Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. ที่ผ่านมา MGR Online รายงานว่า พล.อ.นคร สุขประเสริฐ สมาชิกสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ (สปท.) ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สปท.กล่าวว่า คณะ กมธ.ได้จัดทำข้อเสนอในเรื่องการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เพื่อเสนอแก่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ว่าควรมีกลไกในการขจัดปัญหาทุจริตอะไรใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญบ้าง ข้อเสนอที่น่าสนใจคือ การตั้งศาลทุจริตและคอร์รัปชัน ซึ่ง กมธ. มีแนวความคิดว่า จะตั้งศาลนี้ขึ้นมาเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระงานของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และจะวางกรอบการทำงานให้ชัดเจนโดยจะตัดสินคดีทุจริตในส่วนของข้าราชการและนักการเมืองท้องถิ่น ส่วนนักการเมืองระดับชาติหรือข้าราชการระดับสูงจะยังให้ ป.ป.ช.ดำเนินการเป็นหลักตามเดิม แนวทางแบบนี้จะช่วยให้คดีทุจริตที่อยู่ในมือ ป.ป.ช.จำนวนมากได้สะสางรวดเร็วมากขึ้น งานจะไม่ไปกระจุกตัวที่ ป.ป.ช.อย่างเดียว ทั้งนี้คาดว่าจะสามารถส่งความเห็นแก่ กรธ. ได้ภายในสัปดาห์นี้ ส่วน กรธ. จะนำไปบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ก็แล้วแต่การตัดสินใจของพวกเขา

รบ.ดันกฎหมายใหม่ ให้ศาลค้นหาความจริงเอง จบแค่ 2 ศาล คดีทุจริตและประพฤติมิชอบ

ขณะที่ มติชนออนไลน์ รายงานว่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีตั้งศาลทุจริตและคอร์รัปชั่นดังกล่าวนั้นว่า ยังไม่ทราบเรื่อง แต่รัฐบาลกำลังพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยสำนักงานศาลยุติธรรมเป็นผู้เสนอ ครม. ได้รับหลักการในเบื้องต้นและส่งต่อให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบอีกครั้ง ซึ่งรัฐบาลได้ตัดสินใจเลือกใช้แนวทางนี้ ถือว่าเป็นคนละเรื่องกับสิ่งที่ สปท. เสนอ พ.ร.บ.ดังกล่าว เป็นการเปลี่ยนวิธีพิจารณาคดี แต่เดิมการพิจารณาคดีจะใช้ระบบกล่าวหาโดยมีโจทก์และจำเลย จากนั้นก็สืบพยาน แต่ใน พ.ร.บ.นี้ จะเป็นการไต่สวนโดยศาลจะเป็นผู้ลงมาค้นหาความเป็นจริงโดยจะจบแค่สองศาล คือศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ไม่ไปถึงฎีกาเพราะอาจทำให้กระบวนการล่าช้า อีกทั้งผู้พิพากษาต้องเป็นมืออาชีพ ผ่านการพิจารณาคดีมาแล้ว 10 ปี เป็นอย่างต่ำ วิธีการนี้จะทำให้คดีทุจริตได้รับการพิจารณาอย่างรวดเร็ว หากผู้ต้องหาหนีคดีอายุความก็จะหยุดชั่วคราวคดียังไม่สิ้นสุด

“พ.ร.บ.นี้ เหมารวมทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะข้าราชการ มีการนิยามแยกประเภทของคดีทุจริตกับการประพฤติมิชอบ ส่วนคดีทุจริตของนักการเมืองจะไม่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.นี้ ซึ่งจะเป็นอำนาจศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเช่นเดิม” นายวิษณุกล่าวและว่า สำหรับพ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. ... ได้ผ่านครม.ไปนานแล้ว ขณะนี้รอคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบก่อนส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อย่างไรก็ตาม เห็นว่ากฎหมายฉบับนี้ถือเป็นกฎหมายฉบับใหญ่ที่มีความสำคัญ จัดว่าเป็นกฎหมายปฏิรูปที่สำคัญที่สุดอีกฉบับหนึ่งของรัฐบาลชุดนี้  การจัดซื้อจัดจ้างในประเทศไทยที่ผ่านมา อยู่ภายใต้ระเบียบของสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อยกฐานะมาเป็นกฎหมายจะมีโทษต่อผู้ที่ทุจริต นอกจากนี้ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ ยังครอบคลุมหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ องค์กรอิสระ องค์การมหาชน ท้องถิ่น ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดข้อถกเถียงจากหลายหน่วยงาน จึงต้องการให้นำร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวส่งกลับไปยังกระทรวงต่างๆเพื่อพิจารณา ให้มีความเห็นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net