พบคนทำงานใช้ ‘เวลา-ระยะทาง-ค่าใช้จ่าย’ ไปทำงานเพิ่มขึ้น

เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ไม่ควรมองข้าม คุณเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงานมากน้อยแค่ไหน? องค์กรแรงงานอังกฤษเก็บข้อมูลพบในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาคนทำงานใช้เวลา ระยะทาง และค่าใช้จ่ายในการเดินทางไป-กลับเพิ่มขึ้น ส่วนบ้านเราความปลอดภัยบนท้องถนนโดยเฉพาะเขตอุตสาหกรรมยังเป็นเรื่องที่น่าห่วง

องค์กรแรงงานอังกฤษเก็บข้อมูลพบในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา คนทำงานใช้เวลาในการเดินทางไปทำงานมากขึ้น โดยคนทำงานใช้เวลาเดินทางมากกว่า 2 ชั่วโมงเพิ่มขึ้นจากปี 2547 ถึงร้อยละ 72 (ที่มาภาพประกอบ: Flickr/12614773@N07/CC BY 2.0)

ปัญหาด้านจราจรที่คับคั่ง ระบบขนส่งมวลชนที่พัฒนาอย่างล่าช้า และราคาค่าเช่าที่อยู่อาศัย ได้ส่งผลกระทบต่อเวลาค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นของคนทำงาน โดยเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2558 ที่ผ่านมา สภาสหภาพแรงงานศูนย์กลางแห่งชาติ (Trades Union Congress - TUC) ได้เปิดเผยข้อมูลการสำรวจคุณภาพชีวิตคนทำงานในสหราชอาณาจักร พบว่าในรอบสิบปีที่ผ่านมานี้ (2547-2557) คนทำงานในสหราชอาณาจักรใช้เวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงานเพิ่มขึ้น โดยคนทำงานใช้เวลาเดินทางไปกลับระหว่างที่พักกับที่ทำงานมากกว่า 2 ชั่วโมงเพิ่มขึ้นจากปี 2547 ถึงร้อยละ 72 และใช้เวลามากกว่า 3 ชั่วโมงเพิ่มจำนวนขึ้นถึงร้อยละ 75

TUC ระบุว่าจำนวนคนทำงานที่ใช้เวลาเดินทางไปกลับที่ทำงานมากกว่า 120 นาทีต่อวัน ในสหราชอาณาจักร เมื่อปี 2547 มีจำนวน 1,739,561 คน เพิ่มมาเป็น 2,994,612 คน ในปี 2557 ถือเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 72 เลยทีเดียว รวมทั้งจำนวนผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะที่ใช้เวลามากกว่า 180 นาที ก็เพิ่มจำนวนขึ้นถึงร้อยละ 75 จาก 502,358 คน ในปี 2547 เพิ่มมาเป็น 880,432 คน ในปี 2557

ซึ่งคนทำงานเพศหญิงถือว่าได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก โดยผู้หญิงที่เดินทางวันละมากกว่า 2 ชั่วโมงมีสัดส่วนเพิ่มถึงร้อยละ 90 และใช้เวลาเดินทางมากกว่า 3 ชั่วโมงต่อวันเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 131 จากปี 2547 เลยทีเดียว

ในรอบทศวรรษที่ผ่านมานั้น คนทำงานในภาคบริการใช้เวลาในการเดินทางมากกว่า 2 ชั่วโมงเพิ่มขึ้นมากที่สุดคือร้อยละ 130 ตามมาด้วยคนทำงานในภาครัฐ การศึกษาและสาธารณะสุขที่ร้อยละ 92 และภาคพลังงานและการประปาร้อยละ 87 ซึ่งคนทำงานในทั้ง 3 อุตสาหกรรมนี้ยังใช้เวลาในการเดินทางมากกว่า 3 ชั่วโมงเพิ่มขึ้นสูงสุดด้วยเช่นกัน โดยคนทำงานในภาคบริการใช้เวลาในการเดินทางมากกว่า 3 ชั่วโมงเพิ่มขึ้นมากที่สุดคือร้อยละ 167 ภาคพลังงานและการประปา ร้อยละ 110 และคนทำงานในภาครัฐ การศึกษาและสาธารณะสุขที่ร้อยละ 95

ศาลสูงยุโรปตัดสินให้นายจ้างจ่ายเงินค่าเดินทางไปทำงานให้กับพนักงานด้วย

เมื่อเดือนกันยายน 2558 ที่ผ่านมา สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่าศาลสูงยุโรปมีคำตัดสินให้ลูกจ้างที่ทำงานให้บริษัทซึ่งเดินทางจากสถานที่ทำงานหนึ่งไปสู่อีกทางหนึ่ง ต้องได้รับการพิจารณาว่าเวลาเหล่านั้นเป็นเวลาทำงานนับตั้งแต่การเดินทางออกจากบ้านและกลับด้วย ซึ่งกฎนี้จะถูกนำไปใช้ในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป 28 ประเทศ

ทั้งนี้กฎดังกล่าวไม่นับรวมสำหรับผู้ที่เป็นพนักงานออฟฟิศที่เดินทางไปกลับบ้านและออฟฟิศซึ่งตั้งอยู่ที่เดิมเป็นประจำ โดยศาลยุติธรรมยุโรปได้ยกตัวอย่างว่าถ้าช่างซ่อมประปาต้องเดินทาง 2 ชั่วโมง เพื่อไปทำงานสถานที่แรกในตอนเช้า เวลาในการเดินทางนั้นๆ ต้องถูกนับเป็นเวลาทำงานด้วย และรวมถึงการเดินทางกลับบ้านด้วย

อย่างไรก็ตาม การออกกฎนี้ เกิดจากกรณีการทำงานของพนักงานบริษัทรักษาความปลอดภัยไทโค (Tyco หรือ TYC) ในสเปน ที่ต้องเดินทางไปทำงานเพื่อติดตั้งและเช็คระบบความปลอดภัยในสถานที่ต่างๆ ซึ่งบางวันต้องใช้เวลาขับรถไปยังสถานที่ทำงานแห่งแรกเป็นเวลา 3 ชั่วโมง แต่บริษัทไม่นับว่าเป็นเวลางานจนกว่าพนักงานจะเดินทางไปถึงที่ที่ต้องไปปฏิบัติงานแล้ว

ทั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายแรงงานระบุว่าการออกกฎดังกล่าวจะมีผลกระทบอย่างมากต่อบริษัทต่างๆ ที่มีพนักงานทำงานที่ต้องเคลื่อนย้ายและเดินทางตลอดเวลา นอกจากนี้ยังระบุว่าบริษัทต่าง ๆ จะหาทางเลี่ยงกฎดังกล่าวเพื่อไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม โดยการตั้งออฟฟิศประจำขึ้นโดยให้พนักงานเข้าไปตอกบัตรหรือเซ็นชื่อก่อนที่จะเริ่มเดินทางไปปฏิบัติงานแรกของวัน ซึ่งการทำเช่นนี้ก็จะสามารถลดเงินที่ต้องจ่ายให้พนักงานเป็นค่าเดินทางได้

คาดกันว่าคนทำงานกลุ่มที่มีแนวโน้มว่าจะได้รับผลประโยชน์จากกฎนี้คือคนทำงานดูแลผู้ป่วย ประเภทโฮมแคร์ (home care) และบริการด้านอื่น ๆ ซึ่งต้องเดินทางไปยังบ้านของผู้ว่าจ้าง ซึ่งยูนิสัน (Unison) สหภาพแรงงานที่ดูแลคนทำงานโฮมแคร์จำนวน 30,000 คนในสหราชอาณาจักร ยินดีจะปฏิบัติตามกฎนี้ แต่ต้องมีวิธีกำกับให้แน่ใจว่าพนักงานจะไม่โกงบริษัท โดยโฆษกยูนิสันระบุว่าไม่ใช่ง่ายที่จะทำให้กฎนี้ใช้ได้จริงโดยไม่มีอุปสรรค

(The Guardian, 10/9/2558)

 

นอกจากนี้ TUC ยังระบุว่ามีงานวิจัยที่ระบุว่าการใช้เวลาในการเดินทางที่เพิ่มขึ้นสองถึงสามชั่วโมงนั้นแสดงให้เห็นว่าคนทำงานที่มีรายได้น้อยกำลังเผชิญกับระยะทางที่ห่างไกลและค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ซึ่ง TUC อธิบายไว้ส่วนหนึ่งว่าเป็นเพราะค่าเช่าที่พักอาศัยสูงขึ้นทำให้คนทำงานไม่มีกำลังในการเช่าที่พักอาศัยในเขตเมืองที่ใกล้กับที่ทำงาน จึงต้องหาที่พักอาศัยที่ถูกลงซึ่งจะอยู่ไกลขึ้นแทน นอกจากนี้เป็นเพราะภาครัฐไม่ลงทุนโครงข่ายคมนาคมรองรับเพิ่มเติม

ฟรานเซส โอเกรดี (Frances O’Grady) เลขาธิการทั่วไปของ TUC ระบุว่านายจ้างจะต้องช่วยเหลือด้านภาระค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเดินทางที่เพิ่มขึ้นให้แก่พนักงาน รวมทั้งปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานบางอย่างให้ยืดหยุ่นขึ้น โดยเฉพาะส่งเสริมให้พนักงานทำงานที่บ้านเพิ่มขึ้น เนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีสื่อสารทั้งโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ตมีความก้าวหน้าขึ้นมาก

อนึ่งข้อมูลที่น่าสนใจจากการสำรวจของ TUC มีดังนี้ …

จำนวนคนทำงานที่ใช้เวลาเดินทางมากกว่า 120 นาที ต่อวัน

 

ปี 2547

ปี 2557

เพิ่มขึ้น

ชาย

1,107,026

1,790,262

683,236 (62%)

หญิง

632,535

1,204,286

571,751 (90%)

รวม

1,739,561

2,994,612

1,255,051 (72%)

จำนวนคนทำงานที่ใช้เวลาเดินทางมากกว่า 180 นาที ต่อวัน

 

ปี 2547

ปี 2557

เพิ่มขึ้น

ชาย

370,839

577,102

206,263 (56%)

หญิง

131,519

303,330

171,811 (131%)

รวม

502,358

880,432

378,074 (75%)

เมื่อแยกกออกเป็นในแต่ละอุตสาหกรรม

 

ใช้เวลาเดินทางมากกว่า 120 นาทีต่อวันในปี 2557

ใช้เวลาเดินทางมากกว่า 180 นาทีต่อวันในปี 2557

ภาคการเกษตรและประมง

10,504

N/A

พลังงานและการประปา

54,829

25,915

โรงงานอุตสาหกรรม

274,262

88,450

ภาคการก่อสร้าง

181,544

64,514

ธุรกิจการค้า โรงแรม และร้านอาหาร

383,513

92,482

คมนาคมและการสื่อสาร

239,104

70,653

การเงิน, การธนาคาร และการประกันภัย  

828,938

241,883

บริการภาครัฐ การศึกษา และสุขภาพ

841,146

230,622

ภาคบริการอื่น ๆ

178,951

60,476

รวม

2,994,612

880,432

เมื่อแยกกออกเป็นในแต่ละประเทศ

ประเทศ

ใช้เวลาเดินทางมากกว่า 120 นาทีต่อวันในปี 2557

ใช้เวลาเดินทางมากกว่า 180 นาทีต่อวันในปี 2557

เวลส์

55,173

16,315

สกอตแลนด์

200,322

55,036

ไอร์แลนด์

47,018

10,510

อังกฤษ

2,994,612

880,432

หมายเหตุ: ระยะเวลาการเดินทางคำนวณจากวันทำงาน 220 วัน (วันทำงาน 5 วันต่อสัปดาห์ รวม 44 สัปดาห์)
ที่มา: TUC

 

บ้านเรา ความปลอดภัยบนท้องถนนคือปัญหาใหญ่ของคนทำงาน

ข่าวคราวรถรับส่งพนักงานประสบอุบัติเหตุเป็นสิ่งที่เห็นชินตาในปัจจุบัน เนื่องจากนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ มักจะตั้งอยู่ในเขตที่ใช้ถนนเส้นหลักที่มีความกว้างและรถใช้ความเร็วสูง (ที่มาภาพ: กลุ่มคนอาสา กู้ชีพ กู้ภัย Thailand)

นอกจากนี้ 'มอเตอร์ไซต์' พาหนะหลักของคนทำงานในนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ ก็เกิดอุบัติเหตุขึ้นบ่อยครั้งด้วยเช่นกัน (ที่มาภาพ: กู้ภัยมังกรชลบุรี)

หากไม่นับปัญหารถติดสำหรับคนทำงานในกรุงเทพแล้ว พบว่าคนทำงานส่วนใหญ่ของไทยในภาคอุตสาหกรรมมักจะประสบกับปัญหาด้านความปลอดภัยในการเดินทาง

จากผลการสำรวจปี 2557 พบว่าประเทศไทยถูกจัดอันดับเป็นประเทศที่มีคนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก โดยสถิติระบุว่าผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมีจำนวน 44 คนต่อประชากร 100,000 คนต่อปี ซึ่งส่งผลให้อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนของประชากรไทยมีค่าเฉลี่ยร้อยละ 5.1 ของอัตราการเสียชีวิตโดยรวม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยสถิติผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน ระหว่างเดือนตุลาคม 2556 – กันยายน 2557 ว่ามีจำนวน 6,185 คน

ทั้งนี้นิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ มักจะตั้งอยู่ในเขตที่ใช้ถนนเส้นหลัก (ทางหลวงต่าง ๆ) ที่มีความกว้างและยานพาหนะใช้ความเร็วสูง รวมทั้งมีความหนาแน่นและหลากของจำนวนยานพาหนะตั้งแต่รถมอเตอร์ไซต์ไปจนถึงรถบรรทุกขนาดใหญ่อย่างรถเทรลเลอร์ ซึ่งเหล่านี้เป็นเหตุให้คนทำงานในภาคอุตสาหกรรมของไทยมักจะเกิดอุบัติเหตุจากทั้งรถรับส่งพนักงานและรถมอเตอร์ไซต์อยู่บ่อยครั้ง

อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งของคนทำงานในภาคอุตสาหกรรมนั้น มาจากอีกหนึ่งสาเหตุก็คือแทบที่จะไม่มีบริการขนส่งสาธารณะของภาครัฐที่เพียงพอและมีความปลอดภัยในเขตนิคมอุตสาหกรรม เป็นตัวเลือกเพิ่มเติมนอกเหนือจากสวัสดิการรถรับส่งของบริษัทและมอเตอร์ไซต์เป็นพาหนะหลักในการเดินทางไปทำงานนั่นเอง.

 

ที่มาบางส่วนเรียบเรียงจาก:

https://www.tuc.org.uk/workplace-issues/work-life-balance/number-commuters-spending-more-two-hours-travelling-and-work-72

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท