Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ตรงกันข้ามกับคำกล่าวของพลเอกประวิตร วงศ์สุวรรณที่ว่า เอกอัครราชทูตสหรัฐพูดโดยไม่คิด ผมกลับคิดว่าท่านทูตคิดมากทีเดียวก่อนจะปล่อยคำแถลงจุดยืนของสหรัฐเกี่ยวกับโทษของผู้ละเมิดมาตรา 112  โดยเฉพาะคำพูดที่ว่าผู้แสดงความเห็นโดยสงบไม่ควรต้องโทษ ก็ต้องผ่านการคิดชั่งตวงวัดน้ำหนักมาอย่างดีแล้ว

ขอให้สังเกตด้วยนะครับว่า ท่านทูตไม่ได้บอกว่ารัฐบาลทหารใช้ มาตรา 112 เพื่อขจัดศัตรูทางการเมืองของตนเอง อันเป็นทัศนะที่ปรากฏในคำแถลงของผู้แทนและองค์กรต่างชาติมาหลายครั้งแล้ว รวมทั้งสหรัฐเองด้วย การใช้กฎหมายอย่างบิดเบือนเพื่อขจัดศัตรูทางการเมือง ไม่ได้ตำหนิตัวกฎหมาย แต่ตำหนิการบังคับใช้กฎหมาย จึงแตกต่างจากคำแถลงของทูตสหรัฐในครั้งนี้อย่างมาก

ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่เอกอัครราชทูตของประเทศใดจะออกมาวิพากษ์วิจารณ์กฎหมายของประเทศอื่น โดยไม่ได้คิดอย่างรอบด้านมาก่อน ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ คงไม่มีทูตคนใดจะพูดเรื่องใหญ่ขนาดนี้โดยไม่สอดคล้องกับแนวนโยบายของกระทรวงต่างประเทศของตนเอง (โดยเฉพาะเมื่อคิดว่าเอกอัครราชทูตสหรัฐคนปัจจุบันเป็นนักการทูตโดยอาชีพ ไม่ใช่พลพรรคหาเสียงของประธานาธิบดี) คำแถลงของทูตในครั้งนี้จึงสะท้อนการปรับนโยบายบางอย่างของวอชิงตันด้วย

ท่านทูตฯ เริ่มการวิพากษ์ ม.112 ด้วยการยืนยันความนับถือต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างลึกซึ้ง ฉะนั้นสิ่งที่ท่านทูตกล่าวเกี่ยวกับ ม.112 จึงไม่ใช่การแสดงความสงสัยในคุณค่าของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย และเพราะยืนยันอย่างนี้แหละ ที่ทำให้ความเห็นว่าผู้แสดงความเห็นโดยสงบไม่ควรได้รับโทษ คือการวิพากษ์กฎหมายอาญา  ม.112 โดยตรง

ปฏิกิริยาที่เกิดจากคำกล่าวของเอกอัครราชทูตสหรัฐ ไม่ว่าจะมาจากการจัดให้เกิดขึ้นหรือเป็นไปตามอารมณ์ความรู้สึกจริงของผู้ประท้วงก็ตาม ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะฟังไม่ได้ศัพท์ แต่เกิดขึ้นเพราะฟังได้ศัพท์อย่างหมดจดต่างหาก การประท้วงจึงออกมาในลักษณะปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย มิให้ถูกแรงกดดันจากมหาอำนาจต่างชาติทำให้ต้องปรับเปลี่ยนไป

นับตั้งแต่สิ้นสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา ไม่เคยมีครั้งใดที่สหรัฐจะถูกผู้กุมอำนาจในเมืองไทยมองอย่างไม่เป็นมิตรเท่าครั้งนี้ แม้แต่ในช่วง 12 ตุลา - 6 ตุลา นักการเมืองซึ่งได้อำนาจจากรัฐสภาจำเป็นต้องประนีประนอมกับกระแสซ้ายของขบวนการนักศึกษา ก็ยังพยายามรักษาท่าทีเป็นมิตรกับสหรัฐไว้มากกว่าในครั้งนี้

ดังที่ทราบกันอยู่แล้วว่า หลังการยึดอำนาจเมื่อปีกลาย ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลทหารไทยและสหรัฐก็ค่อนข้างตึงเครียดและไม่ราบรื่นตลอดมา คำพูดของเอกอัครราชทูตสหรัฐในครั้งนี้จึงเพียงแต่เสริมแนวโน้มของความไม่ราบรื่นให้ไม่ราบรื่นต่อไปเท่านั้น ยิ่งเมื่อทูตตอบโต้ผู้นำ คสช.ว่า หากจะนำความสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่นทางการเมืองเข้าไปพัวพันกับความสัมพันธ์ทางการค้า ก็ up to him หากแปลภาษาไทยให้ตรงที่สุดก็คือ"เรื่องของมึง" ดังนั้นจึงเห็นได้ชัดว่า ภายใต้รัฐบาลทหารชุดนี้ ความสัมพันธ์ทางการเมืองกับสหรัฐไม่มีวันจะราบรื่นไปได้เป็นอันขาด

ปัญหาก็คือ แล้วรัฐบาลต่อไปล่ะ? ผมคิดว่าขึ้นอยู่กับว่า รัฐบาลนั้นต้องแสดงหน้าฉากเป็นประชาธิปไตยให้มากกว่านี้อีกมาก รวมทั้งต้องเป็นที่ยอมรับของสังคมไทยมากกว่านี้ด้วย

สังคมไทยสำคัญต่อนโยบายของสหรัฐอย่างไร? คำตอบก็คือโดยพื้นฐานแล้ว สังคมไทยมีแนวโน้มจะเป็นมิตรกับโลกตะวันตกค่อนข้างมาก เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียด้วยกัน ฉะนั้นสังคมไทยจึงให้ความได้เปรียบแก่นโยบายของสหรัฐ โดยเฉพาะในการแข่งขันอิทธิพลระหว่างสหรัฐและจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้ว่าในบางครั้งไทยอาจมีรัฐบาลเผด็จการที่เลือกจะเอียงเข้าข้างจีนอย่างมากก็ตาม

ต้องไม่ลืมว่า ตะวันตกเคยเป็นมาตรวัดความ"ศิวิไล"ของไทยมากว่าหนึ่งศตวรรษแล้ว แม้ว่าอาจมีชนชั้นนำและปัญญาชนบางส่วนที่วิตกว่า ความนิยมตะวันตกจะเลยเถิดไปถึงความนิยมระบอบการปกครองและสังคมของตะวันตกด้วย จึงเรียกร้องให้รักษา "ความเป็นไทย"ไว้อย่างไม่เสื่อมคลาย แต่โดยรวมแล้วสังคมไทยไม่มีทางเลือกมากนัก อย่างไรเสียก็ต้องมองตะวันตกเป็นต้นแบบอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก ส่วนใหญ่ของปัญญาชนไทยอ่านภาษาต่างประเทศได้อยู่ภาษาเดียวคืออังกฤษ (หรือฝรั่งเศส, เยอรมัน) แทบจะหาใครที่อ่านภาษาจีน, ฮินดี, อาหรับ, รัสเซียไม่ได้เลย สิ่งพิมพ์ภาษาต่างประเทศที่หาได้ง่ายสุดในเมืองไทยอยู่ในภาษาอังกฤษ นับตั้งแต่หนังสือพิมพ์ไปถึงตำราต่างๆ ธุรกิจค้าสิ่งพิมพ์ในประเทศไม่ถนัดที่จะสั่งซื้อสิ่งพิมพ์ในภาษาอื่นมากนัก ทั้งนี้ยังไม่พูดถึงผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยในโลกตะวันตก ช่องทางรับข่าวสารข้อมูลที่ล้วนเป็นของโลกตะวันตกทั้งสิ้น หรือแม้แต่เทคโนโลยีการผลิตก็ต้องพึ่งตะวันตกอย่างสูง

คนไทยมีชีวิตอยู่ในรูปแบบทางสังคมที่ใกล้เคียงไปทางสังคมตะวันตก อย่างน้อยก็ในอุดมคติ มานานเสียจน รับไม่ได้กับสังคมเผด็จการพรรคอย่างจีน เราเพียงแต่อยากรวยเหมือนคนจีน 400 ล้านคนที่อยู่ติดฝั่งทะเลด้านตะวันออกเท่านั้น แต่เราไม่อยากอยู่ภายใต้ระเบียบวินัยที่เข้มงวดอย่างจีน โดยเฉพาะระเบียบวินัยที่บังคับใช้อย่างไม่เลือกปฏิบัติ (ตามอุดมคติของพรรคคอมมิวนิสต์จีน) เพราะคนมีหัวมีก้อย ระเบียบวินัยก็ต้องมีหัวมีก้อยด้วยสิครับ

สังคมไทยจึงเป็นฐานของความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับตะวันตก ซึ่งมีสหรัฐเป็นแกนนำ ดังนั้นรัฐบาลเผด็จการทหารในทุกรูปแบบ หากต้องการมีความสัมพันธ์ที่ราบรื่นกับสหรัฐ จึงต้องรักษาความนิยมของตนในสังคมไทยให้ดี ไม่มีวันที่รัฐบาลสหรัฐของพรรคใดก็ตาม จะญาติดีกับรัฐบาลทหารที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างโจ่งแจ้ง

สหรัฐสนับสนุนสิทธิเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตยอย่างจริงใจหรือไม่ ผมไม่ทราบ แต่สิทธิเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตยทำให้สังคมไทยพอใจ สังคมไทยเป็นพันธมิตรที่สำคัญของสหรัฐในประเทศไทยเสียยิ่งกว่ารัฐบาลไทย ฉะนั้นอะไรที่สังคมไทยไม่ชอบ สหรัฐก็ต้องแสดงอาการไม่รับรองสิ่งนั้นตามไปด้วย

ในโลกหลังสงครามเย็น สหรัฐจะรักษาสถานะสูงสุด (paramountcy) ของตนได้อย่างไร

ในทางเศรษฐกิจ สหรัฐน่าจะรู้ดีว่าขนาดของเศรษฐกิจสหรัฐจะไม่ใหญ่ที่สุดในโลกอีกต่อไปใน 10 ปีข้างหน้า หากเศรษฐกิจจีนไม่ทรุดลงอย่างกะทันหันเสียก่อน ในเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สหรัฐอาจไม่สามารถรักษาความเป็นผู้นำได้ เพราะการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ จะกระจายไปยังประเทศพัฒนาแล้วมากขึ้น นี่ไม่ได้หมายความว่าอำนาจทางเศรษฐกิจของสหรัฐจะไร้ความหมายในโลก อย่างไรเสียเงินลงทุนและกำลังซื้อในตลาดสหรัฐ ก็ยังมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจอื่นๆ ต่อไปอย่างแน่นอน

แต่มีอยู่สองสิ่งที่สหรัฐสามารถรักษาสถานะสูงสุดของตนไว้ได้

หนึ่งคือการทหาร ในปัจจุบันสหรัฐครองความเป็นเจ้าอยู่แล้ว และดูจะรักษาความก้าวหน้าของตนไว้ได้สืบไป แม้ว่าคู่แข่งของสหรัฐอาจสะสมกำลังทหารให้มีปริมาณได้มากกว่าสหรัฐสักวันหนึ่งข้างหน้า (เครื่องบิน, เรือรบ, ปืน, จรวด ฯลฯ) แต่จะมีคุณภาพตามทันสหรัฐนั้นไม่ใช่เรื่องทำได้ในเร็ววัน (ยิงจรวดข้ามทวีปได้ แต่ตกที่ไหนไม่รู้)

สองคือสิ่งที่เป็นปัญหาแก่ประเทศที่ไม่ต้องการขยายประชาธิปไตยไปเกินผลประโยชน์ของชนชั้นนำ เพราะประชาธิปไตยคือจุดยืนอันแข็งแกร่งอีกอย่างที่สหรัฐต้องยึดเอาไว้ เพื่อรักษาสถานะสูงสุดของตน สถานะที่เป็นแชมเปี้ยนของคุณค่าประชาธิปไตยทำให้สหรัฐรักษาและขยายพันธมิตรของตนได้ ทั้งยังให้ความชอบธรรมแก่สหรัฐในการแทรกแซงการเมืองได้ทั่วโลก ทั้งอย่างลับๆ และอย่างเปิดเผย


ประชาธิปไตยในสำนวนของสหรัฐจึงไม่มีความหมายตายตัว สามารถโอนอ่อนไปตามผลประโยชน์ของสหรัฐได้ ไม่ว่ารัฐธรรมนูญพม่าจะหวงอำนาจไว้ไม่ให้ตกถึงมือประชาชนอย่างไร แต่พม่าก็แสดงความก้าวหน้าทางการเมืองไปในทิศทางที่เปิดให้สหรัฐเข้ามาคานอิทธิพลกับจีนได้ โดยไม่เสียจุดยืนผู้นำประชาธิปไตยของตน ประชาธิปไตยของพม่าจึงพอรับได้

แม้แต่เผด็จการเชิงเสรีนิยมอย่างสิงคโปร์ สหรัฐก็รับได้ขนาดมีฐานทัพของตนเองในสิงคโปร์เลยด้วยซ้ำ (ที่เรียกว่าเผด็จการเชิงเสรีนิยม – liberal autocracy – ไม่ใช่เสรีนิยมที่เคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่เป็นเสรีนิยมที่เคารพกฎหมายซึ่งใช้โดยไม่เลือกปฏิบัติอย่างเคร่งครัด แม้จะรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนบ้างก็ตาม อย่างที่ Francis Fukuyama กล่าวถึงปรัสเซีย-เยอรมันก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 – Political Order and Political Decay)

ประชาธิปไตยที่สหรัฐแถลงว่าสนับสนุนให้เผด็จการทหารไทยรีบนำกลับมา จึงอาจไม่ตรงกับประชาธิปไตยในสำนวนที่อีกหลายคนในเมืองไทยเรียกร้องก็ได้ และนี่เป็นช่องทางให้ คสช.สามารถนำประเทศไทยกลับมาสู่ความสัมพันธ์ที่ราบรื่นกับสหรัฐได้ไม่ยากนัก เงื่อนไขเพียงอย่างเดียวที่สหรัฐจะยอมรับประชาธิปไตยแบบคสช. ก็คือสังคมไทย หากสังคมไทยยอมรับการสืบทอดอำนาจของกองทัพอย่างซ่อนรูปได้ สหรัฐก็ไม่ต่อต้านประชาธิปไตยใต้ท็อปบู๊ธของไทยแต่อย่างไร

ดังนั้น ไม่ว่าทูตสหรัฐจะพูดอะไร ก็ไม่สำคัญเท่ากับว่าสังคมไทยยอมรับอำนาจของ คสช.ในปัจจุบันและอนาคตหรือไม่

เผด็จการทหารชุดนี้ (และชุด 2549) เข้ามายึดอำนาจในช่วงที่สหรัฐจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนจุดยืนของตนในการเมืองระหว่างประเทศ ความเป็นประชาธิปไตยของพันธมิตรมีนัยยะสำคัญต่อสถานะสูงสุดของสหรัฐ ท่าทีลงทัณฑ์แก่เผด็จการทหารที่ยึดอำนาจเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ (ในอุษาคเณย์ แต่รับได้ในอียิปต์) ยิ่งเผด็จการทหารชุดปัจจุบันเลือกใช้การดึงอิทธิพลจีนเข้ามาบีบบังคับสหรัฐ ทำให้ท่าทีลงทัณฑ์ยิ่งต้องทำอย่างเปิดเผยและแรงมากขึ้น

อันที่จริง ประเทศเล็กๆ อย่างไทย ไม่ว่าจะอยู่ภายใต้เผด็จการทหารหรือประชาธิปไตย เมื่อมหาอำนาจอย่างสหรัฐปรับนโยบายการเมืองระหว่างประเทศ เราก็จำเป็นต้องปรับตัวให้ไม่เสียประโยชน์ของตนเองตามไปด้วย เพื่อทำให้เกิดการคานอำนาจระหว่างมหาอำนาจหลายๆ ฝ่ายในประเทศตนเอง แต่คณะทหารที่ยึดอำนาจในครั้งนี้ ยืดหยุ่นไม่เป็น

ที่ยืดหยุ่นไม่เป็นนั้น จะเป็นเพราะไร้เดียงสาเกินไป หรือจะเป็นเพราะว่าภารกิจที่ได้รับมอบหมายให้ทำใหญ่เกินไปในสังคมที่เปลี่ยนไปแล้วนี้ จึงทำให้ไม่สามารถขยับตัวเพื่อผ่อนสั้นผ่อนยาวได้ ผมก็ไม่ทราบเหมือนกัน แต่ไม่ว่าจะมองไปทางใด ไม่เฉพาะแต่เรื่องความสัมพันธ์กับมหาอำนาจตะวันตกเท่านั้น ดูจะมีอาการเป็นลิงติดแหไปหมดทุกด้าน

ประเทศไทยจะดิ้นให้หลุดจากการเป็นลิง โดยค่อยๆ แกะแหให้พ้นตัวได้อย่างไร ผมก็เดาไม่ถูก

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net