Skip to main content
sharethis

โฆษก กอ.รมน.เผยคณะพูดคุยสันติสุขชายแดนใต้จัดทำ 3 ชุดความคิดก่อนจัดตั้ง“คณะทำงานเทคนิคร่วม” เพื่อกำหนดแนวทางความร่วมมือให้ภาคประชาชนร่วมให้ความเห็นชอบได้แก่พื้นที่ปลอดภัย, เร่งพัฒนาพื้นที่และกระบวนการยุติธรรมทางเลือกด้านหัวหน้าคณะขอให้ร่วมกันปฏิเสธความรุนแรงทุกรูปแบบ

 

 

พล.ต.บรรพต พูลเพียร โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เปิดเผยคำชี้แจงของ พล.อ.อักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ผ่านเฟสบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 12พฤศจิกายน 2558 ที่ผ่านมาว่า เหตุการณ์ด้านความมั่นคงที่ยังคงเกิดขึ้นในห้วงเดือนตุลาคม 2558 ต่อเนื่องมาจนถึงเดือนพฤศจิกายน 2558 นั้นได้แสดงให้เห็นว่า ผู้ก่อเหตุไม่ว่าจะเป็นกลุ่มใดก็ตามยังคงเป็นฝ่ายริเริ่มก่อกวนในรูปแบบต่างๆ ดังนั้น สิ่งที่จำเป็นต้องรีบดำเนินการในห้วงนี้ก็คือการ “ปรับมาตรการระวังป้องกัน” และ“เพิ่มการปฏิบัติการเชิงรุก” ในพื้นที่ให้มากขึ้น เพื่อจำกัดเสรี และลดขีดความสามารถของกลุ่มผู้ก่อเหตุโดยที่ฝ่ายรัฐต้องครอง “ความมีอิทธิพลเหนือพื้นที่ปฏิบัติการ” ให้ได้ทั้งในชุมชนเขตเมือง เส้นทางคมนาคม ชนบทป่าเขา และพื้นที่ชายแดน

“ทุกท่านย่อมตระหนักดีว่า ห้วงเวลาที่ผ่านมาเกือบ 12 ปีแล้ว ที่ฝ่ายรัฐได้ทุ่มเทความพยายามในการยุติเหตุความรุนแรงแต่เพียงฝ่ายเดียวนั้น ยังไม่บรรลุผลสำเร็จ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่ต้องใช้กระบวนการพูดคุย ซึ่งเป็นแนวทาง “สันติวิธี” ไปสร้างความไว้วางใจกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ ให้หันกลับมาเห็นด้วยกับรัฐ ในเรื่องที่สามารถตกลงร่วมกันได้ เพื่อความสงบสุขปลอดภัยของพี่น้องประชาชนเป็นสำคัญ ให้บังเกิดผลในพื้นที่แบบ “ค่อยเป็นค่อยไป” โดยใช้การพูดคุยกับทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย ที่ยังมองการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่างไปจากรัฐ”

พล.ต.บรรพต พูลเพียรกล่าวว่า คณะพูดคุยฯ ได้จัดทำชุดความคิดแล้ว ใน 3 ประเด็นหลัก คือ การกำหนดพื้นที่ปลอดภัย, เรื่องเร่งด่วนที่ต้องพัฒนาในพื้นที่และกระบวนการยุติธรรมทางเลือก ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการยอมรับร่วมกันก่อนโดยการจัดตั้ง “คณะทำงานเทคนิคร่วม” ที่ประกอบด้วยทุกฝ่าย ไปกำหนดแนวทางในประเด็นความร่วมมือให้ได้ ภายใต้กรอบชุดความคิดดังกล่าว ซึ่งเมื่อมีความชัดเจนแล้ว จำเป็นต้องให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการให้ความเห็นชอบด้วย เพราะเป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย และได้รับผลกระทบโดยตรงจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

ในปีงบประมาณ 2559 คณะพูดคุยฯ ได้หารือขั้นต้นกับผู้อำนวยความสะดวกแล้ว เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2558 รวมทั้งได้ประชุมคณะพูดคุยชุดใหม่ เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2558 โดยได้กำหนดกรอบแนวทางในการทำงานและได้นำนโยบาย ข้อเน้นย้ำ ข้อห่วงใย และข้อสั่งการของท่านนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้สร้างความไว้วางใจให้ได้ก่อน และให้ความสำคัญต่อทุกกลุ่ม ไม่ว่ากลุ่มเล็ก/กลุ่มใหญ่ ทั้งเป็นกลุ่มติดอาวุธและไม่ติดอาวุธ ไม่ใช่การยอมรับเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น

“เราเข้าใจกฎหมายสากลดี และการแก้ปัญหาภาคใต้เป็นเรื่องภายในของไทย ที่ต้องการความร่วมมือจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านให้ช่วยสนับสนุนกระบวนการพูดคุย เพื่อให้การพูดคุยเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และผลการพูดคุยจะถูกส่งผ่านชุดความคิด ทั้ง 3 ประเด็นลงไปสู่การปฏิบัติ (ACTION) ในพื้นที่ โดยต้องให้เป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่ายเท่านั้น จึงจะทำให้เหตุรุนแรงลดลงได้อย่างมีนัยสำคัญ ควบคู่ไปกับการดำเนินมาตรการเชิงรุกของฝ่ายเราในการป้องกันเหตุรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้”

การทำให้เหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ลดลง จำเป็นต้อง “สร้างความไว้วางใจ” จนถึงขั้น “เกิดความร่วมมือ” ในประเด็นสำคัญที่สามารถสร้างเป็นโมเดลความร่วมมือในพื้นที่ให้สำเร็จก่อน ไม่ใช่โมเดลที่เกิดขึ้นโดยฝ่ายรัฐเพียงฝ่ายเดียว แต่เป็นโมเดลที่เกิดขึ้นร่วมกันระหว่างภาครัฐ และกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ ทุกพวก ทุกฝ่าย โดยมีภาคประชาชนให้การสนับสนุน

สรุปทั้งหมดที่กล่าวมานั้นคือ สิ่งที่คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้กำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน จึงขอให้ทุกท่านได้สนับสนุนกระบวนการพูดคุย ซึ่งเป็นแนวทางสันติวิธีและได้รับการยอมรับในทางสากล และขอให้ภาคประชาชนพื้นที่ได้ร่วมกันปฏิเสธความรุนแรงทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะมาจากฝ่ายใดก็ตาม และสนับสนุนกระบวนการพูดคุยในพื้นที่ เพื่อความสงบสุขของพี่น้องประชาชนอย่างแท้จริง

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net