ไอเอส กับ สงครามต่อต้านการก่อการร้าย (?) ที่จะไม่จบในทศวรรษนี้

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

“Because I do it with one small ship, I am called a terrorist.
You do it with a whole fleet and are called an emperor”, St. Augustine

 

เรื่องปฏิบัติการของขบวนการรัฐอิสลาม (ไอเอส) มีแง่มุมให้น่าสนใจได้ทุกวัน คำประกาศสงครามของปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย และออลลองด์ ประธานาธิบดีฝรั่งเศสในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมาต่อไอเอส น่าจะโดนใจคนจำนวนมากทั่วโลก แต่คำประกาศนี้คือรูปธรรมที่แสดงถึงการประสบความสำเร็จอย่างสูง...ของเหล่าผู้ก่อการร้าย ที่สามารถทำให้ผู้นำของชาติมหาอำนาจลำดับต้นๆ ของโลกพูด “ในภาษาแบบเดียว” กับพวกเขา และทำให้คนจำนวนมากทั่วโลกคิดในแบบแผนเดียวกับผู้ก่อการร้าย นั่นคือ การศรัทธาในความรุนแรงและเชื่อในวิธีแก้ปัญหาความขัดแย้งโดยใช้กำลังอาวุธ

คำประกาศดังกล่าวของปูติน มีพลังเร้าอารมณ์คนมหาศาลให้สนับสนุนปฏิบัติการทางการทหารของเขาได้อย่างทรงประสิทธิภาพไม่ต่างจากฟัตวาของโอซามะ บินลาเดน เมื่อ ค.ศ.1996 บนหลักการแบบตาต่อตาฟันต่อฟันเช่นนี้ สิ่งที่น่าสนใจคือ ปูตินเลือกใช้คำว่า “ล้างแค้น” ภายหลังพบว่า เครื่องบินโดยสารรัสเซียที่ระเบิดเหนือคาบสมุทรซีนายนั้นเป็นผลมาจากระเบิด TNT ที่ลักลอบเข้าไปในเครื่องผ่านการเอื้ออำนวยทางของเจ้าหน้าที่สนามบินอย่างน้อย 2 คน

แต่ก่อนหน้านั้น ช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา รัสเซียเป็นฝ่ายเปิดฉากโจมตีไอเอสในซีเรีย โดยโมเมถล่มใส่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลอัลอัซซาดรายอื่นๆ ด้วย การโจมตีเครื่องบินโดยสารรัสเซีย ก็เป็นสิ่งที่ติดตามมาจากปฏิบัติการดังกล่าวของรัฐบาลปูติน การโจมตีเครื่องบินนี้ต่างหากที่เป็นการ “ล้างแค้น”  

เช่นเดียวกับฝรั่งเศส หลังเหตุโจมตีปารีส ประธานาธิบดีออลลองด์ประกาศสงครามเพื่อ “ตอบโต้” และติดตามมาด้วยการปูพรมทางอากาศอย่างต่อเนื่องและหนักหน่วงใส่ที่มั่นของไอเอสในซีเรียในวันถัดมา ซึ่งที่จริงแล้ว ฝรั่งเศสไม่ได้เพิ่งประกาศสงครามเมื่อวันเสาร์ที่ 14 พ.ย. แต่ในเชิงพฤตินัย พวกเขาได้ประกาศสงครามมาหลายเดือนแล้ว อย่างน้อยที่สุดคือ นับตั้งแต่ที่ฝรั่งเศสปฏิบัติการโจมตีทางอากาศใส่ไอเอสเมื่อช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา เพราะฉะนั้น ใครกันแน่ที่ “ตอบโต้” ใคร ? 
     
ผมไม่ได้เชียร์และให้ความชอบธรรมกับไปไอเอส แต่สิ่งที่ฝรั่งเศสและรัสเซียทำก่อนหน้าจะถูกโจมตี เด็กประถมก็ตอบได้ว่า “นั่นคือ สงคราม” .. ตั้งแต่เมื่อไหร่กัน ที่เราไม่เรียกการปูพรมทิ้งระเบิดลงไปในดินแดนหนึ่งๆ ว่าสงคราม? .. ตั้งแต่เมื่อไหร่กัน ที่เราคิดได้อย่างวิกลจริตว่า เมื่อเราเปิดฉากสงครามไป แล้วจะไม่เจอสงครามตอบ? ตรรกะตรงนี้วิบัติค่อนข้างมากพอๆ กับความเชื่อว่า ถ้าเรียกหาทหาร แล้วจะได้กลับมาเป็นประชาธิปไตย

ฝรั่งเศสและรัสเซียจึงอยู่ในสภาวะสงครามมาสักพักแล้ว การโจมตีกรุงปารีส หรือการโจมตีเครื่องบินโดยสารของรัสเซีย จึงไม่ใช่จุดเริ่มต้นของการเปิดฉาก War on Terror รอบใหม่ แต่มันเป็นผลพวงที่ต่อเนื่องของปฏิบัติการรุนแรงซึ่งฝรั่งเศสและรัสเซียมีส่วนร่วมขับเคลื่อนมาสักพักหนึ่งแล้วต่างหาก

ตัวอย่างเหล่านี้คือสิ่งสะท้อนว่า ในการใช้ความรุนแรงทั้งคู่ ตะวันตกจะเป็นฝ่ายถูกต้องกว่าเสมอเพราะพวกเขาผูกขาดการเล่าเรื่องและช่องทางที่มีพลังมากกว่าในการสื่อสาร และธีมของ content หลักๆ ที่คนจำนวนมากเชื่อ คือ “ไม่มีตรรกะอันสมเหตุสมผลใดอยู่เบื้องหลังผู้ก่อการร้าย และดังนั้น สิ่งที่ต้องทำ คือแค่ต้องช่วยกันกำจัดผู้ก่อการร้ายทิ้ง”

การสื่อสารของฝรั่งเศสกับรัสเซียก็วางอยู่บนธีม content ดังกล่าว คือ ทั้งคู่กล่าวราวเสมือนว่าพวกเขาไม่ได้ทำอะไรให้เลย และโดนกระทำก่อน ดังนั้น จึงมีความ “ชอบธรรม” จะตอบโต้กลับ ผมต้องพูดเรื่องนี้ เพราะอยากให้ผู้อ่านได้เห็นว่ามันเป็นเรื่องประหลาดแกมตลกมากที่เรายอมรับให้คนกลุ่มหนึ่งมีสิทธิโกรธแค้นได้โดยชอบธรรม ในขณะที่คนอีกกลุ่มหนึ่งแม้โดนกระทำเช่นกันก็ไม่มีสิทธิจะโกรธแค้น ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยหรือมีอารมณ์ร่วมกับคนกลุ่มใดก็ตาม

จริงอยู่ว่าข้อแตกต่างสำคัญอยู่ที่ ฝรั่งเศสและรัสเซียพุ่งเป้าโจมตีไปยังกองกำลังที่ติดอาวุธ ส่วนไอเอส พุ่งเป้าโจมตีไปยังพลเรือนผู้บริสุทธิ์ ซึ่งนั่นทำให้ไอเอสไร้ซึ่งความชอบธรรมโดยสิ้นเชิง แม้การสูญเสียจะเป็นสิ่งที่น่าเสียใจ แต่ในเชิงการทหาร ย่อมเป็นที่เข้าใจในทุกฝ่ายว่าสงครามนี้เป็นสงครามแบบอสมมาตร คือ คู่สงครามฝ่ายหนึ่งมีขีดอำนาจสูงกว่าอีกฝ่ายราวฟ้ากับเหว และไม่มียุทธวิธีใดสำหรับผู้อ่อนด้อยขีดอำนาจในการจะสู้ได้มากไปกว่าสงครามแบบกองโจร หรือการใช้แท็กติกแบบการก่อการร้าย และเมื่อใดที่เป็นสงครามแบบอสมมาตรเช่นนี้ การสู้รบย่อมไม่รับประกันความปลอดภัยของชีวิตพลเรือน ดังนั้น ตั้งแต่เมื่อไหร่กัน ที่นักยุทธศาสตร์การทหารของฝรั่งเศสและรัสเซียเข้าใจไปเองว่า การเดินหมากในสงครามรูปแบบนี้ สามารถเล่นได้โดยจะไม่ต้องจ่ายราคาความเสี่ยงให้กับการเกิดเหตุต่อประชาชนของตนเอง?    

การประกาศและปฏิบัติการของทั้งฝรั่งเศสและรัสเซียหนนี้ เป็นทางเลือกนโยบายแบบเกมศูนย์ (zero sum game) คือ จะมีฝ่ายหนึ่งได้ทั้งหมด และอีกฝ่ายเสียทั้งหมด ผมเชื่อว่า ท้ายที่สุด ไอเอสที่อิรักและซีเรียก็จะพ่ายแพ้เป็นฝ่ายหมดหน้าตักลงไป เพราะขีดอำนาจของทั้งฝรั่งเศส รัสเซีย รวมถึงพันธมิตรเหนือกว่าอย่างมหาศาล เรื่องนี้เราๆ ก็น่าจะคิดไม่ต่างกันนัก

แต่คำถามที่น่าสนใจกว่าสำหรับผม คือ ชัยชนะในเกมนี้ต้องจ่ายที่ราคาเท่าไหร่ล่ะ? โดยที่หน่วยของราคานี้ไม่ใช่เงินฟรังก์ แต่นับเป็นจำนวนชีวิตคน ฝรั่งเศสและรัสเซียพร้อมแค่ไหนกับการตั้งรับการโจมตีกลับระลอกใหม่? โดยเฉพาะอย่างยิ่งการโจมตีจากผู้ก่อการร้ายในประเทศตนเอง (Homegrown Terrorists) ที่ไม่ได้เดินทางแฝงเข้ามาในรูปแบบไหนทั้งสิ้น ในบริบทที่องค์ความรู้ที่เอื้ออำนวยสำหรับการก่อเหตุพร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่ อาจเป็นใครคนหนึ่งคนใดก็ได้ที่จะลุกขึ้นปฏิบัติการ ที่เรียกกันว่า Lone Wolf ซึ่งยับยั้งเสรีปฏิบัติได้ยากมาก  หนึ่งในผู้ก่อเหตุด้วยระเบิดพลีชีพที่ปารีส เป็นคนที่อยู่ในแบล็กลิสต์บุคคลที่มีแนวคิดสุดโต่ง (Radical) มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2010 แต่เขาก็สามารถมีเสรีปฏิบัติก่อเหตุในปี ค.ศ. 2015 นี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในแง่ของวัตถุระเบิด ระเบิดที่ปารีสเป็นระเบิดชนิดที่เรียกว่า TATP ย่อมาจาก ไตรอะซิโตน-ไตรเปอร์ออกไซด์ แปลว่า ทำมาจากสารเคมีตั้งต้นคือ อะซิโตน กับ ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ โดยใช้กรดอย่างซัลฟิวริกเป็นตัวทำปฏิกิริยา กรดอะซิโตนสามารถหาได้ไม่ยากจากน้ำยาล้างเล็บ ส่วนไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์คือสารที่มีอยู่ในน้ำยาบ้วนปาก หรือน้ำยาย้อมผม ขั้นตอนวิธีการเอาของพวกนี้มาทำระเบิดเกลื่อนกลาดอยู่ในอินเตอร์เน็ต ทั้งในรูปบทความและคลิปวิดีโอ TATP เป็นระเบิดยอดนิยมของนักก่อการร้ายทั้งหลายเพราะทำได้ง่าย แต่มีความรุนแรงมากและไวต่อการระเบิด ที่สำคัญคือ พกพาสะดวกเพราะเครื่องตรวจจับส่วนใหญ่ เช่นที่เราเห็นตามห้างสรรพสินค้า มักตรวจจับแค่โลหะ กับไนโตรเจน ในขณะที่ TATP ไม่มีส่วนประกอบของของ 2 อย่างที่ว่ามา แปลว่า เราสามารถพกพา TATP เข้าไปในห้างฯ ได้ง่ายๆ หาก รปภ. ไม่ขอสแกนร่างกายต่อ

นี่คือภาวะเสี่ยงที่ต้องแบกรับจากการเข้าร่วมสงคราม ซึ่งสุดท้ายเราอาจจะรอดจากเหตุโจมตีก็ได้ แต่แน่ใจนะว่าเราอยากอยู่ในสังคมที่ต้องหวาดระแวงอยู่ตลอดแบบนี้? 

สงครามอัฟกานิสถาน-โซเวียต เป็นจุดเริ่มต้นการตั้งมัคตับ อัล-คิดามัต (the Service Bureau) ศูนย์บัญชาการกลางที่รวบรวมนักรบ (มูญาฮีด) ทั่วโลกมาทำสงครามศักดิ์สิทธิ์กับโซเวียต โดยมีอเมริกาเป็นผู้ให้การสนับสนุนทั้งเงินทุน อาวุธ ทฤษฎีการรบ รวมถึงงานนิตยสารเพื่อปฏิบัติการข่าวสาร หลังสงครามนี้จบลงในค.ศ.1989 มัคตับพัฒนากลายไปเป็นอัลกออิดะฮฺ อาวุธที่พวกเขาใช้ในช่วงแรก ได้รับตกทอดมาจากอเมริกา

สงครามต่อต้านการก่อการร้าย (War on Terror) เมื่อ ค.ศ.2001 เกิดขึ้นภายใต้กระแสเรียกร้องอย่างมากจากสื่อและสังคมอเมริกาให้ปฏิบัติการทางทหารตอบโต้กลับต่อเหตุการณ์ 9/11 โดยมีศัตรูตัวฉกาจคือ อัลกออิดะฮฺ ที่กล่าวถึงข้างต้น เกือบ 1 ทศวรรษครึ่ง (14 ปี) ของสงคราม อัลกออิดะฮฺฝ่อลงเยอะ แต่เราได้กลุ่มก่อการร้ายโฉมใหม่ ที่สุดโต่งกว่าเดิม รุนแรงกว่าเดิมมาแทน นั่นคือ ไอเอส

และถ้าวันนี้เรายังคงเชื่อและเชียร์ในการทำสงครามต่อต้านการก่อการร้ายรอบใหม่ อีกทศวรรษข้างหน้า เราจะได้กลุ่มก่อการร้ายแบบไหนมาอีก? แน่ใจแล้วนะว่า เราจะอยู่กันแบบนี้จริงๆ ?

ผมเขียนบทความนี้ขึ้นด้วยการทำใจพลีชีพตนเองว่าจะต้องโดนหาว่าเป็นกองเชียร์ไอเอส เข้าข้างมุสลิม และเกลียดฝรั่งแน่ๆ แต่ผมไม่ได้มุ่งหมายจะให้ข้อสรุปว่า “ตะวันตกเป็นต้นเหตุของปัญหาทุกอย่าง”  ข้อสรุปที่ผมต้องการสื่อสารในบทความนี้คือ เราไม่ควรโยนความผิดบาปให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงฝ่ายเดียว เพราะอันที่จริงแล้ว “ทุกฝ่ายล้วนเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา” เราไม่อาจแก้ลัทธิก่อการร้ายได้อย่างยั่งยืน ถ้าไม่ทวนกระแสไปจัดการที่รากของมัน เราไม่อาจหยุดยั้งการก่อการร้าย (โดยใครก็ช่าง) ในอนาคตได้ ถ้าเราเองก็ยังเชียร์ และยอมรับบรรทัดฐานของการล้างแค้นเอาคืนแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน และไม่ได้มองเห็นบทบาทของคนอีกกลุ่มในการร่วมสร้างปัญหา 

หลายคนอาจเถียงว่าถ้าไม่ทำสงครามตอบโต้ “ก็แล้วมันมีทางไหนอีกล่ะ?”

ผมขอตอบด้วยคำถามกลับ: ก่อนที่จะกล่าวว่า.. “ก็แล้วมันมีทางไหนอีกล่ะ?” .. ได้เคยพยายามมองหา ทางเลือกอื่น มาบ้างแล้วหรือยัง?
 

 

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: ปัจจุบัน อาทิตย์ ทองอินทร์ เป็นอาจารย์ผู้สอนและหัวหน้าภาควิชาสังคมศาสตร์ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม   ม.รังสิต

  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท