Skip to main content
sharethis

นักข่าวสิ่งแวดล้อมจากการ์เดี้ยนวิจารณ์ บิล เกตส์ ผู้ก่อตั้งไมโครซอฟท์ หลังจากที่เกตส์เสนอให้รัฐบาลหลายประเทศให้ทุนเขาพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน ทั้งที่ก่อนหน้านี้ก็มีงานวิจัยเปิดเผยว่าเทคโนโลยีในปัจจุบันที่มีการสนับสนุนและจัดการจากกลุ่มคนเดินดินทั่วไปก็สามารถสร้างพลังงานสะอาดได้ในราคาถูกอยู่แล้ว

มาร์ติน ลูแคกส์ (ซ้าย) และ บิล เกตส์ (ขวา) ที่มา: วิกิพีเดีย/twitter@Martin_Lukacs)

3 ธ.ค. 2558 - มาร์ติน ลูแคกส์ นักข่าวอิสระจากแคนาดาผู้เขียนเรื่องประเด็นสิ่งแวดล้อมวิพากษ์วิจารณ์ถึงกรณีที่เศรษฐีพันล้านอย่างบิล เกตส์ กล่าวในที่ประชุมเรื่องโลกร้อนที่กรุงปารีสว่าเขาจะนำเสนอนวัตกรรมแห่งอนาคตเพื่อแก้ไขปัญหาโลกร้อนทำให้รัฐบาลจากหลายชาติจาก 20 ประเทศรวมถึงสหรัฐฯ และอินเดีย ให้คำมั่นว่าจะเพิ่มงบประมาณด้านเทคโนโลยีลดโลกร้อนของพวกเขา

นอกจากนี้เกตส์ยังเสนอวิธีการแก้ปัญหาด้วยเทคโนโลยีโดยอ้างว่าการวิจัยของรัฐบาล "ยังไม่เพียงพอ" ซึ่งเรื่องนี้ลูแคกส์มองว่าเป็นการพยายามทำเงินของพวกเขาเอง ทั้งนี้เกตส์ยังอ้างว่าเครื่องมือในการลดโลกร้อนในปัจจุบันของประเทศต่างๆ ยังไม่ดีพอ เช่นการกล่าวหาว่าเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา "ไม่ประหยัด"

แต่ลูแคกส์ก็โต้แย้งว่างานวิจัยเมื่อไม่นานมานี้แสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงไปใช้พลังงานสะอาดโดยไม่ต้องอาศัยเทคโนโลยีที่ล้ำหน้ากว่านี้นั้นสามารถกระทำได้ร้อยละ 100 และเริ่มมีราคาต่ำลงเรื่อยๆ เช่นกรณีการใช้พลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ในเยอรมนีกับเดนมาร์กที่สามารถสร้างงานและทำให้ชุมชนสามารถควบคุมการใช้พลังงานได้

ในขณะที่เกตส์กำลังพายามเล่นบทเป็นเศรษฐีใจบุญผู้เป็นห่วงว่าพลังงานสะอาดในปัจจุบันจะมีราคาแพงและไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้คน แต่ลูแคกส์ก็เปิดเผยว่าทั้งในอินเดียและทวีปอเมริกาเหนือการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานสะอาดได้อย่างรวดเร็วนั้นเกิดขึ้นจากการขับเคลื่อนแนวร่วมของประชาชนผู้ได้รับผลประโยชน์ในวงกว้าง รวมถึงมีความจำเป็นต้องให้คนในชุมชนสามารถควบคุมพลังงานได้

ลูแคกส์มองว่าบิล เกตส์แค่กำลังกลัวว่าการเปลี่ยนผ่านที่เป็นการเสริมพลังทางการเมืองให้กับกลุ่มคนยากจนเช่นนี้จะแย่งชิงผลกำไรไปจากบรรษัทยักษ์ใหญ่ และเกตส์ต้องการแค่ใช้รัฐบาลประเทศต่างๆ วางรากฐานการสร้างผลกำไรจากวิธีการแก้โลกร้อนในแบบของตัวเขาเองแล้วก็เขี่ยให้พ้นทางไปเท่านั้น

ในทางตรงกันข้างลูแคกส์เสนอว่าฝ่ายรัฐบาลประเทศต่างๆ ควรใช้เงินภาษีที่มาจากคนร่ำรวยอย่างเกตส์มาใช้ดำเนินโครงการต่างๆ ไม่ว่าจะในด้านการสาธารณสุข การศึกษา พลังงาน หรือการขนส่งมวลชน แทนการให้เศรษฐีเหล่านี้ใช้วิธีการแบบสร้างภาพให้ตัวเองเหมือนเป็นผู้ใจบุญที่มากู้โลก

ลูแคกส์ยังได้วิพากษ์วิจารณ์โครงการของเกตส์ในอดีตอีกว่าก่อนหน้านี้มีหลายโครงการของเขาที่มีความเสี่ยงสูง ไม่ได้รับการพิสูจน์ผลลัพธ์ และมีความเป็นไปได้ที่จะมีการใช้เงินอุดหนุนจากรัฐในระยะยาว เช่นโครงการเครื่องดักจับและเก็บกักคาร์บอน (CCS) หรือเครื่องดักจับและเก็บกักก๊าซคาร์บอนพลังงานชีวมวล (BECCS) ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นวิธีการแก้ไขแบบเเฉพาะหน้าซึ่งไม่ได้เน้นลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน นอกจากนี้ยังวิจารณ์กรณีที่เกตส์เคยมีแนวคิดจะปล่อยสารซัลเฟตในชั้นบรรยากาศสตราโทสเพียร์เพื่อปิดกั้นแสงอาทิตย์ ซึ่งทั้งหมดนี้ลูแคกส์มองว่าเป็นโครงการที่สิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์

"เกตส์ก็เหมือนกับกลุ่มคนร่ำรวยของโลกและรัฐบาลหลายแห่งที่พยายามเชื่อว่าเราจะสามารถค้นพบปาฏิหาริย์ได้ แต่พวกเราไม่ต้องการปาฏิหารย์ พวกเราต้องการประาธิปไตยคืนมาจากชนชั้นเศรษฐีเหล่านี้" ลูแคกส์ระบุในบทความ

ลุแคกส์เตือนว่าการที่รัฐบาลในประเทศร่ำรวย 20 ประเทศให้การสนับสนุนเกตส์เช่นนี้แสดงให้เห็นว่าพวกเขาต้องการให้กลุ่มบรรษัทเป็นผู้กำหนดวาระเรื่องโลกร้อนซึ่งถือเป็นการฉกฉวยเอาการแก้ไขปัญหาที่แท้จริงภายนอกห้องประชุมไป ในขณะที่ลูแคกส์เองยืนยันสนับสนุนให้การเปลี่ยนผ่านด้านสิ่งแวดล้อมนี้ต้องเป็นไปโดยมีภาคประชาสังคมที่จะสร้างระบบที่เป็นธรรมได้ไม่ว่าจะมีบิล เกตส์อยู่หรือไม่ก็ตาม

 

เรียบเรียงจาก

Will Bill Gates and his billionaire friends save the planet?, The Guardian, 01-12-2015 http://www.theguardian.com/environment/true-north/2015/dec/01/will-bill-gates-and-his-billionaire-friends-save-the-planet

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net