กฎหมายคืออะไร #3 สมภาร พรมทา: อย่าดูแค่เป็นคำสั่งใคร-ให้ดูว่าคนสั่งชอบธรรมหรือไม่

สมภาร พรมทา อภิปราย "กฏหมายคืออะไร" ในมุมมองปรัชญา รีวิวนิติปรัชญาสำนักกฎหมายบ้านเมือง และสำนักกฎหมายธรรมชาติ ย้ำหากเราคิดถึงกฎหมาย เราอย่าดูแค่ว่ามันเป็นคำสั่งของใคร แต่ดูว่าคนที่สั่งนั้นมีอำนาจชอบธรรมหรือไม่

พร้อมเสนอนักวิชาการเลี่ยงรับตำแหน่งเนติบริกรเต็มเวลาช่วยงานคณะรัฐประหาร แต่เสนอให้ชุมชนมหาวิทยาลัยช่วยกันพิจารณาด้วยเหตุด้วยผลแทน โดยเชื่อว่าหากชุมชนมหาวิทยาลัยทำเช่นนี้ นักนิติศาสตร์รั้วมหาวิทยาลัยคงไม่คิดเป็นเนติบริกร และเมื่อชุมชนมหาวิทยาลัยเป็นตัวของตัวเองก็จะทำให้คนซึ่งเข้ามาสู่อำนาจรัฐไม่ว่าจะมาจากการรัฐประหาร หรือมาจากการเลือกตั้ง จะไม่สามารถทำอะไรได้ตามอำเภอใจ

คลิปการอภิปรายของสมภาร พรมทา ในการเสวนา "กฎหมายคืออะไร มุมมองทางนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และปรัชญา"

22 พ.ย. 2558 - ในการเสวนา "กฏหมายคืออะไร มุมมองทางนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และปรัชญา" จัดโดย โครงการประกาศนียบัตรบัณฑิตทางกฎหมายมหาชน ที่ห้อง LT1 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ 22 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยวิทยากรประกอบด้วย นิธิ เอียวศรีวงศ์ - เกษียร เตชะพีระ - สมภาร พรมทา - วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ดำเนินรายการโดย ปิยบุตร แสงกนกกุล

โดยหลังจากนิธิ เอียวศรีวงศ์ และ เกษียร เตชะพีระ อภิปรายรอบแรกนั้น (อ่านคำอภิปราย [1], [2]) ต่อมาเป็นการอภิปรายของ สมภาร พรมทา ศาสตราจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยสมภารอภิปรายดังนี้

000

ข้อดีอย่างหนึ่งของวิชาปรัชญาในทัศนะของผมคือ วิชาปรัชญาทำให้เราวิเคราะห์หรือตั้งคำถามกับสิ่งที่เราจำเป็นต้องประสบพบเจอในชีวิต ผมคิดว่ากฎหมายเป็นของที่มนุษย์สมมติขึ้น

ทีนี้ของที่มนุษย์สมมติขึ้นมีทั้งที่เราชอบและไม่ชอบ ประเด็นอยู่ที่ว่าชีวิตเมื่ออยู่ในรัฐต้องอยู่ใต้กฎหมาย สิ่งที่ผมอยากชวนคุยอยู่ที่ว่า แล้วเราจะอยู่กับมันอย่างไร โดยเฉพาะกับกฎหมายที่เราไม่ชอบ

ข้อดีอีกอย่างของวิชาปรัชญาในทัศนะของผมคือ นอกจากจะสอนให้เรียนรู้ที่จะอยู่กับสิ่งที่เราชอบหรือไม่ชอบ วิชาปรัชญายังมีข้อดีก็คือ กรณีที่เราไม่ชอบมัน เราจะมีวิธีทำให้มันดีขึ้นอย่างไร ผมจะใช้เวลาพูด 2 เรื่องนี้

000

อยากขอเริ่มต้นว่าในทางปรัชญาเราถือว่ากฎหมายเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น ถือว่าศาสนานั้น มนุษย์ก็สร้างขึ้น เราสามารถถามได้ว่ามันมีเหตุผลที่เราจะต้องเห็นด้วยกับมัน หรืออยู่ภายใต้อิทธิพลของมันหรือไม่ พอคิดอย่างนี้ ในทางปรัชญา ถือว่าแขนงหนึ่งของปรัชญาที่เรียกว่า "นิติปรัชญา" อยู่ภายใต้การศึกษาของหัวข้อใหญ่คือ "ปรัชญาศีลธรรม"

ปรัชญาศีลธรรม ความหมายกว้างๆ สั้นๆ คือ เป็นวิชาที่สอนให้เราตั้งคำถามว่าสิ่งนั้นควรมีความหมายเกินกว่าข้อเท็จจริงหรือไม่ เช่น ถ้าเป็นกฎหมาย เราควรตั้งคำถามว่า กฎหมายที่ดีควรเป็นอย่างไร กฎหมายที่ยุติธรรมควรเป็นอย่างไร

สรุปก็คือในทางนิติปรัชญา เวลาที่เราศึกษากฎหมาย เราก็ตั้งคำถามว่า หนึ่ง กฎหมายที่ชอบธรรมสถานะมันควรผ่านเงื่อนไขอะไร สอง เมื่อมันเป็นกฎหมายชอบธรรมกฎหมายนั้นควรมีคุณสมบัติอื่น เช่น ควรเป็นกฎหมายที่ยุติธรรมหรือเปล่า

ผมอยากขอทบทวนแนวคิดนิติปรัชญาที่สำคัญ โดยผมขอคัดเลือกมาเฉพาะที่ผมเห็นว่ายังมีอิทธิพลต่อสังคมโลก หรือโดยเฉพาะในสังคมไทยเวลานี้

หนึ่ง แนวคิดสาย Legal positivism หรือสำนักกฎหมายบ้านเมือง ใจความสั้นๆ ของสำนักนี้บอกว่าเวลาที่เราพิจารณากฎหมาย เราอย่าเป็นคนที่โรแมนติกมาก เราต้องมองโลกในแง่ที่มันเป็นจริงที่สุด

ยกตัวอย่าง หากเราเกิดสมัย 500 ปีที่แล้วสักแห่งในโลก ภายใต้ผู้ปกครองท่านหนึ่งอาจจะเป็นกษัตริย์องค์หนึ่ง ต่อมาก็มีนายทหารโค่นล้มกษัตริย์แล้วตั้งตัวเป็นกษัตริย์หมายเลข 2 แล้วกษัตริย์องค์ใหม่ก็ประกาศกฎหมายต่างๆ นานา ในบรรดากฎหมายเหล่านี้ก็มีทั้งที่เราชอบหรือไม่ชอบ

สำนัก Legal positivism จะบอกว่ากฎหมายเป็นของจริง ท้าทายแล้วมีผลต่อชีวิต ในแง่หนึ่งสำนักนี้เขาคำนึงถึงประเด็นว่าจะมีคนใช้กฎหมายตามอำเภอใจหรือไม่ ในงานเขียนของนักปรัชญาสายนี้คือ โทมัส ฮอบส์ วิเคราะห์กรณีที่เลวร้ายที่สุดว่ากษัตริย์องค์ใหม่ที่ผมสมมติขึ้นนี้ ได้หาประโยชน์เข้าตัวหรือเป็นทรราชย์ โดยฮอบส์ตั้งคำถามว่า กษัตริย์ที่เป็นทรราชย์เราได้ประโยชน์หรือเปล่า ฮอบส์บอกว่ามีประโยชน์ คืออย่างน้อยที่สุดทำให้บ้านเมืองมีกฎหมาย การมีกฎหมาย ทำให้ชีวิตของเราอยู่เป็นปกติสุข ยกตัวอย่างเช่น ผมมีที่ดิน มีบ้าน การมีกฎหมายมันทำให้ไม่มีใครเข้ามาในบ้านผมแล้วเอาปืนจี้ผมออกจากบ้านบอกที่ดินนี้เป็นของฉัน ทำไม่ได้นะ ในทัศนะของฮอบส์นั้นต่อให้ผู้ปกครองมีอำนาจเลวร้าย ใช้อำนาจตามอำเภอใจ แต่ข้อดีของการมีผู้ปกครองเลวร้ายยังมีอยู่

พอคิดแบบนี้ทำให้สำนักนี้คิดว่า เมื่อเราต้องมีชีวิตภายใต้กฎหมา สมมติเราไม่ชอบยุคสมัยบางยุคสมัย พบว่ากฎหมายช่วงนี้ไม่ดี มันลิดรอนสิ่งนั้นสิ่งนี้ สำนักนี้จะบอกว่าเราเข้าใจ ความรู้สึกนั้นขอให้อยู่ในใจ ถ้ามีโอกาสทำให้ดีขึ้นค่อยทำ แต่เวลานี้เราต้องเตือนตัวเองว่าเราอยู่ภายใต้กฎหมายที่เป็นของจริง แล้วกฎหมายนี้เป็นอำนาจใหญ่ เวลาที่ผู้ใช้อำนาจใช้กฎหมาย ใช้ในฐานะรัฐ เพราะฉะนั้นเราที่เป็นปัจเจกบุคคลไม่มีทางสู้ได้ ดังนั้นถ้าใช้แนวคิดของ Positivism ผมคิดว่า บางทีเราก็อาจต้องเตือนตัวเองว่าต่อให้เราวิจารณ์ว่าในยุคนี้สมัยนี้เราไม่ชอบกฎหมายนั่นนี่ ผมคิดว่าการวิพากษ์วิจารณ์ก็ควรทำ แต่ในทางปฏิบัติส่วนตัวของแต่ละคนอย่าลืมว่าคุกตะรางเป็นของจริง

เวลาที่สำนักนี้เขาเตือนเราให้เห็นสถานะที่ยิ่งใหญ่ของกฎหมาย และบอกว่าถ้าอยากปรับปรุงกฎหมายค่อยว่ากันทีหลัง แต่การยอมรับให้เข้าใจอย่างนั้น

ผมเข้าใจว่าในเวทีนิติปรัชญาของโลก ปัญหาเรื่องที่มากฎหมายคืออะไรนั้น สำนัก Positivism พูดชัดว่า "กฎหมายคือสิ่งที่คนกุมอำนาจรัฐประกาศออกมา"

คราวนี้ในระดับโลกเราอาจสงสัยว่าทำไมรัฐบาลเราสมัยนี้ซึ่งได้อำนาจมาด้วยการทำรัฐประหาร เราคาดหวังว่าจะไม่มีประเทศส่วนใหญ่ในโลกคบหาสมาคม แต่เอาเข้าจริงไม่เป็นแบบนั้น ที่มันเป็นแบบนั้น เพราะในโลกเขาคิดกันว่า ที่มาของกฎหมายควรมาจากที่มาบริสุทธิ์ ยุติธรรม มาจากประชาชน หรือว่าถ้ามันเกิดขึ้นรัฐประหารแล้วเราก็ต้องยอมรับ

ผมตั้งข้อสังเกตว่าแนวคิด Legal Positivism ยังมีอิทธิพลในโลก เป็นไปได้ว่าระยะแรกๆ ที่ทำรัฐประหาร อาจมีประเทศประชาธิปไตยประกาศว่าไม่ยอมรับ ไม่คบค้าสมาคม แต่เอาเข้าจริงการปฏิเสธก็ไม่ได้ร้ายแรงขนาดว่าปิดทางไม่คบค้าสมาคม อันนี้ผมไม่ได้ต้องการจะบอกว่า Legal Positivism ถูก แต่เป็นข้อเตือนใจให้เราทราบว่าเวลาเราคิดเรื่องกฎหมาย ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ชอบมัน เราต้องเตือนตัวเองว่ามันเป็นของจริงและมีผลต่อชีวิตเราจริง

000

แนวคิดที่สอง เราเรียกว่าสำนักกฎหมายธรรมชาติ หรือ Natural law โดยส่วนตัวผมมีแนวคิดโน้มมาทางสำนักที่สองนี้ คือถึงผมจะเห็นด้วยว่ากฎหมายมันเป็นของจริง และบางทีมันออกมาจากแหล่งที่เราไม่ยอมรับ แต่ก็มีผลกับชีวิตของเราจริง แต่ผมคิดว่าในท้ายที่สุดคนในสังคมควรช่วยกันคิดว่า เราจะมีวิธีที่จะทำให้การทำให้ได้มาซึ่งกฎหมายที่เกี่ยวกับการใช้อำนาจน้อยที่สุดได้อย่างไร แน่นอนไม่ได้ใช้เวลาวันสองวัน แต่คิดระยะยาว

ผมอยากจะพูดถึงปัญหาอันหนึ่งแทรก ถ้าเราคิดถึงกฎหมาย เราอย่าดูแค่ว่ามันเป็นคำสั่งของใคร แต่ดูว่าคนที่สั่งนั้นมีอำนาจชอบธรรมหรือไม่ ซึ่งวิธีที่จะทำให้กฎหมายมีที่มาซึ่งมีเหตุมีผลมากขึ้นควรเป็นแบบนี้

โดยผมจะไม่พูดถึงที่อื่นขอพูดถึงสำนักตัวเองที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตอนที่อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณบดีคณะนิติศาสตร์ รับการแต่งตั้งของ คสช. ไปเป็น สนช. พวกผมก็เขียนลงในเฟซบุ๊ค คือผมเขียนว่าการที่อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณบดีคณะนิติศาสตร์ รับตำแหน่ง ผมไม่อยากมองในแง่บุคคล คือในแง่บุคคลผมกับเพื่อนอาจารย์ก็รู้จักกัน และให้เกียรติเพื่อน บอกว่าการที่เพื่อนรับตำแหน่งคงมีเหตุผลบางอย่าง และผมเข้าใจว่าเพื่อนเหล่านี้ อาจจะคิดแบบ Legal positivism ว่ามันจำเป็นที่จะต้องเกิดรัฐประหาร คราวนี้เกิดแล้ว เราจะตัดทิ้งได้ไหม เสร็จแล้วมาดูใหม่ว่า เพื่อที่จะทำให้มีรัฐธรรมนูญหรือมีกฎหมายที่ดี เพื่อนอาจจะคิดว่าเข้าไปอยู่แล้วอาจจะช่วยได้ อันนี้ผมก็เคารพการตัดสินใจของเพื่อน

แต่คราวนี้ผมอยากให้มองในระยะยาว คือผมคิดว่าเมื่อมีรัฐประหาร แล้วมีอธิการบดีในมหาวิทยาลัยที่สำคัญได้รับเชิญให้เข้าร่วมงานด้วย เราอาจต้องคิดว่ามหาวิทยาลัยนี้ควรจะคิดอย่างไร และผมเข้าใจว่าเพราะเราไม่ได้คิดมาก่อน พอได้รับเชิญกระทันหันก็เลยเกิดเช่นนี้

ในระยะยาว สมมติในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะนิติศาสตร เรามาตั้งคำถามว่าเราผลิตคนที่เป็นนักกฎหมายไปเพื่ออะไร ผมเห็นคำๆ หนึ่งที่เกิดในสมัยนี้ มันอาจเป็นคำเชิงลบ แต่ผมคิดว่าใช้คำบรรยายข้อเท็จจริงบางอย่างพอสมควร คือเราใช้คำว่า "เนติบริกร" เราสร้างนักกฎหมายมา เพื่อให้ใครก็ได้ที่เข้ามาสู่อำนาจรัฐ ซึ่งอาจจะเข้ามาในยุคประชาธิปไตยก็ได้ เป็นพรรคการเมืองเสียงข้างมาก แล้วพรรคเหล่านี้ประสงค์จะได้กฎหมายบางอย่าง ก็ไปเลือกอาจารย์เก่งนิติศาสตร์มาแล้วให้โจทย์ ให้ทำตามโจทย์

ผมรู้สึกถ้าคณะนิติศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยสำคัญในประเทศไทย เราผลิตคนซึ่งถูกใช้ทำแบบนี้โดยไม่ได้ตั้งคำถามว่า เราควรไปรับงานหรือเปล่า คือการรับหรือไม่ผมไม่ว่านะ เพราะคนที่รับราชการอย่างผมก็เป็นไปได้ที่เขาจะขอไปช่วยงาน แต่บังเอิญเขาไม่ต้องการนักปรัชญา แต่เขาต้องการนักกฎหมาย

เราต้องมีหลักบางอย่างของเราว่า การให้บริการแก่คนที่มาสู่อำนาจรัฐ เราจะให้บริการเขาแค่ไหนเพียงใด เมื่อคิดแบบนี้ในระยะยาว สำหรับอธิการบดีหรือคณบดี หลังจากที่เราคุยกันรู้เรื่องใน 20 ปีข้างหน้า ผมคิดว่าเป็นไปได้หากวันหนึ่งมีรัฐประหาร เราอาจทำหนังสือตอบว่า เราขอไม่รับ แต่ไม่ได้แปลว่า เราปฏิเสธอำนาจรัฐ เราปฏิเสธไม่ได้อยู่แล้ว กฎหมายคือกฎหมาย แต่ให้สั่งมาเป็นเรื่องๆ ว่าประสงค์ให้เราคิดในเรื่องใด เราพิจารณาแล้วในชุมชนมหาวิทยาลัยว่านี่คือสิ่งชอบด้วยเหตุด้วยผล เราจะเสนอไป

ถ้ามหาวิทยาลัยทำแบบนี้ นักนิติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยคงจะไม่ไปเป็นเนติบริกร แต่จะเป็นตัวของตัวเอง และการที่มหาวิทยาลัยเป็นตัวของตัวเองจะทำให้คนซึ่งเข้ามาสู่อำนาจรัฐไม่ว่าจะทำรัฐประหาร หรือมาจากการเลือกตั้ง จะไม่สามารถทำอะไรได้ตามอำเภอใจ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท