Skip to main content
sharethis

เครือข่ายภาคประชาชน 8 จังหวัด ลุ่มน้ำโขง หวั่นความเห็นตุลาการผู้แถลงคดี  ยังไม่เข้าใจปัญหาผลกระทบข้ามพรมแดน กรณี กฟผ. ลงนามสัญญาซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี

30 พ.ย. 2558 ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 8 ศาลปกครอง แจ้งวัฒนะ ได้มีการนัดพิจารณาคดีครั้งแรก กรณีเครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง อันได้แก่ เชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ยื่นฟ้อง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ผู้ถูกฟ้องที่1 และอีก 4 หน่วยงานของรัฐ คือคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ , กระทรวงพลังงาน , กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องที่ 2-5 ตามลำดับ อันสืบเนื่องจากกรณี การลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี โดยทางกลุ่มผู้ฟ้องเห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สำหรับการพิจารณาคดีครั้งนี้ สอ รัตนมณี พลกล้า ทนายความของคดีนี้ ได้ให้ข้อมูลหลังเสร็จสิ้นการพิจารณาคดีครั้งแรกว่า ตุลาการผู้แถลงคดี มีความเห็น ยกฟ้อง โดยมีการสรุปประเด็นที่พิจารณาไว้สองเรื่องคือ ประเด็นที่หนึ่ง ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหมดละเลยต่อหน้าที่ไม่จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสังคม ก่อนที่จะมีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี โดยตุลการผู้แถลงเห็นว่า การกระทำดังกล่าวไม่ได้เป็นการทำที่ตรงกับนิยาม โครงการของรัฐ เป็นเพียงการทำสัญญาซื้อไฟฟ้า มีลักษณะเป็นเพียงข้อตกลงระหว่างประเทศ ฉะนั้นจึงมองว่าการลงนามดังกล่าวไม่ใช่โครงการของรัฐ ที่จะต้องดำเนินการตามระเบียบ ซึ่งจะต้องมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน หรือจัดทำรายการผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ตุลาการผู้แถลงจึงเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องจึงไม่จำเป็นต้องดำเนินการตามขั้นตอนดังกล่าวก่อนลงนามในสัญญา

ทนายความกล่าวต่อไปว่า ศาลได้เข้าไปพิจารณาดูด้วยว่า ในข้อตกลงของการลงนามในสัญญาซึ่งมีการกำหนดว่า ในการดำเนินการก่อสร้างโครงการเขื่อนไซยะบุรีต้องมีการทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพ ซึ่งต้องเป็นไปตามมาตราฐานสากล โดยในกรณีนี้ ศาลเห็นว่า การทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมฯ นั้นทางเจ้าของโครงการได้ดำเนินการไปเสร็จสิ้นแล้วตามกฎหมายของประเทศลาว เท่ากับว่ามีการดำเนินการถูกต้องตามขั้นตอนไม่ได้มีการละเลยการปฏิบัติหน้าที่

ส่วนในประเด็นที่สอง โดยศาลตั้งประเด็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-4 ละเลยต่อมติคณะรัฐมนตรีหรือไม่ ในกรณีที่กำหนดว่า ก่อนที่จะมีการลงนามจะต้องมีการดำเนินการ อย่างน้อย 3 ประการคือ สัญญาจะต้องมีการผ่านการพิจารณาของสำนักงานอัยการ โครงการจะต้องดำเนินการตามกระบวนการ PNPCA ((Procedures for Notification, Prior Consultation and Agreement) และต้องมีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของโครงการ โดยศาลมองว่า รูปแบบของ PNPCA กำหนดให้มีการปรึกษาหารือ และจัดทำข้อตกลง ซึ่งศาลเห็นว่า กระบวนการเหล่านี้ได้ดำเนินการไปแล้ว

ต่อกรณีที่กลุ่มผู้ฟ้องเห็นว่า การดำเนินการต่างๆ ไม่ได้มีการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดน ศาลเห็นไม่มีข้อกำหนดใดๆ ที่กล่าวถึงหลักการดังกล่าวไว้ ฉะนั้นจึงไม่มีความจะเป็นต้องดำเนินการ ในส่วนของการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ศาลมองว่า โครงการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรี ไม่ใช่โครงการของรัฐ การจะนำข้อมูลมาเผยแพร่จะต้องได้รับการอนุญาติจากเจ้าของโครงการ และในสัญญาของโครงการได้กำหนดว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นความลับ ฉะนั้นการที่หน่วยงานซึ่งถูกฟ้องนำข้อมูลมาเผยแพร่เท่าที่ดำเนินการได้ ก็ถือว่ามีการดำเนินการตามกฎหมายแล้ว จึงมีคำสั่งให้ยกฟ้อง

ทนายความกล่าวต่อว่า คำแถลงของตุลาการผู้แถลงคดี ไม่ได้มีผลใดๆ ต่อการพิจารณาวินิจฉัยของตุลาการเจ้าของสำนวน ซึ่งศาลจะมีการกำหนดให้มีการฟังคำพิพากษาต่อไป

ด้าน นิวัฒน์ ร้อยแก้ว เครือข่ายภาคประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ตั้งข้อสังเกตุต่อประเด็นดังกล่าวว่า เป็นการให้ความเห็นที่ยังไม่เข้าใจเรื่องของผลกระทบข้ามพรมแดน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ต้องมีการพูดถึง มีการแก้ไขกันที่ตัวกฎหมายต่อไป

“เมื่อเราฟังตุลาการแถลงแล้ว เห็นชัดเจนเลยว่ามีข้อบกพร่องมากมาย ที่ชาวบ้านไม่สามารถเข้าถึงความเป็นธรรมในเรื่องการจัดการทรัพยากร เพราะมีข้อกฎหมายและระเบียบมากมาย... การจัดการทรัพยากรร่วมกันกฎหมายต้องไปให้ถึง ไม่อย่างนั้นแม่น้ำโขงตายแน่ ตายจริงๆ ตายแบบไม่มีทางสู้ นี่คือสิ่งที่มองเห็นชัด”นิวัฒน์ กล่าว

สอ รัตนมณี ทนายความของคดีฝ่ายผู้ฟ้อง ให้ความเห็นต่อไปว่า ประเด็นปัญหาตอนนี้คือ กฎหมายของไทยและในประเทศเพื่อนบ้านยังไม่คุ้มครองปัญหาผลกระทบข้ามพรมแดน แม้ตอนนี้จะยังไม่มีคำตัดสินออกมา ก็ยังคงมีความหวังว่า ตุลาการเจ้าของสำนวนจะเห็นว่า การวินิจฉัยคดีนี้ สามารถสร้างบรรทัดฐานที่จะสนับสนุนการดำเนินการเพื่อปกป้องสิทธิชุมชน อันเกิดจากปัญหาผลกระทบข้ามพรมแดน

ด้าน ชานณรงค์ วงศ์ลา กลุ่มฮักเชียงคาน หนึ่งในเครือข่ายภาคประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ให้ความเห็นว่า การเดินทางมาวันนี้ เพื่อต้องการพึ่งพาความยุติธรรมจากศาล แต่สิ่งที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า รัฐไทยไม่สามารถปกป้องคุ้มครองทรัพยากร และประชาชนของตัวเอง ทั้งที่การเปิดประชาคมเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นแล้ว แต่ในด้านของกฎหมายยังไม่มีกฎหมายที่คุ้มครองผลกระทบข้ามพรมแดน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง

 

สรุปคดีและคำสั่งศาลปกครองสูงสุด กรณีฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเขื่อนไซยะบุรีคดีหมายเลขดำที่ ส.493/2555 ศาลปกครองกลาง

เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2555 ประชาชน 8 จังหวัดลุ่มแม่น้ำโขง ได้แก่ เชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ซึ่งเป็นผู้อาจได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรีกั้นแม่น้ำโขง ทั้งในด้านระบบนิเวศของแม่น้ำโขงและส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน อย่างร้ายแรง ได้ร่วมกันให้ตัวแทน ฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง ให้เพิกถอนการทำสัญญาซื้อไฟฟ้าของกฟผ. (PPA) เป็นคดีหมายเลขดำที่ ส.493/2555 ระหว่าง นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ที่ 1 กับพวกรวม 37 คน ผู้ฟ้องคดี การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ 1 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ที่ 2 กระทรวงพลังงาน ที่ 3 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ 4 คณะรัฐมนตรี ที่ 5 ผู้ถูกฟ้องคดี

โดยขอให้ศาลมีคำพิพากษา ดังนี้

1. ให้มีคำพิพากษาว่า โครงการสัญญาซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เป็นโครงการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และให้มีคำสั่งให้ยกเลิกโครงการดังกล่าวเสีย

2. ให้มีคำพิพากษา ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้าปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และมติของรัฐบาล รวมทั้งการแจ้งข้อมูลและการเผยแพร่ข้อมูลอย่างเหมาะสม การรับฟังความคิดเห็นอย่างเพียงพอและจริงจัง และการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสังคม ทั้งในฝั่งไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากอันตรายข้ามพรมแดน ก่อนที่จะดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับการจัดซื้อไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนไซยะบุรี

3. ให้มีคำพิพากษาว่า ให้ยกเลิกมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 ในการอนุมัติให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ดำเนินโครงการสัญญาซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี

ต่อมา เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2556 ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ โดยออกเป็นคดีหมายเลขแดงที่ 59/2556 ซึ่งผู้ฟ้องคดีทั้ง 37 ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ในวันที่ 21 มีนาคม 2556 เพื่อขอให้ศาลพิจารณารับคำฟ้องคดีไว้พิจารณา โดยศาลปกครองสูงสุดรับเป็นคำร้องที่ คส.11/2556

เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.57 ศาลปกครองกลางได้อ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ตามคำสั่งที่ 8/2557 ให้มีคำสั่งรับคำฟ้องไว้พิจาณาบางส่วน 

โดยศาลปกครองสุงสุดได้วินิจฉัยพอสรุปได้ ดังนี้

ศาลเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีทั้ง 37 ได้ยื่นฟ้องเป็น 3 ข้อหา จึงพิจารณารายข้อหา ดังนี้

ข้อหาที่หนี่ง มติของคณะกรรมการนโยบายพลังงาน แห่งชาติ และคณะรัฐมนตรี ที่เห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงพลังงาน ที่อนุญาตให้ กฟผ. ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่าง กฟผ. กับบริษัทไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด ของประเทศลาว ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การมีมติให้ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า เป็นเพียงขั้นตอนการดำเนินการภายในของเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อ นำไปสู่การทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่าง กฟผ. กับบริษัทไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด จึงยังไม่มีผลทางกฎหมายออกสู่ภายนอกไปกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ ของผู้ฟ้องทั้ง 37 คน ดังนั้น ผู้ฟ้องทั้ง 37 คนจึงไม่ใช่ผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ศาลไม่รับข้อหานี้ไว้พิจารณา

ข้อหาที่สอง สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่าง กฟผ. กับ บริษัทไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีทั้ง 37 คน มีความประสงค์อันแท้จริง คือ ต้องการให้ศาลปกครองมีคำบังคับให้เพิกถอนหรือยกเลิกสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ระหว่าง กฟผ. กับบริษัทไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด แต่ข้อเท็จจริงในสำนวนคดีไม่ปรากฏว่า ผู้ฟ้องทั้ง 37 คนเป็นคู่สัญญาตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ซึ่งเป็นสัญญาทางปกครอง จึงไม่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองที่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 37 คน จะมีสิทธิฟ้องคดีขอให้ศาลเพิกถอนสัญญาซื้อขายไฟฟ้าดังกล่าวได้ ดังนั้น ผู้ฟ้องคดีทั้ง 37 คน จึงไม่ใช่ผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย ที่จะมีสิทธิฟ้องคดีข้อหาที่สองต่อศาลปกครองได้ ตามมาตรา 42 วรรค 1 แห่งพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 แม้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 37 คน อุทธรณ์ว่า สัญญาซื้อไฟฟ้าก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้ฟ้องคดีทั้ง 37 คน ในฐานะที่เป็นผู้เสียภาษี และผู้รับประโยชน์จากสัญญา แต่ศาลเห็นว่า การเสียภาษีอากรถือว่าเป็นหน้าที่ที่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 37 คน จะต้องปฏิบัติตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ศาลไม่รับข้อหานี้ไว้พิจารณา

ข้อหาที่สาม ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 5 ปฏิบัติ หน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และมติของรัฐบาล รวมทั้งการแจ้งข้อมูลและการเผยแพร่ข้อมูลอย่างเหมาะสม การรับฟังความคิดเห็นอย่างเพียงพอและจริงจัง และการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ สังคม ทั้งในฝ่ายไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากอันตรายข้ามพรมแดน ก่อนที่จะดำเนินการใดๆเกี่ยวกับการจัดซื้อไฟฟ้าโครงการเขื่อนไซยะบุรี

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ผู้ฟ้องทั้ง 37 คน เป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือได้รับผลกระทบโดยตรงและมากเป็นพิเศษกว่า บุคคลทั่วไปที่ไม่ได้อยู่อาศัยหรือประกอบอาชีพในพื้นที่ 8 จังหวัดริมแม่น้ำโขง จึงเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากการงดเว้นการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 5 และการแก้ไขหรือบรรเทาความเดือดร้อน  หรือเสียหาย ที่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 37 คน ได้รับจำต้องมีคำบังคับโดยสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 5 ปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ กฎหมายและมติของรัฐบาล รวมทั้งการแจ้งข้อมูลและการเผยแพร่ข้อมูลอย่างเหมาะสม รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นอย่างเพียงพอและจริงจัง และประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสังคมตามคำขอของผู้ฟ้องคดีทั้ง 37 คน ตามมาตรา 72 วรรค 1(2) แห่งพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 โครงการเขื่อนไซยะบุรีสร้างในแม่น้ำนานาชาติ ต้องปฎิบัติตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ เช่น PNPCA เนื่องจากเป็นกติกาที่ใช้ในการจัดการแม่น้ำนานาชาติร่วมกัน โครงการไซยะบุรีเป็นโครงการที่กั้นแม่น้ำที่อาจจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทย ลาว กัมพูชา และเวียตนาม ซึ่งเป็นผลกระทบข้ามพรมแดน จึงทำให้ผู้ฟ้องคดีที่ฟ้องโดยใช้สิทธิชุมชนในการฟ้องคดีเป็นการใช้สิทธิ เพื่อคุ้มครองไม่ให้ตนได้รับผลกระทบ จึงใช้สิทธิในการฟ้องได้

ศาลจึงมีคำสั่งแก้คำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้รับคำฟ้องของผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 37 คน เฉพาะข้อหาที่ 3 ในส่วนที่ฟ้อง ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 5 ปฏิบัติ หน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และมติของรัฐบาล รวมทั้งการแจ้งข้อมูลและการเผยแพร่ข้อมูลอย่างเหมาะสม การรับฟังความความคิดเห็นอย่างเพียงพอและจริงจัง การประเมินผลกระทบ ด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสังคม ไว้พิจารณา นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งของศาลชั้นต้น

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net