ทำอะไรก็ได้เพราะว่าโตแล้ว และมี ม.44 : สำรวจการใช้อำนาจพิเศษยุค คสช.

เป็นที่ทราบกันดีว่า หลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 ประเทศไทยอยู่ภายใต้การปกครองตามรัฐธรรมนูญ(ชั่วคราว) พ.ศ.2557 ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ให้อำนาจพิเศษกับหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) หากเห็นว่ามีความจําเป็นเพื่อประโยชน์ ในการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ การส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ หรือเพื่อป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทําอันเป็นการบ่อนทําลายความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคง ของชาติ ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน ไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายในหรือภายนอกราชอาณาจักร

โดยให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ผ่านความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีอํานาจสั่งการ ระงับยับยั้ง หรือกระทําการใดๆ ได้ ไม่ว่าการกระทํานั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ และให้ถือว่าคําสั่งหรือการกระทํา รวมทั้งการปฏิบัติตามคําสั่งดังกล่าว เป็นคําสั่ง หรือการกระทํา หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนี้และเป็นที่สุด

ตั้งแต่มีการยึดอำนาจจนถึงปัจจุบันมีการอาศัยอำนาจตามมาตราดังกล่าว ประกาศคำสั่งไปแล้วทั้ง 34 คำสั่ง ซึ่งสามารถประกาศเพิ่มได้อีกเท่าที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรีเห็นว่ามีความจำเป็น ทั้งนี้เมื่อสำรวจลงไปในคำสั่งพบว่ามีการประกาศแต่งตั้งโยกย้าย และสั่งปลดข้าราชการ รวมทั้งคณะกรรมการต่างๆ ในองค์กรของรัฐเป็นจำนวนมาก มีการประกาศใช้เพื่อเวนคืนที่ดินใน 5 พื้นที่เพื่อเป็นที่ราชพัสดุ รองรับโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ประกาศให้ประธาน ปปช. ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ยังดำรงอยู่ในตำแหน่งแม้จะอายุ 70 แล้วก็ตาม ประกาศถอดยศ พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร ประกาศห้ามผู้ค้ารายย่อยขายสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคา 80 บาท และอื่นๆ อีกมากมาย

การใช้อำนาจของหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 (รวบรวมถึงวันที่ 10 พ.ย. 2558)

หมายเหตุ : ฐานข้อมูลจาก iLaw

1.งดเลือกตั้งสภาองค์กรการปกครองท้องถิ่นเป็นการชั่วคราว

ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 1/2557 เรื่องการได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นการชั่วคราว โดยคำสั่งนี้กำหนดให้สมาชิกสภาท้องถิ่นในองค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะพ้นจากตําแหน่งเนื่องจากครบวาระ ยังคงอยู่ในตําแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป กรณีที่สมาชิกสภาท้องถิ่นพ้นจากตําแหน่งเพราะสาเหตุอื่นนอกจากครบวาระ ให้สภาท้องถิ่นคงจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ โดยไม่ต้องทำการคัดเลือกสมาชิกแทนตําแหน่งที่ว่าง ยกเว้นสมาชิกเหลือไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกสภาท้องถิ่นตามกฎหมายว่า ด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ให้สรรหาบุคคลมาดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาท้องถิ่นตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 85/2557 ทั้งนี้ ไม่ให้คำสั่งนี้มีผลบังคับกับกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา และให้สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งสองแห่งที่ได้รับการคัดเลือกตามประกาศ คสช.ที่ 85/2557 ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป

2.ร่างกฎครอบจักรวาล ใช้แทนกฏอัยการศึก

เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2558 ได้มีการประกาศยกเลิกกฏอัยการศึกษา ทว่าในวันเดียวกันได้มีการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ เพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทําที่บ่อนทําลายความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ โดยกำหนดให้เจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยมีหน้าที่ปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง และการฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่งคสช. โดยมีอำนาจออกหมายเรียกให้มารายงานตัว สอบสวน จับกุม พร้อมทั้งออกคำสั่งห้ามผู้ใดชุมนุมทางการเมือง เกิน 5 คน

3.ให้อำนาจบังคับใช้กฏหมายกับทหาร

คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 4/2558 เรื่อง มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายที่คุ้มครองประโยชน์สาธารณะ และประชาชนโดยรวม ได้กำหนดให้ เจ้าหน้าที่ทหารบังคับใช้กฏหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มประโยชน์สาธารณะ เช่นแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่สาธารณะ ป่าสงวนแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ และการใช้ประโยชน์ในพื้นที่สาธารณะกีดขวางทางจราจร

4.แก้กฎครอบจักวาล ให้นายสิบ ทหารเกณ์ อาสาทหารพราน เป็น ผู้ช่วยเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย

คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 5/2558 แก้ไขคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 มีสาระสำคัญคือการแก้ไข ความหมายของคำว่า “ผู้ช่วยเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย” ให้ครอบคลุมมากขึ้น จากเดิมที่ระบุเพียงแค่ข้าราชการทหารซึ่งมียศต่ำกว่าชั้นร้อยตรี เรือตรี หรือเรืออากาศตรี ลงมา ซึ่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติแต่งตั้งให้ปฏิบัติการ คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่5/2558 ให้หมายความรวมถึง ทหารประจําการ ทหารกองประจําการ และอาสาสมัครทหารพรานด้วย

5.แต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการ 6 คน

คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 6/2558 เรื่องการกำหนดตำแหน่งเพิ่มและการแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่ง โดยมีการโยกย้ายข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการ 6 ตำแหน่ง เพื่อให้การปฏิรูปการศึกษาและการบริหารราชการในกระทรวงศึกษาธิการมี ประสิทธิภาพและมีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น

6.ล้างบอร์ด สกสค.

คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 7/2558 เรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการคุรุสภา คณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครู และบุคลากรทางการศึกษา และคณะกรรมการบริหารองค์กรการค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครู และบุคลากรทางการ โดยกำหนดให้ กรรมการคุรุสภา กรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครู และบุคลากรทางการศึกษา และกรรมการในคณะกรรมการบริหารองค์กรการค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครู และบุคลากรทางการ พ้นจากตำแหน่ง โดยยังไม่ต้องมีการสรรหาไม่จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง

7.ปลดข้าราชการผู้อำนวยการสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว

คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 9/2558 เรื่องการให้ข้าราชการสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ โดยสั่งให้ พิชิต นิลทองคำ จัดหางานจังหวัดชลบุรี สิ้นสุดการทำหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว เพื่อให้การแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวและปัญหาจากการค้ามนุษย์มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

8.ระงับการสรรหา กสทช. แทนตำแหน่งว่าง

คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 8/2558 เรื่องการเลือกกรรมการแทนตำแหน่งที่ว่างในคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ  โดยกำหนดให้ ยังไม่ต้องดําเนินการสรรหาและคัดเลือกบุคคลใดดำรงตำแหน่งกรรมการ กสทช. แทนตําแหน่งที่ว่างลง

9.ตั้งศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย

คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 10/2558 เรื่องการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม โดยมีการสั่งให้ตั้ง ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย เป็นศูนย์เฉพาะกิจขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่ จัดทำแผนปฏิบัติการแห่งชาติในการแก้ไขปัญหา การประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม และให้อำนาจควบคุม สั่งการ กำกับดูแล และประสานการปฏิบัติการทั้งปวงของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และส่วนราชกาชออื่นที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

10.ล้างบอร์ดกองสลาก ห้ามผู้ค้ารายย่อยขายหวยเกิน 80 บาท

คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 11/2558 เรื่องมาตรการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล มีสาระสำคัญคือ ให้คณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่คำสั่งนี้ใช้บังคับพ้นจากตำแหน่ง และมิให้แต่งตั้งคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล จนกว่าหัวหน้าคสช.จะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง และให้คณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลชุดใหม่ ประกอบด้วย ผู้ที่หัวหน้าคสช.แต่งตั้ง เป็นประธาน มีผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนกระทรวงยุติธรรม ผู้แทนกรมบัญชีกลาง ผู้แทนสานักงบประมาณ ผู้แทนสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย เป็นกรรมการ และผู้ที่คสช.แต่งตั้งเป็นกรรมการไม่เกิน 3 คน ผอ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เป็นกรรมการและเลขานุการ

พร้อมทั้ง ให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.2517 มาตรา 39 จากเดิมระบุว่า ผู้ใดเสนอขายหรือขายสลากกินแบ่งรัฐบาลที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้และยังไม่ได้ ออกรางวัลเกินราคาที่กำหนดในสลากกินแบ่ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท เป็นผู้ใดเสนอขายหรือขายสลากกินแบ่งรัฐบาลที่ออกตามพ.ร.บ.นี้และยังไม่ได้ออก รางวัลเกินราคาที่กาหนดในสลากกินแบ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

11.ต่ออายุ ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ให้เป็น ปปช.ต่อไปก่อน แม้อายุ 70 แล้ว

คำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 12/2558 เรื่องประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติอยู่ในตำแหน่งต่อไป โดยสั่งให้ ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ที่กำลังจะพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากอายุเจ็ดสิบปีบริบูรณ์ ดำรงตำแหน่งต่อไปจนถึงวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2558 เพื่อให้ครบกำหนดวาระพร้อมกับกรรมการอีก 4 คน ในวันที่ 9 กัยยายน 2558

12.ปรับองค์ประกอบกรรมการสรรหา ปปช.

คำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 13/2558 เรื่อง การสรรหากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เนื่องจากปัจจุบันไม่มีผู้ดํารงตําแหน่งผู้นําฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ประกอบกับประธานศาลปกครองสูงสุดก็ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ จึงขาดตำแหน่งกรรมการสรรหากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติไป จึงมีการกำหนดให้แก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาโดยการเพิ่มผู้แทนจากฝ่ายบริหาร ให้กรรมการสรรหามีที่มาจากอํานาจทั้งสามฝ่าย โดยให้รองนายกรัฐมนตรีที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นกรรมการสรรหาด้วย

13.สั่งพักงานข้าราชการ 45 คน ที่มูลเหตุว่าเกี่ยวข้องกับการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ

คำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 16/2558 เรื่อง มาตรการแก้ปัญหาเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบและการกำหนดกรอบอัตรา กำลังชั่วคราว โดยมีสาระสำคัญคือ สั่งพักงานข้าราชการจำนวน 45 คน ซึ่งมีมูลเหตุว่าเกี่ยวข้องกับการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ 

14.กำหนด 5 พื้นที่ ให้ตกเป็นที่ราชพัสดุ เพื่อดำเนินโครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ

คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 17/2557 เรื่อง การจัดหาที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ หัวหน้า คสช. อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญเพื่อเร่งรัดกระบวนการให้ได้มาซึ่งพื้นที่ที่จำเป็นต้องใช้ในการดำเนินการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยให้ที่ดินตกเป็นที่ราชพัสดุ และให้มีผลเป็นการเพิกถอนสภาพที่ดินต่างๆ 

15.ให้กรรมการหรือคณะกรรมการตามกฎหมายบางฉบับปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้

คำสั่งฉบับที่ 18/2558 เรื่อง การให้กรรมการหรือคณะกรรมการตามกฎหมายบางฉบับปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ โดยมีสาระสำคัญ คือ ให้ผู้ทำการแทน ผู้รักษาการแทน หรือผู้ปฏิบัติการแทน ในกรรมการชุดต่างๆ ทั้งรัฐวิสาหกิจ หน่วยงานรัฐ และสภามหาวิทยาลัย มีอำนาจเท่ากับผู้ซึ่งตนแทน เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ ทั้งองค์ประกอบและองค์ประชุมเป็นไปโดยเรียบร้อย

16.แต่งตั้งโยกย้ายราชการ 60 ตำแหน่ง อธิบดี ถึง ผู้อำนวยการโรงเรียน

คำสั่งฉบับที่ 19/2558  เรื่องแต่งตั้งและให้เจ้าหน้าที่ของรัฐดำรงตำแหน่งและปฏิบัติหน้าที่อื่น  โดยมีสาระสำคัญคือ แต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการรวม 60 ตำแหน่ง รวมทั้งหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น นายกเทศมนตรี นายยกและรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด

17.ระงับการสรรหาคณะกรรมการปฎิรูปกฎหมาย

คำสั่งฉบับที่ 20/2558 เรื่อง ระงับการสรรหาและคัดเลือกบุคคลเพื่อเสนอชื่อเป็นกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) โดยมีสาระสำคัญคือ ให้ระงับกระบวนการสรรหาและคัดเลือกกรรมการปฏิรูปกฎหมายชุดใหม่ และให้กรรมการปฏิรูปกฎหมายที่ครบวาระแล้ว พ้นจากตําแหน่ง ระหว่างที่ยังไม่มี คปก. ให้สำนักงาน คปก. สนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการกฤษฎีกา 

18.แต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ ในสภาความมั่นคง

คำสั่งฉบับที่ 21/2558 เรื่อง การกำหนดตำแหน่งเพิ่มและการแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่ง โดยโยกย้ายตำแหน่งรองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ 

19.ออกมาตราการควบคุมการแข่งรถของเยาวชน และห้ามขายเครื่องดืมแอลกอฮอล์ใกล้สถานศึกษา

คำสั่งฉบับที่ 22/2558 เรื่อง มาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแข่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในทาง และการควบคุมสถานบริการ หรือสถานประกอบการที่เปิดให้บริการในลักษณะที่คล้ายกับสถานบริการ โดยมีสาระสำคัญ คือ ห้ามการรวมกลุ่มกันในพฤติการณ์ที่น่าจะนำไปสู่การแข่งรถ บิดามารดาต้องอบรมสั่งสอนไม่ให้บุตรร่วมกลุ่มกันเพื่อแข่งรถ หากพบเด็กและเยาวชนทำผิดให้เรียกบิดามารดามารับทราบ และหากมีการกระทำผิดซ้ำ บิดามารดามีโทษจำคุกไม่เกินสามเดือนปรับไม่เกิน 30,000 บาท ห้ามการแต่งรถในลักษณะที่จะนำไปสู่การแข่งรถ ฯลฯ 

อีกทั้งยังประกาศห้ามไม่ให้มีสถานที่ขายเครื่องดืม แอลกอฮอล์ตั้งอยู่ใกล้เคียงสถานศึกษา หรือหอพักในบริเวณใกล้เคียงสถานศึกษา

20.เพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันปราบปรามยาเสพติด ให้อำนาจทหารบังคับใช้กฏหมาย

คำสั่งฉบับที่ 23/2558 เรื่อง มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยา เสพติด พ.ศ. 2519 ให้ทหารเข้ามาช่วยเหลืองานได้เมื่อกระทรวงยุติธรรมร้องขอ และให้ทหารมีอำนาจเข้าไปในเคหสถาน ตรวจค้นยานพาหนะ และจับกุมผู้ต้องสงสัยได้ไม่เกินสามวัน 

21.ออกมาตราการแก้ไขปัญหาประมงผิดกฏหมาย

คำสั่งฉบับที่ 24/2558 เรื่อง การแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม โดยมีสาระสำคัญ คือ ให้งดการจดทะเบียนเรือตามที่ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทําการประมงผิด กฎหมายประกาศกําหนด ห้ามใช้เครื่องมือประมงบางประเภท เช่น อวนรุน โพงพาง อวนล้อม ฯลฯ ให้เจ้าพนักงานมีอำนาจยึดเครื่องมือและเรือที่ผิดกฎหมายได้ ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับหนึ่งแสนถึงห้ามแสนบาท

22.ให้รัฐสามารถนำเงินกองทุนสลากกินแบ่ง มาใช้ในการดำเนินโครงการตามนโยบายของรัฐที่จะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมได้

คำสั่งฉบับที่ 25/2558 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 11/2558 ในส่วนของ วัตถุประสงค์ในการใช้จ่ายของกองทุนสลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อพัฒนาสังคม คือ ให้รัฐสามารถนำเงินกองทุน มาใช้ในการดำเนินโครงการตามนโยบายของรัฐที่จะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและ สังคมได้

23.ถอดยศ พันตํารวจโท ทักษิณ ชินวัตร

คำสั่งฉบับที่ 26/2558 ให้ถอดยศ พันตํารวจโท ทักษิณ ชินวัตร ออกจากยศตํารวจ เนื่องจากมีความผิดตามคำพิพากษา และความผิดอื่นอีกหลายฐาน 

24.ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือน ขึ้นตรงกับ คสช.

คำสั่งฉบับที่ 27/2558 เรื่อง การแก้ไขปัญหาการกํากับดูแลและพัฒนาการบินพลเรือนของประเทศไทย โดยมีสาระสำคัญ คือ ให้จัดตั้ง “ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือน” (Command Center for Resolving Civil Aviation Issues : CRCA) หรือ ศบปพ. เป็นศูนย์เฉพาะกิจขึ้นตรงกับ หัวหน้า คสช. โดยมีผู้บัญชาการทหารอากาศเป็นผู้บัญชาการศูนย์บัญชาการ โดยโครงสร้างการปฏิบัติงาน คือ ให้มีคณะกรรมการศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือน เพื่อกําหนดนโยบาย แนวทางในการจัดทําแผนปฏิบัติการ และให้ความเห็นชอบกับแผนปฏิบัติการในการแก้ไขปัญหา ปรับปรุงและพัฒนาการบินพลเรือนให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล รวมทั้งสั่งการ กํากับดูแล ติดตาม และตรวจสอบการปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไข ปัญหาการบินพลเรือน

นอกจากนี้ ยังกำหนดว่า คณะกรรมการ ศบปพ. และเจ้าหน้าที่ ศบปพ. ที่กระทําการไปตามอํานาจหน้าที่ โดยสุจริตไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือไม่เกินกว่ากรณีจําเป็น ไม่ต้องรับผิดชอบทางแพ่ง ทางอาญา ทางวินัย หรือทางปกครองเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือน ตามคําสั่งนี้ แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการ ตามกฎหมาย ว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่

25.ให้ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ เป็นประธาน ปปช. ต่อไป จนกว่า ประธาณคนใหม่จะเข้ามารับตำแหน่ง

คำสั่งฉบับที่ 28/2558 เรื่อง ให้ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติปฏิบัติหน้าที่ต่อไป โดยมีคําสั่งให้ ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติต่อไป จนกว่าประธานกรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่จะเข้ารับหน้าที่

26.อุดตำแหน่งว่าง คตง. ให้ผู้ว่าการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินทำแทน

คำสั่งฉบับที่ 29/2558 เรื่อง การเลือกกรรมการแทนตําแหน่งที่ว่างในคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และการดําเนินการเพื่อสรรหาผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระ เนื่องจากกรรมการตรวจเงินแผ่นดินขอลาออกจากการดํารงตําแหน่ง ทําให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเหลืออยู่ไม่ถึงจํานวนตามที่กฎหมายกําหนด เป็นเหตุให้กรรมการเท่าที่เหลืออยู่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ ดังนั้นเพื่อให้ทำงานต่อไปได้ ให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน มีจำนวนอย่างน้อย 5 คน และถ้าเกิดกรณีคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินมีน้อยกว่า 5 คน ก็ให้ผู้ว่าฯ สตง. ทำงานแทนคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งคำสั่งนี้เป็นการอำนวยความสะดวกในการทำงานของ คตง. 

27.กำหนดตำแหน่ง ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษด้านยุทธศาสตร์ความมั่นคง ประจําสํานักนายกรัฐมนตรี และย้ายข้าราชการมาดำรงตำแหน่งใหม่

คำสั่งฉบับที่ 31/2558 เรื่อง การกําหนดตําแหน่งและการแต่งตั้งข้าราชการให้ดํารงตําแหน่ง โดยมีสาระสำคัญคือ ให้ กนกทิพย์ รชตะนันทน์ พ้นจากตําแหน่ง รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ สํานักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ และให้ดํารงตําแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษด้านยุทธศาสตร์ความมั่นคง ประจําสํานักนายกรัฐมนตรี โดยให้ปฏิบัติหน้าที่ด้านยุทธศาสตร์ความมั่นคง และหน้าที่อื่นๆ และให้สํานักงานปลัดสํานักนายกรัฐมนตรี สํานักงาน ก.พ. สํานักงบประมาณสํานักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ดําเนินการเกี่ยวกับตําแหน่ง อัตราเงินเดือนและสิทธิประโยชน์ของข้าราชการดังกล่าว

28.แต่งตั้งผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมธุรกิจ SME

คำสั่งฉบับที่ 32/2558 เรื่อง การแต่งตั้งผู้อํานวยการสํานักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สาระสำคัญคือ ให้สาลินี วังตาล ดํารงตําแหน่งผู้อํานวยการสํานักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) โดยให้มีวาระอยู่ในตําแหน่ง 2 ปี ตั้งแต่วันที่คําสั่งนี้มีผลใช้บังคับ และหากเห็นว่ามีความจําเป็น ก็อาจเสนอนายกรัฐมนตรี เพื่อสั่งให้ขยายระยะเวลาการดํารงตําแหน่งได้ตามความเหมาะสมแต่ไม่เกิน 2 ปี หรือจะให้พ้นจากตําแหน่งก็ได้ และเมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติสิ้นสุดลง ก็ให้ผู้อำนวยการ สสว.ที่ได้รับแต่งตั้งตามคำสั่งนี้พ้นจากตำแหน่งด้วย

29.ให้มีที่ปรึกษาคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญมีผู้ช่วยดำเนินการ

คำสั่งฉบับที่ 34/2558 เรื่อง การอำนวยความสะดวกในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีสาระสำคัญ คือวางมาตรการเพื่ออำนวยความสะดวกในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญและการเตรียมการ อื่น ๆ เช่น การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน การจัดให้มีการลงประชามติ การจัดทำร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญมีที่ปรึกษาจำนวนไม่เกิน 9 คน โดยคำนึงถึงผู้ที่เคยเป็นกรรมาธิการในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ปี 2550 และปี 2557 นอกจากนี้ให้สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศแต่ละคนมีผู้ช่วยในการปฏิบัติงาน

30.แก้ไขวันบังคับใช้ ในคำสั่งที่ 29/2558

คำสั่งฉบับที่ 36/2558 เรื่อง แก้ไขคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 29/2558 โดยมีสาระสำคัญ คือ ให้คำสั่งเรื่องการเลือกกรรมการแทนตำแหน่งที่ว่างในคณะกรรมการตรวจเงินแผ่น ดินและการดำเนินการเพื่อสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2558 เป็นต้นไป จากเดิมที่ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

31.ปลด จเร พันธ์เปรื่อง จาก เลขาธิการสภาผู้แทนฯ ตั้ง นัฑ ผาสุข นั่งแทน

คำสั่งฉบับที่ 37/2558 เรื่อง การกำหนดตำแหน่งเพิ่มและการแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่ง โดยมีสาระสำคัญ คือให้กำหนดตำแหน่งที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยให้ จเร พันธุ์เปรื่อง เข้ารับหน้าที่ในตําแหน่งดังกล่าว โดยให้พ้นจากตำแหน่งเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และให้นัฑ ผาสุข เข้าปฏิบัติหน้าที่แทน

32. สามวันผ่านไป สั่งยกเลิกการตั้ง นัฑ ผาสุข เป็นเลขาธิการสภาผู้แทนฯ

คำสั่งฉบับที่ 38/2558 เรื่อง เรื่องแก้ไขเพิ่มเตมคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 37/2558 โดยมีสาระสำคัญ คือให้ยกเลิกการกำหนดตำแหน่งเพิ่มเติมและการแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรง ตำแหน่ง โดยให้ถือว่า นัฑ ผาสุข มิเคยพ้นจากตำแหน่งที่ปรึกษาด้านกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และมิเคยได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรมาก่อน ทั้งนี้ ไม่เป็นการกระทบต่อการใดๆ ที่ นัฑ ได้กระทำลงไปในฐานะเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร 

33.ห้ามเอาผิดคณะทำงานเรื่องจำนำข้าว

คำสั่งฉบับที่ 39/2558 เรื่อง เรื่องการคุ้มครองการบริหารจัดการข้าวคงเหลือในการดูแลรักษาของรัฐ และการดำเนินการต่อผู้ต้องรับผิด มีสาระสำคัญคือ ให้บุคคล คณะบุคคล คณะทํางาน คณะกรรมการ หน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่ได้รับแต่งตั้งตามกฎหมาย หรือได้รับมอบหมายจากหัวหน้า คสช. คสช. นายกฯ ครม.หรือคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว ให้ดําเนินการบริหารจัดการข้าวที่อยู่ในการดูแลรักษาของรัฐตามโครงการรับ จํานําข้าวเปลือกของรัฐ ตั้งแต่ปีการผลิต 48/49 จนถึงปีการผลิต 56/57  ซึ่งได้ดําเนินการมาตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 หรือภายหลังจากนั้น ยังคงมีอํานาจหน้าที่ดําเนินการดังกล่าวต่อไปเช่นเดิม

ในกรณีที่บุคคลข้างต้นดําเนินการตามอํานาจหน้าที่ และได้กระทําโดยสุจริต ย่อมได้รับความคุ้มครอง ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย

34.รื้อบอร์ดประกันสังคม

คำสั่งฉบับที่ 40/2558 เรื่อง การได้มาซึ่งคณะกรรมการประกันสังคม ที่ปรึกษาของคณะกรรมการประกันสังคม คณะกรรมการการแพทย์ และคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน เป็นการชั่วคราว มีสาระสำคัญคือ ยุติการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการประกันสังคม ที่ปรึกษาของคณะกรรมการ และคณะกรรมการการแพทย์ รวม ทั้งให้ระงับกระบวนการสรรหาและคัดเลือกคณะกรรมการ และคณะกรรมการการแพทย์ตามกฎหมายไว้ก่อน แล้วตั้งบุคคลที่มีความเหมาะสมเข้ามาทำหน้าที่แทน ได้แก่ ตั้งกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคมตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม โดยให้ปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธาน ตั้งที่ปรึกษาคณะกรรมการประกันสังคม คณะกรรมการการแพทย์ตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนตามกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน

นอกจากนี้ยังงดการบังคับใช้กฎหมายในบางมาตราที่เกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งคณะกรรมการ ที่ปรึกษาของคณะกรรมการ และคณะกรรมการการแพทย์ รวมถึงให้คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนตามกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน พ้นจากตำแหน่ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท