Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2558 แฟนเพจเฟซบุ๊กของ “สำนักข่าวพิทักษ์พระพุทธศาสนาชาวพุทธอาเซียน” ได้เผยแพร่ข้อความแปลภาษาไทยของไวรัลอีเมลเรื่อง “Japan and Islam: viral email” ซึ่งเป็นอีเมลเก่าเผยแพร่ในโลกออนไลน์สืบย้อนไปได้อย่างน้อยเมื่อราว 2 ปีก่อน (ต้นปี 2013)  ผู้เขียนไม่ทราบเจตนาของการเผยแพร่ไวรัลอีเมลดังกล่าว แต่เห็นว่าเนื้อความในนั้นเป็นการสร้างความเข้าใจผิด และบิดเบือนความจริงเกี่ยวกับท่าทีของรัฐญี่ปุ่นที่มีต่อสังคมมุสลิมเป็นอันมาก จึงขอนำเสนอข้อมูลเพื่อสร้างความเข้าใจเสียใหม่ดังนี้

1.ญี่ปุ่นเป็นประเทศเดียวในโลกที่ไม่ให้สัญชาติตนแก่ชาวมุสลิม

2.ไม่ให้ การพำนักอย่างถาวร แก่มุสลิม

3.ในญี่ปุ่นห้ามการเผยแผ่ อิสลาม อย่างยิ่ง strong ban

ข้อเท็จจริง: ตามรัฐธรรมนูญของประเทศญี่ปุ่น ในมาตราที่ 20 ได้ระบุไว้ว่า 

มาตรา 20 [เสรีภาพในศาสนาและความเป็นฆราวาสของรัฐ] (ภาษาญี่ปุ่น , แปลภาษาไทย)
          
(1) เสรีภาพในศาสนาย่อมได้รับความคุ้มครองสำหรับทุกคน
          
(2)ห้ามมิให้รัฐมอบสิทธิพิเศษหรือใช้อำนาจทางการเมืองเพื่อประโยชน์แก่
   องค์กรศาสนาใด
          
(3) ห้ามมิให้บังคับบุคคลใดประกอบพิธีกรรมทางศาสนาหรือลัทธิความเชื่อ
          
(4)ให้รัฐและหน่วยงานของรัฐงดเว้นการกระทำการที่เป็นการสอนศาสนา
  หรือกิจกรรมอื่นใดที่เกี่ยวกับการศาสนา

ตามบทบัญญัติดังกล่าว เป็นที่ชัดเจนว่าญี่ปุ่นเป็นรัฐฆราวาส (secular state) ดังนั้น หากรัฐจะใช้การนับถือศาสนาของบุคคลมาเป็นข้อพิจารณาในการที่จะให้/ไม่ให้สัญชาติ, หรือให้/ไม่ให้สิทธิการพำนักถาวร จึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญในตัวของมันเอง รวมไปถึงการเผยแผ่ศาสนาใดๆ ก็ตาม ที่เข้าข่ายบังคับบุคคลให้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาหรือลัทธิความเชื่อ จึงเป็นการกระทำที่ “strong ban” เนื่องจากขัดต่อกฎหมายตามรัฐธรรมนูญดังที่กล่าวแล้ว


4.ไม่สอน ภาษาอิสลาม และอาราบิค ในมหาวิทยาลัย Japan

ข้อเท็จจริง: ไม่เพียงมหาวิทยาลัยมีชื่ออย่างน้อย 4 แห่ง (Meiji University, Tokyo Foreign Study, University of Japan, Osaka University) จะเปิดสอนภาษาอาหรับและมีการวิจัยเกี่ยวกับสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ของประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศอิสลามอย่างกว้างขวางเท่านั้น สถานีโทรทัศน์และวิทยุ NHK ของญี่ปุ่นยังมีรายการสอนภาษาอาหรับออกอากาศทางทีวีและวิทยุอีกด้วย (สามารถซื้อหนังสือประกอบการเรียนดังกล่าวได้ตามร้านหนังสือทั่วไป) เกี่ยวกับประเด็นนี้ ผู้เขียนเคยสอบถามอาจารย์ที่ปรึกษาชาวญี่ปุ่นของผู้เขียนว่าเหตุใดจึงไม่มีรายการสอนภาษาไทยทาง NHK บ้าง ทั้งที่ไทยกับญี่ปุ่นดูเหมือนจะใกล้ชิดกันมากกว่าประเทศในแถบตะวันออกกลาง อาจารย์ของผู้เขียนได้แสดงความเห็นพร้อมเสียงหัวเราะว่า “เพราะประเทศไทยไม่มีแหล่งน้ำมันน่ะสิ”


5.ไม่อนุญาตให้นำคัมภีร์อัลกุรอานเข้ามาในประเทศ

ข้อเท็จจริง: ผู้อาศัยอยู่ในประเทศญี่ปุ่นสามารถหาซื้อคัมภีร์อัลกุรอานฉบับภาษาอาหรับพร้อมคำแปลภาษาอังกฤษได้อย่างง่ายดาย จากเว็บไซต์ Amazon Japan นอกจากนี้ ยังมีองค์กรที่ชื่อว่า Islamic Center of Japan อยู่ในประเทศญี่ปุ่น องค์กรดังกล่าว มีโรงเรียนที่สอนภาษาอาหรับและวัฒนธรรมอิสลามโดยเฉพาะ  มี Quran Class ที่เปิดสอนเกี่ยวกับคัมภีร์อัลกุรอานสำหรับผู้สนใจโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ


6.อนุญาตให้ชาวมุสลิมที่ปฏิบัติตามกฎหมายของญี่ปุ่นอาศัยอยู่ได้ชั่วคราวเพียง 2 แสนคนเท่านั้นซึ่งควรต้องพูดภาษาญี่ปุ่นและทำพิธีทางศาสนาภายในบ้านของตนเองเท่านั้น

ข้อเท็จจริง: ประการแรก ตัวเลข 2 แสนคนเป็นตัวเลขที่ไม่น่าจะเป็นจริง จากการสำรวจพบว่าประชากรมุสลิมในญี่ปุ่นซึ่งโดยมากเป็นนักศึกษาและแรงงานต่างชาติระบุว่ามีไม่เกินแสนคนเท่านั้น [อ้างอิง]

อย่างไรก็ดีการสำรวจว่าผู้ใดนับถือศาสนาอะไรในประเทศญี่ปุ่นนั้นเป็นไปได้ยาก เพราะเอกสารที่ออกโดยรัฐไม่ว่าจะเป็นพาสปอร์ตหรือทะเบียนราษฎร์จะไม่มีการให้ระบุศาสนา

ประการต่อมา ตัวเลขล่าสุดในปี 2009 ระบุว่ามีมัสยิดตั้งอยู่ทั่วประเทศญี่ปุ่นอย่างน้อย 55 แห่ง [สามารถตรวจสอบรายชื่อมัสยิดได้ที่นี่] ดังนั้น ชาวมุสลิมในญี่ปุ่นจึงไม่มีความจำเป็นต้องทำพิธีทางศาสนาอยู่แต่ในบ้านของตนเอง  อีกทั้งการละหมาดไม่มีความจำเป็นต้องทำเป็นภาษาญี่ปุ่นแต่อย่างใด (ดูคลิปการละหมาดในมัสยิดที่โตเกียวได้ที่นี่)


7.ญี่ปุ่นเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีสถานทูตในประเทศอิสลามน้อยมาก..

ข้อเท็จจริง: ผู้เขียนไม่ทราบคำจำกัดความของคำว่าว่า “น้อยมาก” นั้นหมายถึงกี่แห่ง แต่จากข้อมูลในวิกิพีเดียซึ่งอ้างอิงข้อมูลมาจากกระทรวงการต่างประเทศของญี่ปุ่น ได้แสดงจำนวนของสถานทูต (embassy) เฉพาะที่อยู่ในกรุงโตเกียวว่ามีจำนวนถึง 172 แห่ง  [อ้างอิง] ในขณะที่สถานเอกอัครราชทูตของต่างประเทศในกรุงเทพฯ มีจำนวนทั้งสิ้น 75 แห่ง [อ้างอิง] 

ผู้เขียนตรวจสอบอย่างคร่าวๆ พบว่าในบรรดาสถานทูต 172 ในกรุงโตเกียวนั้น เป็นสถานทูตของประเทศในแถบตะวันออกกลางซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิมถึง 15 แห่ง [อ้างอิง]

ในขณะที่ในกรุงเทพฯ  กลับมีสถานทูตของประเทศอิสลามจากตะวันออกกลางน้อยกว่าในกรุงโตเกียวเช่น ไม่มีสถานเอกอัครราชทูตหรือแม้แต่คณะผู้แทนทูตจากประเทศเลบานอน และ อิรัก ในขณะที่ญี่ปุ่นมี เป็นต้น  [อ้างอิง]


8.ชาวมุสลิมในญี่ปุ่นเป็นได้เพียงลูกจ้างของบริษัทต่างชาติ

ข้อเท็จจริง:  เรื่องนี้ผู้เขียนสามารถยืนยันได้ว่าไม่เป็นความจริง เนื่องจากอาจารย์ที่ปรึกษาของผู้เขียนเอง ซึ่งมีอาชีพเป็นศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัยของรัฐนั้น เป็นชาวญี่ปุ่นที่ได้เข้าอิสลามเนื่องจากสมรสกับภรรยาชาวอินโดนีเซียมาหลายสิบปีแล้ว ไม่ปรากฏว่าท่านต้องถูกไล่ออกไปเป็นลูกจ้างในบริษัทต่างชาติเนื่องจากการเข้าอิสลามแต่อย่างใด

นอกจากนี้ ผู้เขียนยังได้เคยพบศาสตราจารย์และนักวิจัยหลายท่านที่มาจากประเทศอิสลามและทำงานในองค์กรของรัฐในญี่ปุ่น


9.ไม่อนุญาตให้วีซ่าแก่มุสลิมที่เป็นแพทย์,วิศวกร หรือผู้จัดการ ที่บริษัทต่างชาติส่งมา

ข้อเท็จจริง: เรื่องที่รัฐใช้การนับถือศาสนาของบุคคลมาเป็นข้อพิจารณาในการที่จะให้หรือไม่ให้สิทธิในการพำนักอาศัยนั้น ขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตราที่ 20 แห่งประเทศญี่ปุ่นดังที่ได้กล่าวไปแล้ว เรื่องนี้จึงไม่มีทางเป็นไปได้


10.บริษัทส่วนใหญ่ในญี่ปุ่นมีกฎข้อบังคับไม่รับชาวมุสลิมเข้าทำงาน...

ข้อเท็จจริง: เนื่องจากเรื่องนี้เป็นนโยบาย HR ของแต่ละบริษัท ซึ่งผู้เขียนคงไม่มีความสามารถไปเช็คนโยบายการรับบุคคลเข้าทำงานได้ทุกบริษัทในประเทศญี่ปุ่น แต่ผู้เขียนเข้าใจว่าโดยรัฐธรรมนูญมาตรา 20 วรรค 1 ที่ระบุไว้ว่า “เสรีภาพในศาสนาย่อมได้รับความคุ้มครองสำหรับทุกคน” ดังนั้น หากบริษัทใดมีกฎข้อบังคับเช่นนี้ย่อมถูกฟ้องร้องดำเนินคดีอย่างแน่นอน จึงเป็นไม่ได้ที่บริษัท “ส่วนใหญ่” ในญี่ปุ่นจะมีกฎข้อบังคับดังกล่าว


11.รัฐบาลญี่ปุ่นมีความเห็นว่าชาวมุสลิมเป็นพวกอนุรักษ์นิยมแม้โลกจะก้าวเข้าสู่สู่ยุคโลกาภิวัตน์แล้วแต่พวกเขาก็ยังยืนยันว่าจะไม่เปลี่ยนแปลงกฎหมายศาสนาอิสลามให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป

ข้อเท็จจริง: ขอให้ดูบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญมาตรา 20 อีกครั้ง  (หากรัฐบาลญี่ปุ่นมีท่าทีเช่นนั้นจะผิดกฎหมายของประเทศญี่ปุ่นทันที)

12.ชาวมุสลิมไม่สามารถเช่าบ้านในญี่ปุ่นได้

ข้อเท็จจริง: ขณะที่ผู้เขียนศึกษาอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น ผู้เขียนมีเพื่อนบ้านเป็นนักศึกษาต่างชาติมุสลิมที่มาจากประเทศมาเลเซีย เธอคลุมฮิญาบ และยิ้มทักทายผู้เขียนเสมอ


13.ถ้าชาวญี่ปุ่นรู้ว่ามีเพื่อนบ้านเป็นชาวมุสลิมแค่คนหนึ่งคนญี่ปุ่นในย่านนั้นจะตื่นตัวกันเป็นอย่างมาก

ข้อเท็จจริง: จากการที่ผู้เขียนเคยไปพักอยู่ที่บ้านของอาจารย์ที่ปรึกษาราว 1 เดือน ไม่ปรากฏว่าอาจารย์ของผู้เขียนและภรรยาจะต้องพบกับอาการ “ตื่นตัว” ของเพื่อนบ้านแต่อย่างใด
ตรงกันข้าม ภรรยาชาวอินโดนีเซียของอาจารย์ เป็นสมาชิกของชมรมปลูกดอกไม้และวาดภาพของแม่บ้านประจำเมือง และมีการแลกเปลี่ยนผลผลิตทางการเกษตรหรืออาหารกับเพื่อนบ้านตามวิสัยที่แม่บ้านในประเทศญี่ปุ่นมักกระทำกัน


14.ไม่อนุญาตให้มีสถานศึกษาของชาวมุสลิมในประเทศญี่ปุ่น

ข้อเท็จจริง:  กรุณาดู YuAi International School ที่เป็นของ  Islamic Center of Japan โรงเรียนดังกล่าวเป็นสถานศึกษาของชาวมุสลิมโดยถูกต้องตามกฎหมาย มีการเปิดสอนคลาสภาษาอาหรับ คลาสการเขียนพู่กันอักษรอาหรับ คลาสภาษาอาหรับและคาราเต้สำหรับเด็ก และมีกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมอาหรับผสมผสานไปกับวัฒนธรรมญี่ปุ่น


15.ไม่มีการใช้กฏหมายชารีอะห์ของศาสนาอิสลามในญี่ปุ่น

ข้อเท็จจริง:  อีกครั้ง เนื่องจากรัฐธรรมนูญบัญญัติให้ญี่ปุ่นต้องเป็นรัฐฆราวาส จึงไม่มีการนำเอากฎของศาสนาใดมาบังคับใช้เป็นกฎหมายของรัฐ อย่างไรก็ดี บุคคลสามารถถือกฎหมายชารีอะห์เป็นหมุดหมายในการดำเนินชีวิตในประเทศญี่ปุ่นได้ เช่นเดียวกับที่สามารถแต่งกายเป็นพังค์ไปเดินตามถนน หรือจะเลือกที่จะเป็นซุปเปอร์ฮีโร่ไปบำเพ็ญสาธารณะประโยชน์ ฯลฯ ก็ย่อมทำได้ เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นประเทศเสรี การกระทำใดๆ ของบุคคลที่ไม่ขัดต่อกฎหมายบ้านเมืองย่อมเป็นสิทธิของบุคคลนั้นๆ โดยกฎหมาย


16.ถ้าหญิงชาวญี่ปุ่นไปแต่งงานกับคนมุสลิมจะเป็นคนที่สังคมรังเกียจและไม่ยอมรับไปตลอดชีวิต

ข้อเท็จจริง:  ขึ้นอยู่กับครอบครัวที่หญิงผู้นั้นเข้าไปอาศัยอยู่ อย่างไรก็ดี เราไม่ควรลืมว่าการที่ครอบครัวจะรังเกียจสะใภ้หรือลูกเขยต่างศาสนาเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ในทุกสังคม รวมทั้งสังคมพุทธอย่างไทยด้วย


17.ตามที่ศาตราจารย์คุมิโกะ ยากิ ผู้ศึกษาเรื่องมุสลิมอาหรับ มหาวิทยาลัยโตเกียวกล่าวว่า"ในญี่ปุ่นมีความคิดว่าศาสนาอิสลามเป็นศาสนาที่มีจิตใจที่คับแคบและเราควรอยู่ให้ห่างไกลไว้"

ข้อเท็จจริง:  ก่อนอื่น ศาสตราจารย์ยากิ คุมิโกะนั้นสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยโตเกียวภาษาต่างประเทศ มิใช่มหาวิทยาลัยโตเกียว และเธอได้ออกมาระบุในเว็บไซต์ส่วนตัวของเธอว่า การกล่าวอ้างดังกล่าวนั้นเป็นการอ้างนอกบริบท

“About the chain email concerning Islam in Japan

            My name is mentioned in the email and I am quoted as saying that there is a mind frame in Japan that Islam is
            a very narrow minded religion and one should stay away from it.   It is taken out of context.   What I said
            about Islam in Japan is on the website below.
            http://www.arabnews.com/node/252539
           All the information in the email is malicious falsehood.”

 

ไม่เพียงไม่กีดกันแต่ยังส่งเสริม


(ภาพจากเว็บไซต์ Business Nikkei BP)

ควรกล่าวไว้ด้วยว่า ขณะนี้องค์กรต่างๆ ในญี่ปุ่น รวมทั้ง ASEAN-Japan Centre ซึ่งเป็นองค์กรภาครัฐกำลังส่งเสริมให้มีการอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวที่มาจากประเทศอิสลาม ให้สามารถมาท่องเที่ยวในญี่ปุ่นได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น หลังจากที่ได้มีการยกเว้นวีซ่าให้แก่ประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีนักท่องเที่ยวจากประเทศอิสลามเช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฯลฯ เข้ามาท่องเที่ยวในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก มาตรการดังกล่าว เช่น การส่งเสริมให้มัสยิดที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นซึ่งตั้งอยู่ที่สถานทูตตุรกีในกรุงโตเกียวเป็นแหล่งท่องเที่ยว, การส่งเสริมให้มีร้านอาหารฮาลาลมากขึ้นในญี่ปุ่น การเพิ่มสถานที่ละหมาด ฯลฯ เป็นต้น [อ้างอิง]


กล่าวโดยสรุป ในประเทศญี่ปุ่น ไม่ได้มีความแตกแยกทางศาสนา (การก่อการร้ายโดยการปล่อยแก๊สซารินของลัทธิโอมชินริเคึยวในปี 1995 ไม่ใช่ความแตกแยกทางศาสนา แต่เป็นเรื่องอุดมการณ์)

ที่เป็นเช่นนี้ ไม่ใช่เพราะญี่ปุ่นชูศาสนาใดศาสนาหนึ่งขึ้นเป็นศาสนาประจำชาติ แต่เพราะญี่ปุ่นแยกศาสนากับรัฐชาติออกจากกัน แม้ผู้นับถือศาสนาคริสต์และมุสลิมจะถือเป็นคนกลุ่มน้อยในญี่ปุ่น แต่นั่นเป็นเพราะชาวญี่ปุ่นจำนวนมากนิยามตนเองว่าตนไม่ใช่ผู้นับถือศาสนา (Atheist) ดังนั้น ในประเทศญี่ปุ่นจึงไม่มีศาสนา มีแต่เพียงพิธีกรรมซึ่งรวมเอาพิธีกรรมแบบชินโต และ พุทธ หรือแม้แต่ศาสนาคริสต์เข้าไว้ด้วยกัน (ชาวญี่ปุ่นต่างเฉลิมฉลองเทศกาลคริสต์มาส และมีชาวญี่ปุ่นมากมายที่จัดพิธีแต่งงานแบบคริสต์โดยที่ไม่ได้เป็นคริสเตียน) ผู้คนต่างศาสนาในญี่ปุ่นจึงอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุขภายใต้อุดมการณ์ของระบอบเสรีประชาธิปไตย

ผู้เขียนขอขอบพระคุณอาจารย์ ชัชวาล ปุญปัน ที่ได้กรุณาสอบถามข้อมูลมา ทำให้ผู้เขียนได้ไปค้นข้อมูล และขอขอบพระคุณอาจารย์ที่กรุณาให้คำแนะนำอันเป็นประโยชน์ อันเป็นที่มาของบทความชิ้นนี้



แหล่งอ้างอิง:

http://1389blog.com/2013/04/29/japan-and-islam-an-excellent-example/

https://books.google.co.th/books?id=eD8cBAAAQBAJ&pg=PA309&lpg=PA309&dq=mr.+kumiko+yagi+about+muslim

http://yamatonokuni.blogspot.com

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net