ทำไม พ.ร.บ.กำลังสำรอง ถึงควรถูกต่อต้าน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

สภานิติบัญญัติแห่งชาติในรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ผ่านพระราชบัญญัติกำลังสำรอง ซึ่งจะให้อำนาจของกระทรวงกลาโหมในการเรียก คนที่ผ่านการรักษาดินแดน (รด.) แล้ว, คนที่จับได้ใบแดงและไปผ่านการเกณฑ์ทหารแล้ว หรือกระทั่งคนที่เข้ารับการจับ "ใบดำ" (อันมีความหมายว่า ไม่ได้เป็นทหารเกณฑ์) ต้องเข้ารับการฝึกทหารอีกครั้ง

สำหรับผม การออกพระราชบัญญัตินี้ ขัดกับความเจริญก้าวหน้าของสังคมไทย ในหลายประการ ผมจะขออธิบายดังต่อไปนี้

1. ทำลายเศรษฐกิจ --------- การออกพระราชบัญญัตินี้ จะทำให้คนที่เคยผ่านเกณฑ์ต่างๆดังที่ว่าต้องมาฝึกทหาร ไม่ว่าคนนั้นจะทำงานอยู่ก็ตาม ข้อเสียของสิ่งนี้ ก็คือ แม้ว่าจะตราไว้ว่า บริษัทเอกชน จะต้องจ่ายเงินเดือนให้กับผู้ไปฝึกทหาร แต่นั่นเป็นการทำลายผลผลิตของ งานที่บริษัทควรจะได้รับ แน่นอนจะส่งผลกระทบต่อการลงทุน ทั้งคนที่ไม่ได้ทำงานบริษัทและไม่มีรายได้ที่มั่นคง จะได้รับผลกระทบอย่างใหญ่หลวง

2. ทำลายสิทธิของพลเรือน ------- พ.ร.บ. นี้ ไม่ใช่แค่ทำลายเศรษฐกิจในระดับมหภาคและจุลภาค แต่ยังทำลายการดำเนินชีวิตของประชาชนที่เขาต้องการในสิ่งที่เขามุ่งหมายจะทำ ทำให้เขาล่าช้าในสิ่งที่เขาต้องการ

3. ทำลายพลเรือน เพิ่มอำนาจทหาร ---------- ทหารและพลเรือนมีความแตกต่างกัน ทั้งในแง่ความคิดและการดำรงชีวิต ในทางสากลสองสถาบันนี้แยกออกจากกัน โดยหลักประชาธิปไตย ทหารไม่มีสิทธิเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง ควรมีหน้าที่แค่ด้านความมั่นคง(อย่างเป็นมืออาชีพ) สำหรับพลเรือนก็ดูแลกิจการทางสังคม เศรษฐกิจการเมืองไป เพราะมีความหลากหลายจึงต่างดูแลคนละส่วน แต่พ.ร.บ. ดังกล่าวทำลายความสำคัญของพลเรือนมากขึ้นกว่าเดิมเข้าไปอีก

4. ความหลากหลายอยู่ตรงไหน ------- สถาบันทหารฝึกให้คนคิดเอาอย่างตามๆกัน ทั้งที่คนมาฝึกมีความหลากหลายทางความคิดและศักยภาพที่แตกต่างกันไป แค่การเรียนในโรงเรียนเรายังต้องแบ่งตามความถนัด ตามสายการเรียน การเรียนในมหาลัยยังต้องแบ่งเป็นคณะ สาขา เลย การเรียกพวกเขามาฝึกทหารจะบั่นทอนศักยภาพของพวกเขาหรือไม่ และจะตอบสนองต่อจุดประสงค์ของการเรียกไปฝึกหรือ

5. รักชาติแบบถอยหลังลงคลอง ----- พ.ร.บ. นี้ เป็นตัวอย่างอีกด้วยถึงการรักชาติแบบตกยุคถอยหลังลงคลองไป คือคิดว่าการที่จะปกป้องประเทศชาติได้จะต้องเป็นคนที่มีวินัยหรือมีทัศนคติแบบทหาร ทั้งที่เราก็อยู่ในยุคโลกาภิวัฒน์แล้ว ความสำคัญของการร่วมมือกันทางการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศก็เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อความเจริญก้าวหน้าของชาติไทย แต่ พ.ร.บ. ดังกล่าว ดูจะมุ่งเน้นหนักไปในทางความมั่นคงแบบทหาร แบบกลัวเพื่อนบ้านรุกราน (นี่ยุคไหนแล้วหนอ)  มากกว่าที่จะเห็นความสำคัญของการพัฒนาในแบบที่ควรจะเป็นในศตวรรษที่ 21

นอกจากนี้ ผมยังขอตั้งข้อสังเกตชวนคิดด้วยว่า การออกพระราชบัญญัติดังกล่าวนี้ เป็นการปรับทัศนคติทางอ้อมใช่หรือไม่ เพราะภาพลักษณ์ของทหารที่ผ่านมา เมื่อเข้าไปยุ่งการเมืองก็ไม่พ้นสายตาที่จะถูกตรวจสอบ (แม้กองทัพจะตรวจสอบไม่ได้ก็ตาม) ทำให้ความศักดิ์สิทธิ์ของการเป็น “คนดี เสียสละ” ของผู้บริหารกองทัพระดับสูง ถูกมองอย่างเสื่อมศรัทธาลงไป อีกนัยหนึ่ง การผ่านพระราชบัญญัตินี้ สะท้อนให้เห็นถึงการเข้าใกล้การเป็นรัฐทหารของสังคมไทยหรือไม่ เมื่อทหารเป็นใหญ่คับฟ้าจะทำอะไรก็ได้ ดูในสภาก็ยังได้ว่ามีทหารเป็นจำนวนเท่าไหร่ แล้วอภิปรายรอบคอบแค่ไหน เมื่อคุณภาพของคนตรวจสอบและนักวิจารณ์ถูกเพ่งเล็งและถูกปิดกั้นจากรัฐบาลตลอดมา

ปัจฉิมลิขิต: ทั้งหมดนี้เป็นความเห็นของผมซึ่งพรุ่งพรวดออกมาทันทีหลังจากที่ได้ยินข่าว พระราชบัญญัติกำลังสำรองนี้ แม้จะได้ไตร่ตรองมาดีแล้วก็ตาม ก็คิดว่ามีเหตุผลอีกหลายข้อที่น่าจะใส่ลงไปในนี้ได้อีก ก็ขอให้ผู้อ่านลองเพิ่มดูนะครับ – เนติวิทย์ 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท