Skip to main content
sharethis

 

สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) เป็นหนึ่งในตัวแทนเครือข่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัยที่ปรากฏตัวในการแถลงข่าว ‘มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร’ 

เขายังเป็นหนึ่งในรายชื่อซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจยืนยันกับอรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์มช.อีกคนหนึ่งว่า สำหรับมช.นั้นมียังมีหมายเรียกสมชายอีกคนหนึ่ง (อ่านข่าวย้อนหลัง) ต่อมาสื่อมวลชนรายงานว่า ตำรวจสภ.ช้างเผือก จ.เชียงใหม่เจ้าของหมายเรียกได้กำหนดให้ทั้งคู่เข้ารายงานตัวตามหมายในวันที่ 24 พ.ย. นี้เวลา 9.00 น. ซึ่งดูเหมือนสถานการณ์ยังไม่ชัดเจนว่าจะเป็นเพียงการเรียกไปให้ปากคำ หรือจะมีการตั้งข้อกล่าวหาด้วย 

ท่ามกลางสถานการณ์ที่ยังไม่ชัดเจน แต่แฮชแท็ก #มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร นั้นชัดแจ้ง กระจายเต็มเฟซบุ๊กของผู้ที่ติดตามข่าวจำนวนมาก ‘ประชาไท’ ใช้โอกาสนี้พูดคุยกับสมชายถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แม้เขายังไม่ได้รับหมายเรียกอย่างเป็นทางการแต่ก็วางแผนจะไปให้ปากคำตามที่ตำรวจร้องขอ 

ปฏิบัติการนี้ส่งผลต่อความกลัวของคณาจารย์เพียงไหน ?

0000

งานแถลงข่าวในวันนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร เครือข่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัยมีอาจารย์ร่วมเยอะไหม

คนที่มาวันนั้นเป็นอาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ เพราะเราทำงานวิจัยร่วมกัน วันนั้นเป็นวันที่เรามีโอกาสเจอกันที่เชียงใหม่ นอกจากคุยงานวิจัยแล้ว ก็มีคนเสนอในที่ประชุมว่า ประเด็นเกี่ยวกับเรื่องการเรียนการสอนซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์โดยนักการเมือง นักการเมืองผู้มีอำนาจ เราในฐานะที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยน่าจะต้องแสดงความเห็น เพราะความเห็นของเราไม่สู้จะตรงกันกับความเห็นของผู้นำทางการเมืองเท่าไร เราก็แสดงความเห็นปกติ ทำแถลงการณ์แสดงความเห็นของเราว่าเราเห็นอย่างไรกับเรื่องการเรียนการสอน ซึ่งก็เป็นหลักการพื้นฐานธรรมดา เป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยต่างๆ ก็ควรเป็นเช่นนั้น เช่น ไม่ควรเน้นการสอนให้คนท่องจำ มหาวิทยาลัยควรสอนให้คนคิด วิเคราะห์โดยใช้เหตุผล ข้อมูลต่างๆ 

หลังจากนั้นมีแรงกระเพื่อม แรงเสียดทานอะไรไหม ก่อนมีหมายเรียก

ผมเข้าใจว่าคงคล้ายๆ กับหลายครั้งที่เราแสดงความเห็นผ่านสื่อมวลชน ก็อาจมีคนเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ไม่คิดว่ามีอะไรมากกว่านั้น ตอนแรกมีคนบอกผมว่าจะมีการแจ้งความดำเนินคดี ผมก็ยังงงว่าจะดำเนินคดีในข้อหาอะไร แต่พอตอนหลังมาแจ้งข้อหาขัดคำสั่ง ชุมนุมทางการเมืองเกินกว่า 5 คน ผมคิดว่าทางฝ่ายผู้แจ้งความหรือตำรวจคงต้องตรวจสอบหลักการทางกฎหมายให้ดีว่าเป็นยังไง

อาจารย์ทราบเรื่อทางไหน อย่างไร

ทราบจากผู้ที่ถูกหมายเรียกหมายเลขหนึ่งโทรมาบอก(หัวเราะ)  อาจารย์อรรถจักร์ก็โทรไปถามทางตำรวจ ตำรวจก็แจ้งว่าทางเชียงใหม่นอกจากอาจารย์อรรถจักร์แล้วก็มีผม

เห็นเขาบอกว่ามีแปดคน

ยังไม่ได้คอนเฟิร์มว่ามีกี่คนกันแน่ เขาใช้ว่า อาจารย์อรรถจักร์และพวก 

แล้วทำไมหมายไปโผล่ที่อาจารย์คงกฤช ม.ศิลปากร ด้วย

เราก็ไม่เข้าใจ ในแง่หนึ่งก็โชคร้ายของท่านอาจารย์คงกฤช ซึ่งผมไม่เคยรู้จักเป็นการส่วนตัว เข้าใจว่าอาจารย์อรรถจักร์ก็ไม่เคยรู้จักเป็นการส่วนตัว แต่ว่าถูกออกหมายเรียกให้เป็นหนึ่งในพวกของอาจารย์อรรถจักร์

แง่หนึ่งก็สะท้อนให้เห็นปัญหาในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เรื่องนี้เป็นเรื่องซึ่งไม่น่าจะเกิด กระบวนการยุติธรรม พอออกหมายเรียกหรือหมายจับใครแล้วมันทำให้คนคนนั้นมีภาระ ดังนั้น มันจึงต้องตรวจสอบข้อเท็จจริง ข้อมูล ว่าเป็นจริงหรือเปล่า กระทำจริงหรือเปล่า หรือเรื่องพื้นฐานว่าเขาคือคนคนนั้นหรือเปล่า เพราะมันทำให้คนเดือดร้อนโดยใช้เหตุ

ลองคิดดูถ้าเราเป็นประชาชนธรรมดาแล้วโดนหมายเรียก หมายจับ โดยที่ไม่ได้ทำอะไรเลยมันคงเป็นปัญหา อันนี้ทางตำรวจคงไม่ใช่แบบ "อ๋อ ผิดตัว เออๆ เลิกกันไป เดี๋ยวเราจับคนใหม่" คงต้องตั้งคำถามกับระบบ กระทั่งการออกหมายซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานมากๆ ยังมีความผิดพลาดขนาดนี้ ดีแต่ว่ากรณีนี้คนที่โดนหมายเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย มีสถานะพอสมควร ถ้ากรณีแบบนี้เกิดขึ้นกับชาวบ้านมันจะเป็นไง เขาจะมีสิทธิในการแก้ตัวมากแค่ไหน

ได้หารือกับอาจารย์อรรถจักร์หรือยังว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

โดยหลักการ ถ้ามีหมายเรียกมา เราก็คงไปตามหมายเรียก ทางเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เชียงใหม่ ที่ผ่านมาไม่ว่าทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง เราเคยคุยกันแล้ว แล้วทางฝ่ายพวกเรา กลุ่มอาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนก็เคยยืนยันแล้วว่าพวกเราทำอะไรทำอย่างเปิดเผย ไม่ทำอย่างใต้ดิน และเราพร้อมจะให้ถูกตรวจสอบ ที่ผ่านมาเวลาเราดำเนินกิจกรรมอะไรต่างๆ ก็ดำเนินการอย่างเปิดเผย ตำรวจ ทหาร รองผู้ว่าฯ ต่างเคยมาคุย อาจารย์อรรถจักร์และผมก็ชัดเจนว่ามีการงาน มีจุดยืนทางสังคมการเมืองเป็นแบบนี้ เราคงไม่หนีไปไหน และเราไม่คิดว่าสิ่งที่เราทำเป็นความผิดอะไร เราจึงจะไปตามหมายเรียก ตามวันเวลาที่ทางตำรวจและทางเราสะดวก

คือวันที่ 24 พ.ย.?

ตอนเช้าผมติดธุระ คงต้องประสานงานกันอีกที ทางตำรวจคงเข้าใจ เพราะเราก็มีงานมีการต้องทำ ไม่ได้ว่างงาน ไม่ได้เหมือนสันติบาลจะไปไหนก็ไปได้ คงมีการนัดกัน

หลังรัฐประหาร ในมช.มีแค่กลุ่มอาจารย์กลุ่มเดียวหรือไม่ที่ฝ่ายความมั่นคงจับตาเป็นพิเศษ และทางกลุ่มทำกิจกรรมอะไรมาบ้าง โดนแบบนี้ไหม ?

ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นอกจากกลุ่มมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ก็มีกลุ่มอื่นๆ อาจารย์ด้านสังคมวิทยามนุษยวิทยา หรือกลุ่มอาจารย์ด้านวิทยาศาสตร์ที่มีการเคลื่อนไหวทำกิจกรรมทางวิชาการ กิจกรรมทางสังคอยู่ แต่หลังรัฐประหาร ทางส่วนของพวกเราก็ยังดำเนินกิจกรรมอยู่ จัดอภิปราย สัมมนา ออกแถลงการณ์ ดำเนินการตามวาระและโอกาส เราทำตามปกติเพราะเรายืนยันว่ามันทำได้ ทางฝ่ายความมั่นคงก็ส่งเจ้าหน้าที่มาติดตาม รวมถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงของทั้งทหารหรือตำรวจที่มาคุยก็ได้รับการยืนยันจากเราแล้วว่าจะทำกิจกรรมแบบนี้ต่อไป คงต้องทำไปเรื่อยๆ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของภาระหน้าที่ของเรา เรายืนยัน ซึ่งทางเขาก็รับรู้

คิดว่าจุดประสงค์ของการดำเนินคดีอาจารย์ในครั้งนี้คืออะไร

มันคงมองได้สองแบบ แบบหนึ่งในระดับการเมืองใหญ่ เราเห็นการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐเกิดขึ้นในหลายรูปแบบในผู้คนกลุ่มต่างๆ ในแง่หนึ่งมันอาจสะท้อนให้เห็นถึงความไม่มั่นใจในความมั่นคงของผู้มีอำนาจในทางการเมืองขณะนี้ ดังนั้นจึงใช้สิ่งที่เรียกว่ากฎหมาย ซึ่งแน่นอน กฎหมายตอนนี้ผมคิดว่าเป็นกฎหมายที่ไม่สู้จะเป็นธรรมเท่าไร ใช้กฎหมายแบบนี้ดำเนินคดีกับคนกลุ่มต่างๆ

อีกอันหนึ่ง ผมก็ไม่เข้าใจ นี่อาจเป็นการพยายามแสวงหาความชอบในตำแหน่งหน้าที่ของบรรดาเจ้าหน้าที่ระดับล่างหรือเปล่า โชว์ผลงานให้เข้าตานาย อะไรพอทำได้ก็ทำหมดทุกอย่าง ก็ไม่อยากให้เป็นแบบนี้ การกระทำหน้าที่ใดๆ ของเจ้าหน้าที่รัฐมันควรคิดถึงกรอบ กติกา หลักการ ก็ไม่รู้ใช่ที่สันนิษฐานหรือเปล่า แต่เจ้าหน้าที่รัฐโดยส่วนใหญ่ก็ไม่น่าจะเป็นแบบนั้น

อันที่สามที่พอจะเป็นไปได้ คือ ความไม่เข้าใจของเจ้าหน้าที่รัฐ ตกลงประกาศ คสช.นั้นครอบคลุมขนาดไหนซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องยุ่งยาก ที่คำสั่งบอกว่าห้ามชุมนุมหรือมั่วสุมทางการเมือง การมาประชุมกัน มานั่งคุยกันเรื่องการเมืองในสถานที่ปิดด้วย แบบนี้ถือเป็นการมั่วสุมชุมนุมเกินห้าคนแล้วผิดคำสั่งคสช.หรือเปล่า ถ้าอันนี้ผิด ผมขอให้ไปจับจำนวนมากเลยที่เขาจัดการประชุมแบบนี้ เพียงแต่ความเห็นคงต่างกันนิดหนึ่งตรงที่กลุ่มต่างๆ ที่เขาจัดกันนั้นเขาสนับสนุนรัฐบาล ถ้าเราจับคนที่มาประชุมกันเกินกว่าห้าคน ผมคิดว่า ใน สนช. ในสภาขับเคลื่อนฯ คงโดนจับกันหมด เพราะทั้งหมดก็ไปร่วมประชุม ร่วมแสดงความเห็นอะไรกันเต็มไปหมด แต่เขาไม่โดน

ถ้าอย่างนั้นก็ต้องเอาให้ชัด ไปออกคำสั่ง คสช.ให้ชัดเจนไปเลยว่า ห้ามชุมนุมมั่วสุมทางการเมืองและแสดงความเห็นต่อต้านรัฐบาล ออกมาให้ชัดเลย จะได้รู้ หรือให้ชัดกว่านั้นอีก ห้ามบุคคลใดๆ ในสังคมไทยแสดงความคิดเห็นแตกต่างจากรัฐบาล อย่างนั้นถ้าผมทำก็ผิด แต่ตอนนี้ห้ามชุมนุมทางการเมือง ผมว่าพวกเราก็แค่แสดงความเห็น การชุมนุมต้องเป็นสาธารณะเปิดให้คนเข้าร่วมได้

ผมเสนอให้หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งให้ชัดเจน ห้ามประชาชนคนไทยวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ใครทำก็ผิดกฎหมาย แล้วก็เอาโทษหนักๆ เลย ติดคุกตลอดชีวิตเลยก็ออกให้ชัดเจน

ดูแล้วถ้าเปรียบเทียบการจัดการความเคลื่อนไหวของนักวิชาการ นักกิจกรรมต่างๆ ดูเหมือนภาคเหนือจะโดนหนักกว่าส่วนกลาง อาจารย์เห็นด้วยไหมและประเมินว่าเพราะอะไร

ช่วงหลังการพยายามจะกำกับหรือควบคุมการเคลื่อนไหวของคนในสังคม ในเชิงพื้นที่คงมีสองพื้นที่สำคัญคือ ภาคเหนือกับภาคอีสาน ภาคเหนือส่วนใหญ่น่าจะเกี่ยวกับอุดมการณ์ทางการเมือง ส่วนภาคอีสานมันผสมๆ กันระหว่างอุดมการณ์ทางการเมืองกับเรื่องทรัพยากร ภาคอีสานถูกคุกคามเรื่องทรัพยากรสูงมาก แล้วบังเอิญสองพื้นที่นี้ถ้าพูดตรงไปตรงมาก็คือเป็นพื้นที่ฐานของเสื้อแดง ผมคิดว่าเขาคงกังวล จนแม้กระทั่งปัจจุบันผู้นำทางการเมืองหรือฝ่ายที่มีอำนาจยังคงกังวลอยู่เกี่ยวกับกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล เราจึงเห็นความไม่มั่นใจสะท้อนอยู่เรื่อยๆ เอาเข้าจริง การยึดอำนาจที่ผ่านมาไม่ได้มาสร้างความปรองดองอะไร เป็นไปได้ยากมาก มันเป็นเพียงแต่ความสงบราบคาบที่เกิดขึ้นจากกระบอกปืน ซึ่งใช้กระบอกปืนก็คงใช้ได้ชั่วระยะเวลาหนึ่ง ไม่นานหรอก

ทำไมถึงจะไม่นาน

ผมคิดว่าระบบการปกครองแบบไหนก็ตามที่การตรวจสอบมันต่ำ ในโลกปัจจุบันมันคงอยู่ได้ไม่ง่ายเท่าไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งอย่างสังคมไทยมันผ่านประสบการณ์ ผ่านร้อนผ่านหนาวมาพอสมควร โอเค อาจจะมีย้อนกลับไปกลับมา แต่อย่างน้อยการจะย้อนกลับไปก่อนปี 2500 มังคงไม่ง่าย คงมีกลุ่มต่างๆ ที่พร้อมจะทำโน่นทำนี่ รัฐบาลอาจจะสะดุดโน่นสะดุดนี่ไปเรื่อยๆ

ขอถามถึงความรู้สึก สิ่งที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบในการสร้างความกลัวให้กับตัวอาจารย์เอง กลุ่มคณาจารย์ที่ออกมาแถลงข่าว หรือกระทั่งในแวดวงวิชาการโดยทั่วไปหรือไม่ อย่างไร

โดยกลุ่มคณาจารย์ในมหาวิทยาลัย หรือมหาวิทยาลัยเที่ยคืนเอง โดยรวมๆ เนื่องจากไม่ใช่ครั้งแรก เราก็คงไม่มีท่าทีอะไรที่เปลี่ยนไปมาก หรือแม้แต่ในระดับกว้างทางสาธารณะ การคุกคามถ้าเพิ่มสูงขึ้นผมคิดว่ามันจะส่งผลในทางตรงกันข้ามเสียด้วย เช่น ตอนแถลงการณ์เรื่องมหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร ตอนแรกที่เอาแถลงการณ์ลงเฟซบุ๊ก คนอ่านประมาณ 3,000-4,000 แต่พลันที่มีหมายเรียกออกมา คนอ่านประมาณแสนกว่า ดังนั้น ยิ่งมีการใช้อำนาจแบบไม่ตรงไปตรงมาเรื่องพวกนี้น่าจะค่อยๆ เป็นฐานในการกร่อนการเซาะให้ผู้มีอำนาจต้องปรับตัว ถ้ายังไม่ปรับก็ต้องเผชิญปัญหามากขึ้น

ในระดับส่วนตัว ถามว่ากลัวไหม ก็เหมือนปัจเจกบุคคลทั่วไป มนุษย์ธรรมดา ก็กลัวครับ ไม่ได้กินเหล็กไหลมาจากไหน คือ บ้านผมที่เชียงใหม่ไม่มีรั้วด้วย ผมก็เคยเจอการคุกคามมาครั้งหนึ่งแล้วหลังยึดอำนาจ มีเจ้าหน้าที่ของรัฐมาตอนสองสามทุ่มแล้วบ้านผมไม่มีรั้ว มันก็กลัวปกติ แต่มันก็ไม่มีทางให้เลือกมาก ทางหนึ่งก็คือเงียบไปซะ มันก็คงเงียบได้ซักพัก แล้วก็คงรู้สึกต้องพูดอะไรต่อ แต่เราก็พยายามป้องกันตัวเอง ช่วงไหนดูล่อแหลมก็คงต้องระมัดระวังตัวเองมากขึ้น เพราะจริงๆ ผมก็ไม่สู้จะไว้ใจอำนาจรัฐรวมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐสักเท่าไร คงต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นในการใช้ชีวิตปกติ

อาจารย์จะรับมือกับยุทธวิธี “ดำเนินคดีไว้ก่อน” ยังไง

ผมคิดว่าไอ้ยุทธวิธีแจ้งความไว้ก่อนมันไม่สู้จะทำงานได้ผลกับอาจารย์มหาวิทยาลัยเท่าไร พูดตรงๆ ก็คือ เราก็มีต้นทุนที่ได้เปรียบชาวบ้านคนอื่นๆ ถ้าแจ้งความดำเนินคดี ตั้งข้อหา ก็สามารถใช้ตำแหน่งประกันตัวได้ และหลังจากนั้นก็สู้คดีไปตามปกติ

ผมอยากเรียนกับทางเจ้าหน้าที่รัฐว่า ถ้าจะใช้วิธีแบบนี้กับอาจารย์มหาวิทยาลัยมันไม่ค่อยเป็นมรรคเป็นผลเท่าไร เราก็เป็นเจ้าหน้าที่รัฐเหมือนกัน เราต่างก็มีอภิสิทธิบางอย่าง จะทำอะไรมากเข้าก็อาจสร้างปัญหา ฉะนั้น วิธีแบบนี้ก็เพียงแค่เพิ่มความไม่สะดวกบ้าง ต้องไปขึ้นศาล แต่มันก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่เป็นภาระมากอะไรนัก

ในแวดวงวิชาการเห็นภาพขัดกันมาก ส่วนหัวของมหาวิทยาลัยเข้าไปอยู่ในกลไกของผู้มีอำนาจ อาจารย์รู้สึกผิดหวังในบทบาทของพวกเขาไหม คิดว่าพวกเขาจะออกมาปกป้องไหม มองสถานการณ์ความลักลั่นแบบนี้ในวงการวิชาการอย่างไร

ในทางวิชาการเราเห็นต่างกันได้ อันนี้เป็นเรื่องที่ปกติ แต่สำหรับมหาวิทยาลัย สิ่งที่ผมคิดว่าน่าเศร้าใจคือ เมื่อไรที่มีการคุกคามการแสดงความเห็นของบุคลากรในมหาวิทยาลัย เราแทบไม่ได้ยินสุ้มเสียงจากผู้บริหารมหาวิทยาลัย ถามว่าผิดหวังหรือเปล่า จริงๆ ก็ไม่ผิดหวัง เพราะไม่เคยคาดหวังว่าผู้บริหารมหาวิทยาลัยคนไหนจะกล้าแสดงจุดยืนในเรื่องนี้ เพราะเราก็เห็นกันชัดว่าผู้บริหารมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ก็ตบเท้าเข้าไปเป็น สนช. สปท. เป็นจำนวนมากโดยไม่รู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่ชอบ

แต่มันน่าจะเป็นปัญหากับตัวมหาวิทยาลัย ในแง่หนึ่งมหาวิทยาลัยอยากจะมีความเป็นเลิศทางปัญญา ซึ่งความเป็นเลิศทางปัญญาจะเกิดขึ้นได้เมื่อมีเสรีภาพทางวิชาการ มันเป็นไปไม่ได้ที่เราอยากจะมีความเป็นเลิศทางวิชาการโดยไม่มีเสรีภาพอะไรเลย ให้คนแสดงความเห็นต่างไม่ได้ แสดงความเห็นขัดแย้งไม่ได้ ในโลกนี้ความเปลี่ยนแปลงจำนวนมากที่สำคัญๆ มันเกิดขึ้นเพราะเรามีเสรีภาพ คนแต่ละคนมีเสรีภาพที่จะเห็นต่าง แล้วก็เถียงกันเพื่อนำไปสู่ข้อสรุปที่ดีกว่า ฉะนั้นผมจึงคิดว่ามันน่าขบขัน อยากเป็นเลิศทางปัญญาแต่ไม่มีเสรีภาพทางวิชาการ มันแยกกันไม่ได้

มีคนวิจารณ์เหมือนกันเวลาเราพูดถึงเสรีภาพทางวิชาการว่าทำไมต้องแบ่งแยก ดูมีอภิสิทธิ์ ได้รับการปกป้องมากกว่าคนทั่วไป

คือจริงๆ ถามผม เสรีภาพในการแสดงความเห็นเป็นของทุกคนในสังคม แต่ประเด็นที่เราพูดกันถึงเสรีภาพทางวิชาการเพราะเรากำลังพูดถึงพื้นที่ในมหาวิทยาลัย แต่ถามผม เสรีภาพในการแสดงความเห็นเป็นของทุกคนในสังคมที่จะวิพากษ์วิจารณ์หรือแสดงความเห็นที่แตกต่างได้ เพียงแต่ที่ใช้คำนั้น เพราะสำหรับมหาวิทยาลัยที่ต้องการความเป็นเลิศยังไงคุณต้องยอมรับเสรีภาพ ที่อาจถูกเรียกว่าวิชาการก็ได้ แต่ไม่ใช่ว่าเสรีภาพนี้ควรจำกัดอยู่ในเฉพาะมหาวิทยาลัย ทุกคนควรมีเสรีภาพในการแสดงความเห็นที่แสดงความเห็นต่างจากคนอื่นๆ แต่ทั้งนี้ก็ไม่ใช่เสรีภาพแบบที่จะไปด่าพ่อล่อแม่ใครแบบตามใจชอบ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net