Skip to main content
sharethis
14 พ.ย. 2558 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2558 เผยว่าสองวันผ่านไปหลังการเลือกตั้งทั่วไปในเมียนมา แต่รัฐบาลชุดปัจจุบันได้ปฏิเสธข้อเสนอแนะหลักที่มีขึ้นในระหว่างกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนตามวาระ (Universal Periodic Review - UPR) ในที่ประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ จุดยืนเช่นนี้ของทางการเผยให้เห็นถึงการแสดงเจตจำนงที่มีอยู่อย่างจำกัดต่อการพัฒนาสิทธิมนุษยชน
 
ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2558 คณะทำงานตามกลไกการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนตามวาระได้รับรองผลการทบทวนสิทธิมนุษยชนของเมียนมาระหว่างสมัยประชุมที่ 23 ที่กรุงเจนีวา การรับรองครั้งนี้มีขึ้นหลังการประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเมียนมาเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน โดยรัฐภาคีมีข้อเสนอแนะรวมกัน 281 ข้อให้เมียนมาสนับสนุนการคุ้มครองและแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน ในบรรดาข้อเสนอแนะเหล่านี้ เมียนมารับจะทำตาม 122 ข้อ ปฏิเสธทันที 69 ข้อ และระบุว่าจะ “พิจารณา” ต่อไป 90 ข้อในช่วงระหว่างปัจจุบันจนถึงช่วงที่มีการรับรองผลการพิจารณาอย่างเป็นทางการในเดือนมีนาคม 2559 อย่างไรก็ดี ตัวเลขดังกล่าวอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิด เนื่องจากข้อเสนอแนะที่รัฐบาลเมียนมาปฏิเสธล้วนเป็นข้อเสนอสำคัญเพื่อแก้ปัญหาสิทธิมนุษยชนที่เร่งด่วนมากที่สุดของเมียนมา
 
ในบรรดาข้อเสนอแนะที่ถูกปฏิเสธทันทีคือข้อเรียกร้องเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรมต่อกรณีชนกลุ่มน้อยชาวโรฮิงญาที่ถูกคุกคาม การปฏิเสธข้อเสนอแนะแบบเหมารวมเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เนื่องจากทางการเมียนมายังคงปฏิเสธการมีอยู่ของประชาชนชาวโรฮิงญา การที่เมียนมาปฏิเสธอย่างชัดเจนโดยไม่ยอมรับว่าเกิดปัญหาสิทธิมนุษยชนร้ายแรงและฝังรากลึกต่อชุมชนชาวมุสลิมควรเป็นสัญญาณเตือนแก่ประชาคมระหว่างประเทศ
 
เมียนมายังปฏิเสธข้อเสนอแนะให้ยกเลิกและแก้ไขกฎหมายสี่ฉบับที่มุ่ง “คุ้มครองเชื้อชาติและศาสนา” แม้ผู้ชำนาญการแห่งสหประชาชาติและหน่วยงานสิทธิมนุษยชนต่างระบุว่า กฎหมายเหล่านี้มีลักษณะเลือกปฏิบัติในหลายด้านพร้อม ๆ กัน โดยเฉพาะด้านเพศสภาพ ศาสนา และสถานภาพสมรส การปฏิเสธแม้แต่จะพิจารณาข้อเสนอแนะให้แก้ไขกฎหมายเหล่านี้สะท้อนให้เห็นเป็นอย่างดีถึงภาพรวมในเมียนมา ซึ่งกลุ่มชาตินิยมชาวพุทธหัวรุนแรงมีอำนาจและอิทธิพลเพิ่มขึ้นมาก โดยที่ไม่มีความพยายามแก้ปัญหาการรณรงค์และยุยงเพื่อสร้างความเกลียดชังให้เกิดการเลือกปฏิบัติ ให้มีความเป็นปรปักษ์ และให้ทำความรุนแรงต่อชาวมุสลิม
 
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลมีข้อสังเกตว่า เมียนมายอมรับพิจารณาข้อเสนอแนะให้ปล่อยตัวนักโทษทางความคิด และจะรายงานผลต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในเดือนมีนาคม แต่เมื่อพิจารณาว่าในปัจจุบันมีนักโทษทางความคิดอย่างน้อย 110 คนในประเทศ และอีกหลายร้อยคนอยู่ระหว่างรอการพิจารณาคดี และอาจได้รับโทษจำคุกเพียงเพราะการใช้สิทธิของตนอย่างสงบ การที่ทางการเมียนมาแสดงเจตจำนงเพียงจะ “พิจารณา” ข้อเสนอแนะให้ปล่อยตัวบุคคลเหล่านี้จึงยังไม่หนักแน่นเพียงพอ ทางการเมียนมาควรปล่อยตัวนักโทษทางความคิดทุกคนโดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข
 
การที่รัฐบาลปฏิเสธข้อเสนอแนะหลายประการให้แก้ไขกฎหมายซึ่งจำกัดสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก การสมาคมและการชุมนุมอย่างสงบ แสดงถึงความไม่ยินยอมพร้อมใจที่จะแก้ไขนโยบายและการปฏิบัติซึ่งส่งผลให้เกิดการจับกุมโดยพลการ          
 
แม้เมียนมายอมรับข้อเสนอแนะ 122 ข้อ แต่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเห็นว่าข้อเสนอแนะส่วนใหญ่เหล่านี้เป็นเพียงข้อเรียกร้องให้มีมาตรการทั่วไป และไม่ได้เป็นการเสนอขั้นตอนอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อปรับปรุงสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน และไม่น่าจะส่งผลให้สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศดีขึ้นอย่างสำคัญ ซึ่งอันที่จริงเป็นวัตถุประสงค์ของกระบวนการ UPR  
 
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องให้ทางการเมียนมาทบทวนการตัดสินใจปฏิเสธข้อเสนอแนะสำคัญด้านสิทธิมนุษยชนก่อนจะมีการรับรองรายงาน UPR อย่างเป็นทางการในสมัยประชุมที่ 31 ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในเดือนมีนาคม 2559 รัฐบาลเมียนมาชุดปัจจุบันมีโอกาสไว้ลายโดยแสดงเจตจำนงในการแก้ปัญหาสิทธิมนุษยชน ทางการต้องไม่ปล่อยโอกาสนี้ไป
 
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องให้รัฐบาลเมียนมาชุดต่อไปให้ความสำคัญต่อการปฏิรูปด้านสิทธิมนุษยชนที่จำเป็น และปฏิบัติตามข้อเสนอแนะจากกลไก UPR ทั้งหมดที่มุ่งส่งเสริมความเคารพและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจัง โดยไม่ต้องคำนึงว่าจะเป็นข้อเสนอแนะที่ถูกปฏิเสธจากรัฐบาลชุดปัจจุบันหรือไม่ก็ตาม
 
 
ข้อมูลพื้นฐาน
 
คณะทำงานเพื่อทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนตามกลไก UPR ได้รับรองผลการพิจารณาตามกระบวนการ UPR ในกรณีของเมียนมาเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2558 ระหว่างการประชุมสมัยที่ 23 ตามกระบวนการนี้ โดยในเดือนมีนาคม 2559 จะมีการรับรองรายงานฉบับสมบูรณ์ตามกระบวนการ UPR ในที่ประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ก่อนจะรับรองผลการพิจารณาดังกล่าว แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้เสนอข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในเมียนมาประกอบการพิจารณาไป โดยท่านสามารถอ่านได้ที่:
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net