Skip to main content
sharethis

ในการเลือกตั้งของพม่าที่พรรคเอ็นแอลได้รับคะแนนเสียงอย่างท่วมท้นก็มีคำถามเกิดขึ้นว่าจะมีการจัดสรรอำนาจกันอย่างไรโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออองซานซูจีให้สัมภาษณ์ว่าเธออาจจะมีอำนาจมากกว่าประธานาธิบดีซึ่งอาจจะถูกฝ่ายผู้นำเผด็จการทหารเอามาใช้เล่นงานได้


พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอล) ปราศรัยย่อยลานหน้าสถานีรถไฟย่างกุ้ง
เมื่อคืนวันที่ 5 พ.ย. 
(แฟ้มภาพ: ประชาไท)

30 พ.ย. 2558 มิ้นท์ ซาน (Myint Zan) ศาตราจารย์นิติศาสตร์มหาวิทยาลัยมัลติมีเดียในมาเลเซีย เขียนบทความลงในเว็บไซต์อีสต์เอเชียฟอรัม ถึงประเด็นการเลือกตั้งของพม่าเมื่อไม่นานมานี้ที่พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ 'เอ็นแอลดี' (NLD) สามารถชนะการเลือกตั้งได้ แต่ก็มีคำถามว่า ออง ซาน ซูจี ผู้นำพรรคเอ็นแอลดีของพม่าจะมีอำนาจทางการเมืองมากน้อยแค่ไหน

โดยในขณะที่ตามรัฐธรรมนูญปี 2551 ของพม่าระบุว่า ออง ซาน ซูจี ไม่สามารถเป็นประธานาธิบดีของพม่าได้เนื่องจากลูกชายเธอสองคนเป็นคนที่มีสัญชาติอังกฤษ อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีคนต่อไปของพม่าจะมาจากการแต่งตั้งโดยพรรคของเธอที่ชนะการเลือกตั้งเสียงข้างมาก และจากการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 5 พ.ย. ที่ผ่านมา ออง ซาน ซูจี กล่าวว่าถ้าหากพรรคเอ็นแอลดีสามารถชนะการเลือกตั้งในวันที่ 8 พ.ย. และตั้งรัฐบาลใหม่ได้ตัวเธอจะมีสถานะ 'เป็นยิ่งกว่าประธานาธิบดี'

อย่างไรก็ตามยังมีความกังวลว่าจะเกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเช่นเดียวกับในปี 2533 ที่การเลือกตั้งถูกทำให้เป็นโมฆะแม้ว่าพรรคเอ็นแอลดีจะชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย มิ้นท์ ซานระบุว่าการประกาศอย่างตรงไปตรงมาของ ออง ซาน ซูจี ในครั้งนี้ชวนให้นึกถึงอูจีหม่อง (U Kyi Maung) ผู้อาวุโสแห่งพรรคเอ็นแอลดีที่เคยกล่าวให้สัมภาษณ์อย่างไม่ระมัดระวังเอาไว้เมื่อเดือน มิ.ย. 2533 หลังจากที่พรรคเอ็นแอลดีชนะการเลือกตั้งได้ไม่กี่สัปดาห์ว่า ขิ่น ยุ้นต์ (Khin Nyunt) ผู้นำทหารในยุคนั้นมีเรื่องให้ต้องร้อนๆ หนาวๆ แน่ ซึ่งเป็นการตอบคำถามเรื่องที่ว่าพรรคเอ็นแอลดีจะตั้งศาลพิจารณาคดีทหารที่ "ล้ำเส้น" แบบเดียวกับการพิจารณาคดีนาซีเยอรมนีในนูเรมเบิร์กหรือไม่

แต่หลังจากนั้นอูจีหม่องก็ถูกจับกุมเข้าคุก 5 ปี และเขาเสียชีวิตก่อนที่จะได้เห็น ขิ่น ยุ้นต์ ถูกขับออกจากตำแหน่งและถูกกักบริเวณอยู่ในบ้านพักตั้งแต่ปี 2547 เป็นเวลา 7 ปี

โดยในการแสดงความคิดเห็นของอูจีเมาอาจจะกลายเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลให้พรรคเอ็นแอลดีเสื่อมอำนาจลง ถึงกระนั้นมิ้นท์ ซานก็ระบุว่าการแสดงความคิดเห็นในปี 2558 และปี 2533 ก็มีบริบทต่างกัน

สำหรับคำถามที่ว่ามีประเทศใดบ้างที่มีผู้มีอำนาจเหนือประธานาธิบดีอยู่ทั้งในเชิงตัวบุคคลหรือเชิงสถาบัน ไม่ว่าจะเป็นไปตามรัฐธรรมนูญหรือแค่ในเชิงพิธีการ มิ้นท์ ซาน ยกตัวอย่างกรณีของอิหร่านหลังจากที่มีการโค่นล้มจักรพรรดิชาห์แห่งอิหร่านในปี 2522 แล้ว ก็มีตำแหน่งอยาตุลเลาะห์ซึ่งเป็นผู้รอบรู้ศาสนาและผู้นำนิกายชีอะฮ์เกิดขึ้นซึ่งถึงแม้ว่าในทางกฎหมายอยาตุลเลาะห์ โคไมนีจะไม่เป็นประธานาธิบดี แต่ในเชิงพิธีการและการปฏิบัติแล้วโคไมนีทำตัวอยู่เหนือประธานาธิบดี หลังจากโคไมนีเสียชีวิตก็มีเซย์เยด อาลี คาเมเนอี รับสืบทอดตำแหน่งต่อเขาก็แสดงอำนาจอยู่เหนือประธานาธิบดีเช่นกัน

มิ้นท์ ซานระบุว่ามีความเป็นไปได้ที่ในรัฐธรรมนูญอิหร่านจะระบุให้อยาตุลเลาะห์มีอำนาจเหนือประธานาธิบดีแต่ไม่ได้ระบุด้วยคำที่ตรงไปตรงมา และเมื่อมีการพิจารณารัฐธรรมนูญของพม่าปี 2551 แล้วก็เป็นไปได้ว่าถ้ามีการตีความในอีกแบบหนึ่ง อองซานซูจีก็อาจจะขึ้นเป็นผู้นำระดับสูงของประเทศได้

มิ้นท์ ซานยกตัวอย่างอีกประเทศหนึ่งคือฟิจิ ซึ่งในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้านี้ของฟิจิหรืออย่างน้อยก็ในข้อตกลงระบุให้มีสภาผู้นำใหญ่ (Great Council of Chiefs) สามารถแต่งตั้งหรือถอดถอนประธานาธิบดีได้ในภาวการณ์พิเศษ ทำให้ตีความได้ว่าสภาผู้นำใหญ่มีอำนาจเหนือประธานาธิบดี

ส่วนประเทศพม่าในอดีตก็เคยมีภาวะที่ผู้นำพรรคการเมืองพรรคหนึ่งอยู่เหนือประธานาธิบดี คือกรณีที่เนวิน (Ne Win) อดีตประธานาธิบดีจากพรรคบีเอสพีพี (BSPP) ที่หลังจากออกจากตำแหน่งแล้วก็ยังคงดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคอยู่ อีกทั้งเนวินก็แสดงยังมีอำนาจอยู่เหนือประธานาธิบดีคนถัดจากนั้นถึงแม้ว่าในรัฐธรรมนูญของพม่ายุคนั้นจะไม่มีข้อความระบุให้ประธานพรรคมีอำนาจเหนือประธานาธิบดีก็ตาม แต่เรื่องนี้ก็ถือเป็นอดีตไปแล้ว

มิ้นท์ ซาน ระบุว่าถ้าหาก ออง ซาน ซูจีทำตัวมีอำนาจอยู่เหนือประธานาธิบดีจริง ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดแรงต้านจากพรรคยูเอสดีพีของฝ่ายเผด็จการทหารที่จะใช้ศาลรัฐธรรมนูญเล่นงานซูจีในเรื่องนี้โดยในรัฐธรรมนูญของพม่าระบุว่าผู้ที่สามารถฟ้องร้องศาลรัฐธรรมนูญได้ขอแค่มีจำนวน ส.ส. ในสภาเพียงแค่ร้อยละ 10 เท่านั้น


เรียบเรียงจาก

Could Aung San Suu Kyi be above Myanmar’s next president?, Myint Zan, East Asia Forum, 25-11-2015
http://www.eastasiaforum.org/2015/11/25/could-aung-san-suu-kyi-be-above-myanmars-next-president/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net