Skip to main content
sharethis
 
นายจ้างพาแรงงานต่างด้าวในกิจการประมงมาขึ้นทะเบียนกว่า 3,000 คนสัญชาติเมียนมามียอดสูงสุดถึง 2,306 คน
 
กรมการจัดหางาน เปิดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวในกิจการประมง ( 22 จังหวัด ) ครั้งที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2558 – 30 มกราคม 2559 ตามมติ ครม. วันที่ 3 มีนาคม 2558 ซึ่งแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมามีนายจ้างพามาขึ้นทะเบียนสูงสุดรวม 2,146 คนย้ำนายจ้างที่มีแรงงานต่างด้าวในกิจการประมงรีบพาแรงงานมาขึ้นทะเบียนก่อน 30 มกราคม 2559
 
นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่ากรมการจัดหางานได้เปิดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมาลาว และกัมพูชา ในกิจการประมงทะเล ใน 22 จังหวัดที่มีพื้นที่ติดชายทะเลครั้งที่ 2ระหว่างวันที่ 2 พฤศจิกายน 2558- 30 มกราคม 2559 โดยตั้งแต่วันที่ 2 - 23 พฤศจิกายน 2558 มีนายจ้าง 1,231ราย ใน 22จังหวัด พาแรงงานต่างด้าวมาจดทะเบียน รวมทั้งสิ้น3,876คนแบ่งเป็นสัญชาติเมียนมา 2,306 คน ลาว 66คน และกัมพูชา 1,504คนดังนั้น นายจ้างที่มีแรงงานต่างด้าวในกิจการประมงรีบพาแรงงานต่างด้าวมาขอใบอนุญาตทำงานกับกรมการจัดหางานณศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) 22 จังหวัดที่มีพื้นที่ติดชายทะเลรวมทั้งตรวจสุขภาพเพื่อคัดกรองว่าไม่เป็นโรคที่ห้ามอนุญาตให้ทำงานและประกันสุขภาพกับโรงพยาบาลตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดภายในวันที่ 30 มกราคม 2559 หากพ้นกําหนดจะหมดสิทธิจ้างแรงงานต่างด้าวและมีความผิดตามกฎหมายโดยนายจ้างที่ลักลอบจ้างแรงงานต่างด้าวจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติการทํางานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551มีความผิดปรับตั้งแต่ 10,000– 100,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคนส่วนแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบทํางานจะมีความผิดจําคุกไม่เกิน 5ปีหรือปรับตั้งแต่ 2,000– 100,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับโดยนายจ้าง/สถานประกอบการ และแรงงานต่างด้าวที่กระทำความผิดจะได้รับโทษขั้นสูงสุดตามพระราชบัญญัติดังกล่าว
 
กรมการจัดหางานจึงขอประชาสัมพันธ์ให้นายจ้างที่จ้างแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองสัญชาติเมียนมา ลาว กัมพูชา ในกิจการประมงทะเลรีบพาแรงงานต่างด้าวมาขึ้นทะเบียน ณศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) 22จังหวัดที่มีพื้นที่ติดชายทะเล ภายในวันเวลาที่กำหนด สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด 22 จังหวัดชายทะเล เว็บไซต์กรมการจัดหางาน www.doe.go.th หรือที่ สายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694
 
(กรมการจัดหารงาน, 26/11/2558)
 
รายงานของคณะนักวิจัยยุโรปชี้แรงงานอพยพต่างชาติในธุรกิจแปรรูปเนื้อไก่ของไทย เผชิญกับการกดขี่เอารัดเอาเปรียบ
 
รายงานของคณะนักวิจัยยุโรป เผยแพร่เมื่อวันพุธ ระบุว่า แรงงานอพยพต่างชาติในธุรกิจแปรรูปเนื้อไก่ของไทย ที่ส่งไปยังยุโรป ตลาดส่งออกขนาดใหญ่สุด เผชิญกับการกดขี่เอารัดเอาเปรียบอย่างแพร่หลายโดยบรรดานายจ้างส่วนหนึ่งเนื่องจากกลุ่มผู้ตรวจสอบต่างชาติ มุ่งเน้นด้านความปลอดภัยของอาหาร มากกว่าสภาพการทำงานของแรงงาน
 
ทั้งนี้ เนื้อไก่กำลังจะกลายเป็นเนื้อสัตว์ที่มีการบริโภคมากที่สุดในโลก ภายใน 5 ปีข้างหน้า แซงหน้าเนื้อหมู และจากข้อมูลของ “สเวดวอทช์” (Swedwatch) องค์กรไม่แสวงผลกำไรซึ่งจับตาตรวจสอบผลกระทบของบริษัทต่างๆ ในสวีเดน ทางด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนระบุว่า ความนิยมเพิ่มมากขึ้นกลายเป็นผลดีต่อผู้จัดส่งสัตว์ปีกรายใหญ่อย่างไทย ซึ่งส่งเนื้อไก่แปรรูปประมาณ 270,000 ตัน ไปยังสหภาพยุโรป หรืออียูในปีที่แล้ว 
 
นอกจากนี้ การศึกษาร่วมกันของสเวดวอทช์กับฟินวอทช์ (Finnwatch) องค์กรจากฟินแลนด์ก็พบว่า คนงานโรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านที่ยากจนกว่าของไทยอย่างกัมพูชาและเมียนมา ถูกเอาเปรียบจากนายหน้าและนายจ้าง ซึ่งยึดหนังสือเดินทางของแรงงานเหล่านี้ไว้ และคิดค่าหัวในการสมัครงานมากเกินไป 
 
รายงานชิ้นนี้ ตอกย้ำสถานการณ์การกดขี่แรงงานในไทย ซึ่งทำให้กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐลดอันดับของไทย ในรายงานการค้ามนุษย์ประจำปี 2557 เมื่อช่วงต้นปีนี้ ขณะที่อียูขู่จะห้ามนำเข้าอาหารทะเลไทย หากทางการไทยล้มเหลวในการออกมาตรการที่เพียงพอสำหรับการต่อต้านแรงงานทาสและการประมงที่ผิดกฎหมาย
 
 
สั่งทูตแรงงานไทย 13 ปท.รับมือก่อการร้าย
 
26 พ.ย. ที่โรงแรมเซ็นจูรี่พาร์ค  พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รมว.แรงงาน เป็นประธานมอบนโยบายในโครงการอบรมหัวหน้าส่วนราชการในต่างประเทศประจำปี 2558 ซึ่งมีหัวหน้าส่วนราชการในสำนักแรงงานในต่างประเทศเข้าร่วมจาก 13 ประเทศ พร้อมกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ของกระทรวงแรงงานในสำนักแรงงานแต่ละประเทศถือเป็นตัวแทนของประเทศไทย จึงจะต้องมีความรอบรู้ในเรื่องต่างๆ สามารถประชาสัมพันธ์ประเทศให้เป็นที่รู้จัก สื่อสารแนวทางการทำงาน นโยบายของรัฐบาลออกไปได้อย่างถูกต้อง ทั้งนี้ตนมอบหมายให้ตัวแทนสำนักแรงงานไทย ณ กรุงเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ซึ่งเป็นที่ตั้งขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ทำงานประสานกับไอแอลโออย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต ด้าน ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ได้เน้นให้หัวหน้าส่วนราชการในสำนักแรงงานในต่างประเทศทั้งหมด ทำงานในเชิงรุก ดูแลแรงงานไทยให้ได้รับสวัสดิการและการคุ้มครองที่ดี และเน้นการสร้างเครือข่ายระหว่างแรงงานไทยในประเทศนั้นๆ ในรูปแบบของอาสาสมัครแรงงาน เพื่อดูแลแรงงานให้ครอบคลุมและกระจายข่าวสารได้รวดเร็ว โดยใช้สังคมออนไลน์ในการสร้างเครือข่าย อีกทั้งจะต้องติดตามข่าวสาร สถานการณ์ต่างๆ ในต่างประเทศที่อาจส่งผลกระทบต่อแรงงานไทย เช่น การออกกฎหมายด้านแรงงานใหม่ อุบัติเหตุ ภัยธรรมชาติ และการก่อการร้าย เพื่อเป็นสื่อกลางในการแจ้งข่าวสารให้แรงงานในไทยแต่ละประเทศรับทราบและปฏิบัติตนได้ถูกต้อง อีกทั้งให้ช่วยกันส่งเสริมความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ กับกระทรวงแรงงานในไทย และขยายตลาดแรงงานในตำแหน่งที่ใช้ทักษะสูงขึ้น มากกว่าจะไปเป็นแรงงานไร้ฝีมือ เพื่อให้มีรายได้กลับมาเลี้ยงดูครอบครัวและตนเอง นอกจากนี้จะต้องดูการบริการของกระทรวงแรงงานทุกด้าน พัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้มีศักยภาพยิ่งขึ้น
 
 
ประมงร้องขาดแคลนลูกจ้าง กระทรวงแรงงานต้องนำแรงงานเวียดนามเข้ามาช่วย
 
27 พ.ย. ที่อาคารโซน A ตลาดเปิดท้ายท่าเทียบเรือประมงใหม่สงขลา  สำนักงานจัดหางาน จ.สงขลา ร่วมกับสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.สงขลา ประชุมให้ความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับกฎกติกาการปฏิบัติที่ถูกต้องของแรงงานต่างด้าวในกิจการประมงทะเล 3 สัญชาติ คือ เมียนมา กัมพูชา และลาว มีนายจ้าง เจ้าของสถานประกอบการและแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ที่มาทำงานในกิจการประมงทะเล 300 คน
 
รายงานข่าวว่า ในที่ประชุมได้ขอให้กระทรวงแรงงานแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในกิจการประมงให้เร็วที่สุด เพราะมีเรือไม่น้อยกว่า 300 คน จึงไม่สามารถออกทำการประมงได้ เนื่องจากลูกเรือไม่มี
 
ขณะเดียวกัน รายงานระบุว่า กระทรวงแรงงานเตรียมนำแรงงานต่างด้าวชาวเวียดนาม เข้ามาทำงานเพิ่ม 1 สัญชาติ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในประเทศไทย  ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 10 พ.ย.58 จะเริ่มจดทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1- 30  ธ.ค. 58  ซึ่งจะเข้ามาทำงานได้เพียง 4 อาชีพเท่านั้น คือ รับใช้ในบ้าน ก่อสร้าง ประมงทะเลและทำงานร้านอาหาร จะต้องมีพาสปอร์ตถูกต้อง
 
โดยนายธเนศ สนิทวาที จัดหางาน จ.สงขลา กล่าวว่าจากการเกิดการขาดแคลนแรงงานต่างด้าว กิจการประมงทะเล พยายามจัดหาคนให้  จะเพิ่มแรงงานชาวเวียดนามเข้ามาอีกหนึ่งสัญชาติ เพื่อแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวขาดแคลนแรงงานในกิจการประมง
 
 
ก.แรงงาน หารือผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไก่ส่งออกแจงไทยมีมาตรฐานการดูแล ‘สิทธิแรงงาน’ ไม่เอาเปรียบต่างด้าว
 
รมว.แรงงาน เชิญสมาคมและผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไก่เพื่อส่งออกไทย หารือ กรณีสื่อนอกกล่าวหาเอาเปรียบต่างด้าว พบอุปสรรคทางการสื่อสารสร้างความเข้าใจผิด แจงไทยมีมาตรฐานการดูแล ‘สิทธิแรงงาน’ ไม่แตกต่างลูกจ้างไทย บนพื้นฐานที่กฎหมายกำหนด พร้อมทำแผนจัดจนท.ตรวจเข้ม แนะนายจ้างใช้ GLP ในการจ้างงาน
 
พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ประชุมหารือร่วมกับผู้แทนสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย และผู้แทนผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไก่เพื่อการส่งออก กรณี สื่อต่างชาติเผยแพร่ข่าวประเทศไทยมีการเอาเปรียบแรงงานต่างด้าว และมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์และเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อร่วมกันชี้แจงข้อมูล ข้อเท็จจริง รวมถึงร่วมกันหามาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ประกอบด้วย บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) บริษัท สหฟาร์ม จำกัด บริษัท แหลมทองสหการ จำกัด บริษัท เบทาโกร จำกัด บริษัท ไก่สดเซนทาโกร จำกัด และบริษัท คาร์กิลล์มีทส์ (ไทยแลนด์) จำกัด รวม 6 บริษัท ณ ห้องประชุม Executive room ชั้น ๕ กระทรวงแรงงาน
 
หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังการประชุม ว่า กระทรวงแรงงานได้ตรวจสอบข้อร้องเรียนของแรงงานโดยเจ้าหน้าที่ตรวจแรงงานแล้ว ไม่พบว่าผู้ประกอบการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานกำหนด แต่การติดต่อสื่อสารระหว่างลูกจ้างกับฝ่ายจัดการ อาจทำให้เกิดความเข้าใจไม่ตรงกันเพราะใช้ภาษาต่างกัน เช่นกรณี การต่ออายุใบอนุญาตแรงงานต่างด้าว ทางผู้ประกอบการจะช่วยอำนวยความสะดวกจึงต้องนำบัตรประจำตัวหรือหนังสือเดินทางของลูกจ้างไปติดต่อกับทางราชการหลายวัน ซึ่งอาจทำให้ลูกจ้างเข้าใจว่าถูกนายจ้างยึดเอกสารไว้ หรือในกรณีการหักเงินสมทบ 5 % ส่งกองทุนประกันสังคม การใช้สิทธิจะเกิดขึ้นได้เมื่อจ่ายเงินครบ 3 เดือน แต่อย่างไรก็ตาม นายจ้างมีการดูแลการเจ็บป่วยของลูกจ้างอย่างใกล้ชิด แม้จะยังไม่มีสิทธิทางประกันสังคม
 
ทั้งนี้ ผู้แทนผู้ประกอบการ ต่างกล่าวยืนยันว่าในกระบวนการส่งออกสินค้านั้นถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้นจากคู่ค้า ทำให้ต้องปฏิบัติตามแนวมาตรฐานจรรยาบรรณ(Code of conduct) ที่ลูกค้ากำหนด และที่สำคัญขณะนี้ประเทศไทยมีปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างรุนแรง ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องดูแลและเอาใจใส่ต่อลูกจ้างต่างด้าวเป็นอย่างดี ไม่มีความแตกต่างจากลูกจ้างไทย การนำเข้าแรงงานต่างด้าวผ่านระบบ MoU และเป็นลูกจ้างตรงของผู้ประกอบการ ไม่มีการจ้างเหมาช่วงอยู่ในสายการผลิต การดูแลสิทธิแรงงานจึงอยู่บนพื้นฐานมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนดไว้
 
สำหรับการหารือในครั้งนี้ กระทรวงแรงงานได้มีข้อสั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และกรมการจัดหางาน ให้จัดแผนตรวจอย่างเข้มข้นในอุตสาหกรรมส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่ รวมทั้งจะได้มีการเชิญชวนให้ผู้ประกอบการเข้าร่วมใช้แนวปฏิบัติด้านแรงงานที่ดี (Good Labour Practices : GLP) ในการจ้างงาน ซึ่งจะเป็นความพร้อมใจของสถานประกอบการ เพื่อรับรองตนเองว่าไม่ใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ บนพื้นฐานของกฎหมายแรงงานไทย มาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ พร้อมแนะการบริหารจัดการด้านการสื่อสาร ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ไขปัญหาความไม่เข้าใจเนื่องจากความแตกต่างด้านภาษาและวัฒนธรรมของแรงงานต่างด้าว
 
(กระทรวงแรงงาน, 27/11/2558)
 
ผู้ประกันตนร้องเรียน 'นายจ้าง' ไม่นำส่งเงินสมทบมากที่สุด
 
พ.ต.ต.หญิงรมยง สุรกิจบรรหาร รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) บอกว่า แต่ละปีมีผู้ประกันตนร้องเรียน 600 เรื่องโดยเป็นกรณีนายจ้างไม่นำส่งเงินสมทบมากที่สุด รองลงมาการให้บริการของเจ้าหน้าที่ และระบบบริการทางการแพทย์ โดยได้รวบรวมข้อเรียกร้องในช่องทางต่างๆ ทุกเดือนและทำเป็นสถิติไว้ 
 
ส่วนเรื่องที่ผู้ประกันตนยื่นต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ในแต่ละปีมี 3,000 เรื่อง บางส่วนเป็นเรื่องที่ค้างการพิจารณามาจากปีก่อนๆ อันดับแรกคือ มาตรา 39 เช่น กรณีสิ้นสภาพเพราะไม่นำส่งเงินสมทบติดต่อกัน 3 เดือน โต้แย้งสิทธิการรักษา การเจ็บป่วย ซึ่งคณะกรรมการฯตัดสินได้ปีละ 2,000 เรื่อง
 
 
สำนักงานประกันสังคม ตั้งอนุกรรมการบอร์ดเน้นเท่าที่จำเป็น ประหยัดงบกองทุน
 
นายโกวิท สัจจวิเศษ รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการประกันสังคม(บอร์ดสปส.) ล่าสุดว่าได้แจ้งถึงกรอบแนวทางการตั้งอนุกรรมการชุดต่างๆ ของบอร์ดสปส. ว่า จะตั้งเท่าที่มีความจำเป็นและแต่ละชุดจะมีไม่เกินชุดละ 15 คน โดยจะเน้นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ เพื่อประหยัดงบประมาณของ สปส. และบอร์ด สปส.ทุกคนจะไม่เข้าไปเป็นอนุกรรมการ เพื่อไม่ให้ถูกมองว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน ทั้งนี้อนุกรรมการบางชุดอาจมาจากบุคคลภายนอกที่เป็นมืออาชีพไม่มีฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง เช่น อนุกรรมการด้านการลงทุน อนุกรรมการบริหารความเสี่ยง เป็นต้น โดยหลังจาก สปส.พิจารณาเลือกรายชื่ออนุกรรมการแต่ละชุดเรียบร้อยแล้วจะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของบอร์ด สปส. จากนั้นเสนอต่อไปให้ประธานบอร์ด สปส.ลงนามแต่งตั้ง อีกทั้งมองว่าในอนาคตจะต้องมีการตั้งอนุกรรมการสิทธิประโยชน์ และอนุกรรมการดูแลเสถียรภาพกองทุนเพิ่ม
 
 
กระทรวงแรงงาน งัดกฎหมายคุมเข้ม "นายแบบ-นางแบบ"ต่างชาติ ลั่นต้องมีใบอนุญาตทำงาน ขู่ฝ่าฝืนโทษหนัก ทั้งนายจ้าง ลูกจ้าง
 
เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมถ่ายแบบและผู้ประกอบการไทย แถลงข่าวโครงการ " หยุด! นางแบบ นายแบบ และเด็กต่างชาติที่ผิดกฎหมายในประเทศไทย ต่อต้านการค้ามนุษย์" โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ประกอบด้วยสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง บริษัทกลุ่มเซ็นทรัล จำกัด และนางแบบ ดาราชื่อดัง  น.ส.เขมนิจ จามิกรณ์ หรือแพนเค้ก เข้าร่วมงาน ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเติบโตในอุตสาหกรรมถ่ายแบบ มีนางแบบ นายแบบจากหลายประเทศ เช่น ประเทศในยุโรป รัสเซีย ยูเครน บราซิล  เป็นต้น เข้ามาทำงานในประเทศไทย โดยใช้วีซ่าท่องเที่ยว และไม่มีใบอนุญาตทำงาน มีรายได้สูง แต่หลีกเลี่ยงการชำระภาษี นอกจากนี้บางรายมีอายุต่ำกว่า 18 ปี ซึ่งอาจเชื่อมโยงกับการใช้แรงงานเด็ก เข้าข่ายการค้ามนุษย์ได้ ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยหลายเรื่อง คือ ต้องสูญเสียรายได้ด้านการจัดเก็บภาษี ชาวต่างชาติทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน มีการใช้แรงงานเด็ก ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยในอุตสาหกรรมถ่ายแบบโลก นอกจากนี้ยังแย่งอาชีพนางแบบ นายแบบคนไทยอีกด้วย ดังนั้น จึงต้องเร่งบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ และบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด จริงจัง พร้อมดำเนินการกับผู้กระทำผิดอย่างเด็ดขาดต่อไป
 
ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวอีกว่า กรมการจัดหางาน ในฐานะเป็นหน่วยงานพิจารณาการทำงานของคนต่างด้าว ไม่ได้นิ่งนอนใจในปัญหาดังกล่าว และขอย้ำเตือนว่า นางแบบ นายแบบ คนต่างชาติที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย หรือประสงค์จะทำงานในประเทศไทยทุกคน ต้องขอใบอนุญาตทำงานจากกรมการจัดหางาน อีกทั้งต้องมีวีซ่าประเภทคนอยู่ชั่วคราว ไม่ใช่วีซ่านักท่องเที่ยว หรือผู้เดินทางผ่าน โดยคนต่างด้าวที่ทำงานโดยไม่ได้รับใบอนุญาตทำงานนั้น หากถูกจับได้ จะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000-1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ในกรณีที่คนต่างด้าวได้รับใบอนุญาตทำงาน แต่ไม่ทำงานตามเงื่อนไขที่ได้ระบุไว้ในใบอนุญาตจะมีโทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท ส่วนนายจ้างที่รับคนต่างด้าวไม่มีใบอนุญาตทำงาน จะต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 1 หมื่น -1แสนบาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน นอกจากนี้ยังมีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ในกรณีที่ใช้แรงงานเด็ก พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 และฝ่าฝืนระเบียบการชำระภาษี ซึ่งมีโทษถูกปรับ และจำคุก หรือทั้งปรับ ทั้งจำ นอกจากนั้นอาชีพอื่น ๆ ที่กระทรวงแรงงานให้ความสำคัญ และต้องตรวจตราอย่างเข้มงวด คือ ประมง และไกด์นำเที่ยว ซึ่งต้องเร่งแก้ปัญหาต่อไป ด้าน พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ในฐานะประธานที่ปรึกษาสมาคมอุตสาหกรรมถ่ายแบบและผู้ประกอบการไทย กล่าวว่า เป็นนโยบายของรัฐบาลในการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ การถ่ายแบบเป็นการหาประโยชน์จากมนุษย์ โดยเฉพาะผู้หญิงและเด็ก เป็นการนำคนเหล่านี้มาใช้แรงงาน ถ้ามาโดยถูกกฎหมายทุกอย่าง และมีการขออนุญาตทำงานก็ไม่มีปัญหา แต่จะคาบเกี่ยวการค้ามนุษย์ในลักษณะหลอกลวงหรือเอารัดเอาเปรียบ นอกจากนั้นยังอาจมีการค้าประเวณีแฝง ซึ่งเป็นการค้ามนุษย์อีกรูปแบบหนึ่ง เป็นนโยบายของรัฐบาลในการป้องกันไม่ให้มีเหตุเหล่านี้เกิดขึ้น โดยต้องมีการประสานความร่วมมือกับทั้งภายในและภายนอกประเทศ
 
 
สำนักงานสถิติแห่งชาติ เผยสำรวจเดือน ต.ค ว่างงานเพิ่มขึ้น 3.9 หมื่นคน
 
สำนักงานสถิติแห่งชาติ ทำการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรเป็นประจำทุกเดือน โดยสอบถามประชากรที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ด้วยวิธีการสุ่มตัวอย่าง ทุกจังหวัดทั่วประเทศมีครัวเรือนตกเป็นตัวอย่าง 27,960 ครัวเรือนต่อเดือน คิดเป็นจำนวนประชากรที่ตกเป็นตัวอย่างทั้งสิ้นประมาณ 97,860 คน
 
สำหรับในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2558 ในภาพรวมสถานการณ์แรงงานมีจำนวน ผู้ทำงานเพิ่มขึ้น 1.7 แสนคน (จาก 37.92 ล้านคน เป็น 38.09 ล้านคน) เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2557 ส่วนจำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 3.9 หมื่นคน (จาก 2.89 แสนคน เป็น 3.28 แสนคน)
 
สาระสำคัญการสำรวจสรุปได้ ดังนี้
 
1.ผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน มีจำนวนทั้งสิ้น 38.47 ล้านคน ประกอบด้วย ผู้มีงานทำ 38.09 ล้านคน ผู้ว่างงาน 3.28 แสนคน และผู้ที่รอฤดูกาล 5.32 หมื่นคน ทั้งนี้ ผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน มีจำนวนเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2557 จำนวน 1.6 แสนคน (จาก 38.31 ล้านคน เป็น 38.47 ล้านคน)
 
2.ผู้มีงานทำ มีจำนวนทั้งสิ้น 38.09 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2557 จำนวน 1.7 แสนคน (จาก 37.92 ล้านคน เป็น 38.09 ล้านคน) หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 ซึ่งมีผู้ทำงานเพิ่มขึ้นและลดลง ในสาขาต่าง ๆ ดังนี้
 
2.1 ผู้ทำงานเพิ่มขึ้น ได้แก่ สาขาการผลิต 1.4 แสนคน (จาก 6.63 ล้านคน เป็น 6.77 ล้านคน) สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร 1.1 แสนคน (จาก 2.56 ล้านคน เป็น 2.67 ล้านคน)
 
สาขากิจกรรมด้านสุขภาพและงานสังคมสงเคราะห์ 8.0 หมื่นคน (จาก 0.61 ล้านคน เป็น 0.69 ล้านคน) สาขาการศึกษา 5.0 หมื่นคน  (จาก 1.13 ล้านคน เป็น 1.18 ล้านคน) สาขากิจกรรมทางการเงินและการประกันภัย 4.0 หมื่นคน (จาก 0.50 ล้านคน เป็น 0.54 ล้านคน) สาขากิจกรรมอสังหาริมทรัพย์ 2.0 หมื่นคน (จาก 0.20 ล้านคน เป็น 0.22 ล้านคน) และที่เหลือกระจายอยู่ในสาขาอื่น ๆ      
2.2 ผู้ทำงานลดลง ได้แก่ สาขาเกษตรกรรม 1.9 แสนคน (จาก 12.28 ล้านคน เป็น 12.09 ล้านคน) สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า 1.0 แสนคน (จาก 1.32 ล้านคน เป็น 1.22 ล้านคน) สาขาการก่อสร้าง 9.0 หมื่นคน (จาก 2.15 ล้านคน เป็น 2.06 ล้านคน) สาขาการขายส่งการขายปลีก การซ่อมยานยนต์ และรถจักรยานยนต์ 5.0 หมื่นคน (จาก 6.23 ล้านคน เป็น 6.18 ล้านคน) สาขากิจกรรมการบริการด้านอื่น ๆ เช่น กิจกรรมบริการเพื่อสร้างเสริมสุขภาพร่างกาย การดูแลสัตว์เลี้ยง การบริการซักรีดและซักแห้ง เป็นต้น 3.0 หมื่นคน (จาก 0.74 ล้านคน เป็น 0.71 ล้านคน) สาขาการบริหารราชการ การป้องกันประเทศ และการประกันสังคมภาคบังคับ 2.0 หมื่นคน (จาก 1.65 ล้านคน เป็น 1.63 ล้านคน)
 
3. ผู้ว่างงานทั่วประเทศ  มีจำนวน 3.28 แสนคน  คิดเป็นอัตราการว่างงาน ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวม (เพิ่มขึ้น 3.9 หมื่นคน เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2557) ประกอบด้วย ผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนจำนวน 1.47 แสนคน  อีกส่วนหนึ่งเป็นผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อนจำนวน 1.81 แสนคน โดยเป็นผู้ว่างงานที่มาจากภาคการผลิต 9.8 หมื่นคน ภาคการบริการและการค้า 7.2 หมื่นคน และภาคเกษตรกรรม 1.1 หมื่นคน
 
3.2 ผู้ว่างงานเป็นผู้มีการศึกษาอยู่ในระดับอุดมศึกษา 1.42 แสนคน ระดับประถมศึกษา 5.6 หมื่นคน ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 5.3 หมื่นคน ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 5.1 หมื่นคน และผู้ที่ไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประถมศึกษา 2.6 หมื่นคน
 
3.3 ผู้ว่างงานส่วนใหญ่อยู่ในภาคกลาง 9.1 หมื่นคน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7.0 หมื่นคน กรุงเทพมหานคร 6.2 หมื่นคน ภาคใต้ 5.5 หมื่นคน และภาคเหนือ 5.0 หมื่นคน หากคิดเป็นอัตรา การว่างงาน กรุงเทพมหานครมีอัตราการว่างงานสูงสุดร้อยละ 1.2 รองลงมาเป็นภาคใต้ร้อยละ 1.1 ภาคกลาง และภาคเหนือมีอัตราการว่างงานเท่ากันคือร้อยละ 0.8 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 0.7 
 
 
ผลสำรวจอัตราโบนัส ประจำปี 2558 โดย jobsDB
 
1 ธ.ค. 2558 นางนพวรรณ จุลกนิษฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ตามที่บริษัทได้สำรวจความคิดเห็นเรื่องโบนัสจากการทำงาน จากผู้หางานจำนวน 5,819 ราย และผู้ประกอบการจำนวน 271 รายทั่วประเทศ ช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2558 เพื่อศึกษาว่าโบนัสมีความสำคัญกับพนักงานและผู้ประกอบการในทิศทางใด พบว่า โบนัสมีผลต่อการตัดสินใจการทำงานของพนักงาน โดย 71% ของพนักงานที่ได้รับโบนัสน้อยลงหรือมีข้อเสนอที่อื่นที่ดีกว่าก็พร้อมจะเปลี่ยนงาน ส่วน 50% ยังอยู่กับบริษัท เพราะข้อตกลงในการจ่ายโบนัส แต่ก็พร้อมจะเปลี่ยนงาน หากบริษัทอื่นให้ข้อเสนอที่ดีกว่า มีเพียง 4% เท่านั้น ที่พนักงานยังคงอยู่กับบริษัทไม่ว่าจะมีโบนัสหรือไม่ เพราะมีปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้พนักงานพอใจอยู่ต่อ
 
นางนพวรรณ กล่าวว่า สำหรับโบนัสที่พนักงานได้รับแต่ละปี จากผลสำรวจพบว่า 34% จะเก็บไว้เพื่อเป็นเงินออม 25% นำไปชำระหนี้และบัตรเครดิต และในสัดส่วนเดียวกันนำไปใช้เพื่อลงทุน ผ่านรูปแบบการซื้อประกันชีวิต ลงทุนในหุ้น อสังหาริมทรัพย์ พันธบัตร เป็นต้น มีเพียง 12% ที่นำไปซื้อของขวัญให้ตนเองและบุคคลสำคัญของตน สำหรับบริษัทที่การันตีจ่ายโบนัสสูงสุด 5 อันดับแรกพบว่า อันดับ 1 จะเป็นธุรกิจยานยนต์ รองลงมาเป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ปิโตรเคมี เครื่องจักรในอุตสาหกรรมและอุปกรณ์เครื่องกล สุดท้ายเป็นธุรกิจสารเคมี พลาสติก กระดาษ ปิโตรเคมี ทั้งนี้ ยอมรับว่า มีบางบริษัท แม้จ่ายโบนัสปีละจำนวนหลายๆ เดือน แต่เงินเดือนประจำก็อาจต่ำกว่าหลายๆ บริษัทที่ให้โบนัส 1-2 เดือนต่อปี เพราะฝ่ายทรัพยากรบุคคลของบริษัทเหล่านั้น ต้องการสร้างกลยุทธ์ให้พนักงานอยู่ครบปีก่อน หากจะลาออกหรือย้ายไปทำงานที่ใหม่
 
(จ๊อบส์ ดีบี, 1/12/2558)
 
บีโอไอ หนุนผลิตหุ่นยนต์ช่วยเหลือทางการแพทย์
 
นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เผยว่า การส่งเสริมการลงทุนภายใต้ยุทธศาสตร์ใหม่สามารถดึงดูดให้เกิดการลงทุนของกลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ล่าสุด หนุนการลงทุนในกิจการเครื่องมือแพทย์ ซึ่งเป็นผลงานวิจัยที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐและมหาวิทยาลัยก่อนนำไปพัฒนาต่อยอดในเชิงพาณิชย์ ได้แก่ การผลิตหุ่นยนต์ฟื้นฟูการเคลื่อนไหว สำหรับแขน ขา ของผู้ป่วยอัมพาต โดยหุ่นยนต์จะมีรูปร่างคล้ายโต๊ะที่สามารถปรับเอนได้ มีที่รองแขนสำหรับให้ผู้ป่วยวางท่อนแขนเพื่อฝึกการเคลื่อนไหว เจาะลูกค้าโรงพยาบาลของรัฐและเอกชนรวมทั้งโรงเรียนแพทย์ สถาบันต่างๆ ภายในประเทศ
 
นอกจากนี้ยังสนับสนุนการผลิตอุปกรณ์ใช้งานร่วมกับปากกาอินซูลินในผู้ป่วยโรคเบาหวาน เพื่อช่วยบันทึกกรายละเอียดการฉีดอินซูลินในแต่ละวันของผู้ป่วย ขณะเดียวกันยังสามารถบ่งบอกว่าอินซูลินที่ผู้ป่วยได้รับเป็นชนิดใด โดยข้อมูลทั้งหมดจะถูกส่งต่อไปยังแอปพลิเคชัน (Application) บนมือถือของผู้ป่วยป้องกันการบันทึกผิดพลาด และไม่ให้ผู้ป่วยฉีดอินซูลินเกินขนาด เป็นต้น เทคโนโลยีดังกล่าวมาจกาการวิจัยและพัฒนาของบริษัทผู้ผลิตยารายใหญ่ของโลก จากประเทศเยอรมนี
 
“ตั้งแต่เดือนมกราคม-ตุลาคม 2558 บีโอไอ อนุมัติส่งเสริมการลงทุนในกิจการกลุ่มวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ไปแล้วรวมมูลค่าลงทุนกว่า 23,000 ล้านบาท แม้กิจการส่วนใหญ่เป็นการลงทุนที่มีมูลค่าไม่สูงมาก แต่เป็นโครงการใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ ๆ อย่างแท้จริง” นางหิรัญญา กล่าว
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net