ตั้งคำถามหรือเลือกที่จะไม่ตั้งคำถาม: นั่นคือคำถาม[ที่ต้องตอบ]

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

ตั้งคำถามหรือเลือกที่จะไม่ตั้งคำถาม: นั่นคือคำถาม[ที่ต้องตอบ] (To Question or not to Question: That is the Question) คือหัวข้อการบรรยายสาธารณะโดย ศาตราจารย์โรมิล่า ทาปาร์ (Romila Tharpar) นักประวัติศาสตร์อาวุโสชาวอินเดียคนสำคัญผู้ทำการศึกษาประวัติศาสตร์อินเดียโบราณมาอย่างยาวนาน ศาตราจารย์ทาปาร์ไปบรรยายประจำปีที่ชื่อว่า Nikhil Chakravartty Memorial Lecture ซึ่งผู้ฟังส่วนใหญ่เป็นปัญญาชนชั้นนำของอินเดีย ทาร์ปาร์ตั้งคำถามกับปัญญาชนอินเดียว่าในปัจจุบันสังคมอินเดียมีปัญญาชนเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่เหตุใดพวกเขาส่วนใหญ่เลือกที่จะไม่ตั้งคำถามกับทางการแม้ว่าการกระทำของทางการนั้นเป็นการปิดกั้นเสรีภาพในการคิด?  (สถานการณ์การคุกคามต่อเสรีภาพในการแสดงออกเลวร้ายลงอย่างมากนับตั้งแต่นายกรัฐมนตรี มอดิ เข้ามาดำรงตำแหน่ง ถึงขนาดนักเขียน ผู้กำกับภาพยนตร์ และนักวิทยาศาสตร์ต่างทยอยคืนรางวัลที่พวกเขาเคยได้รับจากรัฐเป็นการประท้วง)

เกิดอะไรขึ้นกับปัญญาชนสาธารณะอินเดีย ทั้งๆที่อินเดียมีประเพณีทางความคิดเชิงเหตุผล/การตั้งคำถามอันรุ่มรวย ลึกซึ้งและหลากหลายมาเป็นเวลานับพันๆปี?

การไม่ตั้งคำถามกับทางการเพราะต้องการดำเนินชีวิตทางวิชาการอย่างสงบหรือเพราะว่าพวกปัญญาชนพร้อมที่จะร่วมมือกับอำนาจแม้การร่วมมือนั้นอาจหมายถึงการทรยศต่อความรู้ และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นซึ่งค้ำยันตัวตนของปัญญาชนอยู่? ทาร์ปาร์กระตุ้นให้ปัญญาชนตั้งคำถามให้มากยิ่งขึ้น โดยชี้ว่า “ปัจจุบันเราไม่ได้ขาดผู้ที่สามารถตั้งคำถามและคิดอย่างอิสระ หากแต่เมื่อถึงคราวที่เราต้องพูด เราเลือกที่จะเงียบ พวกเรา “เลือกที่จะอยู่กับความสบายของการยอมตาม”(1)

การตั้งคำถาม(Question) การสงสัย (Skeptical) และการคิดวิพากษ์ (Critical) คือหัวใจสำคัญที่ขับเคลื่อนความก้าวหน้าของอารยธรรมมนุษย์ เอ็ดวาร์ด ซาอิด (Edward Said: 1935-2003) นักคิดนักเขียนผู้ล่วงลับกล่าวเตือนว่า เมื่อมนุษย์หยุดตั้งตำถามและหยุดท้าทายต่อระบอบอำนาจที่ถูกสถาปนาขึ้น หรือระบอบอำนาจดังกล่าวตั้งตนเป็นผู้สถาปนาและผูกขาดต่อการอธิบายความจริงจะด้วยในนามของศาสนา หรือข้ออ้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาติหรือชาติพันธุ์ ความเสื่อมถอยจะเริ่มก่อตัว และค่อยๆกัดกร่อนรากฐานซึ่งคือระบบความรู้ ภูมิความคิด และปัญญาให้สังคมนั้นค่อยๆแข็งทื่อและหมดความสำคัญลง จนถูกครอบงำและกระทั่งอารยธรรมนั้นล่มสลายไปในที่สุด ด้วยเหตุนี้ซาอิด ยืนยันว่าความรู้สึกภักดีต่อชาติ (loyalty to nation) ที่มักถูกสร้างขึ้นโดยอำนาจ ต้องไม่ทำให้ปัญญาชนหลีกเลี่ยงที่จะตั้งคำถามเอากับอำนาจ (2)

ซาอิด เป็นผู้เจริญรอยตาม พอล ทิลลิช (Paul Tillich: 1886-1965) นักเทววิทยาและนักปรัชญาคนสำคัญของศตวรรษที่ 20  ที่ยืนยันว่าปัญญาชนคือ “ผู้ที่ตั้งคำถาม (he who asks)” และชี้ว่า ปัญญาชนที่อยู่ในฐานะปัญญาชนคือผู้ที่ตั้งคำถามกับทุกสิ่ง (Intellectual as intellectual questions everything) (3) 

แม้นักคิดมาร์กซิสม์อย่างกรัมชี่ (Antonio Gramci: 1891-1937) จะยืนยันว่าความคิดในเรื่องปัญญาชนในฐานะที่เป็นกลุ่มทางสังคมที่มีความเป็นอิสระและไม่ขึ้นอยู่หรือไม่สะท้อนผลประโยชน์ของชนชั้นนั้นเป็นความคิดที่ผิดพลาด และชี้ว่าทุกคนคือปัญญาชน แต่เราอาจกล่าวจากข้อสรุปของทิลลิชได้ว่า ไม่ใช่ทุกคนในสังคมจะ “ทำหน้าที่ของปัญญาชน” เนื่องจากหน้าที่ประการสำคัญของปัญญาชนคือการตั้งคำถาม ปัญญาชนเป็นผู้สร้างและพัฒนากรอบคิด และทำให้กรอบคิดนั้นเป็นที่เข้าใจในสังคม เป็นที่ยอมรับหรือเป็นที่ถกเถียงต่อไป ดังนั้นเมื่อมีการพูดถึงผู้ที่เป็นปัญญาชนเราหมายถึงผู้ที่ทำหน้าที่ทางสังคมประการสำคัญดังกล่าวข้างต้นนั่นเอง

ยุโรปในยุคมืด (Dark Age) ที่ศาสนจักรเป็นผู้ผูกขาดการอธิบายความจริงและกระทำการกดขี่ข่มเหงทารุณกรรมทุกรูปแบบแก่ปัญญาชนผู้เห็นต่างจากคำอธิบายของศาสนจักรเป็นตัวอย่างได้อย่างดีเยี่ยมของความเสื่อมถอยอันเกิดจากการห้ามไม่ให้คิดต่าง ห้ามไม่ให้สงสัยและห้ามการวิพากษ์วิจารณ์ต่อคริสตจักร ขณะที่การตั้งคำถาม การสงสัย และการวิพากษ์เช่นกันที่ทำให้ยุโรปตื่นขึ้น (Enlightened) จากภาวะดังกล่าว กาลิเลโอ (Galileo Galilei: 1564-1642) โคเปอร์นิคัส (Nicolaus Copernicus: 1473-1543) และปัญญาชนคนอื่นๆคือผู้ที่ตั้งคำถามกับระบบคิดแบบเดิมที่มีโลกเป็นศูนย์กลางจนนำไปสู่การปฏิวัติทางความคิด ความรู้ เกิดการสร้างสรรค์เกี่ยวกับศาสตร์และเทคโนโลยี ทำให้อารยธรรมตะวันตกก้าวล้ำหน้าอารยธรรมอื่นๆที่มีมาก่อนหน้า ไนแอล เฟอร์กูสัน (Niall Ferguson: 1964-) นักประวัติศาสตร์ผู้โด่งดังด้านการศึกษาเกี่ยวกับการเติบโตและการล่มสลายของอารยธรรมมนุษย์ จากมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด ชี้ว่า ศาสตร์สมัยใหม่ (modern sciences)ซึ่งมีรากฐานอยู่บนการตั้งคำถามและความสงสัย เปรียบดัง แอ๊ปนักฆ่า (Killer Apps) ของมหาอำนาจตะวันตก (4)

อิสลามเป็นอีกตัวอย่างของอารยธรรมที่ถูกแช่แข็งทางความคิด สาเหตุหลักมาจากในยุคหลังๆ เกิดการก่อตัวของระบบความเชื่อ (Doctrine) ที่ปฏิปักษ์กับเหตุผล (Reason) และการยึดมั่นต่อความคิดที่ถูกถือเป็นทางการอย่างเคร่งครัด ผู้ที่ตั้งคำถามมักถูกตราหน้าว่าเป็นพวกนอกรีต ทรยศต่อศาสนา หรือกระทั่งเป็นผู้แข็งข้อต่อพระเจ้าไปเลย (5)  ปรากฎการณ์ดังกล่าวต่อมาพัฒนาไปเป็นการต่อสู้กันระหว่างสองฝ่าย โดยชัยชนะตกเป็นของฝ่ายที่ยึดถือการกำหนดสภาวการณ์ (pre-determination) ที่เชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างถูกกำหนดจากพระเจ้าไว้ล่วงหน้าแล้ว (แท้ที่จริงเป็นเพียงข้ออ้างของฝ่ายอำนาจที่ไม่ต้องการให้ประชาชนตั้งคำถามต่ออำนาจ) ส่วนฝ่ายที่พ่ายแพ้คือกลุ่มที่ถือ เจตจำนงเสรี (Free Will) ซึ่งถกเถียงว่ามนุษย์เป็นผู้มีเจตจำนงเสรีและต้องรับผิดชอบต่อการตัดสินใจนั้นโดยมีเหตุผลเป็นเครื่องมือสำคัญ ชัยชนะของฝ่ายแรกทำให้ท้ายที่สุดโลกมุสลิมเริ่มเสื่อมถอย รากฐานทางความรู้เดิมไม่อาจรับมือกับการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆและตกเป็นอาณานิคมของตะวันตกในที่สุด

ก่อนหน้านั้นอารยธรรมอิสลามเป็นผู้ถือคบเพลิงแห่งปัญญาต่อจากกรีกโบราณ นักปรัชญา นักคิดมุสลิม เป็นผู้แปลงานเขียน เป็นผู้อธิบาย และรื้อสร้างความคิดของนักคิดคนสำคัญๆเช่น อริสโตเติล (Aristotle)  จนนักคิดมุสลิมอย่าง อัลฟาราบี (Al-Farabi: 872-950)ได้รับฉายาว่า เป็นครูคนที่สอง (The second Teacher) เนื่องจากเป็นผู้อธิบายและวิพากษ์ความคิดของอริสโตเติล (ครูคนที่หนึ่ง) และส่งต่อความรู้ไปยังอารธรรมตะวันตก นี่เองที่ทำให้นักปรัชญาชาวอังกฤษอย่าง โรเจอร์ เบคอน (Roger Bacon: 1214-1292) กล่าวยอมรับว่า “ปรัชญาได้มาจากมุสลิม (Philosophy drawn from the Muslims)”(6) 

การปฏิรูปที่แท้จริงจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มีการตั้งคำถามที่ถูกจุด แต่จะตั้งคำถามอย่างถูกจุดได้อย่างไรถ้ามีการห้ามการตั้งคำถามในตอนแรก? หรือปัญญาชนผู้ทำหน้าที่ปัญญาชนผู้ตั้งคำถามเลือกที่จะเงียบ? การปฏิรูปจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเกิดการปฏิรูปทางความคิดด้วยการตั้งคำถาม การคิดเชิงวิพากษ์ และการรื้อฟื้น (revive) การใช้เหตุผลที่มักถูกกดทับด้วยอำนาจทั้งจากศาสนาและอำนาจทางการเมือง

ไม่ว่าจะมองปัญญาชนในแง่ของผู้เป็นนักคิดที่มีกิจกรรมทางความคิดและการวิเคราะห์อย่างบริสุทธิ์ เป็นกลางและอิสระ (pure-rational-objective intellectual) หรือมองในแง่ของการเป็นส่วนหนึ่งขององค์อินทรีย์ (organic intellectual) อันมิอาจตัดขาดจากกลุ่มทางสังคมที่พวกเขาสังกัด แต่ปัญญาชนทั้งสองลักษณะมีหน้าที่ร่วมกันคือการตั้งคำถาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับอำนาจ เพื่อเป็นปากเสียงให้กับผู้ที่ไม่มีปากไม่มีเสียง ผู้ถูกกดขี่ และผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรมในสังคม

 

 

อ้างอิง

1. ดู ปาฐกถา : http://thehindu.com/news/national/academics-must-question-more-romila/article6535612.ece

2. David Barsamian, The Pen and the Sword: Conversations with Edward Said (Chicago, Illinois: Haymarket Books, 2010). 

3. Paul Tillich, Religion and its Intellectual Critics, http://www.religion-online.org/showarticle.asp?title=494

4. Niall Ferguson, Civilization: The Six Killer Apps of Western Power (London: Penguin, 2012), Chapter 2
ผู้ที่ยึดมั่นต่อความคิดที่ถูกส่งต่อกันมาหรือความคิดที่ถูกถือว่าถูกต้อง/เป็นทางการ เรียกว่า อะฮลุลตักลีด (บรรดาผู้ปฏิบัติตาม)

5. อ้างใน Ferguson, หน้า 52.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท