เปิดใจ ‘เอนก สิงขุนทด’ อดีตนักโทษการเมืองตาบอด 5 ปีในเรือนจำ บทเรียนประชาชนผู้ตื่นตัว

เอนก สิงขุนทด ชายหนุ่มวัย 32 ปี ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เมื่อเดือนมิถุนายน 2558

เขาอยู่ในเรือนจำมา 5 ปีเต็ม ด้วยสภาพที่ดวงตาข้างซ้ายใส่ลูกตาปลอม อีกข้างหนึ่งมองเห็นแสงได้เพียงรำไร

การสูญเสียดวงตาสองข้าง นิ้วมือนิ้วหนึ่ง และโทษจำคุกนี้สืบเนื่องมาจากการการก่อคดีของเขา “ระเบิดรถเงาะ หน้าพรรคภูมิใจไทย” ในเดือนมิถุนายน 2553 หรือหลังสลายการชุมนุมใหญ่ที่ราชประสงค์ราว 1 เดือน

เขาเล่าว่า เขารับจ้างเข็นรถเข็นซึ่งเต็มไปด้วยเงาะ ภายในมีระเบิดประกอบเองอยู่ในนั้นไปจอดไว้ข้างกำแพงที่ทำการพรรคภูมิในไทยในเช้าตรู่วันหนึ่ง

“ผมเป็นแค่คนที่ลืมบุญคุณคนไม่ลง เขาใช้ไปไหนไปหมด กลายเป็นหนูทดลองให้เขา เราคิดไม่ถึงว่าเขาจะทำกับเราแบบนี้วางงานเราแบบนี้” เอนกกล่าว

ตามข่าวระบุว่า ระเบิดนี้ถูกประกอบโดยผู้เชี่ยวชาญด้านบั้งไฟจากจังหวัดในภาคอีสาน และกลายเป็นหนึ่งในผู้ต้องหาที่หลบหนีคดีอยู่ โดยผู้ประกอบระเบิดเคยให้สัมภาษณ์สื่อไว้ว่า “ถ้ามันคือมีด ผมเป็นคนทำมีด แต่ใครซื้อมีดแล้วเอาไปทำอะไร ผมไม่รู้”

ไม่ทราบแน่ชัดว่าด้วยเหตุใด ระเบิดนั้นไม่ทำงาน และทีมงานผู้จ้างวานได้บอกให้เอนกกลับไปจัดการกับสวิชท์ที่รถเข็นอีกครั้ง แล้วระเบิดก็เกิดทำงานขึ้นมาในตอนนั้น ทำให้เขาได้รับบาดเจ็บสาหัส นอนพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลตำรวจในฐานะผู้ต้องหานานนับเดือน ตามปากคำของหน่วยเก็บกู้ระเบิดที่ปรากฎในรายงานข่าวระบุว่าเป็นอุบัติเหตุ

“ เข้าใจว่าคนที่บาดเจ็บอาจจะถูกผู้ร่วมขบวนการใช้ให้ไปปรับสวิตช์จากตำแหน่งออฟ (OFF) ไปเป็นตำแหน่งออน (ON) เพื่อจุดชนวนระเบิดด้วยคลื่นความถี่สั้น ระยะไม่เกิน 100 เมตร เป็นไปได้ว่ากระแสไฟฟ้าเกิดขึ้นโดยบังเอิญขณะดันปุ่มสวิตช์ ทำให้เกิดระเบิดขึ้นก่อนเวลาที่ตั้งใจไว้" ผู้เชี่ยวชาญด้านเก็บกู้ระเบิดกล่าว


ภาพจากเว็บไซต์คมชัดลึก

เอนกรับสารภาพทั้งหมด เขาถูกฟ้องในฐานะผู้ดำเนินการ ขณะที่อีก 5 คน ถูกฟ้องอีกคดีในฐานะผู้จ้างวานและผู้สมรู้ร่วมคิด พวกเขาทั้งหมดถูกขังในเรือนจำ สำหรับเอนกนั้นขังยาว ส่วนจำเลยอีก 5 คนนั้นบางส่วนโดนขังอยู่หลายเดือนก่อนจะได้รับอนุญาตให้ประกันตัวในวงเงิน 500,000 บาท

วันที่ 24 เม.ย.2555 หลังถูกคุมขังอยู่เกือบ 3 ปี ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกเอนกตลอดชีวิต แต่รับสารภาพจึงได้รับการลดโทษเหลือจำคุก 35 ปี

“พอเขาอ่าน 35 ปี แล้วเงียบไป ผู้คุมก็ดึงให้ผมนั่งลง ผมก็นั่งแบบไม่มีวิญญาณเลย ความรู้สึกมันอื้อหมดเลย ผมคาดเอาไว้ว่าถ้าเรารับสารภาพ ผมทำใจไว้แค่ 5 ปี เพราะวันนั้นที่ดีเอสไอไปทำคดี สอบปากคำผมที่โรงพยาบาลตำรวจ ผมถามเขาว่าให้การรับสารภาพหมด เจ้าหน้าที่ยังบอกว่าไม่เกิน 5 ปีหรอก พอรู้ว่า 35 ปี ผมช็อตเลย ตอนไปอยู่ใต้ถุนศาลผมก็ร้องไห้ เศร้ามาก ผู้คุมบางคนก็มาปลอบใจบอกไม่ต้องเครียดนะ” เอนกเล่า

“มีญาติทางธรรม คือ พวกเสื้อแดงนั่นแหละ ตอนลงจากรถหน้าเรือนจำเขาวิ่งมากอดเรา บอกว่าไม่ต้องเครียด ผู้หลักผู้ใหญ่เขาจะช่วย คนพวกนี้ให้ความหวังเรา ให้กำลังใจเรา มันสำคัญมาก เป็นความหวังทุกอย่าง เราฝากความหวังกับพวกเขา” เอนกเล่า

ขณะที่คนอื่นๆ ในคดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษพวกเขาทั้งหมด โดยจำเลยที่ 1-3 จำคุกคนละ 6 ปี 8 เดือน จำเลยที่ 5 ผู้รับจ้างประกอบระเบิด จำคุก 3 ปี 4 เดือน ส่วนจำเลยที่ 4 ที่ยกฟ้อง

เอนกอยู่ในเรือนจำเรื่อยมา จนกระทั่งอีกปีถัดมา ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษา เมื่อวันที่ 9 เม.ย.2556 ให้ลงโทษจำคุกเขาเหลือเพียง 5  ปี

“มันดีใจมากเลย มันมีความหวัง ผู้คุมบอก ไอ้เหน่ๆ มึงได้กลับบ้านแล้วเหลือ 5 ปี ทนหน่อยๆ เขาก็พลอยดีใจกับเราไปด้วย มันก็เลยทำให้ตัวเราตั้งสติได้ ใช้ชีวิตได้นิ่งขึ้น อาศัยธรรมะยึดเหนี่ยวจิตใจ ตอนนั้นคือติดมาครึ่งทางแล้ว ชีวิตมันดีขึ้นเลย ไม่ต้องคิดอะไรมาก อีกไม่กี่ปีก็ได้กลับบ้านแล้ว” เขากล่าว

ปัจจุบันเขาอยู่ในเรือนจำจนครบ 5 ปีและได้รับการปล่อยตัวแล้ว เมื่อสอบถามเขาเขาไม่แน่ใจนักว่าอัยการฎีกาในคดีของเขาหรือไม่ อย่างไร แต่เมื่อครบกำหนดขังตามคำสั่งศาลอุทธรณ์แล้ว ทางเรือนจำจึงต้องปล่อยตัว

“ผมได้ออกมาสัมผัสกับโลกอีกครั้งหนึ่ง แม้ว่ามันจะไม่เหมือนโลกเดิมที่ผมเคยสัมผัสอีกแล้ว” เอนกกล่าว

เอนก มีบุคลิกเป็นมิตรและพูดเก่ง ระหว่างที่มารักษาตัวที่โรงพยาบาลหลายครั้งเขาได้เล่าเรื่องราวให้ฟังว่า เขาเกิดที่จังหวัดนครราชสีมา มีพี่น้องหลายคน ครอบครัวมีฐานะยากจน พ่อและแม่ขายแรงงานตามไซด์งานก่อสร้าง ลูกทุกคนจบการศึกษาเพียงชั้นประถมศึกษาและต้องออกมาเลี้ยงชีพด้วยตนเอง เขาจบชั้น ป.6 ผ่านอาชีพมาหลากหลาย ตั้งแต่เลี้ยงวัว เป็นลูกจ้างอู่ซ่อมรถ คนงานก่อสร้าง คนขับรถตักขยะ และอาชีพล่าสุดคือ เป็น รปภ.

ในช่วงราวปี 2553 ขณะที่เป็นรปภ.นี้เอง เขามีเวลาว่างค่อนข้างมากและเริ่มติดตามข่าวสารการเมือง จากคนหาเช้ากินค่ำทั่วไปที่ติดตามข่าวห่างๆ จนกลายเป็นคนที่ “อิน” กับการเมือง

“เราเป็นพนักงานรปภ. เราก็มีเวลาเยอะ เราติดตามข่าวทั้งวิทยุ โทรทัศน์ เราดูแล้วมันไม่ใช่ ข้าราชการทหารมาทำอย่างนี้ไม่ถูก เริ่มดูข่าวการเมืองช่วงปี 53 ที่เขาชุมนุมกันนั่นแหละ ช่วงพันธมิตรฯ เราก็ดูข่าวเหมือนกันแต่รู้สึกว่ามันยุ่งเหยิง ตอนนั้นยังไม่ได้คิดเรื่องประชาธิปไตยอะไรนัก แต่พอมาเห็นเสื้อแดงโดนเหยียบ โดนกระปองตี ก็รู้สึกว่ามันเกินไป ทำไม่ถูก เขาแค่ประชาชน”

“กว่าจะตัดสินใจขึ้นมาเป็นการ์ดได้ก็ต้นเดือนพฤษภา 53 ขึ้นมาสมัครเป็นการ์ดเองเลย เราเห็นเหตุการณ์สิบเมษาแล้ว เราก็กะไปเป็นรั้วป้องกันชาวบ้าน เพราะเรารู้สึกว่ามีแต่คนอีสาน ชาวไร่ชาวนา เขาน่าสงสาร เราเข้าใจเขา ทำไมต้องเอาอาวุธที่เราเสียภาษีซื้อให้เอามาเหยียบมาตีเขา ตอนนั้นเราคิดแบบนั้น”

“ไม่มีใครพามา ผมไปเองเลย ไปสมัครการ์ด เขาก็ให้ไปอยู่กับแนวการ์ด คอยตรวจค้นคนเข้าออก ช่วยเขาทั้งวันทั้งคืน เงินก็ไม่ได้ ใครถามว่าได้เงินไหม ให้ผมตายก็ได้ ผมไม่เคยขอเอาเงินกับใครเลย” เอนกกล่าว

หลังออกจากเรือนจำไม่นาน เอนกรักษาตัวในโรงพยาบาลนานนับเดือนเพียงลำพัง
เขาได้รับบริจาคโทรศัพท์ที่ฟังวิทยุได้ในระหว่างนั้น ( ก.ย.2558)

เขาละทิ้งอาชีพและเข้าไปมีชีวิตอยู่ในที่ชุมนุมโดยรู้สึกทั้งอบอุ่นและรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า

“หลังสลาย (การชุมนุม) ผมเสียใจมาก เพื่อนการ์ดที่คอยตรวจกระเป๋าด้วยกันก็มาโดนยิงตาย ตรงบ่อนไก่ ผมก็วิ่งหนีกันตอนนั้น ถามว่ากลัวไหม มันก็ห้าสิบห้าสิบ วันสุดท้ายผมหนีกลับบ้านได้ การ์ดหนีกลับบ้านกันได้หลายคนตอนช่วงใกล้ๆ เที่ยง เขาประกาศสลายแล้ว ไม่รู้จะจับมือใครช่วยเหลือประชาชนแล้ว กระจัดกระจายหมดแล้ว”

เมื่อถามว่าการ์ดมีอาวุธไหม? เขาตอบว่า “ผมไม่เห็นอาวุธใครเลย มีแต่โดนยิงหงายท้องที่บ่อนไก่”

จากนั้นเขายังคงฝังตัวอยู่ในกรุงเทพฯ ในสภาพมืดแปดด้านและเริ่มรู้จักกับกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกับคดีระเบิดซึ่งให้ความช่วยเหลือเขาในยามยาก

“ความแค้นตอนนั้นมันเต็มหมดเลย มันแค้นมาก กลับไปอยู่หอ แล้วก็ไม่มีเงิน มีเพื่อนรุ่นน้องชวนไปขับวิน เลยรู้จักกับสองคนที่จ้างนี่ เขามาชวนไปขายของก็ไปอยู่กับเขา  แล้ววันนึงเขาก็บอกว่าอยากให้เราช่วยเข็นรถเงาะ ผมรู้ว่าเขาจะทำอะไร แต่เขาบอกว่ามันจะเป็นการแสดงเชิงสัญลักษณ์ขั้นสูงสุด ไม่ได้หวังฆ่าใคร เราแค่เข็นไปวาง ถ้าเขาหวังจะฆ่าคนคงใช้ระเบิดแรงกว่านั้น ขนาดผมอยู่ตรงนั้นยังไม่ตายเลย เขาก็พูดถูกแหละ แต่ถึงเขามีบุญคุณกับเราเราก็ไม่ควรไปทำอย่างนั้น เราตอบแทนเขาแบบอื่นก็ได้ แล้วผมก็ยังเสียใจที่เขาจะเอาผมด้วย...ผมคิดว่าเขาตั้งใจ” เอนกกล่าว

การบาดเจ็บสาหัสในวันก่อเหตุ เป็นเพียงปฐมบทแห่งความทุกข์ทรมานที่เกิดกับเขา

หลังการรักษาตัวในโรงพยาบาลเขาถูกส่งตัวมายังเรือนจำ ตาซ้ายถูกควักออกไปแล้วแทนที่ด้วยสิ่งที่คล้ายลูกแก้ว ส่วนตาขวานั้นเกือบบอดสนิท เขาบอกว่าปรับตัวอยู่นานหลายเดือนกว่าจะยอมรับสภาพของตัวเองได้ และสภาพชีวิตภายในคุกก็เป็นสุดยอดบทพิสูจน์ความทรหดของชีวิต ซึ่งเขาพยายามจะจบมันลงหลายครั้ง

“การที่เราต้องใช้ชีวิตในนั้น มันคิดไม่ออก เขาไปทางไหนก็ต้องตามเขาไป มีคนช่วยเหลืออยู่บ้าง เวลาจะไปหยอดตา บางทีเขาก็หยอดให้ บางทีก็ให้เราหยอดเอง ทำอะไรต้องแข่งกับเวลาหมด อาบน้ำตอนแรกมีคนพาไป เจ๊กลากไปไทยลากมา อาบแล้วก็มานั่งกินข้าว ญาติไปเยี่ยมครั้งแรกครั้งเดียวเลย แล้วก็ไม่มีเงินมาเยี่ยมอีกเลย เพราะครอบครัวผมยากจน”

“มันท้อใจ กดดันรอบด้าน มันทำให้เรารับสารภาพ ทั้งที่เราไม่ได้ไปนั่งผลิต นั่งวางแผนกับเขา เป็นแค่คนที่ลืมบุญคุณคนไม่ลง”

“ผมเคยคิดฆ่าตัวตายบ่อย มันทรมานกับสภาพตัวเอง ถึงออกจากคุกไปวันใดวันหนึ่งก็ไม่รู้จะอยู่ยังไง ตอนนั้นยังไม่มีใครหยิบยื่นความช่วยเหลืออะไรเลย มีอยู่ครั้งหนึ่งเอายาหยอดตาที่โรงพยาบาลตำรวจให้ไปสิบกว่าหลอด แอบไปนั่งอยู่มุมหนึ่งไม่คิดว่าใครเห็น นั่งบีบมันออกมาจะกิน แต่มันมีคนเห็น ตีมือจนน้ำยาหกหมด เจ้าหน้าที่เดินมาดู เขาบอกว่า ‘ป๋าก็ยังอยู่ ป๋ายังรักอยู่นะ เดี๋ยวจะได้ไปอยู่ที่ดีแล้ว’ เขาปลอบใจบอกว่าชีวิตเรามีค่า เรายังรักษาได้”

“ก่อนจะกินยาตายก็เครียดมาก ขอหัวหน้าอยากไปอยู่ในห้องขังซอยที่เขาเอาไว้ลงโทษนักโทษ เขาก็ไม่ให้อยู่ กลัวเราผูกคอตาย คือ ในห้องนั้นอย่างน้อยมันมีห้องน้ำอยู่ในนั้น มีคนเอาอาหารมาให้ มันสะดวก ไม่ต้องเป็นภาระใคร ผมเลยเอาไม้สามขาของคนพิการไปตีนักโทษคนหนึ่งที่เป็นคนรั่ว ร้องโหวกเหวกโวยวาตลอดแล้วเขาก็โดนมัดไว้อยู่ ผมก็เอาไม้ไปตีไอ้คนนี้ คนก็มาดึงมาห้าม เพราะผมอยากเข้าห้องซอย ไม่ใช่ผมไม่สงสารเขา ผมก็ตีแบบยั้งๆ ประมาณสามที คนดึงผมไปที่หน้าแดน ผมก็ไปนั่งน้ำตาไหล น้อยใจตัวเอง เพราะเจ้าหน้าที่บอกยังไงก็ไม่ได้ บอกแค่ว่า ‘กูไม่เอาความผิดมึง มึงอย่าไปทำอีกนะ’ ขนาดจะเข้าห้องซอยผมยังเข้าไม่ได้”

“แล้วเรื่องตา จากที่เคยได้ลอกตาจนเห็นได้ลางๆ แล้ว  ตอนนั้นพี่สมยศ (พฤกษาเกษมสุข) และพวกเสื้อแดงช่วยค่าใช้จ่าย ตาที่เหลือข้างเดียวเห็นลางๆ แบบอ่านหนังสือพิมพ์พอได้ แต่พอน้ำท่วมเรือนจำ ปี 54 มันแย่มาก แล้วตาก็ติดเชื้อ มันหรี่ลงทุกวันๆ จนมองเห็นน้อยมาก เหลือไม่ถึง 30% มองเห็นแต่แสงมัวๆ” เอนกกล่าว

โชคดีที่หลังจากนั้นไม่นานก็มีนโยบายโยกย้ายนักโทษการเมืองไปอยู่ “เรือนจำหลักสี่” ซึ่งเป็นโรงเรียนนายตำรวจเดิม เป็นตึก 4 ชั้น จุผู้ต้องขังคดีการเมืองประมาณ 40 กว่าคนทั้งจากในและนอกกรุงเทพฯ ที่นั่นชีวิตของเขาดีขึ้น เพราะไม่แออัดและได้เจอเพื่อนร่วมอุดมการณ์เดียวกัน

“พวกเรามีความหวังมากตอนนั้นเรื่องการปรองดองและนิรโทษกรรม แต่สุดท้ายเขาก็เอาไปทำเป็นเงื่อนไขอีก”

“ความเป็นอยู่ที่นั่นต่างกัน ไม่แออัด มันทำให้เราพอหายใจได้ การอยู่แบบแออัดมันทรมาน แย่มากๆ เหมือนมีภูเขาทับอยู่ในอกเราเลย เราแทบจะทำอะไรไม่ได้ กดดันมาก”


ป้าพาเอนกนั่งรถประจำทางจากต่างจังหวัดมารักษาตาที่กรุงเทพฯ (มิ.ย.2558)

ชีวิตดีขึ้นไม่นานก็ไปสู่การฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้น คุก 35 ปี ประกอบกับ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่หวังไว้ก็มีอันจบสิ้น เขาสิ้นหวังกับชีวิตอีกครั้ง

“พอปรองดองไม่ผ่าน ความหวังก็ริบหรี่ลง ผมก็อยู่แบบเบลอๆ ไม่รู้อะไรแล้ว โดนเขาจับส่งไปตรวจประสาทที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ เขาก็จ่ายยาระงับประสาท มันก็ทำให้เราเพลิน คิดอะไรเพลินๆ ก็กินมาสามเดือนกว่า ทีนี้มันเริ่มดื้อ ผู้คุมบอกอะไรเราก็ไม่เชื่อ เขาเลยเอาเราไปตรวจอีก เปลี่ยนยามาอีก ก็กินไป แล้วเขาก็ส่งไปสถาบันจิตเวชที่นครปฐม ไปติดต่อกันสามเดือน เปลี่ยนตัวยาทุกเดือน เดือนที่สามรู้เรื่องเลย ยาเม็ดใหญ่มาก เขาบอกกินแล้วต้องนอน ห้ามเดินเพ่นพ่าน ผมกินแล้วประมาณสามทุ่มกว่าๆ พวกเพื่อนผู้ต้องขังเขานอนดูหนังกันอยู่ ข้าวปลากินไม่ได้เลย ผมลุกขึ้นมาแล้วพุ่งไปหากำแพง เอาสติไม่อยู่ คนเห็นก็กระโดดกอดรัดเราไว้ พอพยุงผมมาได้ ก็วูบเลย แล้วฟันก็กระแทกกับปูนจนฟันแตก” เอนกกล่าว

จนกระทั่งหลังฟังคำพิพากษาอุทธรณ์ที่ลดโทษลงเหลือ 5 ปี เขาจึงได้สติและเริ่มดำเนินชีวิตอย่างมีความหวัง ใช้เวลาที่เหลือทบทวนสิ่งที่ผ่านมา ยอมรับความจริง อยู่กับปัจจุบัน รวมถึงการคิดถึงเรื่องเวรกรรม สิ่งเหล่านี้ทำให้เขาบรรเทาความฟุ้งซ่าน ร้อนรน และความโกรธแค้นกับสถานการณ์และผู้คนมากกมายที่สุมอยู่ในตัวเขานานหลายปี

 “มันเหมือนยกภูเขาออกหมดเลย สภาพจิตใจเราก็นิ่งมาก เราอยู่ข้างในดูดบุหรี่มาก พอออกมาก็เลิกเลยทันที แล้วไปเอาเงินที่เหลือจากที่ญาติทางธรรมบริจาคให้เราไว้ใช้กินในเรือนจำ เพราะครอบครัวจนมาก ไปเมื่อไหร่ก็มีแต่น้ำตาไป เวลาเขาเห็นสภาพเราก็อดร้องไห้ไม่ได้ อย่างป้ามาเยี่ยมผมขอเงินเขาก็ร้องไห้บอกว่า ป้าไม่มีเงินจะให้ แค่เอาตัวมาเจอผมได้ให้หายห่วงก็ดีมากแล้ว ป้าก็เป็นแค่คนรับจ้างนวด พี่ชายผมก็ตกงาน พยายามหางานทำ จนพอเขาได้งานรับจ้างส่งน้ำแข็ง ก็เคยมาเยี่ยมทีหนึ่ง นั่งรถมาถึงตีหนึ่ง นอนรอหน้าเรือนจำ จนได้เยี่ยมสายๆ ตอนนั้นพอดีสภาพผมกำลังแย่มาก ตาเป็นแผล ตัวเป็นผื่นเป็นแผลเต็มไปหมดเหมือนติดเชื้อราอะไรซักอย่าง เขาเห็นเขาก็ร้องไห้” เอนกเล่า

เมื่อถามว่าผ่านประสบการณ์แย่ๆ มาหลายช่วง ถึงวันนี้สรุปบทเรียนกับตัวเองว่าอย่างไร เขาตอบว่า

“ผมสรุปได้ว่าเราต้องยืนด้วยความคิดของตัวเองให้มากที่สุด ก่อนจะหลงเชื่อคนอื่นในบางจุด หมายความว่า เราต้องคิดให้มาก เวลาคนนี้คนนั้นชวนไป มันถูกต้องไหม เขาจะพาไปทำอะไร ต้องคิดให้มาก เราจะไม่ไว้ใจใครง่ายๆ อีกแล้ว”

เมื่อถามว่าออกมาแล้วยังสนใจการเมืองอยู่ไหม เขาตอบอย่างไม่ลังเลว่า

“ยังสนใจอยู่ บ้านเมืองมันไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง บ้านเมืองในอดีตเป็นยังไง บ้านเมืองในปัจจุบันเป็นยังไง ผมอยากให้มันไม่มีความขัดแย้ง จะชุมนุมก็ชุมนุมกันได้แต่มันต้องอยู่ในกรอบกฎหมายที่รองรับ แบบนั้นมันจะสวยงาม ถ้าอยู่ยืดยาวผลเสียมีแน่นอนชัดเจน ไม่ว่ากลุ่มไหน”

เมื่อถามว่าคำว่าประชาธิปไตยของเขามีความหมายอย่างไร เขาตอบว่า

“มันหมายถึงว่าเราต้องรู้จักสิทธิตัวเอง เราอยากให้บ้านเมืองนี้เป็นยังไง เราต้องมีสิทธิไปได้ทุกพื้นที่ในประเทศแห่งนี้ โดยที่เราต้องไปแบบสันติอหิงสา ที่มันไม่สันติอหิงสาที่ผ่านมาก็เพราะมีการใส่ร้ายป้ายสีกัน แล้วประชาชนเป็นเหยื่อ แล้วก็สิทธิในการเมือง เราเลือกใครไป ถ้าชนะ มันก็ควรเป็นอย่างนั้น แล้วเราก็ต้องพึ่งพาอาศัยเขาได้ เรียกว่ามันมาตามครรลองประชาธิปไตย” เอนกกล่าว

เรื่องราวของเอนกไม่ได้จบลงอย่างสวยงามเหมือนนิยาย ปัจจุบันเขากลับไปอาศัยอยู่กับญาติ ตอนแรกอยู่กับป้าผู้มีอาชีพรับจ้างนวดแผนไทยที่จังหวัดสระบุรี แต่ก็พบว่าไม่มีใครอยู่บ้านดูแลและหยอดตาให้เขาได้ จึงย้ายไปอยู่กับพี่ชายที่นครราชสีมา ในบ้านที่เขากับพ่อร่วมกันสร้างไว้แต่ยังสร้างไม่เสร็จ ขาดประตู หน้าต่าง และฝาบ้านบางส่วน เขาและพี่ชายต้องพากันเข้ากรุงเทพฯ เดือนละครั้งสองครั้งเพื่อทำการรักษาตา

อันที่จริงหลังออกจากเรือนจำเขาได้รับการช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ในคณะกรรมการปรองดอง ฯ ที่ตั้งโดยคสช. ทำให้ได้รับการลอกพังผืดในลูกตาอีกครั้ง เขานอนโรงพยาบาลนานนับเดือนและดวงตามองเห็นชัดเจนขึ้นเล็กน้อย หลังออกจากโรงพยาบาลไปอยู่บ้านกับพี่ชายในสภาพฝุ่นเยอะ อาการก็เริ่มแย่ลง

“หมอก็นัดไปตรวจทุกเดือน ค่ารถไปกลับครั้งหนึ่งก็เป็นพัน พี่ผมก็เป็นแค่ลูกจ้างรายวัน ที่แย่กว่านั้นคือ ที่บ้านนอกฝุ่นถนนมันเยอะมาก ประตูหน้าต่างบ้านมันไม่มี ทำให้ฝุ่นเข้าในบ้าน ตามันก็เจ็บ แล้วก็เหมือนมีพังผืดขึ้นอีกแล้ว ผมอยากจะมีเงินทำประตูกับหน้าต่างแล้วกั้นห้องตัวเอง ไม่ให้ฝุ่นเข้า”
“ตอนนี้ผมพยายามอยู่ในมุ้ง กลัวมากว่าตาจะติดเชื้ออีก มันเป็นความหวังสุดท้ายแล้ว ถ้ามันไม่ติดเชื้อแล้วได้คิวที่ต่อไว้หมอเขาก็จะผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาหรืออะไรให้ มันอาจทำให้เรามองเห็นได้ถึง 50% ผมอาจทำงานได้ ไม่ต้องเป็นภาระใคร” เอนกกล่าว


สภาพบ้านเอนกที่ยังสร้างไม่เสร็จและอาศัยอยู่ในปัจจุบัน


บัญชีเอนก สำหรับผู้สนใจบริจาค

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท