Skip to main content
sharethis

ฮัฟฟิงตันโพสต์เผยเอกสารลับที่ระบุถึงการหารือกันระหว่างตัวแทนจากธนาคารโลก-ภาครัฐ-ภาคประชาสังคม เผยให้เห็นว่ากรรมการบริหารของธนาคารโลกเสนอแนะต่อที่ประชุม ให้มีการปรับปรุงระบบการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเพื่อพิจารณาเรื่องการให้กู้ยืมสำหรับโครงการต่างๆ

19 พ.ย. 2558 สำนักข่าวฮัฟฟิงตันโพสต์รายงานข้อมูลด้านการดำเนินนโยบายสิทธิมนุษยชนของธนาคารโลกจากข้อมูลเอกสารที่รั่วไหล โดยพบว่าในช่วงตลอด 3 ปีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ธนาคารโลก, รัฐบาลประเทศต่างๆ, องค์กรภาคพลเมืองและชุมชนต่างๆ มีการถกเถียงอภิปรายและปรับปรุงร่างนโยบายของธนาคารโลกในเรื่องของการคุ้มครองชุมชนและสิ่งแวดล้อมซึ่งมีข้อวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชน

ส่วนหนึ่งของเอกสารที่ถูกเผยแพร่โดยฮัฟฟิงตันโพสต์

หนึ่งเดือนก่อนหน้าที่คณะกรรมการด้านประสิทธิภาพในการพัฒนาของธนาคารโลกจะเผยแพร่ร่างนโยบายดังกล่าวในฉบับปรับปรุงต่อสาธารณชน มีแถลงการณ์ที่เป็นความลับในองค์กร (อ่านเอกสาร) เป็นคำวิพากษ์วิจารณ์จากกรรมการบริหารของธนาคารโลกทั้ง 6 คน ข้อวิจารณ์หลักๆ คือการที่ธนาคารโลกพยายามหลีกเลี่ยงการระบุถึงคำที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนลงไปในนโยบายของพวกเขา โดยที่ธนาคารโลกหลี่กเลี่ยงรับผิดชอบด้านสิทธิมนุษยชนเช่นนี้มาเป็นเวลานานแล้วจากหลายสิบปีที่ผ่านมาที่มีหลักฐานแสดงให้เห็นว่าโครงการที่มาจากธนาคารโลกก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น การไล่ที่คนจนและชุมชนที่ขาดโอกาสส่งผลให้มีคนพลัดถิ่นราว 3-4 ล้านคน

ทั้งนี้ยังมีกรณีที่หัวหน้าฝ่ายบรรษัทการเงินระหว่างประเทศ (IFC) ซึ่งเป็นหน่วยงานให้กู้ยืมแก่ภาคเอกชนประกาศว่าเขาจะลงจากตำแหน่งเนื่องจากถูกกล่าวหาเรื่องที่โครงการของ IFC มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน

กรรมการบริหารที่มาจากประเทศต่างในแถบยุโรปและแถบคาบสมุทรบอลติกเรียกร้องให้ธนาคารโลกมีความรับผิดชอบมากกว่านี้โดยทำให้แน่ใจว่าปฏิบัติการต่างๆ จะไม่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน สำนักข่าวฮัฟฟิงตันโพสต์ระบุว่าถึงแม้นักสิทธิมนุษยชนจะเคยวิพากษ์วิจารณ์หนักกว่านี้ แต่แถลงการณ์จากเหล่าผู้อำนวยการบริหารซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นอยู่จำนวนหนึ่งก็ชวนให้ธนาคารโลกต้องพิจารณาในเรื่องนี้

ฮัฟฟิงตันโพสต์ระบุอีกว่าแถลงการณ์ของกรรมการบริหารยังเกี่ยวข้องกับเรื่องการถ่ายโอนความรับผิดชอบด้านการคุ้มครองจากธนาคารไปสู่รัฐบาลที่ทำสัญญาด้วย โดยนโยบายการคุ้มครองในฉบับปัจจุบันถูกวิจารณ์ ทั้งจากภาคประชาสังคมและรัฐบาลประเทศต่างๆ ในเรื่องที่ผลักภาระความรับผิดชอบด้านการดูแลจัดการความคุ้มครองไปให้กับรัฐบาลผู้กู้ยืม ถึงแม้ว่าจะเป็นไปเพื่อการเพิ่มความรู้สึกเป็นเจ้าของและเรื่องความเป็นอิสระ แต่ก็เกิดปัญหาเมื่อแต่ละประเทศจัดการความคุ้มครองได้ไม่เท่ากันและธนาคารโลกก็ไม่ได้อธิบายชัดเจนว่าควรมีการคุ้มครองอย่างไร ทำให้คณะกรรมการวิจารณ์พวกเขาว่าธนาคารควรมีความรับผิดชอบในการทำให้มีการดำเนินโครงการตามนโยบายของพวกเขาซึ่งหมายรวมถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและต่อสิ่งแวดล้อมด้วย

ฮัฟฟิงตันโพสต์เปิดเผยอีกว่าถึงแม้ภาคประชาสังคมจะเข้าร่วมให้ข้อเสนอแนะด้วย แต่กระบวนการของธนาคารโลกก็ยังมีอุปสรรคความยุ่งยากสำหรับพวกเขา เช่น ต้องมีการลงทะเบียนในลักษณะพิเศษ มีเวลาเตรียมการเสนอแนะน้อย และมีปัญหาด้านการเดินทางไปร่วมประชุม ซึ่งทางกรรมการบริหารยังเรียกร้องให้กระบวนการปรึกษาหารือเป็นไปอย่างมีส่วนร่วมและคำนึงถึงความหลากหลายจากภาคประชาสังคมมากขึ้น รวมถึงสนับสนุนให้มีการใช้ "กรณีศึกษาจากชีวิตจริง" ในการปรึกษาหารือด้วย

จากข้อมูลการหารือในครั้งนี้ทำให้มีความหวังว่าถ้าธนาคารโลกเปลี่ยนแปลงนโยบายที่ให้มีการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมอย่างแข็งขันมากขึ้นก็จะสามารถลดปัญหาต่างๆ จากโครงการขนาดใหญ่ได้ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญสำหรับภาคประชาสังคม

 

เรียบเรียงจาก

Leaked Document Reveals Internal Struggle for Human Rights Protections at the World Bank, Huffington Post, 18-11-2015 http://www.huffingtonpost.com/nezir-sinani/leaked-document-reveals-i_b_8582120.html

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net