6 อาจารย์ปฏิเสธข้อกล่าวหาขัดคำสั่งคสช.-ยันทำถูกต้องมหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร

<--break- />


แถลงการณ์ฉบับล่าสุดของเครือข่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัย 
เผยแพร่ในเพจมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน 24 พ.ย.2558 เวลา 18.00 น.

 

24 พ.ย.2558  เมื่อเวลาประมาณ 14.30 น. คณะอาจารย์ 6 คนได้เดินทางเข้ามอบตัวที่ สภ.ช้างเผือกตามหมายเรียก “ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ และพวก” ข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 3/2558 ชุมนุมมั่วสุมทางการเมืองเกิน 5 คน โดยมีผู้มาให้กำลังใจที่สภ.ช้างเผือกประมาณ 30-40 คน

อรรถจักร์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังรับทราบข้อกล่าวหาว่า อาจารย์ทั้งหมดได้ปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาและจะทำคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรให้ทางตำรวจภายใน 30 วัน นอกจากนี้ยังมีอาจารย์อีก 2 คนที่โดนหมายเรียกในชุดนี้ด้วยซึ่งจะเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในภายหลัง หลังเสร็จสิ้นกระบวนการตำรวจได้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาทั้งหมดโดยไม่ต้องประกันตัว

“ตำรวจเขาชี้แจงว่าเขาได้รับแจ้งความจากทหารก็ต้องทำไปตามหน้าที่ ทางนั้นเขารู้สึกว่าเราล้ำเส้นข้อตกลง ซึ่งที่ผ่านมาเราไม่เคยตกลงว่าเราจะไม่ได้พูด และเรายืนยันว่าสิ่งที่เราทำ หนึ่ง ไม่ผิดกฎหมาย สอง เป็นความจำเป็นของสังคมไทยที่ต้องมีความคิดเห็นที่แตกต่าง ในบรรยากาศที่เราจะปรองดองหรือจะปรับโครงสร้างการเมืองต่างๆ” อรรจักร์กล่าว

“หลังจากเราทำคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษร ตำรวจก็คงจะต้องไปสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานอื่นๆ แล้วแจ้งเราอีกทีว่าจะส่งฟ้องเมื่อไร ซึ่งคดีนี้จะขึ้นสู่ศาลทหาร” อรรถจักร์กล่าว

ด้านทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งได้ร่วมเข้าสังเกตการณ์กระบวนการในวันนี้ด้วยให้ข้อมูลว่า ในการสอบปากคำไม่มีทหารเข้าร่วมด้วย แต่มีทหารนอกเครื่องแบบถ่ายวีดิโอบรรยากาศโดยรวมอยู่ด้านนอกอาคารสถานีตำรวจ ส่วนหมายเรียกอาจารย์จำนวน 8 คนนั้นเป็นการออกหมายตามภาพข่าวที่ปรากฏในวันแถลงข่าว โดย ผบ.มทบ.33 ค่ายกาวิละ ได้มอบอำนาจให้ พ.ท.อภิชาติ กัณทะวงศ์ เป็นผู้มาแจ้งความ นอกจากนี้ภายหลังเสร็จสิ้นกระบวนการตำรวจยังร้องขอไม่ให้อาจารย์แถลงข่าวกับผู้สื่อข่าวที่มารอทำข่าวที่หน้าสถานีตำรวจด้วย ทางคณาจารย์จึงทำการแถลงข่าวที่บริเวณริมถนนแทน

อาจารย์ทั้ง 6 คน ได้แก่  1.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) 2.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มช. 3.จรูญ หยูทอง นักวิชาการสถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ 4.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ 5.มานะ นาคำ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 6.บุญเชิด หนูอิ่ม อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

ทั้งนี้ สำหรับรายที่ 6 บุญเชิด หนูอิ่ม ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า ไม่ได้อยู่ในหมายเรียกแต่เดินทางไปยัง สภ.ช้างเผือกและเข้าพบพนักงานสอบสวนร่วมกับคนอื่นๆ ด้วย 

ด้านพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. ให้สัมภาษณ์ว่าอาจารย์ควรบรรยายสอนนักศึกษาในกรอบของกฎหมาย และไม่ควรพูดเรื่องที่กฎหมายห้าม

"การเคลื่อนไหวถ้าไม่กลัวกฎหมายก็ตามใจ ประชาชนเคลื่อนไหวตามเขาก็เดือดร้อน ตามใจ และใครหาปืนมายิงระเบิดใส่ตามใจก็ตายกันไปแล้วกัน ผมไม่ทำอยู่แล้ว ” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

 

แถลงการณ์เครือข่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัย

เรื่อง ยืนยัน “มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร”

ภายหลังจากการออกแถลงการณ์ของเครือข่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัยในประเด็นเรื่อง “มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร” ก็ได้มีนายทหารเข้าแจ้งความดำเนินคดีในข้อกล่าวหาชุมนุมมั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ดังเป็นที่รับทราบกันแล้วนั้น ทางเครือข่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัยใคร่ขอชี้แจงถึงความจำเป็นและความสำคัญของเสรีภาพในการแสดงความเห็นอีกครั้ง ดังนี้

ประการแรก เครือข่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัยขอยืนยันว่าแถลงการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการกระทำที่มิได้ขัดต่อกฎหมายแต่อย่างใด โดยถือเป็นการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นในประเด็นปัญหาของการจัดการศึกษาอันเป็นภาระหน้าที่โดยตรงของบุคลากรมหาวิทยาลัย การแสดงความเห็นดังกล่าวเกิดขึ้นด้วยการใช้เหตุผลในการชี้แจงให้เห็นถึงความเข้าใจที่ผิดพลาดต่อระบบการศึกษาในมหาวิทยาลัยบนพื้นฐานของการให้ความสำคัญกับเหตุผลและการถกเถียงระหว่างฝ่ายต่างๆ มิใช่การยัดเยียดความรู้แบบไร้การวิเคราะห์ให้กับผู้เรียน

แถลงการณ์ดังกล่าวก็เป็นการแสดงความเห็นอย่างเปิดเผยและตรงไปตรงมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการสื่อสารกับสาธารณะให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องกับการศึกษาในมหาวิทยาลัย การกล่าวหาว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นการชุมนุมหรือมั่วสุมทางการเมืองย่อมถือเป็นความเข้าใจผิดอย่างรุนแรง ดังจะเห็นได้ว่ามีการประชุมทางวิชาการและการชี้แจงถึงความเห็นของกลุ่มต่างๆ เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในสังคมไทย ทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยเฉพาะทางฝ่ายทหารควรจะต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจให้มากขึ้นเพื่อเข้าใจถึงมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับในปัจจุบัน

ประการที่สอง เสรีภาพในการแสดงความเห็นเป็นหลักการพื้นฐานที่สำคัญในการดำรงอยู่ร่วมกันของคนทุกกลุ่มในสังคม ทั้งนี้ ถือเป็นปรากฏการณ์ปกติที่ทุกสังคมย่อมจะมีความเห็นที่แตกต่างกันไปในประเด็นปัญหาต่างๆ การยอมรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างเป็นแนวทางของการทำให้เกิดการถกเถียง การแลกเปลี่ยนและการตรวจสอบถึงความเข้าใจของแต่ละฝ่าย ความคิดเห็นไม่ว่าของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็สามารถที่จะถูกตั้งคำถามเพื่อให้เกิดการชี้แจงถึงข้อมูลและเหตุผลของแนวความคิดที่ตนเองยึดถือ การเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยก็ย่อมเป็นไปเพื่อทำให้เกิดการทำความเข้าใจบนฐานของความรู้ที่รอบด้านและด้วยการใช้เหตุผลในการตัดสินใจเป็นสำคัญ มิใช่เพียงการปฏิบัติตามโดยไม่มีเหตุผลที่ชอบธรรมรองรับ

นอกจากนี้แล้ว เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นก็มิใช่จำกัดไว้เฉพาะพื้นที่มหาวิทยาลัยเท่านั้น พลเมืองทุกคนในสังคมก็ย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นด้วยเช่นกัน เนื่องจากในห้วงเวลาปัจจุบันมีการดำเนินนโยบายของรัฐ การร่างรัฐธรรมนูญ การบัญญัติกฎหมาย ซึ่งล้วนแต่มีผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนอย่างกว้างขวาง ในฐานะสมาชิกคนหนึ่งของสังคมทุกคนจึงย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นต่อการดำเนินการต่างๆ เหล่านั้น การคุกคามหรือปิดกั้นเสรีภาพของบุคคลใดๆ เป็นเพียงการกดทับปัญหาเอาไว้ มิได้ช่วยให้เกิดการแก้ไขปัญหาตลอดจนความขัดแย้งในสังคมอย่างแท้จริง

สุดท้ายนี้ เครือข่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัยของยืนยันว่าเสรีภาพในการแสดงความเห็นเป็นสิ่งที่ต้องได้รับการปกป้องและมิใช่เพียงสำหรับผู้ประกอบอาชีพอาจารย์เท่านั้น เพราะไม่ใช่เฉพาะมหาวิทยาลัยเท่านั้นที่ไม่ใช่ค่ายทหาร หากแต่สังคมไทยก็ไม่ใช่ค่ายทหารเช่นเดียวกัน ดังนั้น เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของทุกคนและทุกฝ่ายจึงต้องได้รับการปกป้องอย่างเสมอภาคและทัดเทียมกัน

24  พฤศจิกายน 2558 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท