Skip to main content
sharethis

ภาวะสงครามทำให้เกิดวิกฤตผู้ลี้ภัยในตะวันออกกลาง และผู้หญิงเป็นกลุ่มประชากรที่ถูกกระทำซ้ำซ้อนจากการถูกละเมิดสิทธิ ทั้งยังถูกละเมิดแม้แต่ในค่ายผู้ลี้ภัย ทำให้องค์กรด้านสิทธิสตรีหลายองค์กรเข้าไปฝึกอบรมให้พวกเธอเข้าใจถึงสิทธิของตัวเอง อันจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระยะยาว

9 ธ.ค. 2558 เว็บไซต์วิเคราะห์นโยบายการต่างประเทศ (Foreign Policy in Focus หรือ FPIF) นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับการต่อสู้ของผู้หญิงผู้ลี้ภัยจากวิกฤตสงครามกลางเมืองซีเรียจากบทความเมื่อช่วงปลายเดือน พ.ย. ที่ผ่านมาของแอนนา เทนูตา ผู้จัดการโครงการและการสื่อสารของกองทุนโลกเพื่อสตรี (Global Fund for Women) ซึ่งเป็นองค์กรที่ลงพื้นที่ไปศึกษาชีวิตของผู้ลี้ภัยตะวันออกกลางเมื่อไม่นานมานี้

ตั้งแต่ปีที่แล้ว (2557) มาจนถึงตอนนี้มีสาเหตุต่างๆ มากมายที่ทำให้ประชาชนชาวซีเรียต้องลี้ภัยออกจากประเทศทั้งภาวะสงครามกลางเมืองในซีเรีย การกดขี่ของกลุ่มก่อการร้ายไอซิสต่อประชาชนชาวซีเรียในด้านต่างๆ ทั้งการใช้ความรุนแรงทางเพศ การค้ามนุษย์ การจับเป็นทาส การพยายามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ รวมถึงความรุนแรงจากฝ่ายรัฐบาลซีเรียเองทั้งหมดนี้ทำให้เกิดผู้ลี้ภัยชาวซีเรียจำนวน 4.2 ล้านคน ซึ่งพวกเขาพากันไปอยู่ร่วมกับผู้พลัดถิ่นภายในประเทศต่างๆ อย่างเลบานอน, ตุรกี, จอร์แดน, อิรัก และอียิปต์

องค์กรกองทุนโลกเพื่อสตรีได้ลงพื้นที่ไปศึกษาชีวิตของผู้หญิงในค่ายผู้ลี้ภัยเหล่านั้นเพื่อทำความเข้าใจว่าวิกฤตในครั้งนี้ส่งผลต่อสิทธิสตรีของพวกเธอในระยะยาวอย่างไร ซึ่งเจน สโลน รองประธานโครงการของกองทุนฯ กล่าวว่าวิกฤตความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อผู้อพยพเหล่านี้ต้องได้รับความสนใจและมีการแก้ไขโดยด่วนเนื่องจากผู้หญิงเหล่านี้ถูกคุกคามด้านสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานมากขึ้นเรื่อยๆ

 

สถานการณ์ในเลบานอน

ในเลบานอนมีผู้ลี้ภัยอยู่ราว 1.1 ล้านคนซึ่งมีทั้งผู้ลี้ภัยจากซีเรียและปาเลสไตน์ การที่ผู้ลี้ภัยมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นมากส่งผลกระทบต่อทรัพยากรและพื้นที่ที่มีอยู่จำนวนจำกัด แม้แต่ในค่ายผู้ลี้ภัยก็กำลังประสบปัญหาประชากรล้นเกิน เช่นค่ายชา-ติลาในทางตอนใต้ของกรุงเบรุตที่แต่เดิมมีคนอยู่ 3,000 คน แต่ในปัจจุบันมีผู้อาศัยอยู่ราว 15,000 คน

ถึงแม้ว่าประชากรในค่ายผู้ลี้ภัยบางคนจะให้สัมภาษณ์ว่าอยากกลับไปบ้านเกิดคือซีเรียเพื่อจะได้ใช้ชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี เช่น ฮะดิยาหญิงอายุ 35 จากเมืองดิแอร์เอซซอร์ ประเทศซีเรียเล่าว่าเธอลี้ภัยมาพร้อมกับสามีและลูกสาว 5 คนของเธอเป็นเวลา 1 ปีครึ่งแล้ว เธอเล่าทั้งน้ำตาว่าก่อนหน้านี้เธอมีลูกสาวอายุ 5 ขวบ อีกหนึ่งคน แต่เธอถูกสังหารไปในสงครามซีเรีย และเมืองของเธอในตอนน้ก็ตกอยู่ภายใต้การยึดครองของพวกไอซิสซึ่งทำให้ชีวิตประชาชน "เหมือนอยู่ในคุก"

ฮะดิยาเล่าต่อไปว่าพวกเธอหลบหนีพวกไอซิสไปยังเมืองอื่นๆ ของซีเรียโดยอาศัยหลับนอนตามโรงเรียนร้างเพื่อหลบระเบิด ก่อนที่จะเดินทางเข้าประเทเลบานอนพวกเธอตัดสินใจอาศัยอยู่ที่ค่ายชา-ติลาเพราะได้ยินว่าเป็นค่ายผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ที่มีค่าเช่าราคาถูก มีองค์กรผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติช่วยเหลือค่าอาหาร ยา และค่าเช่าของพวกเขา 66 ดอลลาร์ต่อเดือน แต่ก็ยังไม่พอค่าเช่า 330 ดอลลาร์ต่อเดือน นอกจากนี้ยังมีความยากลำบากจากการที่สามีเธอเป็นคนพิการที่ทำงานไม่ได้เะอต้องการให้สามีเธอได้รับการผ่าตัดแต่ก็มีเงินไม่พอ โดยฮะดิยาดำรงชีด้วยการเย้บปักถักร้อยเครื่องแต่งผมเพื่อนำไปขายเอาเงินมาเป็นค่าเช่า

บทความของเทนูตาระบุว่าสภาพของค่ายผู้ลี้ภัยก็มีปัญหาจากการที่ไม่มีน้ำสะอาดและมีอัตราการใช้ความรุนแรงต่อเด็กและสตรีสูงมาก นอกจากนี้ผู้ลี้ภัยยังต้องเผชิญความเสี่ยงจากสายไฟฟ้าในขณะที่รัฐบาลเลบานอนปฏิเสธไม่ยอมต่อไฟฟ้าให้พวกเขาใช้ อีกทั้งผู้ลี้ภัยเหล่านี้ก็หางานทำได้ยากจากที่กฎหมายกีดกันพวกเขาออกจากงาน 70 ประเภทรวมถึงกาขับแท็กซี่ ทำให้ผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่ต้องทำงานที่ใช้แรงงานในระดับล่างๆ อย่างการซ่อมท่อประปา งานทำความสะอาด หรืองานก่อสร้าง กฎหมายของเลบานอนยังไม่ขยายสิทธิความเป็นพลเมืองให้กับผู้ลี้ภัยทำให้พวกเขสามารถเข้าถึงสวัสดิการอย่างบริการสาธารณสุขและการศึกษาได้อย่างจำกัดด้วย ในขณะที่สังคมเลบานอนก็มีการข่มเหงทางสังคมและการตีตราทางอัตลักษณ์ต่อผผู้ลี้ภัยเพิ่มมากขึ้น

บทความจากองค์กรกองทุนโลกเพื่อสตรีระบุว่าเรื่องร้ายๆ เหล่านี้มักจะเกิดขึ้นกับผู้หญิงผู้ลี้ภัยเป็นส่วนมาก องค์กรกองทุนโลกเพื่อสตรีร่วมมือกับองค์กรชื่อทาดามอนและองค์กรด้านมนุษยธรรมสตรีชาวปาเลสไตน์ทำงานช่วยเหลือผู้ลี้ภัยเหล่านี้มาเป็นเวลาหลายปีแล้ว โดยองค์กรทาดามอนเชื่อว่าผู้ลี้ภัยที่เป็นสตรีควรจะได้รับสิทธิที่ดีกว่านี้ ทั้งสิทธิในการได้พักผ่อนจากการทำงาน สิทธิที่ลูกๆ ของพวกเขาจะได้เรียนหนังสือ สิทธิในความรู้เรื่องสุขอนามัยการเจริญพันธุ์ ความรู้เรื่องสิทธิของตนเอง การได้รับความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจเช่นการฝึกวิชาชีพ และการเข้าถึงความช่วยเหลือด้านกฎหมาย

 

การส่งเสริมด้านสาธารณสุขและการป้องกันความรุนแรง

องค์กรสตรีระบุอีกว่าค่ายผู้ลี้ภัยยังคงขาดแคลนด้านสาธารณสุขของผู้หญิงเช่นศูนย์สุขภาพของสหประชาชาติในชา-ติลาไม่มีผ้าอนามัยซึ่งเป็นของใช้จำเป็นสำหรับผู้หญิง นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องสุขภาวะการเจริญพันธุ์การขาดการคุมกำเนิดทำให้อัตราการเกิดในค่ยผู้ลี้ภัยมีสูงขึ้นขณะเดียวกันอัตราการตายและการพิการของทารกแรกเกิดก็มีสูงขึ้นด้วย นอกจากนี้ผู้หญิงที่เคยผ่านประสบการณ์บอบช้ำทางใจหรืออาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ย่ำแย่มีโอกาสมากกว่าที่จะมีปัญหาในการคลอดลูก

นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องของการขาดความรู้ เช่นโอลฟัต มาห์มูด์ ผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์และผู้ก่อตั้งองค์กรด้านมนุษยธรรมสตรีชาวปาเลสไตน์กล่าวว่าผู้ลี้ภัยบางคนไม่มีความรู้เรื่องสิทธิและสุขภาวะในการเจริญพันธุ์ เช่นมีผู้หญิงบางคนคิดว่าถ้าตัวเธอไม่มีความสุขจะทำให้น้ำนมเป็นพิษ เธอจึงไม่ยอมให้นมลูก

มาห์มูด์เปิดเผยอีกว่าปัญหาอีกประการหนึ่งคือความรุนแรงต่อเด็กและสตรีในค่ายผู้ลี้ภัย ในบทความระบุว่าการที่ผู้คนเจอประสบการณ์บอบช้ำทางใจมาก่อนมีโอกาที่จะระบายออกด้วยความรุนแรงมาก จึงมีความรุนแรงในครอบครัวเกิดขึ้นในค่ายผู้ลี้ภัยมากกรณีและผู้หญิงหลายคนก้จำยอมด้วยข้ออ้างอย่าง "ขอยอมทนกับความโกรธของเขาดีกว่าความโกรธจากชุมชนที่ใหญ่กว่านี้" ทั้งนี้ยังมีเรื่องของการคุกคามและการข่มขืนในค่ายผู้ลี้ภัย สาเหตหนึ่งที่เกิดเรื่องเหล่านี้ขึ้นเพราะผู้หญิงถูกสอนว่ามันเป็นเรื่องไม่เหมาะสมที่จะกรีดร้องหรือส่งเสียงในที่สาธารณะในค่ายผู้ลี้ภัยด้วยแม้จะมีอันตราย ทำให้กลุ่มองค์กรสตรีต้องสอนเด็กวัยรุ่นหญิงว่าพวกเธอควรร้องขอความช่วยเหลือและป้องกันตนเองเมื่ออยู่ในสถานการณ์ไม่ปลอดภัย

บทความใน FPIF ยังระบุถึงการที่เด็กในค่ยผู้ลี้ภัยถูกบังคับให้แต่งงานจากการที่มีครอบครัวบางครบครัวเห็นว่าการให้ลุกสาวที่ยังเป็นเยาวชนของพวกเขาแต่งงานออกไปจะเป็นโอกาสในการทำให้ลูกสาวของพวกเขาปลอดภัย เป็นการปกป้องเกียรติยศของครอบครัว และเป็นทางออกจากความยากจนในสภาพที่ทางเลือกทางเศรษฐกิจมีจำกัดโดยไม่รู้เลยว่าการบังคับแต่งงานก่อนวัยอันควรถือเป็นความรุนแรงชนิดหนึ่ง ทำให้องค์กรสตรีในเลบานอนต้องให้ความรู้แก่พวกเขาทั้งหญิงและชายว่าคนที่ต่งงานก่อนวัยอันควรจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและสุขาพจิตอย่างไร

 

เสริมพลังให้ผู้หญิงด้วยความรู้ด้านสิทธิมนุษยชน

เหล่าองค์กรด้านสตรีทั้งหลายในเลบานอนยังได้จัดการประชุมอบรมและฝึกสอนให้ผู้ลี้ภัยที่เป็นผู้หญิงรู้จักสิทธิมนุษยชนของตัวเองและเสริมพลังให้พวกเธอลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิให้ตัวเอง เนื่องจากผู้ลี้ภัยไม่มีความเข้าใจในเรื่องแบบนี้มาก่อนจึงและจากสภาพสังคมที่พวกเธออาศัยอยู่ทำให้พวกเธอมองไม่เห็นว่าสิ่งต่างๆ ที่พวกเธอถูกกระทำเป็นการถูกละเมิดสิทธิหรือเป็นความรุนแรง

องค์กรด้านสตรีเน้นย้ำความสำคัญในเรื่องการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับผู้ลี้ภัยสตรีให้สามารถพูดึงปัญหาของพวกเธอเองได้และได้แลกเปลี่ยนกับผู้ลี้ภัยสตรีคนอื่นๆ บรรยากาศที่ปลอดัยทำให้พวกเธอมีพลังกล้าพูดถึงปัญหาความรุนแรงที่เคยประสบมา

นอกจากนี้เหล่าองค์กรสตรียังพยายามทำงานเพื่อเปลี่ยนแปลงกฎหมายทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติที่ส่งผลต่อผู้หญิงและผู้ลี้ภัย เช่นเมื่อปี 2557 ที่ผ่านมาองค์กรสตรีต่างๆ รวมถึงองค์กรเพื่อการชุมนุมตามระบอบประชาธิปไตยของผู้หญิงชาวเลบานอน (RDFL) สามารถผลักดันร่างกฎหมายความรุนแรงในครอบครัวในเลบานอนได้สำเร็จ

สโลนกล่าวว่าการสนับสนุนกลุ่มผู้ลี้ภัยหญิงไม่เพียงแค่ช่วยให้พวกเธอมีชีวิตที่ดีขึ้นในค่ายผู้ลี้ภัยเท่านั้นการเรียนรู้ของพวกเธอจะส่งผลให้เกิดการผลักดันในระดับกฎหมายและนโยบายที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้วย

 

ความต้องการที่มากเกินรับมือ

อย่างไรก็ตามคาลิดัท ฮุสเซน จากองค์กรทาดามอนและคนทำงานด้านสิทธิสตรีต่างก็กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่าความต้องการความช่วยเหลือของผู้ลี้ภัยสตรีในตอนนี้มีมากเกินกว่าจะรับมือได้หมด สถานการณ์ละเมิดสิทธิเด็กและสตรีภายในค่ายผู้ลี้ภัยก็ยังคงมีอยู่และถึงแม้ว่าหลายองค์กรจะเน้นเรื่องการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแต่มีอยู่น้อยองค์กรที่เน้นเรื่องความต้องการเฉพาะของผู้หญิงหรืองานที่ควรทำเพื่อรักษาสิทธิและความเท่าเทียมทางเพศในระยะยาว

บทความยกตัวอย่างกรณีของราจา อิยาส ผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ที่เกิดในค่ายชา-ติลาในตอนนี้เธอมีลูก 3 คนแล้ว อิยาสเป็นหนึ่งในผู้หญิงที่ไดเรียนรู้ว่าตัวเธอเองก็มีพลังในการลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นให้กับตัวเธอเองและลูกๆ ได้ หลังจากที่เธอผ่านการอบรมจากองคกรทาดามอนมาแล้ว

"ในขณะที่องค์กรที่ใหญ่กว่าให้ความช่วยเหลือด้านการประคับประคองจิตใจและการช่วยเหลือเร่งด่วนต่อเด็กโดยเฉพาะ แต่โครงการเสริมพลังให้ผู้หญิงเป็นสิ่งสำคัญในการเปลี่ยนแปลงทางอำนาจและสนับสนุนให้เกิดการเลี่ยนแปลงต่อชุมชนอย่างแท้จริงและยั่งยืน" สโลนกล่าว

 

เรียบเรียงจาก

Amid the Hard Lessons of War, Refugee Women Learn Their Rights, FPIF, 20-12-2015 http://fpif.org/amid-the-hard-lessons-of-war-refugee-women-learn-their-rights/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net