโต้แย้งได้ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต

ข้ออ้างดังกล่าวนี้ไม่เพียงแต่จะบอกว่าจำเป็นต้องบัญญัติไว้เท่านั้น แต่ยังมีนัยบ่งชี้ด้วยว่าการบัญญัติพุทธศาสนาประจำชาติไว้ในรัฐธรรมนูญนั้นเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ สำหรับพระธรรมโกศาจารย์ การบัญญัติศาสนาประจำชาติไว้ในรัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องแปลก  เพราะในโลกปัจจุบัน มีประเทศที่ประกาศอย่างเป็นทางการไว้ในรัฐธรรมนูญว่า มีศาสนาคริสต์เป็นศาสนาประจำชาติ จำนวนกว่า 15 ประเทศ ตัวอย่างเช่น รัฐธรรมนูญของประเทศเดนมาร์กบัญญัติว่า "ศาสนาคริสต์ลูเธอแรนเป็นศาสนาประจำชาติเดนมาร์กที่จะต้องได้รับการอุปถัมภ์จากรัฐ" รัฐธรรมนูญของประเทศกรีซบัญญัติว่า "ศาสนาสำคัญในประเทศกรีซคือศาสนาคริสต์ออร์ธอดอกซ์ตะวันออก... พระคัมภีร์ไบเบิ้ลอันศักดิ์สิทธิ์ต้องได้รับการอนุรักษ์ไว้โดยไม่มีการดัดแปลง"  ประเทศที่ประกาศอย่างเป็นทางการไว้ในรัฐธรรมนูญว่า มีศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติ มีจำนวน 30 ประเทศ ตัวอย่างเช่น รัฐธรรมนูญฃองประเทศมาเลเซีย บัญญัติว่า "อิสลามเป็นศาสนาแห่งสหพันธรัฐมาเลเซีย แต่ก็อาจปฏิบัติศาสนาอื่นได้ด้วยสันติและสามัคคีในทุกส่วนของสหพันธรัฐ" รัฐธรรมนูญของประเทศอัฟกานิสถานบัญญัติว่า "ศาสนาอิสลามที่ศักดิ์สิทธิ์เป็นศาสนาแห่งอัฟกานิสถาน ในสาธารณรัฐอัฟกานิสถานจะไม่มีกฎหมายใดขัดแย้งกับหลักการของศาสนาอิสลามที่ศักดิ์สิทธิ์" ส่วนประเทศที่ประกาศไว้ในรัฐธรรมนูญว่า มีพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติมีเพียง 4 ประเทศเท่านั้น คือ ศรีลังกา พม่า กัมพูชา ภูฎาน ตัวอย่างเช่น รัฐธรรมนูญของประเทศศรีลังกาบัญญัติว่า "สาธารณรัฐศรีลังกายกพระพุทธศาสนาไว้ในสถานะสำคัญสูงสุดและถือเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนา และในขณะเดียวกันก็ประกันสิทธิของทุกศาสนาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 10 และ 14" รัฐธรรมนูญของประเทศภูฎาน บัญญัติว่า "พระพุทธศาสนาเป็นมรดกทางจิตใจของภูฎาน ซึ่งส่งเสริมหลักการและค่านิยมแห่งสันติ อหิงสา กรุณาและขันติ" สำหรับท่านแล้ว เป็นเรื่องน่าแปลกที่ประเทศไทยซึ่งมีพุทธศาสนาเป็นรากฐานของวัฒนธรรมไทย มีสำนักงานใหญ่ขององค์การพุทธศานิกสัมพันธ์แห่งโลกตั้งอยู่เป็นการถาวรมาตั้งแต่ พ.ศ. 2512 และมีพุทธมณฑล ที่ชาวพุทธทั่วโลกยอมรับว่าเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาของโลกตั้งแต่ พ.ศ. 2548  แต่ไม่มีการบัญญัติในรัฐธรรมนูญให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ

ส่วนกรณีที่หลายคนแสดงความห่วงใยว่า การที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติจะเป็นเหตุให้ชาวไทยต่างศาสนาถูกกดขี่กีดกันทางศาสนา หรืออาจเป็นชนวนยั่วยุให้ความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ลุกโชนยิ่งขึ้น  ท่านพระธรรมโกศาจารย์แย้งโดยอ้างข้อมูลจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ว่า ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ไม่ได้เกิดจากความขัดแย้งของผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนาและศาสนาอิสลาม แต่เป็นการสร้างความวุ่นวายและก่อการร้ายของกลุ่มที่ไม่มีศาสนาที่ต้องการแบ่งแยกดินแดน และทางคมช.จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า ไม่ขัดข้อง หากจะบัญญัติพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไว้ในรัฐธรรมนูญ

ส่วนประเด็นที่มองว่า ชาวไทยที่นับถือศาสนาอื่นอาจถูกกีดกันหรือกดขี่ทางศาสนานั้น เกิดจากความหวาดระแวงว่า การบัญญัติให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไว้ในรัฐธรรมนูญจะนำไปสู่การบังคับให้คนไทยต้องนับถือแต่พุทธศาสนา และจะมีการกีดกันกดขี่ศาสนาอื่นไปพร้อมกัน   ท่านยอมรับว่า ในบางประเทศมีการกีดกันทางศาสนาจริง เช่น ในเดือนมีนาคม 2549 นายอับดุล ราห์มัน ชาวอัฟกานิสถานถูกจับข้อหาเลิกนับถือศาสนาอิสลามและหันไปนับถือศาสนาคริสต์ ถ้ามีการพิสูจน์ได้ว่าเปลี่ยนศาสนาจริง เขาจะถูกศาลพิพากษาประหารชีวิต คดีนี้โด่งดังไปทั่วโลกเมื่อผู้นำประเทศมหาอำนาจได้กดดันรัฐบาลอัฟกานิสถานเพื่อไม่ให้ประหารชีวิตชายคนนี้ ส่วนในประเทศมาเลเซีย เมื่อพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาเดินทางเข้าไปในประเทศมาเลเซียซึ่งมีศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติ ก็ถูกห้ามมิให้เผยแผ่พระพุทธศาสนาแก่ภูมิบุตรคือชาวมาเลเซียมุสลิม มิฉะนั้น จะมีความผิดตามกฎหมาย และในประเทศพม่าซึ่งมีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติได้มีนโยบายกีดกันไม่ให้คนที่นับถือศาสนาอื่นซึ่งรับราชการทหารมียศสูงกว่าพันเอก แต่พระธรรมโกศาจารย์เห็นว่าพุทธศาสนาในประเทศไทยนั้นแตกต่างจากที่กล่าวมา นับตั้งแต่โบราณมาเป็นศาสนาที่ประนีประนอมกับศาสนาอื่นมาโดยตลอด โดยไม่เคยมีการบังคับให้คนไทยต้องนับถือแต่พุทธศาสนา และไม่เคยมีการกีดกันศาสนาอื่นไม่ให้เผยแผ่ในประเทศไทย ทั้งไม่เคยกีดกันคนไทยที่นับถือศาสนาอื่นไม่ให้เจริญก้าวหน้าในสังคมไทย ศาสนิกชนแห่งศาสนาอื่นสามารถดำรงตำแหน่งสำคัญในคณะรัฐบาล เป็นประธานรัฐสภาและเป็นผู้บัญชาการเหล่าทัพ เป็นต้น  และเพื่อเป็นหลักประกันว่าจะไม่มีการกีดกันหรือกดขี่ทางศาสนาเกิดขึ้นในสังคมไทย รัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมาและร่างรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดก็ได้บัญญัติเรื่องการคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาคในสังคมไทยไว้ เช่น มาตรา 30 บัญญัติว่า “บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล เพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรมหรือความคิดเห็นทางการเมือง อันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ จะกระทำมิได้” หรือ มาตรา 37 วรรค 1 บัญญัติไว้ว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการถือศาสนา นิกายของศาสนา หรือลัทธินิยมในทางศาสนา และย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติตามศาสนธรรม ศาสนบัญญัติ หรือปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อถือของตน เมื่อไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของพลเมืองและไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน” และวรรค 2 ก็บัญญัติไว้ว่า “ในการใช้เสรีภาพดังกล่าวตามวรรคหนึ่ง บุคคลย่อมได้รับความคุ้มครองมิให้รัฐกระทำการใด ๆ อันเป็นการรอนสิทธิหรือเสียประโยชน์อันควรมีควรได้ เพราะเหตุที่ถือศาสนา นิกายของศาสนา ลัทธินิยมในทางศาสนา หรือปฏิบัติตามศาสนธรรม ศาสนบัญญัติ หรือปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อถือแตกต่างจากบุคคลอื่น"

สำหรับพระธรรมโกศาจารย์ การที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้เช่นนี้ย่อมแสดงว่า ชาวพุทธไม่ต้องการให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติแบบผูกขาด ชนิดไม่มีคู่แข่งจริง ๆ เพราะถ้าต้องการเช่นนั้น ชาวพุทธก็คงต้องเรียกร้องให้ตัดมาตรา 30 และมาตรา 37 ออกจากร่างรัฐธรรมนูญอีกด้วย แต่ในความเป็นจริงชาวพุทธต้องการให้คงมาตราทั้งสองไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้เพราะพุทธศาสนาสอนให้คนไทยใจกว้างและรักสันติ  เมื่อศาสนิกชนแห่งศาสนาอื่นได้อ่านพบมาตราทั้งสองนี้แล้วก็จะเกิดความอุ่นใจว่าสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคทางศาสนาของพวกเขาไม่ได้ถูกริดรอนไปแต่อย่างใด และถ้าจะให้ความอุ่นใจแก่ศาสนิกชนของศาสนาอื่นก็ควรเพิ่มข้อความเกี่ยวกับศาสนาอื่นไว้ในมาตราเดียวกัน ตามแบบอย่างรัฐธรรมนูญของเดนมาร์กและมาเลเซียว่า "พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติของประเทศไทย รัฐต้องให้ความอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น"  เมื่อมีการกล่าวถึงพุทธศาสนาและศาสนาอื่นไว้ในรัฐธรรมนูญมาตราเดียวกันอย่างนี้ แม้รัฐธรรมนูญจะบัญญัติให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติของประเทศไทย ก็จะไม่มีอะไรไปรอนสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคทางศาสนาของศาสนิกชนในศาสนาอื่น 

ขณะที่พระธรรมโกศาจารย์มองว่า การบัญญัติพุทธศาสนาประจำชาติไว้ในรัฐธรรมนูญมีความจำเป็น เพราะการยกสถานภาพของพุทธศาสนาในฐานะที่เคยศาสนาแห่งชาติ ขึ้นเป็นศาสนาประจำชาติอย่างถูกต้องตามกฎหมายนั้น นอกจากเป็นการสืบทอดแบบแผนประเพณีแห่งพระมหากษัตริย์ในอดีตและปัจจุบันแล้ว ยังเป็นเครื่องยืนยันให้ศาสนิกชนในศาสนาอื่น ๆ ยอมรับอย่างเป็นทางการว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทย   นักประวัติศาสตร์ไทยระดับแถวหน้าที่ศึกษาพุทธศาสนาในสังคมไทยมาไม่น้อยกลับมองต่างออกไป ในบทความ “ศาสนาประจำประชาชาติ” (มติชน ฉบับวันที่ 02 เมษายน พ.ศ. 2550 หน้า 7) นิธิกล่าวว่าการเรียกร้องให้บัญญัติศาสนาประจำชาติไว้ในรัฐธรรมนูญนั้น ไม่จำเป็นสำหรับการทำให้สังคมพุทธดีขึ้น และที่สำคัญก็คือ การบัญญัติเช่นนั้นไม่สอดคล้องกับหลักการของรัฐประชาชาติสมัยใหม่ นิธิชี้ว่าระหว่างการชี้นำให้ประชาชนได้ปลอดพ้นจากความทุกข์ต่าง ๆ ที่รุมเร้าจากการมีชีวิตท่ามกลางสภาวะแวดล้อมสังคมสมัยใหม่กับการมีพุทธศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญ สิ่งใดจะเป็นประโยชน์กว่ากัน ตัวอย่างเช่น หากมีคนเป็นจำนวนมากตกเป็นเหยื่อของความเครียด ทำร้ายทั้งตนเองและผู้อื่นเพราะขาดสติ นับตั้งแต่เสพสุราแก้กลุ้มไปจนถึงบั่นทอนความสัมพันธ์ที่ดีอันเคยมีกับคนรอบข้าง นอนไม่หลับระบบขับถ่ายไม่ทำงาน กินข้าวไม่ลง สุขภาพเสื่อมโทรม หรือจนถึงที่สุดบางคนก็เสียสติ นับจำนวนคนที่ตกเป็นเหยื่อของความเครียดเช่นนี้ได้เป็นล้าน กระจายไปยังคนสถานภาพต่างๆ ตั้งแต่สูงสุดถึงต่ำสุด  ถ้าชาติของเรามีพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร สำหรับนิธิ  การเป็นหรือไม่เป็นศาสนาประจำชาติ พุทธศาสนาก็ได้ช่วยทำให้คนไทยในอดีตเผชิญปัญหาชีวิตอย่างรู้เท่าทันในระดับหนึ่งมานาน เช่น เพราะยอมรับว่าธรรมดาของชีวิตย่อมเป็นทุกข์ หาความเที่ยงแท้แน่นอนกับอะไรไม่ได้ จึงไม่ยึดมั่นถือมั่นกับอะไรจนเกินไป จึงแก้ทุกข์ได้ด้วยการ "ปลง" มากกว่าเหล้า, ยาเสพติด, หรืออะไรอื่นที่อยู่ภายนอก  แต่ชีวิตในโลกสมัยปัจจุบัน ซึ่งแยกผู้คนออกจากสายสัมพันธ์ที่เคยมีมาในอดีต ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว, เครือญาติ, หรือชุมชน เพิ่มความเครียดให้แก่ปัจเจกมากขึ้น ถ้าท่าทีต่อชีวิตของคนไทยไม่ใช่ท่าทีแบบพุทธศาสนา ก็จะมีคนเครียดที่ทำร้ายตนเองและผู้อื่นเพิ่มมากขึ้นอย่างเหลือคณานับ สำหรับนิธิ การช่วยให้ประชาชนมีท่าทีต่อชีวิตอย่างชาวพุทธเหมือนที่พุทธศาสนาเคยมีบทบาทในอดีตนั้น สำคัญกว่าการเป็นศาสนาประจำชาติ แต่สถานะของพุทธศาสนาในประเทศไทยปัจจุบันนั้นอยู่ในขั้นวิกฤต แต่ไม่ใช่เพราะมีศาสนาอื่นมาแข่งขัน หากเป็นเพราะคนที่ประกาศตนเป็นพุทธมามกะเองไม่ได้ใช้ประโยชน์จากพุทธธรรมในชีวิตของตน แม้ว่าอาจทรงจำหมวดธรรมข้อต่างๆ ไว้ได้มากจากวิชาศีลธรรมที่บังคับให้เรียนในโรงเรียนมา แต่ในชีวิตจริง พุทธศาสนาเหลือแต่พิธีกรรม นับตั้งแต่ตักบาตร, รดน้ำมนต์, ขอพรจากสัญลักษณ์ของศาสนาเช่นพระภิกษุ, พระพุทธรูป หรือเครื่องรางของขลังนอกพระศาสนาซึ่งพระภิกษุร่วมผลิตเชิงพาณิชย์ป้อนตลาดที่งมงายอยู่ตลอดเวลา หลักการข้อสำคัญสุดของพุทธศาสนาซึ่งทำให้พุทธศาสนาแตกต่างจากศาสนาอื่นๆ ก็คือ "ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน"  แต่สิ่งที่คนไทยผู้ประกาศตัวเป็นชาวพุทธยึดถือและปฏิบัติแพร่หลายที่สุดในปัจจุบัน คือการขอพึ่งสิ่งภายนอกทั้งหลาย นับตั้งแต่ต้นไม้ประหลาด, เหรียญหลวงพ่อ "เสด็จพ่อ" ไปจนถึงจตุคามรามเทพ สำหรับนิธิ  ระหว่างการมีพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติกับการส่งเสริมให้ประชาชนมีท่าทีต่อชีวิตที่ไม่ยึดมั่นกับอัตตาของตนเองอย่างมืดบอด อย่างหลังน่าจะทำให้สังคมไทยเป็น "พุทธ" มากกว่า เพราะแท้จริงแล้ว ความเป็น "พุทธ" ไม่ได้หมายถึงผ้าเหลือง, ธรรมจักร, วัด, หรืออื่นใดทั้งสิ้น แต่หมายถึงท่าทีต่อชีวิตที่เห็นว่า "สิ่งทั้งหลายทั้งปวงย่อมว่างเปล่า ไม่พึงยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใด"

ตามความเห็นของนิธิ ถ้าหากผู้เรียกร้องมีวัตถุประสงค์หลักอยู่ที่ต้องการให้รับสนับสนุนในเรื่องต่าง ๆ เช่น ปฏิรูปการศึกษาพระสงฆ์ ลงทุนกับสื่อให้ผลิตรายการเผยแพร่พุทธศาสนาที่มีคุณภาพ และเหมาะกับผู้รับต่างวัยต่างสถานภาพ สร้างสถาบันการศึกษาพุทธศาสนาที่มีคุณภาพระดับโลก ปฏิรูปการปกครองคณะสงฆ์เพื่อคืนวัดและพระให้แก่ประชาชน และอื่น ๆ อีกมากมายที่รัฐน่าจะทำให้แก่พุทธศาสนาและองค์กรพุทธศาสนา ก็ไม่แน่ว่ารัฐจะเป็นพลังผลักดันที่ดีในการพัฒนาและนำเอาพุทธศาสนากลับมาสู่สังคมไทย เพราะความเสื่อมโทรมที่เกิดกับพุทธศาสนาซึ่งเห็นได้ในวันนี้ ล้วนเกิดขึ้นท่ามกลางการสนับสนุนของรัฐไทยทั้งสิ้น นิธิมีความเห็นว่าพุทธศาสนาที่ได้รับการกำกับจากรัฐ (แทนที่จะเป็นสังคม) มีแต่จะทำให้พุทธศาสนาเสื่อมคลายความนับถือลง ดังจะเห็นว่าในยุคสมัยที่รัฐไม่มีกำลังพอจะอุปถัมภ์พุทธศาสนาได้มากนัก สังคมจะเป็นผู้กำกับควบคุมองค์กรศาสนามากกว่า ทุกคนยอมรับว่าพุทธศาสนาในเมืองไทยสมัยนั้น เป็นส่วนที่แยกไม่ออกจากชีวิตและความคิดของคนไทย แต่ในสมัยหลัง เมื่อรัฐมีกำลังมากขึ้นทั้งในการอุปถัมภ์และควบคุม พุทธศาสนากลับยิ่งห่างจากคนไทยไปจนแทบ "ไม่บอกไม่รู้" ว่าเป็นชาวพุทธ ดังนั้น แทนที่จะคิดถึงรัฐ หากเราคิดถึงสังคมไทย จะให้สังคมไทยเข้ามาเป็นผู้อุปถัมภ์และควบคุมองค์กรมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่เวลานี้ น่าจะเพิ่มพลังของพุทธศาสนาในด้านกล่อมเกลาจิตใจของคนไทยมากกว่า และถ้าต้องการสังคม ความเป็นศาสนาประจำชาติก็ไม่เกี่ยวอะไร อย่างที่ไม่เกี่ยวตลอดมานับตั้งแต่เรารับนับถือพุทธศาสนาเมื่อกว่าพันปีมาแล้ว จนเมื่อร้อยกว่าปีมานี้เอง

แนวความคิดของนิธิ เอียวศรีวงศ์ สอดคล้องกับแนวคิดของพระไพศาล วิสาโล [รายงานพิเศษ “วันนี้. . .พุทธศาสนาไม่ได้อยู่ในใจของผู้คน?” เนชั่นสุดสัปดาห์ ปีที่ 15ฉบับที่ 779 วันที่ 4 พฤษภาคม 2550 หน้า 20-21] ที่มองไม่เห็นความจำเป็นในการที่จะให้รัฐเข้ามาเป็นเจ้าภาพในการฟื้นฟูพุทธศาสนาในสังคมไทย เพราะรัฐทำอะไรไม่ได้ หากชาวพุทธเองมองไม่เห็นความสำคัญและลงมือปฏิบัติด้วยตนเองอย่างจริงจัง พระไพศาลมองว่า ถ้าหากครอบครัว ชุมชน พระสงฆ์ทำหน้าที่ของตนอย่างถูกต้อง รัฐก็ไม่มีความจำเป็นใด ๆ สำหรับการฟื้นฟูพุทธศาสนาหรือการสร้างความมั่นคงของพุทธศาสนาในสังคมไทย

อีกประเด็นหนึ่ง นิธิได้ชี้ให้ตระหนักว่า การบัญญัติศาสนาประจำชาติไว้ในรัฐธรรมนูญนั้น โดยหลักการแล้วไม่อาจทำได้ เพราะความหมายของรัฐไทยได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่รัฐไทยอาจไม่ใช่รัฐโลกียวิสัย (secular state) เหมือนรัฐตะวันตก แต่ก็ได้กลายเป็นรัฐโลกียวิสัยไปอย่างช้าๆ มาเกือบสองศตวรรษแล้ว และทันทีที่เราปลูกฝังสำนึกว่ารัฐของเราคือรัฐประชาชาติ สิ่งที่เราต้องทำคือต้องเปิดพื้นที่ทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมอันเท่าเทียมเสมอภาคให้แก่ความหลากหลายทางศาสนา ชาติพันธุ์ และกลุ่มทางเศรษฐกิจ ทุกคนเป็นเจ้าของประชาชาติไทยเท่าๆ กัน ขออย่ามีใครบนผืนแผ่นดินของ "ชาติ" เรา จะต้องรู้สึกว่าเขาเป็นแค่พลเมืองชั้นสอง เพราะเขาพูดภาษาที่ต่างจากภาษาไทย, นับถือศาสนาอื่นที่ไม่ใช่พุทธ, ทำมาหากินด้วยวิถีทางที่แตกต่างจากคนอื่น, มีบรรพบุรุษและวีรบุรุษคนละคนกับคนอื่น ฯลฯ นิธิกล่าวว่า หากเราไม่สามารถยอมรับพื้นที่อันเท่าเทียมกันของพลเมืองในรัฐได้ แปลว่าเราเองก็ไม่สามารถเป็นพลเมืองของประชาชาติได้เช่นกัน แปลว่าเรากำลังถอยกลับไปเป็นเพียง "ข้าราษฎร" ซึ่งจะมี "มูลนาย" กลุ่มเล็กๆ เพียงกลุ่มเดียว ที่เป็นเจ้าของรัฐไทยยิ่งกว่าใครอื่น และด้วยเหตุดังนั้น จึงมีความชอบธรรมที่จะใช้อำนาจของตนกำหนดความสัมพันธ์ในรัฐได้ตามใจชอบของตน รัฐธรรมนูญที่เขียนขึ้นในหลักการที่ไม่ยอมรับความเป็นรัฐประชาชาติเช่นนี้ จะมีหรือไม่มีรัฐธรรมนูญก็เท่ากัน ร้ายไปกว่านั้น รัฐธรรมนูญ-ถ้ามี-ก็เป็นเพียงเอกสารสำหรับกลบเกลื่อนอำพรางอำนาจที่ฉ้อฉลและไร้ความชอบธรรมเท่านั้น 

มโนทัศน์เรื่องรัฐที่เรียกว่า “รัฐประชาชาติ” ตามที่นิธิ เอียวศรีวงศ์กล่าวถึงนี้อาจเป็นมโนทัศน์ที่พระสงฆ์ไม่คุ้นเคยนัก (แม้แต่ประชาชนทั่วไปก็คงไม่ต่างจากพระสงฆ์นัก) ข้อนี้น่าจะเป็นช่องว่างทางความคิดระหว่างพระสงฆ์ ชาวพุทธ กับนักวิชาการสมัยใหม่ที่คัดค้านเรื่องการบัญญัติพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไว้ในรัฐธรรมนูญอยู่มาก ดังจะสังเกตเห็นว่าแม้แต่ในแนวคิดของพระธรรมโกศาจารย์ที่กล่าวมา ท่านยังมองว่า รัฐไทยปัจจุบันคือรัฐที่ต้องทำหน้าที่สืบทอดเจตนารมณ์ของพระมหากษัตริย์ในรัฐสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ วิธีการสืบทอดที่สำคัญอันหนึ่งก็คือการบัญญัติพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไว้ในรัฐธรรมนูญนั่นเอง

ในบทความเรื่อง “ศาสนาประจำชาติ กับ รัฐประชาชาตินิยมหลังสมัยใหม่” (มติชน ฉบับวันที่ 06 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 หน้า 5) สุรพศ ทวีศักดิ์ มองว่าปมแห่งความยุ่งยากของการระบุในรัฐธรรมนูญให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทย ไม่ได้อยู่แค่การไม่สามารถทำให้สังคมทุกภาคส่วนเข้าใจร่วมกันว่า เมื่อระบุเช่นนั้นแล้วจะแก้ปัญหาความเสื่อมโทรมทางศีลธรรมของสังคมโดยรวมได้อย่างไร และจะมีหลักประกันอะไรที่จะไม่ก่อให้เกิดปมด้อยกับประชาชนไทยที่นับถือศาสนาอื่นๆ หรือไม่นับถือศาสนาใดๆ ที่อาจรู้สึกว่าพวกตนเป็นเพียงประชากรชั้นสองของประเทศนี้

แต่ปมที่ยุ่งยากยิ่งกว่าอยู่ที่ความขัดแย้งระหว่างแนวคิดศาสนานิยมบวกกับรัฐชาตินิยมสมัยใหม่ กับแนวคิดรัฐประชาชาตินิยมหลังสมัยใหม่ แนวคิดศาสนานิยมเชื่อว่า ความจริง ความดี ความงามทางศาสนาเป็น "สิ่งสัมบูรณ์" (absolute) คือเป็นสิ่งจริงแท้ไม่เปลี่ยนแปลง และศาสนธรรมก็เป็นยาวิเศษที่จะใช้แก้ปัญหาชีวิต และปัญหาสังคมเศรษฐกิจ การเมือง ได้ทุกเรื่อง (แต่มีข้อแม้ว่าถ้านำไปปฏิบัติได้จริง ซึ่งก็เป็นไปไม่ได้ เพราะทุกคนในสังคมไม่ได้มุ่งตัดกิเลสตามแนวทางศาสนา)
ส่วนแนวคิดรัฐชาตินิยมสมัยใหม่เน้นการปลูกฝังความรักชาติเชิง "สัญญะ" (symbolic) หรือภาพพจน์บางอย่าง เช่น ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม มีการประกาศเปลี่ยนชื่อประเทศจาก "สยาม" เป็น "ไทย" เพื่อสร้างสัญญะทางเชื้อชาติและแสดงภาพพจน์ความเป็นอารยะ เช่น ให้ประชาชนเลิกกินหมาก แต่งกายแบบสากลนิยมใส่หมวกมาลานำไทยเวลาออกจากบ้าน เป็นต้น การเรียกร้องให้ระบุในรัฐธรรมนูญให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ลึกๆ แล้วก็เกิดจากแนวคิดที่ว่าพุทธศาสนธรรมเป็นสิ่งสัมบูรณ์ที่สามารถใช้แก้ปัญหาชีวิต และสังคม เศรษฐกิจ การเมืองได้ทุกเรื่อง รัฐจึงควรใช้หลักธรรมของศาสนาพุทธเป็นแนวทางในการพัฒนาศีลธรรมของสังคม และอาจใช้เป็นปรัชญาในการพัฒนาเศรษฐกิจ การเมืองของชาติด้วย และต้องการแสดงสัญญะให้ชาวพุทธไทย ภาคภูมิใจ อีกทั้งให้เป็นที่ประจักษ์แก่ชาวโลกอย่างเป็นทางการว่า "ประเทศไทยมีพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ"

ส่วนแนวคิดรัฐประชาชาตินิยมหลังสมัยใหม่ปฏิเสธความจริง ความดี ความงามแบบสัมบูรณ์ แต่มองว่า ความจริง ความดี ความงามเป็นสิ่งที่สังคมมนุษย์สร้างขึ้น ความจริง ความดี ความงามจึงแตกต่างหลากหลายไปตามสภาพของแต่ละสังคมและแปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ไม่มีความจริง ความดี ความงามตามแนวคิด ความเชื่อ ทฤษฎี หรือศาสนาใดควรอ้างสิทธิความเป็นสากลเพื่อครอบงำหรือเบียดขับความคิด ความเชื่อ ทฤษฎี และศาสนาอื่นๆ และปฏิเสธการปลูกฝังความรักชาติเชิงสัญญะ เพราะการสร้างสัญญะมักมีลักษณะของความพยายามครอบงำ (เช่น ถ้าพุทธเป็นศาสนาประจำชาติอาจมีนัยเชิงครอบงำว่าคนไทยหรือคนไทยชั้นหนึ่ง คือคนพุทธ ฯลฯ) แต่ควรปลูกฝัง "ความรักชาติ" ด้วยการสร้างความเข้าใจ ยอมรับ เคารพ หรือ "รักในความดำรงอยู่ของความแตกต่างหลากหลาย" ทางเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา และอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของสมาชิกแห่งรัฐ และรัฐเองก็มีหน้าที่ปกป้องความเสมอภาคในความแตกต่างหลากหลายดังกล่าวนั้น ตามกรอบแนวคิดแบบรัฐประชาชาตินิยมหลังสมัยใหม่ ความจริง ความดี ความงามแบบพุทธถือเป็นระบบความเชื่ออย่างหนึ่งที่ดำรงอยู่ร่วมกับระบบความเชื่อของศาสนา แนวคิด ทฤษฎีอื่นๆ อย่างเท่าเทียม การแก้ปัญหาชีวิต สังคม เศรษฐกิจ การเมืองจำเป็นต้องใช้ระบบความเชื่อ แนวคิด ทฤษฎีที่หลากหลาย เพราะธรรมชาติของผู้คนและปฏิสัมพันธ์ทางสังคมเศรษฐกิจการเมืองในโลกยุคปัจจุบันและอนาคตมีความหลากหลาย ซับซ้อนเกินกว่าจะใช้แนวคิดใดเพียงแนวคิดเดียวมาแก้ปัญหาได้ทั้งหมด นี่คือความขัดแย้งทางความคิดเกี่ยวกับรัฐที่ต่อสู้กันภายใต้ข้อเรียกร้องและคัดค้านการบัญญัติพุทธศาสนาประจำชาติที่ฉายออกมาโดยสุรพศ ทวีศักดิ์

สุรพศมองว่า การบัญญัติพุทธศาสนาประจำชาติไทยไว้ในรัฐธรรมนูญไม่สอดคล้องกับความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ในสังคมไทยปัจจุบัน กล่าวคือ มีผู้คนที่ต่างความเชื่อทางศาสนาเพิ่มมากขึ้น มีผู้ประกาศตัวไม่นับถือศาสนาใดๆ มากขึ้น มีกรรมกร โสเภณี คนขับแท็กซี่ คนดื่มเหล้า เล่นการพนัน มีคนรักการใช้ชีวิตแบบการแข่งขัน การผจญภัย การบันเทิงเริงรมย์ และมีคนรักการใช้ชีวิตเรียบง่าย พอเพียง หรือมุ่งความหลุดพ้นทางจิตวิญญาณ การดำรงอยู่ของความหลากหลายเช่นนี้ไม่อาจมองแยกแยะด้วยทรรศนะขาว-ดำ และไม่อาจขึ้นอยู่กับการบังคับหรือข้อเรียกร้องตามมาตรฐานทางศีลธรรมของศาสนาใดศาสนาหนึ่งโดยเฉพาะ หากแต่จำเป็นต้องอาศัยการบังคับหรือข้อเรียกร้องต่อศีลธรรมทางสังคมอย่างอื่น ที่มีความเป็นกลาง หรือ เป็นสากลกว่าศีลธรรมทางศาสนา นั่นคือศีลธรรมสากลที่เรียกกันว่า หลักสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค หลักสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคจึงเป็นศีลธรรมสากลทางสังคมที่เป็นหลักประกันความยุติธรรมแห่งการดำรงอยู่ของสมาชิกแห่งรัฐ ซึ่งมีความแตกต่างหลากหลายทางชาติพันธุ์ ภาษา ศาสนา ความเชื่อ รสนิยม วิถีชีวิต และอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ในสังคมประชาธิปไตยหลักดังกล่าวนี้มีความสำคัญเหนือกว่าหลักศีลธรรมของศาสนา ตามทัศนะของสุรพศ ทวีศักดิ์ แม้ความจริงทางประวัติศาสตร์จะระบุว่าศาสนาพุทธอยู่คู่กับคนไทยมาช้านาน มีคุณูปการอย่างสูงต่อการสร้างอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาติ แต่ความหมายของชาติในสมัยสุโขทัย อยุธยา ธนบุรี รัตนโกสินทร์ตอนต้นกับยุคปัจจุบันก็มีสารัตถะและรายละเอียดแตกต่างกันมาก วิวัฒนาการของรัฐและโลกในปัจจุบันได้ข้ามพ้นจากการกำหนด/กำกับของศาสนาแล้ว ยิ่งกว่านั้นองค์กรหลักทางพุทธศาสนาที่กำกับโดยรัฐไทยปัจจุบันที่พยายามจะยกตนขึ้นเป็นศาสนาประจำชาตินั้น ก็มีลักษณะเชิงพิธีกรรมมากกว่าจะสร้างคุณูปการทางจิตวิญญาณต่อสังคมไทย ขณะที่พระสงฆ์และองค์กรพุทธที่ทำงานเป็นอิสระจากอำนาจรัฐมากกว่า กลับเป็นที่ประจักษ์ในทางการศึกษา ปฏิบัติ และเผยแผ่พุทธธรรมมากกว่า เช่น ท่านพุทธทาส แห่งสวนโมกข์ และเครือข่ายชาวพุทธอื่น ๆ นอกเหนือจากองค์กรสงฆ์ซึ่งทำงานอิงระบบราชการ

สำหรับสุรพศ การเรียกร้องให้บัญญัติพระพุทธศาสนาไว้ในรัฐธรรมนูญนั้นดูเหมือนจะเป็นก้าวที่รีบเร่งไปหน่อย เพราะเรื่องสำคัญ ๆ ที่ควรจะไตร่ตรองอย่างจริงจังนั้นยังไม่ได้หยิบยกมาพูดกัน  จึงเสนอไว้ในตอนท้ายของบทความว่า ก่อนอื่น สังคมเราน่าจะได้มีการถกเถียงในประเด็นหลักๆ อย่างจริงจัง เช่นว่า ประเทศไทยควรจะเดินต่อไปทางไหนระหว่าง "อุดมการณ์ศาสนานิยม+รัฐชาตินิยมสมัยใหม่" กับ "อุดมการณ์รัฐประชาชาตินิยมหลังสมัยใหม่" ชาวพุทธควรจะเลือกอย่างไร ระหว่างการนำพุทธศาสนาไปอยู่ภายใต้การกำกับ/ควบคุมของอำนาจรัฐมากขึ้น กับการหาทางให้พุทธศาสนาเป็นอิสระจากการกำกับ/ควบคุมของอำนาจรัฐมากขึ้น



3.  ข้อสังเกตภาพรวมของข้อถกเถียง

ประเด็นสำคัญที่น่าสนใจในข้อถกเถียง ทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการบรรจุพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไว้ในรัฐธรรมนูญเกี่ยวข้องกับความเข้าใจหลัก 5 ประการคือ

(1) ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างพระพุทธศาสนากับรัฐไทย
(2) พระมหากษัตริย์กับพุทธศาสนา
(3) ความเป็นไทยกับความเป็นชาวพุทธ
(4) มโนทัศน์เกี่ยวกับรัฐที่ดีและสังคมที่พึงปรารถนาสำหรับสังคมไทย
(5) อนาคตของพุทธศาสนาในประเทศไทย

มีข้อน่าสังเกตว่า ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับพุทธศาสนาก็ดี เรื่องของพระมหากษัตริย์กับพระพุทธศาสนาก็ดี ที่ปรากฏในข้อถกเถียงของผู้สนับสนุน ถูกจำกัดไว้ในบริบททางประวัติศาสตร์ไทยเฉพาะตั้งแต่สมัยสุโขทัยลงมาเท่านั้น อาจมีการกล่าวถึงประวัติศาสตร์ก่อนสุโขทัยขึ้นไปบ้างแต่ไม่ดูเหมือนจะไม่ค่อยมีความมั่นใจนัก เนื่องจากประวัติศาสตร์ของไทยตามแบบที่ศึกษากันส่วนใหญ่ในสังคมไทยมักจะจำกัดเฉพาะสมัยสุโขทัยลงมาถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ การพิจารณาประวัติความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับพุทธศาสนาไม่ได้เลยไปถึง “ประวัติศาสตร์” สมัยพุทธกาล อันอาจศึกษาได้จากพระไตรปิฎกหรือเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์กับพุทธศาสนาที่ถูกอ้างถึงมาก ในการศึกษาประวัติศาสตร์ของพุทธศาสนาคือ พระเจ้าอโศกมหาราช ในฐานะต้นแบบของพุทธกษัตริย์ที่รู้จักกันไปทั่วโลกและแพร่หลายอยู่ในตำนานของพุทธศาสนาทุกนิกาย ผู้เขียนเข้าใจว่า การไม่อ้างอิงถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับพุทธศาสนานอกบริบทประวัติศาสตร์ไทย หรือแม้จะอ้างอิงก็อ้างเฉพาะในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช โดยไม่ยอมย้อนกลับไปให้ถึงพุทธศาสนาในสมัยพุทธกาลนั้น เนื่องจากรูปแบบความผูกพันระหว่างพุทธศาสนากับรัฐในสมัยพุทธกาลนั้นขัดแย้งกับสิ่งที่ชาวพุทธไทยเรียกร้อง เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างพุทธศาสนากับรัฐในพุทธกาลไม่ได้แนบแน่นเป็นหนึ่งเดียวกันดังที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์พุทธศาสนายุคหลัง ตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราชลงมา 

กรณีที่ผูกพันความเป็นชาติไทยกับความเป็นชาวพุทธไว้ด้วยกัน ซึ่งปรากฏในเหตุผล ของพระเทพวิสุทธิกวีที่ว่า “ปัจจุบันนี้ มีกระแสการแข่งขันที่รุนแรงมาก กระแสวัฒนธรรมต่างชาติรุกล้ำเข้าสู่จิตใจคนไทยรุ่นใหม่อย่างรุนแรง ทำให้พระพุทธศาสนาถ้าไม่มีการป้องกันอาจเป็นเหตุให้พระพุทธศาสนาของไทยเราล่มสลายลงได้ และนั่นหมายถึงชาติไทยต้องล่มสลายลงไปด้วย” เป็นประเด็นที่น่าสนใจ ข้อความดังกล่าวจะสอดรับกับคำอธิบายของเมตตานันโทภิกขุที่ว่า การเรียกร้องของชาวพุทธเกิดจากศรัทธาผนวกกับความคิดแบบชาตินิยม หรือตามที่สุรพศเรียกว่า แนวคิดศาสนนิยมบวกกับรัฐชาตินิยมสมัยใหม่ ความเข้าใจของผู้เรียกร้องที่สะท้อนออกมานี้แสดงถึงความเข้าใจประวัติศาสตร์ไทยตามแบบที่รัฐปลูกฝังในสังคมไทยผ่านแบบเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ แต่ประวัติศาสตร์ชาติที่ศึกษาค้นคว้าวิจัยกันอีกจำนวนหนึ่งเปลี่ยนแปลงไปจากแบบแผนที่รัฐวางไว้มากแล้ว ความเข้าใจประวัติศาสตร์แบบดั้งเดิมที่ธงชัย วินิจจกุลเรียกว่า “ประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยม” นั้นกำลังได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ประวัติศาสตร์แนวใหม่ที่สลายความเป็นศูนย์กลางของอำนาจชาติพันธุ์ กำลังเข้ามาแทนที่ความเข้าใจประวัติศาสตร์แบบเดิม ๆ โดยเฉพาะในระบบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย แต่ในมหาวิทยาลัยสงฆ์นั้นยังไม่ได้มีการศึกษาประวัติศาสตร์ภายใต้แนวความคิดใหม่ ๆ และยังคงตอกย้ำประวัติศาสตร์ชาติไทยแบบเดิมที่มีสายสัมพันธ์อันขาดไม่ได้จากพุทธศาสนา เอาเข้าจริง ๆ ในมหาวิทยาลัยสงฆ์ยังไม่มีสาขาวิชาทางด้านประวัติศาสตร์หรือประวัติศาสตร์พุทธศาสนาเสียด้วยซ้ำ (แม้จะมีสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับวิทยาการสมัยใหม่สาขาอื่น ๆ อยู่มาก)  ข้อนี้ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างชาวพุทธกับนักวิชาการภายนอกในประเด็นความเข้าใจประวัติศาสตร์ชาติไทยกับพุทธศาสนา

และด้วยความแตกต่างในลักษณะเดียวกัน ที่ปรากฏในความเข้าใจเกี่ยวกับรัฐชาติสมัยใหม่หรือหลังสมัยใหม่ก็ตาม ความเข้าใจเกี่ยวกับรัฐระหว่างชาวพุทธที่ออกมาเรียกร้องกับนักวิชาการหรือบรรดาผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์ข้อเรียกร้องของชาวพุทธก็ดี มีความเหลื่อมล้ำกันอยู่ไม่น้อย ดังจะเห็นได้จากประเด็นที่นิธิ  เอียวศรีวงศ์ และสุรพศ ทวีศักดิ์นำเสนอในบทความ ข้อนี้ยังไม่ต้องกล่าวถึงการถกเถียงกันในระดับปรัชญาเกี่ยวกับมโนทัศน์เรื่องรัฐที่ดีและสังคมที่น่าปรารถนาสำหรับสังคมไทย หากแต่พระสงฆ์หรือชาวพุทธผู้เรียกร้องได้มีสมมติฐานไว้ในใจอยู่แล้วว่า รัฐที่ดีหรือสังคมที่ดีสำหรับสังคมไทยนั้นเป็นอย่างไร ซึ่งแสดงออกทั้งในแง่ของการรวมตัวกันเรียกร้องและแง่ที่ปรากฏในเหตุผลข้อเรียกร้องต่าง ๆ ที่เสนอผ่านสื่อหรือบทความ ประเด็นเรื่องรัฐที่ดีหรือสังคมที่พึงประสงค์ควรเป็นอย่างไรจึงเป็นข้อถกเถียงเชิงปรัชญาที่จำเป็น เช่น เราต้องถกเถียงกันให้ชัดว่าเราจะอยู่ในรัฐศาสนาหรือรัฐที่แยกตัวเองออกจากศาสนา เรื่องนี้ไม่เพียงจำเป็นต่อกรณีการเรียกร้องพุทธศาสนาประจำชาติเท่านั้น หากยังจำเป็นสำหรับกรณีที่สังคมไทยโดยรวม ที่ผู้คนมีอำนาจและมีการศึกษาในเมืองหลวงนิยมชมชอบเผด็จการ ยอมรับรัฐประหาร และเรียกร้องให้ทหารเข้ามาฉีกรัฐธรรมนูญและล้มระบบเลือกตั้งตามแบบแผนของระบอบประชาธิปไตยด้วย

ประเด็นเรื่องอนาคตของพุทธศาสนาในประเทศไทยนั้นปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนในข้อเรียกร้องของพระสงฆ์และชาวพุทธที่ออกมาเคลื่อนไหวและบทความต่าง ๆ ของผู้สนับสนุน ความกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงของพุทธศาสนาโดยรวมของชาวพุทธ โดยเฉพาะในหมู่พระสงฆ์หรือฆราวาสที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงฆ์นั้น เป็นสิ่งที่สามารถจะเข้าใจได้และก็มีเหตุผลอยู่มากที่ท่านจะปรารถนาให้พุทธศาสนาดำรงอยู่อย่างมั่นคงต่อไปคู่กับชาวไทยหรือชาวโลก การออกมาปกป้องหรือพิทักษ์พุทธศาสนาก็เป็นสิทธิอันชอบธรรม และเป็นเรื่องอันสมควรที่พุทธศาสนิกชนพึงกระทำเพราะการปกป้องพุทธศาสนานั้นเป็นหน้าที่ประการหนึ่งของพุทธมามกะ แต่ต้องตระหนักว่าการปกป้องพุทธศาสนาแบบใดเล่าที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริงดังที่นิธิ เอียวศรีวงศ์เตือนไว้ ประเด็นนี้มีช่องว่างทางความคิดของทั้งสองฝ่าย ซึ่งมองปัญหาพุทธศาสนากับสังคมไทยแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง “ความมั่นคงของพุทธศาสนา” สาเหตุของความไม่มั่นคง และแนวทางในการแก้ไข ก็ล้วนมีมุมมองที่แตกต่างกันอยู่มาก  ความห่วงกังวลต่ออนาคตของพุทธศาสนาเป็นประเด็นที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่ในความคิดของชาวพุทธไทยตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา   แต่ความห่วงใยต่อพุทธศาสนาในสังคมไทย ก็ใช่ว่าไม่มีในชาวพุทธนักวิชาการหรือชาวพุทธที่ไม่เห็นด้วยกับการบัญญัติพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไว้ในรัฐธรรมนูญ เพียงแต่นักวิชาการเหล่านี้ได้มองความมั่นคงของพุทธศาสนาในมิติที่แตกต่างออกไป กล่าวคือ ความมั่นคงของพุทธศาสนาไทยไม่ได้ขึ้นอยู่กับรัฐ หากแต่อยู่ที่สังคม การเรียกร้องให้มีการบัญญัติศาสนาประจำชาติจึงไม่ใช่คำตอบที่จะดำรงรักษาพุทธศาสนาไว้คู่กับสังคมไทย และโดยส่วนตัวของผู้เขียน ก็เห็นด้วยว่า “ความมั่นคงของพุทธศาสนาอยู่ที่หมู่บ้าน” (สังคม) ไม่ใช่ความเป็นชาติหรือรัฐ และเป็นคนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับการบัญญัติพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไว้ในรัฐธรรมนูญตลอดมา แต่ผู้เขียนจะยังไม่พิจารณาเรื่องนี้ในบทความนี้

หากพิจารณาจากมุมมองของประชาธิปไตย การเรียกร้องให้บัญญัติพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไว้ในรัฐธรรมนูญของพระสงฆ์ ย่อมสะท้อนให้เห็นว่า พระสงฆ์หรือชาวพุทธที่เรียกร้องมีความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตยในลักษณะที่แตกต่างจากนักวิชาการภายนอก  เราอาจพิจารณาได้จากความคิดที่มองว่า “มีความจำเป็นที่ต้องบัญญัติพระพุทธศาสนาประจำชาติ เพื่อสืบทอดจารีตประเพณีและพระราชกรณียกิจด้านการปกครองบ้านเมืองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของพระมหากษัตริย์ในอดีต” ซึ่งสะท้อนถึงการมองความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างรัฐกับประชาชนในลักษณะเดิมที่สืบทอดมาจากปรัชญาการเมืองของพุทธศาสนา กล่าวคือ กษัตริย์ยังคงเป็นศูนย์กลางของอำนาจการปกครอง กษัตริย์ทรงมีเจตจำนงพิเศษเหนือเจตจำนงของประชาชนเนื่องจากทรงสั่งสมบุญบารมีมากเป็นพิเศษกว่าคนทั้งปวง ประชาชนมีหน้าที่สืบทอดเจตจำนงการปกครองของพระมหากษัตริย์ (ในอดีต) ให้ดำรงอยู่ตลอดไป รัฐไทยสมัยใหม่ได้แยกขาดจากอุดมการณ์การปกครองของกษัตริย์แม้รูปแบบการปกครองจะเปลี่ยนไปเป็นระบอบประชาธิปไตยแล้วก็ตาม

ส่วนนักวิชาการสมัยใหม่โดยเฉพาะที่ให้ความสำคัญต่อการปกครองแบบประชาธิปไตยไม่ว่าจะประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมหรือสังคมนิยมก็ตาม ต่างก็ถือว่าประชาชนทุกคนเท่าเทียมกัน และจะไม่มีเจตจำนงของคนใดคนหนึ่งมีอำนาจพิเศษเหนือเจตจำนงของคนอื่น ยิ่งเมื่อถือว่าบ้านเมืองได้เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย มิใช่ราชาธิปไตยเหมือนแต่ก่อนแล้ว ก็ต้องถือว่าประชาชนทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันในการได้รับการคุ้มครองจากรัฐ รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดวางลักษณะขอบเขตอำนาจหน้าที่ของรัฐที่มีต่อประชาชนทุกคน  การกำหนดขอบเขตสิทธิ เสรีภาพ อำนาจ หน้าที่ของพลเมือง ทั้งเป็นหลักการสำคัญสำหรับการปกป้องพลเมืองของรัฐตามระบอบประชาธิปไตย

เพราะฉะนั้น รัฐธรรมนูญจะต้องเป็นหลักสากลที่ใช้ได้กับประชาชนทุกคนภายในรัฐ การที่กฎหมายสูงสุดต้องใช้ได้กับพลเมืองทุกคนภาย จึงมีข้อจำกัดว่าจะต้องไม่ยกเอาชาติพันธุ์ใดชาติพันธุ์หนึ่งขึ้นเหนือชาติพันธุ์อื่น ๆ  หรือให้ความคุ้มครองเพศ ศาสนา ลัทธิ หรือความเชื่อชนิดใดชนิดหนึ่งของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นพิเศษ นอกจากนี้ รัฐประชาธิปไตยจะต้องไม่นำหลักการทางศาสนาใด ๆ มาเป็นเครื่องมือในการปกครอง หรือใช้เป็นกฎหมายบังคับใช้แก่ประชาชน ข้อนี้ย่อมแตกต่างจากความเข้าใจของชาวพุทธที่เคลื่อนไหวเรียกร้อง เพราะชาวพุทธมองว่า รัฐธรรมนูญนั้นเป็นเสียงสะท้อนของพลเมืองส่วนใหญ่ของชาติ เมื่อพลเมืองส่วนใหญ่คือชาวพุทธมีความประสงค์จะให้มีการบัญญัติหลักการที่คุ้มครองสิทธิ เสรีภาพของกลุ่มตนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ รวมทั้งคุ้มครองเสียงส่วนน้อยไว้ด้วย ก็น่าจะเป็นไปตามเงื่อนไขของระบอบประชาธิปไตย ที่ระบุให้ถือเอาเสียงของคนส่วนใหญ่ในประเทศเป็นเกณฑ์ในการปกครอง

ประเด็นที่ชาวพุทธส่วนใหญ่ไม่อยากจะยอมรับก็คือ การแยกรัฐออกจากศาสนา เพราะมองว่า การแยกรัฐกับศาสนาเป็นเรื่องของภูมิภาค เป็นเรื่องของจารีตวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของแต่ละประเทศที่มีภูมิหลังแตกต่างกัน โดยเฉพาะมันเป็นเงื่อนไขที่ตามมาจากการนับถือศาสนาที่มีประวัติศาสตร์แห่งการกดขี่เบียดเบียนผู้อื่น และไม่มีความสัมพันธ์โดยตรงกับระบอบประชาธิปไตย ส่วนประเด็นที่ชาวพุทธละเลยไปก็คือเรื่อง “สิทธิ” “เสรีภาพ” “ความเท่าเทียมกัน” ของพลเมืองภายในรัฐที่เป็นอุดมการณ์หลักของระบอบประชาธิปไตย ดูเหมือนจะไม่ได้ตระหนักว่า ประเด็นเรื่องการแยกรัฐกับศาสนาสัมพันธ์กันอย่างไรกับแนวคิดเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ความเท่าเทียมกัน ที่พ่วงมากับระบอบประชาธิปไตย เมื่อการถกเถียงประเด็นประชาธิปไตยที่พ่วงมากับแนวคิดเหล่านี้ชาวพุทธจึงดูเหมือนจะกันออกไปให้เป็นเรื่องของชาติอื่นที่ไม่ใช่ชาติไทย

ในที่นี้ ผู้เขียนยังไม่ได้ประเมินว่าตรรกะเรื่อง “การบัญญัติพุทธศาสนาประจำชาติไทยไว้ในรัฐธรรมนูญ” ที่ชาวพุทธมองว่าสอดคล้องกับวิธีคิดของประชาธิปไตยคือยึดเสียงของคนส่วนใหญ่นั้น มีความสมเหตุสมผลเพียงใด โดยปกติ ในกรณีที่เกิดความขัดแย้งและต้องตัดสินใจนั้นระบอบประชาธิปไตยยอมให้เสียงส่วนใหญ่มีอำนาจเหนือเสียงส่วนน้อย  ถ้าเช่นนั้น การเรียกร้องเพื่อยกสถานะทางศาสนาและความเชื่อของกลุ่มใหญ่เหนือกลุ่มน้อย ซึ่งก็ดูจะสอดรับกับประเด็นการยึดเสียงส่วนใหญ่นี้ ควรยอมรับให้เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตยที่ให้ยึดเสียงส่วนใหญ่เป็นเกณฑ์หรือไม่ ทำไมกรณีการเรียกร้องของเสียงส่วนใหญ่ของพลเมืองภายในรัฐกรณี “ศาสนาประจำชาติ” จึงไม่ชอบธรรม 

ในสถานการณ์ปัจจุบัน แม้บางประเด็น วิจักขณ์ พานิช ในเรื่อง “7 เหตุผลที่พุทธศาสนาไม่ควรเป็นศาสนาประจำชาติ”  และสุรพศ ทวีศักดิ์ (https://www.youtube.com/watch?v=ePl0tabB_qw) ได้นำเสนอเหตุผลคัดค้านมาพอสมควรแล้ว ผู้เขียนไม่แน่ใจนักว่า ประเด็นที่ว่าการบัญญัติพุทธศาสนาประจำชาติไว้ในรัฐธรรมนูญสอดรับกับระบอบประชาธิปไตย เพราะเป็นไปตามตามเจตนารมณ์ของเสียงส่วนใหญ่ในประเทศไทยที่นับถือพุทธศาสนา เราได้ถกเถียงกันอย่างชัดเจนมากพอหรือยัง ?

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net