Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



ผมได้รับเกียรติจากธนาคารแห่งประเทศไทย สาขาภาคเหนือ ให้ไปพูดคุยเรื่อง “ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของชาวไท ในอุษาคเนย์” ในงานนิทรรศการผ้าไทในอุษาคเนย์:ความสัมพันธ์ร่วมทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมเมื่อวันที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมา จึงนำมาเล่าในที่นี้เพื่อจะได้ช่วยกันมองความเป็นไท (หรือความเป็นไทย) ในมิติอื่น นอกเหนือจากการมองในกรอบอุดมการณ์ชาตินิยม

“ชาวไท” หรือ “คนไท” เป็นชื่อที่คนกลุ่มหนึ่งซึ่งมีวัฒนธรรมร่วมกันใช้เรียกตนเองตั้งแต่ก่อนที่จะเกิดรัฐขึ้นมา สายใยที่ถักสานจนเกิดความหมายของ “ชาวไท” ได้แก่ การค้าขายและแลกเปลี่ยนระหว่างกลุ่มต่างๆ ในหลายพื้นที่ เพราะในแต่ละพื้นที่ไม่สามารถจะผลิตพอเลี้ยงตนเองได้ นำไปสู่การผสมผสานทางวัฒนธรรมและการใช้ภาษาร่วมกันที่เรียกว่า ภาษาไท และมีชื่อเรียกกลุ่มคนที่ใช้ภาษาไท ว่าคนไท

ส่วนการค้าขายและแลกเปลี่ยนของชาวไท เป็นกระบวนการทางเศรษฐกิจที่ไม่ได้แยกปัจจัยทางเศรษฐกิจ การค้า ออกจากระบบสังคม ซึ่ง Karl Polanyi นักเศรษฐศาสตร์และสังคมวิทยาได้กล่าวถึงระบบเศรษฐกิจลักษณะนี้ไว้ว่า เป็นความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ฝังอยู่ในสังคม (Economic relations are embedded in the social systems)

กล่าวได้ว่า การค้าขายและแลกเปลี่ยนลักษณะนี้ นอกจากจะทำให้พี่น้องไทในแต่ละพื้นที่สามารถที่จะอยู่รอดร่วมกันมาได้แล้ว ยังส่งผลทำให้วัฒนธรรมไทขยายตัวออกไปกว้างขวางตั้งแต่ตอนใต้ของจีน เรื่อยมายังตอนบนของเวียดนาม ไทย และลาว ซึ่งวัฒนธรรมไทที่สำคัญที่บ่งบอกความเป็นไทในยุคแรกๆ ก็ได้แก่ ผ้าทอ รูปลักษณ์ของบ้านเรือน ภาษา การนับญาติและเครือญาติเสมือน ความเชื่อ และพิธีกรรม

วัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในสังคมชาวไททั้งหมด เอื้อให้แก่กระบวนการค้าขายและแลกเปลี่ยนดำเนินสืบเนื่องต่อมาได้ยาวนาน เพราะหากจะทำการค้าขายแลกเปลี่ยนแล้ว ความเชื่อถือและเชื่อมั่นเป็นเรื่องสำคัญที่สุด วัฒนธรรมไทที่คนไทได้สร้างสรรค์ร่วมกันจึงกลายเป็นพลังของความเชื่อถือ/เชื่อมั่นระหว่างกัน การค้าขายและแลกเปลี่ยนจึงผูกพันไปพร้อมๆกับการเอื้อเฟื้อเฟือฟายให้แก่พี่น้องไทแต่ละกลุ่มที่อยู่ในที่ต่างๆ กัน

เมื่อการค้าขายและแลกเปลี่ยนขยายตัวมากขึ้น เครือข่ายการค้าก็กว้างขวางขึ้นเป็นเงาตามตัว เกิดเส้นทางการค้าสำคัญและเกิดเมืองขึ้นมาบนเส้นทางการค้าเหล่านั้น กลุ่มชนชั้นนำที่ทำหน้าที่ประสานให้เครือข่ายการค้ามีเสถียรภาพและปลอดภัย จึงมีอำนาจอันชอบธรรมในการปกครองรวมทั้งการตัดสินคดีความหรือแก้ไขความขัดแย้ง ส่งผลให้เกิดรัฐขนาดเล็กหรือขนาดกลางของชาวไทขึ้นมา โดยมีเมืองที่เป็นตลาดสำคัญในระบบการค้าเป็นศูนย์กลางการปกครอง หรือราชธานี

เจ้าเมืองหรือชนชั้นนำที่สร้างรัฐขนาดเล็กและขนาดกลางขึ้นมานี้ ล้วนแล้วแต่แสวงหาโภคทรัพย์จากการค้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากตลาด ไม่ว่าจะเป็นการเก็บอากรตลาด จังกอบ (ภาษีผ่านด่าน) หรือการเปลี่ยนส่วยที่เก็บจากราษฎรให้เป็นสินค้าในตลาด ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่พญามังรายเมื่อแรกตั้งเวียงกุมกาม จึงต้องสร้างตลาดขึ้นก่อน รวมไปถึงการตั้งคำถามก่อนจะไปยึดเมืองหริภุญชัยว่า “ดูต้างค้าขายก่อ” (เหมาะสมที่จะทำการค้าหรือไม่)

ขณะเดียวกัน การค้าขายและแลกเปลี่ยน และตลาด ที่ล้วนแต่ฝังอยู่ในระบบสังคมได้ทำให้กฎหมายโบราณของชาวไท เช่น กลุ่มกฎหมายมังราย จึงระบุโทษของผู้กระทำผิดต่อการค้าด้วยการเปรียบเทียบกับโทษการทำผิดวินัยของพระสงฆ์ในศาสนาพุทธ ทั้งนี้เพื่อที่จะใช้พลังจากความเชื่อของชาวพุทธในการกำกับการกระทำของคนไม่ให้เกิดผลเสียต่อระบบการค้า

เพื่อทำให้การค้าดำเนินไปอย่างคึกคักและสม่ำเสมอ จึงทำให้เกิดการสร้างสินค้าที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ เพื่อที่จะทำให้ตลาดของพื้นที่นั้นๆ มีจุดขายหรือเสน่ห์สำหรับกองคาราวานของพ่อค้า ตัวอย่างที่ชัดเจน ได้แก่ การสร้างความงดงามของผ้าทอในแต่ละพื้นที่เพื่อตอบสนองการค้านี้โดยผ่านระบบการส่ง ส่วยให้แก่เจ้าเมือง ซึ่งจะนำผ้าทอดังกล่าวเข้าไปแลกเปลี่ยนในตลาด

แต่การดูดซับส่วนเกินผ่านการเก็บส่วย และนำส่วยที่เก็บได้มาขายเป็นสินค้ากระทำได้ไม่เข้มข้นนัก เนื่องจากที่มาของโภคทรัพย์ชนชั้นนำมาจากการเก็บอากรตลาดและการเก็บจังกอบด้วย นอกจากนี้ถ้าหากชนชั้นนำขูดรีดมากเกินไป ชาวไทก็จะหนีออกไปอยู่ห่างไกลจากรัฐซึ่งทำให้ชนชั้นนำเสียประโยชน์ที่ควรจะได้จากราษฎรเหล่านั้นอย่างสิ้นเชิง

รัฐของชาวไทที่เกิดขึ้น จึงเป็น “รัฐ:ระบบส่วยและตลาด” ที่ต้องปล่อยให้ชุมชนไทมีอิสระโดยสัมพัทธ์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ความเป็นอิสระของชุมชนไทจากรัฐ จึงเป็นบ่อเกิดของการสร้างสรรค์มรดกทางวัฒนธรรมต่างๆ อย่างหลากหลาย บางด้านก็ตกทอดมาถึงปัจจุบันนี้ด้วย เช่น ความรู้ในการจัดการระบบชลประทานขนาดเล็กของพี่น้องไทในภาคเหนือ

การขยายตัวของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมได้เข้าไปแยกระบบเศรษฐกิจ ออกจากโครงสร้างทางสังคมอันก่อให้เกิดปัญหานานัปการตามมา แต่พลังของชุนชนไทก็ยังคงแสวงหาหนทางที่จะมีความเป็นอิสระโดยสัมพัทธ์จากตลาดและรัฐ ดังเห็นได้จากการเติบโตของผู้ประกอบการรายย่อยในชนบท ที่กำลังสร้างฐานการผลิต และเครือข่ายลักษณะใหม่ให้เกิดขึ้น เพื่อต่อรองกับรัฐและตลาด

ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของชาวไทได้มีผลสร้างสรรค์ตัวตนของชาวไทในทุกมิติ เราทั้งหมดล้วนแล้วแต่ยืนอยู่ภายใต้ร่มเงาของความทรงจำเกี่ยวกับอดีต เราจึงควรจัดวางตนเองให้สัมพันธ์กับอดีตอย่างเหมาะสม เพื่อการก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง

 

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: คอลัมน์ ใต้กระแส นสพ.กรุงเทพธุรกิจ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net