Skip to main content
sharethis

หลังจากจีนพยายามขยายอิทธิพลในแถบเอเชียเพื่อคัดง้างกับอิทธิพลเดิมอย่างสหรัฐฯ จนเกิดความตึงเครียดในภูมิภาคหลายประเด็น ไซมอน ลอง คอลัมนิสต์ในนิตยสารดิอิโคโนมิสต์ชวนจับตามอง การขับเคี่ยวทั้งทางเศรษฐกิจและความมั่นคงจากสองอิทธิพล ในปีหน้า (2559) ที่จะเข้มข้นขึ้นมาก


เมื่อ 2 พ.ย. 2558 ไซมอน ลอง คอลัมนิสต์ดิอิโคโนมิสต์ชาวสิงคโปร์เขียนบทความลงในนิตยสาร 'The World in...' ซึ่งเป็นนิตยสารรายปีของดิอิโคโนมิสต์ ถึงการเมืองระหว่างประเทศแถบเอเชียตะวันออกในช่วงปี 2558 ที่ผ่านมาที่มีอิทธิพลของสหรัฐอเมริกากับจีนเข้ามาเกี่ยวข้อง รวมถึงประเมินว่าในปี 2559 ความตึงเครียดระหว่างสองมหาอำนาจนี้อาจจะปะทุหนักขึ้น ทำให้ประเทศอื่นๆ ในแถบเอเชียวางตัวไม่ค่อยถูก

แม้ว่าในช่วง 40 ปีที่ผ่านมาสหรัฐฯ จะมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกซึ่งลองมองว่า ก็ทำให้จีนเป็นประเทศที่ได้รับผลประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้มากที่สุด แต่ในตอนนี้จีนก็เริ่มไม่ยอมให้สหรัฐฯ แผ่อิทธิพลอยู่ฝ่ายเดียวแล้วและเริ่มพยายามแสดงอำนาจอิทธิพลของตัวเองบ้าง

ถึงแม้ว่าประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีนจะเดินทางไปเยือนสหรัฐฯ เป็นครั้งแรกในเดือน ก.ย. 2558 เพื่อหารือร่วมกัน แต่ลองก็มองว่าพวกเขาเน้นหารือกันในเรื่องที่เป็นความร่วมมืออยู่แล้วอย่างเรื่องโลกร้อนมากกว่า ในขณะที่เรื่องที่ยังคงเป็นความขัดแย้งและการแข่งขันกลับมีความตึงเครียดมากขึ้น ยังไม่นับเรื่องที่สหรัฐฯ วิพากษ์วิจารณ์จีนอยู่เสมอในกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น กรณีในเขตปกครองตนเองทิเบตและซินเจียง

ลองชี้ว่ามีสาเหตุอยู่ 3 ประการหลักๆ ที่ทำให้เอเชียเป็นพื้นที่สำคัญในการแข่งขันกันทางด้านอิทธิพลระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ในปีหน้า

สาเหตุประการที่ 1 คือประเด็นเรื่องความขัดแย้งเหนือพื้นที่น่านน้ำทะเลจีนใต้ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาทางการจีนพยายามจะสร้างเกาะเทียมขึ้นมาในน่านน้ำซึ่งยังเป็นข้อพิพาทว่าใครควรเป็นเจ้าของอาณาเขตระหว่างจีนกับประเทศอื่นๆ อย่างไต้หวัน, ฟิลิปปินส์ หรือเวียดนาม ในขณะที่สหรัฐฯ ไม่ได้สนใจผลประโยชน์เรื่องน่านน้ำแต่พยายามเล่นบทผู้คุมกฎน่านน้ำระหว่างประเทศ ตามกฎหมายนานาชาติและทะเลอาณาเขต (Territorial Water) ซึ่งหมายถึงระยะทางไม่เกิน 12 ไมล์ทะเลโดยวัดจากเส้นฐานถูกกำหนดให้ไม่สามารถสร้างสิ่งก่อสร้างจากฝีมือของมนุษย์ได้ โดยสหรัฐฯ ใช้วิธีการเตือนจีนด้วยการส่งเรือรบและเครื่องบินเข้าไปในบริเวณดังกล่าวซึ่งทำให้จีนกล่าวหาว่าเป็นการท้าทาย

สาเหตุประการที่ 2 คือ การที่จีนพยายามพัฒนาทางการทหารมากขึ้นในบริเวณน่านน้ำเหล่านั้นเช่นเดียวกับที่เคยทำกับทะเลจีนตะวันออกในปี 2556 เขาประเมินว่าในขณะที่สหรัฐฯ กำลังจะมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ที่มีการพูดถึงวิกฤตที่อื่นในโลกมากกว่า ทำให้เป็นไปได้สูงมากที่สหรัฐฯ จะยังไม่ถูกดึงเข้าร่วมการปะทะกันด้วยกำลังในภาคพื้นทะเลโดยตรง แต่ก็มีความเสี่ยงที่จีนจะปะทะกับประเทศใกล้เคียงอย่างเช่นเวียดนามซึ่งเป็นเรื่องที่ประเทศในภูมิภาคและสหรัฐฯ กังวล

สาเหตุประการที่ 3 คือ จีนเริ่มออกปากต่อต้านเครือข่ายพันธมิตรของสหรัฐฯ ในภูมิภาคมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นออสเตรเลีย, ญี่ปุ่น, ฟิลิปปินส์, เกาหลีใต้ รวมถึงไทย บางครั้งก็ลากเรื่องที่เป็นอดีตในยุคสงครามเย็นมาวิพากษ์สหรัฐฯ เช่นการที่สหรัฐฯ สนับสนุนไต้หวัน ทำให้การเลือกตั้งในไต้หวันที่จะมีขึ้นช่วงเดือน ม.ค. ปีหน้าอาจจะทำให้เกิดความตึงเครียดระหว่างสองมหาอำนาจมากขึ้น

ลองมองว่า การพยายามท้าทายอำนาจอิทธิพลของสหรัฐฯ เช่นนี้จะทำให้ประเทศอื่นๆ ในเอเชียมีความยากลำบากมากขึ้นในการดำเนินความสัมพันธ์อันดีกับทั้งสหรัฐฯ และจีน ซึ่งประเทศเล็กๆ เหล่านี้มักจะวางตัวไม่เลือกข้างฝ่ายใดถึงแม้ว่าพวกเขาอาจจะยอมรับถ้าหากสหรัฐฯ มีท่าทีกล้าเข้ามายุ่งในประเด็นทะเลจีนใต้มากกว่านี้แต่กลุ่มที่ออกมาป่าวประกาศสนับสนุนจริงๆ คงมีแต่กลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบ

อย่างไรก็ตามลองมองว่าประเทศในเอเชียต้องตัดสินใจเลือกในที่สุดและจะเป็นการตัดสินใจเพื่อความมั่นคงของประเทศนั้นๆ เอง เช่นการที่สิงคโปร์ยอมให้สหรัฐฯ วางกำลังเรือรบของตน หรือบางทีก็อาจจะด้วยเหตุผลทางเศรษกิจเช่นประเทศพันธมิตรของสหรัฐฯ เข้าร่วมหุ้นธนาคารลงทุนเพื่อโครงสร้างพื้นฐานเอเชียของจีนซึ่งจะเริ่มโครงการในไตรมาสที่สองของปี 2559 ในขณะเดียวกันสหรัฐฯ ก็มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจจากความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (TPP) ที่เพิ่งลงนามและกำลังอยู่ในขั้นตอนโต้เถียงกันก่อนพิจารณาขั้นสุดท้ายในปีหน้า

ทั้งหมดนี้ทำให้ลองชวนจับตามองว่าการพยายามแผ่ขยายอิทธิพลของทั้งสองมหาอำนาจในภูมิภาคนี้ที่จะเข้มข้นขึ้นไม่ว่าจะในแง่ของยุทธศาสตร์การทหารหรือในแง่ของเศรษฐกิจ

 

เรียบเรียงจาก

Trying not to choose : A region pulled between China and America, Simon Long, The World In 2016, 02-11-2015
http://www.theworldin.com/article/10483/trying-not-choose

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net