จาตุรนต์ ฉายแสง: จะไม่เหลืออำนาจไว้ให้ประชาชนบ้างเลยหรือ ?

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

ดูเหมือนคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จะเข้าใจผิดว่าคนไทยคิดอะไรไม่เป็นกันไปหมดแล้วหรืออย่างไรไม่ทราบ  จึงได้ตั้งหน้าตั้งตาออกแบบระบบที่ยึดเอาอำนาจไว้กับผู้มีอำนาจทั้งหลายในปัจจุบันต่อไป โดยไม่คิดจะคืนอำนาจให้กับประชาชนบ้างเลย

กรธ.พยายามหาทางทำให้ไม่มีพรรคการเมืองที่มีเสียงมากพอที่จะจัดตั้งรัฐบาล  เพื่อให้เกิดรัฐบาลผสมที่อ่อนแอและต้องพึ่งอำนาจนอกระบบ  พร้อมกับเตรียมสร้างช่องทางให้คนนอกเป็นนายกฯ แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากแต่กรธ.ก็ยังไม่ลดละความพยายาม

มาถึงเรื่องที่มาและอำนาจของ สว.  กรธ.กำลังจะทำสิ่งที่เป็นปัญหาใหญ่มากด้วยการอ้างเหตุผลง่ายๆเหมือนการร่างรัฐธรรมนูญไม่ต้องใช้หลักการหรือความรู้อะไรกันเลย กรธ.บอกว่าการให้สว.มาจากการเลือกตั้งคงเป็นทางเลือกสุดท้าย  เพราะมิฉะนั้นก็จะมีที่มาเหมือนกับสส. ทั้งๆที่ไม่มีหลักเกณฑ์อะไรที่ไหนที่บอกว่าสว.กับสส.ต้องมีที่มาที่ต่างกัน และตามหลักประชาธิปไตยแล้ว ถ้าสว.จะมีอำนาจมากๆก็ต้องมาจากประชาชน คือ มาจากการเลือกตั้ง

กรธ.กระโดดข้ามไปทึกทักเอาดื้อๆว่าถ้าอย่างนั้นก็จะตัดอำนาจสว.ออก คือ ไม่ให้มีอำนาจในการถอดถอนอย่างที่เคยมีมา ฟังดูก็ง่ายดี แต่เรื่องมันไม่จบแค่นั้น ที่ผ่านมาสว.มีอำนาจสำคัญๆหลายอย่าง ทั้งที่เป็นอำนาจของสว.เองตามลำพังและในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของรัฐสภา เช่น การให้ความเห็นชอบในการประกาศสงคราม การเห็นชอบในการที่รัฐบาลจะดำเนินนโยบายสำคัญในด้านการต่างประเทศ การยับยั้งหรือไม่เห็นชอบกับร่างพระราชบัญญัติ และสว.ยังมีอำนาจเห็นชอบแต่งตั้งกรรมการในองค์กรตามรัฐธรรมนูญอีกจำนวนมากด้วย

ถามว่า สว.ที่จะมีขึ้นตามรัฐธรรมนูญที่ร่างกันอยู่นี้จะมีอำนาจเหล่านี้หรือไม่ ผมคาดว่า กรธ.ก็คงจะบอกว่ามี ซึ่งจะมีปัญหาไปแบบหนึ่ง แต่ถ้าไม่มีก็ต้องถามต่อว่าแล้วจะเอาอำนาจเหล่านั้นไปยกให้ใคร

ยังไม่นับว่า เรายังไม่รู้ว่าพอไปถึงเรื่อง คปป.เจ้าปัญหา กรธ.จะเขียนให้ สว.มีอำนาจตั้งกรรมการใน คปป.หรือไม่  และจะให้สามารถออกกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปและการปรองดองได้เองหรือไม่ด้วย

ส่วนที่บอกว่าจะเอาอำนาจในการถอดถอนไปยกให้ศาลนั้น ฟังเร็วๆก็เหมือนไม่น่ามีปัญหา แต่จริงๆแล้วเป็นเรื่องใหญ่มาก คือ เป็นเรื่องที่จะมีผลเปลี่ยนแปลงหลักการและระบบเกี่ยวกับการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างอำนาจอธิปไตยทั้งหลายเลยทีเดียว

ในรัฐธรรมนูญอย่างน้อย 2 ฉบับที่ผ่านมา สว.ไม่ได้มีอำนาจถอดถอนเฉพาะนักการเมือง แต่มีอำนาจถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงทั้งในองค์กรตามรัฐธรรมนุญ ฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติและตุลาการด้วย

ที่เขากำหนดไว้อย่างนี้เพราะเป็นการให้อำนาจแก่รัฐสภา  ซึ่งทั้งหมดหรือส่วนใหญ่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน การถอดถอนนี้เป็นคนละเรื่องกันกับการตัดสินลงโทษผู้กระทำผิดกฎหมายซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของศาล

การที่ กรธ.จะเอาอำนาจถอดถอนซึ่งพึงเป็นของรัฐสภาไปยกให้ศาล  จึงเป็นการผิดหลักการถ่วงดุลระหว่างอำนาจอธิปไตยทั้งหลายและเป็นการยึดเอาอำนาจไปจากประชาชน

การร่างรัฐธรรมนูญนั้นเป็นการออกแบบระบบกติกาของประเทศ แต่ละเรื่องมีหลายส่วนประกอบกันและยังสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน พอผิดไปเรื่องหนึ่งก็อาจทำให้เสียหายกันไปทั้งระบบ  และพอผิดหลายเรื่องเข้าก็กลายเป็นผิดทั้งระบบได้ ดังนั้นการอ้างเหตุผลแบบง่ายๆตื้นๆโดยไม่อธิบายถึงความเชื่อมโยงกับเรื่องสำคัญอื่นๆจึงใช้ไม่ได้สำหรับการร่างรัฐธรรมนูญ

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท