นอร์เบิร์ต โรเปอร์ส เผย 4 ผลลัพธ์แก้ขัดแย้ง 4 ปัจจัยเปลี่ยนสู้ด้วยอาวุธมาเป็นการเมือง

ทฤษฎีจากสถานการณ์จริง บทเรียนแก้ไขความขัดแย้งในโลกต่อชายแดนใต้/ปาตานี นักวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ เผย 4 ผลลัพธ์ของการแก้ไขความขัดแย้ง 4 ปัจจัยที่เปลี่ยนการต่อสู้ด้วยการใช้อาวุธมาเป็นการต่อสู้ในแนวทางทางการเมือง

ดร.นอร์เบิร์ต โรเปอร์ส นักวิจัยอาวุโสสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ปัตตานี และอาจารย์ประจำสถาบันสันติศึกษา ม.อ.หาดใหญ่นำเสนอบทเรียน “เค้าโครงทฤษฎี” จากสถานการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่จริงจากทั่วทุกมุมโลกสู่การวิเคราะห์จุดตัดของเวลาที่นำไปสู่สถานการณ์เปลี่ยนไปและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นเมื่อการเมืองถูกนำมาเป็นปัจจัยหลักในการต่อรอง

โลกของเรากับพื้นที่ของคนกลุ่มน้อย

ดร.นอร์เบิร์ต เริ่มต้นการนำเสนอว่า เราอยู่ในประวัติศาสตร์ของกระบวนการสันติภาพของทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการต่อสู่เข้าสู่กระบวนการทางการเมืองหรือการพูดคุยเจรจา หากเปิดพื้นที่ให้กับกลุ่มที่มีอำนาจน้อยกว่าได้พูดคุยเรื่องประวัติศาสตร์มากเทาไหร่ ก็จะนำไปสู่การกำหนดอนาคตได้มากและง่ายขึ้น แน่นอนว่าการเรียนรู้อดีตมีความสำคัญ แม้จะมีความเจ็บปวดเป็นความทรงจำบาดแผล ทว่ายิ่งเราเรียนรู้มากเท่าไหร่ก็จะเป็นบทเรียนเพื่อจะได้ไม่ย้อนรอยกลับไปเหมือนเก่า

ในความขัดแย้งระหว่างฝ่ายที่มีอำนาจปกครองกับกลุ่มที่ทำการเคลื่อนไหวต่อต้าน ในระยะเริ่มต้นขบวนการเคลื่อนไหวมักเป็นไปด้วยการใช้ความรุนแรง ในขณะเดียวกันการใช้แนวทางการต่อสู้ทางการเมืองแทบไม่ค่อยมีบทบาท คือการใช้อาวุธจะมีบทบาทและเข้มข้นกว่าการต่อสู้ด้วยแนวทางการเมือง

จนมาระยะหนึ่งที่การต่อสู้ทางการเมืองเริ่มมีแนวโน้มที่สูงขึ้นจากเหตุปัจจัยต่างๆ ที่มีอยู่อย่างมากมายทั้งปัจจัยภายนอกและภายในขบวนการเอง การใช้กำลังอาวุธก็จะลดลงมาซึ่งหากลากเส้นสองเส้นดังกล่าวก็จะมาถึงจุดตัดกันของเส้นกราฟ คือเส้นการใช้อาวุธจากเดิมที่สูงกว่าก็เริ่มดิ่งลงมาและแนวทางการเมืองก็ขยับพุ่งขึ้นไป

จุดตัดของการต่อสู้ด้วยอาวุธกับการเมือง

ดร.นอร์เบิร์ต กล่าวต่อไปว่า จากที่พบมาสิ่งสำคัญที่สุดคือ การมาถึงจุดตัดดังกล่าว (ระหว่างการต่อสู้ด้วยอาวุธกับการต่อสู้ด้วยแนวทางทางการเมือง) ซึ่งอาจจะนำไปสู่การยุติความขัดแย้งได้ แม้ว่าต้องใช้เวลาอีกพอสมควร ซึ่งในพื้นที่ความขัดแย้งของจังหวัดชายแดนใต้ที่กลุ่ม MARA PATANI ออกมานำเสนอความต้องการของกลุ่มต่อรัฐไทย จะถือว่าเราเดินทางมาถึงจุดตัดดังกล่าวแล้วรึยังก็ยังต้องถกเถียงกัน อย่างไรก็ตามการนำบทเรียนจากประเทศอื่นๆ มาศึกษาดูย่อมเป็นประโยชน์

4 ผลลัพธ์ของการแก้ไขความขัดแย้ง

ดร.นอร์เบิร์ต กล่าวว่า จากการติดตามกระบวนการต่อสู้ในประเทศต่างๆ ผลลัพธ์ของความขัดแย้งจากทั่วโลกสรุปได้ 4 ผลลัพธ์ คือ

แบบที่ 1 ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีชัยชนะเด็ดขาด ซึ่งหาได้ยากมากจากทั่วโลก มีประมาณ 5-10 % เท่านั้น เช่น กระบวนการเคลื่อนไหวของซูดานใต้ที่เอาชนะรัฐบาลได้เพราะมีกองกำลังทหารที่เข้มแข็ง และมีการทำประชามติจากประชาชนทำให้ได้รับชัยชนะ แต่ถึงอย่างนั้นปรากฏว่าความขัดแย้งที่สะสมตลอด 30 ปีส่งผลต่อชีวิตและวัฒนธรรมของประชาชน มีปัญหารุมเร้าซึ่งเป็นราคาที่ต้องจ่ายอย่างต่อเนื่องไปอีกหลายปี

แบบที่ 2 ฝ่ายกระบวนการเคลื่อนไหวพ่ายแพ้ เช่นที่ประเทศศรีลังกา กลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลม (LTTE ) ถูกปราบปรามอย่างรุนแรงจากรัฐบาล ซึ่งเกิดจากความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงเพราะไปมั่นใจการต่อสู้ทางทหารเพียงปีกเดียว แต่ไม่มีการผนึกกำลังจากปีกทางการเมืองเข้ามาร่วม ขณะที่รัฐบาลศรีลังกามีประเทศอเมริกาและอินเดียสนับสนุนอยู่

แบบที่ 3 คือความขัดแย้งถูกแช่แข็ง คือความขัดแย้งอยู่ในระดับต่ำ เช่นกรณีของประเทศไซปรัสที่ถูกแบ่งเป็นเหนือใต้ชัดเจน และมีความขัดแย้งกรุ่นๆ อยู่อย่างไม่รู้ว่าจะจบลงเมื่อใด รวมทั้งที่แคชเมียร์ก็มีการแบ่งแยกและมีความขัดแย้งลักษณะเดียวกัน

แบบที่ 4 คือยุติความขัดแย้งด้วยการเจรจา ซึ่งเป็นแบบที่ยากที่สุดเพราะต้องมีการเรียนรู้ คิดหาทางออกเพื่อให้ได้มาซึ่งการยุติความขัดแย้ง หาวิธีการเจรจาที่สองฝ่ายต่างก็ยอมรับได้ ต่างจากแบบที่หนึ่งถึงสามที่ลงมือปฏิบัติการเลยโดยไม่ต้องสนใจการเรียนรู้

ทฤษฎีการตอบสนองความขัดแย้ง

ดร.นอร์เบิร์ต กล่าวว่า โดยปกติการตอบสนองต่อต่อความขัดแย้งของกลุ่มต่อต้านรัฐ หรือการต่อสู้ของฝ่ายต่อต้านรัฐ อันดับแรกจะเริ่มต้นด้วยการใช้แนวทางการเมืองก่อน เช่น การตั้งพรรคการเมือง การผลักดันนโยบาย การรณรงค์หรือใช้วิธีการทางการทูต การเจรจา และการฟ้องร้องดำเนินคดีคู่ขัดแย้ง ซึ่งหากทั้งหมดนี้ไม่ได้ผล การต้อสู้ก็จะขยับไปสู่รูปแบบที่สอง คือ การต่อต้านโดยไม่ใช้อาวุธและการต่อต้านโดยใช้อาวุธ

การต่อต้านโดยไม่ใช้อาวุธ เช่น แรกด้วยการประท้วงหน้าทำเนียบรัฐบาล หรือแกนนำเข้าไปโน้มน้าวอีกฝ่ายหนึ่ง หรือใช้วิธีอารยะขัดขืน เช่น กลุ่มต่อต้านที่ต้องการปกครองตนเองในประเทศอิตาลีไม่ยอมจ่ายภาษีให้รัฐ หรือการก่อกวนทำให้ยุ่งเหยิง เช่นในกรณีของเนปาลที่มีการหยุดการเดินรถไม่ให้คนไปทำงานได้ เป็นการสร้างแรงกดดันแก่รัฐบาลของตัวเอง และการต่อต้านอย่างสร้างสรรค์ เช่น การติดแบนเนอร์ (ธง,สัญลักษณ์) ไปทั่วว่าต้องการอะไร

แต่เมื่อพบว่าการวิธีนี้ยังไม่ประสบผลอีกก็จะขยับไปสู่การต่อต้านด้วยกำลังอาวุธ เช่น เมื่อพบว่าการประท้วงไม่เป็นผล ก็เริ่มมีการปาก้อนหินใส่ฝ่ายเจ้าหน้าที่หรือวิธีอื่นๆ ที่รุนแรงยิ่งกว่า

อีกวิธีการคือการก่อวินาศกรรมทำลายทรัพย์สิน เช่น การตัดกระแสไฟในเมือง หรือขยับไปเป็นสงครามกองโจร หรือหากมีสรรพกำลังมากกว่านั้น ก็ใช้สงครามตามรูปแบบเหมือนที่ขบวนการเมาอิสท์ใช้ในเนปาล

4 ปัจจัยที่เปลี่ยนการใช้อาวุธมาเป็นการเมือง

ดร.นอร์เบิร์ต กล่าวต่อไปว่า สำหรับกลไกเพื่อการเปลี่ยนแปลงหรือกระบวนการกลายเป็นการเมือง หมายถึงการเปลี่ยนผ่านจากการใช้ความรุนแรงหรือใช้อาวุธ ไปสู่แนวทางการเมือง มีอยู่ 4 ปัจจัย คือ

หนึ่งปัจจัยภายใน เช่น การเปลี่ยนความคิดของผู้นำ เช่นในปาเลสไตน์ ผู้นำคือยัสเซอร์ อารอฟัต ในปี 1974 หลังการสูญเสียมากกมายก็ได้เปลี่ยนความคิดจากที่ต่อสู้ด้วยอาวุธมาสู่แนวทางการเมือง ต่อมาคือการเปลี่ยนอำนาจผู้นำการเมืองการทหาร หรือแม้แต่ความอ่อนล้าจากความรุนแรงของขบวนการเอง เช่นกรณีของฟาร์กในโคลัมเบีย ที่เริ่มอ่อนล้าจากการต่อสู้แล้วค่อยเปลี่ยนมาสู่การเจรจาและการต่อสู้ทางการเมืองแทน

ปัจจัยที่เป็นกลุ่มสังคมหรือประชาชนในพื้นที่ เช่น มีแรงกดดันจากมวลชนพลเรือนในพื้นที่ซึ่งนิยมการไม่ใช้ความรุนแรงหากออกมามากก็จะสร้างแรงกดดันคนในระดับนำได้ หรือกลุ่มเคลื่อนไหวที่ไม่ติดอาวุธมีพลังพอ ก็ทำให้ระดับนำกลับมาทบทวนยุทธศาสตร์การต่อสู้เสียใหม่ เช่นในกรณีของประเทศไอร์แลนด์เหนือที่ขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชนและกลุ่มผู้หญิงออกมารณรงค์ทำให้ผู้นำกลุ่มไออาร์เอทบทวนและหันมาใช้แนวทางเจรจา หรือเกิดมียุทธศาสตร์ทางเลือกด้านการเมืองที่มีความเป็นไปได้ เช่นประเทศพม่า ซึ่งเมื่อก่อนกองกำลังติดอาวุธจะมีอำนาจมาก แต่เมื่อชนกลุ่มน้อยเข้าร่วมข้อตกลงหยุดยิงกับรัฐบาลพม่า ทำให้อำนาจที่เคยเป็นของกองกำลังติดอาวุธเคลื่อนไปอยู่กับกลุ่มไม่ติดอาวุธ หรือพรรคการเมืองของชนกลุ่มน้อยแทน

ปัจจัยจากกลุ่มรัฐ เช่น รัฐเสนอกระบวนการสันติภาพที่เป็นไปได้และมีความตั้งใจจริง ทำให้ระดับนำของกลุ่มต่อสู้เปลี่ยนความคิดได้ง่ายขึ้น และเปลี่ยนยุทธศาสตร์จากอาวุธมาเป็นการเมืองง่ายขึ้น ตัวอย่างเช่นในมินดาเนาและอาเจะห์ที่รัฐบาลมีนโยบายสันติภาพทำให้มีการเจรจากัน หรือว่าในทางตรงกันข้าม คือ รัฐต่อต้านกลุ่มติดอาวุธอย่างเข้มแข็งมาก มีกองทัพที่เข้มแข็งและนโยบายที่ชัดเจนในการจัดการด้วยความรุนแรง ก็อาจทำให้ขบวนการหันมาสู่แนวทางการเมือง เช่นที่ประเทศเปรู

ปัจจัยจากกลุ่มชุมชนระหว่างประเทศ คือเกิดแรงสนับสนุนหรือแรงกดดันจากนานาชาติเข้ามา ทำให้กลุ่มระดับนำในการต่อสู้ต้องคิดทบทวน ค่อยๆ ขยับจากกองกำลังติดอาวุธ มาเป็นไม่ติดอาวุธ และแนวทางการเมืองมากขึ้น เช่น กรณีในประเทศแอฟริกา คือ เอเอ็นซี ที่ได้เปลี่ยนยุทธศาสตร์จากการใช้อาวุธก่อการร้าย มาเป็นการต่อสู้ทางเมือง เพราะในปี 1983 เอเอ็นซีได้รับการแนะนำจากเวียตกง ซึ่งประสบผลสำเร็จจากการทำสงครามกับอเมริกาว่า หากต้องการชัยชนะจะต้องมีทั้งการต่อสู้ด้วยอาวุธและแนวทางการเมืองร่วมด้วย ซึ่งยิ่งจะได้รับการสนับสนุนจากต่างชาติด้วย ทำให้ระดับนำของ เอเอ็นซี หันมาใช้แนวทางการเมืองในการต่อสู้

ทั้งหมดนี้เป็นแนวทางในการเปลี่ยนการต่อสู้ด้วยการใช้กำลังอาวุธสู่แนวทางการเมือง ซึ่งในกระบวนการสันติภาพจำเป็นต้องเข้าใจปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท