นักวิชาการจีนหนุนเพิ่มสวัสดิการแรงงานอพยพจากชนบท-ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจจีนในยุคปัจจุบันกำลังเข้าสู่สภาวะที่เติบโตช้าลง นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ของจีนวิจัยพบว่ากลุ่มแรงงานผู้อพยพจากชนบทสู่เมืองเป็นขุมกำลังสำคัญในการส่งเสริมเศรษฐกิจจีนด้านการเพิ่มการบริโภคภายในประเทศ จึงควรพัฒนาคุณภาพชีวิตของพวกเขาด้วยการให้สวัสดิการที่ดีขึ้นและมีสิทธิเท่าผู้อยู่อาศัยในเมือง

(แฟ้มภาพ) แรงงานจีนในเมือง Ding Zhou ถ่ายในปี 2013 /ที่มาของภาพประกอบ: Jonathan Kos-Read / Flickr / CC BY-ND 2.0)

 

8 ธ.ค. 2558 หวัง เหมย หยัน (Meiyan Wang) ศาสตราจารย์จากสถาบันประชากรและเศรษฐศาสตร์วิทยาลัยสังคมศาสตร์จีน ร่วมกับฟางไค (Fang Cai) ศาสตราจารย์และรองประธานวิทยาลัยสังคมศาสตร์จีน เขียนบทความวิชาการเกี่ยวกับแรงงานผู้อพยพเข้าเมืองและการบริโภคในจีน ซึ่งมีการนำเสนอเรื่องนี้ผ่านทางเว็บไซต์อีสต์เอเชียฟอรั่ม

นักวิชาการจีนทั้ง 2 คนระบุว่าเศรษฐกิจจีนกำลังเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ภาวะใหม่คือการเติบโตที่ช้าลง พวกเขามองว่าการบริโภคจะมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจได้และรัฐบาลจีนควรจะเล็งเห็นว่ากลุ่มแรงงานผู้อพยพในจีนมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจและทำให้เกิดการกลายเป็นเมือง ทำให้ต้องเน้นสร้างศักยภาพในการบริโภคของประชากรกลุ่มนี้

บทความระบุว่าจำนวนผู้อพยพจากชนบทเข้าเมืองมีเพิ่มมากขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมารวมถึงรายได้ต่อหัวของประชากรผู้อพยพเหล่านี้ก็เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้กลุ่มผู้อพยพรุ่นใหม่มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นจากคนรุ่นก่อนกลายเป็นกลุ่มประชากรผุ้บริโภคที่มีความสำคัญ แต่ก็ยังคงมีปัจจัยบางอย่างที่จำกัดการบริโภคของประชากรกลุ่มนี้เมื่อเทียบกับประชากรผู้อาศัยในเมืองนั่นคือสภาพการจ้างงาน ระดับรายได้ และการเข้าถึงสวัสดิการและบริการของรัฐ กลุ่มแรงงานผู้อพยพเข้าเมืองโดยทั่วไปยังคงมีงานที่ไม่มั่นคง มีรายได้ต่ำกว่าและสามารถเข้าถึงสวัสดิการรับได้น้อยกว่าผุ้อาศัยในเมือง ทำให้เป็นการจำกัดพลังในการบริโภคของพวกเขา

ในประเทศจีนมีระบบการจดทะเบียนครัวเรือนของคนในเมืองที่เรียกว่า 'ฮู่โขว' (Hukou) ซึ่งเป็นการจำกัดสิทธิของคนอพยพจากชนบทเข้าเมืองทำให้พวกเขาสามารถเข้าถึงบริการสาธารณะ เช่น การศึกษา การสาธารณสุข สวัสดิการสังคม เทียบเท่ากับผู้อาศัยในเมือง มีการประเมินว่ากลุ่มประชากรผู้อพยพจากชนบทสู่เมืองมีอัตราการบริโภคเฉลี่ยต่อหัวต่ำกว่าผู้อาศัยในเมืองร้อยละ 22 ซึ่งช่องว่างความแตกต่างในการบริโภคเกิดขึ้นอย่างมากในเรื่องการบริโภคการบริการและสิ่งอำนวยความสะดวกคือร้อยละ 37.6 และการบริโภคทุนมนุษย์ร้อยละ 47.9

บทความจากนักวิชาการจีน 2 คนยังระบุอีกว่าประชากรผู้อพยพเข้าเมืองมีการบริโภคสินค้าอาหารโดยเฉลี่ยน้อยกว่าผู้อาศัยในเมืองก็จริงแต่กลุ่มผู้อพยพเข้าเมืองมักจะบริโภคสินค้าอาหารมากขึ้นเมื่อมีรายได้เพิ่มจากเดิมเป็นตัวบ่งชี้ว่าถ้าหากรายได้ของผู้อพยพเพิ่มขึ้นปริมาณการบริโภคสินค้าอาหารในระดับประเทศก็จะเพิ่มขึ้นมากกว่าเมื่อเทียบกับการเพิ่มรายได้กลุ่มผู้อาศัยในเมือง

การวิจัยของพวกเขาระบุว่าถ้าหากรายได้ของแรงงานผู้อพยพจากบนบทมาสู่เมืองเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 พวกเขาจะใช้ร้อยละ 0.25 ไปกับการบริโภค ซึ่งมากกว่าเมื่อเทียบกับผู้อาศัยในเมือง นักวิชาการจีนจึงเสนอให้มีการขยายการคุ้มครองสวัสดิการให้กับแรงงานผ้อพยพเข้าเมือง นอกจากนี้ยังควรมีการส่งเสริมการศึกษาและการจัดการัจจัยในบางด้านก็จะสามารถเพิ่มการบริโภคได้ และถ้าหากผู้อพยพเข้าเมืองเหล่านี้สามารถได้รับสวัสดิการเทียบเท่าผู้อาศัยในเมืองรวมถงมีระดับการบริโภคเทียบเท่ากันแล้วมีการประเมินการบริโภคโดยเฉลี่ยจะเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 27

"ผู้อพยพเข้าเมืองกำลังกลายเป็นกลุ่มประชากรที่มีศักยภาพในการบริโภคและมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมอุปสงค์ภายในประเทศทำให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจ" หวังเหมยหยั่นและฟาง ไค ระบุในบทความ

"การให้สิทธิผู้อพยพแบบเดียวกับผู้อยู่อาศัยอย่างเต็มที่ เช่นสิทธิในการเข้าถึงการศึกษา การสาะารณสุข และความมั่นคงทางสังคม ไม่เพียงแค่เป็นภารกิจสำคัญและเป็นความท้าทายในการทำให้กลายเป็นเมืองเท่านั้น แต่ยังเป็นความต้องการอย่างแท้จริงสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจจีนภายใต้สภาวะแบบใหม่นี้" หวัง เหมย หยันและ ฟาง ไค ระบุในบทความ

 

เรียบเรียงจาก

Migrant workers key driver of Chinese consumption, Meiyan Wang and Fang Cai, East Asia Forum, 06-12-2015 http://www.eastasiaforum.org/2015/12/06/migrant-workers-key-driver-of-chinese-consumption/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท