Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



ในช่วงสองถึงสามสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวต่อเนื่องเกี่ยวกับ การปะทะทางความคิดกันระหว่าง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. กับนักวิชาการ โดยมีคณาจารย์ออกแถลงการณ์ “มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร” จนถูกแจ้งข้อกล่าวหาขัดคำสั่ง คสช.  และเมื่อมีนักวิชาการในชื่อ (ใหม่) ว่า นักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมืองยื่นหนังสือต่อ พลเอกประยุทธ์ ให้หยุดคุกคามเสรีภาพทางวิชาการ กลับถูกพลเอกประยุทธ์โต้กับอย่างร้อนแรง ในทำนองว่า อาจมีผู้เอาปืนมายิน มีระเบิด จนเกิดการบาดเจ็บล้มตาย

บทความนี้ ผู้เขียนพยายามทำความเข้าใจกับวิธีคิดและมุมมองของหัวหน้า คสช. และเสนอข้อโต้แย้งในสามประเด็น เพื่อแสดงให้เห็นว่า หากพลเอกประยุทธ์ เรียนรู้ที่จะเข้าใจบทบาทของตนเองในฐานะนายกรัฐมนตรี และมหาวิทยาลัย ในฐานะพื้นที่แห่งการเรียนรู้แล้ว พลเอกประยุทธ์ จะสามารถทำสิ่งที่สร้างสรรค์กว่าต่อสังคม ได้มากกว่าการแสดงอารมณ์เกรี้ยวกราดทางสาธารณะ


หนึ่ง พลเมือง ไม่ใช่ พลทหาร  

ข้อจำกัดเชิงวิธีคิดของ พลเอกประยุทธ์ ก็คือ พลเอกประยุทธ์ โตมากับกองทัพ ที่มีวัฒนธรรมองค์กรอีกแบบ ต่างจากสังคมพลเรือนข้างนอก ทำให้แม้จะพ้นจากตำแหน่ง ผบ.ทบ. มามากกว่าหนึ่งปีแล้ว และเป็นนายกรัฐมนตรีมาปีเศษแล้ว แต่ดูเหมือน พลเอกประยุทธ์ จะยังไม่เข้าใจว่า การเป็นนายกรัฐมนตรีที่ต้องบริหารประเทศที่มีพลเมืองที่ต่างก็มีความคิดเห็นเป็นของตัวเองนั้น ไม่เหมือนกับการปกครองในกรมทหาร  พลเอกประยุทธ์ ยังคิดราวกับว่า พลเมืองคือพลทหารที่ผู้บังคับบัญชาจะสั่งซ้ายหัน ขวาหัน ได้ โดยปราศจากการตั้งคำถาม พลเอกประยุทธ์ ยังเผลอไผลคิดว่า ตัวเองเป็นผู้บังคับบัญชาประชาชน

ด้วยวิธีคิดแบบนี้ ของพลเอกประยุทธ์ จึงปะทะกับคนภาคส่วนอื่นๆ ในสังคม ที่พลเมืองมีสิทธิที่จะตั้งคำถามและวิพากษ์ในประเด็นสาธารณะ  สองภาคส่วนที่ปะทะเข้ากับ พลเอกประยุทธ์ ชัดๆ ก็คือ สื่อมวลชน และนักวิชาการ เราจึงเห็น พลเอกประยุทธ์ หงุดหงิดเมื่อถูกผู้สื่อข่าวถามคำถามที่สังคมอยากรู้ เพราะพลเอกประยุทธ์โตมากับกรมกองทหารผู้ใต้บังคับบัญชาไม่อาจจะตั้งคำถาม ตรวจสอบผู้บังคับบัญชา ได้  ส่วนนักวิชาการก็เช่นกัน เพราะนักวิชาการ ถูกฝึกมาให้คิด และตั้งคำถามอย่างวิพากษ์วิจารณ์ เพื่อความงอกเงยทางปัญญา เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่  สร้างความคิดทางเลือกที่หลากหลายให้สังคมได้มีทางเลือก ดังนั้นวิถีหรือวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยจึงแตกต่างกับค่ายทหารอย่างสิ้นเชิง 


สอง ประชาธิปไตย ไม่เท่ากับความวุ่นวาย

ปัญหาเชิงวิธีคิดอีกประเด็นของพลเอกประยุทธ์ ก็คือ หัวหน้า คสช. มักจะลดทอนความหมายของประชาธิปไตยว่า คือความวุ่นวาย อันที่จริงหลักการพื้นฐานอันหนึ่งของประชาธิปไตย คือ การเคารพสิทธิของตนเองและผู้อื่น ตราบเท่าที่ผู้คนในสังคมต่างใช้สิทธิ รวมถึงการแสดงความคิดเห็น และให้เหตุผลอย่างสันติ มิได้ข่มขู่ คุกคาม ใช้ความรุนแรงต่อผู้อื่น ตราบนำ สังคมย่อมไม่เกิดความวุ่นวาย ดังนั้น การที่นักวิชาการ แถลงว่า มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหารนั้น หาก พลเอกประยุทธ์ หรือขุนทหารคนใด ไม่เห็นด้วย หรือคิดว่า มหาวิทยาลัย ควรเป็นดังค่ายทหาร ก็ควรชี้แจงให้เหตุผล ให้นักวิชาการเหล่านั้นได้รับรู้ถึงเหตุผลที่ดีกว่า และสังคมก็จะได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน หาใช่การใช้วิธีเอาคำสั่งคณะรัฐประหาร (ที่ถูกพูดให้สวยหรูว่าเป็นกฎหมาย) หรือใช้ถ้อยคำผรุสวาทมากกดดันข่มขู่ไม่

ในสังคมไทยระยะหลัง คำว่า ประชาธิปไตย ถูกทำให้เลวร้าย โดยทำให้เท่ากับ การใช้เสรีภาพที่เกินขอบเขต เช่น การเดินขบวนประท้วง ที่ไร้ขอบเขต การละเมิดสิทธิของผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นการปิดสนามบิน การปิดกั้นไม่ให้ผู้อื่นไปใช้สิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง ภาวะวุ่นวาย เหล่านี้ ไม่ใช่ลักษณะอาการของประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตย ในตัวมันเอง ไม่ได้ นำความวุ่นวายถ้าพลเมืองเคารพสิทธิของผู้อื่น ส่วนความวุ่นวายและความรุนแรงโดยเฉพาะในช่วงหนึ่งถึงสองปีก่อนการรัฐประหารปี 2557 นั้น เป็นที่น่าสงสัยว่า เพราะ ชนชั้นนำบางกลุ่ม ตั้งใจให้เกิดความวุ่นวาย เช่น คนที่มีหน้าที่จัดการเลือกตั้ง ไม่อยากจัดการเลือกตั้ง พรรคการเมืองที่มีหน้าที่ลงสนามแข่งขัน ไม่อยากลงสนาม   ส่วนคนที่ดูแลความสงบเรียบร้อย ก็ไม่อยากป้องปราม เมื่อความไม่สงบเกิดขึ้นก็โยนความผิดให้ กับ “ประชาธิปไตย” ซึ่งดูแล้ว ราวกับ เป็นความตั้งใจ ที่จะปล่อยให้มันวุ่นวาย เพื่อเป็นข้ออ้างในการทำรัฐประหาร 

ตำราทางรัฐศาสตร์ ชี้ให้เห็นว่า สังคมประชาธิปไตยจะเข้มแข็งได้ ผู้คนในภาคประชาสังคม ที่ ภาษาไทยเราแปลมาจาก คำว่า civil society จำเป็นต้องมีคุณธรรมอารยะ (civic virtue) หากพิจารณาคำว่า civil มีนัยยะของคำว่า อารยะ ความหมายก็คือ เป็นสังคมที่มีอารยะ ที่คนโต้แย้งกันด้วยเหตุด้วยผล ไม่ใช่ด้วยความรุนแรง  หรือยกพวกตีกัน หรือ การตอบโต้ด้วยการข่มขู่นักวิชาการที่ลงชื่อสนับสนุน แถลงการณ์มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร ว่า เดี๋ยวมีคนเอาปืนมายิง มีระเบิด นี่คือ ท่าทีที่ตรงข้ามกับความเป็นอารยะอย่างสิ้นเชิง หรือเรียกว่า ป่าเถื่อน

ผู้เขียนกล่าวถึง คำว่า civic virtue ขึ้นมา เนื่องด้วยพลเอกประยุทธ์ แสดงออกอยู่เสมอว่า ต้องการวางรากฐานให้สังคมไทยเดินหน้าไปได้หลังสิ้นสุดภารกิจของคสช. สิ่งสำคัญที่พลเอกประยุทธ ควรทำเป็นอันดับแรกก็คือ การปลูกฝังคุณธรรมข้อหนึ่งที่จำเป็นต่อสังคมประชาธิปไตย นั่นคือ การอดทนต่อความแตกต่าง (Tolerance) เพื่อให้พลเมืองมีเสรีภาพในการแสดงความเห็นที่แตกต่าง ที่ไม่ได้แปลว่า จะเกิดความแตกแยก เพราะผู้คนสามารถแตกต่างกันได้ โดยไม่แตกแยก และจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง หาก พลเอกประยุทธ์ จะเป็นตัวอย่างด้วยการหยุดความเกรี้ยวกราดต่อผู้ที่เห็นต่าง เพื่อแสดงว่าผู้คนสามารถแตกต่างและอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ


สาม มหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่ของผู้ที่เห็นต่าง

เนื่องด้วย ข้อเท็จจริงที่ว่า สังคมมีพลเมืองที่มีอุดมการณ์ ความเห็น สถานะและผลประโยชน์ แตกต่างกัน สังคมจำเป็นต้องมีพื้นที่ให้พลเมืองเหล่านี้ได้ถกเถียงกันอย่างสันติบนพื้นฐานของข้อเท็จจริงและการรับฟังเหตุผลซึ่งกันและกัน  อย่างไรก็ดี ผู้เขียนตระหนักว่า ในช่วงห้าถึงสิบปีที่ผ่านมา ผู้คนถูกสวมหมวก ใส่สีเสื้อ จนไม่มีใครฟังใคร  อย่างไรก็ดี เราไม่ควรให้สภาวะแบบนี้ดำรงอยู่ต่อไป สังคมจำเป็นต้องรื้อฟื้นวัฒนธรรมความอดทนต่อความคิดเห็นที่แตกต่างขึ้นมาใหม่ ให้พลเมืองสามารถ “มองต่างมุม” กันได้ โดยไม่ต้องตีกัน

บนเงื่อนไขเช่นนี้ ไม่มีพื้นที่ไหนที่มีความเหมาะสมต่อเป็นพื้นที่เพื่อการแลกเปลี่ยนอย่างสันติ เท่ากับพื้นที่ในมหาวิทยาลัย  เพราะในรั้วมหาวิทยาลัยและในสังคมปัญญาชนที่มีวัฒนธรรมการถกเถียงหักล้างกันด้วยข้อเท็จจริงและเหตุผล มหาวิทยาลัยจึงควรเป็นพื้นที่แรกๆ ที่มาก่อร่างวัฒนธรรมการถกเถียงกันอย่างสันติขึ้นมาใหม่ โดยหวังว่า พื้นที่ของการถกเถียงกันด้วยเหตุด้วยผลนี้ จะขยายออกไปนอกรั้วมหาวิทยาลัย เมื่อนั้น เราจึงพอจะมีความหวังขึ้นมาบ้างว่า หลังยุค คสช บ้านเมืองจะไม่ปั่นป่วน  วุ่นวาย เหมือนเดิมอีก

แทนที่ คสช. จะมาตรวจตราการจัดอภิปรายสาธารณะในมหาวิทยาลัย จนหลายสถาบันไม่อยากจะจัดงาน คสช. ควรส่งเสริม ให้คนที่เห็นแตกต่างกัน มาแลกเปลี่ยนถกเถียงกันอย่างสันติ ในรั้วมหาวิทยาลัย โดยไม่ต้องไปเดินขบวนบนท้องถนน  แทนที่ คสช.จะส่งแค่ฝ่ายข่าวมาจดบันทึกการอภิปรายของนักวิชาการ คสช.ควรส่งตัวแทน เช่น โฆษกคสช. เสนาธิการทหาร มาอภิปรายแลกเปลี่ยนกับนักวิชาการคนอื่นๆ บ้าง  ทำนองเดียวกัน นักวิชาการที่สนับสนุน การรัฐประหาร ก็ควรมีพื้นที่สำหรับการให้เหตุผลต่อท่าทีของตนเองด้วย

ทั้งหมดนี้ที่กล่าวมานี้ ทั้งหมดแสดงให้เห็นว่า มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร พลเมืองไม่ใช่พลทหาร  คสช. ต้องส่งเสริมสิทธิในการแสดงออกอย่างสันติ ซึ่งเป็นสิทธิของพลเมืองทุกคนไม่ใช่เฉพาะนักวิชาการ. 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net