Skip to main content
sharethis

บันทึกจากภาคสนามเรื่องเล่าของผู้คนในพื้นที่-ร่องรอยทางประวัติศาสตร์และสภาพความเป็นอยู่ของชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ ก่อนกลายเป็นผู้ลี้ภัยภายในบ้านตัวเอง หลังความพยายามหลายทศวรรษของรัฐพม่าที่ต้องการลบล้างชาวโรฮิงญาออกจากรัฐยะไข่ รวมไปถึงการยึดครองที่ดินของชาวโรฮิงญาโดยชาวพุทธยะไข่ซึ่งเกิดขึ้นภายใต้การรับรู้ของเจ้าหน้าที่รัฐ

000

เหตุการณ์จลาจลระหว่างคนมุสลิม-โรฮิงญาและคนยะไข่ที่นับถือศาสนาพุทธเมื่อปี ค.ศ. 2012 เคลื่อนผู้อพยพทางทะเลและสถานการณ์การค้ามนุษย์ในประเทศไทยในช่วงปี 2013 - 2015 ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์มุสลิม-โรฮิงญากลายเป็นหนึ่งในข้อถกเถียงที่ได้รับความสนใจจากสังคม ในลำดับต่อจากนี้ ผู้เขียนขอนำเสนอบันทึกจากภาคสนาม หลังจากที่มีโอกาสลงพื้นที่เมืองซิตตเวและยะเตเตาก์ รัฐยะไข่ ประเทศพม่าในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ผ่านเรื่องเล่าของผู้คนในพื้นที่ ตลอดจนร่องรอยทางประวัติศาสตร์และสภาพความเป็นอยู่ของคนมุสลิม-โรฮิงญาในชุมชนดั้งเดิมและในค่ายผู้ลี้ภัยภายประเทศซึ่งอธิบายได้ถึงตัวตนของคนมุสลิม-โรฮิงญาและอิทธิพลของศาสนาอิสลามในรัฐยะไข่ก่อนยุคอาณานิคม ตลอดจนความพยายามของรัฐบาลพม่าที่ต้องการลบล้างชาวโรฮิงญาออกจากรัฐยะไข่ และการยึดครองทรัพย์สิน โดยเฉพาะที่ดินของคนมุสลิม-โรฮิงญาโดยชาวพุทธซึ่งเกิดขึ้นภายใต้การรับรู้ของเจ้าหน้าที่รัฐ

 

ตัวตนของคนมุสลิม-โรฮิงญาและอิทธิพลของศาสนาอิสลามในรัฐยะไข่ก่อนยุคอาณานิคมอังกฤษ

ตัวตนของคนมุสลิม-โรฮิงญาเป็นหนึ่งในข้อถกเถียงที่ได้รับความสนใจจากสังคมในฐานะเป็นหนึ่งในปมความขัดแย้งเชิงประวัติศาสตร์อย่างน้อยสองมิติ

มิติแรก เสนอว่า คนมุสลิม-โรฮิงญาเป็นคนท้องถิ่นที่มีตัวตนในรัฐยะไข่ก่อนยุคอาณานิคมอังกฤษ โดยผู้สนับสนุนแนวคิดนี้เสนอว่า คนมุสลิม-โรฮิงญาเป็นคนท้องถิ่นที่ได้รับอิทธิพลของศาสนาอิสลามจากอินเดียตั้งแต่ก่อนพุทธกาลหรือมีการพัฒนาอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์จากอิทธิพลของนักเดินเรือชาวมุสลิมในช่วงศตวรรษที่ 7 หรือ 8 และมีความรุ่งเรืองสูงสุดในช่วงศตวรรษที่ 14-16

มิติที่สอง เสนอว่า คนมุสลิม-โรฮิงญา เป็นคนจิตตะกองที่อพยพเข้าสู่พม่าในยุคอาณานิคมอังกฤษ หนึ่งในผู้สนับสนุนแนวคิดนี้เสนอว่า คำว่าโรฮิงญาเพิ่งถูกลูกหลานของผู้อพยพจากจิตตะกองที่อาศัยอยู่ตอนเหนือของรัฐยะไข่นำมาใช้เรียกตัวเองเมื่อปี ค.ศ. 1951

ทว่าด้วยข้อจำกัดหลายประการ โดยเฉพาะการเข้าถึงข้อมูลภาคสนาม ทำให้การนำเสนอข้อเถียงทั้งสองมิติในช่วงเวลาที่ผ่านมาแทบไม่มีหลักฐานสนับสนุนที่ชัดเจนมากนัก อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้เขียนมีโอกาสลงพื้นซิตตเวและยะเตเตาก์ ได้พูดคุยกับคนท้องถิ่น และมีโอกาสการลัดเลาะสังเกตการณ์บรรยากาศรอบเขตตัวเมือง เขตชุมชนดั่งเดิม และค่ายผู้ภัยภายในประเทศ ทำได้พบร่อยรองการตั้งถิ่นของคนมุสลิม-โรฮิงญาและอิทธิพลของศาสนาอิสลามในพื้นที่ซึ่งเกิดขึ้นก่อนยุคอาณานิคมอังกฤษ

ชุมชนดั้งเดิมของคนมุสลิม-โรฮิงญาแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ในเขตยะเตเตาก์ (Rathedaung) ซึ่งการเดินทางเข้าไปในพื้นที่ค่อนข้างยากลำบาก ต้องขออนุญาตเดินทางเข้าไปในพื้นที่จากรัฐ การเดินทางที่ต้องอาศัยการนั่งเรือข้ามฝากจากฝั่งซิตตเว ต่อด้วยการนั่งรถมอเตอร์ไซด์รับจ้าง และเดินเท้าเข้าสู่ชุมชน เพราะความเป็นปฏิปักษ์หวาดระแวงระหว่างกัน ทำให้คนขับรถมอเตอร์ไซด์รับจ้างซึ่งนับถือศาสนาพุทธไม่กล้าเข้าไปในชุมชนของคนมุสลิม-โรฮิงญา

การเดินทางเข้าไปในหมู่บ้านทำให้ผู้เขียนได้พบกับมัสยิดประจำหมู่บ้านซึ่งถูกสร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1771 แต่ด้วยข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นความเข้มงวดของเจ้าหน้าที่ทหารในพื้นที่ สถานการณ์ความตึงเครียดที่กำกับให้คณะผู้เขียนต้องใช้เวลาในพื้นที่อย่างกระชับที่สุด นอกเหนือจากนี้ ยังมีข้อจำกัดทางด้านการสื่อสารเนื่องจากล่ามของคณะผู้เขียนซึ่งเป็นชาวโรฮิงญาไม่สามารถเดินทางเข้าพื้นที่ได้ การเก็บข้อมูลชุมชนจึงเป็นไปด้วยความยากลำบาก อย่างไรก็ตาม มัสยิดแห่งนี้ซึ่งถูกสร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1771 นับเป็นหนึ่งในหลักฐานสำคัญเพียงไม่กี่ชิ้นที่ปรากฏและหลงเหลืออยู่ในปัจจุบันซึ่งสามารถบอกเล่าเรื่องราวได้ด้วยตัวเองถึงการมีตัวตนของคนมุสลิม-โรฮิงญาในรัฐยะไข่ก่อนยุคอาณานิคมอังกฤษซึ่งเริ่มต้นขึ้นหลังจากกองทัพอังกฤษมีชัยชนะเหนือราชวงศ์อลองพญาของพม่าครั้งแรกในปี ค.ศ. 1826

มัสยิดของหมู่บ้านในเขตยะเตเตาก์ (Rathedaung) ห่างจากซิตตเวไปทางทิศเหนือประมาณ 40 กิโลเมตร

นอกจากนี้ ในเขตตัวเมืองซิตตเวยังพบร่องรอยทางประวัติศาสตร์ เช่น มัสยิดในเขตเมืองซึ่งถูกปิดโดยรัฐและบางแห่งถูกทุบทำลายลงซึ่งสามารถบอกเล่าถึงอิทธิพลของศาสนาอิสลามและการตั้งชุมชนมุสลิมในย่านเศรษฐกิจและเขตตัวเมืองได้เป็นอย่างดี

บนถนน Main Road ของเมืองซิตตเว เริ่มต้นจากพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมและห้องสมุดไปยังสนามบินซิตตเว ใช้เวลาประมาณ 30 นาทีด้วยการเดินเท้าพบเห็นมัสยิดตั้งอยู่สองข้างทางถึงสามแห่ง มัสยิดแห่งแรก โดยสภาพทั่วไปดูทรุดโทรมเพราะถูกปล่อยทิ้งร้างมานานโดยไม่ได้รับการบำรุงรักษา แต่โครงสร้างตัวอาคารนับว่ายังมีความสมบูรณ์ มัสยิดแห่งนี้ตั้งอยู่ไม่ไกลจากย่านการค้าขายและท่าเรือของเมืองซิตตเวมากนัก แต่ไม่ทราบว่าถูกสร้างขึ้นในปีใด เพราะเป็นสถานที่ถูกปิดตายเป็นระยะเวลานาน ตรอกซอกซอยที่ตัดผ่านประตูทางเข้ามีแผงลวดหนามกั้นอยู่และไม่อนุญาตให้บุคคลทั่วไปสัญจรผ่านได้ ประตูทางเข้ามีเจ้าหน้าที่รัฐอย่างน้อย 2-3 คน เฝ้าตลอด 24 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม อดีตสมาชิกรัฐสภาชาวโรฮิงญาและเจ้าหน้าที่องค์กรท้องถิ่นที่ให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยซึ่งทั้งสองคนเคยอาศัยอยู่ในชุมชนมุสลิม-โรฮิงญาดั้งเดิมในเขตเมืองซิตตเว ก่อนเกิดเหตุจลาจลปี ค.ศ. 2012 กล่าวว่า มัสยิดแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นมานานกว่า 200 ปีแล้ว

มัสยิดแห่งแรกที่ผู้เขียนลงพื้นที่ สภาพโครงสร้างยังสมบูรณ์ แต่ทางเข้าภายนอกถูกปิดกั้นด้วยเครื่องกีดขวาง

ห่างออกมาจากมัสยิดแห่งแรกไม่ไกลมากนักเดินมุ่งหน้าไปทางสนามบินซิตตเวไม่เกิน 15 นาที พบเห็นซากปรักหักพังของมัสยิดแห่งหนึ่งซึ่งถูกทำลายลงเหลือแต่เพียงโครงสร้างส่วนล่างและฝั่งตรงกันข้ามมีวัดและเจดีย์ขนาดใหญ่ซึ่งถูกสร้างขึ้นภายหลังมัสยิดแห่งนี้

ที่ตั้งมัสยิดแห่งหนึ่งในเมืองซิตตเวมองจากภายนอก ซึ่งตัวอาคารถูกทำลาย

วัดถูกสร้างให้อยู่ตรงข้ามกับมัสยิด

วัดที่ถูกสร้างให้อยู่ตรงข้ามกับมัสยิด เมื่อมองจากภายนอก

จากนั้นเดินมุ่งหน้าต่อไปบนเส้นเดียวกันนี้ประมาณ 5 นาทีจนถึงสามแยกทางเข้าสนามบิน ซิตตเว พบมัสยิดแห่งที่สาม ที่ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1887 มัสยิดแห่งนี้ยังคงความสมบูรณ์ทางด้านสถาปัตยกรรม แต่มีสภาพทรุดโทรมเพราะไม่ได้รับการบำรุงรักษา มีเจ้าหน้าที่รัฐเฝ้าอยู่หน้าประตูทางเข้า 2-3 คน ฝั่งตรงข้ามมีวัดซึ่งถูกสร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1981หรือในยุคของนายพลเนวินซึ่งบริหารประเทศภายใต้แนวนโยบายชาติพม่านิยมแนวพุทธแบสุดโต่งหรือนโยบายสังคมนิยมวิถีพม่า

มัสยิดแห่งที่สามที่ผู้เขียนไปสำรวจ

ถึงแม้ว่ามัสยิดทั้งสามแห่งที่ได้กล่าวถึงข้างต้นไม่อาจบ่งบอกได้อย่างชัดเจนถึงการแผ่ขยายอิทธิพลของศาสนาอิสลามและการตั้งถิ่นฐานของคนมุสลิม-โรฮิงญาในซิตตเวก่อนยุคอาณานิคมอังกฤษ เนื่องจากมีข้อจำกัดในการสำรวจมัสยิดและสัมภาษณ์ผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ การนี้ การสัมภาษณ์ชาวพุทธในประเด็นดังกล่าวแทบไม่มีความเป็นไปได้ ในขณะที่ชุมชนมุสลิมในละแวกดังกล่าวได้ถูกเผาทำลายและทุบทำลายในเหตุการณ์จลาจลเมื่อปี 2012

ที่มากไปกว่านั้น ปัจจุบันพื้นที่ทั้งหมดซึ่งเคยเป็นชุมชนชาวมุสลิมกำลังถูกเปลี่ยนแปลงไปเป็นชุมชนชาวพุทธ โดยที่ดินบางจุดมีการสร้างหลังใหม่แทนที่หลังเดิม ส่วนที่ดินแปลงที่เหลือได้มีการทำสัญลักษณ์จับจองที่ดินเป็นที่ดินเป็นที่เรียบร้อยแล้ว กระนั้นก็ตาม มัสยิดทั้งสามแห่งนี้บอกเล่าชัดเจนถึงความรุ่งเรืองของศาสนาอิสลามและการตั้งถิ่นฐานของชาวมุสลิมในย่านศูนย์กลางทางเศรษฐกิจการค้าและการคมนาคมทางเรือในอดีตอย่างชัดเจน สอดคล้องกับบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่อธิบายถึงเมืองซิตตเว ว่าเคยเป็นเมืองท่าที่มีความสำคัญของรัฐยะไข่นับตั้งแต่ยุคอาจักรโบราณต่อเนื่องมาจนถึงยุคอาณานิคมอังกฤษ และปัจจุบันพื้นแห่งนี้ยังทำหน้าที่ดังกล่าวเหมือนเช่นเคย ดังจะเห็นได้จากบรรยากาศการค้าขายและเรือที่เข้าเทียบท่าบริเวณท่าเรือที่มีผู้คนคึกคักในช่วงเวลาเช้าและช่วงหัวค่ำ อย่างไรก็ตาม ข้อแตกต่างสำคัญประการหนึ่ง คือ หลังเหตุการณ์จลาจลเมื่อปี ค.ศ. 2012 ไม่มีคนมุสลิม-โรฮิงญาอาศัยอยู่ในเขตเมืองซิตตเว เพราะทุกคนได้ถูกบังคับให้ย้ายไปอยู่ในชุมชนชาวมุสลิมและค่ายผู้ลี้ภัยบางแห่งที่มีสภาพไม่แตกต่างไปจากค่ายกักกัน

ท่าเรือท้ายตลาดซิตตเว

บรรยากาศหน้าตลาดซิตตเว

เอกสารแสดงสิทธิถือครองที่ดินของชาวโรฮิงญา

ติดตามตอนจบได้ที่นี่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net