Skip to main content
sharethis

วันที่ 15 พฤศจิกายน ของทุกปี สมาคมนักเขียนสากล PEN International จัดการรณรงศ์และงานต่างๆ สำหรับวันแห่งนักเขียนที่ติดคุก (Day of the Imprisoned Writer) เพื่อกระตุ้นให้ชาวโลกรู้จักและตระหนักถึงนักเขียนที่ถูกการกลั่นแกล้งเนื่องจากการแสดงออก การจัดงานวันนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานหลักของ PEN ที่ติดตามและทำการรณรงศ์เพื่อสนับสนุนและต่อสู้เพื่อความยุติธรรมในกรณีนักเขียนหลายร้อยคนที่ถูกคุกคาม ถูกข่มเหง ถูกทำร้าย ถูกผลักออกจากประเทศบ้านเกิด และถูกสังหาร

เป้าหมายของวันแห่งนักเขียนที่ติดคุกคือ สะท้อนให้เห็นความอยุติธรรมของการติดคุกจากการเขียนและการแสดงออกชนิดต่างๆ กระตุ้นการระลึกถึงนักเขียนที่ถูกฆ่าไม่ให้ถูกลืม และแสดงจุดยืนเป็นเพื่อนร่วมการต่อสู้ (solidarity) กับนักเขียนหรือศิลปินที่ติดคุกหรือถูกคุกคาม

ปีนี้เป็นครั้งที่ 34 ที่ PEN International จัดวันแห่งนักเขียนที่ติดคุก แต่ละปี PEN เลือกกรณีหนึ่งจากแต่ละภูมิภาคของโลกเพื่อขับเน้นและทำการรณรงศ์เป็นพิเศษ

นักเขียนจากภูมิภาคเอเซียปีนี้คือ ภรณ์ทิพย์ มั่นคง และ ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม ศิลปินผู้ร่วมเขียนบทและจัดทำละครเวที เจ้าสาวหมาป่า สองคนถูกจับกลางเดือนสิงหาคม 2557 ในข้อหาความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากการแสดงละครเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2556 ในงานรำลึก 40 ปี 14 ตุลา ที่หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2558 ศาลอาญาตัดสินจำคุก 5 ปี ทั้งสองคนรับสารภาพจึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงเหลือจำคุก 2 ปี 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา

ในครั้งนี้ PEN ยังมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อสำหรับกรณีนี้ ประกอบด้วย

1. ปล่อยตัวนักแสดงทั้งสองโดยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข เนื่องจากการแสดงของพวกเขาถือเป็นการแสดงออกโดยสันติ ตามที่ได้รับการรับรองไว้ในมาตรา 9 และมาตรา 19 ของ ICCPR

2. ย้ำถึงความกังวลต่อความปลอดภัยของนักเขียน นักวิชาการ และนักกิจกรรมในประเทศไทย ซึ่งเสี่ยงต่อการถูกคุกคามและคุมขังเพียงเพราะการแสดงความเห็นอย่างสันติ

3. เรียกร้องให้ทางการไทยแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา โดยเฉพาะมาตรา 112 เพื่อให้คุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกตามกติกาสากลที่ไทยมีพันธะผูกพัน

PEN ขอให้ผู้ที่ห่วงใยในเสรีภาพการแสดงออกได้ร่วมการณรงศ์ครั้งนี้โดย 1.เขียนจดหมายเรียกร้องถึง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะทหาร คสช. ในปัจจุบัน และ พล.อ. ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในปัจจุบัน ให้รัฐบาลดำเนินการปล่อย ภรณ์ทิพย์ และ ปติวัฒน์ โดยทันที และหยุดการคุกคามนักเขียนและคนอื่นที่ตกอยู่ในความเสี่ยงเพียงเพราะการแสดงออก รวมถึงเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมาย 2.เขียนจดหมายและโปสการ์ดทักทายและให้กำลังใจส่งถึงภรณ์ทิพย์ ปติวัฒน์ และผู้ต้องหาในลักษณะเดียวกันในเรือนจำ

ทั้งนี้ ในประเทศไทย นอกเหนือจากประชาชนทั่วไปแล้ว ยังมีนักเขียน บรรณาธิการ ที่ถูกลงโทษจำคุกด้วยคดี 112 อีกหลายราย เช่น สมยศ พฤกษาเกษมสุข บรรณาธิการนิตยสาร Voice of Taksin, สิริภพ หรือนามปากกา รุ่งศิลา กวี นักเขียนอิสระและบล็อกเกอร์ รวมถึง สมศักดิ์ ภักดีเดช บรรณาธิการเว็บไซต์ไทยอีนิวส์ เป็นต้น

เป็นครั้งแรกใน 34 ปีที่กรณีของไทยถูกเลือกเป็นประเด็นของการรณรงค์ในวันนักเขียนผู้ถูกจองจำ ท่ามกลางการใช้มาตรา 112 ที่ขยายตัวและมีแนวโน้มการจัดการที่รุนแรงมากขึ้นในประเทศไทย และสภาพการณ์ที่รัฐทหารใช้วิถีอื่นๆ ในจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและคุกคามผู้ที่เห็นต่างจากคณะทหาร เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในภูมิภาคแล้ว ความไม่ปกติในประเทศไทยภายใต้รัฐเผด็จการทหารนั้นปรากฏอย่างเด่นชัด

สำหรับนักเขียนจากภูมิภาคอเมริกาคือ Juan Carlos Argeñal Medina เขาเป็นชาวฮอนดูรัสและเป็นนักข่าวโทรทัศน์ที่วิเคราะห์การคอร์รัปชั่นในรัฐบาลอย่างตรงไปตรงมา เขาถูกยิงเสียชีวิตในบ้านพักโดยมือถือในธันวาคม 2013 ขณะอายุ 43 ปี บรรดาญาติและเพื่อนของเขาเชื่อว่าเขาถูกฆ่าเพราะการเปิดโปงตีข่าวการโกงในโรงพยาบาลท้องถิ่น ก่อนที่ถูกสังหารเขาได้รับการเตือนจากผู้ที่เขาเชื่อว่าเกี่ยวข้องการฝ่ายบริหารโรงพยาบาล  จนถึงทุกวันนี้รัฐยังไม่สามารถนำตัวผู้กระทำความผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ แม้การสังหาร Argeñal จะเกิดขึ้นเกือบสองปีแล้วแต่ยังแทบไม่มีความคืบหน้าในการสอบสวนคดีเลย

ในโอกาศวันแห่งนักเขียนที่ติดคุก PEN เรียกร้องขอให้รัฐฮอนดูรัสเร่งสอบสวนคดีและนำมือสังหารรวมถึงผู้เบื้องหลังเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมโดยไม่ลังเลล่าช้า ทำการสอบสวนหาความจริงถึงความสัมพันธ์ระหว่าการสังหาร Argeñal กับการทำข่าวเกี่ยวกับเรื่องการโกงของเขา และปกป้องญาติของ Argeñal และคนอื่นๆ ที่ทำการรณรงศเรียกร้องความยุติธรรมในการณีการสังหารเขา

PEN ติดตามการสังหารนักข่าวกรณีต่างๆ ในฮอนดูรัสอย่างใกล้ชิดและพบว่าตั้งแต่ปี 2003 มีนักข่าวอย่างน้อย 54 คนที่ถูกสังหาร ในจำนวนนี้ 48 กรณีเกิดขึ้นหลังรัฐประหารครั้งล่าสุดในมิถุนายน 2009 (PEN รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับกรณีการสังหารนักข่าวฮอนดูรัสในรายงานที่ออกในปี 2014 อ่านและดาวน์โหลดที่นี่: Honduras: Journalism in the Shadow of Impunity)

นักเขียนจากภูมิภาคยุโรปคือ Khadija Ismayilova ชาวอาเซอร์ไบจาน อายุ 39 ปี เป็นนักข่าวและผู้ดำเนินรายการวิทยุ Radio Free Europe และ Radio Liberty เขาเป็นที่รู้จักทั้งในประเทศตนเองและเป็นที่ชื่นชมจากทั่วโลกด้วยการวิเคราะห์การปราบปรามผู้ที่คิดต่างกันโดยรัฐบาลอาเซอร์ใบจาน นอกจากนี้ Ismayilova  เป็นสมาชิกของโครงการการรายงานข่าวขบวนการอาชาญกรรมและการโกง (Organized Crime and Corruption Reporting Project) ก่อนถูกจับ Ismayilova ทำข่าวเกี่ยวกับการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายของประธานอธิบดีของประเทศและครอบครัว อันแสดงถึงความร่วมมือระหว่างกลุ่มทุนและรัฐเพื่อแสวงหาผลประโยชน์โดยไม่เป็นธรรมและไม่ชอบด้วยกฎหมาย (อ่านงานเขียนต่างๆ และเข้าถึงข้อมูลโดยละเอียดเกี่ยวกับคดีได้ที่นี่: The Khadija Project) ตั้งแต่ปี 2013 Ismayilova โดนคุกคามเรื่อยมา เดือนธันวาคม 2014 เขาถูกจับโดยไม่มีข้อกล่าวหาและถูกปฏิเสธการประกันตัว เดือนกันยายน 2015 เขาถูกพิพากษาว่ายักยอกภาษีและโกง ศาลสั่งจำคุก 7 ปี 6 เดือน

PEN มีความคิดห็นว่าคดีของเขาและคำพิพากษาเป็นการตอบโต้จากรัฐและผู้มีอำนาจอื่นๆ สืบเนื่องจากกรณีที่ Ismayilova พยายามทำข่าวและเปิดเผยการคอร์รัปชั่นของรัฐบาล Ismayilova เคยได้รับรางวัลต่างๆ ประกอบด้วย 2015 PEN America Barbara Goldsmith Freedom to Write Award ในโอกาสวันแห่งนักเขียนที่ติดคุก PEN เรียกร้องขอให้รัฐอาเซอร์ไบจานปล่อย Ismayilova โดยทันที่และหยุดการดำเนินคดีต่อนักข่าว

นักเขียนจากภูมิภาคตะวันออกกลางคือ Raif Badawi เป็นชาวซาอุดิอาระเบีย เขาเป็นบล็อกเกอร์และบรรณาธิการเว็บไซต์เครื่อข่ายชาวซาอุเสรีนิยม (Liberal Saudi Network) ที่ตั้งขึ้นเพื่อสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนและถกเถียงเรื่องทางสังคมและการเมือง Badawi ถูกจับในเดือนมิถุนายน 2555 ขณะกำลังจัดเวิร์คช็อปเรื่อง “วันแห่งเสรีนิยม” (“Day of Liberalism”) หลังจากนั้นเขาถูกกล่าวหาว่า “ตั้งเว็บไซต์เสรีนิยม” (“founding a liberal website”) “เลือกใช้แนวคิดเสรีนิยม” (“adopting liberal thought”) และ “ดูหมิ่นศาสนาอิสลาม” (“insulting Islam”) เดือนกรกฎาคม 2556 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าเขากระทำผิดจริง ลงโทษจำคุก 7 ปี 3 เดือน ถูกเฆี่ยน 600 ครั้ง และเว็บไซต์ถูกสั่งปิด ทนายความของ Badawi อุทธรณ์ขอให้ยกฟ้องด้วยเหตุที่กระบวนการไม่เป็นไปตามหลักวิธีพิจารณาความอาญา แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ทั้งยังเพิ่มโทษเป็นจำคุก 10 ปี ถูกเฆี่ยน 1000 ครั้ง พร้อมค่าปรับ 1 ล้านเรียลซาอุ (ประมาณ 9.5 ล้านบาท) รวมทั้งห้ามเดินทางนอกประเทศและห้ามร่วมทำสื่อหรือเขียนงานใดๆ ทั้งในสิ่งพิมพ์กระดาษและอิเล็กทรอนิกส์ในระหว่าง 10 ปีนี้ซึ่งกินเวลายาวนานไปจนถึงหลังจากออกจากคุกด้วยซ้ำ 1 เดือนหลังศาลอุทธรณ์พิพากษา  Waleed Abu al-Khair ทนายความและพี่เขยของ Badawi ถูกจับและไม่นานหลังจากนั้นถูกพิพากษาว่าผิดในข้อหาทำลายรัฐและเจ้าหน้าที่รัฐ ปลุกปั่นสาธารณชน และดูหมิ่นศาล สั่งลงโทษจำคุดก 15 ปี

PEN International มีความคิดเห็นว่า Abu al-Khair ถูกกล่าวหาและดำเนินคดีเนื่องจากงานปกป้องการแสดงออกอย่างสันติและการทำงานเป็นทนายให้ Badawi และคนอื่นที่เคยวิเคราะห็วิจารณ์รัฐ สภาพความเป็นอยู่ในเรือนจำแย่มากและ Badawi มีโรคประจำตัวคือโรคเบาหวาน หนังสือเล่มที่รวบรวมงานเขียนชิ้นต่างๆของ Badawi เพิ่งออกมาไม่นานนี้ 1000 Lashes: Because I Say What I Think (เฆี่ยน 1000 ครั้ง: เนื่องจากผมพูดสิ่งที่คิด) Badawi เคยได้รับรางวัลต่างๆ ประกอบด้วย Sakharov Prize for Freedom of  Thought จากสหภาพยุโรปและ Pinter Prize จาก English PEN ปีนี้  ในโอกาศวันแห่งนักเขียนที่ติดคุก PEN เรียกร้องขอให้รัฐซาอุดิอาระเบีย ปล่อย Raif Badawi และ Waleed Abu al-Khair โดยทันทีและไม่มีเงื่อนไข และตกลงเป็นภาคีในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

นักเขียนจากภูมิภาคแอฟริกาคือ Amanuel Asrat ชาวเอริเทรีย เขาเป็นกวี นักวิจารณ์ และบรรณาธิการหนังสือพิมพ์นำ Zemen เมื่อ 14 ปีก่อนในเช้าวันที่ 23 กันยายน 2001 เขาถูกจับที่บ้านท่ามกลางการปราบปรามกวาดล้างสื่อมวลชน ในวันนั้นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เอกชนทุกฉบับถูกจับ ตั้งแต่วันนั้นมีแต่หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ และสำนักพิมพ์ที่รัฐเป็นเจ้าของเท่านั้นที่ยังดำเนินการได้ จนถึงปัจจุบันนี้ยังไม่มีข่าวชัดเจนเกี่ยวกับ Asrat  แต่ PEN ถือว่าเขาถูกกักขังไว้ทั้งที่ยังไม่ได้ถูกดำเนินคดีหรือแม้แต่ตั้งข้อกล่าวหา โดยข้อมูลเท่าที่พอมีอยู่ดูเหมือนว่าเขาถูกกักขังในเรือนจำความมั่นคงสูง Eiraeiro ที่อยู่ทิศเหนือจากเมืองหลวง Asmara สภาพในเรือนจำเอริเทรียนั้นย่ำแย่และเท่าที่มีข้อมูลปรากฏพบว่าเจ้าหน้าที่มักใช้การซ้อมทรมานเป็นประจำ ข้อมูลที่  PEN International ได้รวบรวมไว้ มีนักเขียน นักข่าว และนักการเมืองในเอริเทรีย อย่างน้อย 25 คนที่ถูกกักขังโดยมิชอบด้วยเหตุเพียงแค่แสดงออกซึ่งความคิดเห็นอย่างสันติ นอกจากการทำหนังสือพิมพ์ Asrat ยังเป็นกวีที่นำการเคลื่อนไหวสนับสนุนและฟื้นชุมชนกวีในเมืองต่างๆ ในเอริเทรีย บทกวีอันโด่งดังของ Asrat ชื่อ “War’s Curse” (“แช่งสงคราม”) ที่เล่าถึงความสยดสยองของการทำสงครามถูกแปลไปสู่หลายภาษาในวันแห่งการแปล 2015

ในโอกาสวันแห่งนักเขียนที่ติดคุก PEN ประณามการกักขัง Amanuel Asrat โดยมิชอบ และแสดงความเป็นห่วงต่อสุขภาพของเขาเนื่องจากเป็นที่ทราบกันว่าผู้ที่ถูกกักขังมักถูนการซ้อมทรมานและถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าถึงการรักษาสุขภาพ นอกจากนี้ยังเรียกร้องขอให้รัฐเอริเทรียเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับชีวิตและสภาพของนักข่าวนักเขียนทั้งหมดที่ถูกจับและปล่อยให้ทุกคนที่ยังมีชีวิตอยู่โดยทันที  

ดูข้อมูลเพิ่มเติมและหาทางร่วมในการรณรงศ์ที่นี้: PEN marks the 34th anniversary of the Day of the Imprisoned Writer

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net