Skip to main content
sharethis

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ คสช./491 ลงวันที่ 11 พ.ย. เรื่อง ขอความร่วมมือแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ถึง นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) โดยมีเนื้อหาดังนี้

            1. ตามที่คณะกรธ.ได้มีหนังสือถึงหัวหน้าคสช. เพื่อขอรับความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับหลักการที่สมควรบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อที่คณะกรธ. จะได้นำไปประกอบการพิจารณายกร่างรัฐธรรมนูญต่อไป

            2. คสช.พิจารณาแล้วเห็นดังนี้

            2.1 ต้องมีบทบัญญัติที่สำคัญอย่างครบถ้วน มีข้อความชัดเจนแน่นอน เพื่อจะให้เกิดความเข้าใจในทุกเนื้อหาสาระได้ง่าย ไม่ใช้ถ้อยคำที่กำกวม ซึ่งล่อแหลมต่อการตีความผิดๆ จะต้องใช้ถ้อยคำที่เลือกสรรมาแล้วว่ามีความหมายที่แน่นอนและชัดเจนที่สุด คำหรือข้อความที่มีความหมายหลากหลายแง่มุม หรือกำกวม ซึ่งอาจทำให้เข้าใจไปได้หลายกรณีไม่ควรนำมาใช้

            2.2 รัฐธรรมนูญไม่ควรยาวเกินไป ควรบัญญัติเฉพาะหลักการจัดรูปแบบการปกครองของรัฐที่สำคัญ และจำเป็นเท่านั้น หากยาวมีรายละเอียดมาก จะทำให้การตีความยุ่งยากมากขึ้น และจะไม่ได้รับความเคารพเท่าที่ควร สำหรับรายละเอียดปลีกย่อยของการปกครองประเทศ หรือกฎหมายย่อยในส่วนอื่นๆ นั้น ควรเป็นหน้าที่ขององค์กรฝ่ายนิติบัญญัติ จะออกกฎหมายที่มิใช่เรื่องที่ควรบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญ จะต้องไม่สั้นเกินไปจนขาดสาระสำคัญ

            2.3 ควรมีกำหนดวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามกฎหมายขึ้นไว้ เพราะรัฐธรรมนูญที่ดีต้องมีความยืดหยุ่นเหมาะสมกับกาลสมัย ที่มีการเปลี่ยนแปลงไป การที่มีวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามกฎหมายนั้น เพื่อป้องกันการล้มล้าง หรือแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยใช้กำลัง โดยเฉพาะการปฏิวัติ และรัฐประหาร

            2.4 บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ควรจะต้องครอบคลุมในหลักการที่สำคัญของกระบวนการการเมือง การปกครอง เช่น บัญญัติรับรองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามหลักนิติรัฐ บัญญัติถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่เหมาะสม สอดคล้องกับหลักการปกครองของระบอบประชาธิปไตย และวัฒนธรรม ประเพณี ความรู้ ความสามารถ ทางการเมืองของประชาชนเป็นสำคัญ บัญญัติถึงสถาบันทางการเมือง ที่มาของสถาบันเหล่านั้น อำนาจหน้าที่ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันการเมือง กระบวนการสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่ของสถาบันการเมือง รวมถึงกระบวนการใช้อำนาจตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรทางการเมืองของสถาบันต่างๆ อย่างรัดกุม ป้องกันมิให้มีการบิดเบือนหลักการและกฎเกณฑ์ที่ถูกต้อง เพราะจะทำให้เกิดวิกฤตทางการเมือง และอาจเป็นหนทางนำไปสู่การแก้วิกฤตการเมืองด้วยวิธีการนอกระบบ

            2.5 การมีส่วนร่วมในทางการเมืองของประชาชน จะต้องสร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่ในประเทศอย่างแท้จริง ในฐานะผู้เป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดในการปกครองในการที่จะเปลี่ยนแปลงรัฐบาลที่ใช้อำนาจปกครองโดยไม่ถูกต้องชอบธรรมหรือรัฐบาลที่ปฏิเสธหรือ เป็นปฏิปักษ์ต่อมวลมหาประชาชน โดยไม่ทำให้ประชาชนมีความสำคัญแต่เฉพาะก่อน หรือขณะเลือกตั้งเท่านั้น ภายหลังการเลือกตั้งไปแล้วประชาชนยังคงต้องมีบทบาทที่สำคัญกว่านักการเมืองผู้ที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามา โดยรัฐมีหน้าที่สนับสนุนในการสร้างและพัฒนาพลเมืองให้มีความรู้ และความรับผิดชอบทางการเมือง

            2.6 เนื่องจากปัญหาวิกฤต หรือข้อขัดแย้งทางการเมืองย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ และรัฐธรรมนูญอาจเกิดภาวะทางตัน ดังนั้น ควรบัญญัติช่องทางเผื่อกาลในอนาคตในการผ่าทางตัน เพื่อรองรับสถานการณ์ไว้ด้วย โดยเฉพาะการเกิดปัญหาสุญญากาศทั้งด้านนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินสามารถดำเนินการต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง

            2.7 แนวนโยบายด้านความมั่นคงของรัฐยังคงต้องบัญญัติให้รัฐต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตย และบูรณภพแห่งเขตอำนาจรัฐ และต้องจัดให้มีกำลังทหาร อาวุธยุทโธปกรณ์ และเทคโนโลยีที่ทันสมัย จำเป็น และเพียงพอ เพื่อพิทักษ์รักษาเอกราช อธิปไตย ความมั่นคงของรัฐ สถาบันพระมหากษัตริย์ ผลประโยชน์แห่งชาติ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเพื่อการพัฒนาประเทศ การใช้กำลังทหารโดยสุจริตเพื่อความมั่นคงของรัฐจากภัยที่มีมาจากภายในและนอกราชอาณาจักร ไม่ต้องรับโทษทางแพ่ง ทางอาญา และทางปกครอง

            2.8 ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยเฉพาะทหาร จะต้องมีสิทธิเสรีภาพในทุกๆ ด้าน เช่นเดียวกับประชาชนโดยทั่วไปไม่ควรถูกจำกัด หรือริดรอนสิทธิเสรีภาพแม้กระทั่งสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง ด้วยเหตุแห่งอาชีพในการเป็นข้าราชการทหาร

            2.9 ควรกำหนดให้การดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีมีวาระ 4 ปี และจะดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 วาระ เพื่อป้องกันการผูกขาดหรือ เผด็จการทางการเมือง

            2.10 ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น จะต้องได้รับการต่อต้านและขจัดไปจากชาติ โดยผู้กระทำความผิดจะต้องถูกลงโทษอย่างหนักเฉียบขาดและรุนแรง เป็นค่านิยมที่จะต้องถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ประชาชนและข้าราชการเกิดความสำนึกที่ดีต่อประเทศชาติ

ที่มา : ผู้จัดการรายวันและไทยรัฐฉบับพิมพ์
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net