iLaw รายงาน แง้มคุก มทบ.11 จากปากคำทนาย 'อาเดม'

"บรรยากาศแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง" คือ คำพูดแรกของ "ชูชาติ กันภัย" ทนายความของ อาเดม คาราดัก ผู้ต้องหาคดีเหตุระเบิดราชประสงค์  เมื่อเปรียบระหว่างเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี ที่ตั้งอยู่ภายในมทบ. 11 กับเรือนจำอื่นๆ หลังเขาเคยเข้าไปพบผู้ต้องหาเพื่อให้คำปรึกษาทางกฎหมายที่เรือนจำชั่วคราวแห่งนี้ตลอดช่วงสองเดือนที่ผ่านมา

ทนายชูชาติเล่าว่า ได้เข้าไปเยี่ยมอาเดม คาราดัก ผู้ต้องหาชาวตุรกีครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2558 ขณะนั้นผู้ต้องหาถูกนำตัวไปขังที่เรือนจำชั่วคราว ภายในมทบ.11 แล้ว พื้นที่ที่ทนายความมีโอกาสเข้าไปนั่งคุยกับผู้ต้องหาเป็นพื้นที่ส่วนตึกบัญชาการ ไม่ใช่ส่วนที่ใช้คุมขังผู้ต้องหา เพราะพื้นที่คุมขังนั้นไม่อนุญาตให้ผู้อื่นเข้า

เมื่อได้เข้าไป ก็ได้ทราบว่าผู้ที่ถูกคุมขังที่เรือนจำแห่งนี้ มีแค่ผู้ต้องหาคดีระเบิดเหตุราชประสงค์เพียง 2 คน คือ อาเดม คาราดัก และ เมียไรลี ยูซูฟู ซึ่งเจ้าหน้าที่ขังแยกกัน โดยระหว่างติดต่อขอพบผู้ต้องหา เจ้าหน้าที่จะพาตัวผู้ต้องหาเดินมาจากข้างหลังตึก คะเนด้วยสายตาและระยะทางที่พาตัวผู้ต้องหามา คือ ประมาณ 500 เมตร ทุกครั้งที่พาตัวผู้ต้องหามา ผู้ต้องหาจะถูกปิดตา

เท่าที่สังเกต ทนายชูชาติพบว่า เจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่ควบคุมผู้ต้องหา คือ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ที่ถูกส่งตัวมาประจำที่เรือนจำนี้ โดยมีทหารพร้อมอาวุธครบมือ 4-5 นาย และคอยควบคุมตัวจำเลยในสภาพปิดตาและใส่กุญแจมือและกุญแจเท้า ระหว่างการพูดคุยกับทนายความก็มีเจ้าหน้าที่ทหารประกบอยู่ตลอดเวลา และคอยจดบันทึกข้อความที่ทนายคุยกับผู้ต้องหา รวมถึงบันทึกเสียงการสนทนาไว้ แต่ทนายชูชาติก็ไม่ได้ติดใจอะไร เพราะเข้าใจว่าเป็นกฎระเบียบของทางเรือนจำ

สัปดาห์ต่อมา ทนายชูชาติไปเข้าเยี่ยมผู้ต้องหาอีกครั้ง แต่คราวนี้เข้าเยี่ยมไม่ได้ โดยเจ้าหน้าที่แจ้งว่าผู้ต้องหาป่วย และทนายความต้องมีใบแต่งตั้งทนายจากศาลทหาร เขาจึงไปทำเรื่องขอใบแต่งตั้งทนายใหม่ที่ศาลทหาร แต่ใบแต่งตั้งทนายความก็ต้องให้ผู้ต้องหาลงชื่อด้วยซึ่งก็ยังให้ผู้ต้องหาลงชื่อในวันนั้นไม่ได้

ต่อมามีนักข่าวติดต่อสอบถามมาว่า รู้เรื่องที่ลูกความของเขารับสารภาพหรือยัง ทนายชูชาติจึงพยายามติดต่อไปที่ศาลและเรือนจำ แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบ หลังจากนั้นก็ถูกกีดกันไม่ให้เข้าเยี่ยมผู้ต้องหาอีก 2-3 ครั้ง โดยพลตรีวิจารณ์ จดแตง หัวหน้าฝ่ายกฎหมายและสิทธิมนุษยชนให้คำตอบกับทนายว่า "ผู้ต้องหามีทนายอยู่แล้ว ที่ศาลตั้งให้ จะให้มีทนายอีกได้อย่างไร?" และขณะนั้นมีกระแสข่าวว่า ผู้ต้องหาให้การรับสารภาพ

แต่เนื่องจากเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ที่เรือนจำยืนยันว่าเขายังเป็นทนาย เขาจึงไปทำใบแต่งตั้งทนายอีกครั้งที่ศาลทหาร และจึงเข้าพบได้ ซึ่งการเข้าพบครั้งหลังปรากฎว่า เมื่อทนายจะถามคำถามอะไรกับผู้ต้องหา ต้องเขียนคำถามไปให้เจ้าหน้าที่ดูก่อนว่าจะถามได้กี่ข้อ ตอนแรกเขายื่นคำถามไป 10 ข้อ แต่ได้รับอนุญาตให้ถามอยู่ 6-7 ข้อ โดยคำถามนั้นส่งให้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ซึ่งจะปรึกษากับทหารว่าจะให้ถามได้กี่ข้อ และระหว่างถามก็มีเจ้าหน้าที่ทหารยืนคุมทุกครั้ง คำถามที่ถามได้จะเป็นคำถามปลายปิด ส่วนคำถามปลายเปิดจะถามไม่ได้

ขณะที่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เล่าให้ทนายชูชาติว่า ระหว่างการควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำแห่งนี้ ผู้ต้องหาจะถูกสอบสวนจากฝ่ายความมั่นคงอยู่บ่อยๆ

ทนายชูชาติเล่าว่า ช่วงครั้งหลังสุดที่ไปเยี่ยมอาเดม เป็นช่วงที่ผู้ต้องหาคดี 112 จากการแอบอ้างสถาบันฯ ของกลุ่ม "หมอหยอง" เข้าไปอยู่ที่นั่นแล้ว แต่ระเบียบการก็ยังคงเดิม ทนายชูชาติเล่าด้วยว่า ช่วงแรกที่มาที่นี่ มีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์มาดูแลและควบคุมผู้ต้องหาอยู่ประมาณ 2-3 คน ตอนนี้น่าจะมีประมาณ 10 คนแล้ว เพราะมีนักโทษมาเพิ่มและมีเหตุการณ์การตายของ พ.ต.ต.ปรากรม วารุณประภา ในห้องขัง ทั้งนี้บรรยากาศและอำนาจควบคุมผู้ต้องหายังเป็นของเจ้าหน้าที่ทหารกลายๆ อยู่

ส่วนระเบียบการการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง ทนายชูชาติให้ข้อมูลว่า ที่เรือนจำชั่วคราวแขวงนครไชยศรีใช้ระเบียบของกรมราชทัณฑ์เหมือนกับเรือนจำอื่นทั่วประเทศแทบทุกประการ ส่วนทางปฏิบัติจะเป็นอย่างไรนั้นไม่ทราบ เพราะไม่ได้เห็นข้างใน แต่สำหรับทนายความแล้ว มีเงื่อนไขเพิ่มจากปกติ คือ การเข้าเยี่ยมต้องมีใบแต่งตั้งที่ศาลนั้นๆ เซ็นรับรอง ซึ่งปกติเรือนจำโดยทั่วไปไม่ต้องใช้ ใช้แค่สำเนาใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทนายความก็พอ

เป็นที่แน่นอนว่า จากกระแสข่าวเรื่องราวคดีแอบอ้างสถาบันฯ ที่มีผู้ต้องหาเสียชีวิตถึง 2 จาก 3 คน คือ พ.ต.ต ปรากรม วารุณประภา เสียชีวิตวันที่ 23 ตุลาคม 2558  และสุริยัน สุจริตพลวงศ์หรือ "หมอหยอง" เสียชีวิตวันที่ 7 พฤศจิกายน 2558  ทำให้ขณะนี้สังคมเกิดตั้งคำถามถึงสภาพการควบคุมตัวและวิธีปฏิบัติต่อผู้ต้องหาของเจ้าหน้าที่ภายในพื้นที่เรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี ที่ถูกทำให้เป็น "แดนสนธยา"

หมายเหตุ:
-ชื่อรายงานเดิม: บรรยากาศ "แดนสนธยา" ในเรือนจำชั่วคราว มทบ.11 จากสายตาทนายที่เข้าเยี่ยม
-เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://ilaw.or.th/node/3934
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท