Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

วันนี้ ผมชวนนิสิต ป.ตรี ในวิชานโยบายการเกษตร มาช่วยกันเล่นเกมจับโกง เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงการคอร์รัปชันที่ซ่อนอยู่ในนโยบายการเกษตรต่างๆ

กติกามีอยู่ว่า เราจะมีพรรคการเมือง 3 พรรค มาเสนอนโยบายแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจการเกษตรชะลอตัว ด้วยการใช้งบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ในจำนวน 3 พรรคนี้ จะมี 2 พรรคที่ตั้งใจมาโกง (แต่พรรคอื่นและประชาชนจะไม่ทราบ) และจะออกแบบวิธีการโกงไว้ในนโยบายที่จนจะนำเสนอ (โดยไม่บอกให้คนอื่นทราบเช่นกัน)

หลังจากนิสิตทั้ง 3 พรรคออกแบบนโยบาย (และวิธีการโกงสำหรับ 2 พรรคที่ถูกกำหนดให้โกง) เสร็จเรียบร้อยแล้ว (ผมให้เวลาในการออกแบบนโยบายและกลโกง 10 นาที) นิสิตแต่ละพรรคก็จะได้นำเสนอนโยบายของตน พรรคละ 5 นาที จากนั้น ก็จะให้ประชาชนในประเทศ (ซึ่งก็คือ นิสิตที่เหลือ) ตั้งคำถาม ถามได้พรรคละ 6 ข้อ และพรรคต้องใช้เวลาตอบภายใน 5 นาที จนครบทั้ง 3 พรรค

จากนั้น ก็จะเป็นช่วงเวลาที่ประชาชนจะต้องตัดสินใจ โดยการเลือกพรรคที่ตนคิดว่านโยบายพรรคโดนใจที่สุด และที่สำคัญ น่าจะเป็นพรรคที่ไม่โกง เพราะหากประชาชนดันไปเลือก 2 พรรคที่เตรียมโกงไว้ เกมนี้จะถือว่า ประชาชนเป็นฝ่ายแพ้ และพรรคที่ได้รับเลือกเป็นฝ่ายชนะ (ที่หลอกประชาชนสำเร็จ) เพราะฉะนั้น ประชาชนจะต้องเลือกให้พรรคให้ถูก (หมายถึงเลือกพรรคที่ไม่โกง) โดยจะถูกหรือไม่ถูก ก็คงขึ้นอยู่กับคำถาม 6 ข้อ ของตนเป็นสำคัญ

หลังจากการเลือกแล้ว เกมนี้จะให้พรรคการเมือง 2 พรรคที่เป็นพรรคที่เล่นเป็นคนโกง ต้องเฉลยกลโกงที่ซ่อนอยู่ในนโยบายของตนออกมา โดยเฉพาะหากพรรคที่เตรียมโกงและชนะการเลือกตั้ง ตรงนี้จะเป็นจุดสำคัญว่า พรรคนี้ซ่อนกลโกงไว้อย่างไร ประชาชนจึงจับไม่ได้

วันนี้ นิสิตที่รับบทพรรคการเมืองทั้ง 3 พรรคที่นำเสนอนโยบาย นำเสนอได้ดีมาก บรรยากาศเร้าใจสุดๆ พรรคแรก พรรคยางไทย เน้นเรื่องการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกยางทั้งระบบ ตั้งแต่การจดทะเบียน การเชื่อมโยงผู้ซื้อ จนถึงการส่งออก (แต่ในนี้อาจมีกลโกงซ่อนอยู่) พรรคที่สอง พรรคภูมิใจเกษตรกร เสนอนโยบายสนับสนุนโครงการพัฒนาประจำตำบล โดยให้แต่ละตำบลเป็นผู้เลือกโครงการที่เหมาะสมกับตนเอง พร้อมทั้งมีที่ปรึกษาให้ด้วย การปราศรัยของพรรคนี้บรรยากาศเข้มข้น เร้าใจมาก และพรรคสุดท้าย พรรคเพื่อเธอ เสนอนโยบายจัดสรรที่ดินให้กับเกษตรกร คนละ 200 ตารางวา โดยซื้อที่ดินมาจากนายทุนและที่ดินรกร้างว่างเปล่า และจัดหาปัจจัยการผลิต และช่วยดำเนินการด้านการตลาด พรรคนี้มาในแนวใสซื่อ เฮฮา ประชาชนถูกอกถูกใจ หัวเราะเป็นระยะๆ ตลอดการปราศรัย

ในการคำถามของประชาชน ประชาชนส่วนใหญ่ (หมายถึงนิสิต) จะถามคำถามเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการดำเนินโครงการ มีเพียงไม่กี่คำถามที่เจาะลึกลงไปถึงวิธีการดำเนินการ (ซึ่งอาจจะแฝงการโกงไว้ในนั้น) เช่น มีนิสิตคนหนึ่งถามพรรคภูมิใจเกษตรกรเรื่องการฮั้วการประมูล ซึ่งพรรคภูมิใจเกษตรกรตอบได้ดีมาก โดยอธิบายขั้นตอนการประมูล และจะมีการเปิดเผยรายชื่อของคณะกรรมการบริษัทที่เข้าร่วมประมูล รวมถึงไม้เด็ดคือ จะให้ชุมชนร่วมคัดเลือกผู้ประมูลด้วย นิสิตอีกคนถามเรื่องการแทรกแซงและเก็บรักษายางพารา ซึ่งทางพรรคยางไทยก็ตอบชัดเจนว่า รัฐบาล (หากได้รับการเลือกตั้ง) จะทำหน้าที่เป็นเพียงตัวกลางเชื่อมต่อระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายยาง พรรคยางไทยจะไม่ดำเนินการเหมือนการจำนำข้าวโดยเด็ดขาด ส่วนนิสิตอีกคนก็ถามพรรคเพื่อเธอว่า ที่ดินที่จะจัดสรรให้กับเกษตรกรเป็นที่ป่าสงวนหรือไม่? พรรคเพื่อเธอก็ตอบชัดเจนเช่นกันว่า ทางพรรคจะไม่ใช้พื้นที่ป่า แต่จะไปซื้อที่ดินมาจากนายทุนและที่ดินรกร้างว่างเปล่าจากผู้ไม่ใช้ประโยชน์ เพื่อมาจัดสรรให้กับเกษตรกร ดูเหมือนประชาชนค่อนข้างจะพอใจในคำตอบของทั้ง 3 พรรค

หลังจากนั้น ก็เป็นการลงคะแนน โดยผ่านการทำโพลของกลุ่มในเฟซบุ๊ก ผลปรากฏว่า พรรคที่ได้คะแนนสูงสุดคือ พรรคเพื่อเธอ 25 คะแนน รองมาเป็นพรรคภูมิใจเกษตรกร 15 คะแนน และพรรคยางไทย 5 คะแนน ผมสอบถามนิสิตว่าลงคะแนนจากอะไร นิสิตบางส่วนตอบว่า ชอบนโยบาย และเชื่อว่า พรรคที่ดูใสซื่อนี้จะไม่โกง นิสิตบางคนชอบนโยบายและความตั้งใจของพรรคภูมิใจเกษตรกร แต่ยังไม่มั่นใจว่าจะโกงหรือไม่?

เมื่อประกาศคะแนนเรียบร้อย ก็ถึงจุดไคลแม็กซ์ของเกม คือ การเฉลยว่า พรรคไหนเป็นพรรคที่โกง ประชาชนนั่งลุ้นกันยิ่งกว่าตอนลงคะแนน ปรากฏว่า พรรคที่รับบทเป็นพรรคโกง ได้แก่ พรรคยางไทย และพรรคเพื่อเธอ ซึ่งเป็นพรรคที่ชนะการเลือกตั้ง นั่นแปลว่า เกมนี้ ประชาชนเป็นฝ่ายแพ้ และพรรคเพื่อเธอเป็นฝ่ายชนะ ประชาชนในห้องนั่งกันเงียบกริบ เพราะยังงงกับการวินิจฉัยที่ผิดพลาดของตนเอง

ต่อมา ผมก็เชิญพรรคยางไทยให้เฉลยกลโกงที่ซ่อนอยู่ ปรากฏว่า พรรคยางไทยออกแบบการโกงไว้ทุกขั้นตอน ตั้งแต่การลงทะเบียนเกษตรกรไม่ตรงกับความจริง การเลือกบริษัทจัดจำหน่ายที่รู้จักกัน การเอายางนอกระบบมาสวมรอย เป็นต้น เรียกเสียงด่าจากเพื่อนในห้องได้เป็นระยะ (ว่า “เลวดีจริงๆ”) 555 (เฉพาะตามเกมเท่านั้นนะครับ)

แต่พอมาถึงพรรคเพื่อเธอ ผมให้ประชาชนพยายามเดาก่อน แต่ปรากฏว่า เดาไม่ถูกว่าโกงที่ตรงไหน? จึงให้พรรคเพื่อเธอ ซึ่งเป็นผู้ชนะเฉลย พรรคเพื่อเธอบอกว่า ทางพรรคได้เตรียมนายทุนให้ซื้อที่ดินไว้ก่อนหน้าแล้ว ก่อนที่จะมาขายให้รัฐบาลในราคาสูง ก่อนที่จะนำมาจัดสรรให้กับเกษตรกร ซึ่งเกษตรกรส่วนหนึ่งก็จะเป็นคนที่พรรคจัดตั้ง เพื่อรับสิทธิ ก่อนที่จะโอนสิทธิ (แบบไม่ถูกกฎหมาย) คืนกลับมาให้นายทุนพรรคอีกทอดหนึ่ง รวมถึงทางพรรคก็เตรียมการฮั้วประมูลปัจจัยการผลิตไว้ด้วยเช่นกัน ระหว่างที่เล่าเพื่อนทั้งห้องเงียบกริบ ก่อนที่จะมีคนรำพึงว่า “แกชั่วจริงๆ” (5555 อารมณ์ค้างจากเกม)

ขั้นตอนสุดท้าย ผมให้ประชาชนช่วยกันสรุปบทเรียนความพ่ายแพ้ครั้งนี้ ประชาชนบอกว่าเรายังสนใจคำถามเกี่ยวกับนโยบายที่เราชอบ มากกว่าการสอบสวนเรื่องกลโกงทุจริต นิสิตอีกคนบอกว่า กลโกงมันซับซ้อนเกินกว่าที่ประชาชนจะคิดทัน ผมจึงถามว่า เมื่อฟังเฉลยแล้วตามทันหรือไม่? นิสิตบอกตามทัน แต่ตอนฟังพรรคการเมืองกลับคิดไม่ทัน นิสิตกลุ่มหนึ่งบอกว่า เขาเลือกเพราะใช้ข้อมูลภูมิหลังว่า เพื่อนพรรคเพื่อเธอ ไม่น่าจะเป็นคนโกง ในทางตรงกันข้าม เขากลับคิดว่า พรรคภูมิใจเกษตรกรจะต้องโกงแน่ๆ เพราะฉะนั้น แม้ว่า พรรคภูมิใจเกษตรกรจะนำเสนอกลไกการป้องกันการโกงอย่างละเอียด เขาก็ยังคิดว่า พรรคนี้จะต้องโกงแน่ๆ จึงพยายามนำเสนอว่าตนไม่โกง 5555 ส่วนนิสิตอีกคนหนึ่งบอกว่า เพื่อนๆ มีผลต่อการตัดสินใจของเขาอย่างมาก เมื่อมีเพื่อนกลุ่มหนึ่งช่วยกันส่งซิกว่าพรรคเพื่อเธอเป็นคนดี เขาก็เลยเลือกพรรคเพื่อเธอ ในตอนท้ายนิสิตคนหนึ่งสรุปว่า “เราไม่ควรเลือกพรรคจากหน้าตาอีกต่อไป”

ผมจึงถามย้ำกับนิสิตว่า “ถ้าเช่นนั้น การเลือกตั้งก็คงไม่ช่วยให้ “เราจับคนโกง” ได้ใช่หรือไม่?” นิสิตเริ่มมีความเห็นแตกกัน นิสิตกลุ่มหนึ่งบอกว่า “น่าจะช่วยไม่ได้จริงๆ เพราะเขาน่าจะโกงได้อยู่ดี เราจึงน่าจะไปจับโกงกันด้วยวิธีอื่นๆ ที่นอกเหนือจากการเลือกตั้ง” แต่นิสิตอีกกลุ่มหนึ่งบอกว่า “น่าจะช่วยได้ หากเราตั้งคำถามให้ดีขึ้นกว่าที่ผ่านมา” นิสิตขยายความว่า แม้ว่าการตั้งคำถามในตอนหาเสียงเลือกตั้งอาจจะไม่ช่วยให้เราตรวจสอบคนโกงได้ก่อนการเลือกตั้ง (เพราะพรรคการเมืองคงไม่ยอมรับอยู่ดี) แต่ก็ช่วยให้เราสามารถตรวจสอบการโกงหลังการเลือกตั้งได้ดีขึ้น

ในตอนท้าย นิสิตสรุปว่า “ประชาชนต้องรู้จักตั้งคำถามให้ดีกว่าเดิม” นิสิตคนหนึ่งเชื่อว่า “หากเราตั้งคำถามให้ดีกว่าเดิม เราจะไม่แพ้อีกแล้ว” นิสิตกลุ่มหนึ่งถึงขนาดขอให้เล่นใหม่อีกรอบ ผมแอบดีใจมาก แต่น่าเสียดายเวลาที่เหลือไม่พอที่จะเล่นอีกรอบหนึ่ง

ประชาธิปไตยก็เป็นเช่นนี้ครับ ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่การกดโหวต แต่ประชาธิปไตยมาถึงการเรียนรู้ของประชาชน โดยกระบวนการของประชาชนกันเอง (เช่น การตั้งคำถามในเกมนี้) เพื่อให้ประโยชน์ตกกับประชาชนได้มากที่สุดในที่สุด ประชาธิปไตยจึงต้องผ่านการฝึกฝนและเอาจริงเอาจังกันอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่ลักปิดลักเปิดเช่นที่ผ่านมา

วิชานี้เรียนจบแล้วครับ ท้ายชั่วโมงยังมีนิสิตบางกลุ่มออกมาคุยว่า ชอบบทเรียนในวันนี้ และชอบเรียนในวิชานี้มากๆๆ เพราะมันช่วยให้เห็นภาพลักษณ์ที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากขึ้น และช่วยให้เราใช้ประชาธิปไตยได้อย่างเต็มที่มากขึ้น ผมก็ดีใจและขอขอบคุณนิสิตทุกคนเช่นกัน

ปล. ขอขอบคุณแม่ทิพย์ เอ็ก และกิฟท์ สำหรับไอเดีย ที่แม้จะไม่ได้นำมาใช้ทั้งหมด เนื่องจากเวลาเตรียมตัวไม่ทัน แต่คำแนะนำทั้งหลายก็ช่วยเปิดโลกทรรศน์ในการออกแบบเกมของผมครั้งนี้ได้มากทีเดียวครับ

 

หมายเหตุ: บทความนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเฟซบุ๊กของผู้เขียน ประชาไทเห็นว่าน่าสนใจ จึงขออนุญาตผู้เขียนนำมาเผยแพร่บนเว็บไซต์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net