รัฐยึดมติ UN ร่างนโยบายให้ผู้หญิงร่วมสร้างสันติภาพ เริ่มที่ชายแดนใต้

13 พ.ย.2558 เมื่อเวลา 09.00 น. ที่โรงแรมหรรษาเจบี หาดใหญ่ จ.สงขลา นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นประธานในพิธีเปิดกำหนดการการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อร่างนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านสตรีกับการส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคง โดยมีผู้เข้าร่วม 120 คน ส่วนใหญ่ตัวแทนองค์กรสตรีในจังหวัดชายแดนภาคใต้

เผยโต๊ะสันติภาพ 31 ครั้งผู้หญิงมีส่วนร่วมน้อย

นายเลิศปัญญา กล่าวว่า เมื่อพูดถึงการแก้ปัญหาความขัดแย้งและการสร้างสันติภาพมักจะนึกว่าเป็นพื้นที่ของผู้ชายในการจัดการกับปัญหาดังกล่าว ซึ่งส่งผลต่อโอกาสการมีส่วนรวมของผู้หญิงด้วย

“จากการศึกษาของ UN Women (องค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ) พบว่า ในกระบวนการสันติภาพ 31 ครั้งที่สำคัญๆ ที่ผ่านมา ตั้งแต่ช่วงปี 2542 ถึง 2554 มีผู้หญิงที่มีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพน้อยมาก คือมีจำนวนผู้หญิงที่เป็นผู้ลงนามในข้อตกลงสันติภาพเพียงร้อยละ 4  และเป็นผู้นำในการไกล่เกลี่ยความขัดแย้งร้อยละ 2.4 เป็นพยานในกระบวนการสันติภาพร้อยละ 3.7 และเป็นผู้เจรจา ร้อยละ 9 ซึ่งเป็นตัวเลขที่น้อยมาก” นายเลิศปัญญา กล่าว

นายเลิศปัญญา กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของประเทศไทยถึงแม้ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน แต่จากการพิจารณาและผ่านสื่อต่างๆ จะเห็นได้ว่าผู้หญิงมีโอกาสเจรจาความขัคแย้งน้อยมาก ไม่ค่อยมีประเด็นผู้หญิงหรือไม่ค่อยมีปากเสียงมาก ซึ่งประชาคมโลกรวมถึงประเทศไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญในการส่งเสริมให้ผู้หญิงมีบทบาทในการมีส่วนร่วมจัดการความขัดแย้งและกระบวนการสร้างสันติภาพในทุกระดับ 

ยึดมติสหประชาชาติให้ผู้หญิงร่วมสร้างสันติภาพ

 “รวมทั้งตระหนักถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้หญิงในสถานการณ์ความขัดแย้ง ซึ่งคณะมนตรีแห่งสหประชาชาติได้รับรับรองมติที่ 1325 เรื่องผู้หญิงกับสันติภาพและความมั่นคงเมื่อปี 2543 รวมถึงข้อมติอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง” นายเลิศปัญญา กล่าว

นายเลิศปัญญา กล่าวว่า ประเทศไทยได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานตามข้อมติของสหประชาชาติที่ 1325 โดยจัดการอบรมและสร้างศักยภาพของผู้หญิงให้มีทักษะในการจัดการความขัดแย้งและการสร้างสันติภาพ รวมทั้งการปรับเปลี่ยนทัศนคติของเจ้าหน้าที่รัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ปฏิบัติหน้าที่ป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้หญิง และเปิดโอกาสให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพและแก้ปัญหาในพื้นที่ การประชุมครั้งนี้เป็นโอกาสดีในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อเสนอต่างๆ ต่อการร่างนโยบายและยุทธศาสตร์ดังกล่าว เพื่อให้ประเทศไทยมีทิศทางที่ชัดเจนในการคุ้มครองผู้หญิง การส่งเสริมผู้หญิงให้มีส่วนร่วมและบทบาทในการจัดการความขัดแย้งและการสร้างสันติภาพ รวมถึงแผนงานโครงการในประเด็นสันติภาพและความมั่นคงทุกระดับ เช่น แผนการพัฒนาสตรีตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและความมั่นคงแห่งชาติ

เพราะเป็นทั้งเหยื่อและผู้สร้างสันติภาพ

นางพัชรี อาระยะกุล ผู้อำนวยการกองส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ กล่าวว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญกับผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากความชัดแย้งทั้งในแง่ผู้ได้รับผลกระทบและผู้มีส่วนร่วมในการสร้างสันติภาพ จึงได้ตั้งคณะอนุกรรมการด้านสตรีกับการสร้างเสริมสันติภาพและความมั่นคงปลอดภัย ภายใต้คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาสถานภาพสตรี (กสส.) เพื่อศึกษาสถานการณ์ความขัดแย้งในสังคม กำหนดแนวทางช่วยเหลือ รวมทั้งส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในการสร้างสันติภาพ เป็นต้น โดยนำมติ 1325 เรื่องสตรี สันติภาพและความมั่นคง ของคณะมนตรีแห่งสหประชาชาติและข้อมติที่เกี่ยวข้องมาปรับใช้

นางพัชรี กล่าวต่อไปว่า เพื่อให้การดำเนินงานป้องกันและแก้ปัญหาของผู้หญิงในสถานการณ์ความขัดแย้ง และส่งเสริมการมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพมีทิศทางที่ชัดเจน คณะอนุกรรมการด้านสตรีชุดนี้จึงตั้งคณะทำงานร่างนโยบายและยุทธศาสตร์สตรีกับการสร้างเสริมสันติภาพและความมั่นคงขึ้นมา ซึ่งได้จัดประชุมไปแล้ว 1 ครั้งที่กรุงเทพมหานคร ส่วนการประชุมครั้งนี้เป็นครั้งที่สอง โดยความร่วมมือระหว่างกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี UN Women เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ และมูลนิธิฮิลาลอะห์มัร

สถานการณ์ผู้หญิงในชายแดนใต้

จากนั้นเป็นการบรรยายเรื่อง “หลักการสิทธิมนุษยชนของสตรีตาม CEDAW และข้อมติ 1325 ของสหประชาชาติ” โดยผู้แทนจาก UN Women ต่อด้วยการอภิปราย “สถานการณ์ของสตรีในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และบทบาทในการแก้ปัญหาในพื้นที่”  โดยนางโซรยา จามจุรี นักวิชาการสำนักส่งเสริมและการศึกษาต่อเนื่อง ม.อ.ปัตตานี และนางสาวปาตีเมาะ เปาะอิแตดาโอะ นายกสมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ

โดยทั้งสองคนได้นำเสนอถึงบทบาทของกลุ่มผู้หญิงภาคประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีพัฒนาการมาจากผู้ได้รับผลกระทบ กระทั่งสามารถพัฒนาศักยภาพของตัวเองขึ้นมาจนส่วนหนึ่งสามารถทำงานเพื่อหนุนเสริมสันติภาพในพื้นที่ รวมทั้งข้อท้าทายต่างๆ ของกลุ่มผู้หญิงในพื้นที่กลุ่มนี้

ผลกระทบต่อผู้หญิงโดยตรงและที่มองไม่เห็น

นางโซรยา นำเสนอว่า ความรุนแรงในชายแดนใต้ในช่วง 11 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 ถึงเดือนกรกฎาคม 2558 มีเหตุการณ์ทั้งสิ้น 15,091 ครั้ง ทำให้มีผู้เสียชีวิต 6,460 คน บาดเจ็บ 11,730 คน ส่วนความรุนแรงที่เกิดกับผู้หญิงและเด็กโดยตรง ตั้งแต่ปี 2547 - 2556  มีเด็กเสียชีวิต 62 คน บาดเจ็บ 374 คน ส่วนผู้หญิงเสียชีวิต 404 คน บาดเจ็บ 1,587 คน

นางโซรยา กล่าวด้วยว่า ยังมีผลกระทบต่อผู้หญิงอีกหลายอย่าง ได้แก่ การเกิดผู้หญิงหม้ายเนื่องจากสามีเสียชีวิตจากความรุนแรง นอกจากต้องดูแลตัวเองแล้วยังต้องดูแลเด็กกำพร้าที่พ่อเสียชีวิตด้วย รวมทั้งคนพิการทุพพลภาพจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นอีกหลายกรณี

“แต่ยังมีผลกระทบอีกหลายอย่างที่สังคมยังมองไม่เห็น แต่เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมมองเป็นเรื่องนี้ คือผู้หญิงที่สามีหรือคนในบ้านหนีไปหรือหายตัวไป รวมทั้งผู้หญิงที่สามีถูกจับกุมดำเนินคดีความมั่นคง ซึ่งจากข้อมูลพบว่ามีประมาณ 400 คน หากในครอบครัวมีสมาชิกโดยเฉลี่ยครอบครัวละ 5 คน ก็เท่ากับว่ามีผลกระทบจากกรณีประมาณ 2,000 คน” นางโซรยา กล่าว

สามารถพัฒนาจากเหยื่อสู่นักเคลื่อนไหวได้

นางโซรยา ยังได้นำเสนอถึงบทบาทผู้หญิงภาคประชาสังคมในพื้นที่ว่า มีบทบาทในหลายด้าน เช่น ด้านการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ด้านการพัฒนาศักยภาพ ทักษะ ความรู้ด้านสันติภาพ การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในการสร้างสันติภาพ บทบาทด้านการรณรงค์ประเด็นสันติภาพ รวมทั้งบทบาทการเสริมสร้างความข้าใจของคนในชุมชนสังคม บทบาทการเป็นคนกลางโดยไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง/จัดการสานเสวนาให้คนที่มีความคิดที่แตกต่างได้พูดคุยและหาทางออกร่วมกันในการคลี่คลายความขัดแย้งระดับชุมชน บทบาทด้านสันติวิธี บทบาทด้านสิทธิมนุษยชนและการสร้างความเป็นธรรม ที่สำคัญคือบทบาทในด้านการสื่อสารสาธารณะ

ข้อท้าทายของผู้หญิงที่จะทำงานสันติภาพ

นางโซรยา ยังได้นำเสนอถึงข้อท้าทายสำหรับผู้หญิงที่ลุกขึ้นขับเคลื่อนงานสันติภาพ ได้แก่ การสร้างศักยภาพผู้หญิงที่เป็นเหยื่อของความรุนแรงให้สามารถเป็นผู้แสดงหรือนักเคลื่อนไหวในการสร้างสันติภาพได้อย่างไร

นอกจากนี้ยังมีข้อท้าทายในเรื่องความเสี่ยงอันตรายของผู้หญิงที่ลุกขึ้นมาทำงานในประเด็นสันติภาพด้วย

นอกจากนี้ เป็นเรื่องการรักษาสถานภาพความเป็นกลาง การรักษาจุดยืนการทำงานหรือความเป็นอิสระในการขับเคลื่อนงานขององค์กรประชาสังคม ไม่ถูกมองว่าเป็นฝ่ายรัฐหรือฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐ เป็นต้น รวมทั้งอิทธิพลหรือผลกระทบของการขับเคลื่อนงานของผู้หญิงต่อฝ่ายต่างๆ และต่อการสร้างสันติภาพ

ข้อท้าทายต่อมาคือ เรื่องการเสริมสร้างขวัญ กำลังใจ รวมถึงสวัสดิการเพื่อลดภาระผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งผู้หญิงจิตอาสาที่ลุกขึ้นมาทำงานสันติภาพ เช่น ผู้หญิงเหล่านี้ไม่ได้มีเบี้ยเสี่ยงภัยเหมือนข้าราชการ เป็นต้น

ในเรื่องเจตคติหรือการยอมรับในบทบาทการทำงาน การมีส่วนร่วมหรือการตัดสินใจของผู้หญิงในการสร้างสันติภาพ จากผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา คนในชุมชน/สังคม และหน่วยงานภาครัฐก็เป็นข้อท้าทายอย่างหนึ่งด้วย

ขณะเดียวกันก็มีเรื่องนโยบายต่างๆ แม้จะเป็นนโยบายที่ดีที่สนับสนุน ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในการสร้างสันติภาพ แต่จะทำอย่างไรให้ภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมด้วย ไม่ใช่นโยบายดีแต่การปฏิบัติมีปัญหา

5 ร่างยุทธศาสตร์ผู้หญิงกับการสร้างสันติภาพ

จากนั้นนางถิรวดี พุ่มนิคม ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ได้นำเสนอ “ร่างนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านสตรีกับการส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคง” ซึ่งมีเนื้อหาหลักๆ ประกอบด้วย 5 ร่างยุทธศาสตร์ ซึ่งแต่ละยุทธศาสตร์มีมาตรการต่างๆอีกหลายข้อ

โดยร่างยุทธศาสตร์ที่สำคัญๆ เกี่ยวกับการส่งเสริมสันติภาพ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ว่าด้วยเรื่องการพัฒนาศักยภาพในด้านการสร่างสันติภาพ ยุทธศาสตร์ว่าด้วยการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสตรีและภาคประชาสังคมในกระบวนการสันติภาพ และยุทธศาสตร์ว่าด้วยการส่งเสริมให้มีกลไกและการขับเคลื่อนเพื่อให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมในการสร้างสันติภาพ เป็นต้น

จะเริ่มใช้ที่ชายแดนใต้ก่อน

นางถิรวดี กล่าวว่า เมื่อมีการประกาศใช้นโยบายนี้แล้วจะนำไปใช้ทั่วประเทศ แต่จะเริ่มจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ก่อน เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความขัดแย้งยืดเยื้อเรื้อรังและมีผู้ได้รับผลกระทบจำนวนมากทั้งเสียชีวิตและบาดเจ็บ ส่วนความขัดแย้งอื่นที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเป็นความขัดแย้งเป็นช่วงสั้น และมีผู้ได้รับผลกระทบไม่มาก

จากนั้นเป็นการประชุมกลุ่มย่อยอีก 2 ครั้ง เพื่อระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของสตรีในงานของชุมชนและท้องถิ่น เพื่อจัดทำแผนระยะสั้นและแผนระยะยาวต่อไป อย่างไรก็ตามในที่ประชุมก็มีการแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวางและหลากหลายต่อร่างยุทธศาสตร์ดังกล่าวด้วยเช่นกัน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท