Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis




“นี่คุณ ช่วยไปฆ่าคนให้ผมหน่อยครับ”

ถ้าผมขอให้คุณไปฆ่าคน คุณจะไปไหมครับ? ผมคิดว่าอย่างไรเสีย ก็คงไม่ยอมไป และคนอื่นบอกให้คุณไปทำ คุณก็คงจะไม่ไป ให้คิดลงมือทำเองก็คงยิ่งจะไม่ทำใหญ่

ที่ผมถามแบบนี้ก็เพราะว่าประเด็นหลักในการแก้ไขมันอยู่ที่นี่ครับคือเราต้องแก้ที่“คน”ผมบอกตามตรงนะครับว่าผมพูดมาตลอดว่า ผู้ก่อการร้ายเป็นคนมีหัวคิด มีสมองมากๆ ไม่ใช่พวกบ้าคลั่ง โรคจิตที่ทำไปโดยไม่รู้เรื่องรู้ราว ฉะนั้นผมบอกตามตรงครับว่าทำอย่างไรระบบการป้องกันภัยมันก็ไม่พอ เดี๋ยวนี้ระเบิดสามารถใช้วัสดุทั่วไปในชีวิตประจำวันประกอบเองได้, บางอย่างไม่สามารถตามรอยได้ หรืออย่างกรณีที่ปารีสนี้ ก็มีรายงานมาว่า วางแผนกันผ่านการคุยในเกมคอนโซล ซึ่งรัฐตรวจจับไม่ได้

ประเด็นของผมมันคือ คุณป้องกันอย่างไรมันก็ไม่พอหรอก ถ้าคนมันคิดจะใช้ความรุนแรง ต่อให้มันไม่มีอาวุธ มันก็จะหาวิธีอื่นมาเพื่อจะสร้างความรุนแรงครับ แต่หากคนนั้นไม่ได้คิดจะใช้ความรุนแรง ต่อให้มีอาวุธอยู่ในมือ ความรุนแรงมันก็ไม่เกิด (ยกเว้นอุบัติเหตุ) เพราะฉะนั้นเวลาผมพูดเรื่องแนวทางการแก้ไขการก่อการร้าย สุดท้ายแล้วมันจึงกลับมาที่ “แก้ไขตัวมนุษย์” เปลี่ยนเขาจากคนที่ไม่เชื่อในความสำคัญของมนุษย์ ไม่เชื่อในมนุษยนิยม ให้ “เชื่อ!” นี่คือวิธีการแก้ไขหนึ่งเดียวในระยะยาวครับ ไม่ใช่เอาระเบิดไปทิ้งหว่าน หรือสอดส่องชีวิตประชากรทุกซอกอณู แล้วคาดหวังให้ประชาชนตัวเองหายหวาดกลัวว่าจะไม่เกิดการล้างแค้นขึ้น

การก่อเหตุในปารีสครั้งนี้ผมคิดว่าในตอนนี้เราพอจะสามารถพูดได้แล้วว่าปัญหาสำคัญแบ่งออกเป็น2ส่วนนั่นคือ (1) ปัญหาด้านศาสนา คือ เมื่อกลุ่ม IS ออกมายอมรับและยืนยันว่าการก่อเหตุครั้งนี้คือฝีมือของพวกเขา เราก็ต้องยอมรับกันว่า “ศาสนา” มันเป็นปัญหา กับ, (2) ปัญหาทางด้านการเมืองและความมั่นคงระหว่างประเทศ ที่ผมเคยพูดถึงบ้างแล้วถึงวิกฤติของสภาวะสมัยใหม่ (สิ่งที่ผมจะพูดในวันนี้บางส่วนอาจจะต้องใช้สมาธิในการฟังค่อนข้างมากนะครับ และหลายส่วนกรุณาเปิดใจกว้างๆ แล้วค่อยๆ คิดตามก่อนนะครับ)

ปัญหาประการแรก คือ ปัญหาทางด้านศาสนา เป็นส่วนที่ผมอยากให้เปิดใจฟังให้มาก เพราะค่อนข้างละเอียดอ่อนนะครับ คือ เราต้องเข้าใจเรื่องง่ายๆ เบื้องต้นก่อนว่า ในทุกศาสนามีคนดีและคนเลวอยู่ มีทั้งคนที่พูดรู้เรื่อง มีเหตุผล และคนที่ไม่สนใจอะไรพวกนี้เลย และเมื่อมันมีคนในศาสนานั้นๆ ทำความผิดขึ้นมา ทางแก้ไม่ใช่การบอกว่า “คนที่เลวทุกคนไม่ใช่ศาสนาของฉัน” แต่ต้องมาดูที่ตัวศาสนา รวมไปถึงพัฒนาการของศาสนาตัวเองด้วยว่ามีจุดที่ต้องแก้ไขหรือไม่

อย่างที่ผมเคยพูดหลายครั้งแล้วนะครับว่าปัญหานี้มันคือเรื่องการปะทะกันของภาวะและความคิดแบบก่อนสมัยใหม่และภาวะสมัยใหม่ซึ่งเราต้องเข้าใจว่าศาสนาหลายศาสนายังไม่ได้ผ่านการทำให้เป็นสมัยใหม่(modernization) ซึ่งลักษณะสำคัญของศาสนาที่ยังไม่ได้ถูกทำให้เป็นสมัยใหม่เหล่านี้ เราพอจะสังเกตได้ง่ายๆ จากลักษณะของมันที่พยายามทำตัวเหมือนกับโลกตะวันตกในยุคกลาง นั่นคือ ยุคที่ศาสนจักร (คริสต์ศาสนา) พยายามมีอำนาจเหนืออาณาจักร หรือกล่าวกันแบบพื้นๆ ในภาษายุคนี้ก็คือ เป็นศาสนาที่อยากได้ “รัฐศาสนา” นั่นเอง (รัฐที่ใช้กฎศาสนาปกครอง) 

ซึ่งในจุดนี้เราจะพบว่าศาสนาอิสลามเองนั้น มีทั้งส่วนที่ยอมรับอำนาจของ “รัฐ-ชาติ” แล้ว และไม่ได้มุ่งจะเป็น “รัฐศาสนา” หรือก็คือกลุ่มที่ “เป็นสมัยใหม่ (modernized) แล้ว” กับมีศาสนาอิสลามอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งมีความชัดเจนว่ามุ่งจะมี “รัฐศาสนา” ให้ได้ (เอาจริงๆ แล้วทุกศาสนาที่มีท่าทีไปในทิศทางนี้ พึงต้องระวังตัว อย่างการเรียกร้องการเป็น “ศาสนาประจำชาติ” เองนั้นก็เป็นสัญญาณบอกเหตุที่อันตรายอย่างหนึ่ง) กล่าวคือ ศาสนาที่เป็นสมัยใหม่ หรือ modernized แล้วจะยอมรับปริมณฑลของตนว่าเป็น “เรื่องส่วนบุคคล หรือปริมณฑลส่วนตัว” ในขณะที่ศาสนาที่ยังไม่ได้รับการปรับให้เป็นสมัยใหม่ หรือ pre-modern นั้นจะพยายามทำให้ “ศาสนาเป็นเรื่องของส่วนรวม เป็นเรื่องของรัฐ หรือก็คือปริมณฑลสาธารณะ”

อีกประการหนึ่งที่เราต้องเข้าใจรับฟังไว้ก็คือ ศาสนาหลักๆ ต่างๆ นั้น ตั้งขึ้นเมื่อหลายร้อยหรือหลายพันปีแล้ว เงื่อนไขต่างๆ ที่บัญญัติไว้ในเนื้อหานั้น มันตอบสนองต่อเงื่อนไขทางสังคมในช่วงเวลานั้นๆ หลายศาสนาเกิดขึ้นในช่วงเวลาของสงคราม และการต่อสู้เอาตัวรอด วิธีการ คำสอน เงื่อนไขต่างๆ ที่บรรจุไว้มันก็เป็นไปตามช่วงเวลานั้น ทีนี้ศาสนาที่ผ่านสู่กระบวนการทำให้เป็นสมัยใหม่ ก็คือ ศาสนาที่ปรับวิธีการและคำสอนในช่วงเวลาหลายร้อยหลายพันปีก่อนให้มันเข้ากันได้กับเงื่อนไขที่เป็นปัจจุบันร่วมสมัยขึ้นคำสอนดั้งเดิมส่วนไหนใช้การได้ก็คงไว้ส่วนไหนใช้การไม่ได้ก็ลดทอนดัดแปลงเป็นเรื่องปกติ แต่ด้วยความที่ศาสนาอิสลามมีทั้งฝั่งที่ modernized แล้ว และ pre-modern ในอัตราที่ใกล้เคียงกันมากกว่าศาสนาหลักอื่นๆ ปัญหาการทะเลาะกันในจุดนี้ก็เกิดขึ้น ซึ่งเป็นเรื่อง “ปกติ” ในทางประวัติศาสตร์ ศาสนาคริสต์เองก็ทะเลาะกันหนักหน่วงในช่วงการเปลี่ยนแปลง

เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราทำได้ในฐานะผู้ซึ่งยืนยันในความเป็นมนุษย์ของยุคสมัยใหม่ก็นั้นก็คือการช่วยเหลือชาวมุสลิมที่ modernized แล้วอย่างเต็มกำลังและโอบอ้อมอารีย์ อย่าทอดทิ้งพวกเขา ต้องรับรู้พวกเขาในฐานะประชากรที่สำคัญของโลกนี้คนหนึ่งเฉกเช่นพวกเราทุกคน

หากเราสามารถรับรู้ได้ว่าไม่ใช่คนขาวทุกคน เป็นพวกคูคลักซ์แคน เราก็ต้องแยกได้เช่นกันว่าไม่ใช่คนมุสลิมทุกคนเป็น ISIS ไม่ใช่ตัวปัญหา เขาเองก็เจอปัญหามาเหมือนที่ฝรั่งเศสเจอ หรือเอาจริงๆ หนักหน่วงกว่าเสียด้วยซ้ำ “อย่าทำให้ผู้ซึ่งทนสู้กับปัญหามาทั้งชีวิต กลายเป็นปัญหา” ไป

ในส่วนของกลุ่มมุสลิม pre-modern ที่เป็นปัญหานั้น ผมขออธิบายรวมกันไปกับปัญหาที่สองเลย

ประการที่สอง คือ เรื่องการเมืองและความมั่นคงระหว่างประเทศนั้น พูดกันแบบบ้านๆ ก็คือ แนวทางการแก้ปัญหาแบบสหรัฐอเมริกา และมหาอำนาจหลักของโลกในตอนนี้ที่ต่อต้านความรุนแรงด้วยความรุนแรง ต่อต้านความหวาดกลัว ด้วยความหวาดกลัว อย่างที่เห็นได้จากการก่อสงครามต่อต้านการก่อการร้าย หรือการเพิ่มความเข้มข้นในการ “สอดส่อง” ประชากรในรัฐของตนอย่างล้นเกิน ผมกล้าพูดเลยว่ากลุ่มอย่าง ISIS จะไม่มีทาง “ขยายตัว” จนใหญ่ขนาดที่เป็นอยู่ในตอนนี้ได้ หากชาติมหาอำนาจเหล่านี้ ไม่จัดการแก้ปัญหาที่เป็นอยู่ด้วยวิธีดังกล่าว

ที่พูดมานี้ผมไม่ได้จะปกป้องผู้ก่อการร้ายอะไรทั้งสิ้นไม่เลยขอพูดชัดๆว่าการก่อการร้ายทุกอย่างนั้น“ผิด” ครับ ไม่ว่าจะเป็นการก่อการร้ายที่มีเหตุผลน่าเห็นใจมากๆ แค่ไหนก็ตามที (อย่างกรณีปาเลสไตน์) แต่ประเด็นมันอยู่ที่ว่า เมื่อปัญหาเกิดขึ้นแล้ว เราไม่สามารถแก้ปัญหาด้วยการใช้อีกปัญหาหนึ่ง ซึ่งอาจจะเป็นปัญหาที่ใหญ่กว่าด้วยซ้ำ ลงไปแก้ไขได้ เหมือนกับการที่เกิดกันทะเลาะเถียงกันจนนำไปสู่การสั่งฆ่าคนเป็นร้อย หรือการติดบ่วงทางกฎหมายจนเลือกตั้งไม่ได้ในประเทศเรา ถามว่าเป็นปัญหาไหม ก็ตอบเลยครับว่า “ใช่ เป็นปัญหา” แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราจะแก้ปัญหาด้วยปัญหาที่ใหญ่ยิ่งกว่าอย่างการรัฐประหาร ... ปัญหาเรื่องก่อการร้ายก็เช่นเดียวกัน คุณไม่สามารถแก้ปัญหาด้วยปัญหาที่แย่ยิ่งกว่า เลวร้ายยิ่งกว่าปัญหาเดิมได้

วิธีการรับมือที่ถูกต้อง ผมคิดว่ามันอิงอยู่กับประโยคเด็ด (Punchline) ของแองเจล่า เมอร์เคล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ที่กล่าวว่า “Freedom is stronger than terror.” หรือ “เสรีภาพนั้นแข็งแกร่งกว่าความหวาดกลัว” (แต่วิธีการของพวกนางดูจะคนละเรื่อง) หรือก็คือสิ่งที่ผมยืนยันมาตลอด นั่นก็คือวิธีการรับมือการก่อการร้ายแบบประเทศนอร์เวย์ในคดีเบร์วิก ที่ยืนยันความเป็นมนุษย์ให้กับผู้ก่อการร้ายอย่างเต็มที่ ใช้สติและความอดกลั้นเข้าสู้ เพราะผู้ก่อการร้ายเหล่านี้เขาไม่กลัวตาย ต่างจากผมหรือคุณ เขาเชื่อว่ามีสิ่งที่มีค่ายิ่งกว่าชีวิตของเขาอยู่ ซึ่งนี่เป็นวิธีคิดแบบ “โลกเก่า” หรือโลกก่อนสมัยใหม่ เราจึงต้องหาทางทำให้เขากลับมารักตัวเอง มามองว่าชีวิตของเขานั่นต่างหากที่มีค่าสูงที่สุดแล้ว แบบเดียวกับพวกเรา เราจึงต้องใส่ความเป็นมนุษย์ให้กับพวกเขาซึ่งเป็นมนุษย์ที่ไม่เชื่อในความเป็นมนุษย์ของตัวเองและคนอื่นในสังคมเราต้องเชื่อในความเป็นมนุษย์ของพวกเขามากกว่าที่พวกเขาเชื่อตัวพวกเขาเองให้ได้


นี่คือวิธีการรับมือของระบอบประชาธิปไตยในระยะยาวด้วย เพราะประชาธิปไตยจำเป็นจะต้องมีกลไกในการรับมือปัญหาหรือวิกฤติอย่างเป็นประชาธิปไตยเอง ไม่เช่นนั้นหากเกิดปัญหาขึ้น แล้วเราก็ละทิ้งความเป็นประชาธิปไตยลงก่อน กลับไปหาระบบอำนาจนิยมให้แก้ปัญหาให้ การทำแบบนี้รังแต่จะทำให้ระบอบประชาธิปไตยกลายเป็นระบอบที่อ่อนแอลง และล่มสลายไปในที่สุด เพราะมันจะกลายเป็นระบอบที่ไม่มีกลไกการรับมือปัญหาของตนเองได้ และปัญหาอย่างการก่อการร้าย ซึ่งเป็นการท้าทายต่อ “ตัวรัฐ และความเป็นสมัยใหม่” เช่นนี้ก็จะไม่จบไม่สิ้น เพราะนี่คือการชนกันของยุคก่อนสมัยใหม่กับยุคสมัยใหม่ 

ฉะนั้นเราต้องยืนยันการแก้ปัญหาในฐานะของมนุษย์สมัยใหม่ ไม่ใช่ลงไปเดินบนวิถีแบบยุคก่อนสมัยใหม่ซึ่งเป็นปัญหาที่เรากำลังเจอแทนเสีย เราต้องยืนยันที่จะสู้ความไม่เป็นประชาธิปไตยด้วยความเป็นประชาธิปไตยจนถึงที่สุดเท่านั้นครับ ในเวลาเช่นนี้อย่าคล้อยตามและปล่อยให้ฝ่ายขวาอำนาจนิยมในประเทศของท่านชักนำท่านได้ เราต้องร่วมกันเปล่งเสียงให้ดังกว่าเสียงของฝ่ายขวาอำนาจนิยมเหล่านั้น ให้เสียงเผด็จการที่อาศัยความกลัวของประชาชนเป็นเครื่องมือเหล่านั้นกลายเป็นเพียงลมปากที่ไม่มีสาระใดๆ ทั้งสิ้น

การเกลียดกลัวคนมุสลิมจะลามมาถึงในไทยด้วยหรือไม่ และจะมีผลอย่างไรกับการจัดการการก่อการร้ายในไทย และการรับมือผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา?

จากที่มีการรายงานล่าสุดว่าตอนนี้กลุ่มติดอาวุธในอาเซียน ได้ประกาศตัวชัดเจนว่าเข้าร่วมสนับสนุนเป็นเครือข่ายของ IS อย่างเป็นทางการแล้วนั้น ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงยากที่จะบอกว่าจะไม่เกิดผลกระทบ แต่เราต้องเข้าใจว่านี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ คือในทางด้านความมั่นคงศึกษานั้น เราคุยกันมาหลายปีแล้วว่า IS เข้ามาขยายเครือข่ายในภูมิภาคนี้นะ แต่ก็อย่างที่ทราบ ท่าทีของรัฐไทยก็ไม่ต่างจากเดิมมากนัก ยังคงยืนยันตลอดว่าแผ่นดินนี้ของเราไม่เคยมีการก่อการร้าย แล้วก็อ้างไปที่การค้ามนุษย์ ค้ายาเสพติดแทนไป ไม่เพียงเท่านั้น เรามีปัญหาที่ภาคใต้มานานปี แต่ก็ไม่ได้สร้างความรู้สึกรับรู้อะไรให้กับสังคมนี้ได้เลย ผมว่าความกลัวคนมุสลิมที่ส่งผลจากความรุนแรงในภาคใต้ เผลอจะน้อยกว่าภาพยนตร์ฮอลลิวูดเสียอีก ฉะนั้นกับกรณีที่เกิดขึ้นนี้ผมไม่คิดว่าจะนำมาซึ่งผลต่างจริงๆ ในทางความคิดความรู้สึก แต่ที่จะมีผลแน่ๆ ก็คือ “ผลกระทบในฐานะการใช้เป็นข้ออ้าง” มากกว่าน่ะครับ

เช่นเวลาเจอคนมุสลิมที่ก่อปัญหา ก็คงจะถูกอ้างถึงเหตุการณ์นี้ แบบเดียวกับที่ 9/11 โดน และมาตรการป้องกันการก่อการร้ายก็คงไม่เปลี่ยนอะไร เพราะรัฐบาลนี้ไม่เคยยอมรับการมีอยู่ของการก่อการร้ายในประเทศของตนเอง แม้มันจะเกิดขึ้นตรงหน้าก็ตามที แต่มันจะถูกใช้เป็นข้ออ้างในการออกนโยบายเชิงควบคุมของรัฐแน่นอน อย่าง Single Gateway, การควบคุมการชุมนุมทางการเมือง และแน่นอนมันจะถูกใช้อ้างเพื่อให้นโยบายการปฏิเสธผู้ลี้ภัยมีความเข้มแข็งขึ้น แต่หากมองกันในภาพรวมแล้ว ไม่น่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงในไทย แค่มีข้ออ้างที่แข็งแรงมากขึ้นเท่านั้น   


 

เกี่ยวกับผู้เขียน
ปัจจุบัน กฤดิกร วงศ์สว่างพานิช เป็นนักวิชาการด้าน Critical Terrorism ทำวิทยานิพนธ์ปริญญาโท หัวข้อ The Delegitimation of (Non-State) Vilolence: Constructing Terror in Medernity" University of Wales, Aberystwyth 

หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกใน มติชนออนไลน์
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net