Skip to main content
sharethis

1 ธ.ค. 2558 คณะทำงานร่วมประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกว่าด้วยเรื่องเยาวชนกลุ่มเสี่ยง ซึ่งมียูนิเซฟ ยูเอ็นเอดส์ และองค์กรอื่นๆ เป็นสมาชิก เปิดรายงานฉบับใหม่ ‘วัยรุ่น: ภายใต้เรดาร์ของการรับมือกับปัญหาโรคเอดส์ในเอเชียแปซิฟิก’ วานนี้

รายงานดังกล่าวระบุว่า ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกำลังเผชิญกับ ‘การระบาดที่ซ่อนเร้น’ ของเชื้อเอชไอวีในหมู่วัยรุ่น โดยมีการติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ประมาณ 50,000 รายในกลุ่มวัยรุ่นอายุระหว่าง 15-19 ปีในพ.ศ. 2557 ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 15 ของการติดเชื้อรายใหม่ทั้งหมด ทั้งนี้ปัจจุบันมีวัยรุ่นติดเชื้อเอชไอวีประมาณ 220,000 รายในภูมิภาคนี้ โดยในเมืองใหญ่ๆ เช่น กรุงเทพมหานคร ฮานอย และจาการ์ตานับเป็นศูนย์กลางของการติดเชื้อรายใหม่

รายงานระบุว่า แม้ว่าอัตราการติดเชื้อโดยรวมจะลดลง แต่กลับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในหมู่วัยรุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเด็กหนุ่มที่รักเพศเดียวกันและชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย การติดเชื้อรายใหม่ที่เพิ่มขึ้นนั้นเกิดขึ้นพร้อมๆ กับพฤติกรรมเสี่ยงที่สูงขึ้นด้วย เช่น การมีคู่นอนหลายคน และการไม่ใช้ถุงยางอย่างสม่ำเสมอ 

“ช่วงวัยรุ่นเป็นเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านและความเสี่ยง โดยเด็กๆ ต่างเผชิญความท้าทายมากขึ้นในการเติบโตเป็นผู้ใหญ่” ดาเนียล ทูล ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟประจำภาคพื้นเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกกล่าว “ยูนิเซฟกำลังดำเนินงานร่วมกับรัฐบาลของประเทศต่างๆ ทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เพื่อให้แน่ใจว่ารัฐบาลได้ทำหน้าที่ปกป้องสุขภาพอันดีของวัยรุ่น ซึ่งรวมถึงการจัดบริการตรวจหาเชื้อในกลุ่มเสี่ยงและการรักษา”

วัยรุ่นที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อเอชไอวี คือ กลุ่มชายรักเพศเดียวกัน ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย คนข้ามเพศ ผู้ใช้ยาเสพติดโดยการฉีด และผู้ใช้และขายบริการทางเพศ ทั้งนี้ ปัญหาโรคเอดส์ซึ่งเป็นภัยคุมคามด้านสาธารณสุข จะไม่มีทางหมดไปภายในพ.ศ. 2573 หากไม่มีการแก้ปัญหาการระบาดในหมู่วัยรุ่น

สำหรับการแก้ไขปัญหานี้ รายงานดังกล่าวเสนอให้รัฐบาลทุกประเทศ พัฒนาการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับวัยรุ่นให้ดีขึ้น พร้อมทั้งวางกลยุทธ์ป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี และพัฒนาระบบกฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับวัยรุ่นโดยตรง ตลอดจนจัดการเรียนการสอนเพศศึกษาที่มีเนื้อหาครอบคลุมในโรงเรียนและผ่านสื่อออนไลน์ต่างๆ รวมถึงให้ข้อมูลแก่วัยรุ่นเกี่ยวกับสถานที่ตรวจหาเชื้อเอชไอวี วิธีการตรวจหาเชื้อ การใช้ถุงยาง และการรักษาวัยรุ่นที่ติดเชื้อ

รายงานชี้ว่าสิ่งสำคัญคือวัยรุ่นต้องรู้ว่าตัวเองติดเชื้อเอชไอวีหรือไม่ และต้องเข้ารับการรักษาหากจำเป็น อย่างไรก็ตาม วัยรุ่นในหลายประเทศถูกปฏิเสธจากการรับบริการในศูนย์ตรวจหาเชื้อเอชไอวี โดยมีเพียง 10 ประเทศในภูมิภาคเท่านั้นที่มีกฏหมายและนโยบายที่อนุญาตให้วัยรุ่นเข้ารับการตรวจหาเชื้อเอชไอวีและเข้ารับบริการที่เกี่ยวข้องได้  

”เราอยากให้วัยรุ่นทุกคน ไม่ว่าจะอาศัยอยู่ที่ไหนหรือเป็นใคร มีโอกาสที่จะเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์” สตีฟ เคราส์ ผู้อำนวยการโครงการช่วยเหลือในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกขององค์การยูเอ็นเอดส์ กล่าวและว่า “แต่สิ่งนี้จะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อพวกเขามีสิทธิที่จะได้รับบริการด้านเอชไอวีที่ครอบคลุม ทั้งในส่วนของการป้องกันและอนามัยเจริญพันธุ์ ดังนั้นเราต้องทำให้แน่ใจว่าจะไม่มีอุปสรรคใดมาขวางกั้นพวกเขา”

นอกจากอุปสรรคด้านกฎหมายแล้ว วัยรุ่นที่ติดเชื้อเอชไอวีมักต้องเผชิญกับการถูกตีตราและการถูกรังเกียจเดียดฉันท์ ซึ่งอาจทำให้พวกเขาไม่กล้าเข้ารับการรักษา การแก้ไขปัญหานี้ทำได้โดยให้วัยรุ่นมีส่วนร่วมในการวางแผนการจัดบริการที่ตรงตามความต้องการของพวกเขา

“วัยรุ่นเองต้องมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาการติดเชื้อเอชไอวี” นิลุกา เปเรรา จากองค์กร Youth Voices Count กล่าว “เราต้องหยุดเมินเฉยต่อกลุ่มวัยรุ่นเพียงเพราะพวกเขาเข้าถึงได้ยาก แต่เราต้องร่วมกันขจัดปัญหาการถูกตีตราและการรังเกียจเดียดฉันท์ที่วัยรุ่นติดเชื้อต้องเผชิญแม้จากเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขเอง เราต้องรับฟังความคิดเห็นของพวกเขาอย่างจริงจัง”

รายงานยังพบว่า:
    •    กลุ่มวัยรุ่นผู้ติดเชื้อเอชไอวีพบมากที่สุดใน 10 ประเทศ คือ กัมพูชา จีน อินเดีย อินโดนีเซีย พม่า ปากีสถาน ปาปัวนิวกินี ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม โดยคิดเป็นร้อยละ 98 ของวัยรุ่นอายุระหว่าง 10 – 19 ปี ที่ติดเชื้อเอชไอวีทั้งหมดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
    •    ในกลุ่มประเทศที่มีข้อมูลนั้น ปาปัวนิวกีนีและฟิลิปปินส์มีอัตราวัยรุ่นติดเชื้อเอชไอวีมากที่สุด โดยคิดเป็นเกือบร้อยละ 10 ของผู้ติดเชื้อเอชไอวีทั้งหมดของประเทศ
    •    ในประเทศฟิลิปปินส์ ผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ที่มีอายุระหว่าง 15-19 ปีเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 50 ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา จากประมาณ 800 รายในปี 2553 เป็น 1,210 รายในปี 2557
    •    ในภูมิภาคเอเชียใต้ การตายจากโรคที่เกี่ยวข้องกับเอชไอวีในวัยรุ่นอายุระหว่าง 10-19 ปี เพิ่มขึ้นเกือบสี่เท่า จากประมาณ 1,500 รายในปี 2544 เป็น 5,300 รายในปี 2557 สำหรับเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกนั้น อัตราการตายเพิ่มจาก 1,000 ราย เป็น 1,300 รายในช่วงเวลาเดียวกัน

อนึ่ง คณะทำงานร่วมประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกว่าด้วยเรื่องกลุ่มวัยรุ่นผู้ติดเชื้อถูกตั้งขึ้นในปี 2552 เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ขององค์การสหประชาชาติและพันธมิตรภาคประชาสังคม เพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี การรักษา การดูแล และความช่วยเหลือให้กับวัยรุ่น รวมถึงชายรักเพศเดียวกัน ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย คนข้ามเพศ ผู้ใช้ยาเสพติดโดยการฉีด และผู้ขายบริการทางเพศ

สมาชิกของคณะทำงานประกอบด้วย Asia Pacific Coalition on Male Sexual Health International HIV/AIDS Alliance องค์การยูเอ็นเอดส์ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก องค์การยูเนสโกประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก องค์การยูนิเซฟประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก องค์การยูนิเซฟประจำภูมิภาคเอเชียใต้ องค์การยูเอ็นเอฟพีเอประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก องค์การยูเอ็นโอดีซีประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก Youth LEAD และ Youth Voices Count

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net