3 นักกฎหมายเห็นพ้อง ไม่อาจเกิดสันติภาพ หากปราศจากความยุติธรรม

เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2558 ณ ห้องประชุมศรีวังศา คณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานคริทร์วิทยาเขตปัตตานี ได้มีการมีการเสวนา ในหัวข้อ การให้ช่วยเหลือทางกฎหมายในพื้นที่ความขัดแย้งต่อกระบวนการสร้างสันติภาพ ในงานเปิดตัวหนังสือ “การช่วยเหลือด้านกฎหมายในพื้นที่ความขัดแย้ง” จัดโดย มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้

นายอับดุลกอฮาร์ อาแวปูเต๊ะ ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้กล่าวว่า บุคคลที่สร้างแรงจูงใจที่จัดตั้งศูนย์ทนายความมุสลิม คือทนายสมชาย นีละไพจิตร สิ่งที่แปลกก็คือว่า ตัวที่เป็นอุดมการณ์อยู่ที่กรุงเทพไม่ใช่ในพื้นที่ชายแดนใต้ ผลพวงจากความคิดของทนายสมชายได้เป็นแรงจูงใจของคนในพื้นที่ ที่จะช่วยเหลือในด้านกฎหมายถือว่าเป็นอานิสงค์มาก การช่วยเหลือทางด้านคดีชาวบ้านได้รับประโยชน์ หลายคดีของชาวบ้านมีการคลี่คลายได้ เหตุผลที่จะต้องจัดตั้งศูนย์ทนายความมุสลิมทั้งๆที่มีทนายสิทธิของสภาทนายความ หรือยุติธรรมจังหวัดก็มีอยู่แล้ว เพราะในบริบทของสามจังหวัดนั้น การเข้าถึงกลไกในการบริการทางด้านกระบวนการยุติธรรมมักจะมีปัญหา

นายอับดุลกอฮาร์ กล่าวอีกว่า ด้วยความที่ศูนย์ทหายความมุสลิมมีทนายความเป็นคนมุสลิมในพื้นที่ ซึ่งทำงานด้วยความเสียสละ ชาวบ้านจึงให้การยอมรับและความไว้วางใจสูง ความไว้ใจของคนในพื้นที่นี้เอง ทำให้เราสามารถดำรงอยู่ได้

นายอับดุลกอฮาร์ ยังกล่าวอีกว่า สำหรับการทำงานด้านการช่วยเหลือประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมนั้น ย่อมมีแนวคิดหรือมุมมองที่ไม่เหมือนกัน แต่การแตกต่างทางความคิดมีได้ แต่ว่าเป้าหมายในการทำงานเราต้องเห็นยุทธศาสตร์ เราจะต้องเห็นวิสัยทัศน์ว่าเราจะทำอะไร นี้คือโจทย์ของคนในพื้นที่

นอกจากนี้ นายอับดุลกอฮาร์ ยังได้กล่าวขอบคุณ และชื่นชมสถาบันให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายประเทศอินโดนีเซีย ที่ได้มีการพัฒนาได้อย่างก้าวหน้าเพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนในประเทศของตนเอง

Mr.Datang Trisasongko ทนายความสิทธิมนุษยชน จากสถาบันให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายประเทศอินโดนีเซีย (Lambaga Bantuan Hukum : LBH) หรือ แอลเบฮา แปลโดย อ.ชินทาโร่ ฮารา นักวิชาการด้านภาษามลายู

Trisasongko กล่าวว่า อินโดนีเซีย เป็นประเทศที่มีความขัดแย้งทางการเมือง และประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน เป็นสังคมที่มีความหลากหลายสูง เคยปกครองด้วยระบอบเผด็จการทหารเบ็ดเสร็จ เกือบ 30 ปี ในสมัยประธานาธิบดีซูฮาร์โต (1968-1998) และการทุจริตคอรัปชั่นที่ใหญ่ที่สุดในอินโดนีเซีย ก็เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันนี้ รัฐบาลยุคซูฮาร์โตผูกขาดธุรกิจหลายอย่าง ทำให้บรรดารัฐมนตรีและเครือญาติของผู้นำรัฐบาลร่ำรวยเช่นเดียวกับการออกนโยบายรุนแรงเพื่อปราบปรามประชาชนผู้ไม่เห็นด้วยกับแนวทางการบริหารประเทศของรัฐบาลซูฮาร์โต ซึ่งรวมถึงสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์, นักหนังสือพิมพ์ ,นักกิจกรรมเพื่อสังคม และนักวิชาการหลายรายที่ถูกจับกุม เสียชีวิตและสูญหายไปในช่วงเวลาที่ซูฮาร์โตเรืองอำนาจ

Mr.Datang Trisasongko กล่าวอีกว่า ในสมัยนั้นมีการห้ามการชุมนุมอย่างเด็ดขาด และทนายความที่ทำงานกับแอลเบฮา ก็ถูกจับ จำคุก จำนวนไม่น้อย เนื่องจากการปราบปรามทางการเมือง ต่อมาในปี 1998 เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญ เมื่อความโกรธของประชาชนทั้งในเมือง ชนบท และนักศึกษามาถึงจุดเดือดสูงสุด ส่งผลห้ประสบความสำเร็จในการคว่ำระบอบเผด็จการซูฮาร์โต สำหรับแอลเบฮา เรามีส่วนสำคัญอย่างมากในการเคลื่อนไหวต่อการคว่ำซูฮาร์โตในครั้งนี้

Trisasongko ยังได้กล่าวอีกว่า หลังจากการล่มสลายของระบอบเผด็จการซูอาร์โต ก็มีความพยายามจะนำตัวซูฮาร์โตและผู้เกี่ยวข้องมาดำเนินการในชั้นศาลส่วนประชาชนก็มีการเรียกร้องเพื่อปฏิรูปประเทศ อาทิเช่นการปราบคอรั่ปชั่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ลดบทบาทของกองทัพด้านทางการเมือง และกระจายอำนาจการปกครองสู่ภูมิภาค

ท่านสามารถสังเกตได้ว่า ความขัดแย้งในพื้นที่ต่างๆในอินโดนีเซีย ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงเวลาของเผด็จการซูฮาร์โต

Trisasongko กล่าวต่อมาว่า จุดเริ่มต้นของสถาบันให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายประเทศอินโดนีเซีย หรือ แอลเบฮา นั้นก่อตั้งในเมืองหลวงจาการ์ต้า เมื่อปี 1971 หลังจากนั้นก็ได้ขยายพื้นที่การทำงาน ต่อมา ปี 1981 ก็ได้ก่อตั้งองค์กรร่ม เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมาย เพื่อให้ความช่วยเหลือคนยากจน ที่นี่ (อินโดนีเซีย) คนจนไม่ใช่คนที่ขี้เกียจทำงาน หากแต่มีความยากจนเพราะเป็นเหยื่อของระบบที่ไม่เป็นธรรม ไม่มีโอกาสเข้าถึงบริการทางด้านสังคม ด้านการศึกษา และอื่นๆรวมถึงชาวนาที่ไม่มีที่ดินทำกิน

ประชาชนยากจนที่ได้รับผลกระทบ ไม่ให้ความไว้ใจต่อทนายความ เมื่อถูกดำเนินคดี พวกเขาจะไม่ขอให้ทนายความช่วยเหลือด้านคดี เพราะเขามีความเชื่อว่าทนายความจะช่วยเหลือเฉพาะคนรวย ถ้าขอความช่วยเหลือก็ต้องจ่ายแพง

หลักคิดของแอลเบฮามองว่ากฎหมายเป็นเพียงแค่หนึ่งเครื่องมือเพื่อช่วยเหลือคนยากจน และการต่อสู้เพื่อแก้ไขโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรมจะมีประสิทธิภาพต้องมีการต่อสู้โดยการเมืองด้วย เป้าหมายเพื่อคนที่ยากจน

แอลเบฮาไม่ใช่ซุปเปอร์แมน เราไม่ใช่ฮีโร่ที่จะไปเปลี่ยนแปลงหากปราศจากความร่วมมือจากประชาชน ผลสำเร็จของแอลเบฮา นั้นไม่ใช่การชนะคดี แต่ความสำเร็จของแอลเบฮาคือประชาชนสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ และยกระดับความรู้ ความเข้าใจในด้านกฎหมาย

Trisasongko กล่าวถึง หนังสือที่มาเปิดตัวในวันนี้ว่า เป็นการรวบรวมความช่วยเหลือด้านกฎหมายในพื้นที่ความขัดแย้ง ซึ่งเรามีการทำงานร่วมกับองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ โดยยกตัวอย่างพื้นที่ความขัดแย้งที่สำคัญ ได้แก่ 1.ความขัดแย้งอาเจะห์ (สิ้นสุด ปี 2005) 2.ความขัดแย้งปาปัว (ปัจจุบันยังไม่จบ) 3.ความขัดแย้งติมอเลสเต้ (ได้รับเอกราช) 4.มาลูกู (สิ้นสุด ปี 2000) 5.ความขัดแย้ง โปโซ เกาะสุลาเวซี

อนึ่ง อินโดนีเซียใช้นโยบายยึดดินแดน และบังคับให้เข้ากับประเทศอินโดนีเซีย โดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากคนในพื้นที่ ในพื้นที่ความขัดแย้ง ยังมีมนุษย์ต้องการความช่วยเหลือ จากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน สุดท้ายความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ความขัดแย้ง ต้องทำให้ระบบความยุติธรรมมีความน่าเชื่อถือและให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชนได้จึงจะตอบโจทย์กระบวนการสร้างสันติภาพ

อาจารย์ ดร.เอกชัย ไชนุวัติ รองคณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม กล่าวว่า ผมไม่รู้ ผมไม่สามารถบอกได้ว่า ความขัดแย้งที่นี่ คืออะไร ผมเป็นคนนอกด้วยซ้ำไป ถ้าคุณจะแก้ความขัดแย้งในความคิดของผมคือ คุณจะต้องทำให้เจ้าหน้าที่ความมั่นคงรู้ว่าที่นี่มีการช่วยเหลือทางกฎหมาย นั่นเป็นสิ่งที่ผมได้จากการอ่านหนังสือเล่มนี้

ดร.เอกชัย กล่าวต่อไปว่า ผมอยากจะพูดนิดนึงว่า รัฐต้องเป็นรัฐที่ให้การช่วยเหลือ รัฐต้องมีกฎหมาย เกาหลีเหนือก็ปกครองด้วยกฎหมายรัฐที่ปกครองด้วยกฎหมาย Laws ต้องนำพา Justice ปัจจุบันนี้ประเทศนี้ก็เป็น Rule of Laws แต่คุณเป็น Justice หรือเปล่า ที่ผมมาผมแค่มายืนยัน ผมเป็นชนกลุ่มน้อย มายืนยันให้ชนกลุ่มใหญ่ในที่นี่ ว่าสิ่งที่เขาต้องการ คือความยุติธรรม ความเหลื่อมล้ำต่างๆในอินโดนีเซียมีความความเหลื่อมล้ำมาก ซูฮาร์โตมีความร่ำรวยมหาศาล สุดท้ายเป็นความรู้สึกที่อยุติธรรมทำไมพื้นที่นี้ มีกฎหมายพิเศษ เป็นเวลานานไม่ว่าจะเป็นกฎอัยการศึก พ.ร.บ. , พ.ร.ก. จนเป็นเรื่องปกติ ทั้ง ๆ ที่มันไม่ใช่เป็นเรื่องปกติ

ดร.เอกชัย ยังได้กล่าวต่ออีกว่า “สุดท้ายเขาก็เป็นคนปัตตานี คนยะลา เป็นคนระแงะ เป็นคนโคกโพธิ์ ผมยังรู้สึกนะครับ ว่ามีคดีหนึ่ง ที่ผมสะเทือนไปมาก เมื่อวานผมถามในกรณีผู้ถูกคดีซ้อมทรมานแล้วไปฟ้องศาล ศาลบอกรัฐธรรมนูญถูกยกเลิกไปแล้ว สิ่งนี้ต้องเป็นค่านิยมเหมือนกัน ทหารเองมีค่านิยมในการที่จะป้องกันอีกแบบ ในประเทศประชาธิปไตย ศาลจะคิดอีกแบบหนึ่ง และมีอีกคดีหนึ่งที่น่าเศร้าซึ่งเกิดขึ้นในพื้นที่สีแดง เรื่องแบบนี้ก็เป็นเรื่องของคน ไม่ใช่เป็นเรื่องของคนปาตานี เขาก็เป็นคนเหมือนกัน”

“หนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องของพื้นที่ความขัดแย้ง แต่สุดท้ายผมอยากให้เข้าถึง คนกรุงเทพมหานครให้ได้ ให้รู้ว่า นี่คือ 40 ปีของแอลเบฮา ที่ก้าวข้ามปัญหาได้อย่างไร จะทำให้คนไทยทั้งประเทศไม่ต้องเสียเวลาอีก 40 ปี ให้การแก้ปัญหาสามจังหวัด” ดร.เอกชัยกล่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท