Skip to main content
sharethis

จากกรณีเมื่อวันที่ 26 พ.ย. ที่ผ่านมา นายกลิน ที. เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย ได้แสดงความคิดเห็นต่อสถานการณ์ที่การดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพพุ่งสูงขึ้น ภายใต้ปกครองของคณะรัฐประหาร ณ เวทีเสวนาที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศในกรุงเทพฯ โดยนายกลิน ที. เดวีส์ ย้ำว่ารัฐบาลสหรัฐฯ มีความเคารพอย่างยิ่งและรู้สึกชื่นชมพระมหากษัตริย์ไทย แต่ก็กล่าวถึงสิทธิการแสดงความคิดเห็นว่า “เราเชื่อว่าไม่ควรมีใครควรถูกจำคุกต่อการแสดงมุมมองอย่างสันติ และเราสนับสนุนอย่างหนักแน่นต่อความสามารถของบุคคลหรือองค์กรอิสระใดๆ ในการค้นคว้าวิจัยและรายงานประเด็นสำคัญๆ โดยปราศจากความกลัวว่าจะถูกแก้แค้น” (อ่านรายละเอียด)

ล่าสุด (3 ธ.ค.58) ASTV ผู้จัดการออนไลน์, สยามรัฐ และกรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รายงานตรงกันว่า  ที่กองปราบปราม เมื่อเวลา 15.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสนธิยา สวัสดี ตัวแทนสมาพันธ์ตรวจสอบรัฐไทย (สปท.) เดินทางเข้าพบ พ.ต.อ.ณษ เศวตเลข รอง ผบก.ป. เพื่อยื่นหนังสือร้องทุกข์กล่าวโทษต่อนายกลิน ทาวน์เซนด์ เดวีส์ เอกอัคราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย กรณีออกมาแสดงความคิดเห็นในเชิงวิจารณ์ถึงบทลงโทษจำคุกแก่ผู้หมิ่นประมาทสถาบันฯ ตามมาตรา 112 ในงานเสวนาสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 25 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยนายสนธิยานำเอาบทความที่นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง โพสต์ลงเฟซบุ๊กส่วนตัววิพากษ์วิจารณ์การกระทำของเอกอัคราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทยมาให้พนักงานสอบสวนไว้ใช้เป็นหลักฐานประกอบคำพิจารณา

ทั้งนี้ หนังสือดังกล่าวที่นายสนธิยานำมามอบให้ระบุว่า ต้องการให้พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามถอดเทปถ้อยคำที่นายกลินได้ปราศรัยภายในงานเสวนาดังกล่าว และตรวจสอบพฤติการณ์ของผู้จัดงานดังกล่าวว่ามีจุดประสงค์แอบแฝงหรือไม่ หากพบว่าเข้าข่ายหมิ่นประมาทมาตรา 112 ก็ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีต่อไป

เบื้องต้น พ.ต.อ.ณษได้รับเรื่องดังกล่าวไว้ก่อนสั่งการให้พนักงานสอบสวน กก.1บก.ป.เร่งดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมกับนำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อผู้บังคับบัญชาพิจารณาสั่งการต่อไป

อภิสิทธิ์ เสียดายทูตสหรัฐฯยังติดกรอบความคิดตะวันตก หวังกลับไปทบทวนเข้าใจความละเอียดอ่อน

มติชนออนไลน์ รายงานด้วยว่า วันเดียวกัน (3 ธ.ค.58) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่นายกลิน ที. เดวีส์ ที่แสดงความกังวลเกี่ยวกับมาตรา 112 ว่า  ตนเสียดาย เพราะตอนที่นายกลิน เดวีส์ มารับตำแหน่งใหม่ๆ ดูเหมือนทุกอย่างจะราบรื่น ดีขึ้นจากสภาพความรู้สึกที่เคยมีปัญหาในบางส่วนกันมาก่อน ซึ่งคำตอบหรือการนำเสนอของเอกอัครราชทูตตนมองว่าไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะในกรอบความคิดของตะวันตกยังมีการพูดแบบนี้อยู่มาก เพียงแต่เสียดาย เพราะบุคคลที่มาดำรงตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูต น่าจะต้องทราบดีอยู่แล้วว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อน  โดยเฉพาะพูดในเชิงนามธรรม หรือการนำข้อเท็จจริงบางจุดยกขึ้นมาพูด จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เพราะเอกอัครราชทูตมีสถานะการทำงานในการกระชับหรือเชื่อมความสัมพันธ์ให้ดี ไม่ใช่ไปหยิบเอาประเด็นที่เป็นข้อขัดแย้งขึ้นมา

นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ตนหวังว่านายกลิน เดวีส์ จะไปทบทวนและไปศึกษาดูให้ดีว่าเรื่องนี้มีปัญหาอย่างไร อย่าสรุปแบบที่ออกมาพูด เพราะอาจจะสุ่มเสี่ยงต่อการที่จะตกเป็นเหยื่อในประเด็นทางการเมือง  อย่างไรก็ตาม มุมมองเรื่องกระบวนการยุติธรรมหรือกฎหมายนั้น ก็ต้องระมัดระวัง ต้องศึกษากันให้ดี แต่ถ้าหากเป็นห่วงเป็นใยกันจริงๆ ก็มาปรึกษาหารือกันภายในในฐานะทูตฯได้ ซึ่งในวันที่ 9 ธันวาคม นายกลิน เดวีส์ ก็จะเดินทางมาพบตนโดยจะมีการพูดคุยกันในเรื่องนี้ด้วย เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันให้ความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศเป็นไปด้วยดีอะไรที่เป็นประโยชน์ต้องร่วมกันผลักดัน ส่วนอะไรที่อาจเข้าใจไม่ตรงกันก็ต้องพยายามทำความเข้าใจโดยอยู่พื้นฐานของการเคารพซึ่งกันและกัน

พิภพ ชี้ รธน.ชั่วคราว คสช. เองก็รับรองสิทธิตามพันธกรณีระหว่างประเทศ สอดคล้องกับทูตสหรัฐฯพูด

พิภพ อุดมอิทธิพงศ์ นักแปล โพสต่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ‘Pipob Udomittipong’ ในลักษณะสาธารณะ ว่า กรณีที่ เดวีส์พูดว่าไม่ควรมีใครติดคุกเนื่องจากการแสดงความเห็นอย่างสงบ นั้นสอดคล้องกับปฏิญญาสากล กติกาสากลระหว่างประเทศ UDHR, ICCPR ซึ่งเรียกว่า “right to freedom of expression” การใช้เสรีภาพในการแสดงความเห็น มีที่ไหนบอกให้ติดคุก ไปอ่านรัฐธรรมนูญอเมริกาเลย มันเป็นสิทธิใน First Amendment เลย เขาด่าประธานาธิบดีเขาทุกวัน มีใครติดคุก พร้อมอธิบายว่ากรณีนาย Johnny Logan Spencer ที่มีการเผยแพร่อยู่ในโซเชียลเน็ตเวิร์กนั้นที่ติดคุกเพราะขู่ฆ่าโอบามา

พิภพ ยังกล่าวด้วยว่า รัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ คสช. ร่างขึ้นมาใช้ตอนนี้ ก็รับรอง “สิทธิ เสรีภาพ...ตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว” ส่วนที่เขาวิจารณ์ว่าโทษจำคุกของกฎหมายหมิ่นเบื้องสูงของเรา “มันยาวและรุนแรงแบบไม่เคยเป็นมาก่อน” “lengthy and unprecedented”

พิภพ กล่าวว่า สรุปแล้วที่ทูตสหรัฐฯ เขาพูด ถูกต้องตามหลักกติกาสากลและกฎหมายในประเทศตัวเอง แถมยังถูกต้องตามข้อเท็จจริงอีก

พัฒนาการการเพิ่มโทษของ ม.112

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า การเพิ่มโทษในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นี้ ถูกแก้ไขหลังเหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันที่ 6 ต.ค. 2519 จากนั้นมีการรัฐประหารและต่อมาได้ออกคำสั่งให้แก้ไขประมวลกฎหมายดังกล่าวเป็นเพื่อเพิ่มโทษและมีการกำหนดโทษขั้นต่ำดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ว่า “มาตรา 112 ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี”

โดยที่ก่อนหน้านั้นมีโทษที่ต่ำกว่าที่เป็นอยู่ ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีพระราชกำหนดลักษณะหมิ่นประมาทด้วยการพูดหรือเขียนถ้อยคำเท็จออกโฆษณาการ รศ. 118 มาตรา 4 ซึ่งระบุโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับเป็นเงินไม่เกิน 1,500 บาท หรือทั้งจำและปรับ ต่อมาได้มีการจัดทำประมวลกฎหมายอาญาขึ้น ชื่อ "กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127" มาตรา 98 ระบุโทษไม่เกิน 7 ปี (ไม่มีอัตราโทษขั้นต่ำ) และปรับไม่เกิน 5,000 บาทด้วย หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในปี 2500 ได้จัดทำประมวลกฎหมายขึ้นใหม่ ชื่อ "ประมวลกฎหมายอาญา" ในมาตรา 112 กำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี (ไม่มีโทษปรับ) และล่าสุดที่มีการแก้ภายหลังเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 จนกระทั่งมีการกำหนดโทษขั้นต่ำและเพิ่มโทษดังที่เป็นอยู่

ล่าสุดมีผู้ถูกดำเนินคดีจากการโพสต์ในเฟซบุ๊กและถูกตัดสินว่ามีเนื้อหาที่ผิดตามกฎหมายมาตรานี้ ถูกตัดสินจำคุก 60 ปี (6 กรรม, สารภาพลดโทษเหลือ 30 ปี อ่านรายละเอียด) และ คุก 56 ปี (7 กรรม, สารภาพลดโทษเหลือ 28 ปี อ่านรายละเอียด)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net