Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

แนวคิดในการพัฒนาและฟื้นฟูลำคลองสายหลักในกรุงเทพฯ เริ่มปรากฏให้เห็นชัดเจนขึ้นในยุครัฐบาล คสช. ไม่ว่าจะเป็นโครงการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตเพื่อการระบายและป้องกันน้ำท่วมในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล งบประมาณ 2,426 ล้านบาท และล่าสุดก็คือ แผนปฏิบัติการฟื้นฟูคลองแสนแสบให้ใสสะอาดภายในระยะเวลา 2 ปีนับจากนี้ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแผนงานเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยใช้งบประมาณทั้งหมดรวม 6,812 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม โครงการที่เริ่มดำเนินการไปแล้ว และปรากฏให้เห็นเป็นข่าวความเคลื่อนก็คือ โครงการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตเพื่อป้องกันน้ำท่วมฯ เนื่องจากโครงการนี้จะต้องมีการรื้อย้ายบ้านเรือนของชาวบ้านที่รุกล้ำแนวคลอง ในคลองลาดพร้าว คลองบางซื่อ และคลองเปรมประชากร โดยรัฐบาลได้มอบหมายให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ซึ่งอยู่ในสังกัดของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์รับผิดชอบเรื่องที่อยู่อาศัยของชาวบ้านที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการนี้ แต่ก็ได้มีกลุ่มที่สนับสนุนและคัดค้านออกมาเคลื่อนไหวดังที่ปรากฏเป็นข่าวอยู่เป็นระยะๆ

คนค้นคลอง

คลองแสนแสบเป็นคลองที่ขุดขึ้นมาในสมัยรัชกาลที่ 3 เพื่อเชื่อมเส้นทางจากแม่น้ำเจ้าพระยาไปยังบางปะกง จุดประสงค์หลักก็เพื่อเป็นเส้นทางลำเลียงกำลังไพร่พลและเสบียงอาหารไปรบกับญวนในสงคราม “อานามสยามยุทธ” ปัจจุบันคลองแสนแสบกลายเป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำที่สำคัญ เพราะสามารถขนส่งผู้โดยสารทั้งขาขึ้นและขาล่องจากวัดศรีบุญเรือง-ผ่านฟ้าลีลาศได้ประมาณวันละ 55,000 คน (ที่มา:การสำรวจของกรมเจ้าท่าปี 2556) นอกจากนี้ยังเป็นเส้นทางระบายน้ำและกลายเป็นท่อน้ำทิ้งขนาดใหญ่ของกรุงเทพฯ มานานหลายสิบปีจนน้ำในคลองดำมืดและเน่าเหม็น

ในราวปี 2520 ช่วงนั้นผู้เขียนมีบ้านอยู่ไม่ไกลจากท่าเรือคลองตัน ช่วงปิดเทอมกลางภาคคือประมาณปลายเดือนตุลาคมจะเป็นช่วงน้ำหลาก น้ำในคลองแสนแสบจะเอ่อขึ้นมาปริ่มตลิ่ง ปลานานาชนิด เช่น ตะเพียน สวาย เทโพ ฯลฯ จะขึ้นมาแหวกว่ายให้เห็น ในยุคนั้นเกมส์คอมพิวเตอร์ยังเดินทางมาไม่ถึง เมื่อถึงฤดูนั้นเด็กๆ ก็จะหาไม้ไผ่มาทำเป็นคันเบ็ดตกปลา และลงเล่นน้ำอยู่ในคลองกันสนุกสุดเหวี่ยง ขณะที่บ้านเรือนที่อยู่ริมคลองจะมียอเอาไว้ยกปลา ช่วงนี้การเดินเรือในคลองแสนแสบเป็นเรือหางยาว วิ่งจากท่าเรือคลองตันไปท่าเรือประตูน้ำ และมีเรือสองตอนแล่นเร็วเสียงดังเป็นเหมือนเรือด่วน ค่าโดยสารตอนนั้นประมาณคนละ 2-3 บาท

พอถึงปี 2533 ซึ่งบริษัทครอบครัวขนส่งเริ่มวิ่งเรือโดยสารจากท่าเรือวัดศรีบุญเรือง-ผ่านฟ้าลีลาศ น้ำในคลองก็เริ่มดำเหม็นแล้ว เพราะบริเวณกราบเรือทั้ง 2 ด้านจะมีผ้าพลาสติกผืนยาวคลุมเอาไว้ป้องกันน้ำเน่ากระเด็นใส่ผู้โดยสาร พอถึงปี 2535 ช่วง “พฤษภา’ทมิฬ” เรือครอบครัวขนส่งที่จอดรอผู้โดยสารอยู่ที่ท่าผ่านฟ้าฯ นี่แหละที่มีบทบาทในการเป็นสะพานเชื่อมให้ประชาชนที่มาชุมนุมขับไล่เผด็จการสามารถข้ามไปมาสองฝั่งคลองได้ เนื่องจากในตอนนั้นฝ่ายทหารได้นำลวดหนามหรือ “กำแพงเบอร์ลิน” มาปิดกั้นบนสะพานผ่านฟ้าฯ นอกจากนี้ยังมีข้อมูลด้วยว่า แกนนำของฝ่ายประชาชนหลายคนได้ใช้คลองแสนแสบเป็นเส้นทางหลบหนีการติดตามจับกุมของฝ่ายรัฐบาล

ผ่านมาถึงปี 2558 ผู้เขียนได้มีโอกาสล่องเรือในคลองแสนแสบ รวมทั้งยังได้สำรวจแนวคลองลาดพร้าวและคลองบางซื่อก่อนที่จะมีโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมของ กทม. ซึ่งคลองลาดพร้าวนี้จะเชื่อมต่อกับคลองแสนแสบบริเวณใกล้กับสะพานข้ามคลองถนนรามพระราม 9 หรืออยู่ไม่ไกลจากถนนเลียบทางด่วนสายเอกมัย-รามอินทรา คลองลาดพร้าวมีความยาวทั้งหมดประมาณ 24 กิโลเมตร และเรียกชื่อต่างกันไปตามสถานที่และชุมชนต่างๆ ตั้งอยู่

เริ่มต้นจากเขตสายไหม (ใกล้กับโรงพยาบาลภูมิพล) เรียกว่า “คลองสอง” ผ่านตลาดสะพานใหม่เข้าเขตดอนเมืองเรียกว่า “คลองถนน” จากนั้นไหลมาข้าง ม.ราชภัฏพระนคร เขตบางเขน ลงไปทางวัดบางบัวเรียกว่า “คลองบางบัว” และไหลไปทางวังหิน เขตจตุจักร เรียกว่า “คลองวังหิน” ลงมาทางวัดลาดพร้าว เขตห้วยขวาง เรียกว่า “คลองลาดพร้าว” และไหลเรื่อยจนไปบรรจบกับคลองแสนแสบที่ย่านถนนพระราม 9

ส่วน คลองบางซื่อ มีต้นคลองอยู่ที่แม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณใกล้กับท่าน้ำเกียกกายไปทางทิศตะวันออกในพื้นที่เขตบางซื่อและเขตดุสิต ตัดกับคลองเปรมประชากรและคลองประปา หลังจากนั้นลำคลองมีลักษณะตรงเข้าไปในพื้นที่เขตพญาไทและเขตดินแดง ไหลผ่านสะพานข้ามคลองช่วงถนนรัชดาภิเษก (บริเวณข้างโรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค) ก่อนไปบรรจบกับคลองลาดพร้าวบริเวณใกล้วัดลาดพร้าวในพื้นที่เขตห้วยขวาง สภาพของคลองในปัจจุบันมีความกว้างประมาณ 12-20 เมตร แต่น้ำมีสีขุ่นดำและมีสภาพเน่าเหม็น ซึ่งขณะนี้สำนักการระบายน้ำกำลังก่อสร้างอุโมงค์ลอดใต้น้ำคลองบางซื่อ จากคลองลาดพร้าวถึงแม่น้ำเจ้าพระยา ระยะทางประมาณ 6,400 เมตร งบประมาณรวม 2,500 ล้านบาท

จากการสำรวจคลองลาดพร้าวและคลองบางซื่อที่ผ่านมา พบว่าหลายชุมชนที่อยู่ริมคลองยังมีชาวบ้านใช้เรือพายสัญจรไปมา มีทั้งเรือแจวที่ทำจากไม้และเรือพายที่ทำจากไฟเบอร์ โดยเฉพาะในคลองลาดพร้าวยังมีเรือพายอยู่หลายสิบลำผูกไว้กับเสาบ้าน ซึ่งในอดีตเรือเหล่านี้จะเป็นเรือที่ชาวบ้านใช้ออกหาปลาในคลอง แต่เมื่อน้ำเน่าเสีย แถมยังมีขยะพลาสติกลอยฟ่องอยู่ในคลอง ลูกหลานพรานปลาในอดีตจึงต้องเปลี่ยนอาชีพมาเป็นการเก็บขยะพลาสติกเหล่านี้เอามาชั่งกิโลฯ ขาย

ลุงสำเนียง บุญลือ วัย 61 ปี แกนนำชาวบ้านชุมชนพิบูลร่วมใจ 2 คลองลาดพร้าว บอกว่า “เมื่อก่อนตอนเช้า ตื่นมานุ่งผ้าขาวม้าลงไปอาบน้ำแปรงฟันในคลองได้เลย แต่ทุกวันนี้คงไม่มีใครกล้า กลัวจะตาบอด แต่ก็ยังมีเด็กๆ ลงไปเล่นน้ำในคลองอยู่นะ ถ้าฟื้นฟูคลองขึ้นมาได้ก็จะดี ชาวบ้านก็มีแผนที่จะเดินเรือในคลอง ทำเรื่องท่องเที่ยวชุมชนและตลาดน้ำอยู่แล้ว”

แผนพัฒนาและฟื้นฟูของคนริมคลอง

ก่อนที่รัฐบาล คสช.จะอนุมัติแผนในการฟื้นฟูคลองแสนแสบและคลองต่างๆ นั้น ชาวบ้านในชุมชนริมคลองลาดพร้าวและคลองบางซื่อในเขตห้วยขวางได้เข้าร่วมกับ “ประชาคมเขตห้วยขวาง” ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของนักธุรกิจ นักวิชาการ นักการเมืองท้องถิ่น สำนักงานเขตห้วยขวาง และตัวแทนจากชุมชนต่างๆ เพื่อทำกิจกรรมการพัฒนาสังคม ภายหลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 ประชาคมห้วยขวางจึงมีแนวคิดเรื่องการฟื้นฟูและใช้ประโยชน์จากคลองขึ้นมา เช่น มีแนวคิดเรื่องการบำบัดน้ำเสียในคลอง การท่องเที่ยวและการคมนาคมทางเรือในคลองลาดพร้าวและคลองบางซื่อ

ต่อมาในปี 2557 แนวคิดนี้จึงเป็นจริงขึ้นมา มีการดึงหน่วยงานต่างๆ เข้ามาช่วยฟื้นฟูคลอง เช่น สำนักงานเขตห้วยขวาง โดยมีการปลูกหญ้าแฝกในคลองบางซื่อ เพื่อให้รากของหญ้าแฝกช่วยดูดซับน้ำเสียและสารเคมีต่างๆ รวมทั้งช่วยดักตะกอน การทำน้ำหมักชีวภาพแล้วเทลงในคลองเพื่อให้จุลินทรีย์ช่วยบำบัดน้ำเน่า มีการจัดงานสืบสานประเพณีวิถีคนคลองในช่วงเทศกาลลอยกระทง พิธีบวชคลอง ฯลฯ ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2558 ที่ผ่านมา ประชาคมห้วยขวางก็ได้จัดงานนี้ขึ้นเป็นครั้งที่ 2 โดยมีการตักบาตรทางเรือจากวัดลาดพร้าวมายังคลองบางซื่อ มีการแข่งเรือพาย แต่งกายย้อนยุค เทน้ำหมักลงในคลอง จำหน่ายสินค้าชุมชน ฯลฯ โดยมีผู้อำนวยการเขตห้วยขวางเป็นประธานในพิธี

ผศ.พงศ์พร สุดบรรทัด ผู้เชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรมและการวางผังเมือง ประธานประชาคมเขตห้วยขวาง กล่าวว่า เขตห้วยขวางจะเป็นต้นแบบในการพัฒนาชุมชนและคลอง โดยตนจะเสนอให้สภาสถาปนิกเข้ามาเจรจากับกระทรวงการท่องเที่ยวฯ คมนาคม และกระทรวงมหาดไทย เพื่อร่วมกับชาวบ้านพัฒนาชุมชนและคลองลาดพร้าวเขตห้วยขวางให้เป็นพื้นที่ตัวอย่าง เป็นเวนิสตะวันออกอย่างแท้จริง โดยจะต้องมีการบำบัดน้ำเสีย และมีการเดินเรือในคลองเพื่อการคมนาคมและการท่องเที่ยวต่อไป

“แม้ในวันนี้น้ำในคลองลาดพร้าวจะเน่าเสีย แต่ในวันข้างหน้าจะต้องมีโครงการบำบัดน้ำเน่าเสียอย่างแน่นอน เพราะในขณะนี้รัฐบาลจะเริ่มโครงการบำบัดน้ำเน่าเสียในคลองแสนแสบแล้ว ซึ่งจะต้องใช้งบประมาณเกือบ 7,000 ล้านบาท ดังนั้นคลองลาดพร้าวซึ่งเชื่อมกับคลองแสนแสบในอนาคตก็จะต้องแก้ปัญหาน้ำเน่าเสียด้วยเช่นกัน และสามารถเชื่อมการเดินเรือกับคลองแสนแสบไปถึงคลองพระโขนงได้ โดยให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการเดินเรือ” ประธานประชาคมเขตห้วยขวางกล่าว

จำรัส กลิ่นอุบล ขวามือ

จำรัส กลิ่นอุบล ประธานเครือข่ายชุมชนริมคลองลาดพร้าวและคลองบางซื่อ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้หลายปีเคยมีการเดินเรือในคลองลาดพร้าวจากสะพานใหม่ไปพระโขนง แต่ชาวบ้านไม่ได้มีส่วนร่วม เพราะเป็นการเดินเรือของบริษัทเอกชน ทั้งยังเกิดปัญหากับชุมชน เช่น เรือวิ่งเร็ว เสียงดัง คลื่นจากคลองกระแทกบ้านริมคลอง และเมื่อการเดินเรือในช่วงนั้นไม่ได้รับความนิยม บริษัทเอกชนที่มาวิ่งเรือจึงเลิกไป ซึ่งหากมีการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตในคลองแล้ว หากจะมีการเดินเรือในคลองก็จะไม่มีผลกระทบกับบ้านที่อยู่ริมคลอง เพราะเขื่อนคอนกรีตจะป้องกันแรงกระแทกจากคลื่นได้ และจะสามารถเชื่อมการคมนาคมระหว่างถนนลาดพร้าวกับรถไฟฟ้าใต้ดินที่มีสถานีบริเวณถนนรัชดาภิเษกได้

“ทุกวันนี้ในชั่วโมงเร่งด่วนในถนนลาดพร้าวรถจะติดมาก และหากมีการก่อสร้างรถไฟฟ้าในถนนลาดพร้าวขึ้นมาอีก การจราจรก็จะยิ่งเป็นอัมพาตขึ้นไปอีก เราจึงคิดแผนเรื่องการเดินเรือในคลอง ในระยะแรกอาจจะเป็นช่วงสั้นๆ จากสะพานสองหรือวัดลาดพร้าวไปเชื่อมกับคลองบางซื่อที่ถนนรัชดาภิเษกซึ่งมีรถไฟฟ้าใต้ดินอยู่แล้ว หรือจากคลองลาดพร้าวอาจเชื่อมไปยังคลองแสนแสบหรือเชื่อมต่อกับรถยนต์ที่ถนนเลียบทางด่วนเอกมัย-รามอินทราได้” จำรัสบอกถึงแผนงานและว่า ตอนนี้ชาวบ้านมีเรือยนต์ที่สามารถบรรทุกผู้โดยสารได้ประมาณ 20-30 คนอยู่แล้วจำนวน 3 ลำ เป็นเรือไฟเบอร์ติดเครื่องยนต์ที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภายนอก ซึ่งหากได้รับการสนับสนุนจากหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องก็จะทำให้การเดินเรือในคลองลาดพร้าวและบางซื่อเป็นไปได้จริง

จำรัสกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ชาวบ้านยังมีแผนงานในการเดินเรือเพื่อการท่องเที่ยว การสร้างตลาดน้ำขึ้นมาที่บริเวณสะพานสองใกล้กับชุมชนพิบูลร่วมใจ 2 (ข้างโรงเรียนพิบูลอุปถัมภ์ ซอยลาดพร้าว 46) โดยมีผู้ประกอบการธุรกิจให้ความสนใจที่จะสนับสนุนชาวบ้าน ส่วนการฟื้นฟูคลองนั้นชาวบ้านพร้อมที่จะร่วมมือกับหน่วยงานรัฐและองค์กรต่างๆ อยู่แล้ว เพราะชาวบ้านอยู่ปลายท่อน้ำทิ้งและได้รับผลกระทบจากน้ำเน่าเสียในคลอง ไม่สามารถหาปลาหรือใช้ประโยชน์จากคลองได้เหมือนเมื่อก่อน และแผนงานหนึ่งที่คิดเอาไว้นอกจากการปลูกหญ้าแฝกในคลองแล้ว ชาวบ้านก็อยากจะปลูกต้นเตยในคลองเพราะมีรากช่วยกรองน้ำเสีย และยังตัดใบเตยขายเป็นรายได้อีกด้วย เพราะชุมชนอยู่ใกล้กับตลาดและวัดซึ่งต้องการใช้ใบเตยอยู่แล้ว

นี่คือแนวคิดและแผนการพัฒนาและฟื้นฟูคลองบางซื่อและคลองลาดพร้าวของชาวบ้านและประชาคมห้วยขวางที่เพิ่งเริ่มต้นได้ไม่นาน แต่ก็มีการจัดกิจกรรมมาอย่างต่อเนื่องและเป็นไปด้วยความคึกคัก และสิ่งที่เห็นได้ชัดก็คือ น้ำในคลองบางซื่อช่วงตั้งแต่ใต้สะพานข้ามถนนรัชดาภิเษกจนมาถึงถนนลาดพร้าว ระยะทางประมาณ 1.5 กิโลเมตร มีสภาพใสกว่าน้ำในคลองลาดพร้าว แถมยังมีปลาต่างๆ ดำผุดดำว่ายให้เห็น ต่างจากคลองลาดพร้าวที่ดำสนิทเหมือนกับน้ำย้อมผ้า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net